“Podcar” เป็นระบบขนส่งสาธารณะที่สามารถไปถึงจุดหมายได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วและมีความเป็นส่วนตัวเปรียบเสมือนการนำบริการแบบรถไฟฟ้ารวมกับรถแท๊กซี่ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยแก้ไขปัญหาจราจรได้อย่างดีอีกด้วย

หลายท่านน่าจะได้เคยดูหนังแนววิทยาศาสตร์โลกอนาคต เนื้อหาในเรื่องมียานพาหนะส่วนตัวมารับในเวลาที่ต้องการ และไปจุดหมายตามที่ต้องการโดยอัตโนมัติ ระหว่างทางก็นั่งคุยกันไปโดยไม่ต้องกังวลกับการควบคุมยานพาหนะนั้น ดูเหมือนว่าเรื่องแบบนี้น่าจะเกิดขึ้นในโลกอนาคต แต่ความเป็นจริงแล้วได้มีระบบขนส่งแบบนี้เปิดใช้งานจริงมานานกว่าสี่สิบปีแล้ว ในชื่อที่เรียกว่า “Podcar”

ในช่วงปี 1950 ประเทศสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาการขยายตัวของเมืองอย่างกระจัดกระจาย คือเกิดชุมชนใหม่ในแถบชานเมือง แต่คนยังต้องเข้ามาทำงานในใจกลางเมืองด้วยการขับรถยนต์ จึงส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ทางรัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเพื่อใช้แก้ปัญหานี้ และในช่วงนั้นได้มีการวิจัยรูปแบบการขนส่งต่าง ๆ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาจราจร หนึ่งในนั้นก็มีแนวคิดว่าผู้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ใช่ระบบขนส่งมวลชนเพราะไม่สะดวกและไม่เป็นส่วนตัวเหมือนกับการใช้รถยนต์ จึงมีการพัฒนาระบบขนส่ง Private Public Transit (PRT) ขึ้น

ระบบ PRT เป็นยานพาหนะขนาดเล็กที่จุผู้โดยสารได้ 2-6 คน หากจุผู้โดยสารมากกว่านั้นจะถูกเรียกว่า Group Rapid Transport (GRT) หรือเรียกอีกชื่อว่า Podcar ตามรูปทรงของรถ ระบบของ Podcar ถูกออกแบบมาให้วิ่งไปตามเส้นทางที่กำหนดและจอดตามจุดที่ต้องการโดยอัตโนมัติ และสิ่งที่แตกต่างจากระบบขนส่งสาธารณะทั่วไป คือ สามารถไปถึงจุดหมายโดยไม่ต้องจอดแวะระหว่างทาง จึงใช้ระยะทางเวลาเดินทางน้อยกว่า และระบบยังมีความยืดหยุ่นในการให้บริการ คือ ในช่วงที่ผู้โดยสารใช้บริการมากสามารถกำหนดตารางการเดินรถเหมือนระบบขนส่งสาธารณะทั่วไป และช่วงที่ผู้โดยสารน้อยก็สามารถเรียกรถเพื่อใช้บริการได้ตามต้องการ ระบบเหมือนนี้จึงเหมือนรถแท็กซี่รวมกับระบบรถไฟฟ้า หรือเหมือนกับลิฟท์ส่วนตัวที่วิ่งในแนวราบและไม่ต้องจอดรับส่งระหว่างทาง 

Podcar เริ่มใช้ครั้งแรกในปี 1975 ที่เมือง Morgantown ในรัฐเวสต์เวอร์จิเนียของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเมืองแห่งนี้ตั้งอยู่เชิงเขาและมีประชากรอยู่ประมาณ 30,000 คน นอกจากนั้นยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนียที่มีนักศึกษาและคนทำงานอยู่จำนวนมาก ด้วยข้อจำกัดของสภาพภูมิประเทศจึงทำให้อาคารเรียนกระจายอยู่ทั่วเมือง แต่เดิมทางมหาวิทยาลัยจัดรถโดยสารรับส่งนักศึกษาระหว่างอาคารเรียนที่อยู่คนละฝั่งของตัวเมือง แต่ก็ต้องประสบกับปัญหาสภาพจราจรที่ติดขัด จึงมองว่าแนวคิดของ PRT น่าจะเหมาะกับการแก้ไขปัญหานี้มากกว่าระบบขนส่งอื่น โดยระบบนี้มีทั้งหมด 5 สถานี ระยะทางรวม 13.2 กิโลเมตร รถมีทั้งหมด 73 คัน และถูกออกแบบให้จุผู้โดยสารได้ 20 คน

ต่อมาในปี 1979 ได้เริ่มใช้ระบบ PRT แห่งที่สองในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยดุ๊ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นระบบขนส่งที่เชื่อมระหว่างอาคารสองแห่งกับอาคารจอดรถ แต่ต้องยกเลิกการใช้งานและทำลายเส้นทางทิ้งเนื่องจากการขยายอาคารในโรงพยาบาล

