วันนี้เราลองมาดูแนวทางการพัฒนาชาติอย่างยั่งยืน ที่ทำให้สวีเดนพัฒนาจากประเทศที่เคยยากจนที่สุดในยุโรป ให้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในโลกกันดีกว่า

ทำไมใครๆ ก็อิจฉาสวีเดน หนึ่งในประเทศผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมโลก และการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก

...ประเทศสวีเดน หนึ่งในประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่เคยติดอันดับประเทศที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และพลังงานทางเลือกที่ดีที่สุดในโลก

...ประเทศที่จำเป็นต้องนำเข้าขยะจากต่างประเทศ เพราะขยะไม่พอรีไซเคิลใช้ในประเทศ

...ประเทศแรกในโลกที่ประกาศเป้าหมายปลอดการใช้พลังงานคาร์บอน

...และยังเป็นประเทศบ้านเกิดของนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชื่อดังระดับโลกอย่าง เกรต้า ธุนเบิร์ก

สวีเดนทำได้อย่างไร? วันนี้เราลองมาดูแนวทางการพัฒนาชาติอย่างยั่งยืน

ที่ทำให้สวีเดนพัฒนาจากประเทศที่เคยยากจนที่สุดในยุโรป ให้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในโลกกันดีกว่า

ปัจจัยสำคัญที่สร้างสวีเดนให้มีความมั่งคั่ง และยั่งยืนในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม คือ ยุทธศาสตร์ของรัฐบาล การพัฒนาด้านนวัตกรรม สังคมคุณภาพ และการศึกษาที่มีเป้าหมายหากนับย้อนหลังไปเมื่อร้อยปีก่อน ประเทศสวีเดน อาจเป็นเพียงหนึ่งในประเทศยากจนในดินแดนยุโรป ที่อาศัยรายได้จากกสิกรรมเป็นหลัก และมักได้ผลผลิตน้อยเนื่องจากอยู่ในเขตที่มีอากาศหนาวจัด และประชากรเบาบาง แต่สิ่งที่ทำให้สวีเดนสามารถพัฒนาจนกลายเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้า และเป็นผู้นำที่ทรงอิทธิพลในด้านสิ่งแวดล้อมประเทศหนึ่งของโลก มีอยู่หลายปัจจัย

จุดเด่นของรัฐบาลสวีเดน คือการวางแผนยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างชัดเจน และเห็นเป้าหมาย ซึ่งสวีเดนก็เป็นประเทศแรกๆ ในโลก ที่ผ่านร่างกฏหมายด้านสิ่งแวดล้อมระดับประเทศที่ชื่อว่า Environmental Protection Act ตั้งแต่ปี 1967 และยังเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมด้านสิ่งแวดล้อมโลกขององค์การสหประชาชาติเป็นครั้งแรกของโลกในปี 1972

และทราบหรือไม่ว่าเมือง Växjö ในสวีเดนเป็นเมืองแรกของโลกที่ประกาศเป้าหมายเป็นเมืองปลอดพลังงานจากคาร์บอนตั้งแต่ปี 1996 ให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2030 ซึ่งเมือง Växjö ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีความเขียวขจีที่สุดในยุโรป

ทั้งนี้ รัฐบาลสวีเดนยังได้ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นประเทศปลอดคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2045 ซึ่งเป้าหมายนี้ตั้งอยู่บนยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมของชาติที่เรียกว่า ‘1 เจนเนอเรชั่น 16 เป้าหมาย 24 หลักชัย’

หมายความว่า สวีเดนตั้งเป้าที่จะส่งมอบประเทศที่มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ปลอดภัยและยั่งยืน ให้สำเร็จให้ได้ภายใน 1 ช่วงอายุคนที่ครอบคลุม 16 เป้าหมายดังนี้

1. จำกัดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
2. อากาศบริสุทธิ์
3. รักษาสมดุลย์ของกรดในธรรมชาติ
4. สิ่งแวดล้อมที่ปลอดสารพิษ
5. ปกป้องชั้นบรรยากาศ
6. มีความปลอดภัยจากพิษรังสี
7. ปลอดมลภาวะทางน้ำ
8. แม่น้ำ ลำธารงดงาม
9. น้ำบาดาลที่มีคุณภาพดี
10. รักษาสมดุลย์ของสิ่งแวดล้อมทางทะเล
11. พื้นที่ชุ่มน้ำสมบูรณ์
12. ป่าไม้ยั่งยืน
13. เกษตรกรรมหลากหลาย

14. ป่าเขาอุดมสมบูรณ์
15. สร้างอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
16. พืชพันธุ์ สัตว์ป่าสารพัน

‘16 เป้าหมาย 24 หลักชัย’ จึงเป็นเหมือนเป็นแนวทางที่รัฐบาลตั้งธงไว้ อาทิ ลดผลกระทบด้านภูมิอากาศ การบริหารจัดการขยะ รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ กำจัดสารพิษ และมลพิษทางอากาศ เป็นต้น

นอกจากจะมียุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนแล้ว รัฐบาลสวีเดนยังให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยการทุ่มงบประมาณสูงถึง 400 ล้านโครเนอร์ (ประมาณ 1.44 พันล้านบาท) ในแต่ละปีเพื่องานวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ในประเทศ

โดยเฉพาะโครงการพลังงานสะอาดที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อย ซึ่งปัจจุบันนี้ 80% ของพลังงานที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าของสวีเดน มาจากแหล่งพลังงานปลอดคาร์บอนแทบทั้งสิ้น เช่นพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พลังงานจากน้ำ คลื่น แสงอาทิตย์ ลม ชีวภาพ  หรือแม้แต่ความร้อนจากร่างกายมนุษย์ก็สามารถนำมาใช้ผลิตพลังงานได้เช่นกัน นับเป็นประเทศที่ใช้พลังงานทางเลือกแทนพลังงานคาร์บอนสูงที่สุดในยุโรป

ส่วนภาคสังคมชาวสวีเดน ก็เป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่จะพาประเทศไปสู่เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากชาวสวีเดนมีความตระหนักรู้ในด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก นิยมสินค้าออแกนิคส์ มีระเบียบวินัยสูงในการคัดแยกขยะรีไซเคิล ที่สามารถนำกลับมาใช้เป็นพลังงานต่อได้ จนถึงขนาดขยะในประเทศไม่พอใช้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

เรื่องการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพนี้ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เชื่อหรือไม่ว่าในจำนวนขยะทั้งหมดที่มีในสวีเดน มีเพียงแค่ 1% เท่านั้นที่จำเป็นต้องเหลือทิ้งจริงๆ ส่วน 49% นั้นชาวสวีเดนจะใช้วิธีแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่ และอีก 50% ถูกส่งไปเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานในประเทศ ซึ่งในสวีเดนมีโรงงานแปรรูป ขยะ-สู่-พลังงาน ถึง 34 แห่ง 

และชาวสวีเดนมักยอมจ่ายแพง หากค่าใช้จ่ายนั้นจะช่วยในเรื่องการเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งสวีเดนก็เป็นประเทศแรกๆของโลก ที่เก็บภาษีคาร์บอนตั้งแต่ปี 1991 แถมจ่ายในอัตราที่แพงที่สุดในโลก ที่ 1,190 โครเนอร์ (4,290 บาท) ต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอน 1 เมตตริกตัน และตั้งแต่เก็บภาษีคาร์บอนมาได้กว่า 30 ปี การปล่อยก๊าซคาร์บอนในประเทศก็ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งสวนทางกับการเติบโตด้านเศรษฐกิจในประเทศ เนื่องจากรัฐบาลนำเงินภาษีที่ได้ไปพัฒนาสวัสดิการด้านพลังงานในประเทศ ชาวสวีเดนส่วนใหญ่จึงจิตสาธารณะในการช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และยังนิยมเลือกพรรคการเมืองที่เน้นนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี

นอกจากนี้ยังมีการสำรวจพบว่า มากกว่า 80% ของชาวสวีเดนอาศัยอยู่ไม่ไกลเกินรัศมี 5 กิโลเมตรจากพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ แหล่งอนุรักษ์ทางธรรมชาติ ที่มีอยู่มากกว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ กิจกรรมสันทนาการอย่างการเดินป่า ปีนเขา นอนแคมป์ จึงเป็นที่นิยมของชาวสวีเดน และยังเป็นหนึ่งในหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลให้ชาวสวีเดนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจด้วย

สังคมคุณภาพของสวีเดนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่เริ่มต้นตั้งแต่ระบบการศึกษา ที่ปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมในทุกระดับชั้น ด้วยการสอนให้รู้ถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะ การใช้ของอย่างคุ้มค่า ลดการใช้ขวด แก้วพลาสติก ใช้อุปกรณ์การเรียน การสอนด้วยวัสดุรีไซเคิล

โรงเรียนในสวีเดนไม่ได้สอนวิชาด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่เนื้อหาด้านสิ่งแวดล้อมนั้นจะแทรกอยู่ในทุกวิชาที่เด็กเรียน เพื่อเน้นให้เด็กเห็นถึงปัญหาของสิ่งแวดล้อมในภาพรวมว่าอยู่ใกล้ตัวเรามากแค่ไหน จึงไม่แปลกใจว่า ระบบการศึกษานี้ได้สร้างนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมคนสำคัญอย่าง เกรต้า ธุนเบิร์ก ที่ออกมารณรงค์เรื่องภาวะโลกร้อนอย่างเข้มแข็งตั้งแต่อายุ 15 ปี

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ จึงขับเคลื่อนให้สวีเดนเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นผู้นำของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานทางเลือก และการอนุรักษ์จัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ปราศจากมลภาวะ จนเป็นที่อิจฉาของหลายๆประเทศ

แต่การที่จะก้าวขึ้นมายืนอยู่ในระดับเดียวกับสวีเดนได้นั้น ต้องพัฒนาโครงสร้างทางสังคมทั้งระบบ ทั้งภาครัฐ เอกชน สังคม และการศึกษา ให้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม และมองเห็นเป้าหมายในทิศทางเดียวกันนั่นเอง

เขียนโดย: อรุณรัตน์ เปรมสิริอำไพ คอลัมนิสต์อิสระ นามปากกา Jeans Aroonrat


อ้างอิง:
https://sweden.se/nature/7-examples-of-sustainability-in-sweden/
http://www.inquiriesjournal.com/articles/1555/sweden-the-worlds-most-sustainable-country-political-statements-and-goals-for-a-sustainable-society
https://www.thehumble.co/blogs/news/sweden-aka-the-most-sustainable-country-in-the-world-1
https://hoting-tasjodalen.com/how-did-sweden-become-the-most-sustainable-country-in-the-world/
https://www.nbcnews.com/news/world/sweden-s-environmental-education-building-generation-greta-thunbergs-n1106876
https://taxfoundation.org/sweden-carbon-tax-revenue-greenhouse-gas-emissions/