Sunday, 6 October 2024
Columnist

ท่ามกลางวิกฤติ พลังความคิดที่จะช่วยเหลือให้รอดปลอดภัยไปด้วยกัน “ไม่ได้วัดที่ระดับไอคิว” แต่วัดที่ “ระดับจิตสาธารณะ”

ในช่วงภาวะปกติ ชีวิตแต่ละคนดำเนินไปตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งเป้าไว้ ยิ่งปกติ ยิ่งทำให้วางแผนไปสู่เป้าหมายได้ไม่ยาก ขอให้ทำตามแผน ต่อให้ไม่ถึงดวงจันทร์ แต่อย่างน้อยก็จะอยู่ท่ามกลางดวงดาวแน่นอน 

วัยเรียน วัยศึกษาค้นคว้า วัยรุ่น วัยโลดโผนโจนทะยาน วัยที่ต้องมีพื้นที่ในการปล่อยของ สายคงแก่เรียนเป้าหมายการทำคะแนนสอบให้ดี เกรดสูง ใฝ่ฝันศึกษาสถาบันในฝัน วาดฝันอนาคตทางวิชาการ ภาพฝันเหล่านั้น เกิดขึ้นไม่ยากจนเกินไป หากอยู่ในสถานการณ์ปกติ โดยที่โฟกัสเฉพาะแค่ตัวเราเองให้ขยันหมั่นเพียรในเรื่องการเรียนก็เพียงพอ 

ณ วันนี้ ความจริง คือ สถานการณ์ไม่ปกติเสียแล้ว ทุกคนบนโลกทรงส้มแป้นนี้ เผชิญกับภาวะที่ยากลำบากครั้งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้น การเผชิญกับภาวะโรคระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกมนุษย์ ยังไม่พอเชื้อไวรัสกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วแตกเป็นหลายสายพันธุ์อีกต่างหาก จุดจบเรื่องนี้เกิดขึ้นแน่ๆ แต่ระหว่างนั้น พวกเราจะอยู่กันอย่างไร? นี่เป็นคำถามที่ทุกช่วงทุกวัยต้องเผชิญ อยู่ด้วยการด่าทอ อยู่ด้วยความสิ้นหวัง หรืออยู่ด้วยพลังที่จะสู้เพื่อความอยู่รอด พลังที่จะช่วยเหลือกัน คิดถึงส่วนรวม ให้รอดปลอดภัยไปด้วยกัน  วิธีคิดเหล่านี้ “ไม่ได้วัดที่ระดับไอคิว” แต่วัดที่ “ระดับจิตสาธารณะ”

“จิตสาธารณะ” ไม่ใช่คำสวยหรูดูดี เมื่อใครทำความดีตามหน้าสื่อ และไม่ได้หมายถึงแค่การบริจาคสิ่งของ สละทรัพย์เท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว หมายถึง การมีจิตใจ ความคิด วิธีปฏิบัติที่เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน วิธีคิดแบบจิตสาธารณะนั้น ใช้ได้กับทุกสถาบันทางสังคม ตั้งแต่เพื่อน คนรัก ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และระดับโลก 

“จิตสาธารณะ” จะยิ่งเห็นชัดเมื่อเกิด “วิกฤติ” เสมอ ในสภาพปกติ การจะแยกว่าใคร สังคม สถาบันไหน มีความเป็น “จิตสาธารณะ” นั้น ก็จะดูกันตามชื่อหน่วยงาน มูลนิธิ แต่เมื่อเกิด “วิกฤติ” เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะ “คนปกติที่เห็นกันทั่วไป” คนไหนมี “จิตสาธารณะ” อันหมายถึง บุคคลไหน คิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตนอย่างแท้จริง และแน่นอนว่าหมายรวมถึงในระดับที่ใหญ่ขึ้นอย่างหน่วยงาน สถาบันต่าง ๆ ในระดับรัฐด้วย 

“จิตสาธารณะ” มีหลายระดับ ระดับดูแลตัวเองไม่ให้เป็นภาระผู้อื่น นี่ก็ถือว่าเป็นจิตสาธารณะ เพราะคิดถึงผู้อื่นจึงดูแลตัวเอง ระดับครอบครัว การหลีกเลี่ยงไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงของครอบครัวเพียงเพราะความสุขสบายของตัวเอง ก็เพราะคิดถึงส่วนรวมคือความมั่นคงภายในครอบครัว เช่นนี้ก็คือจิตสาธารณะ สถาบันการศึกษา หรือแม้แต่สถาบันระดับชาติก็ไม่ต่างกัน หากองค์กรต่างๆ มี “จิตสาธารณะ” ในภาวะวิกฤติจะผ่านไปได้ อย่างน้อยที่สุดก็ไม่เจ็บมากไปกว่าเดิม ทั้งหมดทั้งมวลก็เพราะมีจิตที่คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน 

ด้วยประการข้างต้น ในภาวะวิกฤติจึงกล่าวได้ว่า ไอคิวไม่เท่าไหร่ แต่ใจต้องมีจิตสาธารณะ นั่นเอง 

เขียนโดย: ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Program Director THE STUDY TIMES 

แม้ว่าละครในจอแก้ว ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าละครที่ถ่ายทอดออกมาเป็นการแสดงที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ก็เป็นสื่อที่อาจจะส่งผลและมีอิทธิพลต่อคนดู

ละครโทรทัศน์ คือ ความบันเทิงในรูปแบบหนึ่งที่อยู่คู่กับจอแก้วมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยุคแอนะล็อกมาจนถึงการออกอากาศระบบดิจิทัล หลังจากที่มีช่องโทรทัศน์เพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้คนดูมีทางเลือกในการรับชมละครเพิ่มมากขึ้น และข้อที่ยังยืนยันได้ว่าละครโทรทัศน์ยังเป็นรายการที่ได้รับความนิยม ก็จากการจัดเรตติงของเนลสัน ที่พบว่า ละครโทรทัศน์ ยังคงเป็นรายการที่มีผู้รับชมสูงสุดของแต่ละสถานี และเป็นจุดขายของแต่ละสถานีในการช่วงชิงพื้นที่เรตติงหลังข่าวภาคค่ำ

โดยความคาดหวังของละครโทรทัศน์ในมุมคนดู ก็มีหลายเหตุผล เช่น เพื่อความเพลิดเพลิน ให้ความบันเทิงกับคนดู หรือเพื่อหลักหนีจากโลกความจริงไปสู่โลกจินตนาการ เราอาจจะเป็นนางเอกนิยายในชีวิตจริงไม่ได้แต่เราเป็นได้ในโลกละคร

นอกจากนี้บางครั้งละครก็ถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนสังคม ให้แง่คิด และเปลี่ยนแปลงสังคมได้ และละครก็จะถูกตรวจสอบจากคนดูได้เช่นกันหากพบว่าเนื้อหามีความไม่เหมาะสม เช่นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีกระแสแบนละครเมียจำเป็น ทางช่อง 3 ที่ถูกพุ่งเป้าไปที่บทละครที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม ทำให้เกิด hashtag #แบนเมียจำเป็น #ข่มขืนผ่านจอพอกันที ซึ่งขึ้นเทรนด์อันดับ 1 และ 2 ของทวิตเตอร์ประเทศไทยในช่วงเวลานั้น

ประเด็นเนื้อหาที่ถูกพูดถึง เช่น การใส่ฉากข่มขืนในละคร พระเอกรังเกียจนางเอกที่ถูกขืนใจ แม้กระแสในโลกโซเชียลจะถูกตั้งคำถามถึงความไม่เหมาะสมของเรื่องราว แต่ดูเหมือนว่าเรตติงตอนจบจะสวนทางกับกระแสสังคม ที่สามารถโกยเรตติงไปได้ทั่วประเทศถึง 4.7 ขณะที่ยอดชมทางออนไลน์ ก็กวาดยอดวิวรวมกัน 2 แพลตฟอร์มไปได้กว่า 500,000 วิว (TrueID, 3+)

หากเรามองว่าละคร สามารถเป็นสื่อชนิดหนึ่งที่สามารถเป็นเครื่องมือในการสอนหรือกล่อมเกลาสังคมได้ การมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมออกฉาย อาจจะทำให้เกิดการเลียนแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในโลกความจริงที่คู่ขนานมากับโลกของละคร ผ่านการเลียนแบบตามหลักจิตวิทยา ที่มีทั้งรูปแบบของการเลียนแบบภายใน (Identification) ที่อาจจะเป็นสิ่งที่สังเกตได้ยากและต้องใช้เวลา และการเลียนแบบภายนอก (Imitation) ซึ่งการเลียนแบบภายนอกเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้อย่างง่ายและชัดเจน เช่น เด็กที่ดูเซเลอร์มูนแล้วทำท่าแปลงร่างตาม

หรือแม้แต่การเลียนแบบงานในสื่อมวลชน ที่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายจากการเรียนรู้ร่วมไปกับเหตุการณ์ต่างๆ เช่น เราอาจจะรู้ว่าการขับรถยนต์ขับยังไงจากการดูละคร ทั้งๆ ที่ในชีวิตจริงของเราอาจจะไม่เคยขับรถยนต์มาก่อน เรียกว่า Observation Learning หรือถ้าละครได้นำเสนอบทลงโทษของคนที่ทำผิด ผู้ที่รับชมอาจจะรู้สึกคล้ายกับว่าตนเองได้รับบทลงโทษไปด้วย และจะไม่กล้าทำตามที่นักแสดงทำ เรียกว่า Inhibitory Effect ซึ่งก็มีงานวิจัยมากมายที่ออกมาสนับสนุนแนวคิดเหล่านี้พอสมควร

