Monday, 29 April 2024
ไทย

ส่องสาระสำคัญ 'ไทย-จีน-รัสเซีย' จากงาน BRF ครั้งที่ 3 ท่ามกลาง 'ข้อเสนอ' ที่มีมากกว่า 'ท่วงท่า' และ 'ถุงเท้า' 

อาจจะถูกโฟกัสไปแต่ประเด็นทางกายภาพของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ครั้นได้มีโอกาสเข้าหารือแบบทวิภาคีกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำแห่งรัสเซีย รวมถึงผู้นำจีนอย่าง สี จิ้นผิง

แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อวันที่ วันที่ 17-19 ต.ค.ที่ผ่านมา ในการเข้าร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 ในช่วงที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีโอกาสหารือทวิภาคีกับนายวลาดิเมียร์ ปูติน (Mr. Vladimir Putin) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ก็ต้องยอมรับว่า วันนั้นีสาระสำคัญมากมายที่ควรสรุปให้ทราบ...

>> กับ รัสเซีย...
การที่นายกฯ ได้พบหารือกับประธานาธิบดีปูติน ถือเป็นโอกาสอันดีในการแสดงเจตจำนงร่วมกัน เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยรัสเซียถือเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไทยมายาวนาน และทั้งสองฝ่ายก็เพิ่งฉลองครบรอบ 125 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเมื่อปี 2565 และนี่ก็ถึงเวลาที่ ไทย-รัสเซีย ควรร่วมมือกันเพิ่มพูนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นและเป็นรูปธรรม

ในวันนั้น ปูติน พูดกับนายกฯ เศรษฐา โดยกล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยาวนานระหว่างไทยกับรัสเซีย พร้อมทั้งเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีมากขึ้น โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ในระดับประชาชนที่แน่นแฟ้นอย่างมาก

ที่น่าสนใจ คือ โดยปี 2567 (ค.ศ. 2024) จะเป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวไทย-รัสเซีย โดยเชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวรัสเซียมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยมากกว่า 1 ล้านคน และนายกฯ ก็ได้ขานรับทันทีว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค.66 ทางครม. ของไทยได้มีมติเพิ่มวันพำนักให้ชาวรัสเซียจาก 30 วันเป็น 90 วัน แล้ว

นอกจากเรื่องท่องเที่ยว ยังมีการพูดคุยกันถึงสาระสำคัญด้านการเมือง โดยทั้งสองฝ่ายเห็นควรว่าต้องมีการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างบุคลากรสภาความมั่นคงของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง

ส่วนด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นควรเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น โดยนายกฯ ขอให้ฝ่ายรัสเซียส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน พร้อมทั้งเชิญชวนให้รัสเซียพิจารณาเพิ่มการลงทุนในไทย

นอกจากนี้นายกฯ ยังได้เชิญประธานาธิบดีรัสเซียเดินทางเยือนไทย ซึ่งประธานาธิบดีตอบรับ โดยจะได้ร่วมกำหนดวันที่ทั้งสองฝ่ายสะดวกต่อไป...สวยงาม!!

>> กับ จีน...

สี จิ้นผิง ได้กล่าวกับนายกฯ เศรษฐา ว่า จีนเป็นประเทศแรกนอกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่เศรษฐาเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ ซึ่งสะท้อนอย่างเต็มที่ว่ารัฐบาลชุดใหม่ของไทยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทวิภาคีอย่างมาก

โดยจีนพร้อมทำงานร่วมกับไทยเพื่อสร้างนิยมความเป็นไปได้ในยุคใหม่นี้ให้กับคำกล่าว "จีน-ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน" อย่างต่อเนื่อง และทำให้ข้อได้เปรียบของมิตรภาพอันยาวนานเป็นพลังขับเคลื่อนความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน

สี จิ้นผิง กล่าวอีกว่า ทั้งสองฝ่ายควรเร่งรัดการก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทย พร้อมทั้งขยับขยายความร่วมมือด้านต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล, การพัฒนาสีเขียว และพลังงานใหม่ ตลอดจนเสริมความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและการพนันออนไลน์ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมอันปลอดภัยสำหรับการพัฒนาของ 2 ประเทศ

สี จิ้นผิงเสริมว่า จีนยินดีแบ่งปันโอกาสจากตลาดขนาดใหญ่และการเปิดกว้างระดับสูงของจีน เพื่อเพิ่มพูนพลังเชิงบวกสู่การพัฒนาของเอเชีย 

แน่นอนว่า ทางด้านนายกฯ ไทย ก็แสดงความยินดีในการที่จะทำงานร่วมกับจีน เพื่อสร้างประชาคมไทย-จีน ที่มีอนาคตร่วมกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น

ไม่เพียงเท่านี้ นายกฯ ก็ยังได้โชว์แผนแลนด์บริดจ์เชื่อม BRI ภายใต้งบลงทุนในระดับ 1 ล้านล้านบาท เพื่อเชิญชวนให้ภาคเอกชนจีนเข้ามาร่วมลงทุน มหาโปรเจกต์เชื่อมโยงสองฝั่งท่าเรืออันดามัน-อ่าวไทยครั้งใหญ่นี้

โดยนายกฯ ได้กล่าวอีกด้วยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งให้ความเห็นชอบแนวทางการศึกษาและแผนการดำเนินงานโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทยและมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นที่เรียบร้อย

ขณะเดียวกัน ยังเผยถึงแนวทางปรับปรุงการเชื่อมต่อในพื้นที่อันดามันทางตอนใต้ ลดเวลาการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา ภายใต้แนวคิด 'One Port, Two Sides' ในระยะทางทางบก 90 กิโลเมตรทางภาคใต้ของไทยด้วย

แน่นอนว่า สาระสำคัญเกิดขึ้นกับงาน BRF ครั้งที่ 3 ระหว่าง ไทย-จีน และ ไทย-รัสเซีย ไม่ใช่แค่การแวะเวียนมานำเสนอตัวเองของนายเศรษฐาเป็นแก่น แต่เป็นความพยายามของรัฐบาลที่ถือโอกาสใช้เวทีนี้โชว์ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมมือกันในด้านต่างๆ อย่างยั่งยืนกับทั้ง 2 ประเทศมหาอำนาจใหม่นี้ ภายใต้ความสัมพันธ์อันดีที่ถูกเปิดมาตั้งแต่ครั้นรัฐบาลก่อนหน้า

ที่เหลือก็แค่รอดูผลลัพธ์...ต่อไป!!
 

เกาะศึกชิงดำ!! รถไฟฟ้าอีวีโปรเจกต์ X จากซัพพลายเออร์ไอโฟน 'ไทย' ลุ้น!! ชน 'อินเดีย' เบียดขึ้นแท่นปั้น EV 3 ที่นั่งป้อน 3 ประเทศ

(30 ต.ค. 66) เพจ 'BTimes' เผยว่า ฟ็อกซ์คอนน์จ่อผลิตรถอีวีขนาดเล็กส่งขายอินเดีย ญี่ปุ่น ไทย ปีละ 100,000 คัน ลุ้นตั้งโรงงานผลิตในไทย

เอ็มไอเอช คอนซอร์เตียม (MIH Consortium) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือฟ็อกซ์คอนน์ ซัพพลายเออร์รายยักษ์ใหญ่ผลิตไอโฟนจากไต้หวัน เปิดเผยว่า เตรียมผลิตและขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวีขนาดเล็กใน 3 ประเทศของเอเชีย ได้แก่ อินเดีย, ญี่ปุ่น และไทย ด้วยเป้าหมายการขายปีละ 100,000 คันในตลาดทั้ง 3 ประเทศดังกล่าว

นายแจ็ค เฉิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ เอ็มไอเอช คอนซอร์เตียม กล่าวว่ารถอีวีขนาดเล็กอยู่ในโครงการชื่อว่า 'โปรเจกต์เอ็กซ์' โดยเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 3 ที่นั่ง แบตเตอรี่ไฟฟ้าสามารถเปลี่ยนสลับได้ ที่สำคัญ มีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 2 ถึงระดับ 4 ซึ่งขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้งานของผู้ขับรถ สำหรับที่นั่งในรถอีวีขนาดเล็กรุ่นนี้ สามารถปรับเปลี่ยนได้เป็นทั้ง 2 ที่นั่ง และ 3 ที่นั่ง 

เฉิง กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาสรุปที่ตั้งฐานการผลิตรถอีวีขนาดเล็ก ซึ่งมีเพียง 2 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย เนื่องจากฟ็อกซ์คอนน์มีโรงงานอยู่แล้ว หรืออินเดีย เนื่องจากเอ็มไอเอช คอนซอร์เตียม มีหุ้นส่วนธุรกิจอยู่ในประเทศแล้ว 

ตั้งเป้าหมายผลิตปีละ 100,000 คัน เพื่อจำหน่ายในประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น และไทย โดยจะเริ่มเข้าสู่ตลาดใน 3 ประเทศนี้ตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป แบ่งเป็น 50% หรือ 50,000 คัน ขายในอินเดีย ในไทยขาย 20-30% หรือ 20,000-30,000 คัน และในญี่ปุ่นอยู่ที่ 20% หรือราว 20,000 คัน 

เอ็มไอเอช คอนซอร์เตียม จะให้ใบอนุญาตเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาของรถอีวีขนาด 3 ที่นั่งนี้กับบริษัทเอ็ม โมบิลิตี้ ซึ่งเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพในเครือกลุ่มบริษัทมหินทราในอินเดีย ดังนั้น บริษัทเอ็ม โมบิลิตี้ จะเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถอีวีขนาดเล็กในทั้ง 3 ประเทศด้วย 

ทั้งนี้ ราคาของรถอีวีโปรเจกต์เอ็กซ์ ซึ่งมี 3 ที่นั่งนี้ ยังไม่ได้กำหนดชัดเจนออกมา แต่เป็นไปได้ที่จะมีราคาถึงคันละ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 740,000 บาท 

อาชีวศึกษา ‘ไทย-จีน’ จับมือพัฒนา ‘โครงการ 210 สาขาวิชา’ หวังบ่มเพาะทักษะวิชาชีพผู้เรียน - เสริมแกร่งภาคอุตสาหกรรม

เมื่อวานนี้ (30 ต.ค. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การประชุมความร่วมมือทางอุตสาหกรรมและการศึกษาระหว่างประเทศ หัวข้อการสร้างความเป็นดิจิทัลแก่การศึกษา ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งของจีนเมื่อไม่นานนี้ รายงานแผนการปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาของจีน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและความต้องการทางอุตสาหกรรมของจีนและไทย เข้ากับระบบอาชีวศึกษาของไทย

รายงานระบุว่าแผนการปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาของจีนเข้าสู่ระบบอาชีวศึกษาของไทย จำนวน 210 สาขา มีเป้าหมายช่วยเหลือไทยให้สามารถบ่มเพาะผู้มีความรู้ความสามารถทางทักษะวิชาชีพเพิ่มขึ้น รวมถึงส่งเสริมการยกระดับทางอุตสาหกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ (27 ต.ค.) มีการจัดพิธีลงนามโครงการความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาจีน-ไทย 210 หรือ ‘โครงการ 210 จีน-ไทย’ โดยคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการของไทย ได้ลงนามข้อตกลงกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องจากสถาบันอาชีวศึกษาของจีน 4 แห่ง และบริษัท ถังเฟิง อินเตอร์เนชันแนล เอ็ดดูเคชัน กรุ๊ป

