8 ปี 154 วัน กับความทรงจำนายกรัฐมนตรีไทย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์

อีกประมาณ 2 เดือนข้างหน้าจะเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ เป็นที่รู้กันว่าตามรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้ให้นายกรัฐมนตรีมีวาระในการดำรงตำแหน่งไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 8 ปี

หากย้อนดูในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 29 คน ซึ่งแต่ละคนก็มีวาระในการดำรงตำแหน่ง และห้วงเวลาสั้น ยาว แตกต่างกันไป 

แต่ถ้าพูดถึงนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในอำนาจสั้นที่สุด นั่นคือ  "ทวี บุณยะเกตุ" ซึ่งอยู่ในตำแหน่งเพียง 18 วัน เป็นช่วงเวลาแสนสั้น  แต่ภารกิจนั้นกลับสำคัญยิ่ง 

ย้อนกลับไปเมื่อ 15 สิงหาคม 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มเข้าสู่จุดสิ้นสุดเมื่อญี่ปุ่นประกาศตกลงยอมแพ้สงคราม นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ได้ออก “ประกาศสันติภาพ” อันมีใจความสำคัญว่า การประกาศสงครามของไทยต่ออังกฤษและสหรัฐฯ เป็นโมฆะ ทำให้รัฐบาลนายควง  อภัยวงศ์ ลาออกตามมารยาทการเมือง

ขณะที่ต้องรอเวลาให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา เดินทางกลับมาที่ไทยเพื่อรับตำแหน่งนายกฯ ต่อไป ทว่ามีภารกิจเร่งด่วนที่สุดของประเทศที่รอไม่ได้ คือการเจรจายุติสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ  จึงจำเป็นต้องตั้ง "รัฐบาลเฉพาะกิจ" เร่งจัดการเรื่องต่างๆ ช่วงรอยต่อจากภาวะสงคราม

"ทวี บุณยเกตุ" คือบุคคลที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี "ขัดตาทัพ" ด้วยความที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองเป็นเลขา ครม.ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ และเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดคือ นายทวี เป็นแกนนำคณะเสรีไทย ที่นายปรีดี พนมยงค์ ไว้ใจ รวมถึงเป็นที่ยอมรับของฝ่ายสัมพันธมิตร

ดังนั้นรัฐบาลของนายกฯ "ทวี บุณยเกตุ"  จึงมีอายุเพียงแค่ "18 วัน" ตั้งแต่ 31 สิงหาคม-17 กันยายน 2488  ในการทำภารกิจสำคัญเร่งด่วน คือ เตรียมการเจรจายุติสถานะสงครามกับอังกฤษ และสหรัฐฯ  พร้อมปูทางให้ไทยสมัครเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ รวมถึงเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “ไทยแลนด์” กลับมาใช้ชื่อ “สยาม”  และยุบตำแหน่ง “ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน” เพื่อลดเกียรติภูมิของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ตัดสินใจให้ความร่วมมือกับกองทัพญี่ปุ่นก่อนหน้านั้น 

กระทั่ง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เดินทางกลับถึงไทย วันที่ 17 กันยายน 2488 นายทวีได้นำคณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อเปิดทางให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช จัดตั้งรัฐบาลตามที่ตกลงกันไว้ เป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจของนายกรัฐมนตรีที่มีระยะเวลาอยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
 
เมื่อพูดถึง “นายกฯ ที่มีอายุงานสั้นที่สุด” ในมุมตรงข้าม นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด ต้องยกให้ "จอมพล ป. พิบูลสงคราม"  ที่เป็นนายกรัฐมนตรี 2 ช่วง รวมเวลายาวนานถึง 15 ปี กับอีก 11 เดือน 

เส้นทางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เริ่มจากการเป็นกำลังสายทหารในคณะราษฎร ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ก่อนนำกำลังปราบกบฏบวรเดช ปูทางก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ในปี 2481 ต่อจากพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา 

ในห้วงแรกของการเป็นนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. เดินหน้านโยบายสร้างชาติ ปลูกฝังกระแสชาตินิยมต่อเนื่อง  ตั้งแต่ออกกฎหมายสงวนอาชีพบางอย่างเฉพาะคนไทย  ใช้คำขวัญ "ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ" มีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมให้ทันสมัย เช่น สั่งห้ามกินหมาก ให้ข้าราชการนุ่งกางเกงขายาว สวมหมวก สวมรองเท้า และกล่าวคำว่า "สวัสดี" เมื่อพบปะทักทายกัน

ขณะที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิก็ถูกก่อสร้างในสมัยจอมพล ป. รวมถึง มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย" ด้วย 

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป. ตัดสินใจเลือกเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น กระทั่งปี 2487 เกิดเหตุการณ์รัฐบาลแพ้โหวตร่างกฎหมายสำคัญในสภา ทำให้จอมพล ป. ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง จอมพล ป. ต้องเผชิญวิบากกรรมในฐานะเป็นอาชญากรสงคราม กระทั่งเกิดการรัฐประหารในปี 2490 จอมพล ป. ได้รับทาบทามให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ท่ามกลางบรรยากาศสงครามเย็นและการเมืองภายในที่คานอำนาจกันระหว่างผู้นำตำรวจและทหาร จนถึงปี 2500 รัฐบาลจัดการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยข้อกังขา ก่อนถูกรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นอันจบเส้นทางนายกรัฐมนตรีของจอมพล ป.  2 ช่วงระหว่างปี 2481 - 2487 และ 2491 - 2500 นับเป็นการครองตำแหน่งที่ยาวนานที่สุดให้บรรดานายกรัฐมนตรีของไทย
 
อีกไม่นาน ประเทศไทยกำลังจะมีนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ประวัติศาสตร์การเมืองบอกเราว่าระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าสั้นหรือยาว คงไม่สำคัญ หากแต่อยู่ที่คุณภาพการบริหารบ้านเมืองและใช้อำนาจที่มีในมือทำคุณประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ในห้วงเวลาที่ครองตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของประเทศ