ส่องสาระสำคัญ 'ไทย-จีน-รัสเซีย' จากงาน BRF ครั้งที่ 3 ท่ามกลาง 'ข้อเสนอ' ที่มีมากกว่า 'ท่วงท่า' และ 'ถุงเท้า' 

อาจจะถูกโฟกัสไปแต่ประเด็นทางกายภาพของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ครั้นได้มีโอกาสเข้าหารือแบบทวิภาคีกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำแห่งรัสเซีย รวมถึงผู้นำจีนอย่าง สี จิ้นผิง

แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อวันที่ วันที่ 17-19 ต.ค.ที่ผ่านมา ในการเข้าร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 ในช่วงที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีโอกาสหารือทวิภาคีกับนายวลาดิเมียร์ ปูติน (Mr. Vladimir Putin) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ก็ต้องยอมรับว่า วันนั้นีสาระสำคัญมากมายที่ควรสรุปให้ทราบ...

>> กับ รัสเซีย...
การที่นายกฯ ได้พบหารือกับประธานาธิบดีปูติน ถือเป็นโอกาสอันดีในการแสดงเจตจำนงร่วมกัน เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยรัสเซียถือเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไทยมายาวนาน และทั้งสองฝ่ายก็เพิ่งฉลองครบรอบ 125 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเมื่อปี 2565 และนี่ก็ถึงเวลาที่ ไทย-รัสเซีย ควรร่วมมือกันเพิ่มพูนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นและเป็นรูปธรรม

ในวันนั้น ปูติน พูดกับนายกฯ เศรษฐา โดยกล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยาวนานระหว่างไทยกับรัสเซีย พร้อมทั้งเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีมากขึ้น โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ในระดับประชาชนที่แน่นแฟ้นอย่างมาก

ที่น่าสนใจ คือ โดยปี 2567 (ค.ศ. 2024) จะเป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวไทย-รัสเซีย โดยเชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวรัสเซียมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยมากกว่า 1 ล้านคน และนายกฯ ก็ได้ขานรับทันทีว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค.66 ทางครม. ของไทยได้มีมติเพิ่มวันพำนักให้ชาวรัสเซียจาก 30 วันเป็น 90 วัน แล้ว

นอกจากเรื่องท่องเที่ยว ยังมีการพูดคุยกันถึงสาระสำคัญด้านการเมือง โดยทั้งสองฝ่ายเห็นควรว่าต้องมีการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างบุคลากรสภาความมั่นคงของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง

ส่วนด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นควรเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น โดยนายกฯ ขอให้ฝ่ายรัสเซียส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน พร้อมทั้งเชิญชวนให้รัสเซียพิจารณาเพิ่มการลงทุนในไทย

นอกจากนี้นายกฯ ยังได้เชิญประธานาธิบดีรัสเซียเดินทางเยือนไทย ซึ่งประธานาธิบดีตอบรับ โดยจะได้ร่วมกำหนดวันที่ทั้งสองฝ่ายสะดวกต่อไป...สวยงาม!!

>> กับ จีน...

สี จิ้นผิง ได้กล่าวกับนายกฯ เศรษฐา ว่า จีนเป็นประเทศแรกนอกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่เศรษฐาเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ ซึ่งสะท้อนอย่างเต็มที่ว่ารัฐบาลชุดใหม่ของไทยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทวิภาคีอย่างมาก

โดยจีนพร้อมทำงานร่วมกับไทยเพื่อสร้างนิยมความเป็นไปได้ในยุคใหม่นี้ให้กับคำกล่าว "จีน-ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน" อย่างต่อเนื่อง และทำให้ข้อได้เปรียบของมิตรภาพอันยาวนานเป็นพลังขับเคลื่อนความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน

สี จิ้นผิง กล่าวอีกว่า ทั้งสองฝ่ายควรเร่งรัดการก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทย พร้อมทั้งขยับขยายความร่วมมือด้านต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล, การพัฒนาสีเขียว และพลังงานใหม่ ตลอดจนเสริมความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและการพนันออนไลน์ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมอันปลอดภัยสำหรับการพัฒนาของ 2 ประเทศ

สี จิ้นผิงเสริมว่า จีนยินดีแบ่งปันโอกาสจากตลาดขนาดใหญ่และการเปิดกว้างระดับสูงของจีน เพื่อเพิ่มพูนพลังเชิงบวกสู่การพัฒนาของเอเชีย 

แน่นอนว่า ทางด้านนายกฯ ไทย ก็แสดงความยินดีในการที่จะทำงานร่วมกับจีน เพื่อสร้างประชาคมไทย-จีน ที่มีอนาคตร่วมกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น

ไม่เพียงเท่านี้ นายกฯ ก็ยังได้โชว์แผนแลนด์บริดจ์เชื่อม BRI ภายใต้งบลงทุนในระดับ 1 ล้านล้านบาท เพื่อเชิญชวนให้ภาคเอกชนจีนเข้ามาร่วมลงทุน มหาโปรเจกต์เชื่อมโยงสองฝั่งท่าเรืออันดามัน-อ่าวไทยครั้งใหญ่นี้

โดยนายกฯ ได้กล่าวอีกด้วยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งให้ความเห็นชอบแนวทางการศึกษาและแผนการดำเนินงานโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทยและมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นที่เรียบร้อย

ขณะเดียวกัน ยังเผยถึงแนวทางปรับปรุงการเชื่อมต่อในพื้นที่อันดามันทางตอนใต้ ลดเวลาการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา ภายใต้แนวคิด 'One Port, Two Sides' ในระยะทางทางบก 90 กิโลเมตรทางภาคใต้ของไทยด้วย

แน่นอนว่า สาระสำคัญเกิดขึ้นกับงาน BRF ครั้งที่ 3 ระหว่าง ไทย-จีน และ ไทย-รัสเซีย ไม่ใช่แค่การแวะเวียนมานำเสนอตัวเองของนายเศรษฐาเป็นแก่น แต่เป็นความพยายามของรัฐบาลที่ถือโอกาสใช้เวทีนี้โชว์ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมมือกันในด้านต่างๆ อย่างยั่งยืนกับทั้ง 2 ประเทศมหาอำนาจใหม่นี้ ภายใต้ความสัมพันธ์อันดีที่ถูกเปิดมาตั้งแต่ครั้นรัฐบาลก่อนหน้า

ที่เหลือก็แค่รอดูผลลัพธ์...ต่อไป!!