‘อุตุนิยมวิทยา’ โดยเฉพาะการพยากรณ์ลักษณะสภาพดินฟ้าอากาศ มีความสำคัญและถูกซึมซับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันของมนุษย์ทุกสาขาอาชีพ

เวลาที่ผู้เขียนสอนหนังสือในรายวิชาโลกและการเปลี่ยนแปลง มักจะถามผู้เรียนเสมอว่า พรุ่งนี้ฝนจะตกไหม หรือสัปดาห์หน้าอากาศจะร้อนหรือเย็น ซึ่งผู้เรียนต้องค้นหาคำตอบโดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ตอบคำถามได้ถูกต้องและแม่นยำ และเชื่อแน่ว่าหลาย ๆ ท่าน ก่อนออกจากบ้านเพื่อจะทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการจัดงานมงคลก็ตาม นอกจากจะดูฤกษ์ ดูชัยแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึงด้วย นั่นก็คือสภาพดินฟ้า อากาศ ในช่วงนั้น ซึ่งลักษณะสภาพอากาศที่ดีนั้น ก็กลายมาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของฤกษ์ที่ดีในช่วงนั้นไปด้วย และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันของคนเราไปแล้วนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การจัดงานต่าง หรือแม้กระทั่งการเดินทางไปท่องเที่ยว ๆ ทั้งในประเทศ หรือต่างประเทศ 

โดยในปัจจุบันศาสตร์ที่มีความสำคัญ และเป็นสิ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนการทำกิจกรรมต่าง ๆ คือ อุตุนิยมวิทยา 

อุตุนิยมวิทยา คือ วิชาที่ว่าด้วยการศึกษาลักษณะบรรยากาศของโลก เช่น การเกิดฤดูการต่าง ๆ การเกิดลม เกิดฝน เกิดพายุ เป็นต้น 

และหนึ่งในความสำคัญของอุตุนิยมวิทยา คือ การพยากรณ์อากาศ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศของประเทศไทยที่เรามักได้ยินบ่อย ๆ คือ กรมอุตุนิยมวิทยา ทั้งนี้ในแต่ละวันเรามักจะได้ยินข่าวจากกรมอุตุนิยมวิทยา เกี่ยวกับลักษณะสภาพของอากาศที่จะเกิดขึ้นในอีกวันสองวันข้างหน้า หรือในอีกอาทิตย์หนึ่ง เพื่อให้เราได้มีการเตรียมรับมือกับสภาพอากาศที่กำลังจะมาถึง เช่น อาจเกิดฝนตกหนัก หรือพายุฝนฟ้าคะนอง เป็นต้น 

ในอดีตการพยากรณ์อากาศนั้นมักจะไม่ค่อยมีความแม่นยำมากเท่าไรนัก เนื่องจากเทคโนโลยียังไม่ดีเท่าที่ควร แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการพยากรณ์อากาศ มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทำให้การพยากรณ์อากาศมีความแม่นยำสูง และสามารถทำนายล่วงหน้าได้เป็นเวลานานขึ้น 

สำหรับวันนี้จะพูดถึงวิธีการและเครื่องมือที่ใช้ในการพยากรณ์อากาศกันครับ ก่อนอื่นเราต้องรู้จักคำว่าพยากรณ์อากาศกันก่อน 

พยากรณ์ แปลว่า การทำนายอนาคตที่กำลังจะมาถึง คล้ายกับการที่เราไปดูหมอดู เพื่อให้ทำนายสิ่งที่จะมาถึงในวันข้างหน้ากัน แต่แตกต่างกันที่การพยากรณ์อากาศ ใช้หลักการและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์ โดยเครื่องมือหลัก ๆ ที่ใช้สำหรับการพยากรณ์อากาศ ที่ทำให้เกิดความแม่นยำสูงได้แก่ การใช้ดาวเทียมในการศึกษาลักษณะการเคลื่อนที่ของอากาศช่วงนั้น เช่นการเกิดลม เกิดฝน หรืออากาศร้อน หนาว เย็น ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนที่ของกลุ่มเมฆ ที่จะทำให้เกิดฝน หรือทิศทางการเคลื่อนที่ของลม ซึ่งจะทำให้ร้อน หนาว เย็น ไม่ว่าจะเป็นทิศทางการเคลื่อนที่ ความเร็ว 

นอกจากนั้นการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางดาวเทียมยังสามารถบอกได้ถึงลักษณะการเคลื่อนที่ของกลุ่มเมฆในช่วงนั้น เป็นการเคลื่อนที่ของกลุ่มเมฆฝนธรรมดา หรือเป็นลักษณะของการเคลื่อนที่ของพายุได้อีกด้วย เมื่อนำมาประมวลผลโดยการใช้คอมพิวเตอร์แม่นยำสูง (Supper computer)  ทำให้รู้ระยะเวลาของการเคลื่อนที่มาถึงยังตำแหน่ง หรือภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ 

โดยข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ ถูกนำมาจัดทำในรูปแบบของแผนที่อากาศ ในแผนที่อากาศ ประกอบไปด้วยลักษณะของหย่อมความดกอากาศต่ำ หรืออากาศร้อน (Low presser ) แทนด้วยสัญลักษณ์ตัว L และหย่อมความกดอากาศสูงหรืออากาศเย็น (High presser) แทนด้วยสัญลักษณ์ตัว H และเมื่อเกิดพายุ ในแผนที่อากาศก็จะแสดงเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นระดับความรุนแรง และทิศทางการเคลื่อนที่ของพายุ

นอกจากการใช้ดาวเทียมแล้ว ยังมีการใช้เรดาร์ตรวจอากาศ ที่สามารถตรวจจับกลุ่มของฝน และทิศทางการเคลื่อนที่และความเร็วของกลุ่มฝน ทำให้สามารถทำนายระยะเวลาที่จะเกิดลมและฝนในพื้นที่อื่น ๆ ได้ และมีการรวบรวมปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่ เมื่อวางแผนการใช้น้ำหรือการทำเกษตรกรรมอีกด้วย โดยสถานีวัดปริมาณน้ำฝนจะถูกกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในระดับตำบล และมีการายงานผลเขาสู่ส่วนกลาง เพื่อรวบรวมเป็นปริมาณน้ำฝนที่ตกในแต่ละวัน 

นอกจากเป็นเครื่องมือสำหรับวางแผนการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว อุตุนิยมวิทยา ยังเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญในการเตือนภัยที่จะเกิดจากลักษณะดินฟ้าอากาศ อีกด้วย เช่นการเกิดพายุ การเกิดฝนตกหนัก แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือแม้กระทั่งการเกิดสภาวะแห้งแล้ง และต้องยอมรับว่าการมีเครื่องมือในการเตือนภัยของอุตุนิยมวิทยา มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถลดความสูญเสีย หรือความเสียหายอันเนื่องมากจากภัยทางธรรมชาติ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วมูลค่าของความเสียหายมักจะสูง อย่างเช่นการเกิดพายุฤดูร้อนในเขตภาคอีสาน และภาคเหนือของประเทศไทย เมื่อสามสี่วันที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาได้มีการเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ดังกล่าว เตรียมมือในการรับพายุที่จะมาถึง ซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ความเสียหายที่เกิดจากพายุลดลงพอสมควรเนื่องจากมีการเตรียมรับมือไว้ 

จากที่กล่าวมาข้างต้น อุตุนิยมวิทยา โดยเฉพาะการพยากรณ์ลักษณะสภาพดินฟ้าอากาศที่จะเกิดขึ้น จึงมีความสำคัญและถูกซึมซับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันของมนุษย์ทุกสาขาอาชีพไปแล้ว นั่นเอง


เขียนโดย: ผศ.ดร.สุทัศน์ จันบัวลา ประธานสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต