Monday, 29 April 2024
ไทย

‘หวังอี้’ เผย 'จีน' เล็งขยายความร่วมมือกับ 'ไทย' หลายด้าน เชื่อเสถียรภาพไทย แม้สถานการณ์ภายในจะมีการเปลี่ยนแปลง

(20 ส.ค. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันเสาร์ (19 ส.ค.66) หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้พบปะกับดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ซึ่งเดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน

หวัง ซึ่งเป็นกรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวว่าการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ระหว่างประเทศหรือสถานการณ์ภายในประเทศของไทย พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่าไทยจะยังคงมีเสถียรภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน

จีนพร้อมส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ กับไทยให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น สนับสนุนการเร่งสร้างทางรถไฟจีน-ไทย และเส้นทางเชื่อมทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย และร่วมพยายามปราบปรามกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งรวมถึงการฉ้อโกงทางโทรคมนาคม

นอกจากนั้น หวัง กล่าวถึงความพร้อมของจีนที่จะสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน สนับสนุนความเป็นกลางของอาเซียน และสนับสนุนความพยายามร่วมกันสร้างศูนย์กลางการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันจีนพร้อมทำงานร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อเร่งการปรึกษาหารือเกี่ยวกับประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ พยายามกำหนดกฎเกณฑ์ระดับภูมิภาคอันมีประสิทธิภาพและแก่นสารตั้งแต่ระยะแรก และสร้างทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ มิตรภาพ และความร่วมมือ

หวัง ชี้ว่ากลุ่มประเทศในภูมิภาคควรป้องกันกองกำลังนอกภูมิภาคมายั่วยุการเผชิญหน้าแบบแบ่งพรรคแบ่งพวกและกระตุ้นความคิดเกี่ยวกับสงครามเย็น ซึ่งจะบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพอันได้มาอย่างยากยิ่ง

ด้าน นายดอน กล่าวว่า ไทยยินดีเสริมสร้างการเสวนาหารือและการแลกเปลี่ยนกับจีน ส่งเสริมความร่วมมืออันเป็นประโยชน์ซึ่งกันและกันในด้านต่างๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และสนับสนุนการเชื่อมต่อทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย และทำงานเพื่อการพัฒนาร่วมกัน ภายใต้สถานการณ์ระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นและความไม่แน่นอนในภูมิภาคในปัจจุบัน

รู้จัก 'จามาล ไรซานี' ลูกครึ่งไทย-ปากีสถาน ศิษย์เก่าแม่ฟ้าหลวง นั่งรักษาการเก้าอี้ รมต.ด้วยอายุน้อยที่สุดในปากีสถาน

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เพจเฟซบุ๊ก มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้โพสต์ร่วมแสดงความยินดี พร้อมติด #MFUPride กับนายนาวับซาดา จามาล ไรซานี (Nawabzada Jamal Raisani) นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาการพัฒนาระหว่างประเทศ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ในโอกาสได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬา เยาวชน และวัฒนธรรม แห่งรัฐโบโลจิสถาน สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน โดยถือว่าเป็นรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดเพียง 25 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ นาวับซาดา จามาล ไรซานี หรือจามาล มีเชื้อสายปากีสถานและไทย พ่อเป็นอดีตนักการเมืองชื่อดังของปากีสถาน แม่เป็นชาวไทย โดยได้เข้ามาศึกษาในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย รวมทั้งเคยอยู่ในอะคาเดมี่ทีม เชียงราย ยูไนเต็ด และเป็นนักฟุตบอลทีมเชียงรายล้านนา

‘คนกัมพูชา’ เซ็ง!! ทำไมค่ายรถยักษ์ใหญ่ไหลไป ‘ไทย’ แค่ ‘ดึงดูดดี-มีพันธมิตรมาก-ยึดผลประโยชน์ชาติเป็นที่ตั้ง’

เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 66 รายการ ‘ส่องโลกคอมเมนต์’ ตอน ไทยดียังไง? ทำไมค่ายรถยนต์ไม่มาลงทุนที่กัมพูชา? ได้ข้อสังเกตเกี่ยวกับสาเหตุที่ว่า เพราะเหตุใด ‘ไทย’ ถึงเป็นประเทศที่มีแรงดึงดูดกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ให้แห่กันมาลงทุนด้านอุตสาหกรรม EV มากกว่าประเทศอื่นรอบข้าง และเพราะเหตุใด แบรนด์ EV ดังหลายเจ้า อาทิ MG, BYD, Great Wall Motor, Changan Automobile หรือแม้แต่ GAC AION ยังย้ายโรงงานออกมานอกประเทศเป็นครั้งแรก โดยเลือก ‘ไทย’ เป็นที่ตั้งฐานการผลิตใหญ่ที่แรกในโลก

อีกทั้ง ล่าสุด KIA Motors แบรนด์รถยนต์เจ้าใหญ่ของเกาหลีใต้ และ BMW ค่ายรถยักษ์ใหญ่ชื่อดังระดับโลกจากเยอรมนี ก็เพิ่งตัดสินใจมาตั้งฐานการผลิตใหญ่ในไทยอีกด้วย

ด้วยประการทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้เอง ที่สร้างความฉงนใจให้แก่ประเทศกัมพูชาไม่น้อย จนทำให้รายการดังรายการนึงของกัมพูชาต้องออกมาทำการวิเคราะห์อย่างจริงจัง ถึงข้อได้เปรียบและศักยภาพในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติของประเทศไทย โดยระบุไว้ดังนี้…

เหตุเพราะแบรนด์ EV สัญชาติญี่ปุ่น ที่มีโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทยอยู่แล้ว ยังมีแนวโน้ม ‘สงวนท่าที’ ในปริมาณกำลังการผลิต EV ในไทย จึงทำให้ค่ายรถยนต์จีนต่างสบโอกาส แห่มาลงทุนในไทยกันอย่างเต็มที่ และนั่นก็ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ทั้งในแง่การอำนวยความสะดวกต่อค่ายรถยนต์ ตลอดจนสิทธิพิเศษในเรื่องของภาษี เช่น งดเว้นการเก็บภาษีรถยนต์ และภาษีแบตเตอรี่ในช่วงแรก

อีกทั้งรัฐบาลไทย ยังมีมาตรการสนับสนุนให้คนไทยหันมาใช้รถ EV โดยมีส่วนลดภาษีจูงใจกว่าคันละ 150,000 บาท จนทำให้ประเทศไทยมียอดขายรถไฟฟ้าสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

ในขณะที่ประเทศกัมพูชา ถูกสหภาพยุโรป หรือ ‘EU’ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษี หรือ ‘GSP’ สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของประเทศมากกว่า 80% เนื่องจากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและแรงงาน รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบของการเมืองในกัมพูชา จนเป็นส่วนนึงที่ทำให้ EU ยกเลิก GSP ซ้ำร้ายกว่านั้น GSP ระหว่างกัมพูชากับสหรัฐฯ ก็กำลังจะหมดอายุลง ทำให้กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเกิดการชะลอตัวในการมาตั้งฐานการผลิตในกัมพูชากันหมด

นอกจากนี้ ก็มีชาวเน็ตกัมพูชา มาร่วมแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก อาทิ...

- รัฐบาลไทย รู้วิธีดึงดูดและต่อรอง เพื่อประโยชน์ของชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวและพรรค

- ประเทศไทย มีแนวโน้มหันเหไปทางฝั่งตะวันตก เหมือนกับเวียดนาม คบกับประเทศร่ำรวย ที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป ส่วนนโยบายกับจีน ไทยจะให้ความสำคัญกับชาติตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก นักการเมืองไทยไม่รับสินบนจากจีนเทา จีนจะค้าขายอะไรต้องได้รับอนุมัติจากทางการไทยก่อน

- เพราะประเทศไทยมีข้อได้เปรียบ 3 ประเด็น ดังนี้ 1.) มีการทุจริตน้อย 2.) มีทรัพยากรบุคคลจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการศึกษาดีและมีทักษะสูง และ 3.) สถานการณ์การเมืองอยู่ในเกณฑ์ดี

- ประเทศไทยฉลาดมากและไม่เคยมีสงคราม ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีการพัฒนาทั้งด้านภูมิศาสตร์และประชากร

- ในประเทศไทย มีทรัพยากรคนที่มีทักษะ มีความคิดสร้างสรรค์ และมีศักยภาพ สอดคล้องกับวิชาชีพ ไม่ได้มีแต่แรงงานไร้ฝีมือ ประเทศไทยให้ความสำคัญ กับบุคคลที่มีความสามารถ ไม่ใช่การเลียนาย

- ไทยคอร์รัปชันน้อยกัมพูชา จริงจังกับกฎหมาย ไทยฉลาดที่อยู่ตรงกลาง ไทยไม่เสียเปรียบทั้งกับจีนและสหรัฐฯ ไม่เหมือนกัมพูชา ที่เลือกข้างจีนฝ่ายเดียว เพราะผู้นำที่โง่เขลา จนสูญเสีย EBA และ GSP

- โรงงานผลิตขึ้นส่วนรถยนต์มีหลายแห่งในประเทศไทยมี จึงมีความสะดวกทั้งด้านทรัพยากรบุคคล อะไหล่ สภาพการทำงาน ตลอดจนซับพลายเชนพร้อมอยู่แล้ว

เหตุผลแค่นี้เอง!!

‘ไทย-เกาหลี’ เตรียมจัดงาน ‘สตรอว์เบอร์รีนานาชาติ’ ที่กทม. ปีหน้า หวังเผยแพร่ผลไม้เมืองนนซาน ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับสากล

(21 ก.ย.66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้การต้อนรับ นายแบ็ก ซอง ฮยอน (H.E. Mr. Baek Seong Hyeon) นายกเทศมนตรีเมืองนนซาน สาธารณรัฐเกาหลี และคณะ ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะเพื่อกระชับความสัมพันธ์และหารือเกี่ยวกับการจัดงานเทศกาลสตรอว์เบอร์รีนานาชาติ ณ กรุงเทพมหานคร (International Strawberry Festival in Bangkok) และประเด็นความร่วมมืออื่นๆ ที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า นับเป็นโอกาสดีที่ทางเมืองนนซาน ได้มาเยี่ยมกรุงเทพฯ และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่นายกเทศมนตรีเมืองนนซาน จะจัดงานเทศกาลสตรอว์เบอร์รีนานาชาติขึ้นที่กรุงเทพฯ ในปีหน้า ซึ่งมีความสำคัญในแง่ของการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองเมือง ซึ่งกรุงเทพฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือในทุกด้าน ทั้งในเรื่องของการอำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ และการประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนไปร่วมงานนี้

ในส่วนของลักษณะงาน เป็นการจัดแสดงและจำหน่ายสตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์ต่างๆ และผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปจากสตรอว์เบอร์รี ตลอดจนการนำศิลปินเกาหลีชื่อดังมาร่วมงานฯ เพื่อดึงดูดประชาชนและนักท่องเที่ยวให้มาเข้าร่วมมากยิ่งขึ้น โดยมีกำหนดจัดงานฯ ระหว่างวันที่ 15-18 ก.พ. 67 ณ ลานพาร์ค พารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน

สำหรับงานเทศกาลสตรอว์เบอร์รีนานาชาติ ณ กรุงเทพฯ เป็นความคิดริเริ่มของเมืองนนซาน ที่จะจัดงานดังกล่าวในระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นการขยายการดำเนินงานจากการจัดงานฯ ภายในเมืองนนซานเองในช่วงเดือนมี.ค. ของทุกปีเป็นระยะเวลา 27 ปีติดต่อกัน

ทั้งนี้ กรุงเทพฯ ได้รับคัดเลือกเป็นสถานที่จัดงานฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่สตรอว์เบอร์รีคุณภาพดีจากเมืองนนซาน ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในระดับสากล สนับสนุนศักยภาพสินค้าทางการเกษตรของเกาหลีไปสู่ตลาดโลก และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างเมืองนนซาน และกรุงเทพฯ 

26 กันยายน พ.ศ. 2430 ไทย-ญี่ปุ่น ลงนามปฏิญญาทางพระราชไมตรี ปฐมบทสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ

วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2430 หรือ เมื่อ136 ปีที่แล้ว ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นได้ลงนามในปฏิญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ระหว่างญี่ปุ่นและไทย เริ่มความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ

ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทย มีประวัติยาวนานหลายร้อยปี แต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการโดยการลงนามในปฏิญญาทางไมตรี และการพาณิชย์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2430

ที่ผ่านมาไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและราบรื่น ความร่วมมือของทั้งสองประเทศครอบคลุมทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ ไทยได้มุ่งกระชับความสัมพันธ์ และความร่วมมือกับญี่ปุ่นให้พัฒนาไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ (strategic and economic partnership)

การเยือนสำคัญในระดับพระราชวงศ์ ที่สำคัญ คือในช่วงต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เพื่อทรงเจริญสัมพันธไมตรี พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และหนึ่งในประเทศที่พระองค์เลือกเสด็จพระราชดำเนินเยือน คือ ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2506

ในครั้งนั้น พระองค์ทรงเสด็จเยือนกรุงโตเกียว เมืองนาโงยา จังหวัดเกียวโต และนารา และฝ่ายญี่ปุ่นได้ถวายการต้อนรับ ด้วยการนำเสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงงานผลิตกล้องถ่ายรูป และวิทยุ เพื่อทอดพระเนตรเทคโนโลยีการผลิตของญี่ปุ่น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าฝ่ายญี่ปุ่นทราบถึงความสนพระราชหฤทัยของพระองค์เป็นอย่างดี

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่นในครั้งนั้น เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพระราชไมตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ

เพื่อทรงตอบแทนพระราชไมตรี มกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ พร้อมด้วยเจ้าหญิงมิชิโกะ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2507 ในครั้งนั้นมีเหตุการณ์อันเป็นที่ระลึกแห่งพระราชไมตรี และพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และนับเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ขณะที่ความสัมพันธ์ระดับประชาชนของทั้งสองประเทศก็มีความใกล้ชิดแนบแน่น ปัจจุบัน มีชาวไทยที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่น ประมาณ 50,000 คน ในขณะที่มีชาวญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในประเทศไทยประมาณ 40,000 คน

‘Klook’ ประกาศยุติขายบัตรท่องเที่ยวที่ ‘ทารุณสัตว์’ ในไทย จนกว่าผู้ประกอบการจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบดำเนินงาน

(26 ก.ย. 66) Klook แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวระดับโลก ประกาศการตัดสินใจในการยุติการขายบัตรท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับการขายโปรแกรมสถานที่ท่องเที่ยวหรือประสบการณ์ที่แสวงประโยชน์จากสัตว์ในประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก นับเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของ Klook ในการกำหนดนโยบายใหม่ด้านสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) เลิกขายการแสดงโชว์ที่เกี่ยวข้องกับ ช้าง โลมา และเสือ จนกว่าผู้ประกอบการจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงาน นโยบายนี้จะมีกำหนดบังคับใช้ภายในสิ้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566

นักท่องเที่ยวที่ใช้บริการท่องเที่ยวผ่านแพลตฟอร์ม Klook จะไม่สามารถพบตัวเลือกในการซื้อบัตรเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เหล่านี้ในประเทศไทยอีกต่อไป โดยตอบสนองกระแสการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบและมีจริยธรรม ไม่สนับสนุนการใช้สัตว์เพื่อสร้างความบันเทิงโดยได้ยุติการขายบัตรโชว์การแสดงที่ทำกำไรจากการทรมานสัตว์ อีกกว่า 130 แห่งทั่วโลก

ซูซาน มิลธอร์ป หัวหน้าฝ่ายรณรงค์สัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า “เรายินดีกับความก้าวหน้าของ Klook และจัดว่าเป็นก้าวแรกในการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ เราหวังอย่างยิ่งที่จะเห็น Klook มุ่งมั่นดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หยุดขายแหล่งท่องเที่ยวที่ใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่า สนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบที่แท้จริง เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องกังวลเมื่อจองกิจกรรมการท่องเที่ยวบนแพลตฟอร์ม เราสนับสนุนให้ Klook เดินหน้ายกเลิกกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับช้างต่อไป เช่น การอาบน้ำและการให้อาหารช้าง และจะกลายมาเป็นบริษัทท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสัตว์ป่าอย่างแท้จริง”

“การยกเลิกกิจกรรมท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากสัตว์ไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความรู้สึกนึกคิดของนักท่องเที่ยวที่ไปในทิศทางเดียวกัน กับกระแสการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยในประเทศไทยจากข้อมูลผลสำรวจสวนดุสิตโพลในปี พ.ศ. 2565 พบว่า 76 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าการแสดงโชว์ช้างเป็นการทารุณกรรมสัตว์” หทัย ลิ้มประยูรยงค์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์สัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวเสริม

การจัดการนโยบายด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่เอาจริงเอาจังของบริษัทท่องเที่ยวอย่าง Klook และแพลตฟอร์มออนไลน์ท่องเที่ยวอื่นๆ จะช่วยตัดเม็ดเงินที่จะไปสนับสนุนต่อยอดการทำธุรกิจที่ใช้สัตว์ป่าเพื่อสร้างความบันเทิง ซึ่งเบื้องหลังเกี่ยวข้องกับการนำสัตว์มาฝึกด้วยวิธีการโหดร้ายทารุณเพื่อให้แสดงพฤติกรรมที่ผิดไปจากธรรมชาติ นอกจากนี้ บริษัทท่องเที่ยวจะต้องให้ความรู้ และส่งเสริมให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่า ผ่านการเพิ่มตัวเลือกของสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่าแทน

‘การท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ’ กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งหมายถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจสถานบริการ บริษัทท่องเที่ยว แพลตฟอร์มออนไลน์และนักท่องเที่ยว จะต้องมีความรับผิดชอบต่อกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวของตัวเองความโปร่งใสระหว่างบริษัทฯ และลูกค้าจะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่น การแสดงจุดยืนในการต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์ ผ่านการแสวงหาผลประโยชน์จากสัตว์ป่า ในทางหนึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ มีสถานะทางการตลาดที่มั่นคงและช่วยสร้างแบรนด์ของบริษัทฯ ในฐานะผู้นำด้านการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ

ข่าวดีส่งออก!! สิงหาฯ พลิกบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือน รับอานิสงส์ 'เกษตร-อุตฯ' หนุน ส่วนนำเข้าลดลง 12.8%

(26 ก.ย. 66) นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ในเดือนส.ค.66 ว่า การส่งออกมีมูลค่า 24,279 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.6% จากตลาดคาด -3.5 ถึง -5.0% ซึ่งถือว่าเป็นการพลิกกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือน

จากผลของกลุ่มสินค้าเกษตร ที่กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือน และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ที่กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน

ขณะที่การนำเข้าเดือนส.ค.มีมูลค่า 23,919 ล้านดอลลาร์ ลดลง 12.8% ส่งผลให้ในเดือนส.ค.66 ไทยเกินดุลการค้า 360 ล้านดอลลาร์

ส่วนการส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่ารวม 187,593 ล้านดอลลาร์ ลดลง 4.5% การนำเข้า มีมูลค่า 195,518 ล้านดอลลาร์ ลดลง 5.7% ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ ไทยยังขาดดุลการค้า 7,925 ล้านดอลลาร์

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่าการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จะขยายตัวเป็นบวกได้ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีคำสั่งซื้อเข้ามามากตามวัฎจักร ประกอบกับในช่วงไตรมาส 4 ปี 65 ฐานต่ำ

"คาดว่าการส่งออก ต.ค.-ธ.ค. น่าจะได้เห็นอะไรดีๆ เพราะมีออร์เดอร์เข้ามาเยอะ ซึ่งเป็นไปตาม circle...ส่งออกภาพรวมทั้งปี 1- ถึง 0% น่าจะมีโอกาส ปีนี้เราข้อสอบยาก ถ้าเทียบกับกลุ่มประเทศในอาเซียน ทุกคนคะแนนไม่ดี (ส่งออกติดลบ) แต่เรายังสามารถยืนอยู่แถวหน้าได้" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุ

‘รัฐบาลไทย’ หารือ ‘ทูตอินเดีย’ เตรียมฟื้นฟู FTA-เปิดตลาดเสรี หนุนการค้า-ลงทุนทุกมิติ ดันไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจภูมิภาค

(28 ก.ย. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้หารือกับ นายนาเคศ สิงห์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศไทย โดยอินเดียพร้อมฟื้นฟูความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ไทย-อินเดีย อีกครั้ง และพร้อมแก้ไขปัญหาอุปสรรคร่วมกันอย่างเข้มแข็งและรวดเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยและอินเดียได้ทำความตกลงการค้าเสรี หรือ ‘FTA’ โดยได้เปิดตลาดสินค้าส่วนแรก (Early Harvest Scheme) จำนวน 83 รายการ ครอบคลุมทั้งสินค้าผลไม้สด ธัญพืช อาหารปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์แร่ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

โดยได้ยกเลิกภาษีตั้งแต่ปี 2549 ทำให้การค้าทั้ง 2 ฝ่ายขยายตัว และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า แต่ได้หยุดชะงักไปเมื่อปี 2559 เนื่องจากอินเดียได้หันมาผลักดันการเจรจา FTA ระหว่างอาเซียน-อินเดียแทน เพื่อขยายตลาดมายังกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ

นางนลินี กล่าวว่า อินเดียให้ความสำคัญกับไทยในฐานะประเทศที่มีศักยภาพด้านการค้าการลงทุนของอาเซียนและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค โดยวันนี้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกกลายเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลก ซึ่งไทยคือหนึ่งในนั้น โดยการพูดคุยหารือครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่อินเดียต้องการจะฟื้นฟู FTA

รวมทั้งยังอยากเห็นผลการดำเนินงานของคณะกรรมการร่วมทางการค้า หรือ ‘JTC’ ไทย-อินเดีย และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ ‘RCEP’ ที่เติบโตขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ในการหารือทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่า ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือ ‘BIMSTEC’ จะเป็นเวทีที่จะช่วยขจัดอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเป็นไปอย่างราบรื่น โดยนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ตั้งใจอย่างมากที่จะมาร่วมการประชุมระดับผู้นำ BIMSTEC ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้

รวมทั้งยังหวังว่าจะมีโอกาสเดินทางเยือนระดับผู้นำอย่างเป็นทางการในโอกาสต่อไป สำหรับนโยบาย Startups India ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาประเทศภายใต้แนวคิดอินเดียใหม่ (New India) เพื่อให้สอดคล้องกับที่อินเดียกำลังก้าวสู่ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2568 นั้น อินเดียได้แสดงความจำนงที่จะยกระดับความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ Startup รุ่นใหม่ของไทยและอินเดียให้เกิดผลสำเร็จ

“มิติการเจรจาหารือทางการค้าวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต เพราะครอบคลุมหลายด้าน โดยทูตอินเดียได้พูดถึงความต้องการส่งออกสินค้าเกษตรมายังไทย เช่น กุ้งหรือเนื้อสัตว์อื่น สินค้ายาและเวชภัณฑ์โดยเฉพาะยารักษาโรคเบาหวาน หรือแม้กระทั่งความร่วมมือด้านความมั่นคงหรือยุทโธปกรณ์ที่อินเดียมีศักยภาพ ได้แก่ เฮลิคอปเตอร์หรือเรือดำน้ำ ผ่านนโยบาย Offset Policy หรือการชดเชยในกรณีซื้อจากต่างประเทศของกระทรวงกลาโหม สำหรับมิตรประเทศอีกด้วย” นางนลินี ระบุ

ข้อมูลการค้า ไทย-อินเดีย 
จากข้อมูลรายงานการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำปี 2565 ของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า อินเดีย ขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 7 จากอันดับที่ 10 ในปีก่อน โดยขยายตัวถึง 22.5% โดย การค้าระหว่างไทยและอินเดีย มีมูลค่า 17,702.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 18.06%

โดยไทยส่งออกไปอินเดีย มูลค่า 10,524.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอินเดีย มูลค่า 7,178.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ เม็ดพลาสติก ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เคมีภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของอินเดีย อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะ เคมีภัณฑ์ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

'นายกฯ เศรษฐา' พบปะนายกฯ กัมพูชา ครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง หารือความร่วมมือด้านต่างๆ พร้อมยืนยันความใกล้ชิด 2 ประเทศ

(28 ก.ย. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะ เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติกรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา จากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อเข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ จากนั้นในเวลา 11.00 น. นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีกับ สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต (H.E. Samdech Moha Borvor Thipadei Hun Manet) นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา ณ ชั้น 2 ห้องรุมเจก (Rumchek Room) โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญดังนี้

ก่อนการหารือ นายกรัฐมนตรีทั้งสองต่างแสดงความยินดีต่อกัน ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งนายกฯ ในช่วงเดียวกัน และมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศในทิศทางเดียวกัน โดยต่างย้ำมิตรภาพอันใกล้ชิดระหว่างสองประเทศ และเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีทั้งสองประกาศยกระดับความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ และนายกรัฐมนตรีไทยขอเชิญนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเยือนไทยด้วย

ผู้นำทั้งสองได้หารือถึงประเด็นสำคัญต่าง ๆ ร่วมกัน คือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีไทยและกัมพูชาเห็นพ้องตรงกันที่จะส่งเสริมความร่วมมือมากยิ่งขึ้นทั้งการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน การพัฒนาพื้นที่ชายแดน และภาคเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมกันอำนวยความสะดวกและเพิ่มปริมาณการค้า ให้บรรลุเป้าหมาย 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 รวมถึงผลักดันการขนส่งข้ามแดนโดยเร่งรัดเปิดใช้สะพานมิตรภาพที่บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ การยกระดับจุดผ่านแดน และร่วมกันในเศรษฐกิจดิจิทัลและสีเขียว

ในด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ไทยและกัมพูชาส่งเสริมการท่องเที่ยว และเพิ่มความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ พร้อมทั้งขอให้กัมพูชาอนุญาตให้ใช้บัตรผ่านแดนชั่วคราว เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวตามแนวชายแดน ส่วนการลงทุน ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะสนับสนุนการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น รวมถึงเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้มีการจับคู่ธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะ SMEs และผู้ประกอบการรุ่นใหม่

ด้านความมั่นคง นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้กัมพูชาจัดการประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Committee: JBC) ครั้งต่อไป เพื่อเดินหน้ายกระดับจุดผ่านแดน เพิ่มปริมาณการค้าชายแดน และยังได้เสนอให้ทั้งสองประเทศเร่งเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามพื้นที่ชายแดน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และปูทางการพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณชายแดน โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า คณะทำงานของทั้งสองฝ่ายควรร่วมกันติดตามผล และนำการหารือของผู้นำทั้งสองในวันนี้ไปดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และนำกลับมารายงานให้ทราบ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างหน่วยงานความมั่นคงในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะบริเวณชายแดน พร้อมย้ำถึงการทำงานและความร่วมมือที่ใกล้ชิดเพื่อร่วมกันปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความเป็นพันธมิตรด้านการพัฒนาที่แข็งแกร่งระหว่างกัน ซึ่งรวมถึงด้านการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยพร้อมที่จะทำงานและร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกัมพูชา เพื่อช่วยกันติดตามข่าวปลอม (fake news) ที่อาจสร้างความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชน เพื่อดำเนินการป้องกันอย่างทันท่วงทีเมื่อจำเป็น

จากนั้น นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชาร่วมทำพิธีส่งมอบเชิงสัญลักษณ์ศูนย์แรกรับเหยื่อการค้ามนุษย์และกลุ่มเสี่ยงในปอยเปต จังหวัดบันเตียเมียนเจย ณ บริเวณห้องมะลิ ชั้น 2 ก่อนจะเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวัน ที่นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี ณ ห้องลำดวล (Romdoul Hall) สำนักนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา

‘ไทย-อิตาลี’ พร้อมร่วมมือผลักดัน Soft Power ทั้ง 2 ประเทศ ปักธง ‘อาหาร-ท่องเที่ยว’ หวังกระตุ้นศก.และพัฒนาชาติร่วมกัน

