พูดกับลูกแบบนี้ ไม่ได้ผล!! การพูดจาข่มขู่ เป็นวิธีการให้ลูกทำตัวเกเร ไม่มีการกระทำที่ถูก จากวิธีคิดที่ผิด

พ่อแม่บางคนติดกับดักอำนาจตัวเอง สำหรับเด็กๆ แล้วเหมือนคำท้าทายให้เด็กๆ ทำในสิ่งที่พ่อแม่ห้าม คำว่า “เดี๋ยวเถอะ ถ้าลูกทำอีกครั้งนะ” การรับรู้ของเด็กจะไม่ได้ยินคำว่า “ถ้าลูก” แต่จะได้ยินคำว่า “ลูกทำอีกครั้งนะ” การตีความการข่มขู่ครั้งนั้น เหมือนว่า ถูกคาดหวังว่าให้พวกเขาทำตัวเกเรอีกครั้ง

คำตักเตือนของคุณ เสมือนเป็นการท้าทายให้เด็กพยามแสดงความเป็นตัวเองมากขึ้น ถ้าเขาเป็นคนเคารพในตัวเองมากๆ เขาจะฝ่าฝืนคำสั่งคุณ เพื่อแสดงให้โลกรู้ว่าเขาไม่ใช่คนที่รู้สึกเกรงกลัวและหวั่นไหวเมื่อถูกข่มขู่

วิธีสื่อสารบางอย่างที่เราใช้พูดกับลูก เป็นสิ่งที่ไม่ได้ผลอย่างยิ่ง นอกจากจะทำให้เราไม่บรรลุจุดมุ่งหมายในการสื่อสารกับลูกแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น มันจะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย วิธีสื่อสารที่ว่า เช่น การข่มขู่ การติดสินบน การให้คำมั่นสัญญา การพูดจาถากถาง การใช้คำพูดที่รุนแรงเกินเหตุ การพูดทำร้ายจิตใจ รวมถึงการสอนเด็กให้สุภาพมีมารยาทด้วยคำพูดที่หยาบคาย

การทำร้ายเด็กด้วยคำพูด ข่มขู่ ต่อว่า ตำหนิ ว่าเขาน่าเกลียด โง่  ซุ่มซ่าม ย่อมมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นกับเด็ก เด็กจะมีปฏิกิริยาทั้งร่างกายและจิตใจ  เช่น เสียใจ โกรธ เกลียด เด็กจะเริ่มมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพราะในใจครุ่นคิดแต่จะเอาคืน อาจมีปัญหาในการแสดงออก ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทำให้ทั้งเด็กและพ่อแม่ต้องทุกข์ระทม

พ่อแม่ที่พูดซ้ำ ๆ ว่าลูกโง่ เด็กคนนั้นก็จะเชื่อคำพูดประโยคซ้ำๆ นี้โดยอัตโนมัติ เชื่อว่าตัวเองนั้นโง่จริงๆ เขาจะเริ่มเห็นตัวเองเป็นคนโง่ลงเรื่อย ๆ  และจะยอมแพ้ต่อความพยายามและต่อการใช้ความคิดไปโดยปริยายเช่นกัน

แต่ก็ประหลาดใจมากที่บ่อยครั้งที่ได้ยินคำพูดที่ข่มขู่ เกรี้ยวกราด ถากถาง คำพูดเชิงลบ ที่ลดคุณค่าตัวตนของลูก

ตัวอย่างเช่น 
- เธอมันหนักไม่เอา เบาไม่สู้ ทำอะไรก็ไปไม่รอด
- ตั้งแต่เธอลืมตาดูโลก ธุรกิจฉันก็ขาลงทันที
- เธอมันเหมือนแม่ไม่มีผิด ไม่ได้เรื่องพอๆ กัน
- อย่าให้ฉันรู้นะว่าเธอ….
- คนอย่างเธอมันเก่งไม่จริง
- ระวังตัวให้ดี สักวันหนึ่ง….
- เธอมันคือตัวปัญหา ตัวซวย

แบบแผนการสื่อสารแบบนี้ ถือว่าเป็นการสื่อสารที่มีแต่จะทำร้ายจิตใจลูกให้ตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ

สิ่งสำคัญที่สุดที่อยู่เบื้องหลังของหลักการสื่อสาร คือ การที่ผู้ใหญ่ไม่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ และต้องมีความเคารพในตัวของเด็ก


เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima

อ้างอิงข้อมูล: หนังสือ วิธีพูดกับลูก