Friday, 10 May 2024
เลือกตั้งล่วงหน้า

‘ปชช.’ โวย!! หน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า ร.ร.พานทองฯ จ.สุรินทร์ ไม่มีเบอร์พรรค ‘ก้าวไกล’ ชาวเน็ตส่องอีก ไม่มี ‘เพื่อไทย’ ด้วย!!

(7 พ.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ธนัญญา แท่นแก้ว ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล จังหวัดสุรินทร์ เขต 4 โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า หน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า โรงเรียนพานทองสภาชนูปถัมภ์ หน่วยเลือกตั้งสุรินทร์ เขต 4 พบความผิดปกติ โดยปรากฏว่ารายชื่อปาร์ตี้ลิสต์พรรค ไม่มีพรรคก้าวไกล หมายเลข 31 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

“วันนี้เป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้า และแล้ว กกต.ก็เริ่มส่อเค้าเห็นแววความไม่ชัดเจนและไม่ตรงไปตรงมา ในหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า โรงเรียนพานทองสภาชนูปถัมภ์ หน่วยเลือกตั้ง สุรินทร์เขต 4
รายชื่อบนบอร์ดหน้าหน่วยไม่มีพรรคก้าวไกล”

น.ส.ธนัญญายังโพสต์ด้วยว่า “หน่วยเลือกตั้งไหนผิดปกติรบกวนส่งเป็นวิดีโอให้ชัดเจนได้เลยนะคะ กกต.จะได้ดิ้นไม่หลุดด้วยหลักฐาน”

‘หน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า ม.รามฯ’ ร้อนระอุ พบ ปชช.เป็นลม 14 ราย จนท.เร่งประสานรถมูลนิธิเข้าดูแล พร้อมจัดหารถพ่นละอองน้ำบรรเทา

(7 พ.ค. 66) ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เขตบางกะปิ นายไพรัตน์ เกษตรสินธุ์ ผอ.เขตบางกะปิ ให้สัมภาษณ์ถึงการดูแลความเรียบร้อยภายในหน่วยเลือกตั้ง ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงล่าสุดว่า ประชาชนมาใช้สิทธิ์ค่อนข้างเยอะ ทั้งนี้ มีการเตรียมการให้ประชาชนสแกนคิวอาร์โค้ด และสามารถไปตามชุดการเลือกตั้งทั้ง 80 ชุดที่เราจัดเตรียมไว้ให้ จึงเป็นไปด้วยความรวดเร็ว จะมีปัญหาบ้างที่ประชาชนในชุดเลือกตั้งนั้น ๆ มีจำนวนมากจนคิวต่อแถวล้น โดยเรานำเต๊นท์มาเสริมให้กับประชาชน หรือช่วยแนะนำให้เดินเข้าแถวหลบตามร่มไม้ ประมาณ 10 โมงเช้า

กรรมการประจำหน่วยบางรายเริ่มมีอาการหายใจไม่ออก ซึ่งเราได้ประสานรถมูลนิธิมาเพื่อมาปฐมพยาบาลเบื้องต้น เท่าที่ทราบมีแจ้งเข้ามา 14 คน

นายไพรัตน์กล่าวต่อว่า ประชาชนเดินทางมาตั้งแต่ช่วงเช้าถึงเวลานี้ ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ได้ บางชุดเลือกตั้งคนจะเริ่มบางตาลง ปัญหาที่พบ อาจจะมีเรื่องการเข้าหน่วยบ้าง หรือรายชื่อตกหล่นจากการลงทะเบียน ได้ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไข ปัญหาที่พบมากที่สุด คืออากาศค่อนข้างร้อน ตั้งแต่ 10.00 น. เป็นต้นมา เราได้นำเรียนผู้ว่าฯ จึงได้สั่งการให้นำรถฉีดพ่นฝอยละอองน้ำ เพื่อให้อากาศรอบนอกเขตเลือกตั้งเย็นลง ทำให้ปัญหาเจ้าหน้าที่ และประชาชนมีอาการเป็นลมน้อยลง และยังไม่ได้รับรายงานว่ามีปัญหาเรื่องการเข้าหน่วยเลือกตั้ง

