26 กันยายน พ.ศ. 2430 ไทย-ญี่ปุ่น ลงนามปฏิญญาทางพระราชไมตรี ปฐมบทสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ

วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2430 หรือ เมื่อ136 ปีที่แล้ว ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นได้ลงนามในปฏิญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ระหว่างญี่ปุ่นและไทย เริ่มความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ

ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทย มีประวัติยาวนานหลายร้อยปี แต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการโดยการลงนามในปฏิญญาทางไมตรี และการพาณิชย์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2430

ที่ผ่านมาไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและราบรื่น ความร่วมมือของทั้งสองประเทศครอบคลุมทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ ไทยได้มุ่งกระชับความสัมพันธ์ และความร่วมมือกับญี่ปุ่นให้พัฒนาไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ (strategic and economic partnership)

การเยือนสำคัญในระดับพระราชวงศ์ ที่สำคัญ คือในช่วงต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เพื่อทรงเจริญสัมพันธไมตรี พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และหนึ่งในประเทศที่พระองค์เลือกเสด็จพระราชดำเนินเยือน คือ ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2506

ในครั้งนั้น พระองค์ทรงเสด็จเยือนกรุงโตเกียว เมืองนาโงยา จังหวัดเกียวโต และนารา และฝ่ายญี่ปุ่นได้ถวายการต้อนรับ ด้วยการนำเสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงงานผลิตกล้องถ่ายรูป และวิทยุ เพื่อทอดพระเนตรเทคโนโลยีการผลิตของญี่ปุ่น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าฝ่ายญี่ปุ่นทราบถึงความสนพระราชหฤทัยของพระองค์เป็นอย่างดี

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่นในครั้งนั้น เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพระราชไมตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ

เพื่อทรงตอบแทนพระราชไมตรี มกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ พร้อมด้วยเจ้าหญิงมิชิโกะ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2507 ในครั้งนั้นมีเหตุการณ์อันเป็นที่ระลึกแห่งพระราชไมตรี และพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และนับเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ขณะที่ความสัมพันธ์ระดับประชาชนของทั้งสองประเทศก็มีความใกล้ชิดแนบแน่น ปัจจุบัน มีชาวไทยที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่น ประมาณ 50,000 คน ในขณะที่มีชาวญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในประเทศไทยประมาณ 40,000 คน