Thursday, 3 July 2025
ไทย

นายกฯ ชม ‘หาน จื้อเฉียง’ ทูตจีนก่อนอำลาตำแหน่ง ย้ำมิตรภาพแนบแน่นในทุกระดับและทุกมิติ

สายสัมพันธ์ไทย-จีนแน่นแฟ้น! นายกฯ ชมบทบาทเอกอัครราชทูตจีนฯ ก่อนอำลาในโอกาสครบวาระ ย้ำมิตรภาพแนบแน่น "ร่วมทุกข์ ร่วมสุข"  พร้อมผลักดันความร่วมมือไทย-จีนทุกมิติ เสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคี-พหุภาคี สานความร่วมมือท่องเที่ยว-สินค้าเกษตร

(4 มิ.ย. 68) ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายหาน จื้อเฉียง  เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่ออำลาในโอกาสพ้นจากหน้าที่ 

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณและชื่นชมเอกอัครราชทูตจีนฯ ที่มีบทบาทและเป็นกำลังสำคัญในการประสานงานระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศอย่างแข็งขันตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนความสัมพันธ์ไทย-จีน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในทุกระดับและทุกมิติ โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทำงานร่วมกับเอกอัครราชทูตจีนฯ คนใหม่อย่างใกล้ชิด เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แนบแน่นยิ่งขึ้นต่อไป

เอกอัครราชทูตจีนฯ ยินดีอย่างยิ่งที่ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีในวันนี้ โดยตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี 10 เดือน ของการปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย ได้เห็นความก้าวหน้าและความใกล้ชิดของความสัมพันธ์ไทย–จีนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังการรับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี พร้อมชื่นชมบทบาทของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือไทย-จีน ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี รวมทั้งขอบคุณรัฐบาลไทยที่สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีตลอดมา โดยเชื่อมั่นว่าความสัมพันธ์ไทย–จีนจะดำเนินไปด้วยดีแม้ในสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงความร่วมมือในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ดังนี้

ด้านการท่องเที่ยว จีนยังพร้อมส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมความร่วมมือต่าง ๆ เช่น การแสดงทางวัฒนธรรม บัลเลต์จีน กายกรรมจีน คอนเสิร์ต โดยเอกอัครราชทูตจีนฯ กล่าวถึงงาน “สวัสดี หนีฮ่าว” ซึ่งมีผลตอบรับอย่างดี มีบริษัทจีนเข้าร่วมกว่า 350 แห่ง ขณะที่นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ไทยยังคงเป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลก พร้อมยืนยันว่าจะเร่งสื่อสารเชิงบวกให้มากขึ้น ทั้งด้านความปลอดภัย การลงทุน และภาพลักษณ์ประเทศ ซึ่งการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และมิตรภาพระหว่างประชาชนของทั้งสองชาติ

ด้านความร่วมมือสินค้าเกษตร โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีที่ฝ่ายจีนช่วยอำนวยความสะดวกการส่งออกทุเรียนจากไทยไปจีนได้อย่างประสิทธิภาพ สามารถส่งไปยังจีนได้ภายในระยะเวลา 2 วัน จากเดิม 7-8 วัน โดยเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานจีนและหน่วยงานไทย ขณะที่ฝ่ายจีนได้ขึ้นบัญชีอนุญาตบริษัทไทยที่ผ่านเกณฑ์คุณภาพให้ส่งออกทุเรียนโดยไม่ต้องตรวจซ้ำแล้วกว่า 240 แห่ง ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกันได้อีกมาก

ด้านความร่วมมือในกรอบแม่โขง–ล้านช้าง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยยินดีต้อนรับการเยือนของนายกรัฐมนตรีจีนในช่วงปลายปีนี้ เพื่อร่วมการประชุมกรอบความร่วมมือแม่โขง–ล้านช้าง ครั้งที่ 5 โดยไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพอย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันความร่วมมือระดับภูมิภาคในทุกมิติ ขณะที่เอกอัครราชทูตจีนฯ เห็นพ้องและอยู่ระหว่างการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการต่างประเทศของไทย พร้อมกล่าวย้ำว่า “แม้สถานการณ์โลกจะผันผวน แต่ความสัมพันธ์ไทย–จีนจะแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เราต้องทำงานด้วยกันเพื่อที่จะร่วมทุกข์ ร่วมสุข ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ และสร้างพลังใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือต่อไป”

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณเอกอัครราชทูตจีนฯ สำหรับความจริงใจและมิตรภาพที่มั่นคง พร้อมย้ำว่า มิตรภาพระหว่างบุคคลและระหว่างประเทศไม่ขึ้นกับตำแหน่งหน้าที่ แต่เกิดจากความเข้าใจและการประสานงานที่จริงใจ และขออวยพรให้เอกอัครราชทูตจีนฯ และภริยา ประสบความสำเร็จและมีความสุขในทุกภารกิจต่อไป

‘แยม-ฐปณีย์’ ซัด ไทยแพ้ทางข่าวสารแก่กัมพูชาเละ ชี้ ก.ต่างประเทศไทยไม่เปิดเผยอะไรเลยปล่อยกัมพูชาชิงแถลง

เมื่อวันที่ (15 มิ.ย. 68) แยม - ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวเดอะรีพอร์ตเตอร์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า ผลการประชุม JBC ไทยพ่ายแพ้ทางข่าวสารฝ่ายกัมพูชาไปเรียบร้อยแล้ว !!

ในฐานะนักข่าวไทยที่ไปทำข่าวการประชุม JBC ไทย-กัมพูชา ที่กรุงพนมเปญ ซึ่งมีนักข่าวไทยไปกันเพียง 4 สำนัก คือ แยม-ฐปณีย์ ที่ทำทั้งข่าว 3 มิติ และ The Reporters , น้องเก้า พงศธัช สุขพงษ์ ThaiPBS World , สันติวิธี พรหมบุตร ไทยรัฐทีวี และนักข่าวกัมพูชา จำนวนมาก

ก่อนเดินทางต้องขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศ ที่ให้นักข่าวไทยที่จะไปทำข่าวลงทะเบียนเพื่อทำบัตรไปทำข่าวการประชุมได้ ส่วนรายละเอียดสถานที่จัดการประชุม เวลา และอะไรต่างๆ ก่อนประชุมทางกัมพูชาก็ปิดลับ เรารู้กันว่าโรงแรมอะไร และเวลาไหน ที่เหลือต้องเชคกันเอง

โชคดีที่เราพอมีเพื่อนนักข่าวกับพูชา และแหล่งข่าวเก่าๆ ที่เคยทำข่าวประเด็นพิพาทต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่ง 16-17 ปีผ่านไป ยังมีคนที่พอให้เชคข่าวสัมภาษณ์ได้บ้าง อย่างเช่น นายไพ สีพาน อดีตโฆษกรัฐบาลสมัยสมเด็จ ฮุนเซน และปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต

วันที้ 13 มิ.ย.ที่ไปถึง แยมให้เพื่อนช่วยนัดไพ สีพาน และ ศ.รอส จันทะบอต นักประวัติศาสตร์ มาสัมภาษณ์ เพราะอยากรู้ท่าทีของกัมพูชาที่จะนำ 4 ข้อพิพาทไปศาลโลก และเป็นข้อมูลก่อนการประชุม JBC

ส่วนฝ่ายไทย ก็แจ้งมาว่าคณะที่มา จะไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ จะให้โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลงที่กรุงเทพ ซึ่งนักข่าวไทยก็ช่วยกันต่อรองมาบอกอะไรเราบ้าง เราจะได้รายงานข่าวที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทย เพราะเรามาทำข่าวถึงที่นี่ ถ้าฝ่ายกัมพูชา ให้สัมภาษณ์แถลงอะไร เราก็ต้องรายงานข่าวตามนั้นนะ

สุดท้ายทาง กต.ไทย ก็ย้ำว่า จะไม่มีการให้สัมภาษณ์ของคณะ JBC ไทย แต่ความเป็นนักข่าวเราก็ต้องทำหน้าที่ คืนวันที่ 13 มิ.ย.แยมก็รอเจอท่านทูตประศาสน์ ประธาน JBC ไทย ที่โรงแรมที่พัก ซึ่งกว่าจะมาถึงก็ 21.00 น. ซึ่งเชื่อว่าการรู้จักกันมาก่อน ตั้งแต่เป็นท่านทูตพนมเปญ ในช่วงปี 51-54 แต่ท่านทูต ก็ไม่ตอบเรื่องการประชุม เพราะมีนโยบายมา ซึ่งเข้าใจได้ เราแค่อยากทักทายตามประสาแหล่งข่าว ซึ่งตลอด 2 วันในการประชุมเราก็ไม่ได้อะไรเลยจริงๆ 555

มาถึงวันประชุมจริง 14 มิ.ย.นักข่าวไทยก็ไปรอประชุมคณะใหญ่ พร้อมนักข่าวกัมพูชา นัด 10.00 น.กว่าคณะจะมาห้องใหญ่ก็ 11.40 น.เพราะมีประชุมคณะเล็ก แล้วก็พักเที่ยง 2 ชม.แล้วมาประชุมอีกที 14.40 น. ซึ่งไม่นานพอ 15.30 ฝ่ายไทยนำโดยท่านทูตประศาสน์ ออกจากห้องประชุม โดยเราไปถามอะไรก็ไม่มีใครตอบ นักข่าวคิดว่าการประชุมจบแล้ว

แต่ในห้องประชุมเราเห็น นายฬำ เจีย ยังถกเครียดกับเจ้าหน้าที่กัมพูชา ซึ่งไม่นาน มีเจ้าหน้าที่กัมพูชา มาขอคุยกับนักข่าวไทยว่า การประชุมยังไม่เสร็จ แค่พักการประชุม และไทยไปแถลงข่าวที่ไม่ตรงกัน และต่อมา นายฬำ เจีย ก็มาให้สัมภาษณ์ที่ไทยแถลงนั้นเป็นเพียงฝ่ายเดียว !!

นักข่าวไทยก็พยายามประสานบอกว่า ฝ่ายกัมพูชา อาจเอาเรื่องนี้มาชิงความได้เปรียบทางการสื่อสาร ขอให้ข้อมูลกับเราบ้าง

และก็จริงพอการประชุมวันนี้ ตั้งแต่เช้า นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ชิงแถลงส่งหนังสือไปฟ้องศาลโลก ก่อนการประชุม JBC วันที่ 2 จะเริ่มขึ้น และยังไม่ตกลงกันเรื่องบันทึกการประชุม Agreement Minutes ซึ่งเรื่อง 4 ข้อพิพาท ก็กลายเป็นประเด็นที่โต้แย้งกัน จนใช้เวลาตกลงกันเกือบ 6 ชั่วโมง และกว่าจะมาแถลงลงนามกันก็บ่ายสองแล้ว !!

การลงนาม จับมือ ถ่ายภาพกันชื่นมื่นจริง แต่ไม่มีแถลงการณ์ร่วม ไม่มีการเปิดเผยอะไร ก่อนที่ 2 ฝ่ายแยกย้าย นักข่าวไปรุมสัมภาษณ์ นายฬำ เจีย ตอบสั้นๆว่าบรรยากาศดี ให้รอ press แถลงข่าว ส่วนท่านทูตประศาสน์ ไม่ตอบอะไร

ซึ่งจากนั้นไม่ถึง 10 นาที ในเวลา 14.45 น.กัมพูชาก็ออก press ข่าวผลการประชุม อย่างที่ปรากฏว่า แจ้งฝ่ายไทยว่าจะส่ง 4 ข้อพิพาทไปศาลโลก แต่ฝ่ายไทยไม่ยอมรับ และไม่นำ 4 เรื่องนี้หารือใน JBC อีกต่อไป รวมถึงยึดตามแผนที่ 1:200,000 ไม่ยึดแผนที่ที่ไทยทำขึ้นเอง

https://www.facebook.com/share/p/16kp61dy4k/?mibextid=wwXIfr

ส่วนของไทย กระทรวงการต่างประเทศออกข่าวแจงสั้นๆว่า บรรยากาศประชุมดี สองฝ่ายจะใช้กลไก JBC คุยเรื่องปักปันเขตแดนต่อไป ฯ และต้องมาออกเอกสารชี้แจงภายหลัง โดยล่าสุดออกแถลงการณ์ชี้แจงเมื่อ 22.30 น.ที่ผ่านมา แสดงความผิดหวังที่กัมพูชาขาดความจริงใจที่จะนำ 4 ข้อพิพาทหารือตามกลไกทวิภาคี

https://www.facebook.com/share/p/1BZ7Bc2MtH/?mibextid=wwXIfr

แค่เรื่องการให้ข่าวไทยก็พ่ายแพ้กัมพูชาไปแล้วจากการประชุม JBC ซึ่งที่สะท้อนมานี้ หวังแค่ว่าฝ่ายไทยจะปรับปรุง เพราะปัญหาพิพาทไทย-กัมพูชา กำลังจะเดินทางไปถึงศาลโลกและ UN ในขณะที่พื้นที่ชายแดนก็เปราะบาง กำลังลุกลามเป็นสงครามเศรษฐกิจ

นักข่าวไทยก็รักชาติ อยากรายงานข่าวที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติค่ะ ด้วยความเคารพค่ะ

‘กัมพูชา’ เผชิญ 3 วิกฤตหลังปิดด่านประชดไทย โรคระบาด – พลังงาน - เสื่อมศรัทธาทางการทูต

(23 มิ.ย. 68) กัมพูชากำลังเข้าสู่ “สามวิกฤต” ซ้อน - สุขภาพ พลังงาน และศรัทธาระหว่างประเทศ หลังปิดด่านประชดไทย

ณ เวลานี้ กัมพูชากำลังเผชิญกับวิกฤตหลายด้านพร้อมกันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จนอาจกล่าวได้ว่าประเทศกำลังก้าวเข้าสู่ “สามวิกฤตรุมเร้า” ซึ่งประกอบด้วยภัยสาธารณสุข ภัยเศรษฐกิจ และภัยทางการทูตอย่างรุนแรง

1. ไข้หวัดนกระบาดหนัก – ชายแดนไทย–กัมพูชาส่อปิดยาว
สถานการณ์ไข้หวัดนกในกัมพูชากำลังทวีความรุนแรง โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ติดต่อสู่คนได้ ทำให้อัตราการตายสูงเกิน 50% ในหลายกรณี (เช่น H5N1)มีความเป็นไปได้สูงครับว่า ภาครัฐของไทยมีแนวโน้มจะพิจารณาปิดด่านชายแดนเพื่อจำกัดการแพร่ระบาด ถ้าเกิดขึ้นไม่เพียงแต่กระทบแรงงานข้ามชาติ แต่ยังทำให้เศรษฐกิจชายแดนของกัมพูชาแทบหยุดชะงักไปยาวๆอีกสักพักนึงเลยครับ

2. วิกฤตน้ำมัน – ราคาพุ่งจากการปิดช่องแคบฮอร์มุซ
จากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทำให้ช่องแคบฮอร์มุซถูกปิด ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงแบบฉับพลัน กัมพูชาในฐานะประเทศที่พึ่งพาน้ำมันนำเข้าเกือบทั้งหมดต้องรับผลเต็ม ๆ โดยเฉพาะเมื่อชายแดนไทยที่เคยเป็นเส้นทางลำเลียงพลังงานทางบกกลับมีแนวโน้มจะปิดตามมาตรการสาธารณสุข วิกฤตพลังงานจึงกลายเป็นวิกฤตต้นทุนชีวิตของประชาชน ซึ่งเรื่องนี้เนี่ยมือถือเป็นนโยบายที่ผิดพลาดโดยกัมพูชาโดยตรงเพราะว่าคนที่ออกนโยบายสกัดกั้นน้ำเป็นน้ำมันจากไทยนั้นก็ไม่ออกเลยรัฐบาลกัมพูชาซึ่งเพิ่งประกาศใช้ไปเมื่อวานนี้เอง

3. เสียหน้าในเวทีระหว่างประเทศ – พฤติกรรมทางการทูตสะท้อนความไม่เป็นมืออาชีพ
แม้รัฐบาลกัมพูชาจะพยายามใช้การเปิดคลิปเสียงโจมตีผู้นำไทยเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมือง แต่ผลที่ตามมากลับกลายเป็นภาพลักษณ์ที่ตกต่ำในสายตานานาชาติ การนำข้อมูลลับทางการทูตออกมาเปิดเผยเพื่อหวังผลทางการเมืองภายใน ถือเป็นการทำลายความเชื่อถือของระบบการทูตระหว่างประเทศโดยตรง ประเทศใดที่ไม่เคารพหลักการพื้นฐานของการทูต ย่อมถูกมองว่า “ไม่สามารถไว้วางใจได้”

เรื่องนี้อย่าทำให้เห็นภาพชัดว่าฮุนเซนกำลังเผชิญกับการสูญเสียภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือโดยเฉพาะการทำลายมิตรภาพที่ยาวนานกว่าหลาย 10 ปีเพียงเพื่อการเอาชนะในสรภูมิการเมืองเพียงไม่กี่ก้าวเท่านั้นเอง

บทสรุป
ในขณะที่ประชาคมโลกเผชิญกับความผันผวนจากภูมิรัฐศาสตร์ กัมพูชากลับเผชิญ “ไฟสามด้าน” พร้อมกัน ทั้งโรคระบาด วิกฤตพลังงาน และความเสื่อมศรัทธาทางการทูต

คำถามสำคัญคือ—ผู้นำกัมพูชาจะรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้อย่างไร โดยไม่ยิ่งซ้ำเติมประชาชน และไม่พาประเทศให้ถลำลึกสู่ความโดดเดี่ยวทางการเมืองมากไปกว่านี้?

‘กองทัพบก’ แจงปมนักปั่นเที่ยว ‘ปราสาทตาเมือนธม’ ยันไทยมีอธิปไตยเหนือพื้นที่เข้าชมได้เสรีไม่จำกัดเวลา

(23 มิ.ย. 68) พลตรี วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ได้ชี้แจงเพิ่มเติมถึงกรณีคณะนักปั่นจักรยานชาวไทยเข้าเยี่ยมชมปราสาทตาเมือนธม หลังโฆษกกระทรวงกลาโหมกัมพูชากล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยยืนยันว่า ไทยใช้อำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ปราสาทตาเมือนธมมาโดยตลอด ตามหลักฐานภูมิศาสตร์และการบริหารของราชการไทย

กองทัพบกยังยืนยันว่า ไทยเคารพข้อตกลงและความร่วมมือเสมอมา และพร้อมแก้ไขปัญหาผ่านกลไกหารือร่วมกัน แม้ระยะหลังกัมพูชาจะลดท่าทีความร่วมมือลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังยืนยันว่า ได้แจ้งข้อมูลต่อชุดประสานงานของกัมพูชาล่วงหน้า ก่อนนำคณะนักปั่นเข้าพื้นที่ และการเข้าชมของคนไทยสามารถทำได้โดยเสรี ไม่จำกัดเวลา ซึ่งข้อจำกัดเวลา 09.00-15.00 น. นั้น ใช้กับนักท่องเที่ยวชาวกัมพูชาที่ไทยอนุโลมให้เข้าชมเท่านั้น

โฆษกกองทัพบกย้ำว่า การสื่อสารเป็นไปตามข้อเท็จจริง และกองทัพบกจะปกป้องอธิปไตยไทยอย่างดีที่สุด ภายใต้รัฐธรรมนูญและกลไกรัฐบาล พร้อมยึดหลักสันติวิธี เพื่อรักษาเสถียรภาพและสันติภาพชายแดนร่วมกันอย่างยั่งยืน 

‘แม่ทัพภาค 2’ ลั่น หากกัมพูชาเปิดฉากยิงก่อน พร้อมตอบโต้ จะไม่พูดคุยแม้แต่คำเดียว ยัน เราจะไม่ยิงก่อน ชี้ ไม่มีแผ่นดิน ประเทศชาติอยู่ไม่ได้

เมื่อวันที่ (24 มิ.ย. 68) ที่สโมสรร่วมเริงชัย กองทัพภาคที่ 2 อ.เมือง จ.นครราชสีมา พลโทบุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 เดินทางมารับมอบเครื่องใช้อุปโภคบริโภค ข้าวสาร อาหารแห้ง และผักสด จากกลุ่มองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ชาวจังหวัดนครราชสีมา เพื่อนำไปมอบให้เป็นขวัญกำลังใจให้กับทหารตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งบรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น

พลโทบุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวขอบคุณกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ร่วมกันมอบสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคในครั้งนี้ โดยได้กล่าวว่า ตนได้ไปต้อนรับ ผบ.ทบ. และได้ไปตรวจเยี่ยมกำลังพลที่แนวชายแดน ได้เจอพี่น้องชาวบ้านในพื้นที่มาต้อนรับก็รู้สึกดีใจ และเป็นกำลังใจ ทั้งเด็กเล็ก น้อง ๆ เยาวชน โรงเรียน เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องการ ประเทศชาติแผ่นดินนี้ต้องการ พี่น้องประชาชนมีความเป็นหนึ่งเดียวกันในเวลานี้ เราไม่ได้สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น สนใจแต่ว่าแผ่นดินต้องเป็นของเรา แผ่นดินนี้ต้องไม่สูญไปไหน เราต้องรักษาไว้ให้ลูกหลานของเรา ตนเข้าใจทุกคน ที่มายืนพูดที่นี่ พูดได้ไม่นาน พูดไปมันเหมือนกับน้ำตาจะร่วงอะไรสักอย่างนึง ตนเข้าใจ ที่ตนพูดได้เพราะเป็นเจ้าของพื้นที่ ตนชินกับความรู้สึกนี้แล้ว ชินกับน้ำจิตน้ำใจ ตนอยู่กับประเทศชาติอยู่กับแผ่นดิน ตนจะพูดคำว่าแผ่นดินบ่อยมาก ประเทศชาติยังสู้แผ่นดินไม่ได้ ถ้าไม่มีแผ่นดิน ประเทศชาติก็อยู่ไม่ได้

พล.ท.บุญสิน กล่าวว่า สิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งหมดที่นำมามอบให้ ตนจะนำไปมอบให้น้อง ๆ ทหารแนวหน้าด้วยมือของตนเอง ตนยืนยันทหารที่อยู่กับตนปลอดภัยแน่นอน ถ้ายิงก่อน ตนจะไม่พูดไม่คุยแม้แต่คำเดียว แต่เราก็จะไม่ยิงก่อนเหมือนกัน แต่ถ้ายิงก่อน คุณต้องทำใจ ทุกอย่างเตรียมไว้หมด พร้อมหมดแล้ว ฉะนั้นให้มั่นใจว่า ตนจะพาน้อง ๆ ทหารทุกคนทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด แล้วก็สัญญาว่าแผ่นดินนี้ก็ไม่มีไปไหน อยู่กับพวกเราไปตลอดชั่วลูกชั่วหลาน

‘ฮุน เซน’ นั่งฮ. ลงพื้นที่ชายแดนกัมพูชา ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจหลังไทยยกระดับเข้มเปิด-ปิดด่าน

(26 มิ.ย. 68) ฮุน เซน ลงพื้นที่ชายแดนกัมพูชา ตรวจเยี่ยมกองทัพ หลังไทยยกระดับเข้มเปิด-ปิดด่าน

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน กระทรวงประชาสัมพันธ์กัมพูชา รายงานว่า สมเด็จฯฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา นั่งเฮลิคอปเตอร์ ลงพื้นที่จังหวัดอุดรมีชัย หรือ อุดดอร์เมียนเจ็ย ชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกองทัพและพบปะประชาชน

ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊ก Samdech Hun Sen of Cambodia ของ "สมเด็จฮุน เซน" ซึ่งได้กลับมาเปิดให้คนไทยมองเห็นอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ปิดกั้นไอพีประเทศไทยไว้ ทำให้คนไทยไม่สามารถมองเห็นเนื้อหาและได้เข้าโพสต์ในเฟซบุ๊กดังกล่าวได้

โดย "สมเด็จฮุน เซน" ได้เผยแพร่คลิปเดินทางลงพื้นที่เยี่ยมกองทัพและประชาชนที่จังหวัดชายแดนกัมพูชา-ไทย ซึ่งพบว่ามีคนไทยเข้าไปคอมเมนต์ในโพสต์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

จีนหวังไทย มีเสถียรภาพ หลังศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องสว. พร้อมสั่ง ‘แพทองธาร’ หยุดปฏิบัติหน้าที่

(1 ก.ค. 68) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า จีนออกมาแสดงความหวังว่าไทยจะยังคงมีเสถียรภาพ ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของ 36 สว.พิจารณาให้ความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว และมีมติ 7 ต่อ 2 ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จากปมคลิปเสียงพูดคุยกับสมเด็จฯ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภาของกัมพูชา โดยนางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวในการแถลงข่าวประจำวันที่กรุงปักกิ่งว่า “นี่เป็นกิจการภายในของประเทศไทยและข้าพเจ้าจะไม่ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน เราหวังว่าไทยจะรักษาเสถียรภาพและการพัฒนาไว้ได้”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top