ในส่วนของกรุงเทพฯ เอง ได้มีการประสานงานเพื่อขอพัดลมไอน้ำและพัดลมแรงดันสูง ซึ่งกำลังจัดหาเพิ่มเติม โดยขณะนี้ประชาชนเริ่มบางตาลง สามารถอำนวยความสะดวกมากขึ้น

เมื่อถามว่า ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องความวุ่นวายในแต่ละหน่วยใช่หรือไม่ นายไพรัตน์กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงาน ซึ่งพยายามตระเวนดูแต่ละคูหาอยู่ ซึ่งจะพบเจ้าหน้าที่เป็นลมบ้าง โดยพยายามให้รถพ่นฝอยละอองน้ำฉีดให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

เมื่อถามว่า ระยะเวลาที่เหลืออยู่จะแนะนำประชาชนอย่างไรบ้าง นายไพรัตน์กล่าวว่า ในส่วนที่คิวต่อแถวยังยาวจะแนะให้ประชาชนหลบเข้าที่ร่ม เมื่อประชาชนเริ่มบางตาลงแล้วค่อยมาใช้สิทธิ์ ซึ่งยังมีเวลาอีกหลายชั่วโมงที่กว่าจะถึง 17.00 น.

‘We Watch’ สรุปภาพรวมเลือกตั้งล่วงหน้า พบปัญหาเพียบ ชี้!! หลายหน่วยสอบตกมาตรฐานด้านการอำนวยความสะดวก

(7 พ.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก ‘We Watch’ เครือข่ายประชาชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร รายงานสถานการณ์ทั่วไปการเลือกตั้งล่วงหน้า ปัญหาด้านการอำนวยความสะดวกในการเลือกตั้งล่วงหน้า ประกอบด้วย

- สภาพอากาศร้อน มีแดดจัด หลายหน่วยเลือกตั้งไม่มีการจัดสถานที่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ต่อแถวได้มีร่ม

- ปัญหาการประชาสัมพันธ์ ประชาชนมาเลือกตั้งล่วงหน้าโดยไม่ทราบว่าต้องลงทะเบียนก่อน

- การให้ข้อมูลทั่วไปกับประชาชน เจ้าหน้าที่มีความเข้าใจผิด ไม่ยอมให้ใช้บัตรประชาชนผ่านแอปพลิเคชัน Thaid

- ปัญหาความสันสนเนื่องจากบัตร 2 ใบ หมายเลขไม่ตรงกัน และไม่มีรายละเอียดในบัตรแบ่งเขต

‘ชาวเน็ต’ แห่ติดแฮชแท็ก ‘กกต.ต้องติดคุก-กกต.มีไว้ทำไม’ พร้อมล่ารายชื่อถอดถอน ยอดพุ่งทะลุล้าน หลัง กปน.ทำงานผิดพลาด

(7 พ.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังพบความผิดพลาดของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ในการเลือกตั้งล่วงหน้า ทั้งกรณีการกรอกรายละเอียดหน้าซองบรรจุบัตรเลือกตั้งผิดพลาด ไม่กรอกรายละเอียด เขียนรหัสเขตเลือกตั้งผิดพลาด หรือบางหน่วยไม่เขียนเลย ทำให้เกิดกระแสในโซเชียลมีเดียเรียกร้องให้จับตาการทำงานของ กกต.และเกิดความไม่พอใจต่อการทำงานของ กกต.ขึ้น

จนล่าสุดส่งผลให้แฮชแท็ก ‘กกต.ต้องติดคุก’ และ ‘กกต.มีไว้ทำไม’ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ของไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการโพสต์ภาพการทำงานที่ผิดพลาดของ กปน.ในระหว่างการลงคะแนน พร้อมวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน ตลอดจนเปิดที่มาของ 7 กกต.ชุดปัจจุบันว่า ผ่านการเห็นชอบโดย คสช. และเรียกร้องให้ กกต.รับผิดชอบด้วยการลาออก เนื่องจาก 4 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งปี 62 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในการเลือกตั้งครั้งนี้ อีกทั้งยังแปลตัวย่อของ ‘กกต.’ ว่า 'โกงการเลือกตั้ง'