(30 ก.ย.66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้หารือกับนายเปาโล ดีโอนีซี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย ว่า ไทยและอิตาลีเห็นตรงกันในการผลักดันเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ โดยใช้ Soft power ด้านอาหารเป็นจุดขายหลักในการส่งเสริมการพัฒนาระหว่างกัน 

ทั้งนี้เนื่องจากทั้งไทยและอิตาลีต่างมีอาหารประจำชาติที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนแต่ละฝ่ายรู้จักอาหารของอีกฝ่ายมากขึ้น ในประเทศไทยนั้นมีร้านอาหารอิตาเลียนมากกว่าคนอิตาเลียน และอาหารอิตาเลียนก็ถูกปากคนไทย 

เช่นเดียวกับสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในอิตาลีก็เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวไทย ที่ผ่านมาเรามีนวนิยายเรื่อง ‘แก้วตาพี่’ ของโรสลาเรน ซึ่งมีฉากสำคัญเป็นเมืองต่าง ๆ ที่สวยงามในประเทศอิตาลี 

ดังนั้นการหารือครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ฝ่ายไทยได้เชิญชวนและจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้คนอิตาเลียนมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น เพราะจากข้อมูลสถิติพบว่านักท่องเที่ยวชาวอิตาเลียนเดินทางมายังประเทศไทยน้อยกว่าที่คนไทยไปอิตาลีถึง 10 เท่า

นางนลินี กล่าวด้วยว่า ในด้านการค้าการลงทุน อิตาลีเล็งเห็นว่าไทยเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคที่มีศักยภาพและน่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งทางราง รถไฟความเร็วสูงเทคโนโลยีดิจิทัล และการจัดหายุทโธปกรณ์ 

ที่ผ่านมาการรถไฟสาธารณรัฐอิตาลีได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ชนะการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งจะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยเป็นมูลค่า 650,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกว่า 16,000 อัตรา 

นอกจากนี้ อิตาลียังได้ผลักดันการจัดตั้งสภาธุรกิจทางอิตาลีเมื่อปี 2558 เพื่อเป็นช่องทางการติดต่อโดยตรงระหว่างภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทสำคัญของไทยและอิตาลีเป็นสมาชิกกว่า 40 บริษัท แต่ในภาพรวมนักลงทุนของอิตาลียังไม่คุ้นเคยกับการลงทุนในประเทศไทยมากนัก 

ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลทั้งสองประเทศจะต้องส่งเสริมในเรื่องนี้ และไทยก็สามารถใช้อิตาลีเป็นประตูสู่ยุโรปได้เช่นกัน โดยอิตาลีพร้อมสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เช่น โลจิสติกส์ การส่งออก ความปลอดภัยด้านอาหาร เป็นต้น 

“ทูตอิตาลียังแสดงความสนใจเรื่องเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ - โรม ของสายการบินไทย ที่ช่วยให้การเดินทางของนักลงทุนและประชาชนของทั้งสองประเทศ เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้นอีก" นางนลินี ระบุ

>> สถานการณ์การค้าไทย – อิตาลี
จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ รายงานว่าในช่วง 8 เดือนของปี 2566 (มกราคม-สิงหาคม) การค้าระหว่างไทย-อิตาลี มีมูลค่า 3,531.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.21% แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 1,446.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.97% และการนําเข้ามูลค่า 2,084.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.09%

โดยไทยขาดดุลการค้ากับอิตาลี คิดเป็นมูลค่า 638.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับติดลบ 11.24% เมื่อเทียบกับ 8 เดือนแรกของปี 2565

>> การส่งออกของไทยไปอิตาลี
ช่วง 8 เดือนของปี 2566 การส่งออกของไทยไปอิตาลีมีมูลค่า1,446.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.97% เมื่อเทียบกับช่วง 8 เดือนของปี 2565 (ที่มีมูลค่า 1,391.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) 

>> การนําเข้าของไทยจากอิตาลี
ช่วง 8 เดือนของปี 2566 ไทยนําเข้าจากอิตาลีมีมูลค่า 2,084.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 6.09% เมื่อเทียบกับช่วง 8 เดือนของปี 2565 (ที่มีมูลค่า 1,965.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top