Monday, 29 April 2024
ไทย

'พิมพ์ภัทรา' ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าศูนย์ทดสอบฯ มั่นใจ!! ไทยขึ้นแท่นฮับอาเซียน ด้าน 'ยานยนต์-ชิ้นส่วน'

(16 พ.ย.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center - ATTRIC) จังหวัดฉะเชิงเทรา ว่า รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทย ไปสู่การเป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นเป้าหมายของการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก สามารถดึงดูดนักวิจัย และนักลงทุนจากทั่วโลกสู่ประเทศไทย ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ 

แต่เมื่อมีการเปลี่ยนสมัยมาเป็นรัฐบาลของท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ก็ยังคงมีการสานต่อ พัฒนา และต่อยอด นโยบายได้เป็นอย่างดี โดยท่านนายกเศรษฐาก็ได้มีการกล่าวถึงการพัฒนาศูนย์สอบฯ แห่งนี้ เพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนยางรถยนต์ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความเชื่อมั่นในความสำเร็จของประเทศไทยที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ของอาเซียน ขณะนี้ศูนย์ทดสอบอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และจะพร้อมเปิดให้บริการครบวงจรได้ในปี 2569 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานโลกแห่งแรกในอาเซียน รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการทดสอบด้านมาตรฐานยานยนต์อันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 11 ของโลก สร้างรายได้เข้าประเทศไม่น้อยกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น 

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลักในการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ภายในกรอบวงเงิน 3,705.7 ล้านบาท บนพื้นที่ 1,234.98 ไร่ ณ ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วเสร็จ คิดเป็นร้อยละ 55 ของวงเงินงบประมาณ โดยดำเนินการก่อสร้างสนามทดสอบแล้วเสร็จจำนวน 5 สนาม ได้แก่ 1) สนามทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 และทางวิ่ง 2) สนามทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน จำนวน 4 สนาม ได้แก่ สนามทดสอบระบบเบรกมือ / สนามทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง / สนามทดสอบระบบเบรก และสนามทดสอบพลวัต

ยังเหลือการก่อสร้างอีก 1 สนาม คือ สนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ และการป้องกันดินสไลด์ สู่สนามทดสอบยางล้อ รวมทั้งก่อสร้างทางวิ่งส่วนต่อขยายจากสนามทดสอบยางล้อเพื่อการทดสอบตามมาตรฐาน UN R117 และสถานีสำหรับเตรียมสภาพรถ ตลอดจนจัดซื้อชุดเครื่องมือทดสอบการป้องกันผู้โดยสาร เมื่อเกิดการชนด้านหน้าและด้านข้างของยานยนต์ ทั้งหมดนี้จะดำเนินการในช่วงปีงบประมาณ 2566 - 2568 ซึ่งคาดว่าศูนย์แห่งนี้จะสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมให้บริการอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2569

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการกำหนดมาตรฐานเพื่อรองรับการดำเนินงานศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้กำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบยางล้อ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์แล้ว จำนวน 18 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า สถานีชาร์จรถไฟฟ้า ยางล้อรถมอเตอร์ไซค์ ยางล้อรถยนต์ ยางล้อรถบรรทุก เข็มขัดนิรภัย และกระจกนิรภัย เป็นต้น ภายหลังการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ แล้วเสร็จสมบูรณ์ คาดว่าจะมีรายได้ ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท/ปี ลดระยะเวลาและช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายในการส่งผลิตภัณฑ์ ไปทดสอบที่ต่างประเทศ 30 - 50% สร้างเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่ได้ไม่ต่ำกว่า 148 ล้านบาทต่อปี เพิ่มปริมาณการผลิตและการแปรรูปยางพารา รวมทั้งลดต้นทุนการผลิตยางล้อ ไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อปี รองรับ MRA ของอาเซียนด้านยานยนต์และยางล้อ ตลอดจนยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนและยางล้อ ให้เป็น Super Cluster สู่อุตสาหกรรม 4.0 ดึงดูดการลงทุนในพื้นที่เพิ่มขึ้น เกิดการจ้างงานในชุมชน ประชาชนในพื้นที่ มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็น Landmark แห่งใหม่ของจังหวัดฉะเชิงเทรา สร้างภาพลักษณ์ที่ดี และเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติอีกด้วย นายวันชัยฯ กล่าว

‘สจล.’ เดินหน้าผลักดันเครือข่าย ‘ไทย-เนเธอร์แลนด์’ นำนวัตกรรม ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ หนุนการเกษตร-อาหาร

(30 พ.ย. 66) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับสถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ระดมเครือข่ายนักวิชาการนานาชาติจากมหาวิทยาลัย ชุมชนธุรกิจ สถาบันวิจัยและพัฒนา และหน่วยงานภาครัฐ ผลักดันความร่วมมือในงาน ‘เนเธอร์แลนด์-ไทย : เทคโนโลยีอวกาศ 2023 เพื่อการเกษตรยั่งยืนและระบบอาหารที่มั่นคง’ (The Netherlands – Thailand Space Technology Forum 2023 : Space Technology for Resilient Agriculture and Food System) เพื่อเป้าหมายยกระดับการทำเกษตรและระบบอาหารที่ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว พัฒนาการเกษตรดาวเทียม โดยมี รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. และนายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ฯ ร่วมเป็นประธานเปิดงาน ณ ห้อง The Crystal Box เกษตรทาวเวอร์ ราชประสงค์

รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ระบบการเกษตรและอาหารทั่วโลกอยู่ภายใต้แรงกดดัน เนื่องจากจำนวนประชากรโลกที่กำลังเพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (Climate Change) ความท้าทายของระบบเกษตรกรรมและอาหารของประเทศ ไม่เพียงต้องผลิตอาหารด้วยวิธีที่ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพเท่านั้น แต่จะต้องมุ่งเป้าประกันความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) ได้อย่างเพียงพอสำหรับทุกคนด้วย ‘งานเนเธอร์แลนด์-ไทย: เทคโนโลยีอวกาศ 2023 เพื่อการเกษตรยั่งยืนและระบบอาหารที่มั่นคง’ ตอกย้ำความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างไทย-เนเธอร์แลนด์ ในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์เชิงพื้นที่ ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ (Space Technology) และ ‘เกษตรกรรมดาวเทียม’ (Satellite Agriculture) เพื่อพัฒนาเกษตรกรรมของทั้งสองประเทศ นับเป็นการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ภูมิสารสนเทศ และผู้มีส่วนกำหนดนโยบาย 140 คน ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยโซลูชั่นที่ก้าวล้ำ และกำหนดภูมิทัศน์ใหม่ของ ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ และ ‘เกษตรกรรมที่ชาญฉลาดต่อสภาพภูมิอากาศ’ อาทิ การใช้ข้อมูลและภาพจากดาวเทียมเพื่อการพยากรณ์อากาศ การวิเคราะห์ดิน และการจัดการพืชผลแบบเรียลไทม์ได้ปฏิวัติการเกษตรกรรมสู่ยุคใหม่ เพิ่มขีดความสามารถสร้าง ‘มาตรฐานสากลเกษตรยืดหยุ่นและยั่งยืน’ ในการทำ ‘เกษตรอัจฉริยะ’ ผ่านปัญญาประดิษฐ์ IoT และการวิเคราะห์ข้อมูล โดยสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ SDG2 - ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security), SDG3 - ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ตลอดจน SDG11 – ชุมชนและเมืองที่ยั่งยืน เราจะร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศ ด้วยนวัตกรรมและสร้างแรงบันดาลใจของความร่วมมือไทย - เนเธอร์แลนด์ ในการผลักดันขยายองค์ความรู้และการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นความท้าทายระดับโลก

นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน (Remco van Wijngaarden) เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ‘วิทยาศาสตร์ภูมิสารสนเทศ’ มีความสำคัญมากขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา การวางแผนการเดินทาง พยากรณ์อากาศ และอื่นๆ ข้อมูลเชิงพื้นที่กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหลายภาคส่วน เช่น เกษตรกรรม การวางผังเมือง การจัดการทรัพยากร (ป่าไม้ น้ำ แร่ธาตุ) และเพื่อการออกแบบระบบที่จะลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และภัยพิบัติ อันเป็นความท้าทายของโลกปัจจุบัน เช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้น ภัยแล้ง น้ำท่วม การตัดไม้ทำลายป่า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มลภาวะทางอากาศ ฯลฯ ล้วนเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน และต้นกำเนิดและผลที่ตามมามักจะทับซ้อนกันทางภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ภูมิสารสนเทศช่วยให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยเราในการคิดค้นวิธีแก้ปัญหาและการตัดสินใจที่ดีขึ้นเพื่อสังคมและโลกอีกด้วย การประชุมเทคโนโลยีอวกาศเนเธอร์แลนด์ - ไทย 2023 ครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่การนำ ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ เข้ามามีส่วนในการทำ ‘ระบบการเกษตรและอาหาร’ ที่มีความยืดหยุ่นคล่องตัวและยั่งยืนมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิสารสนเทศจึงมีบทบาทสำคัญในการทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้

ดร. นพดล สุกแสงปัญญา ผู้เชี่ยวชาญ วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สจล. กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการวิเคราะห์และติดตามสังเกตการณ์ ‘ภัยแล้ง’ ในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1. ภัยแล้งเชิงอุตุนิยมวิทยา 2. ภัยแล้งเชิงอุทกภัย 3. ภัยแล้งเชิงเกษตรกรรม เพื่อให้หน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลและภาพไปใช้ในการวางแผนและบริหารจัดการภัยแล้งได้ดียิ่งขึ้น โดยใช้องค์ประกอบต่างๆ อาทิ ระดับปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิของหน้าดิน สภาพอากาศความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์พืช ระบบชลประทาน และความชื้นของดิน เพื่อใช้ในการวางแผนทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ผลักดันเครือข่ายในประเทศไทยและเนเธอร์แลนด์ในการใช้ ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ มาช่วยทางด้าน ‘เกษตรแม่นยำ’ และระบบอาหารที่มั่นคงเพียงพอ หากเกษตรกรสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้จริงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพียงแต่ในปัจจุบันยังขาดการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ใช้ นอกจากนี้ควรออกมาตรการเพื่อความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ เสริมสร้างเกษตรกรที่ไม่ทำลายป่าและไม่ทำการเพาะปลูกมากเกินจนล้นความต้องการของผู้บริโภค

ศาสตราจารย์ ดร. วิคเตอร์ เจตเทน คณะวิทยาศาสตร์สารสนเทศภูมิศาสตร์และการสังเกตการณ์โลก (ITC) มหาวิทยาลัยทเวนเต้ (University of Twente) เนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า การวิเคราะห์ความมั่นคงทางอาหารใน ‘สภาพอากาศสุดขั้ว’ (Extreme Climatic Conditions) ด้วยเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล หรือ Remote Sensing จากดาวเทียม สามารถช่วยระบุปริมาณผลิตผลที่ชัดเจน ปัญหาการผลิตในเวลาและสถานที่ได้อย่างแน่นอน เราสามารถระบุพื้นที่มีปัญหาเพื่อวางแผนรับมือกับจุดอ่อนได้ทันท่วงทีและแม่นยำ ทั้งนี้เราต้องเข้าใจความซับซ้อนของระบบการเกษตร ความยืดหยุ่น ความเป็นจริงและข้อจำกัดของเกษตรกร จึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

งานครั้งนี้ ประกอบด้วยความร่วมมือของ 11 องค์กร ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL), คณะวิทยาศาสตร์สารสนเทศภูมิศาสตร์และการสังเกตการณ์โลก (ITC) มหาวิทยาลัย Twente, สำนักงานภูมิภาค FAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก, สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ประเทศไทย (GISTDA), กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมป่าไม้ ประเทศไทย, ศูนย์ภูมิสารสนเทศสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT), คาดาสเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เนเธอร์แลนด์, ปีเตอร์สัน เทคโนโลยี เนเธอร์แลนด์ และชมรมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ - สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

'แบงก์ชาติ' เปิดให้บริการชำระเงินข้ามพรมแดน 'ไทย-ฮ่องกง' ผ่าน QR เอื้อประโยชน์ผู้ที่เดินทางระหว่าง 2 ประเทศกว่า 1.5 ล้านคนต่อปี

(4 ธ.ค.66) ธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority: HKMA) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดตัวการให้บริการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่าน QR ระหว่างฮ่องกงและประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่เดินทางระหว่างฮ่องกงและประเทศไทยได้รับบริการชำระเงินที่รวดเร็ว ปลอดภัย และเข้าถึงได้ง่าย

บริการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่าน QR ดังกล่าว จะทำให้ผู้ที่เดินทางระหว่างฮ่องกงและประเทศไทยสามารถทำรายการชำระเงินกับร้านค้าได้โดยง่าย โดยผู้ใช้บริการที่มาจากฮ่องกงสามารถใช้แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือสแกน QR มาตรฐานของไทย (Thai QR code) และผู้ใช้บริการที่มาจากไทยสามารถใช้แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือสแกน QR ของฮ่องกง (Hong Kong FPS QR code) ที่ร้านค้าได้แสดงไว้ ทำให้ผู้ใช้บริการมีช่องทางชำระเงินที่สะดวกและมีประสิทธิภาพ ขณะที่ร้านค้าจะได้รับเงินค่าสินค้าในทันที ทั้งยังเป็นการสนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของฮ่องกงและประเทศไทยด้วย

นาย Eddie Yue ผู้ว่าการธนาคารกลางฮ่องกง กล่าวว่า ธนาคารกลางฮ่องกงมีความยินดีอย่างยิ่งต่อความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายในการพัฒนาช่องทางการชำระเงินข้ามพรมแดนรายย่อย ที่สะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ โดยการเปิดตัวบริการในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของระบบ Fast Payment System ในการขยายบริการชำระเงินข้ามพรมแดนในภูมิภาค

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ความร่วมมือกับฮ่องกงในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาด้านดิจิทัลของไทย และสะท้อนความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างการชำระเงินข้ามพรมแดนในภูมิภาค ให้มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เดินทางระหว่างฮ่องกงและไทยจำนวนประมาณ 1.5 ล้านคนต่อปี และต่อร้านค้าที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม

โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งการผลักดันจากธนาคารกลาง คือ HKMA และ ธปท. ผู้ให้บริการระบบการชำระเงิน ได้แก่ Hong Kong Interbank Clearing Limited (HKICL) และ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ (NITMX) ผู้ให้บริการชำระดุลระหว่างประเทศ ได้แก่ HSBC Hong Kong และธนาคารกรุงเทพ รวมทั้งผู้ให้บริการชำระเงินหลายรายที่เข้าร่วมให้บริการแอปพลิเคชัน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ 7 แห่ง และ Non-bank 2 แห่งของฮ่องกง และธนาคารพาณิชย์ 3 แห่งของไทย และอีกหลายแห่งของทั้งสองฝ่ายที่ร่วมให้บริการ QR แก่ร้านค้า โดยมีรายชื่อตามเอกสารแนบ

ธนาคารกลางทั้ง 2 แห่งเชื่อว่าการเชื่อมโยงการชำระเงินข้ามพรมแดนครั้งนี้ ให้ทางเลือกการชำระเงินที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม และจะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางการเงินในภูมิภาคมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

‘ญี่ปุ่น’ ซึ้ง!! ขอบคุณ ‘ไทย’ ช่วยกอบกู้ ‘ธุรกิจใกล้ตาย’ ให้พ้นจากวิกฤติ หลังยอดสั่งสินค้าจากไทยพุ่ง ด้านคนญี่ปุ่นแห่คอมเมนต์ขอบคุณเพียบ!!

เมื่อไม่นานนี้ สำนักข่าวเอเอ็นเอ็นของญี่ปุ่น ได้มีการเผยแพร่สกู๊ปข่าวเกี่ยวกับ ‘ประเทศไทย’ ที่ได้มีส่วนช่วยกอบกู้ธุรกิจเก่าแก่ที่กำลังใกล้ตายในประเทศญี่ปุ่น ให้พลิกฟื้นจากสภาวะวิกฤติ จนสามารถกลับมารุ่งเรืองขึ้นได้อีกครั้ง โดยทางสำนักข่าวเอเอ็นเอ็น ระบุว่า…

กระแสญี่ปุ่นฟีเวอร์ในไทย ซึ่งมีมานานแล้ว และยังคงบูมอยู่จนถึงทุกวันนี้ กำลังมีส่วนช่วยเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างที่เราไม่เคยคาดคิด นักข่าวของเอเอ็นเอ็นถึงกับบินมาถ่ายทำสกู๊ปนี้ที่เจปาร์ค ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และที่ฮาราจุกุไทยแลนด์ในกรุงเทพฯ ซึ่งตกแต่งสถานที่เหมือนกับอยู่ญี่ปุ่นไม่มีผิด และที่สำคัญคือ มีการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ที่ก้าวกระโดดขึ้นมา เพราะวิกฤติโควิด-19 ทำให้คนไทยไปเที่ยวที่ญี่ปุ่นไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ‘มันหวานญี่ปุ่น’ ที่เมื่อปี 2022 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปี 2020 เกือบ 2 เท่า จาก 1,000 ตัน เพิ่มเป็นเกือบ 2,000 ตัน หลังจากที่ก่อนหน้าช่วงโควิด-19 เพิ่มขึ้นแค่หลัก 10 ต่อปี

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ ตัวเลขนำสินค้าประเภท ‘ชาเขียว’ รวมถึง ‘มัทฉะ’ ที่คนไทยนิยมดื่มกัน ซึ่งเมื่อปี 2022 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปี 2020 ถึง 37.6% จาก 436 ล้านเยน เป็น 638 ล้านเยน

และสินค้าตัวสุดท้าย ที่เจ้าของธุรกิจถึงกับบอกว่า “คนไทยช่วยพวกเขาจาก ‘ภาวะใกล้ตาย’ จริงๆ” คือ สินค้าจำพวก ‘เครื่องเคลือบ’ เจ้าของธุรกิจเครื่องเคลือบในญี่ปุ่นบอกว่า ที่ญี่ปุ่น ธุรกิจเครื่องเคลือบ มีการแข่งขันตัดราคากันหนักมาก จนโรงงานที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กๆ ทำแบบเน้นคุณภาพ แทบจะอยู่กันไม่ได้แล้ว แต่ยอดออเดอร์จากไทยเมื่อไม่กี่ปีมานี้ จากบรรดาร้านอาหารญี่ปุ่นระดับพรีเมียม หรือร้านซูชิโอมากาเสะ ทำให้ภาชนะระดับพรีเมียมของพวกเขา ยังสามารถขายออกได้ (อ้างอิงจากเพจ WA Japan) โดยแค่ยอดขายจากไทยประเทศเดียว ก็ขายได้มากถึง 70 ล้านเยน หรือเกือบ 18 ล้านบาทแล้ว ทำให้จากที่เคยจะต้องปลดพนักงานเหลือแค่ 1 ใน 4 แต่ตอนนี้มีออเดอร์เข้ามาจากประเทศไทยมากจนแทบจะทำกันไม่ทันแล้ว แถมคนไทยยังสนใจพวกเครื่องเคลือบลายพิเศษ ลายใหม่ๆ ลายแบบลิมิเต็ด ทำให้พวกเขากลับมามีไฟในการสร้างสรรค์ผลงานอีกครั้ง

เมื่อมาลองส่องคอมเมนต์ของคลิปสกู๊ปข่าวของสำนักข่าวเอเอ็นเอ็นในยูทูบ ก็ยิ่งทำให้ใจฟูมากขึ้นไปอีก เพราะมีคนญี่ปุ่นมาคอมเมนต์ขอบคุณคนไทยกันเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างท็อปคอมเมนต์ของชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งที่บอกว่า “ฉันดีใจมากที่มีประเทศที่รักญี่ปุ่นมากขนาดนี้”

ส่วนคอมเมนต์ที่ 2 บอกว่า “ฉันรู้สึกประทับใจที่สถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ ไม่ใช่ฝีมือคนญี่ปุ่น แต่เป็นคนไทยทำขึ้นเอง”

อีกคอมเมนต์หนึ่งบอกว่า “มันเจ๋งมากที่คนไทยทำธุรกิจเหล่านี้ ด้วยความเคารพต่อวัฒนธรรมและประเพณีของเราจริงๆ ไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ”

ส่วนคอมเมนต์สุดท้ายบอกว่า “ฉันขอไปเที่ยวประเทศที่รักเราแบบนี้ดีกว่าไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้าน แล้วเจอกันนะคนไทย”

นับว่าเป็นข่าวที่น่าชื่นใจจริงๆ ที่ได้รู้ว่านอกจากประเทศไทยของเรานั้น จะได้ประโยชน์จากการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นแล้ว ฝ่ายไทยเองก็มีส่วนช่วยธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นเหมือนกัน และที่สำคัญคือ มีสื่อที่มองเห็นแง่มุมนี้ และเผยแพร่ออกไปให้คนญี่ปุ่นได้รับรู้ จนทำให้พวกเขารู้สึกขอบคุณ และมองเห็นคุณค่าในประเทศไทยของเรา

‘จีน’ รับอานิสงส์ ‘ไทย’ สั่งซื้อ ‘แอปเปิลเวยไห่’ กว่าพันตัน หลังศุลกากรเปิดช่องพิเศษ ลดปัญหาผลิตภัณฑ์เน่าเสียง่าย

เมื่อวานนี้ (11 ธ.ค.66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การส่งออกสินค้าเกษตรของเมืองเวยไห่ มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2023 มีมูลค่า 1.22 หมื่นล้านหยวน (ราว 6.03 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยในจำนวนนี้เป็นการส่งออกแอปเปิลไปยังตลาดทั่วโลกทั้งสิ้น 14,000 ตัน

ชุยชิงซาน ผู้จัดการทั่วไปของหรู่ซาน พริ้นเซส ฟรุต แอนด์ เวจตา จำกัด (Rushan Princess Fruit and Vegetable Co., Ltd) บริษัทผู้ส่งออกแอปเปิลในเมืองเวยไห่กล่าวว่า แอปเปิลเวยไห่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นจากตลาดประเทศต่างๆ ในกลุ่มประเทศสมาชิกของแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) รวมถึงไทย เวียดนาม เนปาล และศรีลังกา

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรสดที่เน่าเสียง่าย คุณภาพของแอปเปิลจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการขนส่งเป็นอย่างมาก

เพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นเฉพาะตัวของธุรกิจแอปเปิล และเพื่อการดำเนินพิธีการทางศุลกากรอย่างมีประสิทธิภาพ ศุลกากรเวยไห่จึงเปิดช่องทางพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่เน่าเสียง่าย โดยกำหนดช่องทางบริการเฉพาะเพื่อให้บริการต่างๆ อาทิ การนัดหมายเพื่อตรวจสอบ โดยระยะเวลาพิธีการทางศุลกากรโดยเฉลี่ยสำหรับแอปเปิลนั้นจะใช้เวลาสั้นลงราวร้อยละ 60

ชุยกล่าวว่ามาตรการเหล่านี้ของศุลกากรเวยไห่ส่งผลให้คำสั่งซื้อในต่างประเทศของบริษัทฯ เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมเสริมว่าในช่วงสามไตรมาสแรกของปีนี้ ยอดส่งออกแอปเปิลของบริษัทฯ ไปยังประเทศไทยเพียงแห่งเดียวสูงถึง 1,400 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบเป็นรายปี และเพื่อรับมือกับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น บริษัทฯ ยังได้ใช้อุปกรณ์คัดแยกอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งด้วย

หยางหลงเชา หัวหน้าแผนกตรวจสอบของศุลกากรเวยไห่กล่าวว่า ปัจจุบัน มีสินค้าจำนวน 2,540 กลุ่มที่ได้รับบริการจากช่องทางพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ซึ่งช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรอันเป็นเอกลักษณ์ของเวยไห่ได้อย่างมาก

'อินฟลูฯ ลาว' เคลียร์ประโยค "เวียงจันทน์ก็แค่ปากซอย" ให้คนลาวรู้ ที่แท้ 'คนไทย' เชิญชวนให้ไปเที่ยว มิใช่การเหยียดตามการตีความผิดๆ

หลังจากกรณีดรามา 'ไทย-ลาว' เกี่ยวกับประเด็นคำพูดของผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ 'พระราม เดินดง' ที่ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพประตูชัย ว่า... "เวียงจันทน์ก็แค่ปากซอย" ลงกลุ่ม 'เที่ยวลาว ด้วยตัวเอง' จนเกิดเป็นกระแสดรามาในหมู่คนลาวขึ้นมาทันที เพราะชาวลาวบางกลุ่มตีความว่า เป็นคำพูดดูถูกประเทศลาว ไม่เจริญ มีความเจริญน้อยเหมือนแค่ปากซอยหน้าบ้าน ไม่ได้เข้าไปในตัวเมือง"

ล่าสุด (13 ธ.ค. 66) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'ເຮົາຄົນລາວ ຮັກແພງກັນເດີ່' ได้ออกมาแจงแก่พี่น้องชาวลาวที่เข้าใจผิดกับประโยคดังกล่าว ว่า...

"ปากซอยหมายความว่า ใกล้ ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบเชิงอุปมาอุปมัย และเจตนาของคนไทยที่กล่าวประโยคนี้ คือ การเชิญชวนไปเที่ยวลาว ซึ่งอยู่ใกล้ไทยแค่นี้ สามารถไปเที่ยวเมื่อไรก็ได้ สามารถไปเที่ยวเวียงจันทน์ได้ง่าย ๆ มิใช่การต่อว่าหรือดูถูกประเทศลาวแต่อย่างใด"

'โบราณวัตถุ' 2 ชิ้น ที่พิพิธภัณฑ์นิวยอร์ก จ่อคืน ‘ไทย’ พบอายุเก่าแก่กว่า 1,000 ปี หลังถูกโจรกรรมมาผิดกม.

(20 ธ.ค.66) หลังจากที่สำนักงานอัยการในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The Met) ในนครนิวยอร์ก แถลงการณ์ว่า กำลังเตรียมการส่งโบราณวัตถุ 16 ชิ้น คืนให้กัมพูชาและไทย หลังจากที่ตรวจพบว่าโบราณวัตถุชุดนี้ถูกโจรกรรมมาอย่างผิดกฎหมาย 

โดยโบราณวัตถุ 2 ชิ้นกลับคืนสู่ประเทศไทย ซึ่ง 2 ชิ้นนี้มีความสำคัญ ซึ่งโบราณวัตถุชิ้นแรก เป็นประติมากรรมพระศิวะ ที่หล่อด้วยสำริดและกะไหล่ทอง ความสูง 129 เซนติเมตร มีอายุเก่าแก่ประมาณ 900-1,000 ปี

ส่วนโบราณวัตถุชิ้นที่สอง เป็นประติมากรรมรูปผู้หญิง คาดเป็นราชินีเขมร เนื่องจากสวมใส่เสื้อผ้าของชนชั้นสูง หล่อด้วยสำริด และมีร่องรอยการประดับด้วยโลหะเงินและทอง อยู่ในท่านั่งชันเข่า ยกมือไหว้เหนือศีรษะ คล้ายกำลังบูชาเทพเจ้า ความสูง 43 เซนติเมตร และมีอายุเก่าแก่ประมาณ 1,000 ปี เช่นกัน

พบว่าวัตถุโบราณทั้งสองชิ้นมีความเกี่ยวข้องกับดักลาส แลตช์ฟอร์ด ที่ถูกตั้งข้อหาค้าโบราณวัตถุอย่างผิดกฎหมาย โบราณวัตถุทั้งสองชิ้นได้ถูกซื้อขายอย่างผิดกฎหมาย ผ่านการปลอมแปลงแหล่งที่มาที่เป็นเท็จเคยผ่านการซื้อขายหลายครั้ง ก่อนที่จะถูกบริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน ขณะนี้พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันได้ถอดโบราณวัตถุทั้งสองชิ้นออกจากทะเบียนสมบัติของพิพิธภัณฑ์และประสานงานกับสถานกงสุลใหญ่ไทยเพื่อเตรียมส่งคืนแล้ว 

‘แม่ณุน’ หนังผีตำนานกัมพูชา เตรียมลงโรงฉายไทยปีหน้า พล็อต ‘ยืดแขน-ห้อยหัว-รอคนรัก’ ทำคนไทยแอบเอ๊ะสุดๆ

(20 ธ.ค.66) เรียกเสียงฮือฮาจากโลกโซเชียลเป็นอย่างมาก เมื่อทาง Major Group ออกมาโพสต์โปรโมทภาพยนตร์ใหม่จากประเทศกัมพูชา เรื่อง ‘แม่ณุน’ ตำนานสุดสยองขวัญที่สร้างปรากฏการณ์เป็นภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดตลอดกาลมาแล้วทั่วประเทศในกัมพูชา พร้อมเข้าฉาย 29 กุมภาพันธ์ 2024

โดยภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นตำนานสยองขวัญที่เล่าขานนับร้อยปีของประเทศกัมพูชา เกี่ยวกับหญิงสาวคนหนึ่งที่คนรักของเธอต้องไปทำภารกิจต่างแดนขณะที่เธอตั้งท้อง

เธอเฝ้ารอคอยคนรักด้วยความหวัง ทว่าก็เกิดเรื่องเลวร้ายขึ้น เพราะเธอสิ้นใจขณะคลอดลูก กลายเป็นผีตายทั้งกลม หลอนทั้งหมู่บ้าน สามารถยืดแขนยาว และห้อยหัวลงมาจากหลังคาได้

เมื่อตัวอย่างภาพยนตร์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ก็กลายเป็นไวรัลในโลกโซเชียลทันที ชาวเน็ตไทยแห่เข้ามาแสดงความคิดเห็นกันสนั่น ทั้งยังมีการเปรียบเทียบหนังเขมร ‘แม่ณุน’ กับหนังไทยที่กลายเป็นตำนานตลอดกาลอย่าง ‘แม่นาก พระโขนง’

โดยชาวเน็ตไทยตั้งข้อสังเกตว่า ตัวพล็อตเรื่องของหนังมีความคล้ายกัน ทั้งช่วงเวลาเป็นแนวย้อนยุค โบราณ ใช้ชีวิตริมคลอง พระเอกและนางเอก กำลังจะมีลูกด้วยกัน แต่ก็ต้องแยกจากกันเนื่องจากฝ่ายชายต้องห่างไกลบ้าน

จากนั้นฝ่ายหญิงก็คลอดลูกไม่สำเร็จ จนทำให้เสียชีวิต กลายเป็นผีตายทั้งกลม ที่เฝ้ารอการกลับมาของคนรัก อีกทั้งเมื่อกลายเป็นผี ก็สามารถยืดแขนได้อีก ซึ่งเป็นภาพจำของ ‘ผีแม่นาก’ ที่คนไทยคุ้นเคยกันกับฉากเก็บมะนาว

กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ความคิดเห็นจากโลกโซเชียล อาทิ

- เพื่อนแม่นากรึป่าว
- พล็อตใหม่ล้ำ ๆ ไม่ซ้ำใคร
- แม่นากมิติใหม่
- นี่คือตำนานจริง ๆ ใช่ไหม
- ชื่อคล้าย ๆ กันนะ 5555555

อย่างไรก็ดี อย่าเพิ่งตัดสินจากตัวอย่างหนังเพียงอย่างเดียว สำหรับใครที่อยากพิสูจน์ว่าตำนานรักข้ามมิติของ ประเทศกัมพูชา และ ประเทศไทย จะมีความเหมือนหรือความต่างอย่างไร คงต้องไปพิสูจน์เองในโรงภาพยนตร์

ปิดดีล 'FTA ไทย–ศรีลังกา' เตรียมลงนามเดือน ก.พ.67 มั่นใจ!! 'ทรัพยากรสมบูรณ์-ขนส่งทางเรือแกร่ง' เอื้อประโยชน์ไทย

(28 ธ.ค. 66) น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมเจรจา FTA ไทย-ศรีลังกา รอบที่ 9 ระหว่างวันที่ 18-20 ธ.ค.66 ที่ผ่านมา ณ กรุงโคลัมโบ โดยมีนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะที่ปรึกษาหัวหน้าคณะเจรจา FTA นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ว่า ที่ประชุมสามารถสรุปผลการเจรจา FTA ไทย-ศรีลังกา ได้ตามเป้าหมาย โดยครอบคลุมการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และหลังจากนี้ แต่ละฝ่ายจะดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อนำไปสู่การลงนามความตกลงฯ ต่อไป

ทั้งนี้ ในส่วนของไทย กระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอผลการเจรจาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบให้มีการลงนามความตกลงฯ ในช่วงการเดินทางเยือนศรีลังกาอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ตามคำเชิญของประธานาธิบดีศรีลังกาในช่วงต้นเดือน ก.พ.2567

“การสรุปผลการเจรจาครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จของกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากเป็นหนึ่งในนโยบาย Quick Win ที่ต้องทำให้สำเร็จภายใน 99 วันเเรกของรัฐบาล โดยเป็น FTA ฉบับแรกของรัฐบาลชุดนี้ และนับเป็น FTA ฉบับที่ 15 ของไทย”น.ส.โชติมากล่าว

น.ส.โชติมา กล่าวว่า แม้ศรีลังกาจะเป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรเพียง 22 ล้านคน แต่มีจุดเด่นด้านที่ตั้ง ซึ่งเป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย โดยเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการขนส่งทางเรือ และมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เช่น แร่รัตนชาติ แร่แกรไฟต์ และสัตว์ทะเล โดยสินค้าไทยที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ ได้แก่ ยานยนต์  สิ่งทอ อัญมณี โลหะ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์เหล็ก กระดาษ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง อาหารสัตว์ เมล็ดข้าวโพด ภาคบริการที่ได้รับประโยชน์ เช่น การเงิน ประกันภัย คอมพิวเตอร์ ก่อสร้าง ท่องเที่ยว และวิจัยและพัฒนา และด้านการลงทุนที่ได้รับประโยชน์ ได้แก่ สาขาการผลิตอาหารแปรรูป การผลิตรถยนต์และส่วนประกอบ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ แบตเตอรี่ และอุปกรณ์การแพทย์

ในช่วง 10 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ต.ค.) การค้าระหว่างไทยและศรีลังกา มีมูลค่า 320.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปศรีลังกา มูลค่า 213.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากศรีลังกา มูลค่า 106.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ยางพารา ผ้าผืน อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และเคมีภัณฑ์

โฆษก ก.ต่างประเทศจีน ชี้!! ฟรีวีซ่าให้คนไทยยังอยู่ในขั้นหารือ คาด!! ยืนยันผลเร็วสุดไม่เกินสิ้นเดือนนี้หรือก่อนตรุษจีน 10 ก.พ.

(3 ม.ค. 67) เพจลุยจีน ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับกรณีจีนฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวไทย โดยระบุว่า…

#โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนยืนยันฟรีวีซ่าให้คนไทยยังอยู่ในขั้นหารือ😅😅😅

อ้าวววว ยังไม่คอนเฟิร์ม 100% นะครับว่าจะฟรีวีซ่าให้ นทท.ไทยที่ไปจีน 1 มี.ค. 67 นี้มั้ยตามที่ท่านนายกไทยให้ข่าวกับหลาย ๆ สำนักข่าววันนี้

หลังมีข่าวเป็นกระแสใหญ่โตช่วงเที่ยงวันนี้เรื่อง ไทย-จีนต่อไปนี้จะฟรีวีซ่าถาวรจากนายกเศรษฐา ข่าวดังกล่าวก็ได้รับความสนใจอย่างมากจากทั้งชาวไทยและชาวจีน โดยเฉพาะที่จีนแฮชแทก #中泰永久相互免签 #จีนไทยต่อไปนี้จะฟรีวีซ่าถาวร ก็ขึ้นติด Top 5 ในโซเชียลจีนอย่างรวดเร็ว

ล่าสุดช่วงบ่ายทางนักข่าวจีนก็ไปยืนยันกับทางกระทรวงต่างประเทศของจีน ซึ่งทางโฆษก กต.จีน วังเหวินปิน 汪文斌 ก็ได้ให้ข่าวว่า "เบื้องต้น หัวหน้าคณะทำงานทั้งสองฝ่าย (ไทย, จีน) กำลังอยู่ในขั้นตอนการพูดคุยอย่างใกล้ชิด ซึ่งเราก็หวังว่านโยบายดังกล่าวจะประกาศใช้โดยเร็ว" 目前,相关主管部门正就具体事宜密切沟通,我们期待有关安排早日落地生效。

ซึ่งจากที่โฆษก กต.จีนแถลงมานี้ สรุปว่า
1. มีการหารือกันเรื่องฟรีวีซ่าไทย-จีนจริง แต่ยังไม่ฟันธงว่าจะเริ่ม 1 มี.ค. นี้มั้ย

2. ยังมีพวกรายละเอียดหลายอย่างถ้ามีการฟรีวีซ่าเกิดขึ้นต้องหารือ แน่นอนว่าเรื่องปัญหาและแนวทางแก้ไขต่าง ๆ ทางจีนคงต้องค่อนข้างระวังไว้ด้วย รวมถึงท่าทีจากมวลชนชาวจีนอันนี้ก็สำคัญ

3. นายกไทยก็ปากไวมาสปอยล์นักข่าวก่อน โดยไม่บอกว่า ‘กำลังหารือ’ กันอยู่

ซึ่งใด ๆ ยังไงคงต้องรอทางฝ่ายจีนออกมาประกาศชัดเจนเช่นกันว่าจะฟรีวีซ่าให้ นทท.ไทยจริง ๆ เมื่อไหร่ ซึ่งส่วนตัวแอดคิดว่าคงประกาศให้ฟรีวีซ่าพร้อมกับอีกหลาย ๆ ประเทศ เหมือนรอบแรก 6 ประเทศที่เค้าประกาศไปซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศแถบยุโรป + มาเลฯ คาดว่าของไทยน่าจะเป็นกลุ่มประเทศล็อตที่ 2 ที่เค้าจะฟรีวีซ่าให้ 

คาดว่าเร็วที่สุดน่าจะคอนเฟิร์มภายในไม่เกินสิ้นเดือนนี้หรือก่อนตรุษจีน 10 กพ. นิดนึงนะ แบบดันยอด นทท. หลังตรุษจีนให้เข้าประเทศเค้าด้วย 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top