โครงการ 210 จีน-ไทย มุ่งร่วมสร้างสาขาวิชาอาชีวศึกษาอันทันสมัย จำนวน 210 สาขา ภายใต้การทำงานร่วมกันของคณะกรรมการการอาชีวศึกษาของไทย และบริษัทฯ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือเชิงลึกระหว่างกลุ่มสถาบันอาชีวศึกษาของสองประเทศในการกำหนดหลักสูตร การฝึกอบรมครูอาจารย์ และการผลิตนักศึกษาวุฒิคู่ขนาน

สาขาวิชาส่วนหนึ่งของโครงการ 210 จีน-ไทย ซึ่งจะถูกปรับใช้เป็นชุดแรก ได้แก่ การผลิตเครื่องจักรกลและระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ เทคโนโลยียานยนต์พลังงานใหม่ เทคโนโลยีการประยุกต์ใช้อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (IoT) เทคโนโลยีการซ่อมบำรุงทางรถไฟความเร็วสูงแบบครบวงจร อีคอมเมิร์ซ ฯลฯ

สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาของไทย กล่าวว่าอาชีวศึกษามีนัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก โดยความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาระหว่างจีนและไทยนี้เกื้อหนุนการสร้างความเป็นดิจิทัล รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของไทย ทั้งเชื่อมโยงกับแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) อย่างลึกซึ้ง

นอกจากนั้นความร่วมมือระหว่างสถาบันอาชีวศึกษาและผู้ประกอบการจะช่วยให้ภาคอาชีวศึกษาสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดีขึ้น ก่อให้เกิดการบ่มเพาะผู้มีความรู้ความสามารถในไทยเพิ่มขึ้น ยกระดับความสามารถทางการแข่งขันด้านการจ้างงานและรายได้ของเยาวชนไทยรุ่นใหม่ มีส่วนส่งเสริมการพัฒนาและเสถียรภาพของสังคมไทย

‘GISTDA’ จับมือ ‘ยูเครน’ ลงนาม MOU ด้านเทคโนโลยีอวกาศ หนุนเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมในอนาคต

(2 พ.ย.66) กระทรวง อว. โดย GISTDA และหน่วยงานอวกาศแห่งยูเครน หรือ SSAU ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อร่วมมือกันในด้านเทคโนโลยีอวกาศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 โดยมี ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA และนายโวโลดีมีร์ เบน รักษาการหัวหน้า SSAU, นายปาฟโล โอเรล อุปทูต A.I. ของสถานเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

วัตถุประสงค์หลักของบันทึกความเข้าใจนี้ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านการใช้ประโยชน์จากอวกาศในทางสันติ กระทรวง อว. โดย GISTDA และ SSAU จะทำงานร่วมกันในด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาเครื่องยิงจรวด การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียม ตลอดจนการศึกษาวิจัยและเสริมสร้างขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ

ทั้งนี้ SSAU เป็นหนึ่งในหน่วยงานด้านอวกาศที่มียุทธศาสตร์ในการดำเนินงานที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และมีส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศยูเครนประสบความสำเร็จในด้านอวกาศ ด้วยเหตุนี้ MoU จึงเป็นก้าวสำคัญที่จะส่งเสริมความร่วมมือและนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นจากการร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของทั้งสองประเทศต่อไป

‘TCSA-CSSAT’ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ คนรุ่นใหม่ไทย-จีน จัดกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ พานักเรียนจีนท่องวิถีชุมชนไทย

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 66 สมาคมนักเรียนไทย-จีน (TCSA) ร่วมสมาคมนักศึกษาและนักวิชาการจีนแห่งประเทศไทย (CSSAT) จัดกิจกรรม ‘One day trip กระชับมิตรไทย-จีน’ สนับสนุนโดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มุ่งเดินทางบนเส้นทางการท่องเที่ยวแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปยังจังหวัดสมุทรสงคราม ณ ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคลน

กิจกรรมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ผ่านการเดินทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรต่อชุมชน และการทำจิตอาสาปลูกจิตสำนึก ถึงคุณค่าของป่าชายเลน ซึ่งสำคัญต่อระบบนิเวศในองค์รวม นอกจากนี้ ยังเป็นกิจกรรมที่ได้นำพาเพื่อนๆ นักเรียนนักศึกษาชาวไทยและชาวจีนมาพบเจอกัน รู้จัก แลกเปลี่ยนทางภาษา เป็นสะพานในการสานความสัมพันธ์ในระดับนักเรียนนักศึกษา เพื่อสร้างโอกาสทางเครือข่าย อันจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในมุมของอนาคตความสัมพันธ์ไทย-จีน

กิจกรรม One day trip ในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมเป็นนักเรียนไทย-จีน จำนวน 40 คน เป็นคนจีน 24 คน คนไทย 16 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ศ.ดร.หวัง ฮวน ภริยา ฯพณฯ หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และนางเฝิง จวิ้นอิง อัคราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการศึกษา 

ภิริยาทูตจีนฯ กล่าวว่า “รู้สึกประทับใจกับกิจกรรมในวันนี้ และอยากให้มีกิจกรรมแบบนี้อีกในอนาคต ตัวท่านได้เปิดประสบการณ์และเรียนรู้หลาย ๆ อย่างในวันนี้”

อาจารย์หวังฯ ยังกล่าวอีกว่า “กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่มีความหมายเป็นอย่างมาก เพราะทำให้นักเรียนจีนในไทย ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ และได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นในประเทศไทย ที่สำคัญ ได้ทำกิจกรรมอาสา ที่เป็นการให้ประโยชน์กลับสู่ชุมชนด้วยเช่นกัน ต้องขอชื่นชมทีมงานผู้จัดกิจกรรม ที่จัดออกมาได้อย่างแปลกใหม่ และเข้ากับยุคสมัย”

'บิ๊กทุนจีน' ทุ่ม!! 10,000 ล้านบาท ลงทุนในพื้นที่ EEC ลุย 'มอเตอร์ไซค์อีวี-แบตเตอรี่-ตู้เปลี่ยนแบตฯ-ลิซซิ่ง'

เมื่อวานนี้ (7 พ.ย.66) ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี (EEC) พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สกพอ. ได้เข้าร่วมประชุมและหารือกับ บริษัท SMOGO Holding Co.,Ltd. ภายใต้ชื่อ ‘SMOGO’ ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และอุปกรณ์การผลิตอัจฉริยะในยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า ชั้นนำจากประเทศจีน

นำโดยนายหวัง หย่ง เจีย ประธานกรรมการ (Mr. Huang Yongjie) Chairman of SMOGO และคณะ เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะในกลุ่มคลัสเตอร์ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)

การผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า หรือมอเตอร์ไซค์อีวี ปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยม และเป็นที่ต้องการของตลาดยานยนต์เพิ่มขึ้นในทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย สร้างโอกาสให้พื้นที่อีอีซีเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์อีวีในภูมิภาค สอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ โครงการลงทุนนี้เริ่มต้นโดย บริษัท Suzhou Harmontronics Automation Technology Co., Ltd. ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศจีนได้ตัดสินใจร่วมมือกับ บริษัท GI New Energy Co.,Ltd. ขยายการลงทุนมายังประเทศไทย ภายใต้ชื่อ ‘SMOGO’ 

โดยเบื้องต้นจะเลือกฐานการผลิตและลงทุนที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี โดยจะขยายการลงทุนครอบคลุมธุรกิจการผลิตและประกอบ มอเตอร์ไซค์อีวี การผลิตแบตเตอรี่ การผลิตและติดตั้งตู้เปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์อีวี (Swap Battery) และการให้บริการทางการเงิน (Leasing) ควบคู่ไปด้วย

โดยจะเริ่มทำการตลาดในพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซี (ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) เป็นโครงการนำร่อง (Pilot Project) ในช่วงแรก และจะขยายการจัดจำหน่ายไปยังประเทศอื่นๆ โดยคาดว่าทาง SMOGO จะมีกำลังผลิตมอเตอร์ไซค์อีวี ได้ประมาณ 150,000 คันต่อปี และคาดว่าจะเกิดการลงทุนโครงการ ฯ เกี่ยวเนื่องทั้งหมด ในกรอบวงเงินรวมสูงถึง 10,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี (ช่วงปี 2566 – 2571)

พร้อมกันนี้ ทางอีอีซี และ SMOGO ได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางเพื่อสนับสนุนการลงทุน อาทิ ด้านการขอรับสิทธิประโยชน์ในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ด้านการอำนวยความสะดวกขอรับบริการลงทุน การขอใบอนุมัติ อนุญาตต่างๆ และการประสานความร่วมมือการพัฒนาทักษะบุคลากร

โดยเฉพาะในด้านการฝึกอบรม และการศึกษาถึงนวัตกรรมด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ที่ผู้ประกอบการจากจีนมีความเชี่ยวชาญ เพื่อเป็นการเตรียมสร้างบุคลากรให้ตรงกับความต้องการต่อยอดการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

'ฉางอัน ออโต' วางศิลาฤกษ์ 'โรงงานผลิต EV' ในไทย มองไกล!! ทุ่ม 2 หมื่นล้าน จ่อผลิต 2 แสนคันต่อปี

(9 พ.ย.66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ฉางอัน ออโต (Changan Auto) ผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำของจีน ได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์โรงงานผลิตยานยนต์แห่งแรกของบริษัทในไทย ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการขยับขยายธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยโรงงานแห่งใหม่นี้ครอบคลุมพื้นที่ราว 1,520 ไร่ ตั้งอยู่ที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในจังหวัดระยอง ประกอบด้วยหน่วยทาสี ประกอบชิ้นส่วน ประกอบเครื่องยนต์ และประกอบแบตเตอรี่ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสนับสนุนอันจำเป็น

รายงานระบุว่าการดำเนินงานระยะแรกมีกำหนดเริ่มต้นช่วงต้นปี 2025 โดยการออกแบบเบื้องต้นกำหนดกำลังการผลิตสูงแตะ 1 แสนคันต่อปี ส่วนการดำเนินงานระยะที่ 2 จะมีการลงทุนรวมสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท ทำให้กำลังการผลิตสูงแตะ 2 แสนคันต่อปี

อนึ่ง ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์แห่งสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเนิ่นนาน เนื่องจากมีข้อได้เปรียบด้านห่วงโซ่อุตสาหกรรมและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์

การลงทุนของฉางอันในไทยสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลไทยที่มุ่งเพิ่มสัดส่วนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้สูงแตะร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2030 และจะครอบคลุมทั่วตลาดอาเซียน รวมถึงตลาดยานยนต์พวงมาลัยขวาทั่วโลก

ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย กล่าวว่าการลงทุนของฉางอันสะท้อนศักยภาพและความพร้อมของไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาคและระดับโลก

หวังฮุย รองประธานของฉางอัน ออโตโมบิล เผยว่าฉางอันมุ่งมีบทบาทเชิงรุกในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์อันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น ขณะไทยเร่งปรับตัวสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว

การเข้าสู่ไทยของฉางอันไม่เพียงเสนอหลักประกันตามเป้าหมายจัดวางให้ไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาคของฉางอัน แต่ยังมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมการบูรณาการเชิงลึกของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ในจีนและไทย

ทั้งนี้ นอกเหนือจากฉางอันแล้ว กลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ของจีน เช่น เกรตวอลล์ (Great Wall) และบีวายดี (BYD) ได้ก่อสร้างโรงงานและเปิดตัวยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นต่างๆ ในไทยเช่นกัน ด้านข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่าแบรนด์จีนครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของยอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าในไทยในช่วงครึ่งแรก (มกราคม-มิถุนายน) ของปีนี้

‘สภาฯ สิงคโปร์’ วุ่น!! เร่งถก ‘แลนด์บริดจ์ไทย’ หวั่นกระทบการค้า-สะเทือนเศรษฐกิจในประเทศ

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 66 สำนักข่าว CNA ของสิงคโปร์ รายงานว่า นายชี ฮง ทัต รักษาการณ์รัฐมนตรีคมนาคมสิงคโปร์ได้ชี้แจงและตอบข้อซักถามต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสิงคโปร์ในวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ในประเด็นโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย ซึ่งถูกมองว่าอาจส่งผลกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์

โดยนายชี กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์อาจช่วยลดเวลาการขนส่งสินค้าราว 2-3 วันก็จริงอยู่ แต่เรือขนสินค้าอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และจริงๆ อาจลดเวลาได้ไม่มากนัก ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยปัจจัยสำคัญ คือ เรือสินค้าจะต้องเสียเวลาในการโหลดสินค้าขึ้นจากท่าเรือฝั่งหนึ่ง เพื่อขึ้นรถบรรทุกหรือรถไฟขนส่งไปยังท่าเรืออีกฝั่ง จากนั้นก็โหลดสินค้าลงสู่เรือเพื่อเดินทางต่อ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ บริษัทขนส่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งอาจทำให้ต้องมีการทบทวนและเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ระหว่างการแล่นอ้อมช่องแคบมะละกาและสิงคโปร์ และการใช้แลนด์บริดจ์ของไทยว่าทางไหนคุ้มกว่ากัน

สำหรับประเด็นที่ว่าโครงการแลนด์บริดจ์ซึ่งเชื่อมอ่าวไทยและทะเลอันดามันของไทย จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสิงคโปร์ และกระทบกับศักยภาพการแข่งขันของสิงคโปร์ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งหรือไม่ นายชีตอบว่า “สิงคโปร์ไม่สามารถห้ามประเทศอื่นจากการพัฒนาท่าเรือหรือโครงสร้างใดๆ ก็ตามได้ แต่สิ่งที่สิงคโปร์ควรทำและทำได้ คือ ทำอย่างไรที่จะให้สิงคโปร์ไม่ได้รับผลกระทบ หรือหาทางเพิ่มศักยภาพท่าเรือสิงคโปร์ให้ดึงดูดเรือขนสินค้าเหล่านั้น”

‘ครม.’ เคาะงบฯ 5.37 ล้านเหรียญฯ พัฒนาพลังงาน ‘ไทย-มาเลย์ฯ’ หวังสร้างความมั่นคง-เสถียรภาพด้านพลังงาน-เศรษฐกิจให้ประเทศ

(14 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 5,375,000 เหรียญสหรัฐ และแผนการดำเนินงานประจำปี 2567 ขององค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย

แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน จำนวน 5,250,900 เหรียญสหรัฐ และค่าใช้จ่ายที่เป็นทุน จำนวน 124,100 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 375,000 เหรียญสหรัฐ

-ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) เพิ่มขึ้น 8.6% เทียบเท่า 414,800 เหรียญสหรัฐ
-ค่าใช้จ่ายที่เป็นทุน (CAPEX) ลดลง 24.3% เทียบเท่า 39,800 เหรียญสหรัฐ

นางรัดเกล้ากล่าวว่า โดยแผนการดำเนินงานในปี 2567 ประกอบด้วย ด้านการสำรวจและการประเมินผล ด้านการพัฒนาปิโตรเลียม และด้านการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย เช่น เจาะหลุมพัฒนา จำนวน 8 หลุม รักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เรียกรับสูงสุดในอัตรา 869 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ดำเนินการเจาะหลุมพัฒนาตามแผนพัฒนาแหล่งในระยะที่ 6 จำนวน 17 หลุม รักษาระดับอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เรียกรับสูงสุดในอัตรา 308 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซ่อมแซมหลุมผลิตเดิมและเจาะผนังหลุมเพิ่ม เพื่อรักษาอัตราการผลิตของหลุม

