Monday, 29 April 2024
ไทย

การค้า ‘ไทย-จีน’ สดใส!! หลังเติบโตใต้ปีก RCEP หนุนสินค้าไทยจนได้รับความนิยมสูงในครัวเรือนจีน

เมื่อวานนี้ (7 ม.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ อากาศหนาวเย็นขึ้นทั่วจีน ทว่าบนโต๊ะอาหารของหลายครัวเรือนกลับอบอุ่นไปด้วยกลิ่นหอมจากหม้อไฟไก่อุ่นๆ ซึ่งใช้น้ำมะพร้าวน้ำหอมของไทยเป็นน้ำซุป

มะพร้าวน้ำหอมจากอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ขึ้นชื่อเรื่องกลิ่นหอมและความหวาน ด้วยอานิสงส์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มะพร้าวน้ำหอมไทยจึงได้รับความกระแสความนิยมอย่างรวดเร็วในตลาดจีนช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยถูกใช้ในการประกอบอาหารอย่างแพร่หลาย อาทิ เค้ก กาแฟ และอาหารที่ใช้เนื้อไก่ ทำให้ยอดจำหน่ายเติบโตอย่างต่อเนื่อง

สองปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ในไทยเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2022 ผัก ผลไม้ สิ่งทอ ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ของไทยต่างได้รับประโยชน์จากความตกลงดังกล่าว การค้าภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่ม อัตราภาษีที่ลดลงตลอดจนกรอบการค้าข้ามภูมิภาคที่ได้มาตรฐาน กระตุ้นการเติบโตด้านการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิก และทำให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมระหว่างจีน-อาเซียนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

สำนักบริหารศุลกากรทั่วไปของจีน ระบุว่า อาเซียนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน ในช่วง 11 เดือนแรก (มกราคม-พฤศจิกายน) ของปี 2023 ด้วยมูลค่าการค้าจีน-อาเซียนที่ 5.8 ล้านล้านหยวน (ราว 28.76 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบปีต่อปี

ยกตัวอย่างจากตลาดค้าส่งผลไม้หนานหนิง ไห่จี๋ซิง ตลาดค้าส่งผลไม้ใหญ่สุดในกว่างซี ก็คับคั่งด้วยรถบรรทุกผลไม้จอดเรียงรายอยู่หน้าตลาดเพื่อรอลำเลียงสินค้า ตั้งแต่ต้นปี โม่เจียหมิง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทนำเข้าผลไม้แห่งหนึ่ง กล่าวว่าปีนี้บริษัทฯ จะพึ่งพาช่องทางการตลาดที่หลากหลายและราคาที่ดี อันเป็นผลประโยชน์จากนโยบายความตกลงฯ ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ พร้อมเสริมว่ามะพร้าวน้ำหอมไทยที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นำพาโอกาสมาให้บริษัทฯ ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ แผนริเริ่ม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ที่คืบหน้าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้การค้าจีน-ไทยใกล้ชิดกันมากขึ้น โอกาสจากการระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ และการบังคับใช้ความตกลงฯ ทำให้รูปแบบการค้าและการขนส่งมีความหลากหลายยิ่งขึ้น สินค้าไทยเข้าสู่ครัวเรือนทั่วจีนด้วยราคาถูกขึ้น และสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในซูเปอร์มาร์เก็ตจีน ทั้งข้าวหอมมะลิ เครื่องปรุงรส เครื่องสำอาง ยา หมอนยางพารา ครีมกันแดด ฯลฯ

หลิวเสียง รองผู้อำนวยการสำนักพาณิชย์เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง กล่าวว่าการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนต่อด้านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนระหว่างจีน-อาเซียน ผ่านรูปแบบและคอนเทนต์ที่หลากหลายก็มีส่วนส่งเสริมอุตสาหกรรมของทั้งสองฝ่าย

ขณะเดียวกัน หลายปีที่ผ่านมากว่างซีก็มุ่งสร้างฐานอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจีน-อาเซียน ซึ่งมีเขตนำร่องอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนระดับประเทศที่ได้รับการอนุมัติแล้วรวม 4 แห่ง และมีเมืองที่เข้าร่วมโครงการนำร่องนำเข้าสินค้าค้าปลีกอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนแล้ว 8 เมือง ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าและส่งออกเติบโตอย่างรวดเร็ว

คณะอนุญาโตฯ เลื่อนตัดสินคดีเหมืองทองไป 6 เดือน  เปิดทางให้ ‘ไทย-คิงส์เกต’ เจรจาต่อเพื่อยุติข้อพิพาท 

‘กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่’ ชี้แจงความคืบหน้าของคดีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ซึ่งในปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการเจรจาแก้ไขปัญหาข้อพิพาท โดยคณะอนุญาโตตุลาการได้อนุญาตให้เลื่อนการออกคำชี้ขาดออกไปอีก 6 เดือน จากเดิมที่กำหนดออกคำชี้ขาดในช่วงสิ้นปี 2566 ที่ผ่านมา โดยทั้งสองฝ่ายยังมีแนวโน้มที่ดีในการเจรจาแก้ไขปัญหาข้อพิพาทตามคำแนะนำของคณะอนุญาโตตุลาการ  

(10 ม.ค.67) นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยว่า จากกรณีข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ผู้ถือหุ้นบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) คณะอนุญาโตตุลาการได้เลื่อนการออกคำชี้ขาดหรือคำตัดสินออกไปอีก 6 เดือนจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ตามที่ทั้งสองฝ่ายร้องขอ ซึ่งเป็นกรอบระยะเวลาที่เชื่อว่าจะสามารถเจรจาให้ข้อพิพาทยุติลงได้ และเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายมากกว่า

สำหรับการกลับมาประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำอีกครั้งของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น เป็นผลมาจาก บริษัท อัคราฯ ได้เริ่มกลับมาดำเนินการคำขอต่างๆ โดยเฉพาะคำขอต่ออายุประทานบัตรในพื้นที่เดิม และใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่ค้างอยู่ ตั้งแต่ปี 2563 ให้ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยแร่และระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้ดำเนินการตามกรอบนโยบายทองคำที่ปรับปรุงขึ้นใหม่  

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่บริษัท อัคราฯ ได้กลับมาประกอบการอีกครั้ง ก็ได้มีการติดตามตรวจสอบผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมภายใต้รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA สำหรับการทำเหมืองแร่ และ EHIA สำหรับการประกอบโลหกรรมอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบควบคุมและเฝ้าระวังการทำเหมืองแร่ทองคำ และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น  

“กรณีที่มีข่าวเรื่องการสั่งฟ้องเหมืองทองอัคราฯ ในความผิดฐาน ยึดที่ดินรัฐ-ครอบครองป่า-สร้างตะแกรงรุกทางหลวงนั้น เห็นว่าเป็นกระบวนการตามกฎหมายอื่น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ไม่เคยแทรกแซงและไม่สามารถก้าวล่วงได้ ซึ่งหมายความว่า การดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายของไทยในกรณีดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีหรือกระบวนการอนุญาโตตุลาการ รวมทั้งคณะอนุญาโตตุลาการยังไม่ได้มีการออกคำชี้ขาดหรือคำตัดสินแต่อย่างใด” นายอดิทัต กล่าวปิดท้าย

‘นายกฯ เศรษฐา’ เตรียมต้อนรับ ‘ปธน.เยอรมนี’ 24-26 ม.ค.นี้ หารือทวิภาคี ผลักดันความร่วมมือ 'ไทย-เยอรมนี' ในทุกมิติ

(23 ม.ค. 67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมให้การต้อนรับและหารือทวิภาคีกับ ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในห้วงการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) ระหว่างวันที่ 24 - 26 มกราคม 2567 ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะให้การต้อนรับประธานาธิบดีเยอรมนีฯ ภริยา และคณะ อย่างเป็นทางการ ในวันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม 2567 ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีมีกำหนดพบหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีเยอรมนีฯ พร้อมด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน พร้อมทั้งร่วมหารือร่วมกับภาคเอกชนของเยอรมนี หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีเยอรมนีฯ จะร่วมแถลงข่าว และภายหลังเสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีเยอรมนีฯ และภริยา พร้อมด้วยคณะผู้แทนเยอรมนี

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเยือนในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับเยอรมนีให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยประธานาธิบดีเยอรมนีฯ พร้อมคณะ จะเดินทางไปศึกษาดูงานในหลายภาคส่วนที่มีศักยภาพของไทย อาทิ โรงงานผลิตรถยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำไฮบริด โครงการผลิตข้าวที่ยั่งยืนแบบครบวงจร อุทยานแห่งชาติผาแต้ม และพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งในด้านการค้า การลงทุน พลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอาชีวศึกษา

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การเยือนในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสที่สำคัญของไทยและเยอรมนี ในการเสริมสร้างความเป็นพันธมิตร ขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติให้มีความก้าวหน้า บนพื้นฐานของค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์สู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ตลอดจนส่งเสริมภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของไทยในเวทีระหว่างประเทศ” นายชัย กล่าว

อนึ่ง การเยือนในครั้งนี้ ถือเป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของ ประธานาธิบดีฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง และเป็นการเยือนประเทศไทยในระดับประธานาธิบดีของเยอรมนีเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี นับตั้งแต่การเยือนของประธานาธิบดีโยฮันเนส เรา เมื่อปี 2545 นอกจากนี้ การเยือนในครั้งนี้ ยังถือเป็นการต้อนรับผู้นำรัฐจากต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน

'สว.วีระศักดิ์' กล่าวเปิดเทศกาลภาพยนตร์ Moscow Film Days  ความร่วมมือครั้งใหญ่ระหว่างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ 'ไทย-รัสเซีย'

เมื่อวานนี้ (29 ม.ค.67) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อดีตเลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติของไทย ขึ้นกล่าวแสดงความยินดีกับ รัฐมนตรี ด้านวัฒนธรรมของนครมอสโก และคณะ ในความร่วมมือระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทย จับมือร่วมกับวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของรัสเซีย หนึ่งในประเทศที่มีวงการภาพยนตร์ที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่อีกแห่งของโลก ที่จัดให้มีงานเทศกาลภาพยนตร์ Moscow Film Days เป็นครั้งแรกในไทย ที่โรงภาพยนตร์ SF World Cinema ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์

โดยมีเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยและคณะทูตจากต่างประเทศพร้อมคู่สมรส ผู้แทนการค้าไทย รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้บริหารสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และคณะผู้บริหารสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติของไทยที่มาร่วมแสดงความยินดี

ในพิธีเดินพรมแดง มีการจัดถ่ายทอด live สด การสนทนาสัมภาษณ์กับนักบินอวกาศที่ร่วมแสดงในฉากจริงของภาพยนตร์ ‘The Challenge’ จากนั้นเป็นกิจกรรมขึ้นกล่าวก่อนเปิดฉายภาพยนตร์ ‘The Challenge’ ที่เป็นภาพยนตร์กวาดรายได้สูงสุด 1 ใน 5 เรื่องที่ฝ่ายรัสเซียนำมาทยอยเข้าฉายในไทยนับจากนี้ไปถึงเดือนเมษายน 

‘The Challenge เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของโลกที่ถ่ายทำในสถานที่จริงในอวกาศ ที่สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station หรือ ISS) โดยเป็นเรื่องราวของ ศัลยแพทย์ (นำแสดงโดย ยูเลีย พีริซีลด์ ดารานักแสดงสาวของรัสเซีย) ถูกส่งขึ้นโดยการตัดใจของหน่วยกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติของรัสเซีย มุ่งสู่สถานีอวกาศนานาชาติที่โคจรเหนือพื้นโลกที่อยู่เหนือขึ้นไปกว่า 400 กิโลเมตรเป็นการเร่งด่วน เพื่อไปผ่าตัดช่องอกให้นักบินอวกาศที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุในอวกาศ เพื่อหวังให้สามารถกลับลงสู่พื้นโลกได้ปลอดภัย

การถ่ายทำจริงใช้เวลา 12 วันบนอวกาศ ผ่านการเตรียมงานและฝึกฝนนักแสดงและผู้กำกับให้ขึ้นไปทำภารกิจในสภาพไร้น้ำหนักและปราศจากแรงโน้มถ่วงของโลกอยู่นับเดือน นับเป็นมิติใหม่ที่ผู้ชมจะได้ชมภาพยนตร์สนุกจากบรรยากาศในยานอวกาศจริง

ในการนี้ นายเยฟกินี โธมีคิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยขึ้นกล่าวว่าภาพยนตร์เป็นเครื่องมือสื่อสารที่สามารถสะท้อนแนวคิดวิถีชีวิต ของคนในแต่ละสังคม เพื่อให้ผู้ชมจากอีกสังคมสามารถสัมผัสและเข้าถึงได้ง่าย

นายอเล็กเซย์ ฟูซินด์ รัฐมนตรีด้านวัฒนธรรมของมอสโก ขึ้นกล่าวว่าเป็นความภาคภูมิใจของรัสเซียที่ชาวไทยให้ความสนใจมาร่วมกิจกรรมในเทศกาลที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่างไทยกับรัสเซียอย่างอบอุ่นคับคั่ง รวมทั้งภาคธุรกิจภาพยนตร์และคอนเทนต์ของไทยก็เข้าชื่อมาร่วมพบเจรจา Business Matching กับคณะเดินทางภาคเอกชนด้าน ภาพยนตร์และคอนเทนต์ของรัสเซียกันอย่างหนาแน่นด้วย นับเป็นการเปิดมิติความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และหวังจะได้เห็นการร่วมมือผลิตภาพยนตร์แบบ Co-Production ระหว่างรัสเซียและไทยในอนาคตอันใกล้

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ขึ้นกล่าวว่า ในรัสเซียมีการใช้วัฒนธรรมภาพยนตร์ในการขับเคลื่อนสังคมมายาวนาน มีภาพยนตร์สำหรับเข้าโรงฉายในรัสเซียถึงปีละ เฉลี่ย 2 พันเรื่อง และมีกิจการโรงภาพยนตร์ที่กระจายตัวอยู่มากถึง 2 หมื่นแห่งทั่วรัสเซีย ดังนั้นการร่วมมือระหว่างวงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยกับรัสเซียจึงนับเป็นมิติที่ดีในการเสริมพลังทั้งทางเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ภาคประชาชนของทั้งสองประเทศที่มีความสัมพันธ์กันมายาวนาน

รัสเซียและไทยเริ่มมีความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางระหว่างกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 และต่อมาขยายเพิ่มเติมใน พ.ศ. 2548

ปัจจุบัน รัสเซียสร้างเมืองภาพยนตร์ (Movie Town) และสวนภาพยนตร์ (Film Park) ขึ้นในกรุงมอสโก จากหมู่โรงงานและนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เลิกใช้งานแล้ว เพื่อช่วยให้กองถ่ายรัสเซียและนานาชาติ สามารถเช่าถ่ายทำฉากต่าง ๆ ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ สามารถจำลองเป็นเมืองใด ๆ ในโลกก็ได้ สามารถมีฉากแปลกตาท้าทาย ทั้งบนบก ฉากใต้น้ำจากการใช้ทะเลสาบขุดขนาดใหญ่ในพื้นที่พร้อมทีมนักดำน้ำสนับสนุน เพื่อให้ผู้กำกับภาพยนตร์สร้างงานตามจินตนาการได้อย่างสะดวก เพราะอยู่ในเขตใกล้เมืองที่มีระบบบริการและสาธารณูปโภคที่เข้าถึงง่ายจากนครหลวงมอสโกเพียง 25 นาทีทางรถยนต์

ทั้งนี้เทศกาลภาพยนตร์ Moscow Film Days มีกำหนดจะเปิดฉายภาพยนตร์เรื่อง ‘The Challenge’ รอบปกติ ในเครือโรงภาพยนตร์ SF Cinema ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป และจะทยอยนำภาพยนตร์ที่คัดเลือกไว้เข้าฉายต่อเนื่องไปให้คนไทยได้ชมไปเรื่อย ๆ จนครบทั้ง 5 เรื่องในกลางเดือนเมษายน

‘จีน-ไทย’ เตรียมก้าวสู่ ‘ยุคปลอดวีซ่า’ 1 มีนาคมนี้ เดินหน้าสนับสนุน ‘ตลาดท่องเที่ยว’ สองประเทศเต็มที่

เมื่อวานนี้ (29 ม.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า จีนและไทยเตรียมดำเนินนโยบายฟรีวีซ่าให้แก่กันตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. นี้ หลังจากคณะเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายได้ลงนามข้อตกลงยกเว้นวีซ่าซึ่งกันและกัน ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันอาทิตย์ (28 ม.ค.) โดยความคืบหน้านี้จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนของสองประเทศยิ่งขึ้น