หากเป็นระบบ PRT ที่ดูทันสมัยขึ้นมาหน่อยก็คงเป็นเส้นทาง ParkShuttle ที่เปิดให้บริการในปี 1999 ที่วิ่งด้วยรถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ บนเส้นทางถนนเฉพาะที่ฝังระบบนำทางไว้ใต้พื้นถนน เชื่อมระหว่างสถานีรถไฟไฟฟ้า Kralingse Zoom กับ Rivium Business Park ในเมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์โดยมีระยะทางรวม 1.8 กิโลเมตร ระบบนี้มีสถานีทั้งหมด 5 แห่ง และในปี 2021 มีโครงการขยายเส้นทางโดยใช้รถยนต์อัตโนมัติวิ่งบนถนนสาธารณะ

นอกจากนั้นยังมีการนำระบบ PRT มาใช้ในการรับส่งผู้โดยสารในสนามบิน เช่น การรับส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสาร 5 กับอาคารจอดรถของสนามบินฮีทโธรว์ในอังกฤษ โดยใช้ระบบของ ULTra  ที่เป็น Podcar ขนาดเล็กจุผู้โดยสารได้ 4 คน วิ่งไปตามเส้นทางเฉพาะที่มีระยะทางยาว 3.9 กิโลเมตร และสนามบินแห่งใหม่ในนครเชิงตูของจีน ก็ใช้ระบบ PRT ของ ULTra ในการรับส่งผู้โดยสารเองระหว่างอาคารผู้โดยสารสองหลังกับอาคารจอดรถ คาดว่าจะเริ่มใช้งานในปี 2021

ในเกาหลีใต้เองก็นำระบบ PRT มาใช้ในแหล่งท่องเที่ยว โดยระบบ SkyCube ถูกนำมาใช้ในเขตอนุรักษ์ของเมือง Suncheon เนื่องจากต้องการรักษาสภาพแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวเพราะระบบนี้ไม่มีการปล่อยมลพิษและเสียงรบกวนจากการก็วิ่งน้อยเพราะใช้ล้อยาง รวมถึงออกแบบให้เป็นทางยกระดับเพื่อให้นักท่องเที่ยวเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามตลอดสองข้างทาง

ถ้าระบบขนส่งนี้มีข้อดีหลายอย่าง แต่ทำไมถึงยังมีใช้เพียงแค่ไม่กี่แห่งในโลก นั้นเพราะในอดีตระบบนี้ไม่เหมาะกับการใช้ในเมืองใหญ่หรือมีผู้โดยสารจำนวนมาก เพราะความสามารถในการขนส่งผู้โดยสารต่อชั่วโมงน้อยกว่าระบบขนส่งหลัก เช่น รถไฟฟ้าหรือรถใต้ดิน และหากสร้างในเมืองขนาดเล็กที่มีจำนวนผู้โดยสารเหมาะสมกับการใช้งาน ก็ต้องพบกับปัญหาการลงทุนที่สูงเมื่อเทียบกับการใช้รถเมล์แบบปกติ นอกจากนั้นความยืดหยุ่นและความสะดวกสบายในการใช้งานยังไม่เท่ากับการใช้รถแท็กซี่ที่ให้บริการรับส่งได้ถึงจุดหมายปลายทาง (Door to door) ระบบนี้จึงอาจเหมาะกับการรับส่งระหว่างอาคารในเส้นทางที่ไม่ไกลมากเช่นในสนามบิน

แต่ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในปัจจุบัน อาจจะนำเทคโนโลยีรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติมาผสมเข้ากับระบบ PRT เช่น โครงการ ParkShuttle ในเนเธอร์แลนด์ เพื่อทำให้ต้นทุนการก่อสร้างเส้นทางลดต่ำลง และแนวโน้มการเกิดขึ้นของเมืองใหม่ไร้มลพิษที่มีเป้าหมายให้เป็นเมืองปลอดรถยนต์ อย่างโครงการ Ajman City ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตต์ ที่มีแผนใช้ระบบ PRT เป็นระบบขนส่งรองเชื่อมต่อกับระบบขนส่งหลักเพื่อขนส่งผู้คนไปถึงจุดหมายที่ต้องการ โดยมีโครงข่ายเส้นทางรวมระยะทาง 120 กิโลเมตร รวมถึงแนวโน้วค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทุนที่สำคัญของระบบขนส่งสาธารณะ จึงอาจส่งผลให้ในอนาคตอันไม่ไกลนี้เราน่าจะได้เห็น PRT หรือ Podcar ใช้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น

.

เขียนโดย : อาจารย์ ศรัณย์ ดั่นสถิตย์
อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา 


ข้อมูลอ้างอิง 
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Personal_rapid_transit
https://transportation.wvu.edu/prt 
https://today.duke.edu/2017/12/remembering-duke%E2%80%99s-railway https://www.2getthere.eu/projects/rivium/
https://newsroom.posco.com/en/koreas-first-personal-rapid-transit-prt-skycube/
https://www.zatran.com/en/technology/personal-rapid-transit-prt/
https://www.bloomberg.com/news/articles/2014-09-19/personal-rapid-transit-is-probably-never-going-to-happen
https://www.wired.com/2008/10/personal-pod-1/
https://www.bloomberg.com/news/articles/2013-01-15/would-more-drivers-use-mass-transit-if-it-mimicked-private-cars