‘จิรพงษ์’ เผย กังวล หลังเลือกตั้งล่วงหน้า นนทบุรี พบข้อผิดพลาด แต่มั่นใจ!! ปชช.ช่วยเป็นหูเป็นตา เชื่อ กระแสตอบรับ ‘พท.’ ยังดี

(7 พ.ค. 66) นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ผู้สมัคร ส.ส.นนทบุรี เขต 2 พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีเลขา กกต.รับ พบความผิดพลาดในการเลือกตั้งล่วงหน้า จังหวัดนนทบุรีร่วม 100 ใบ โดยเขตเลือกตั้ง-รหัส ผิด ซึ่งได้มีการสั่งให้แยกหีบเพื่อคัดกรองใหม่ พร้อมบันทึกวิดีโอแยกบัตร รวมถึงเตรียมสอบเอาผิดเจ้าหน้าที่แล้วว่า รู้สึกกังวลใจเล็กน้อย แต่ตนเชื่อมั่นว่า ประชาชนจะช่วยกันจับตาการทำงานเพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด

ตนซึ่งเป็นอดีต ส.ส.นนทบุรี เชื่อว่า ผลงานจากการทำหน้าที่ของตนในฐานะผู้แทนราษฎร รวมถึงการลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ แม้แต่ช่วงโควิดและน้ำท่วม จะยังอยู่ในหัวใจของพี่น้องประชาชน จ.นนทบุรี และให้การสนับสนุนตน ข่าวที่เกิดขึ้นจะเป็นกระแสตีกลับที่ทำให้ประชาชนเลือกตนเข้ามาต่อสู้กับอำนาจรัฐ อำนาจลุงมากขึ้นด้วย

‘กกต.’ ชี้แจง หลังเลือกตั้งล่วงหน้าพบปัญหาในหลายพื้นที่ ยัน!! ภาพรวมยังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขอผู้ใช้สิทธิ์โปรดวางใจ

กกต.แจงยิบเลือกตั้งล่วงหน้าปัญหาเพียบ แต่!! ยันภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ชี้ ปมเขียนรหัสเขตผิด แก้ไข รับรองส่งถึงเขตของผู้มีสิทธิ์ เผย กรณีอ้างรายชื่อพรรคหายเคสเกิดที่ชลบุรี เหตุไอโม่งฉีกหาย 3 แผ่น แจ้งความแล้ว

(7 พ.ค. 66) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงข่าวสรุปภาพรวมการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 7 พ.ค. ว่า หลังปิดหน่วยลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าไป 1 ชั่วโมงแล้ว อยู่ระหว่างการคำนวณว่ามีผู้มาใช้สิทธิ์จำนวนเท่าไหร่ แต่คาดการณ์ด้วยสายตา คาดว่าไม่น่าจะน้อยกว่า 70% สถานการณ์ภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ใช้เวลาเฉลี่ย 3-5 นาที ต่อคน ส่วนปัญหาอุปสรรคมีอยู่ 3 อย่าง ได้แก่

1.) สภาพอากาศที่ร้อนจัด
2.) บางแห่งสถานที่คับแคบ เมื่อเทียบสัดส่วนผู้มาลงคะแนน ทำให้รอคิวนานจนเกิดความแออัดบ้างในบางจุด
3.) สภาพการจราจร 

ส่วนปัญหาในการอำนวยความสะดวกกับประชาชน และการลงคะแนน อย่างแรกคือ การจ่าหน้าซองผิดเขต แต่อยากให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสบายใจว่า บัตรถึงเขตที่ท่านมีชื่อในทะเบียนอย่างถูกต้อง เพราะมีระบบการตรวจสอบ โดยในการจ่าหน้าซอง จะมีประธานเขต จังหวัดเขตเลือกตั้ง และรหัสเขต สิ่งที่เราใช้ตรวจสอบคือรหัสเขตเลือกตั้ง ที่ประชาชนเคยบอกว่าทำไมเราไม่เอารหัสไปรษณีย์ ก็เพราะเราจะตรวจสอบอีกครั้งว่า ถ้าหากกรอกเขตผิดพลาด เราก็จะรู้จากรหัสเขตเลือกตั้ง ดังนั้น จึงไม่ใช่รหัสไปรษณีย์ตั้งแต่ต้น