จูหงอิง จากบริษัท อวิ๋นหนาน จิ่นอ้าย ทัวริซึม กรุ๊ป จำกัด ในมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มองว่าตอนนี้จีนและไทยเตรียมเข้าสู่ ‘ยุคปลอดวีซ่า’ อันเกื้อหนุนนักท่องเที่ยวของสองประเทศเดินทางไปมาหาสู่กันได้ตามต้องการทุกเมื่ออย่างแท้จริง ซึ่งจะส่งผลประโยชน์ต่อตลาดการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ

หากอ้างอิงข้อมูลการท่องเที่ยวแบบหมู่คณะหรือกรุ๊ปทัวร์ของบริษัทฯ จูกล่าวว่ากรุ๊ปทัวร์เพื่อท่องเที่ยวไทยช่วงหยุดยาวเทศกาลตรุษจีนปีนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ 10-14 ก.พ. ถูกจับจองจนเต็มแล้ว โดยจุดหมายท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ กรุงเทพฯ พัทยา และภูเก็ต ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมกรุ๊ปทัวร์แต่ละวันอยู่ที่ 60-70 คน และส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดียวกัน

วังเทา จากบริษัท เอเจนซีการท่องเที่ยวต่างประเทศ อวิ๋นหนาน เหม่ยถู จำกัด เผยว่านโยบายฟรีวีซ่าไม่เพียงเกื้อหนุนการเดินทางของนักท่องเที่ยว แต่ยังสะท้อนให้เห็นมิตรภาพอันดีระหว่างประชาชนชาวจีนและชาวไทย ซึ่งจะส่งเสริมการพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวของสองประเทศ

ไทยนั้นเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่มีลูกค้าสอบถามถึงมากที่สุดของบริษัทฯ เสมอมา โดยวังเสริมว่าหากพิจารณาจากกระแสตอบรับของนักท่องเที่ยว นโยบายฟรีวีซ่ามีผลต่อความรู้สึกของนักท่องเที่ยวอย่างมาก เพราะไม่ใช่เพียงเรื่องประหยัดค่าธรรมเนียมวีซ่า แต่ยังเกี่ยวพันกับการยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย

ปัจจุบันอวิ๋นหนานมีเที่ยวบินโดยสารสู่หลายเมืองของไทย เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต จำนวน 54 เที่ยวต่อสัปดาห์ โดยข้อมูลจากสถานีตรวจสอบการเข้า-ออกเมืองของนครคุนหมิงระบุว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2024 จำนวนนักเดินทางจากอวิ๋นหนานไปยังไทยสูงเกิน 30,000 คนแล้ว

ด้านข้อมูลจากสายการบินไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส ในอวิ๋นหนาน ระบุว่าตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ (1 ม.ค.) จนถึงช่วงเทศกาลตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์ สายการบินฯ ให้บริการเที่ยวบินโดยสารสู่ไทยเฉลี่ย 8 เที่ยวต่อวัน ส่วนช่วงวันที่ 9-17 ก.พ. มีผู้โดยสารจองการเดินทางสูงถึง 11,000 คนแล้ว

อนึ่ง ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทยระบุว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในปี 2023 สูงเกิน 28 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 151 เมื่อเทียบปีต่อปี โดยจีนเป็นแหล่งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของไทยด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่า 3.51 ล้านคน

นักท่องเที่ยวชาวไทยครองแชมป์จำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุดใน #ลาว ประจำปี 2566

โดยกระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ของ สปป.ลาว เผย #ท็อปเทน นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวลาวในปี 2023 

The Ministry of Information, Culture, and Tourism unveiled the 2023 tourist arrival data. Here are the top 10 tourist nationalities that entered #Laos last year.

ไทยขาดดุลจีนมหาศาล ไม่ใช่เรื่องใหม่!! ต้องแก้ด้วย ‘ยกระดับ-ปรับคุณภาพสินค้า’

(20 ก.พ. 67) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กต่อกรณีไทยขาดดุลการค้าจีน 1.3 ล้านล้านบาท ไทยขาดดุลจีนมาโดยตลอดมากกว่า 2 ทศวรรษ และมีมูลค่าขาดดุลที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยระบุว่า…

“ข้อมูลไทยขาดดุลจีนมหาศาล ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มันคือ Wake-Up Call !! #ไฟลนก้น ไทยต้องยกระดับสินค้า/ปรับคุณภาพ #ไม่ง่ายแต่ต้องทำ”

ทั้งนี้ สินค้าส่งออกไทยไปจีน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัตถุดิบ /กึ่งวัตถุดิบ /สินค้าเกษตร ผลไม้ ฯลฯ ล้วนมีมูลค่าเพิ่มต่ำ (เราส่งออกสินค้าขั้นสุดท้าย Final Product /Consumer Product ไปจีนน้อยมาก)

ในขณะที่ ไทยนำเข้าสินค้าทุน /เครื่องมือ/เครื่องจักรจากจีน จึงขาดดุลจีนมูลค่ามหาศาลมาโดยตลอด

ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา จีนเป็นแหล่งนำเข้าหลักของสินค้าไทยมาโดยตลอด โดยตัวเลขล่าสุด ปี 2566 จีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของไทย สัดส่วนสูงถึง 24.4% ทิ้งห่างแหล่งนำเข้าอันดับ 2 ญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก (10.8%)

สำหรับในปี 2566 ไทยและจีนมีมูลค่าการค้าร่วมกัน 3,608,662 ล้านบาท  ไทยส่งออกไปจีน 1,174,558 ล้านบาท และไทยนำเข้าจากจีน 2,434,104 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1,259,546 ล้านบาท หรือเกือบ 1.3 ล้านล้านบาท

ดังนั้น สินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศไทยต้องปรับตัวอย่างหนัก เพื่อความอยู่รอด และจำเป็นยกระดับอัพเกรดสินค้า ปรับคุณภาพ และพัฒนาสินค้านวัตกรรม เพื่อให้สินค้าไทยอยู่ในระดับกลาง/ระดับบนในสายตาของผู้บริโภค ผู้ผลิตไทยควรเน้นภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่มีคุณภาพดีกว่า ในการแข่งขันกับสินค้าจีน  

อย่างไรก็ตาม ประเทศคู่ค้าจีน ส่วนใหญ่ก็ขาดดุลจีนถ้วนหน้า อย่างเช่น  เวียดนาม ก็ขาดดุลจีนมหาศาล (แถมเวียดนามขาดดุลจีนมากกว่าที่ไทยขาดดุลจีนเป็นเท่าตัว)

บล็อกเชนช่วยดัน!! 'ไทย' ซื้อขายทองคำยืนหนึ่งในอาเซียน-แตะอันดับ 7 โลก พบ!! สัดส่วนซื้อขายออนไลน์ 65% ปริมาณเทรดทะลุ 5 ล้านล้านบาท

เมื่อวานนี้ (20 ก.พ.67) พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) เปิดเผยถึงการซื้อขายทองคำผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยระบบบล็อกเชน ทำให้การซื้อขายในตลาดทองคำไทยทะลุไปถึง 5 ล้านล้านบาท ยืนหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน และไต่ไปถึงอันดับ 7 ของโลก

- การซื้อขายทางกายภาพอยู่ที่ 35% การซื้อขายทองคำดิจิทัลผ่านบล็อกเชนอยู่ที่ 65%

- ตลาดทองคำได้พัฒนาระบบการซื้อ-ขายบนบล็อกเชน ทำให้สามารถเกิดความคล่องตัวในการซื้อในหน่วยที่เล็กมากเพียง 0.0001 กรัม หรือใช้เงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 100 บาท

- การซื้อขายทองคำในระบบออนไลน์ยังมาจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดล่วงหน้า (ฟิวเจอร์ส) โดยมีมูลค่าการซื้อขายต่อวันประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท

- ตลาดฟิวเจอร์สเป็นการเข้าถึงการเทรดในตลาดระดับโลก เช่น การซื้อขายผ่าน Tradingview ด้วยบัญชี YLG Futures ที่นักลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนฟิวเจอร์สในตลาด CME Group ตลาดฟิวเจอร์สอันดับหนึ่งของโลกจากสหรัฐฯ สามารถเทรดได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดของประเทศไทย 

สำหรับความเคลื่อนไหวของตลาดทองคำในปีนี้...