นางรัดเกล้ากล่าวว่า ทั้งนี้ให้รับความเห็นของกระทรวงการคลังที่ให้คำนึงถึงประเด็นความคุ้มค่า ต้นทุนและผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม

ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย และความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดการเสนองบประมาณและแผนการดำเนินงานประจำปีขององค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย ต่อคณะรัฐมนตรีตามกรอบระยะเวลา ข้อ 3 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย พ.ศ. 2533 กำหนด ไปดำเนินการอย่างเคร่งครัดต่อไปด้วย

‘โฆษกรัฐบาล’ เผย ‘ไทย’ ติดอันดับ 43 นวัตกรรมโลกปี 66 ตั้งเป้า!! เดินหน้าสู่การเป็น ‘ชาตินวัตกรรม’ ในอนาคต

(16 พ.ย.66) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2566 (Global Innovation Index 2023) ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ซึ่งไทยได้รับการจัดอันดับที่ 43 จากทั้งหมด 132 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ และถือเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมกำหนดนโยบายส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรม ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น ‘ชาตินวัตกรรม’

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ดัชนีนวัตกรรมโลกเป็นการจัดอันดับความสามารถทางนวัตกรรมของประเทศและเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั่วโลก ผ่านการประเมินตัวชี้วัดทั้งสิ้น 80 ตัว เน้นย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของนวัตกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาคและโลก ซึ่งในปีนี้ แม้ไทยยังคงอันดับที่ 43 เท่ากับปีที่แล้ว แต่มีปัจจัยย่อยที่ดีขึ้น ได้แก่ ปัจจัยย่อยการนำเข้าทางนวัตกรรม (Innovation input sub-index) อยู่ในอันดับที่ 44 (ดีขึ้น 4 อันดับ) และปัจจัยย่อยผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation output sub-index) อยู่ในอันดับที่ 43 (ดีขึ้น 1 อันดับ) นอกจากนี้ เมื่อพิจารณารายกลุ่มปัจจัย ไทยมีอันดับของกลุ่มปัจจัยดีขึ้น 5 จาก 7 กลุ่ม โดยกลุ่มที่มีอันดับดีขึ้นมากที่สุด คือ กลุ่มปัจจัยด้านระบบตลาด (Market sophistication) ซึ่งไทยอยู่ในอันดับที่ 22 (ดีขึ้น 5 อันดับ)

ผลการจัดอันดับดังกล่าวระบุว่า ไทยมีการเติบโตของเศรษฐกิจและนวัตกรรมที่สูงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยความสามารถในการผลิตนวัตกรรมมีมากขึ้น เนื่องจากการลงทุนในด้านนวัตกรรมภายในประเทศที่มากขึ้น และไทยมีจุดแข็งในการพัฒนานวัตกรรม ได้แก่ การส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ ค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งลงทุนโดยภาคเอกชนหรือองค์กรธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงจุดแข็งในด้านการประยุกต์ใช้ผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ตามถิ่นกำเนิด (Utility Models by origin) เป็นต้น

“ยืนยันความตั้งใจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถทางด้านนวัตกรรมของประเทศ นายกรัฐมนตรีเดินหน้าผลักดันพัฒนาการทางนวัตกรรมเสมอมา โดยสอดคล้องกับผลของการจัดอันดับที่ระบุว่า ไทยมีพัฒนาการทางด้านนวัตกรรมที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายปัจจัย ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าภายใต้การดำเนินนโยบายของนายกรัฐมนตรีจะขับเคลื่อนไทยสู่การเป็น ‘ชาตินวัตกรรม’ และไทยจะก้าวสู่อันดับที่ 30 ของประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลกภายในปี 2573” นายชัย กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top