Tuesday, 14 May 2024
เลือกตั้ง

อดีต ผอ.TCDC เผยเหตุ ซบพรรคก้าวไกล เป็นพรรคเดียวที่เจาะปัญหาเพื่อแก้ให้ ปชช. จริงๆ

‘อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล’ อดีต ผอ.TCDC ขึ้นเวทีในนามพรรคก้าวไกล โชว์วิสัยทัศน์สร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ย้ำสิ่งที่สำคัญที่สุดต้องแก้กฎหมายจำกัดเสรีภาพ

(14 มี.ค.66) โรงแรม พูลแมน คิงเพาเวอร์ ซอยรางน้ำ กทม. อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ในฐานะ ‘ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกลด้านนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ได้ขึ้นเวทีในเสวนา ‘อนาคตประเทศไทย Soft Power ขับเคลื่อนประเทศ?’ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์และเสนอ 5 นโยบายสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งอภิสิทธิ์ชี้ให้เห็นความสำคัญที่รัฐบาลต้องเพิ่มงบประมาณส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การสร้างระบบสวัสดิการที่สำหรับคนทำงานสร้างสรรค์ และแก้กฎหมายที่ปิดกั้นเสรีภาพ

อภิสิทธิ์ เริ่มต้นด้วยการบอกว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย มีขนาดเศรษฐกิจกว่า 1.2 ล้านล้านบาท หรือ 7.5% ของ GDP มีแรงงานอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มากกว่า 9 แสนคน แต่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์กลับไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ 

“ตั้งแต่เราได้ยินคำว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คำว่า Soft Power ไม่ต่ำกว่า 20 ปี วันไหนที่เอกชนไปประสบความสำเร็จ เราก็หยิบเรื่องนั้นขึ้นมาพูด ขึ้นมาชมเชย หยิบมงกุฎ หยิบชฎา หยิบข้าวเหนียวมะม่วงมาชมเชย แต่ข้อเท็จจริงกว่าคนเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จได้ ล้วนมาจากความอุตสาหะของกาย เงิน ของคนเหล่านั้น”

อภิสิทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า จากงบประมาณทั้งหมดของประเทศไทย 3.3 ล้านล้านบาท มีส่วนที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพียงแค่ 8,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้งบประมาณ 310 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับ Korea Creative Content Agency (KOCCA) ของประเทศเกาหลีใต้ ได้งบประมาณในปีที่แล้วถึง 22,000 ล้านบาท ซึ่งแตกต่างกันอย่างลิบลับ ดังนั้นพรรคก้าวไกลจึงเสนอนโยบาย 5 มิติเพื่อสร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ขึ้นในประเทศไทย

เรื่องแรก พรรคก้าวไกลจะเสนอให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ พร้อมๆ กับที่เราต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมอื่นๆ เรามีสถาบันการศึกษาที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ 130 แห่ง มีธุรกิจที่จดทะเบียนในระบบมากกว่า 82,072 ราย เราต้องรื้อระบบโครงสร้างงบประมาณใหม่ เพราะโครงสร้างงบประมาณเดิมยิ่งสร้างปัญหา ไม่แหลมคมพอ กระจัดกระจาย รวมทั้งระบบการจัดซื้อในรัฐบาลต้องเปลี่ยนใหม่ เพื่อพุ่งเป้าไปสร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มากขึ้น

สอง พรรคก้าวไกลจะปรับระบบสวัสดิการคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ให้มีชีวิตเพิ่มมากขึ้น ให้เขาเห็นปลายแสงสว่างในชีวิตว่ามาทำอุตสาหกรรมสร้างสรรค์แล้วไม่ได้ตกทุกข์ได้ยากลำบาก เราอาจเห็นร้านอาหารที่มีชื่อ อาจเห็นชื่อเสียงของนักดนตรีไทย แต่หลังบ้านของสิ่งเหล่านั้นเป็นหลังบ้านที่น่าสงสาร

สาม พรรคก้าวไกลจะเปลี่ยนพื้นที่บางพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ทดลองของคนในอุตสาหกรรมนี้ ประเทศไทยมีพื้นที่ว่างในพื้นที่ราชพัสดุ ที่ดินทหารและส่วนราชการอีกเยอะแยะที่สามารถเอามาเป็นแล็บให้พวกเขาได้ทดลอง นอกจากนี้ เราต้องทำโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายให้ตอบโจทย์ เช่น เสนอคูปองให้พัฒนาความรู้ เพื่อนำไปบวกกับความคิดสร้างสรรค์ ไปบวกกับเทคโนโลยี ไปบวกกับทุนเดิมทางวัฒนธรรม 

สี่ พรรคก้าวไกลเสนอให้รวบรวมกองทุนต่างๆ ทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ ในวันนี้เรามีกองทุนหลายกองทุน เช่น กองทุนใน กสทช. กองทุนในกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย กองทุนสื่อสร้างสรรค์ แต่กองทุนเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เฉพาะของตัวเอง เราต้องปรับเนื้อหากองทุนเพื่อมาตอบโจทย์ในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้กว้างมากขึ้น เราต้องทำกองทุนให้ตอบโจทย์ผู้สร้างสรรค์ที่หลากหลายมากขึ้น พรรคก้าวไกลเสนอให้การปรับกองทุนและเพิ่มเงินในกองทุน เพื่อทำให้กองทุนความคิดสร้างสรรค์นี้สามารถกู้ยืมได้ สามารถต่อยอดไอเดียออกมาเป็นผลงานได้

สุดท้าย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกฎระเบียบ และ พ.ร.บ.ต่างๆ ที่ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ ปิดกั้นความสามารถ เช่น เรื่องกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นในการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์เรื่องหุ่นพยนต์ 

ข้อเสนอของพรรคก้าวไกล 5 ข้อที่ว่ามา สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีเสรีภาพ มีสวัสดิการของคนที่ทำงานสร้างสรรค์ และที่สำคัญต้องแก้กฎหมาย

8 ปี 154 วัน กับความทรงจำนายกรัฐมนตรีไทย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์

อีกประมาณ 2 เดือนข้างหน้าจะเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ เป็นที่รู้กันว่าตามรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้ให้นายกรัฐมนตรีมีวาระในการดำรงตำแหน่งไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 8 ปี

หากย้อนดูในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 29 คน ซึ่งแต่ละคนก็มีวาระในการดำรงตำแหน่ง และห้วงเวลาสั้น ยาว แตกต่างกันไป 

แต่ถ้าพูดถึงนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในอำนาจสั้นที่สุด นั่นคือ  "ทวี บุณยะเกตุ" ซึ่งอยู่ในตำแหน่งเพียง 18 วัน เป็นช่วงเวลาแสนสั้น  แต่ภารกิจนั้นกลับสำคัญยิ่ง 

ย้อนกลับไปเมื่อ 15 สิงหาคม 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มเข้าสู่จุดสิ้นสุดเมื่อญี่ปุ่นประกาศตกลงยอมแพ้สงคราม นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ได้ออก “ประกาศสันติภาพ” อันมีใจความสำคัญว่า การประกาศสงครามของไทยต่ออังกฤษและสหรัฐฯ เป็นโมฆะ ทำให้รัฐบาลนายควง  อภัยวงศ์ ลาออกตามมารยาทการเมือง

ขณะที่ต้องรอเวลาให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา เดินทางกลับมาที่ไทยเพื่อรับตำแหน่งนายกฯ ต่อไป ทว่ามีภารกิจเร่งด่วนที่สุดของประเทศที่รอไม่ได้ คือการเจรจายุติสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ  จึงจำเป็นต้องตั้ง "รัฐบาลเฉพาะกิจ" เร่งจัดการเรื่องต่างๆ ช่วงรอยต่อจากภาวะสงคราม

"ทวี บุณยเกตุ" คือบุคคลที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี "ขัดตาทัพ" ด้วยความที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองเป็นเลขา ครม.ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ และเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดคือ นายทวี เป็นแกนนำคณะเสรีไทย ที่นายปรีดี พนมยงค์ ไว้ใจ รวมถึงเป็นที่ยอมรับของฝ่ายสัมพันธมิตร

ดังนั้นรัฐบาลของนายกฯ "ทวี บุณยเกตุ"  จึงมีอายุเพียงแค่ "18 วัน" ตั้งแต่ 31 สิงหาคม-17 กันยายน 2488  ในการทำภารกิจสำคัญเร่งด่วน คือ เตรียมการเจรจายุติสถานะสงครามกับอังกฤษ และสหรัฐฯ  พร้อมปูทางให้ไทยสมัครเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ รวมถึงเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “ไทยแลนด์” กลับมาใช้ชื่อ “สยาม”  และยุบตำแหน่ง “ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน” เพื่อลดเกียรติภูมิของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ตัดสินใจให้ความร่วมมือกับกองทัพญี่ปุ่นก่อนหน้านั้น 

กระทั่ง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เดินทางกลับถึงไทย วันที่ 17 กันยายน 2488 นายทวีได้นำคณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อเปิดทางให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช จัดตั้งรัฐบาลตามที่ตกลงกันไว้ เป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจของนายกรัฐมนตรีที่มีระยะเวลาอยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
 
เมื่อพูดถึง “นายกฯ ที่มีอายุงานสั้นที่สุด” ในมุมตรงข้าม นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด ต้องยกให้ "จอมพล ป. พิบูลสงคราม"  ที่เป็นนายกรัฐมนตรี 2 ช่วง รวมเวลายาวนานถึง 15 ปี กับอีก 11 เดือน 

เส้นทางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เริ่มจากการเป็นกำลังสายทหารในคณะราษฎร ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ก่อนนำกำลังปราบกบฏบวรเดช ปูทางก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ในปี 2481 ต่อจากพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา 

ในห้วงแรกของการเป็นนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. เดินหน้านโยบายสร้างชาติ ปลูกฝังกระแสชาตินิยมต่อเนื่อง  ตั้งแต่ออกกฎหมายสงวนอาชีพบางอย่างเฉพาะคนไทย  ใช้คำขวัญ "ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ" มีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมให้ทันสมัย เช่น สั่งห้ามกินหมาก ให้ข้าราชการนุ่งกางเกงขายาว สวมหมวก สวมรองเท้า และกล่าวคำว่า "สวัสดี" เมื่อพบปะทักทายกัน

ขณะที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิก็ถูกก่อสร้างในสมัยจอมพล ป. รวมถึง มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย" ด้วย 

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป. ตัดสินใจเลือกเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น กระทั่งปี 2487 เกิดเหตุการณ์รัฐบาลแพ้โหวตร่างกฎหมายสำคัญในสภา ทำให้จอมพล ป. ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

‘ผบ.ทอ.’ เตรียมเปิด 3 พื้นที่ ทอ. ให้พรรคการเมืองหาเสียง ย้ำ!! กำลังพลวางตัวเป็นกลาง ปฏิบัติตามกฎระเบียบ

(15 มี.ค.66) ที่โรงเก็บอากาศยาน ฝูงบิน 601 กองบิน 6 พลอากาศเอก อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) กล่าวว่า กองทัพอากาศพร้อมสนับสนุนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ตามคำร้องขอ 

ทั้งนี้ คนได้เน้นย้ำที่ประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพอากาศ ให้วางตัวเป็นกลางการเมือง เปิดพื้นที่ให้ทุกพรรคการเมืองใช้หาเสียง 3 กลุ่ม ประกอบด้วย สโมสรกองทัพอากาศ สนามกีฬากองทัพอากาศ และหอประชุมกองทัพอากาศ ให้ทุกพรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมพร้อม ๆ กัน เป็นกฎระเบียบที่ ผบ.เหล่าทัพ ได้มีการพูดคุยและนำไปปฏิบัติเหมือนกันทุกเหล่าทัพ

ผบ.ตร.ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ก.ตร. ตาม พ.ร.บ.ตำรวจใหม่ นับเป็นครั้งแรกของตำรวจ โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งระดับ รอง ผกก.ขึ้นไป บรรยายกาศภาพรวมทั่วประเทศ คึกคัก เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

วันนี้ (15 มี.ค.66 ) ณ สโมสรตำรวจ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.เดินทางมาเลือกตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ มาทำหน้าที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 พร้อมข้าราชการตำรวจที่มีสิทธิเลือกตั้ง โดยมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  และเจ้าหน้าประจำหน่วยเลือกตั้ง คอยควบคุมการเลือกตั้ง

 
ทั้งนี้การเลือกตั้ง ก.ตร.ครั้งแรกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ กำหนดวันเลือกตั้งพร้อมกัน คือในวันนี้ (15 มี.ค.66) เวลา 08.30-16.30 น. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  กำหนดให้ ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ตามต่างจังหวัดให้เลือก ณ สถานที่ประจำจังหวัดนั้นๆ ที่กกต.กำหนด  ส่วนตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ใน กทม.หรือส่วนกลาง ใช้สโมสรตำรวจ


โดยบรรยายกาศการเลือกตั้ง ก.ตร.ของข้าราชการตำรวจเป็นไปด้วยคึกคัก ตำรวจต่างตื่นตัวมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย 


ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จะเป็นข้าราชการตำรวจตั้งแต่รอง ผกก. หรือเทียบเท่าขึ้นไปมีประมาณ 13,000 กว่าคน กำหนดให้ 1 บัตร เลือกได้ไม่เกิน 6 คน แบ่งเป็นเลือกผู้สมัครผู้ทรงวุฒิประเภท (ก) ได้ไม่เกิน 3 คน และ เลือกผู้สมัครผู้ทรงวุฒิประเภท (ข) ได้ไม่เกิน 3 คน 


สำหรับผู้สมัครผู้ทรงวุฒิประเภท (ก) คุณสมบัติ ต้องเคยเป็นข้าราชการตำรวจระดับ ผบช.ขึ้นไป และพ้นจากความเป็นข้าราชการตำรวจเกิน 1 ปี มีผู้สมัคร 23 คน ต้องเลือกให้เหลือ 3 คนประเภท ข. ผู้ได้รับการเสนอชื่อ 6 คน เลือกได้ 3 คน 
   

'พิธา' โว 4 ปี 'ก้าวไกล' ทำงานดุดัน-คุ้มค่าภาษีประชาชน แต่เป็นฝ่ายค้านทำงานได้ไม่เต็มที่ ขอคนไทยช่วยเลือกให้เป็นรัฐบาล

(15 มี.ค.66) ที่โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต ดอนเมือง พรรคก้าวไกล (ก.ก.) จัดประชุมใหญ่พรรคเตรียมพร้อมก่อนการยุบสภาฯ มีแกนนำพรรคและว่าที่ผู้สมัครส.ส.ครบทุกเขต เข้าร่วมประชุม

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค ก.ก. ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมกับว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ในครั้งนี้ว่า เป็นการเตรียมตัวก่อนการยุบสภาฯ ไม่เช่นนั้นจะทำให้โอกาสการเตรียมตัวของว่าที่ผู้สมัครส.ส. ทั้งเขตและบัญชีรายชื่อ จะเป็นไปได้ยาก โดยมียุทธศาสตร์การหาเสียงโค้งสุดท้ายและแคมเปญแมสเสจที่จะใช้หาเสียง รวมถึงการพยายามปลุกขวัญและกำลังใจของส.ส.ทุกคน ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเต็มที่และอยากจะพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าเราจะมีประโยชน์กว่าเมื่อเราได้เป็นรัฐบาลในอีก 4 ปีข้างหน้า เราจึงต้องเตรียมความพร้อมการทำงานเพื่อให้ส.ส.เขตได้ลงพื้นที่และมีงานสภาเด่น และต้องย้ำดีเอ็นเอของพรรคก้าวไกลในช่วงโค้งสุดท้ายที่เหลืออยู่ 60 กว่าวัน

เมื่อถามว่า วางเป้าหมายส.ส.ของพรรคก้าวไกลไว้เท่าไหร่ นายพิธา กล่าวว่า ขณะนี้มีอยู่ 2 เป้าหมายเป้าหมายแรกคือการได้ส.ส.มากกว่าสมัยอดีตพรรคอนาคตใหม่ และเป้าหมายที่สองคือการมี ส.ส.เขตครบทุกภูมิภาคให้ได้

เมื่อถามถึงยุทธศาสตร์ในการหาเสียงเลือกตั้ง นายพิธา กล่าวว่า ยุทธศาสตร์คือ การเข้าหาประชาชนให้มากที่สุด และอยู่ที่การบริหารจัดการ การทำงานอย่างทุ่มเทของว่าที่ผู้สมัครส.ส. แกนนำพรรคและการจัดวางพื้นที่ในการเข้าหาพี่น้องประชาชน เพื่อให้ประชาชนเห็นว่าการมีพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลสามารถทำให้ปัญหาของเขาได้รับการผ่อนคลายไป