ระยะสั้น มองว่ายังเป็นการแกว่งตัวลงทดสอบระดับต่ำสุดเดิมของเดือน ธ.ค.2566 ที่ระดับ 1,973 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐเริ่มมีสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายช้าลง จากไตรมาสแรกเป็นไตรมาสสอง ทำให้ทองคำได้รับแรงกดดัน  

ระยะยาว ในปี 2567 มองแนวรับแรกไว้ที่โซน 1,902-1,884 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ระดับต่ำสุดของเดือนก.ค. 2566 และเดือนก.ย. 2566 ตามลำดับ)  และแนวรับถัดไปในโซน 1,804-1,764 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเชื่อมั่นว่าแนวรับแรกราคามีโอกาสยืนได้ 

โดยมองว่าช่วงครึ่งหลังของปีจะกลับมาเคลื่อนไหวในแดนบวก และหากราคาปรับตัวผ่านระดับ 2,080 ดอลลาร์ต่อออนซ์ขึ้นไปได้ มีโอกาสขึ้นไปทดสอบระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,144 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งหากทำระดับสูงสุดใหม่ขึ้นไปได้ รอบนี้แนวต้านถัดไปมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปถึงบริเวณ 2,200-2,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์

'พีระพันธุ์' หารือ 'ผู้ว่าฯ ยูนนาน' ยกระดับ 'ความสัมพันธ์-ร่วมมือ' ไปอีกขั้น เตรียมต่อยอด 'เศรษฐกิจ-พลังงานสะอาด-อุตสาหกรรมสีเขียว'

เมื่อวานนี้ (22 ก.พ. 67) ณ ห้องสีเหลือง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายหวัง หยู่โป (H.E. Mr. Wang Yubo) รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิวนิสต์จีนประจำมณฑลยูนนาน ผู้ว่าการมณฑลยูนนาน และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำรัฐบาลมณฑลยูนนาน เข้าเยี่ยมคารวะ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรีฯ ยินดีที่ได้พบผู้ว่าการมณฑลฯ อีกครั้ง ขอบคุณมณฑลยูนนานในความร่วมมือระหว่างกันที่ดีมาตลอด ซึ่งตั้งแต่จีนกลับมาเปิดประเทศในปี 2566 ได้มีคณะผู้แทนระดับสูงของไทยเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์และศึกษาดูงานที่มณฑลยูนนานอย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นว่า หากทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกันในทุกด้าน ทั้งในเชิงภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน จะสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทวีความสัมพันธ์ระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้นต่อไป 

ด้านผู้ว่าการมณฑลฯ ยินดีและเป็นเกียรติที่ได้มีโอกาสเยือนไทย การต้อนรับอย่างอบอุ่นจากไทย แสดงให้เห็นว่าไทยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างจีน-ไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างเคารพและไว้วางใจร่วมกัน เอื้อประโยชน์แก่กันในทางเศรษฐกิจ เข้าใจซึ่งกันและกันในทางวัฒนธรรม ดังนั้น จีนและไทยจึงเปรียบเสมือนครอบครัวเดียวกัน ที่ได้หยั่งรากลึกลงในหัวใจของประชาชนทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะการเยือนไทยของ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี 2565 ที่ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มีความหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ สอดคล้องกับที่ได้ประกาศแถลงร่วมว่าด้วยการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย-จีน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ร่วมกัน

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นความร่วมมือต่าง ๆ ที่สำคัญ ดังนี้

ด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เห็นพ้องส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกันผ่านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจีนพร้อมให้การสนับสนุนไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน โดยจีนจะส่งเสริมแถบเส้นทาง R3A ไทย - ลาว - จีน ต่อเนื่อง ถือเป็นเส้นทางสำคัญในการนำเข้า - ส่งออกสินค้าระหว่างไทยและจีน ซึ่งผู้ว่าการมณฑลฯ ชื่นชมว่า หลังจากการเปิดแถบเส้นทาง R3A แล้ว ได้ประหยัดเวลาขนส่งสินค้าและลดต้นทุนทางธุรกิจได้มาก โดยเมื่อปี 2566 มีจำนวนการนำเข้าสินค้ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไทยพร้อมพัฒนา เส้นทางสายไหม (One Belt One Road) ให้ต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันส่งเสริมด้านการใช้พลังงานสะอาดในเส้นทางด้วย

ด้านการใช้พลังงานสะอาด เห็นพ้องที่จะผลักดันการใช้พลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว ผ่านการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีของหน่วยงานที่ภาครัฐเกี่ยวข้องด้านพลังงาน โดยรองนายกรัฐมนตรีเห็นศักยภาพของมณฑลยูนนาน ที่มีการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) จำนวนมาก ซึ่งผู้ว่าการมณฑลฯ เห็นพ้องที่จะนำศักยภาพด้านการใช้พลังงานน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ของมณฑลยูนนานมาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกัน

ด้านความร่วมมือทางวิชาการ ทั้งสองพร้อมต่อยอดจากความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาของไทยและมณฑลยูนนาน โดยผู้ว่าการมณฑลฯ ยินดีกับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและทางวิชาการ ซึ่งปัจจุบันมีนักศึกษาชาวไทยจำนวนกว่า 1,000 คน ศึกษาอยู่ ณ มณฑลยูนนาน

ด้านการท่องเที่ยวและความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ทั้งสองฝ่ายยินดีกับการลงนามความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาและหนังสือเดินทางกึ่งราชการ ไปเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 1 มีนาคม 2567 ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนทั้งสองฝ่าย มีการไปมาหาสู่กันเพิ่มขึ้น โดยรองนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไทยพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากมณฑลยูนนานและให้ความสำคัญสูงสุดกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ขณะที่ผู้ว่าการมณฑลฯ เชื่อมั่นว่า จะเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ขยายโอกาสและฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

'ก.ต่างประเทศ' จ่อลงนาม ฟรีวีซ่าถาวร 'ไทย-คาซัคสถาน'  ช่วยหนุนนักท่องเที่ยวเข้าไทยปีนี้เพิ่มอีกกว่า 2 แสนคน

เมื่อไม่นานมานี้ นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เปิดเผยภายหลังการจัดงาน ‘Amazing Thailand Roadshow To Almaty’ ณ เมืองอัลมาตี ประเทศคาซัคสถาน จัดโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ กต. ว่า จากการเดินทางมาร่วมกิจกรรมสำรวจลู่ทางการค้าและการลงทุนในประเทศคาซัคสถานรอบนี้ ทาง กต.ได้เริ่มกระบวนการจัดทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตรา (ยกเว้นวีซ่า : Visa-Free) ซึ่งกันและกันอย่างถาวรระหว่างไทยกับคาซัคสถานแล้ว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องเอกสารระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลคาซัคสถาน ทำให้ต้องชะลอการลงนามฯ ไปก่อน

“ตามที่ทางนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้มีการเชิญนายมูรัท นูร์ตลิว รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของคาซัคสถาน เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ในเดือน เม.ย. 2567 เราตั้งเป้าว่าน่าจะเห็นการลงนามความตกลงยกเว้นวีซ่าอย่างถาวรระหว่างไทยกับคาซัคสถานอย่างแน่นอน”

หลังจากล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติขยายระยะเวลาการยกเว้นวีซ่าเพื่อการท่องเที่ยว ให้กับนักท่องเที่ยวคาซัคสถานไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. - 31 ส.ค. 2567 ต่อเนื่องจากมติ ครม. ก่อนหน้านี้ที่ประกาศยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวคาซัคสถานในช่วงระหว่างวันที่ 25 ก.ย. 2566 - 29 ก.พ. 2567

“นี่เป็นเหตุผลที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอให้ ครม.มีมติขยายระยะเวลาการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวคาซัคสถานอีก 6 เดือนจนถึงสิ้นเดือน ส.ค. 2567 เพื่อให้มั่นใจว่าจะครอบคลุมช่วงเวลาดำเนินการจัดทำความตกลงระหว่าง ไทย กับ คาซัคสถาน ในการยกเว้นวีซ่าซึ่งกันและกันอย่างถาวร”

นอกจากนี้ ได้หารือร่วมกับผู้บริหารสายการบินแอร์ อัสตานา (Air Astana) พร้อมแจ้งข่าวดีเรื่องการดำเนินการจัดทำความตกลง ไทย-คาซัคสถาน ยกเว้นวีซ่าระหว่างกันอย่างถาวรอีกด้วย

“ทางตัวแทนผู้บริหารแอร์อัสตานาดีใจมาก จริง ๆ เขาดีใจตั้งแต่รัฐบาลไทยประกาศยกเว้นวีซ่าให้นักท่องเที่ยวคาซัคสถานตั้งแต่รอบแรกแล้ว ยิ่งต่อรอบที่ 2 ก็ยิ่งดีใจ เพราะในมุมนักธุรกิจเขาขอแค่ภาครัฐกำหนดแผนงานให้ชัดเจน แน่นอน ที่เหลือเขาไปทำการบ้านต่อเอง”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top