ข่าว Fake ว่อน Feed!! เช็คอย่างไร ให้ชัวร์ก่อนแชร์
ข่าว Fake ว่อน Feed
หากเป็นสมัยยุคอนาล็อค ถ้าถามว่าข่าวอะไรแพร่ไว ก็น่าจะเป็น “ข่าวลือ” แต่สมัยยุคดิจิทัลนี้ข่าวลือต้องแพ้ “ข่าวลวง” (Fake news) ข่าวลวงยุคนี้มีหลากหลายรูปแบบและแยบยลขึ้นทุกวัน
BBC ระบุถึงความหมายของ Fake news ในยุคโลกออนไลน์ไว้สั้น ๆ เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อนว่า Fake news คือ ข่าว หรือเรื่องราวที่ไม่จริงในอินเตอร์เน็ต “Fake news is news or stories on the internet that are not true.” จากนิยามสั้น ๆ นี้ ยากตรงเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ข่าวหรือเรื่องราวนั้น ๆ จริงหรือไม่ เพราะข่าวหรือเรื่องราวที่บอกความจริงไม่หมด หรืออาศัยข้อมูลจริงบ้างบางส่วนผสมไม่จริงหรือนำเสนอเพื่อให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญนี้แยกแยะลำบากเหมือนกัน
วันนี้จะมาชวนช่วยกันลองเช็คข้อมูลหาความจริงกัน ขอยกกเรื่องราวจากรณีล่าสุดในโลกโซเชียลฯ ที่มีการเผยแพร่จดหมายจาก บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ที่ส่งถึง ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยในเนื้อความระบุว่าบริษัทสามารถจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม จำนวน 20 ล้านโดส ให้แก่รัฐบาลไทยได้ โดยไม่ผ่านตัวแทนหรือบริษัทผู้จัดจำหน่ายอื่นใด แต่ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมาบริษัทไม่สามารถเข้าถึงหรือเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุขเพื่อนำเอกสารดังกล่าวไปนำเสนอวัคซีนได้เลย
ครั้งแรกที่เห็นจดหมายนี้ ก็สงสัยว่าจะเป็นไปได้ไหม? เพราะเท่าที่จำได้จากข่าว วัคซีนซิโนฟาร์ม มีบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ได้ขอขึ้นทะเบียนกับ อย. ไว้แล้ว ทำไมจะมีอีกบริษัทแถมบอกว่าไม่ผ่านตัวแทนหรือบริษัทผู้จัดจำหน่ายอื่นด้วย มีความแปลก ๆ น่าสงสัย ๆ เลยลองหาข่าวจากสื่อพบว่า ด้านรัฐบาล โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในระบบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว ปรากฏว่าบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัดไม่สามารถนำเข้ายาเข้ามาในประเทศไทยได้ เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และวัคซีน Sinopharm ได้มีบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ได้ขอขึ้นทะเบียนกับ อย. ไว้ก่อนแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินคำขอขึ้นทะเบียนอยู่ และอยู่ระหว่างการดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณา และยังระบุด้วยว่าการเจรจาติดต่อเรื่องการนำเข้าวัคซีนสามารถติดต่อผ่านทางองค์การเภสัชกรรม หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้โดยตรงในเบื้องต้น โดยไม่มีความจำเป็นต้องพบนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีตามที่อ้างแต่อย่างใด
ข้อมูลของบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด กับของด้านรัฐบาลนั้นขัดแย้งกันพอสมควร…ยังไม่ต้องรีบเชื่อใครก็ได้ ก่อนจะเชื่อใคร ชวนลองมาตรวจสอบข้อมูลแบบง่าย ๆ กันกับความเป็นบริษัทแอคแคป แอสเซ็ทส์ ที่บอกว่าจะเอาวัคซีน Sinopharm เข้ามา 20 ล้านโดส (ภายใน 2 สัปดาห์ด้วยนะ) บริษัทนี้คือบริษัทอะไร ทำไมถึงกล่าวอ้างว่าจะนำเข้าวัคซีนได้
วิธีการตรวจสอบ คือ ลองไปเช็คข้อมูล บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัดใน website ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2563 (ถึงวันนี้ก็ปีกว่า ๆ เอง) ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท คณะกรรมการบริษัท คือ นายกรกฤษณ์ กิติสิน และ นายศวิษฐ์ อุทัยเฉลิม จดทะเบียนในประเภทธุรกิจ “การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่เพื่อเป็นที่พักอาศัย” วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน คือ “ประกอบกิจการซื้อเเละการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่เพื่อเป็นที่พักอาศัย” นอกจากนี้ยังไม่พบข้อมูลการส่งงบการเงินปรากฎอยู่เลย หากพิจารณาจากข้อมูลที่ปรากฎนี้ต้องบอกตรง ๆ ว่าบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ที่ทำธุรกิจด้านอสังหาฯนั้นไม่ใกล้เคียงกับการจะเป็นบริษัทตัวแทนผู้นำเข้าวัคซีนได้เลย การนำเข้าวัคซีนในยามปกติก็ไม่ง่ายแล้ว ยิ่งในยามภาวะฉุกเฉินมีวิกฤตโรคระบาดนี้ยิ่งไม่น่าจะเป็นได้ว่าบริษัทผู้ผลิตจะวางใจให้บริษัทที่ไม่ได้เป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ตรงมาเป็นตัวแทนนำเข้า
ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า https://datawarehouse.dbd.go.th/company/profile/5/0105563061387
พอหาข้อมูลได้ชักอยากรู้ต่อว่าแล้วบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ได้ขอขึ้นทะเบียนกับ อย. ไว้เพื่อวัคซีน Sinopharm ละเป็นอย่างไรบ้าง จึงลองไปหาข้อมูลบริษัทฯจาก website ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าบ้าง ก็พบว่า บริษัทไบโอจีนีเทค จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อปี 2536 โดยจดทะเบียนในประเภทการขายส่งเคมีภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม และมีวัตถุประสงค์การจดทะเบียนเพื่อ นำเข้าและส่งออกขายสินค้าเคมีภัณฑ์วัสดุทางการแพทย์ ทุนจดทะเบียน 24 ล้านและมีการแสดงงบแสดงสถานะการเงินปรากฎอยู่ชัดเจน
ดังนั้นหากพิจารณาเปรียบเทียบข้อมูลบริษัทของทั้งคู่แล้ว แล้วสมมุติว่าเราคือชิโนฟาร์ม เราจะเลือกบริษัทไหนเป็นตัวแทนนำเข้าวัคซีน ระหว่างบริษัทที่เปิดมาเพื่อนำเข้า-เคมีภัณฑ์ทางการแพทย์ กับบริษัทซื้อขายอสังหาริมทรัพย์?
นอกจากนี้บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด อ้างว่าตนเองมีฐานะเป็นพันธมิตรผู้เดียวในประเทศไทยของบริษัท TELLUS AGROTECH PTE. LTD. ผู้จัดจำหน่ายวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” ในภูมิภาคเอเชีย…ทำให้อยากรู้จักบริษัทTELLUS AGROTECH PTE. LTD. ด้วย เลยลองไป search หาข้อมูลบริษัทนี้ ก็เจอบริษัทที่มีชื่อเดียวกันกับ TELLUS AGROTECH PTE. LTD. ระบุว่าบริษัทมีสถานะการดําเนินงานในปัจจุบันและเปิดให้บริการมา 2 ปี 118 วัน โดยจดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 Jan 2019 ธุรกิจหลักของบริษัทคือบริการให้คําปรึกษาด้านการเกษตร ธุรกิจรองคือการพัฒนาซอฟต์แวร์สําหรับสื่อดิจิทัล…ถ้าบริษัทนี้คือบริษัทเดียวกันตามที่บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด อ้างถึงนี้ก็ต้องบอกว่า บริษัทฯนี้ ดูไม่ใกล้เคียงกับการเป็นผู้จัดจำหน่ายวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” ในภูมิภาคเอเชียเลย
ที่มา : https://www.sgpbusiness.com/company/Tellus-Agrotech-Pte-Ltd
และที่สำคัญ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผู้ที่จดหมายจาก บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ระบุว่าส่งจดหมายไปถึงนั้น โพสต์ชี้แจงใน Facebook ส่วนตัวลงวันที่ 27 พ.ค. 64 ว่า “หนังสือนี้ร่อนไปทั่วบนระบบออนไลน์โดยที่ คนที่หนังสือนี้ส่งถึงยังไม่ได้เห็นหนังสือตัวเป็น ๆ เลย...” (เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ ชวนสงสัยมากว่า หากตั้งใจให้คุณหมอ ทำไมคุณหมอถึงไม่ได้รับ แต่ชาวเน็ตเห็นก่อนอีกด้วย ชวนสงสัยยิ่งนักว่าจดหมายนี้มีวัตุประสงค์เพื่ออะไร) นอกจากนี้คุณหมอยังได้ระบุถึงกฎระเบียบต่าง ๆ ในการเป็นตัวแทนนำเข้าวัคซีนด้วย
สำหรับความคิดเห็นส่วนตัวนั้น เมื่ออ่านที่คุณหมอเขียนแล้วก็รู้สึกสงสารคนทำงาน ลำพังจะต้องสู้กับโรคระบาด ต้องช่วยกันเพื่อให้คนไทยปลอดภัยที่สุดเท่าที่ทำได้นั้นก็ยากลำบากมากในยามนี้ แล้วยังต้องมาเจอเรื่องราวเช่นนี้อีก ดูจะบั่นทอนกำลังใจคนทำงานไม่น้อย ซึ่งสุดท้ายย่อมจะเป็นผลดีกับประชาชนและสังคมส่วนรวม
ส่วนกรณีของบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ก็คงต้องพิสูจน์ข้อเท็จเพิ่มเติมกันต่อไปว่าจะ fake หรือไม่ fake อย่างไร ยังไม่ขอฟันธง แต่เท่าที่มีข้อมูลตอนนี้พอให้สังคมได้ช่วยกันพิจารณา ตั้งคำถามกับข้อเท็จจริงในกรณีจากเรื่องราวข้อมูลกรณีนี้ได้พอสมควร
แต่แน่นอนว่า Fake news นั้นเกิดที่ไหน ก็เดือดร้อนที่นั้น เพราะทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความเข้าใจผิดนี้นำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ได้มาก ยิ่งในยามที่เราต้องเผชิญกับภาวะการต่อสู้กับโรคระบาดอาจทำให้เกิความผลลบอย่างที่เราอาจจะคาดถึง การรู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมจึงเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่เราจะสร้างให้ตัวเองได้ สุดท้ายนี้มีวิธีสร้างภูมิคุ้มกันโดยการสังเกต fake news จาก BBC มาฝากค่ะ ทำได้ไม่ยาก ทั้งหมดเริ่มต้นจากการสังเกต ตั้งข้อสงสัย แล้วตั้งคำถามถามตัวเองก่อนจะเชื่อ หรือจะแชร์อะไร ว่า
- มีการรายงานเรื่องราวไปที่อื่นหรือไม่? (คือดูว่ามีสื่อลงหลาย ๆ สำนักไหม หรือมีการนำเสนออย่างกว้างขวางชัดเจนไหมนั้นเอง)
- ข่าวหรือเรื่องราวนั้น ๆ อยู่ในวิทยุทีวีหรือในหนังสือพิมพ์? (ข้อนี้อาจต้องระวัง เพราะบางทีสิ่งที่อยู่ในสื่อหลักอย่างวิทยุและโทรทัศน์ก็อาจจะไม่จริงทั้งหมดเสมอไป)
- คุณเคยได้ยินชื่อ หรือรู้จักองค์กรที่เผยแพร่ข่าว หรือเรื่องราวหรือไม่? (ถ้าชื่อสำนักข่าว หรือชื่อ url ไม่คุ้นเคยต้องตั้งคำถามต่อว่า คนส่งข่าวหรือเรื่องราวนี้คือใคร น่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน)
- เว็บไซต์ที่คุณพบว่าเรื่องราวดูเป็นของแท้หรือไม่? (เพื่อพึงระวังเว็บไซต์เลียนแบบ (copycat) ที่ออกแบบมาเพื่อมีลักษณะเหมือนเว็บไซต์จริงของคนอื่น)
- ที่อยู่ (URL) เว็บไซต์ที่ด้านบนของหน้าดูจริงหรือไม่? โดยให้สังเกตตอนท้ายของชื่อเว็บไซต์ ว่าดูปกติไหม เช่น '.co.uk' หรือ '.com' ถ้าเป็น 'com.co' แบบนี้แสดงว่าไม่ปกติแล้ว ไม่น่าเชื่อถือ
- รูปภาพหรือวิดีโอดูปกติหรือไม่? (ในภาพหรือวิดีโอดูมีความผิดปกติอย่างไรบ้างหรือไม่)
- เรื่องราวฟังดูน่าเชื่อถือหรือไม่? (บางเรื่องหากลองพิจารณาดูดี จะพบว่ามีความไม่สมเหตุ สมผลบ้างอย่าง ซึ่งควรนำไปสู่การหาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น กรณีจดหมายของบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัดนี้)
ถ้าหากคําตอบสําหรับคําถามเหล่านี้คือ 'ไม่' เช่น ไม่น่าเชื่อถือ ไม่เคยได้ยินที่ไหน ไม่รู้จักแหล่งที่มา เป็นต้น เราอาจต้องการตรวจสอบเพิ่มเติมก่อนที่เชื่อ จะแชร์ เพราะเราอาจกลายเป็นผู้ส่งต่อและขยาย fake news เสียเอง และการที่เราช่วยกันเช็คข้อมูลก็จะได้ช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับทั้งคนใกล้ตัวและสังคมได้รับรู้ด้วย สิ่งที่จะทำให้ fake news พ่ายแพ้ไป คือความจริงที่ถูกต้อง หากยังเช็คข้อเท็จจริงไม่ได้ ก็อย่างเพิ่งแชร์ อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะอย่างน้อยก็เท่ากับว่าเราได้ช่วยกันยับยั้งการระบาดของ fake news ได้ค่ะ
เขียนโดย: อาจารย์ระวีวรรณ ทรัพย์อินทร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาตรีการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (BMCI) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ข้อมูลอ้างอิง
https://datawarehouse.dbd.go.th/company/profile/5/0105563061387
https://www.thereporters.co/covid-19/270520212209/
https://www.bbc.co.uk/newsround/38906931