ดังนั้น แม้ว่าละครอยู่ในจอแก้ว ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าละครที่ถ่ายทอดออกมาเป็นการแสดงที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ก็เป็นสื่อที่อาจจะส่งผลและมีอิทธิพลต่อคนดู จึงต้องถูกคาดหวังตามมาว่าจะสามารถให้คติหรือสอนคนดูได้เช่นกัน
.
เขียนโดย: อาจารย์อาทิตยา ทรัพย์สินวิวัฒน์ (น้ำนุ่น) อาจารย์ประจำสาขานวัตกรรมการสื่อสาร วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ที่มา:
Bandura, A., (1997). Social Learning Theory. America: New Jersey.
กาญจนา แก้วเทพ. (2556). สื่อสารมวลชน : ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา. กรุงเทพฯ: เอดิสัน เพรส โพรดักส์
Instagram : @klink.official
https://www.thairath.co.th/entertain/news/2029213

‘นิ้วล็อก’ เป็นความผิดปกติของนิ้วมือที่ไม่สามารถ ‘งอ’ หรือ ‘เหยียด’ ได้อย่างปกติ ต้องใช้นิ้วมือด้านตรงข้ามมาแกะนิ้วที่ล็อกออกจนเกิดเสียงดัง ‘กึ้ก’

ในโลกยุคดิจิทัล เพียงใช้ปลายนิ้วสัมผัสก็สามารถเนรมิตทุกสิ่งได้ตามที่ต้องการ ผลที่ตามมาคือมีผู้ประสบปัญหา ‘นิ้วล็อก’ จำนวนมากขึ้นและที่สำคัญคือช่วงอายุที่เป็นน้อยลง เนื่องจากการใช้งานของนิ้วมือที่เปลี่ยนไป จากที่เคยใช้นิ้วกดแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ พัฒนาเป็นการแตะเลื่อนหน้าจอโทรศัพท์มือถือแทน นอกจากนี้ยังติดเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานอีกด้วย จึงส่งผลให้ชะลอการเจริญเติบโตทางโครงสร้างของกระดูกและกล้ามเนื้อในร่างกาย วัยรุ่นหลายคนมีอาการกระดูกสันหลังคด หลังค่อม เสียบุคลิกภาพ และเมื่อถึงวัยทำงานก็อาจเกิดออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome)

‘นิ้วล็อก’ เป็นความผิดปกติของนิ้วมือที่ไม่สามารถ ‘งอ’ หรือ ‘เหยียด’ ได้อย่างปกติ ต้องใช้นิ้วมือด้านตรงข้ามมาแกะนิ้วที่ล็อกออกจนเกิดเสียงดัง ‘กึ้ก’ คล้ายเสียงไกปืนลั่น อาจเป็นนิ้วเดียวหรือหลายนิ้ว หากเป็นมาก นิ้วอาจค้างอยู่ในท่างอ(ท่าเหนี่ยวไกปืน) พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 3 - 4 เท่า และ พบในนิ้วมือข้างที่ถนัดมากกว่า

ใครที่เสี่ยงต่อการเป็น ‘นิ้วล็อก’ !?!

•    แม่บ้านที่ชอบหิ้วถุงพลาสติกหนักๆเวลาจ่ายตลาด หรือ ทำอาหาร
•    ชอบยกของหนัก เช่น หม้อแกง กะละมังใส่น้ำจนเต็ม
•    ทำอาชีพรับจ้างซักผ้า หรือ ต้องบิดผ้า โดยมักจะเป็นนิ้วล็อกที่นิ้วชี้
•    แม่ค้าขายข้าวแกงที่ต้องใช้ตะหลิวหรือทัพพีทำกับข้าวปริมาณเยอะ ๆ
•    นักเรียน นักศึกษา ต้องจับดินสอปากกาบ่อย ๆ หรือ อาชีพนักเขียน จิตรกร
•    เล่นเกม หรือ พิมพ์งานด้วยคอมพิวเตอร์
•    นักกีฬาประเภทที่ต้องออกแรงกำมือมากกว่าปกติ เช่น กอล์ฟ เทนนิส ปิงปอง หรือ แบดมินตัน
•    ทำอาชีพที่ต้องใช้มือทำงานหนัก ๆ ซ้ำ ๆ เช่น ช่างที่ต้องใช้ไขควง ใช้เครื่องเจาะถนน คนส่งน้ำ คนส่งแก๊ส คนสวนที่ต้องใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้, ใช้จอบเสียมขุดดิน
•    ทำอาชีพขายเนื้อสัตว์ จะมีการใช้มือซ้ำๆในการสับเนื้อสัตว์
•    ทันตแพทย์
•    ช่างงานฝีมือเย็บปักถักร้อย ช่างตัดเสื้อผ้า
•    ช่างตัดผม ช่างทำผม

ความเสี่ยงต่าง ๆ ล้วนเกิดจากการใช้งานนิ้วมือซ้ำ ๆ ทำให้เอ็นในนิ้วมือเสียดสีกับอุโมงค์หุ้มเอ็นในขณะใช้งานครั้งแล้วครั้งเล่า เกิดการบาดเจ็บหรืออักเสบซ้ำ ๆ เอ็นในนิ้วมือหรืออุโมงค์หุ้มเอ็นมีการปรับตัวหนาขึ้นจนเกิดเป็นพังผืด เป็นเหตุให้เอ็นในนิ้วมือสูญเสียความยืดหยุ่น ประกอบกับเมื่อช่องอุโมงค์หุ้มเอ็นหนาตัวแคบเข้า ส่งผลให้เอ็นในนิ้วมือลอดผ่านอุโมงค์ได้ยากเรียกว่า “นิ้วล็อก”

อาการของ ‘นิ้วล็อก’ 4 ระยะ

ระยะแรก มีการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ เมื่อกดแล้วเจ็บปวดมากขึ้น แต่ยังไม่มีอาการติดสะดุด ส่วนใหญ่ปวดมากหลังตื่นนอนตอนเช้าหรืออากาศเย็น

ระยะที่ 2 เริ่มมีอาการสะดุดของนิ้วเวลางอหรือเหยียดนิ้วมือ เวลากำมือหรือแบมือจะรู้สึกตึงๆ เหยียดนิ้วได้ไม่คล่อง อาจได้ยินเสียงดัง ‘กึ้ก’ คล้ายเสียงไกปืนลั่น เกิดจากเอ็นที่เคลื่อนผ่านอุโมงค์หุ้มเอ็น โดยมีการปวดรุนแรงมากขึ้นเมื่อทำงานหนัก

ระยะที่ 3 เกิดอาการ “นิ้วล็อก” พร้อมกับการเจ็บปวด บวม ชา ไม่สามารถเหยียดนิ้วมือออกเองได้ ต้องเอามืออีกข้างมาช่วยเหยียด นิ้วมืออาจค้างอยู่ในท่างอ(ท่าเหนี่ยวไกปืน) หรืออาจติดล็อกในท่าเหยียดนิ้วมือจนไม่สามารถงอนิ้วลงได้เอง

ระยะที่ 4 มีการอักเสบบวมและเจ็บปวดมาก นิ้วมือบวมและติดอยู่ในท่างอไม่สามารถเหยียดออกได้ ถ้าใช้มืออีกข้างช่วยเหยียดจะปวดมาก สร้างความเจ็บปวดและความยากลำบากในการใช้งานมือ

การรักษา “นิ้วล็อก”

ในระยะแรกที่เริ่มปวด ควรพักการใช้งานมือจนอาการปวดทุเลาลง อาจใช้เวลาหลายวัน ในช่วงนี้อาจประคบด้วยความเย็น 15 นาทีใน 1 - 2 วันแรก หลังจากนั้นแช่น้ำอุ่น 15 นาทีในวันถัดมา ทำวันละ 3 - 4 ครั้ง อาจร่วมกับการกินยาต้านการอักเสบหรือวิตามินบีด้วย

ระยะที่ 2 ถ้ามีอาการปวดมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันสามารถกินยาระงับปวดได้ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อลดการปวดและภาวะตึงของเอ็นนิ้วมือ

ระยะที่ 3 แพทย์อาจพิจารณาฉีดยาสเตียรอยด์ที่อุโมงค์หุ้มเอ็น ซึ่งเป็นการรักษาแบบชั่วคราว ช่วยลดการอักเสบได้ดี อาการจะดีขึ้นใน 2 - 3 วันหลังจากฉีดยา แต่ไม่ควรฉีดมากกว่า 3 ครั้งต่อปี

ระยะที่ 4 การผ่าตัดเพื่อเปิดอุโมงค์หุ้มเอ็นให้กว้างขึ้นให้เอ็นนิ้วมือเคลื่อนผ่านได้สะดวก

อย่างไรก็ตาม ‘นิ้วล็อก’ อาจเกิดซ้ำได้อีก โดยการดูแลเพื่อป้องกันหรือชะลอการเกิด ‘นิ้วล็อก’ มีดังนี้

1.) พักการใช้งานมือ เมื่อต้องใช้มือทำงานหนักเป็นเวลานาน

2.) หมั่นเคลื่อนไหวข้อมือและข้อนิ้วมือทุกข้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและป้องกันไม่ให้เกิดการคั่งค้างของของเสียบริเวณข้อต่อ

3.) ออกกำลังกายยืดเหยียดกล้ามเนื้อแขน, ข้อมือและนิ้วมือ ช่วยให้กล้ามเนื้อและเอ็นต่าง ๆ มีความยืดหยุ่นและผ่อนคลายดังนี้

- ยกแขนระดับไหล่ ใช้มือข้างหนึ่งดันให้ข้อมืออีกข้างหนึ่งกระดกขึ้น - ลง
ปลายนิ้วเหยียดตรงค้างไว้ 10 วินาที ทำ 10 ครั้งต่อชุด ทำ 3 ชุดต่อวัน

- ฝึกกำ - แบมือ เพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อนิ้วมือและเพิ่มกำลังของกล้ามเนื้อภายในมือ
หรืออาจบีบลูกบอลในฝ่ามือก็ได้

-สามารถเพิ่มกำลังกล้ามเนื้องอ-เหยียดนิ้วมือโดยการใช้หนังยางเป็นแรงต้าน
เหยียดนิ้วมืออ้าออกพร้อมออกแรงต้านกับยางยืดค้างไว้ 10 วินาที ทำ 10 ครั้งต่อชุด ทำ 3 ชุดต่อวัน

4.) นวดและดูแลมือให้สะอาดอยู่เสมอ เมื่อพบอาการติดขัดหรือเคลื่อนไหวลำบากของนิ้วมือ โดยเฉพาะช่วงหลังตื่นนอน สามารถใช้นิ้วมืออีกข้างนวดและช่วยยืดเหยียดนิ้ว

- วางนิ้วโป้งขวาไว้ที่โคนนิ้วโป้งซ้าย จากนั้นเคลื่อนนิ้วโป้งขวากดนวดจากโคนนิ้วจนสุดข้อมือ
ทำเช่นนี้ทีละนิ้วจนครบทุกนิ้ว สลับมืออีกข้างในลักษณะเดียวกัน

- ใช้นิ้วโป้งขวานวดคลึงกล้ามเนื้อฝ่ามือซ้ายในลักษณะวงกลมเล็ก ๆ ซ้อนกัน
เริ่มจากทางด้านนิ้วก้อยไปหานิ้วโป้ง

- ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ประกบเข้ากับนิ้วที่ต้องการนวด ออกแรงนวดจากปลายนิ้วไปยังโคนนิ้ว ทั้งด้านหน้า ด้านหลังและด้านข้างของทุกนิ้ว

- ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ประกบเข้ากับด้านข้างของนิ้วที่ต้องการนวด
ออกแรงดึงจากโคนนิ้วไปยังปลายนิ้ว ทำเช่นนี้ทีละนิ้วจนครบทุกนิ้ว สลับมืออีกข้างในลักษณะเดียวกัน

5.) เมื่อต้องทำงานลักษณะกำมือหรือจับสิ่งของแน่นๆ เช่น จับตะหลิว หิ้วของ จับปากกา ควรดัดแปลงอุปกรณ์ที่ใช้ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและเหมาะสม เพื่อช่วยกระจายน้ำหนัก หรือ หาอุปกรณ์ที่ช่วยผ่อนแรง เช่น ใช้เสียมด้ามใหญ่ทำให้ไม่ต้องกำมือแน่นเกินไป หรือ ใช้ผ้าจับช่วยหมุนเปิดขวด เป็นต้น

6.) ระมัดระวังการใช้งานมือและไม่ใช้มือทำงานผิดประเภท เช่น ขุดดิน ปอกเปลือกมะพร้าว เป็นต้น และถ้ามีการบาดเจ็บให้รีบรักษาทันที

เขียนโดย: กภ.คณิต คล้ายแจ้ง นักกายภาพ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลศิริราช


เอกสารอ้างอิง
รศ.นวลอนงค์ ชัยปิยะพร. (2556). นิ้วล็อก. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน.
นพ.วิชัย วิจิตรพรกุล. (2548). นิ้วล็อก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้ากรุ๊ป.
กนกอร บุญพิทักษ์. (2555). นิ้วล็อกกับโรคของกระดูกและเอ็น. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ:  สำนักพิมพ์ feel good.
 

‘อุตุนิยมวิทยา’ โดยเฉพาะการพยากรณ์ลักษณะสภาพดินฟ้าอากาศ มีความสำคัญและถูกซึมซับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันของมนุษย์ทุกสาขาอาชีพ

เวลาที่ผู้เขียนสอนหนังสือในรายวิชาโลกและการเปลี่ยนแปลง มักจะถามผู้เรียนเสมอว่า พรุ่งนี้ฝนจะตกไหม หรือสัปดาห์หน้าอากาศจะร้อนหรือเย็น ซึ่งผู้เรียนต้องค้นหาคำตอบโดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ตอบคำถามได้ถูกต้องและแม่นยำ และเชื่อแน่ว่าหลาย ๆ ท่าน ก่อนออกจากบ้านเพื่อจะทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการจัดงานมงคลก็ตาม นอกจากจะดูฤกษ์ ดูชัยแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึงด้วย นั่นก็คือสภาพดินฟ้า อากาศ ในช่วงนั้น ซึ่งลักษณะสภาพอากาศที่ดีนั้น ก็กลายมาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของฤกษ์ที่ดีในช่วงนั้นไปด้วย และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันของคนเราไปแล้วนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การจัดงานต่าง หรือแม้กระทั่งการเดินทางไปท่องเที่ยว ๆ ทั้งในประเทศ หรือต่างประเทศ 

โดยในปัจจุบันศาสตร์ที่มีความสำคัญ และเป็นสิ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนการทำกิจกรรมต่าง ๆ คือ อุตุนิยมวิทยา 

อุตุนิยมวิทยา คือ วิชาที่ว่าด้วยการศึกษาลักษณะบรรยากาศของโลก เช่น การเกิดฤดูการต่าง ๆ การเกิดลม เกิดฝน เกิดพายุ เป็นต้น 

และหนึ่งในความสำคัญของอุตุนิยมวิทยา คือ การพยากรณ์อากาศ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศของประเทศไทยที่เรามักได้ยินบ่อย ๆ คือ กรมอุตุนิยมวิทยา ทั้งนี้ในแต่ละวันเรามักจะได้ยินข่าวจากกรมอุตุนิยมวิทยา เกี่ยวกับลักษณะสภาพของอากาศที่จะเกิดขึ้นในอีกวันสองวันข้างหน้า หรือในอีกอาทิตย์หนึ่ง เพื่อให้เราได้มีการเตรียมรับมือกับสภาพอากาศที่กำลังจะมาถึง เช่น อาจเกิดฝนตกหนัก หรือพายุฝนฟ้าคะนอง เป็นต้น 

ในอดีตการพยากรณ์อากาศนั้นมักจะไม่ค่อยมีความแม่นยำมากเท่าไรนัก เนื่องจากเทคโนโลยียังไม่ดีเท่าที่ควร แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการพยากรณ์อากาศ มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทำให้การพยากรณ์อากาศมีความแม่นยำสูง และสามารถทำนายล่วงหน้าได้เป็นเวลานานขึ้น 

สำหรับวันนี้จะพูดถึงวิธีการและเครื่องมือที่ใช้ในการพยากรณ์อากาศกันครับ ก่อนอื่นเราต้องรู้จักคำว่าพยากรณ์อากาศกันก่อน 

พยากรณ์ แปลว่า การทำนายอนาคตที่กำลังจะมาถึง คล้ายกับการที่เราไปดูหมอดู เพื่อให้ทำนายสิ่งที่จะมาถึงในวันข้างหน้ากัน แต่แตกต่างกันที่การพยากรณ์อากาศ ใช้หลักการและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์ โดยเครื่องมือหลัก ๆ ที่ใช้สำหรับการพยากรณ์อากาศ ที่ทำให้เกิดความแม่นยำสูงได้แก่ การใช้ดาวเทียมในการศึกษาลักษณะการเคลื่อนที่ของอากาศช่วงนั้น เช่นการเกิดลม เกิดฝน หรืออากาศร้อน หนาว เย็น ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนที่ของกลุ่มเมฆ ที่จะทำให้เกิดฝน หรือทิศทางการเคลื่อนที่ของลม ซึ่งจะทำให้ร้อน หนาว เย็น ไม่ว่าจะเป็นทิศทางการเคลื่อนที่ ความเร็ว 

นอกจากนั้นการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางดาวเทียมยังสามารถบอกได้ถึงลักษณะการเคลื่อนที่ของกลุ่มเมฆในช่วงนั้น เป็นการเคลื่อนที่ของกลุ่มเมฆฝนธรรมดา หรือเป็นลักษณะของการเคลื่อนที่ของพายุได้อีกด้วย เมื่อนำมาประมวลผลโดยการใช้คอมพิวเตอร์แม่นยำสูง (Supper computer)  ทำให้รู้ระยะเวลาของการเคลื่อนที่มาถึงยังตำแหน่ง หรือภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ 

โดยข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ ถูกนำมาจัดทำในรูปแบบของแผนที่อากาศ ในแผนที่อากาศ ประกอบไปด้วยลักษณะของหย่อมความดกอากาศต่ำ หรืออากาศร้อน (Low presser ) แทนด้วยสัญลักษณ์ตัว L และหย่อมความกดอากาศสูงหรืออากาศเย็น (High presser) แทนด้วยสัญลักษณ์ตัว H และเมื่อเกิดพายุ ในแผนที่อากาศก็จะแสดงเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นระดับความรุนแรง และทิศทางการเคลื่อนที่ของพายุ

นอกจากการใช้ดาวเทียมแล้ว ยังมีการใช้เรดาร์ตรวจอากาศ ที่สามารถตรวจจับกลุ่มของฝน และทิศทางการเคลื่อนที่และความเร็วของกลุ่มฝน ทำให้สามารถทำนายระยะเวลาที่จะเกิดลมและฝนในพื้นที่อื่น ๆ ได้ และมีการรวบรวมปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่ เมื่อวางแผนการใช้น้ำหรือการทำเกษตรกรรมอีกด้วย โดยสถานีวัดปริมาณน้ำฝนจะถูกกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในระดับตำบล และมีการายงานผลเขาสู่ส่วนกลาง เพื่อรวบรวมเป็นปริมาณน้ำฝนที่ตกในแต่ละวัน 

นอกจากเป็นเครื่องมือสำหรับวางแผนการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว อุตุนิยมวิทยา ยังเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญในการเตือนภัยที่จะเกิดจากลักษณะดินฟ้าอากาศ อีกด้วย เช่นการเกิดพายุ การเกิดฝนตกหนัก แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือแม้กระทั่งการเกิดสภาวะแห้งแล้ง และต้องยอมรับว่าการมีเครื่องมือในการเตือนภัยของอุตุนิยมวิทยา มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถลดความสูญเสีย หรือความเสียหายอันเนื่องมากจากภัยทางธรรมชาติ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วมูลค่าของความเสียหายมักจะสูง อย่างเช่นการเกิดพายุฤดูร้อนในเขตภาคอีสาน และภาคเหนือของประเทศไทย เมื่อสามสี่วันที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาได้มีการเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ดังกล่าว เตรียมมือในการรับพายุที่จะมาถึง ซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ความเสียหายที่เกิดจากพายุลดลงพอสมควรเนื่องจากมีการเตรียมรับมือไว้ 

จากที่กล่าวมาข้างต้น อุตุนิยมวิทยา โดยเฉพาะการพยากรณ์ลักษณะสภาพดินฟ้าอากาศที่จะเกิดขึ้น จึงมีความสำคัญและถูกซึมซับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันของมนุษย์ทุกสาขาอาชีพไปแล้ว นั่นเอง


เขียนโดย: ผศ.ดร.สุทัศน์ จันบัวลา ประธานสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

การลงทุนในทองคำ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ที่นักลงทุนเลือกเพื่อเก็งกำไร

การจัดสรรเงินออมในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อนำไปลงทุนเพิ่มค่าของเงินด้วยวิธีการต่าง ๆ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้นั้น ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการสร้างความมั่นคงทางการเงินส่วนบุคคลที่สำคัญ แต่อย่างไรก็ตามภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบให้การลงทุนในหลายรูปแบบมีความผันผวน ดังนั้นนักลงทุนจึงจำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงลักษณะ ผลตอบแทน และความเสี่ยงจากการลงทุน ก่อนตัดสินใจนำเงินไปลงทุนในทางเลือกนั้น ๆ

โดยในบทความนี้ผู้เขียนขอกล่าวถึง “การลงทุนในทองคำ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวที่นักลงทุนเลือกเพื่อเก็งกำไร เนื่องจาก ทองคำมักมีมูลค่าเพิ่มในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อีกทั้งทองคำยังเป็นสินทรัพย์ที่รักษามูลค่าและไม่เสื่อมสภาพ สามารถแปลงเป็นเงินสดได้เร็วโดยที่ไม่กระทบต่อมูลค่ามากนัก ตลอดจนนักลงทุนหลายคนนิยมใช้ทองคำเป็นเครื่องมือในการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนรวมอีกด้วย

การลงทุนในทองคำแบบดั้งเดิม คือการลงทุนซื้อ “ทองคำแท่ง หรือ ทองรูปพรรณ” ผ่านหน้าร้านตามราคาที่ทางร้านประกาศไว้ โดยอ้างอิงจากราคากลางของสมาคมค้าทองคำ น้ำหนักทองคำ 1 ออนซ์ ซึ่งเป็นหน่วยวัดในระดับสากล จะเท่ากับทองคำประมาณ 2 บาทตามหน่วยวัดของไทย ทั้งนี้ในการซื้อขายทองคำในตลาดสากลนิยมทองคำบริสุทธิ์ 99.9% ในขณะที่การซื้อขายทองคำในตลาดไทยเป็นไปตามมาตรฐานที่ 96.5% โดยนักลงทุนทองคำเพื่อเก็งกำไรมักเลือกลงทุนในทองคำแท่ง ที่มีค่าบล็อคเล็กน้อย ไม่มีค่ากำเหน็จ และเวลาขายคืนจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าทองรูปพรรณ

ทั้งนี้นักลงทุนจะสามารถทำกำไรจาการลงทุนในทองคำด้วยการดูราคาทองคำในตลาดปัจจุบันและคาดคะเนความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งโดยปกตินักลงทุนมักจะเทขายเมื่อราคาทองคำสูงขึ้น 2-5% จากราคาต้นทุน อย่างไรก็ดีปัจจุบันการลงทุนในทองคำแท่งและทองรูปพรรณยังสามารถซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ และแพลตฟอร์มออนไลน์

อาทิเช่น
วายแอลจี พรีเชียส บนเว็บไซต์ https://www.ylgprecious.co.th
ฮั่วเซ่งเฮง บนเว็บไซต์ https://www.huasengheng.com/buy-sell-online
แม่ทองสุก บนเว็บไซต์ http://trade.mtsgold.co.th/goldonline
App บนมือถือ “HSHtrade” เป็นต้น

สำหรับนักลงทุนรายย่อยที่มีเงินทุนน้อย อาจเลือกลงทุนในทองคำผ่านรูปแบบการ “ออมทอง” โดยนักลงทุนจะเปิดบัญชีกับบริษัทที่ให้บริการ จากนั้นจึงทยอยจ่ายเงินลงทุนซื้อทองทุกเดือน โดยมียอดขั้นต่ำเดือนละ 1,000 บาท เสมือนการทยอยซื้อทองน้ำหนัก 5 - 10 สตางค์ ทุกเดือนไปเรื่อย ๆ จนครบน้ำหนักทอง 1 บาท

นักลงทุนก็สามารถไปขอรับเป็นทองจริงได้จากบริษัทที่เลือกลงทุน อาทิเช่น ฮั่วเซ่งเฮง, ออสสิริส, โกลเบล็ก, จีแคป, Hello Gold เป็นต้น ทั้งนี้การออมทองจะเป็นการถัวเฉลี่ยซื้อในแต่ละเดือน ทำให้ราคาทองที่ลงทุนจึงเป็นค่าเฉลี่ยของการซื้อในแต่ละครั้งของช่วงเวลาที่มีการออม ดังนั้นนักลงทุนจึงควรพิจารณาความผันผวนของราคาทองที่เป็นไปตามราคาตลาดโลกควบคู่ประกอบการตัดสินใจออมทองไปด้วย

ทางเลือกการลงทุนในทองคำรูปแบบถัดไป เป็นการลงทุนที่ไม่มีการถือทองคำจริง เหมาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่ ได้แก่ การลงทุนทองคำผ่าน ”กองทุนรวม” ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนนำเงินไปลงทุนในทองคำให้กับนักลงทุน โดยแต่ละกองทุนจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลเรื่องการลงทุน วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำ และความผันผวนของราคาของคำที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ จะมีค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการกองทุนรวมเป็นค่าใช้จ่ายของนักลงทุน การลงทุนทองคำผ่านกองทุนรวมนี้ นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปของเงินปันผล และกำไรจากส่วนต่างในมูลค่าหน่วยลงทุน (Capital Gain)

สำหรับทางเลือกการลงทุนในทองคำที่มีความซับซ้อนขึ้น สามารถเก็งกำไรทองได้ ทั้งในภาวะขาขึ้นและขาลง ทำให้มีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สูง แต่ก็มีความเสี่ยงจากการลงทุนที่สูงเช่นกัน ได้แก่ การลงทุนในทองคำผ่านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ “การซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์ส” ที่อ้างอิงราคาทองคำแท่งที่ผู้ลงทุนคาดการณ์ในอนาคต ทั้งนี้ผู้ลงทุนจะซื้อโกลด์ฟิวเจอร์สไว้ก่อน เมื่อคาดว่าทองจะขึ้นในอนาคต และทำกำไรเท่ากับส่วนต่างของราคาซื้อและขาย เมื่อราคาทองคำในอนาคตนั้นปรับตัวขึ้นจริง ในขณะที่ผู้ลงทุนจะขายโกลด์ฟิวเจอร์สล่วงหน้า เมื่อคาดว่าราคาทองจะปรับตัวลดลง การซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สนี้จะเป็นการซื้อขายโดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) หรือ TFEX มีบริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ประกันการชำระราคา และมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นผู้กำกับดูแลการซื้อขาย

และทางเลือกลงทุนในทองคำรูปแบบใหม่ล่าสุด ได้แก่ “โทเคนทองคำ” ที่ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายทองคำดิจิทัลได้เสมือนกับได้ครอบครองกรรมสิทธิ์ในทองคำแท่ง ผ่านเหรียญ xBullion (GOLD), UPXAU, และ GoldGo โดยมีการ Backup ทองคำจริงเอาไว้ และใช้เทคโนโลยี blockchain และรหัสทองคำ เพื่อรักษาความปลอดภัยของการซื้อขายของนักลงทุนแต่ละราย เพิ่มภาพคล่อง และสามารถโอนรายการระหว่างกันได้อย่างรวดเร็ว

จากรูปแบบการลงทุนทั้งหมดที่ผู้เขียนได้กล่าวถึง ปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อผลตอบแทน และความเสี่ยงจากการลงทุนในทองคำที่นักลงทุนควรคำนึงถึงได้แก่ นโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน ตลอดจน Demand supply หรือความต้องการซื้อขายทองคำในตลาด เป็นต้น

เขียนโดย อาจารย์ กมลวรรณ รอดหริ่ง อาจารย์ประจำสาขาการเงิน คณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา


ข้อมูลอ้างอิง
https://www.tfex.co.th/th/education/files/2011-09-GF-Th.pdf

นักเรียน-นักศึกษาทุกคน จะต้องตระหนักถึงผลพวงทางสังคมที่เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ต รวมถึงการรู้จักสิทธิและความรับผิดชอบออนไลน์

ในโลกปัจจุบันเป็นสิ่งที่เราปฎิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวันและสังคมของนักเรียน-นักศึกษาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เช่น Facebook Line TikTok Instagram Twitter และ Instant messaging อื่นๆ ซึ่งนักเรียน-นักศึกษานั้นสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหรือท่องโลกโซเชียลต่างๆ อย่างเสรีภาพได้ทุกที่และทุกเวลา จากเครื่องมือสื่อสาร สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ฯลฯ 

ซึ่งการใช้สื่อออนไลน์ดังกล่าวนั้น ทุกคนควรใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งกับตนเองและผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์ รับผิดชอบ ปลอดภัย และควรมีจริยธรรมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในส่วนของจริยธรรมนี้ ครูพิมพ์จะขอหยิบยกนำมาเขียน นั่นก็คือ จริยธรรมของการใช้เทคโนโลยี โดยที่นักเรียน-นักศึกษาทุกคนจะต้องตระหนักถึงผลพวงทางสังคมที่เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ต รวมถึงการรู้จักสิทธิและความรับผิดชอบออนไลน์ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า นักเรียน–นักศึกษาทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในแสดงออก ในทุกๆ มิติเรื่องราวที่เราสนใจ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการพูด (Freedom of Speech) เสรีภาพการแสดงออก (Freedom of Expression) การแสดงความคิดเห็น การตั้งกระทู้ถาม-ตอบเรื่องต่างๆ การโพสต์สเตตัสบนเฟซบุ๊ก โพสต์รูปภาพ คลิปวีดีโอ และคอมเมนต์เพื่อตอบคำถามหรือแสดงความคิดเห็นของตนเองในสเตตัสของผู้อื่น ฯลฯ 

ทั้งนี้ จะต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ข้อความอันเป็นเท็จ หรือโพสต์ต่อว่าพาดพิงถึงบุคคลอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย อับอาย ถูกเกลียดชัง เสื่อมเสียชื่อเสียง การทำให้เข้าใจผิด กลั่นแกล้ง ทำให้หวาดกลัว ข่มขู่ ประจาน รวมทั้ง การแชร์ข้อมูลอันเป็นเท็จส่งต่อผ่านสื่อ Social Media ต่างๆ ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการกระทำที่มีความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฯ รวมทั้งไม่นำเสนอสินค้าหรือผลงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ไปละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอยู่มากมายในยุคปัจจุบัน

ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักเรียน – นักศึกษา ส่วนใหญ่ที่ครูพิมพ์พบมากที่สุด คือ การหมิ่นประมาท โดยการโพสต์ต่อว่าพาดพิงถึงบุคคลอื่นๆ เช่น การโพสต์ต่อว่าสถานศึกษา ต่อว่าครู-อาจารย์ ต่อว่าเพื่อนทั้งในโรงเรียนและต่างโรงเรียน รวมทั้งต่อว่าคนอื่นๆ ตามช่องทางสื่อโซเซียลต่างๆ โดยส่วนมากมักจะไม่แสดงโปรไฟล์ที่แท้จริงของตน แต่จะใช้โปรไฟล์อวตาร บางคนเรียกว่า แอคหลุม หรือ แอคเคาท์หลุม ซึ่งเป็นคำเรียกของชื่อบัญชีที่ไม่แสดงข้อมูล รายละเอียดเกี่ยวกับชื่อบัญชีนั้น ไม่แสดงรูปโปรไฟล์ ไม่มีความหมายของชื่อแอคเค้าท์นั้นๆ ซึ่งเมื่อนักเรียน-นักศึกษา ไม่ใช้โปรไฟล์ที่แสดงตัวตนจริง จึงคิดว่าตนเองเป็นผู้วิเศษที่สามารถโพสต์หรือคอมเมนต์ต่อว่าใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ก็ได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลินและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (กลายเป็นคำพูดที่ฮิตกันเมื่อกระทำความผิดแล้วถูกจับได้) เพราะคิดว่าไม่มีใครทราบว่าโปรไฟล์อวตารนี้เป็นใคร และคงไม่มีใครตามจับเพื่อให้ออกมาแสดงความรับผิดชอบได้ 

ซึ่งการคิดและการกระทำเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนะคะ เพราะถ้านักเรียน-นักศึกษา โพสต์ในลักษณะเชิงประจาน ดูถูก เหยียดหยามผู้อื่น หรือแสดงความคิดเห็นในเชิงคุกคาม ข่มขู่ ทำให้หวาดกลัว หรือการนำเรื่องที่ไม่จริงมาแสร้งทำให้คนอื่นเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องจริง โดยทั้งหมดที่กล่าวมานี้เรียกได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาททางออนไลน์ หรือคดีหมิ่นประมาททางอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้เสียหายอาจได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง เป็นเครือข่าย ขยายไปเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น เช่น ผู้ที่โพสต์มีเพื่อนใน Facebook จำนวนห้าพันคนและมีผู้ติดตามอีกมากมายนับไม่ถ้วน โดยที่เพื่อนอาจแชร์ไปสักสองพันคน และเพื่อนของสองพันคนนี้ ก็เห็นโพสต์ข้อความดังกล่าวและก็แชร์ต่อๆ กันโดยไม่สิ้นสุดไปเรื่อยๆ 

ทราบแล้วไช่ไหมคะว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการโพสต์เพียงแค่ 1 ครั้ง คุณก็ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นได้เป็นวงกว้างขนาดไหน ครูพิมพ์คิดว่าการกระทำเช่นนี้ เป็นการกระทำที่ไม่น่ารักและใจร้ายมากๆ นะคะ ที่เราสามารถทำร้ายคนอื่น ให้เค้าได้รับความเสียหาย อับอาย เสียใจ ถูกเกลียดชัง ถูกเข้าใจผิด และเป็นการทำลายผู้อื่นโดยการใช้เพียงแค่ปลายนิ้วโพสต์ข้อความที่เราต้องการลงในโลกโซเชียล ยิ่งถ้าเป็นเรื่องในแง่ลบนั้น ข่าวก็ยิ่งกระจายอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ผู้ที่โพสต์ต้นเรื่องอาจจะลบข้อความที่ตนโพสต์ไปแล้วก็ตาม แต่บางคนที่อ่านอาจจะแคปไว้ได้ทันและอาจจะนำมาส่งต่อๆ หรือนำไปโพสต์ต่ออีกทีแม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานแล้ว ก็เป็นไปได้ 

ซึ่งผลกระทบที่ตามมานั้น ผู้ที่เสียหายอาจเกิดความอับอาย เสียใจ หนีจากสังคม อาจส่งผลกระทบต่อการงาน ต่อธุรกิจ และอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้า ส่วนผู้ที่โพสต์นั้นถ้ากระทำความผิดจริงก็อาจถูกดำเนินคดีทางอาญาและรับโทษทางอาญาหรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่ง ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ โดยผู้เสียหายจะต้องรวบรวมหลักฐานและพยานต่างๆ เข้าแจ้งความร้องทุกข์เพื่อเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายต่อไป และที่กำลังฮอตฮิตที่สุด คือ อาจต้องขอโทษผู้เสียหายด้วยเงินสดเป็นจำนวนตามที่ผู้เสียหายต้องการอีกด้วยนะคะ แล้วยิ่งถ้าเป็นบุคคลสาธารณะ เป็นผู้มีชื่อเสียง เช่น ดารา ไฮโซ นักร้อง นักดนตรี นักธุรกิจ นักการเมือง หรือคนดัง ฯลฯ ความเสียหายยิ่งมาก ค่าเสียหายก็จะมากขึ้นตามไปด้วยนะคะ 

โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษา การโพสต์ต่อว่าด่าทอและวิจารณ์ครูบาอาจารย์ในแง่ลบนั้น ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่สมควรและไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เพราะครูบาอาจารย์ เป็นผู้สั่งสอน อบรม พร้อมทั้งถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์ทุกคนด้วยความรัก ความปรารถนาดี และมีเมตตาต่อศิษย์ทุกคนโดยเท่าเทียมกันและไม่เลือกปฏิบัติ พร้อมทั้งปกป้องและให้อภัยทุกครั้งเมื่อศิษย์ของตนได้กระทำความผิด 

ครูพิมพ์จะขอฝากถึงศิษย์ทุกคนให้คิดและตระหนักถึงในเรื่องดังกล่าวนี้ให้มากๆ นะคะ ไม่มีครูบาอาจารย์คนใดที่ไม่รักศิษย์ของตน ไม่มีครูบาอาจารย์คนใดคิดทำร้ายทำลายศิษย์ของตน มีแต่มอบวิชาความรู้ มอบประสบการณ์ มอบความรักและความเมตตา ความปรารถนาดี ความหวังดี และอยากเห็นศิษย์ทุกคนประสบความสำเร็จในชีวิต มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า เติบโตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ มีคุณธรรม เป็นคนเก่งและคนดีของคุณพ่อคุณแม่ ครอบครัว สังคม และประเทศชาตินะคะ     

“ครูบาอาจารย์เปรียบเสมือนเรือจ้าง แต่เรือจ้างลำน้อยๆ นี่แหละ ที่จะตั้งใจคอยรับคอยส่งศิษย์ทุกคนไปให้ถึงฝั่งฝัน แม้จะเผชิญอุปสรรค์ยากลำบาก เสมือนโดนพายุพัดพาสักเพียงใด ครูพิมพ์ก็จะพยายามพายไปส่งทุกคนให้ถึงฝั่งฝันให้สำเร็จนะคะ”


เขียนโดย ครูพิมพ์ฑักษอร แสงทองไชย กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ 

ในปัจจุบันได้มีการนำสมุนไพรไทยอย่าง “ฟ้าทะลายโจร” มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอัตราสูงขึ้นในทุกวัน เป็นที่น่าพึงพอใจอย่างมากในทางการแพทย์ ตัวฟ้าละลายโจรนั้นสามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและหายจากโรคระบาดนี้ได้อย่างรวดเร็ว

ในช่วงนี้การระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากจะมีแนวโน้มที่ไม่ลดลงแล้ว ยังเพิ่มขึ้นแบบน่าใจหายอีกด้วยครับ ท่ามกลางการโจมตีผลงานรัฐบาลในเรื่องของการใช้วัคซีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการ หรือแม้กระทั่งคุณภาพของวัคซีน จนชาวบ้านระดับรากหญ้าหลาย ๆ ราย ไม่กล้าที่จะฉีดวัคซีน ถ้ามีเงินหน่อยก็เลือกที่จะรอวัคซีนทางเลือก ที่โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเริ่มให้มีการเปิดจองไปแล้ว 

ในส่วนของการจัดการ พอรัฐบาลมีมาตรการสั่งปิดแคมป์คนงานหลาย ๆ แห่งในกรุงเทพฯ ก็กลับกลายเป็นว่าทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานจำนวนมากไปยังต่างจังหวัดเพื่อกลับภูมิลำเนา ส่งผลให้ในต่างจังหวัดที่สถานการณ์เริ่มจะคลี่คลายแล้วกลับมารุนแรงขึ้นอีก และมีคลัสเตอร์ที่น่าเป็นห่วงที่สุดเพิ่มขึ้นมาคือคลัสเตอร์ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เนื่องจากการกระจายลงไปสู่เด็กเล็กที่ค่อนข้างลำบากมากในเรื่องของการดูแลตัวเอง 
ท่ามกลางกระแสอันเลวร้ายของโควิด-19 ก็มีอีกกระแสหนึ่งเกิดขึ้นมา นั้นคือกระแสที่ว่าด้วยแพทย์ทางเลือก คือ การใช้ฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยรู้จักกันมานาน อาจจะมีสรรพคุณในการป้องกัน และรักษาไวรัสโควิด-19 ได้ สำหรับวันนี้เราจะมาดูรายละเอียดของเรื่องนี้กันครับ 

ก่อนอื่นเรามารู้จักพืชสมุนไพรที่ว่าด้วยฟ้าทะลายโจรกันก่อน ฟ้าทะลายโจรมีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Andrographis paniculata (Burm.f.) Wall.ex Nees และชื่อสามัญคือ Kariyat , The Creat ทั้งนี้นอกจากชื่อฟ้าทะลายโจร แล้วยัง มีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก ตามแต่ละพื้นที่ เช่น หญ้ากันงู น้ำลายพังพอน ฟ้าสาง เขยตายยายคลุม สามสิบดี เมฆทะลาย ฟ้าสะท้าน เป็นต้น ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของฟ้าทะลายโจร เป็นไม้ประเภทล้มลุก มีความสูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร ทุกส่วนของฟ้าทะลายโจรจะมีรสขม กิ่งเป็นใบสี่เหลี่ยม ใบเป็นประเภทใบเดี่ยว แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอก ช่อ ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ ส่วนที่ใช้เป็นสมุนไพรใช้ได้หลายส่วน ทั้งต้น ใบสด ใบแห้ง ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (บัญชียาจากสมุนไพร) กระทรวงสาธารณสุข ในรูปแบบยาเดี่ยว ลักษณะส่วนประกอบทางเคมีของฟ้าทะลายโจร มีสารเคมีประกอบอยู่หลายประเภท แต่ที่เป็นสารที่สำคัญในการออกฤทธิ์ คือ สารกลุ่ม Lactone ได้แก่ สารแอดโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) สารนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neo-andrographolide) สาร 14-ดีอ๊อกซี่แอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-andrographolide) 

โดยสรรพคุณหลักของฟ้าทะลายโจรคือ ใช้บรรเทาอาการไข้หวัด แก้ไอและเจ็บคอ ทั้งนี้ในประเทศไทยมีหน่วยงานที่ศึกษาเรื่องการใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาไวรัสโควิด-19 อย่างจริงจังคือโรงพยาบาลอภัยภูเบศร โดยได้ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการศึกษาวิจัยถึงกลไกในการต้านโควิด-19 ของฟ้าทะลายโจร ทั้งนี้จากผลการศึกษาพบว่าสารแอนโดรกราโฟไลด์ ซึ่งเป็นสารสำคัญในฟ้าทะลายโจร มีความสามารถในการยับยั้งกระบวนการติดเชื้อไวรัสของเซลล์ปอดในมนุษย์ได้ โดยผ่านกลไกที่สำคัญ คือ การยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในทุกระยะ จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาการใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นยารักษาและป้องกันโควิด-19 ได้ โดยสามารถใช้เป็นยาเดี่ยว หรือใช้ควบรวมกับสูตรยามาตรฐาน ในการรักษาผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ ปัจจุบันผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ Journal of  Natural Products ซึ่งเป็นผลการศึกษาที่เกิดขึ้นในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น 

อย่างไรก็ตามเนื่องจากไวรัสโควิด-19 เป็นโรคอุบัติชนิดใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นมา ในการพัฒนายาที่มาใช้ในการรักษานั้น จะต้องมีการศึกษา วิจัย และค้นคว้าให้มีความลึกซึ้งมากกว่านี้ และอาจใช้ระยะเวลาในการศึกษา เพราะการใช้ยาแต่ละชนิดในการรักษาหรือป้องกันโรคนั้นจะต้องศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการใช้ยาชนิดนั้นที่อาจเกิดขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีการศึกษาในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น แต่ที่มีการศึกษาและเป็นที่ยอมรับอย่างชัดเจนแล้วคือการรับประทานฟ้าทะลายโจรจะช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคหวัดได้ ส่วนจะใช้ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ คงต้องมีการศึกษากันในระยะต่อไป เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น 

แต่แม้จะยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน 100% ยืนยันได้ว่าฟ้าทะลายโจรสามารถป้องกันหรือรักษาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ก็ตาม การรับประทานฟ้าทะลายโจรก็เป็นประโยชน์ต่อเราอยู่แล้ว ในเรื่องของการป้องกันการเป็นหวัดได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะหาพืชสมุนไพรที่ชื่อฟ้าทะลายโจรมารับประทาน ก็ไม่เกิดความเสียหายอะไร นอกจากจะป้องกันการเป็นหวัดได้แล้ว เผลอ ๆ อาจจะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายเราในการป้องกันโควิด-19 ท่ามกลางกระแสความสับสนในเรื่องของการใช้วัคซีน ได้อีกด้วยก็เป็นได้ครับ


เขียนโดย: ผศ.ดร.สุทัศน์ จันบัวลา อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

เราจะสร้างบรรยากาศในบ้านให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างไร? สร้างบรรยากาศครอบครัวให้ดี ให้รู้สึกปลอดภัย ไม่ว่าข้างนอกบ้านจะเป็นอย่างไร ทุกคนก็มีความสุขได้

มีคำกล่าวหนึ่ง ผู้หญิงคือผู้สร้างโลก บ้านจะมีความสุขหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสุขของผู้หญิง (ภรรยา) แต่บังเอิญว่าความสุขของผู้หญิง (ภรรยา) ขึ้นอยู่กับความรักของผู้ชาย (สามี) สิ่งที่คุณกระทำต่อภรรยามีผลต่อลูกคุณเสมอ จึงขอฝากถึงคุณผู้ชายว่า รักภรรยาคุณให้มากๆ นะ แบ่งเบาภาระภรรยาให้มากๆ เข้าอกเข้าใจในความเป็นภรรยา ในความเป็นแม่ และในความเป็นผู้หญิงของเธอ ถ้าคุณอยากมีครอบครัวที่อบอุ่น และมีความสุขที่แท้จริง

พวกเราอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลง ทุกๆ ครอบครัวต่างเผชิญกับความไม่แน่นอน การออกนอกบ้านคือสัญลักษณ์ของความไม่ปลอดภัย สิ่งแวดล้อมไม่น่าไว้วางใจ โรคระบาดทำให้ทุกคนต้องกลับเข้าบ้าน  บ้านคือพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับทุกคนในเวลานี้ ประเด็นก็คือ เราจะสร้างบรรยากาศบ้านให้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยได้อย่างไร ในที่นี้คงไม่พูดถึงความสะอาด แต่เราจะขอพูดในมุมของความรู้สึกมากกว่า

จากผลงานวิจัย เมื่อบรรยากาศในบ้านไม่ปลอดภัย มีความขัดแย้ง หรือเสียงทะเลาะ ด่าทอ ร่างกายและจิตใจของลูก จะตอบสนองอัตโนมัติในการรวบรวมพลังงานร่างกายทั้งหมดเพื่อความพร้อมในการรับมือ และการป้องกันตัวเอง แทนที่จะได้ใช้พลังงานที่มีนำไปหล่อเลี้ยงสมอง ให้สมองและจิตวิญญาณเติบโตพัฒนาก้าวหน้า กลับต้องมาเสียพลังงานกับเรื่องความไม่ปลอดภัยในครอบครัว

จากประสบการณ์ตรง ทั้งพ่อและแม่ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว คิดว่าลูกรับได้ ลูกแข็งแรงมากพอ ไม่น่าจะเป็นไรมาก จริงๆ แล้วมีผลกระทบค่ะ ทั้งคำพูด การกระทำ การควบคุม ความหวังดี ความเหมาะสม การตัดสินใจ ที่ไม่เคยถามถึงความความรู้สึกและความสุข บ่อยครั้งที่การทะเลาะทำให้อีกคนเจ็บปวด ไม่สบายใจ ไม่พอใจ เสียใจ โกรธ เคียดแค้น และทุกข์ใจ

การที่คนในครอบครัวเก็บกดความรู้สึกเหล่านี้ไว้นานๆ ทำให้สุขกายและสุขภาพจิตทรุดโทรม นอนไม่หลับ หงุดหงิด อารมณ์เปราะ กังวล ว้าวุ่นใจ สงสัยลังเล  เจ็บป่วยง่าย โรคแปลกๆ จะเกิดขึ้น ไปหาหมอก็ไม่หาย แต่คุณเชื่อไหมว่าโรคเหล่านี้จะหายไปเมื่อสถานการณ์และบรรยากาศกลับมาเป็นปกติ  ด้วยการที่พ่อแม่ลูกให้อภัยกันและกัน กล่าวขอโทษกัน เราทำผิดเราต้องขอโทษ  เขายอมรับผิด เรายกโทษให้  ทำเพื่อทุกคน ทำให้บรรยากาศกลับมาเป็นปกติ ไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่งแต่ทำเพื่อครอบครัว

โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ผิดคือผิดถูกคือถูก พ่อแม่ทำผิดต้องขอโทษ แต่ก็มีอีกกรณีที่เอาคำขอโทษขออภัยมาเป็นเกมในการทำผิดซ้ำๆ คำขอโทษ ขอภัย ก็ไม่มีค่าอะไร เพราะแค่พูดออกไปงั้นๆ แต่ไม่คิดที่จะแก้ไขปรับปรุง แถมยังทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก อันนี้ก็คงต้องแก้ที่นิสัยและทัศนคติในการใช้ชีวิตส่วนตัว

ถ้าครอบครัวคุณอยู่ในบรรยากาศของความขัดแย้งและการทะเลาะ และยังแก้ไขไม่ได้ จงพูดให้ลูกเข้าใจว่าพ่อแม่ก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีรักโลภโกรธหลง มีทั้งดีและไม่ดี ให้ลูกจดจำในส่วนที่ดีๆ ของพ่อกับแม่ไปนะ ส่วนที่ไม่ดีที่เป็นข้อบกพร่องก็ไม่ต้องเอาอย่าง สอนให้ลูกรู้จักแยกแยะ 

เมื่อทุกคนร่วมมือเป็นทีมเดียวกัน สร้างบรรยากาศครอบครัวให้ดี ให้รู้สึกปลอดภัย ไม่ว่าข้างนอกบ้านจะเป็นอย่างไร ทุกคนก็มีความสุขได้ โดยเฉพาะถ้าภรรยามีความสุข บ้านก็มีความสุข สามีก็มีความสุข ลูกๆ ก็มีความสุขอย่างแท้จริง สนับสนุนสร้างครอบครัวอบอุ่นด้วยการมีผัวเดียวเมียเดียวค่ะ 

.

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิง
https://today.line.me/th/v2/article/k6MwRo
https://aboutmom.co/interview/benjarat-jongcharusphan/22044/
https://adaymagazine.com/domestic-violence-during-pandemic

“Podcar” เป็นระบบขนส่งสาธารณะที่สามารถไปถึงจุดหมายได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วและมีความเป็นส่วนตัวเปรียบเสมือนการนำบริการแบบรถไฟฟ้ารวมกับรถแท๊กซี่ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยแก้ไขปัญหาจราจรได้อย่างดีอีกด้วย

หลายท่านน่าจะได้เคยดูหนังแนววิทยาศาสตร์โลกอนาคต เนื้อหาในเรื่องมียานพาหนะส่วนตัวมารับในเวลาที่ต้องการ และไปจุดหมายตามที่ต้องการโดยอัตโนมัติ ระหว่างทางก็นั่งคุยกันไปโดยไม่ต้องกังวลกับการควบคุมยานพาหนะนั้น ดูเหมือนว่าเรื่องแบบนี้น่าจะเกิดขึ้นในโลกอนาคต แต่ความเป็นจริงแล้วได้มีระบบขนส่งแบบนี้เปิดใช้งานจริงมานานกว่าสี่สิบปีแล้ว ในชื่อที่เรียกว่า “Podcar”

ในช่วงปี 1950 ประเทศสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาการขยายตัวของเมืองอย่างกระจัดกระจาย คือเกิดชุมชนใหม่ในแถบชานเมือง แต่คนยังต้องเข้ามาทำงานในใจกลางเมืองด้วยการขับรถยนต์ จึงส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ทางรัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเพื่อใช้แก้ปัญหานี้ และในช่วงนั้นได้มีการวิจัยรูปแบบการขนส่งต่าง ๆ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาจราจร หนึ่งในนั้นก็มีแนวคิดว่าผู้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ใช่ระบบขนส่งมวลชนเพราะไม่สะดวกและไม่เป็นส่วนตัวเหมือนกับการใช้รถยนต์ จึงมีการพัฒนาระบบขนส่ง Private Public Transit (PRT) ขึ้น

ระบบ PRT เป็นยานพาหนะขนาดเล็กที่จุผู้โดยสารได้ 2-6 คน หากจุผู้โดยสารมากกว่านั้นจะถูกเรียกว่า Group Rapid Transport (GRT) หรือเรียกอีกชื่อว่า Podcar ตามรูปทรงของรถ ระบบของ Podcar ถูกออกแบบมาให้วิ่งไปตามเส้นทางที่กำหนดและจอดตามจุดที่ต้องการโดยอัตโนมัติ และสิ่งที่แตกต่างจากระบบขนส่งสาธารณะทั่วไป คือ สามารถไปถึงจุดหมายโดยไม่ต้องจอดแวะระหว่างทาง จึงใช้ระยะทางเวลาเดินทางน้อยกว่า และระบบยังมีความยืดหยุ่นในการให้บริการ คือ ในช่วงที่ผู้โดยสารใช้บริการมากสามารถกำหนดตารางการเดินรถเหมือนระบบขนส่งสาธารณะทั่วไป และช่วงที่ผู้โดยสารน้อยก็สามารถเรียกรถเพื่อใช้บริการได้ตามต้องการ ระบบเหมือนนี้จึงเหมือนรถแท็กซี่รวมกับระบบรถไฟฟ้า หรือเหมือนกับลิฟท์ส่วนตัวที่วิ่งในแนวราบและไม่ต้องจอดรับส่งระหว่างทาง 

Podcar เริ่มใช้ครั้งแรกในปี 1975 ที่เมือง Morgantown ในรัฐเวสต์เวอร์จิเนียของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเมืองแห่งนี้ตั้งอยู่เชิงเขาและมีประชากรอยู่ประมาณ 30,000 คน นอกจากนั้นยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนียที่มีนักศึกษาและคนทำงานอยู่จำนวนมาก ด้วยข้อจำกัดของสภาพภูมิประเทศจึงทำให้อาคารเรียนกระจายอยู่ทั่วเมือง แต่เดิมทางมหาวิทยาลัยจัดรถโดยสารรับส่งนักศึกษาระหว่างอาคารเรียนที่อยู่คนละฝั่งของตัวเมือง แต่ก็ต้องประสบกับปัญหาสภาพจราจรที่ติดขัด จึงมองว่าแนวคิดของ PRT น่าจะเหมาะกับการแก้ไขปัญหานี้มากกว่าระบบขนส่งอื่น โดยระบบนี้มีทั้งหมด 5 สถานี ระยะทางรวม 13.2 กิโลเมตร รถมีทั้งหมด 73 คัน และถูกออกแบบให้จุผู้โดยสารได้ 20 คน

ต่อมาในปี 1979 ได้เริ่มใช้ระบบ PRT แห่งที่สองในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยดุ๊ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นระบบขนส่งที่เชื่อมระหว่างอาคารสองแห่งกับอาคารจอดรถ แต่ต้องยกเลิกการใช้งานและทำลายเส้นทางทิ้งเนื่องจากการขยายอาคารในโรงพยาบาล

หากเป็นระบบ PRT ที่ดูทันสมัยขึ้นมาหน่อยก็คงเป็นเส้นทาง ParkShuttle ที่เปิดให้บริการในปี 1999 ที่วิ่งด้วยรถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ บนเส้นทางถนนเฉพาะที่ฝังระบบนำทางไว้ใต้พื้นถนน เชื่อมระหว่างสถานีรถไฟไฟฟ้า Kralingse Zoom กับ Rivium Business Park ในเมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์โดยมีระยะทางรวม 1.8 กิโลเมตร ระบบนี้มีสถานีทั้งหมด 5 แห่ง และในปี 2021 มีโครงการขยายเส้นทางโดยใช้รถยนต์อัตโนมัติวิ่งบนถนนสาธารณะ

นอกจากนั้นยังมีการนำระบบ PRT มาใช้ในการรับส่งผู้โดยสารในสนามบิน เช่น การรับส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสาร 5 กับอาคารจอดรถของสนามบินฮีทโธรว์ในอังกฤษ โดยใช้ระบบของ ULTra  ที่เป็น Podcar ขนาดเล็กจุผู้โดยสารได้ 4 คน วิ่งไปตามเส้นทางเฉพาะที่มีระยะทางยาว 3.9 กิโลเมตร และสนามบินแห่งใหม่ในนครเชิงตูของจีน ก็ใช้ระบบ PRT ของ ULTra ในการรับส่งผู้โดยสารเองระหว่างอาคารผู้โดยสารสองหลังกับอาคารจอดรถ คาดว่าจะเริ่มใช้งานในปี 2021

ในเกาหลีใต้เองก็นำระบบ PRT มาใช้ในแหล่งท่องเที่ยว โดยระบบ SkyCube ถูกนำมาใช้ในเขตอนุรักษ์ของเมือง Suncheon เนื่องจากต้องการรักษาสภาพแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวเพราะระบบนี้ไม่มีการปล่อยมลพิษและเสียงรบกวนจากการก็วิ่งน้อยเพราะใช้ล้อยาง รวมถึงออกแบบให้เป็นทางยกระดับเพื่อให้นักท่องเที่ยวเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามตลอดสองข้างทาง

ถ้าระบบขนส่งนี้มีข้อดีหลายอย่าง แต่ทำไมถึงยังมีใช้เพียงแค่ไม่กี่แห่งในโลก นั้นเพราะในอดีตระบบนี้ไม่เหมาะกับการใช้ในเมืองใหญ่หรือมีผู้โดยสารจำนวนมาก เพราะความสามารถในการขนส่งผู้โดยสารต่อชั่วโมงน้อยกว่าระบบขนส่งหลัก เช่น รถไฟฟ้าหรือรถใต้ดิน และหากสร้างในเมืองขนาดเล็กที่มีจำนวนผู้โดยสารเหมาะสมกับการใช้งาน ก็ต้องพบกับปัญหาการลงทุนที่สูงเมื่อเทียบกับการใช้รถเมล์แบบปกติ นอกจากนั้นความยืดหยุ่นและความสะดวกสบายในการใช้งานยังไม่เท่ากับการใช้รถแท็กซี่ที่ให้บริการรับส่งได้ถึงจุดหมายปลายทาง (Door to door) ระบบนี้จึงอาจเหมาะกับการรับส่งระหว่างอาคารในเส้นทางที่ไม่ไกลมากเช่นในสนามบิน

แต่ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในปัจจุบัน อาจจะนำเทคโนโลยีรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติมาผสมเข้ากับระบบ PRT เช่น โครงการ ParkShuttle ในเนเธอร์แลนด์ เพื่อทำให้ต้นทุนการก่อสร้างเส้นทางลดต่ำลง และแนวโน้มการเกิดขึ้นของเมืองใหม่ไร้มลพิษที่มีเป้าหมายให้เป็นเมืองปลอดรถยนต์ อย่างโครงการ Ajman City ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตต์ ที่มีแผนใช้ระบบ PRT เป็นระบบขนส่งรองเชื่อมต่อกับระบบขนส่งหลักเพื่อขนส่งผู้คนไปถึงจุดหมายที่ต้องการ โดยมีโครงข่ายเส้นทางรวมระยะทาง 120 กิโลเมตร รวมถึงแนวโน้วค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทุนที่สำคัญของระบบขนส่งสาธารณะ จึงอาจส่งผลให้ในอนาคตอันไม่ไกลนี้เราน่าจะได้เห็น PRT หรือ Podcar ใช้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น

.

เขียนโดย : อาจารย์ ศรัณย์ ดั่นสถิตย์
อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา 


ข้อมูลอ้างอิง 
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Personal_rapid_transit
https://transportation.wvu.edu/prt 
https://today.duke.edu/2017/12/remembering-duke%E2%80%99s-railway https://www.2getthere.eu/projects/rivium/
https://newsroom.posco.com/en/koreas-first-personal-rapid-transit-prt-skycube/
https://www.zatran.com/en/technology/personal-rapid-transit-prt/
https://www.bloomberg.com/news/articles/2014-09-19/personal-rapid-transit-is-probably-never-going-to-happen
https://www.wired.com/2008/10/personal-pod-1/
https://www.bloomberg.com/news/articles/2013-01-15/would-more-drivers-use-mass-transit-if-it-mimicked-private-cars

 

อยู่บ้านนาน แต่ร่างห้ามพัง!! จัดท่านั่ง Work From Home อย่างไร? ไม่ให้เสียสุขภาพ

ด้วยสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้หลายออฟฟิศปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน จากเดิมที่พนักงานทุกคนต้องนั่งทำงานในออฟฟิศ ก็เปลี่ยนมาเป็น Work From Home คือสามารถทำงานหรือประชุมผ่านโน้ตบุ๊กหรือคอมพิวเตอร์จากที่ใดก็ได้ ซึ่งภาวะเหล่านี้น่าจะส่งผลกระทบกับพวกเราทุกคนไปอีกนานจนกว่าการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จะดีขึ้น

อย่างไรก็ตามการนั่งทำงานผ่านโน้ตบุ๊กหรือคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน การใช้งานกล้ามเนื้อซ้ำ ๆ รวมทั้งการจัดระเบียบร่างกายที่ไม่ถูกต้องย่อมทำให้เกิดการเมื่อยล้า และนำไปสู่อาการปวดเมื่อยได้ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ โดยอาการปวดเมื่อยดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าการทำงานที่ออฟฟิศในสถานการณ์ปกติ ดังนั้นหากมีการจัดท่าทางที่เหมาะสมขณะใช้โน้ตบุ๊กหรือคอมพิวเตอร์ จะมีส่วนช่วยคลายความเจ็บปวดจากการ Work From Home ได้

สำรวจตัวเองกันหน่อย
คุณกำลังนั่งท่าแบบนี้หรือเปล่า ??

ท่านั่งที่ไม่เหมาะสม : ไหล่ห่อ หลังค่อม ศีรษะยื่นไปข้างหน้า เท้าลอยจากพื้น
ระดับความสูงของที่พักแขนไม่เท่ากับความสูงของโต๊ะ ส่งผลให้เกิดภาวะเกร็งของกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ 

การจัดระเบียบร่างกายที่เหมาะสมขณะนั่งทำงาน

ศีรษะ ตั้งตรง ไม่ก้มหรือเงยจนเกินไป ควรวางหน้าจอให้อยู่ในระดับสายตา ห่างออกไประมาณ 2.5 ฟุต 

คอ ตั้งตรงแล้ว ไม่เอียงคอหรือหันไปด้านใดด้านหนึ่ง

หลัง นั่งพิงพนักเก้าอี้ ไม่แอ่นหรืองอหลัง อาจมีหมอนใบเล็ก ๆ รองรับส่วนโค้งบริเวณหลังส่วนล่าง

แขนและข้อศอก แขนแนบชิดกับลำตัว วางแขนลงบนที่พักแขนให้แขนทำมุม 90 องศา ข้อศอกและข้อมือควรอยู่ในระนาบเดียวกัน 

ขา วางต้นขาแนบชิดไปกับที่นั่ง และปล่อยขาลงไปให้เท้าแนบพื้น 

เข่า งอเข่า 90 องศา  

เท้า วางเท้าบนพื้นให้เต็มฝ่าเท้า ถ้าหากเท้าไม่ถึงพื้นให้หาอะไรมารองหรือปรับระดับเก้าอี้ลง

มาดู 9 ข้อควรปฏิบัติง่าย ๆ ขณะนั่งทำงาน แล้วลองไปปรับใช้กันดูดีกว่า 

1.) นั่งทำงานในที่มีแสงสว่างเพียงพอ ไม่ควรให้แสงสะท้อนจากภายนอกสะท้อนเข้าตาโดยตรง ควรใช้แสงไฟแบบเดย์ไลท์หรือไฟสีขาว

2.) ปรับสภาพแวดล้อมโต๊ะทำงานให้คอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊กอยู่ทางด้านหน้าและปรับให้หน้าจออยู่ในระดับเดียวกับสายตา

3.) เลือกเก้าอี้ที่มีเบาะที่นั่งสามารถรองรับต้นขาได้พอดีและมีที่พักแขนอยู่ในระดับเดียวกับโต๊ะ

4.) ปรับระดับความสูงเก้าอี้ให้พอเหมาะ เมื่อนั่งแล้วเข่างอทำมุม 90 องศา เท้าวางบนพื้นได้เต็มฝ่าเท้า หากเท้าไม่ถึงพื้นสามารถหาที่พักเท้ามาวางได้

5.) ไม่วางเมาส์หรือคีย์บอร์ดไกลเกินไปเพราะทำให้ต้องเอื้อมแขนหรือก้มหลัง

6.) ขณะนั่งทำงานควรนั่งหลังชิดพนักพิงหรือพิงเอนหลังเล็กน้อย

7.) ควรเปลี่ยนอิริยาบถทุก 45-50 นาที 

8.) พักสายตาจากหน้าจอบ้าง การจ้องหน้าจอนาน ๆ ทำให้ตาแห้ง ลองกระพริบตาถี่ ๆ หรือมองออกไปในระยะไกล

9.) หมั่นยืดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า แขน ไหล่

.

เขียนโดย: กภ.คณิต คล้ายแจ้ง นักกายภาพบำบัด ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลศิริราช


ข้อมูลอ้างอิง
https://www.bangkokhospital.com/content/work-from-home-and-office-syndrome
https://www.ergonomicshelp.com/blog/working-from-home-ergonomics
https://www.bbc.com/worklife/article/20200508-how-to-work-from-home-comfortably-ergonomic-tips-covid-19


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top