ในปัจจุบันได้มีการนำสมุนไพรไทยอย่าง “ฟ้าทะลายโจร” มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอัตราสูงขึ้นในทุกวัน เป็นที่น่าพึงพอใจอย่างมากในทางการแพทย์ ตัวฟ้าละลายโจรนั้นสามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและหายจากโรคระบาดนี้ได้อย่างรวดเร็ว

ในช่วงนี้การระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากจะมีแนวโน้มที่ไม่ลดลงแล้ว ยังเพิ่มขึ้นแบบน่าใจหายอีกด้วยครับ ท่ามกลางการโจมตีผลงานรัฐบาลในเรื่องของการใช้วัคซีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการ หรือแม้กระทั่งคุณภาพของวัคซีน จนชาวบ้านระดับรากหญ้าหลาย ๆ ราย ไม่กล้าที่จะฉีดวัคซีน ถ้ามีเงินหน่อยก็เลือกที่จะรอวัคซีนทางเลือก ที่โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเริ่มให้มีการเปิดจองไปแล้ว 

ในส่วนของการจัดการ พอรัฐบาลมีมาตรการสั่งปิดแคมป์คนงานหลาย ๆ แห่งในกรุงเทพฯ ก็กลับกลายเป็นว่าทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานจำนวนมากไปยังต่างจังหวัดเพื่อกลับภูมิลำเนา ส่งผลให้ในต่างจังหวัดที่สถานการณ์เริ่มจะคลี่คลายแล้วกลับมารุนแรงขึ้นอีก และมีคลัสเตอร์ที่น่าเป็นห่วงที่สุดเพิ่มขึ้นมาคือคลัสเตอร์ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เนื่องจากการกระจายลงไปสู่เด็กเล็กที่ค่อนข้างลำบากมากในเรื่องของการดูแลตัวเอง 
ท่ามกลางกระแสอันเลวร้ายของโควิด-19 ก็มีอีกกระแสหนึ่งเกิดขึ้นมา นั้นคือกระแสที่ว่าด้วยแพทย์ทางเลือก คือ การใช้ฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยรู้จักกันมานาน อาจจะมีสรรพคุณในการป้องกัน และรักษาไวรัสโควิด-19 ได้ สำหรับวันนี้เราจะมาดูรายละเอียดของเรื่องนี้กันครับ 

ก่อนอื่นเรามารู้จักพืชสมุนไพรที่ว่าด้วยฟ้าทะลายโจรกันก่อน ฟ้าทะลายโจรมีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Andrographis paniculata (Burm.f.) Wall.ex Nees และชื่อสามัญคือ Kariyat , The Creat ทั้งนี้นอกจากชื่อฟ้าทะลายโจร แล้วยัง มีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก ตามแต่ละพื้นที่ เช่น หญ้ากันงู น้ำลายพังพอน ฟ้าสาง เขยตายยายคลุม สามสิบดี เมฆทะลาย ฟ้าสะท้าน เป็นต้น ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของฟ้าทะลายโจร เป็นไม้ประเภทล้มลุก มีความสูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร ทุกส่วนของฟ้าทะลายโจรจะมีรสขม กิ่งเป็นใบสี่เหลี่ยม ใบเป็นประเภทใบเดี่ยว แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอก ช่อ ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ ส่วนที่ใช้เป็นสมุนไพรใช้ได้หลายส่วน ทั้งต้น ใบสด ใบแห้ง ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (บัญชียาจากสมุนไพร) กระทรวงสาธารณสุข ในรูปแบบยาเดี่ยว ลักษณะส่วนประกอบทางเคมีของฟ้าทะลายโจร มีสารเคมีประกอบอยู่หลายประเภท แต่ที่เป็นสารที่สำคัญในการออกฤทธิ์ คือ สารกลุ่ม Lactone ได้แก่ สารแอดโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) สารนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neo-andrographolide) สาร 14-ดีอ๊อกซี่แอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-andrographolide) 

โดยสรรพคุณหลักของฟ้าทะลายโจรคือ ใช้บรรเทาอาการไข้หวัด แก้ไอและเจ็บคอ ทั้งนี้ในประเทศไทยมีหน่วยงานที่ศึกษาเรื่องการใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาไวรัสโควิด-19 อย่างจริงจังคือโรงพยาบาลอภัยภูเบศร โดยได้ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการศึกษาวิจัยถึงกลไกในการต้านโควิด-19 ของฟ้าทะลายโจร ทั้งนี้จากผลการศึกษาพบว่าสารแอนโดรกราโฟไลด์ ซึ่งเป็นสารสำคัญในฟ้าทะลายโจร มีความสามารถในการยับยั้งกระบวนการติดเชื้อไวรัสของเซลล์ปอดในมนุษย์ได้ โดยผ่านกลไกที่สำคัญ คือ การยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในทุกระยะ จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาการใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นยารักษาและป้องกันโควิด-19 ได้ โดยสามารถใช้เป็นยาเดี่ยว หรือใช้ควบรวมกับสูตรยามาตรฐาน ในการรักษาผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ ปัจจุบันผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ Journal of  Natural Products ซึ่งเป็นผลการศึกษาที่เกิดขึ้นในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น 

อย่างไรก็ตามเนื่องจากไวรัสโควิด-19 เป็นโรคอุบัติชนิดใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นมา ในการพัฒนายาที่มาใช้ในการรักษานั้น จะต้องมีการศึกษา วิจัย และค้นคว้าให้มีความลึกซึ้งมากกว่านี้ และอาจใช้ระยะเวลาในการศึกษา เพราะการใช้ยาแต่ละชนิดในการรักษาหรือป้องกันโรคนั้นจะต้องศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการใช้ยาชนิดนั้นที่อาจเกิดขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีการศึกษาในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น แต่ที่มีการศึกษาและเป็นที่ยอมรับอย่างชัดเจนแล้วคือการรับประทานฟ้าทะลายโจรจะช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคหวัดได้ ส่วนจะใช้ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ คงต้องมีการศึกษากันในระยะต่อไป เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น 

แต่แม้จะยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน 100% ยืนยันได้ว่าฟ้าทะลายโจรสามารถป้องกันหรือรักษาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ก็ตาม การรับประทานฟ้าทะลายโจรก็เป็นประโยชน์ต่อเราอยู่แล้ว ในเรื่องของการป้องกันการเป็นหวัดได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะหาพืชสมุนไพรที่ชื่อฟ้าทะลายโจรมารับประทาน ก็ไม่เกิดความเสียหายอะไร นอกจากจะป้องกันการเป็นหวัดได้แล้ว เผลอ ๆ อาจจะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายเราในการป้องกันโควิด-19 ท่ามกลางกระแสความสับสนในเรื่องของการใช้วัคซีน ได้อีกด้วยก็เป็นได้ครับ


เขียนโดย: ผศ.ดร.สุทัศน์ จันบัวลา อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต