ท่ามกลางวิกฤติ พลังความคิดที่จะช่วยเหลือให้รอดปลอดภัยไปด้วยกัน “ไม่ได้วัดที่ระดับไอคิว” แต่วัดที่ “ระดับจิตสาธารณะ”

ในช่วงภาวะปกติ ชีวิตแต่ละคนดำเนินไปตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งเป้าไว้ ยิ่งปกติ ยิ่งทำให้วางแผนไปสู่เป้าหมายได้ไม่ยาก ขอให้ทำตามแผน ต่อให้ไม่ถึงดวงจันทร์ แต่อย่างน้อยก็จะอยู่ท่ามกลางดวงดาวแน่นอน 

วัยเรียน วัยศึกษาค้นคว้า วัยรุ่น วัยโลดโผนโจนทะยาน วัยที่ต้องมีพื้นที่ในการปล่อยของ สายคงแก่เรียนเป้าหมายการทำคะแนนสอบให้ดี เกรดสูง ใฝ่ฝันศึกษาสถาบันในฝัน วาดฝันอนาคตทางวิชาการ ภาพฝันเหล่านั้น เกิดขึ้นไม่ยากจนเกินไป หากอยู่ในสถานการณ์ปกติ โดยที่โฟกัสเฉพาะแค่ตัวเราเองให้ขยันหมั่นเพียรในเรื่องการเรียนก็เพียงพอ 

ณ วันนี้ ความจริง คือ สถานการณ์ไม่ปกติเสียแล้ว ทุกคนบนโลกทรงส้มแป้นนี้ เผชิญกับภาวะที่ยากลำบากครั้งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้น การเผชิญกับภาวะโรคระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกมนุษย์ ยังไม่พอเชื้อไวรัสกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วแตกเป็นหลายสายพันธุ์อีกต่างหาก จุดจบเรื่องนี้เกิดขึ้นแน่ๆ แต่ระหว่างนั้น พวกเราจะอยู่กันอย่างไร? นี่เป็นคำถามที่ทุกช่วงทุกวัยต้องเผชิญ อยู่ด้วยการด่าทอ อยู่ด้วยความสิ้นหวัง หรืออยู่ด้วยพลังที่จะสู้เพื่อความอยู่รอด พลังที่จะช่วยเหลือกัน คิดถึงส่วนรวม ให้รอดปลอดภัยไปด้วยกัน  วิธีคิดเหล่านี้ “ไม่ได้วัดที่ระดับไอคิว” แต่วัดที่ “ระดับจิตสาธารณะ”

“จิตสาธารณะ” ไม่ใช่คำสวยหรูดูดี เมื่อใครทำความดีตามหน้าสื่อ และไม่ได้หมายถึงแค่การบริจาคสิ่งของ สละทรัพย์เท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว หมายถึง การมีจิตใจ ความคิด วิธีปฏิบัติที่เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน วิธีคิดแบบจิตสาธารณะนั้น ใช้ได้กับทุกสถาบันทางสังคม ตั้งแต่เพื่อน คนรัก ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และระดับโลก 

“จิตสาธารณะ” จะยิ่งเห็นชัดเมื่อเกิด “วิกฤติ” เสมอ ในสภาพปกติ การจะแยกว่าใคร สังคม สถาบันไหน มีความเป็น “จิตสาธารณะ” นั้น ก็จะดูกันตามชื่อหน่วยงาน มูลนิธิ แต่เมื่อเกิด “วิกฤติ” เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะ “คนปกติที่เห็นกันทั่วไป” คนไหนมี “จิตสาธารณะ” อันหมายถึง บุคคลไหน คิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตนอย่างแท้จริง และแน่นอนว่าหมายรวมถึงในระดับที่ใหญ่ขึ้นอย่างหน่วยงาน สถาบันต่าง ๆ ในระดับรัฐด้วย 

“จิตสาธารณะ” มีหลายระดับ ระดับดูแลตัวเองไม่ให้เป็นภาระผู้อื่น นี่ก็ถือว่าเป็นจิตสาธารณะ เพราะคิดถึงผู้อื่นจึงดูแลตัวเอง ระดับครอบครัว การหลีกเลี่ยงไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงของครอบครัวเพียงเพราะความสุขสบายของตัวเอง ก็เพราะคิดถึงส่วนรวมคือความมั่นคงภายในครอบครัว เช่นนี้ก็คือจิตสาธารณะ สถาบันการศึกษา หรือแม้แต่สถาบันระดับชาติก็ไม่ต่างกัน หากองค์กรต่างๆ มี “จิตสาธารณะ” ในภาวะวิกฤติจะผ่านไปได้ อย่างน้อยที่สุดก็ไม่เจ็บมากไปกว่าเดิม ทั้งหมดทั้งมวลก็เพราะมีจิตที่คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน 

ด้วยประการข้างต้น ในภาวะวิกฤติจึงกล่าวได้ว่า ไอคิวไม่เท่าไหร่ แต่ใจต้องมีจิตสาธารณะ นั่นเอง 

เขียนโดย: ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Program Director THE STUDY TIMES