นักเรียน-นักศึกษาทุกคน จะต้องตระหนักถึงผลพวงทางสังคมที่เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ต รวมถึงการรู้จักสิทธิและความรับผิดชอบออนไลน์

ในโลกปัจจุบันเป็นสิ่งที่เราปฎิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวันและสังคมของนักเรียน-นักศึกษาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เช่น Facebook Line TikTok Instagram Twitter และ Instant messaging อื่นๆ ซึ่งนักเรียน-นักศึกษานั้นสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหรือท่องโลกโซเชียลต่างๆ อย่างเสรีภาพได้ทุกที่และทุกเวลา จากเครื่องมือสื่อสาร สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ฯลฯ 

ซึ่งการใช้สื่อออนไลน์ดังกล่าวนั้น ทุกคนควรใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งกับตนเองและผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์ รับผิดชอบ ปลอดภัย และควรมีจริยธรรมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในส่วนของจริยธรรมนี้ ครูพิมพ์จะขอหยิบยกนำมาเขียน นั่นก็คือ จริยธรรมของการใช้เทคโนโลยี โดยที่นักเรียน-นักศึกษาทุกคนจะต้องตระหนักถึงผลพวงทางสังคมที่เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ต รวมถึงการรู้จักสิทธิและความรับผิดชอบออนไลน์ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า นักเรียน–นักศึกษาทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในแสดงออก ในทุกๆ มิติเรื่องราวที่เราสนใจ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการพูด (Freedom of Speech) เสรีภาพการแสดงออก (Freedom of Expression) การแสดงความคิดเห็น การตั้งกระทู้ถาม-ตอบเรื่องต่างๆ การโพสต์สเตตัสบนเฟซบุ๊ก โพสต์รูปภาพ คลิปวีดีโอ และคอมเมนต์เพื่อตอบคำถามหรือแสดงความคิดเห็นของตนเองในสเตตัสของผู้อื่น ฯลฯ 

ทั้งนี้ จะต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ข้อความอันเป็นเท็จ หรือโพสต์ต่อว่าพาดพิงถึงบุคคลอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย อับอาย ถูกเกลียดชัง เสื่อมเสียชื่อเสียง การทำให้เข้าใจผิด กลั่นแกล้ง ทำให้หวาดกลัว ข่มขู่ ประจาน รวมทั้ง การแชร์ข้อมูลอันเป็นเท็จส่งต่อผ่านสื่อ Social Media ต่างๆ ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการกระทำที่มีความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฯ รวมทั้งไม่นำเสนอสินค้าหรือผลงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ไปละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอยู่มากมายในยุคปัจจุบัน

ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักเรียน – นักศึกษา ส่วนใหญ่ที่ครูพิมพ์พบมากที่สุด คือ การหมิ่นประมาท โดยการโพสต์ต่อว่าพาดพิงถึงบุคคลอื่นๆ เช่น การโพสต์ต่อว่าสถานศึกษา ต่อว่าครู-อาจารย์ ต่อว่าเพื่อนทั้งในโรงเรียนและต่างโรงเรียน รวมทั้งต่อว่าคนอื่นๆ ตามช่องทางสื่อโซเซียลต่างๆ โดยส่วนมากมักจะไม่แสดงโปรไฟล์ที่แท้จริงของตน แต่จะใช้โปรไฟล์อวตาร บางคนเรียกว่า แอคหลุม หรือ แอคเคาท์หลุม ซึ่งเป็นคำเรียกของชื่อบัญชีที่ไม่แสดงข้อมูล รายละเอียดเกี่ยวกับชื่อบัญชีนั้น ไม่แสดงรูปโปรไฟล์ ไม่มีความหมายของชื่อแอคเค้าท์นั้นๆ ซึ่งเมื่อนักเรียน-นักศึกษา ไม่ใช้โปรไฟล์ที่แสดงตัวตนจริง จึงคิดว่าตนเองเป็นผู้วิเศษที่สามารถโพสต์หรือคอมเมนต์ต่อว่าใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ก็ได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลินและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (กลายเป็นคำพูดที่ฮิตกันเมื่อกระทำความผิดแล้วถูกจับได้) เพราะคิดว่าไม่มีใครทราบว่าโปรไฟล์อวตารนี้เป็นใคร และคงไม่มีใครตามจับเพื่อให้ออกมาแสดงความรับผิดชอบได้ 

ซึ่งการคิดและการกระทำเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนะคะ เพราะถ้านักเรียน-นักศึกษา โพสต์ในลักษณะเชิงประจาน ดูถูก เหยียดหยามผู้อื่น หรือแสดงความคิดเห็นในเชิงคุกคาม ข่มขู่ ทำให้หวาดกลัว หรือการนำเรื่องที่ไม่จริงมาแสร้งทำให้คนอื่นเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องจริง โดยทั้งหมดที่กล่าวมานี้เรียกได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาททางออนไลน์ หรือคดีหมิ่นประมาททางอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้เสียหายอาจได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง เป็นเครือข่าย ขยายไปเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น เช่น ผู้ที่โพสต์มีเพื่อนใน Facebook จำนวนห้าพันคนและมีผู้ติดตามอีกมากมายนับไม่ถ้วน โดยที่เพื่อนอาจแชร์ไปสักสองพันคน และเพื่อนของสองพันคนนี้ ก็เห็นโพสต์ข้อความดังกล่าวและก็แชร์ต่อๆ กันโดยไม่สิ้นสุดไปเรื่อยๆ 

ทราบแล้วไช่ไหมคะว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการโพสต์เพียงแค่ 1 ครั้ง คุณก็ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นได้เป็นวงกว้างขนาดไหน ครูพิมพ์คิดว่าการกระทำเช่นนี้ เป็นการกระทำที่ไม่น่ารักและใจร้ายมากๆ นะคะ ที่เราสามารถทำร้ายคนอื่น ให้เค้าได้รับความเสียหาย อับอาย เสียใจ ถูกเกลียดชัง ถูกเข้าใจผิด และเป็นการทำลายผู้อื่นโดยการใช้เพียงแค่ปลายนิ้วโพสต์ข้อความที่เราต้องการลงในโลกโซเชียล ยิ่งถ้าเป็นเรื่องในแง่ลบนั้น ข่าวก็ยิ่งกระจายอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ผู้ที่โพสต์ต้นเรื่องอาจจะลบข้อความที่ตนโพสต์ไปแล้วก็ตาม แต่บางคนที่อ่านอาจจะแคปไว้ได้ทันและอาจจะนำมาส่งต่อๆ หรือนำไปโพสต์ต่ออีกทีแม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานแล้ว ก็เป็นไปได้ 

ซึ่งผลกระทบที่ตามมานั้น ผู้ที่เสียหายอาจเกิดความอับอาย เสียใจ หนีจากสังคม อาจส่งผลกระทบต่อการงาน ต่อธุรกิจ และอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้า ส่วนผู้ที่โพสต์นั้นถ้ากระทำความผิดจริงก็อาจถูกดำเนินคดีทางอาญาและรับโทษทางอาญาหรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่ง ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ โดยผู้เสียหายจะต้องรวบรวมหลักฐานและพยานต่างๆ เข้าแจ้งความร้องทุกข์เพื่อเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายต่อไป และที่กำลังฮอตฮิตที่สุด คือ อาจต้องขอโทษผู้เสียหายด้วยเงินสดเป็นจำนวนตามที่ผู้เสียหายต้องการอีกด้วยนะคะ แล้วยิ่งถ้าเป็นบุคคลสาธารณะ เป็นผู้มีชื่อเสียง เช่น ดารา ไฮโซ นักร้อง นักดนตรี นักธุรกิจ นักการเมือง หรือคนดัง ฯลฯ ความเสียหายยิ่งมาก ค่าเสียหายก็จะมากขึ้นตามไปด้วยนะคะ 

โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษา การโพสต์ต่อว่าด่าทอและวิจารณ์ครูบาอาจารย์ในแง่ลบนั้น ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่สมควรและไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เพราะครูบาอาจารย์ เป็นผู้สั่งสอน อบรม พร้อมทั้งถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์ทุกคนด้วยความรัก ความปรารถนาดี และมีเมตตาต่อศิษย์ทุกคนโดยเท่าเทียมกันและไม่เลือกปฏิบัติ พร้อมทั้งปกป้องและให้อภัยทุกครั้งเมื่อศิษย์ของตนได้กระทำความผิด 

ครูพิมพ์จะขอฝากถึงศิษย์ทุกคนให้คิดและตระหนักถึงในเรื่องดังกล่าวนี้ให้มากๆ นะคะ ไม่มีครูบาอาจารย์คนใดที่ไม่รักศิษย์ของตน ไม่มีครูบาอาจารย์คนใดคิดทำร้ายทำลายศิษย์ของตน มีแต่มอบวิชาความรู้ มอบประสบการณ์ มอบความรักและความเมตตา ความปรารถนาดี ความหวังดี และอยากเห็นศิษย์ทุกคนประสบความสำเร็จในชีวิต มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า เติบโตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ มีคุณธรรม เป็นคนเก่งและคนดีของคุณพ่อคุณแม่ ครอบครัว สังคม และประเทศชาตินะคะ     

“ครูบาอาจารย์เปรียบเสมือนเรือจ้าง แต่เรือจ้างลำน้อยๆ นี่แหละ ที่จะตั้งใจคอยรับคอยส่งศิษย์ทุกคนไปให้ถึงฝั่งฝัน แม้จะเผชิญอุปสรรค์ยากลำบาก เสมือนโดนพายุพัดพาสักเพียงใด ครูพิมพ์ก็จะพยายามพายไปส่งทุกคนให้ถึงฝั่งฝันให้สำเร็จนะคะ”


เขียนโดย ครูพิมพ์ฑักษอร แสงทองไชย กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