เมื่อถามถึงกรณีที่เกิดความขัดแย้งและความวุ่นวายระหว่างที่ลงพื้นที่ นายพิธา กล่าวว่า พรรคก้าวไกลเข้าใจเรื่องนี้ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบประชาธิปไตยคือการมีกระบวนการพูดคุยและสิทธิในการแสดงออกแต่ต้องมีกระบวนการจัดการและมีวุฒิภาวะ โดยเราจะไม่ทำให้เหมือนกับกรณีของป้านาที่จังหวัดราชบุรีอย่างแน่นอนไม่ว่าจะตอนที่หาเสียงหรือตอนที่ตนรัฐบาลแล้ว เพราะเราต้องการให้มีพื้นที่ปลอดภัยไว้พูดคุยกัน ขณะเดียวกันคนก็คงจะดูออกว่าเป็นความตั้งใจมาใช้สิทธิทางการเมืองจริงหรือไม่ หรือมาอย่างมีความตั้งใจแอบแฝงอื่นที่โดนบังคับมา

‘ชลน่าน’ ไม่กังวล ‘เสี่ยหนู’ กินข้าวกระชับมิตร ‘บิ๊กป้อม’ ย้ำชัด เป้าหมาย พท.คือจัดตั้ง รบ. ลั่น!! ไม่จับมือสองพรรคนี้

(16 มี.ค. 66) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) พร้อมด้วยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค ภท. และนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี รองหัวหน้าพรรค ภท. เข้าพบและร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด จะเป็นการคุยกัน เพื่อจับมือจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะมาถึงหรือไม่ว่า ก็ชวนให้คิดได้ เนื่องจากเขาเคยทำงานร่วมกันมา เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเดียวกัน ก็อาจจะมีการร่วมมือกันเพื่อร่วมรัฐบาลเดียวกันหลังเลือกตั้ง เพราะเขาเองก็คงประเมินสถานการณ์มาอยู่แล้ว ว่าเขาน่าจะได้รับคะแนนเสียงมาเท่าไหร่ หากจะมีการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันเขาจะต้องทำอย่างไร

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ที่อาจจะมีการคิดจับมือกันก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราไม่กังวล ยิ่งเขาประกาศตัวชัดเจนเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นผลดีในการที่จะตัดสินใจของพี่น้องประชาชน หากสองพรรคนี้เขาประกาศว่าหลังเลือกตั้งจะมาจับมือกัน ประชาชนจะเห็นด้วยหรือไม่นั้น เขาก็จะไปใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้ง

เมื่อถามว่า หากพรรค พท.ได้เสียงไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ และพรรค พปชร.จับมือกับพรรค ภท. พรรค พท.จะจับมือกับสองพรรคนี้ด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรามุ่งมั่นที่จะทำให้ถึงเป้าหมายให้ได้ คือ 310 เสียง การที่เราตั้งเป้าหมายเช่นนั้น เพราะเราไม่ต้องการจับมือกับพรรคที่เป็นแนวร่วมในการยึดอำนาจ พรรคที่สนับสนุนเผด็จการมา เราต้องอาศัยเสียงประชาชนช่วย ฉะนั้น เราจึงต้องทำตรงนั้นให้ถึง

'โบว์-ณัฏฐา' โพสต์ข้อความชวนคิด หากรักลุงตู่เลือกลุงตู่ แต่ถ้ารักประเทศไทย มองหาตัวเลือกอื่นๆ ไว้บ้างก็ดี

(16 มี.ค. 66) น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ 'ประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ จะมีผลต่อสนามเลือกตั้ง โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม' ระบุว่า...

ความเป็นนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์เริ่มนับ 6 เม.ย.60 วันเลือกตั้งคือ พ.ค.นี้ (ถ้าเขาให้เลือก) หลังจากนั้นกว่าจะประกาศผล กว่าจะเจรจารวมเสียง กว่า 250 สว. กับ 500 สส. จะมาร่วมเลือกนายกกัน กว่าจะได้ฟอร์ม ครม. กว่าจะได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ .. ถ้าได้เป็นต่อก็เหลือเวลาปีเศษตามรัฐธรรมนูญ

โดยปกติ ช่วงท้าย ๆ ของตำแหน่ง คนก็เริ่มเกียร์ว่างใส่อยู่แล้ว ทำอะไรได้ไม่เต็มที่

‘ภูมิธรรม’ เชียร์ ปชช. กาเพื่อไทย ทะลุ 310 เสียง ยัน!! เพื่อไทยพร้อมทลาย ‘ระบบประยุทธ์’ ให้สูญสิ้น

(16 มี.ค. 66) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ ‘การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์เพื่อไม่ให้คะแนนสูญเปล่า : หยุดระบอบประยุทธ์’ มีเนื้อหาดังนี้…

การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของพี่น้องประชาชนที่ต้องการหลีกให้พ้นจากความบอบช้ำในการบริหารประเทศของระบอบประยุทธ์

เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการใช้อำนาจของประชาชนเพื่อทำการเปลี่ยนแปลงหยุดระบอบประยุทธ์ซึ่งกัดเซาะ บั่นทำลาย ความหวังของประชาชน ด้วยการเลือกพรรคการเมือง อย่างพรรคเพื่อไทยให้เกิน 310 เสียง

ทำไมต้องเลือกพรรคเพื่อไทย เพื่อหยุดระบอบประยุทธ์

เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนมาเป็นอันดับ 1 ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งนับตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย เป็นเวลาเกือบ 20 ปี

เพราะพรรคเพื่อไทย และ ทีมของเพื่อไทย มีประสบการณ์เป็นรัฐบาลบริหารประเทศ แก้ไขปัญหา ให้พี่น้องประชาชน ได้ฝากผลงานเชิงประจักษ์มาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย อย่างเช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเปลี่ยนโครงสร้างของระบบสาธารณสุขครั้งใหญ่ของประเทศ นโยบายกองทุนหมู่บ้านที่ใช้หลักการกระจายอำนาจอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการกระจายเงินและการตัดสินใจโดยตรงไปที่ประชาชนในทุกหมู่บ้าน เป็นต้น

เพราะพรรคเพื่อไทยมีความพร้อมของบุคลากรทางการเมืองทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซึ่งมีความพร้อมที่จะเข้ามาบริหารจัดการปัญหาทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชน และเชื่อมประสานได้กับทุกภาคส่วน /มีผู้สมัคร ส.ส แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งมีทั้งผู้มีประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ และคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ / โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีตัวแทนผู้สมัคร ส.ส เขต ที่ถือเป็นด่านหน้าที่สำคัญในการเป็นสะพานเชื่อมประสานระหว่างพรรคกับพี่น้องประชาชนในแต่ละเขตพื้นที่ ซึ่งพรรคให้ความสำคัญและพิถีพิถันในการคัดเลือกคนที่ใช่ที่สุดในการเป็นผู้แทนเข้าไปทำงานรับใช้พี่น้องประชาชน

‘ธนเดช’ ชม ‘ทอ.’ เปิดพื้นที่ให้ทุกพรรคหาเสียง ชี้!! นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี พากองทัพเป็นกลางทางการเมือง

(16 มี.ค. 66) ร.ท.ธนเดช เพ็งสุข ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตลาดพร้าว พรรคก้าวไกล กล่าวถึง กรณีที่ พล.อ.อ. อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เตรียมเปิดพื้นที่สโมสรกองทัพอากาศ สนามกีฬากองทัพอากาศ และหอประชุมกองทัพอากาศ ให้พรรคการเมืองสามารถเข้ามาหาเสียงกับกำลังพลได้ ว่า ในกรณีนี้เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมที่กองทัพอากาศออก มานำร่องก่อนเหล่าทัพอื่น ในการให้พื้นที่แก่พรรคการเมือง เป็นการแสดงบทบาทวางตัวอย่างเหมาะสมและเป็นกลาง

ร.ท.ธนเดช กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวยังเป็นนโยบายสำหรับเพียงกองทัพอากาศเท่านั้น ยังไม่ได้ครอบคลุมถึงเหล่าทัพอื่น ๆ ทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือ ซึ่งหากพูดถึงแต่เฉพาะกองทัพบก เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้เพิ่งมีนโยบายออกมาจากผู้บัญชาการทหารบก ไม่ให้แม้กระทั่งใช้พื้นที่ของกองทัพเป็นหน่วยเลือกตั้งด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง เพราะเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกับคำกำชับของผู้บัญชาการทหารบกเอง ที่บอกว่ากองทัพต้องเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งสำหรับตนแล้ว ไม่มีอะไรที่จะแสดงออกถึงความเป็นกลางของกองทัพได้ดีไปกว่าการเปิดพื้นที่ให้ทุกพรรคการเมืองได้เข้าไปแสดงออกรณรงค์

‘เพื่อไทย’ โวย ‘กกต.’ แบ่งเขตไม่เป็นธรรม-ส่อผิด กม. หวั่น เลือกตั้งเป็นโมฆะ ถาม กกต.รับผิดชอบไหวหรือ?

(16 มี.ค. 66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.เขตลาดกระบัง พร้อมด้วย นายสุรชาติ เทียนทอง ส.ส.กทม.เขตหลักสี่ พรรค พท.ร่วมแถลงข่าวคัดค้านแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ของ กกต.กทม.

น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า ได้เห็นประกาศจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึง กกต. กทม.ว่าจะมีการเลือกใช้การแบ่งเขตการเลือกตั้งของ กกต.แบบที่ 1 ซึ่งเป็นแบบที่พรรค พท. กังวลใจว่า ส่อขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง ที่ผ่านมามีความหวังว่า กกต.จะได้ยินเสียงการทักท้วงของพรรค พท. จึงไม่ลดละความพยายามที่จะแถลงข่าวให้เสียงดังขึ้น แต่สุดท้ายมีประกาศออกมาเลือกแบบที่ 1 จึงจำเป็นต้องส่งเสียงอีกครั้ง เพราะถือเป็นการแบ่งเขตการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม เรียกว่า Gerrymandering ที่ผู้มีอำนาจจงใจเปลี่ยนแปลงเส้นเขตเลือกตั้ง เพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ผู้ที่รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด คือภาคประชาชน คืนวานนี้ ประชาชนร้องเรียนมาว่า ได้รับผลกระทบจากการแบ่งเขต เพราะพวกเขาได้หมายมั่นปั้นมือว่าจะเลือก ส.ส.คนนี้ให้ไปเป็นผู้แทน ให้ได้มาทำงานต่อ เพราะเคยร่วมงานใกล้ชิดกันมาก่อน

ทั้งนี้ หาก กกต.ยืนยันที่จะใช้การแบ่งเขตแบบที่ 1 ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ท้ายที่สุดอาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะทั้งประเทศ กกต.ต้องกำหนดเขตเลือกตั้งและจำนวน ส.ส.แต่ละเขตเลือกตั้งกันใหม่ แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ รวมไปถึงจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคง ความมีเสถียรภาพของประเทศชาติ ความขัดแย้งทางการเมือง และงบประมาณแผ่นดิน

น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวต่อว่า หากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรักษาการนายกฯ ต่อไปจนกว่าการเลือกตั้งจะเสร็จ ซึ่งนานเท่าใดก็ไม่มีใครรู้ หมายความว่าผู้มีอำนาจนำประเทศชาติ และประชาชนเป็นตัวประกันให้กับความเสียหายนี้ใช่หรือไม่ หาก กกต.ไม่ดูดีดูดาย พิจารณาคำท้วงติงของพรรค พท. หากเกิดอันตรายเสียหายขึ้น กกต.จะรับผิดชอบไหวหรือ ถ้าหากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ทั้งนี้ พรรค พท.พร้อมสู้ทุกกติกาที่มีความยุติธรรมหรือที่ถูกกำหนดขึ้น พรรค พท.จะเดินหน้าต่อเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งให้ได้ ให้พี่น้องประชาชนได้ออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียง นำประชาธิปไตยกลับมา และทำให้ประชาชนเห็นว่าพรรคการเมืองที่พวกเขาสนับสนุนได้ใช้พลังประชาชน ไม่โอนอ่อนผ่อนตาม ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรมเหล่านั้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top