นอกจากนี้ ยังตรวจสอบจากกระดาษจดลำดับที่ ตอนที่เข้าไปที่หน่วยเลือกตั้ง ซึ่งจะบอกเขตเลือกตั้ง จังหวัด รหัสเขตเลือกตั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเป็นคนจดและมอบให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเข้าคิวออกเสียงลงคะแนน

อย่างไรก็ตาม การ กปน.ที่จ่ายบัตรที่ระบุเขตคาดเคลื่อน อาจจะเกิดจากชุดที่ใช้ลงคะแนน อย่างเช่น เมื่อเช้า ชุดที่ 4 อาจจะสำคัญผิดว่าเป็นเขตที่ 4 แต่ตัวรหัสกรอกถูกต้อง เพราะกรอกตามกระดาษจดลำดับที่ ซึ่งจะเก็บไว้ทุกแผ่น จึงสามารถตรวจสอบได้ทุกซองที่จะส่งไปที่เขตเลือกตั้ง จึงอยากให้สบายใจ ว่าเราออกแบบมาเพื่อใช้เวลามีปัญหาจากการทำงานของคน แต่ระบบสามารถแก้ไขตรงนี้ได้ แต่อาจจะต้องใช้เวลา ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่ต้องทำอยู่แล้ว สำหรับกรณีหน่วยเลือกตั้งที่ จ.นนทบุรี ที่เคยให้ข่าวว่ามีการลงรหัสเขตเลือกตั้งผิดกว่า 100 รายนั้น หลังปิดหีบได้ตรวจสอบล่าสุดแล้วพบว่ามีเพียง 48 ราย

“อยากให้สบายใจว่าไม่ว่าจะจ่าหน้าซองผิดอย่างไร ก็มีระบบตรวจสอบที่สามารถนำซองที่มีทั้งบัตรแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อที่ส่งไปที่เขตอย่างถูกต้อง” นายแสวง กล่าว และว่า ส่วนกรณีที่มีการระบุว่า ไม่มีการลงรายละเอียดหน้าซองเลยนั้น ก็จะส่งไปที่เขตไม่ได้ แต่ตนยังไม่ได้รับรายงานว่าพบปัญหานี้ แต่ก็จะมีการตรวจสอบ

เลขาธิการ กกต.กล่าวอีกว่า อย่างที่ 2 เรื่องความผิดพลาดเรื่องเอกสารว่า มีชื่อพรรคบ้างไม่มีบ้างนั้น จริงบ้างเท็จบ้าง ซึ่งเราได้รับรายงานตั้งแต่เช้า จาก ผอ.จังหวัดก่อนจะเป็นข่าว และมีการแก้ไขแล้ว บางเรื่องเกิดจากคนไปฉีก ในข่าวบอกว่าเกิดที่จังหวัดสุรินทร์ แต่เมื่อตรวจสอบกลับไม่ใช่ จ.สุรินทร์ เพราะสุรินทร์ไม่มีโรงเรียนตามที่เป็นข่าว แต่ที่จริงเป็นเหตุที่เกิดที่ จ.ชลบุรี ซึ่งรายงานมาตั้งแต่เช้า จากคนไปฉีก หายไป 3 แผ่น แล้วถ่ายรูปให้เป็นข่าว แต่ก็มีการแก้ไข เช่นเดียวกับในจังหวัดอื่นก็มีการแก้ไข และไม่มีปัญหาอีก และมีการแจ้งความแล้ว

‘วิเวียน-ชพก.’ จ่อร้อง กกต. หลังเลือกตั้งล่วงหน้า เขต 8 สุดมั่ว!! แอปฯ ‘Smart Vote’ ใส่รูปผิดคน ทำ ปชช.สับสน-ผู้สมัครเสียโอกาส

(7 พ.ค. 66) นางสาววิเวียน จุลมนต์ ผู้สมัคร ส.ส. เขตเลือกตั้งที่ 8 (จตุจักร หลักสี่) เบอร์ 10 พรรคชาติพัฒนากล้า ออกมาโวย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หลังได้รับแจ้งจากประชาชนที่ไปเลือกตั้งว่า ไม่มีภาพของตนในแอปพลิเคชันบนมือถือ ว่า ตนลงพื้นที่อย่างหนักตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ภายใต้ความร้อน 43 องศา แต่ก็ยังไม่ร้อนเท่ากับวันนี้ ที่ได้รับแจ้งจากประชาชนว่าภาพของตนหายไปจากแอปพลิเคชัน ‘Smart Vote’ ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ได้เผยแพร่ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจของประชาชน

‘กกต.-ไปรษณีย์’ นำทีมสื่อร่วมสังเกตการณ์นับบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ยัน ไม่มีบัตรเสีย-ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน มั่นใจ!! เลือกตั้งไม่เป็นโมฆะ

‘กกต.-ไปรษณีย์’ นำทีมสื่อมวลชนสังเกตการณ์นับจำนวนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ก่อนส่งถึง 400 เขต ภายในวันที่ 12 พ.ค. 66 ขออย่ากังวลปมจ่าหน้าซองผิด ตรวจสอบได้ส่งถึงทุกคะแนนไม่มีบัตรเสีย การันตีไม่ทำคะแนนตกน้ำ มั่นใจ!! ไม่กระทบการเลือกตั้งเป็นโมฆะ

(8 พ.ค. 66) ที่สำนักงานไปรษณีย์ สำนักงานใหญ่ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมด้วย นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไปรษณีย์ไทย ได้นำคณะสื่อมวลชนร่วมติดตามการนับจำนวนและคัดแยกบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง ที่ผ่านการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า และบัตรลงคะแนนผู้พิการ ผู้สูงอายุ เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา รวมถึงบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ที่ส่งเข้ามาถึงประเทศไทยแล้ว

นายดนันท์ กล่าวว่า ในส่วนของบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรมีทยอยเข้ามา กว่า 60,000 ใบ หรือประมาณ 67% จาก 45 ประเทศ จากจำนวนทั้งหมด 67 ประเทศ มีคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ กรมการกงสุล กกต. และไปรษณีย์ตรวจคัดแยก ขณะนี้ บัตรเลือกตั้งล่วงหน้าในประเทศ เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ถูกได้ขนส่งมายังศูนย์คัดแยกเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างทำการคัดแยกโดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วย กกต. และไปรษณีย์ โดยในเบื้องต้นอยู่ในส่วนของการตรวจนับ และคัดแยก ยังไม่ถึงการคัดกรองที่จำตรวจเรื่องของการจ่าหน้าซองบัตร

อย่างไรก็ตาม กระบวนการคัดแยก ตรวจสอบจะใช้เวลาภายในวันที่ 7-9 พ.ค. ช้าสุดคือ วันที่ 10 พ.ค.นี้ และเริ่มส่งไปยัง 400 เขต คาดว่าจะถึงภูมิลำเนาของภายในวันที่ 12 พ.ค.นี้ ยืนยันว่าการดำเนินการในศูนย์คัดแยกจะมีวอร์รูมคอยมอนิเตอร์ดูการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีเจ้าหน้าที่ กกต.มาร่วมทำงานด้วย สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เข้าพื้นที่ต้องลงทะเบียน ยืนยันตัวตน ห้ามนำอุปกรณ์ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือเข้าไป และเมื่อออกจากศูนย์ จะต้องมีการตรวจค้นก่อน สำหรับขั้นตอนการตรวจนับและคัดแยกบัตรเลือกตั้ง จะตรวจรหัสซ้ำ 3 รอบ เพื่อให้แน่ใจว่าบัตรลงคะแนนจะถูกส่งตรงตามที่ผู้ลงคะแนน

ด้าน นายแสวง กล่าวว่า จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าประมาณ 91.83% ต้องขอบคุณผู้มาใช้สิทธิ์ ที่มาด้วยแรงศรัทธาประชาธิปไตย ซึ่งสำนักงาน กกต.สัญญาว่า จะรักษาทุกเสียงที่ประชาชนได้ลงคะแนนไว้ ส่วนกรรมการประจำหน่วย และอนุกรรมการประจำเขต ซึ่งการทำงานอาจจะมีการผิดพลาดบ้าง แต่ขอบคุณที่อดทนทั้งต่อสภาพอากาศ และแรงเสียดทานทางการเมือง ทำงานร่วมกว่า 16 ชั่วโมง รวมถึงประชาชนที่ร่วมกันตรวจสอบการทำงานของ กปน. และ กกต. ซึ่งมีทั้งเรื่องจริง เรื่องเท็จ แต่สั่งให้ ผอ.ทุกจังหวัด รายงานเข้ามาทุกเรื่องที่ปรากฏเป็นข่าว ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร มีการแก้ไขอย่างไร เป็นเรื่องดีที่สิ่งที่เราทำอยู่นั้นอยู่ในสายตาของประชาชนเสมอ

ส่วนวันเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. จะไม่ให้มีสิ่งผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นอีก และคาดว่าเลือกตั้งในวันดังกล่าว การบริหารจัดการจะง่ายกว่านี้ เพราะไม่ต้องส่งไปรษณีย์ และบุคลากรที่จะทำงานมีมากกว่านี้ การลงคะแนนตรงตามหน่วยเลือกตั้งนั้นๆ ประชาชนจะไม่สับสน แต่คิดว่าเรื่องหีบไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่สำคัญคือ ปัญหาการจ่าหน้าซอง แต่ก็ยืนยันว่าเรามีกระบวนการตรวจสอบ ขอให้ผู้ใช้สิทธิ์มั่นใจว่า ซองบรรจุบัตรเลือกตั้งจะถูกส่งไปยังหน่วยเลือกตั้งของผู้มีสิทธิ์

นายแสวง ยังกล่าวถึงกระบวนการตรวจสอบคัดแยกบัตร กรณีกรรมการประจำหน่วยเขียนรหัสจังหวัด หรือเขตเลือกตั้งผิดพลาดว่า หลังปิดหีบจะมีการตรวจสอบว่าต้นขั้วที่ใช้ไป กับจำนวนบัตรที่ออกเสียงตรงกันหรือไม่ และกรรมการประจำหน่วยจะทำบัญชีมา เมื่อไปรษณีย์ได้รับถุงบัตรมาแล้ว ก็จะทำการตรวจเบื้องต้น เมื่อคัดแยกเสร็จก็จะดูว่า จำนวนซองที่คัดแยกกับยอดต้นขั้วตรงกันหรือไม่ ดังนั้น ยอดจะกระทบกันโดยอัตโนมัติ

“ถ้ามีการจ่าหน้าซอง ถ้าถูกต้องทั้ง 3 จุด ก็จะถูกแยกออกไปเลย แต่ถ้ามีปัญหากรอกครบแต่เขียนเขตหรือรหัสเลือกตั้งผิด จะยึดรหัสเขตเลือกตั้ง 3 ตัวท้าย ซึ่งอยู่ด้านล่างของซองเป็นหลัก แต่ถ้ากรอกไม่ครบ หรือไม่มีรายละเอียดใดๆ หรือไม่มีการกรอกอะไรเลย ซึ่งส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะมี แต่ถ้ามีจะถูกส่งมาให้คณะกรรมการ ที่มีเจ้าหน้าที่ กกต. และไปรษณีย์วินิจฉัยว่า ซองนี้จะไปลงเขตใด ซึ่งจะต้องไปสอบทานกับต้นขั้วก่อน ยอมรับว่าอาจจะยุ่งยากพอสมควร” นายแสวง กล่าว

เมื่อถามว่า มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ ซึ่งส่วนใหญ่พบว่า มีการกรอกรหัส 3 ตัวท้ายผิด นายแสวงกล่าวว่า เขตเลือกตั้งนั้นคิดว่าประชาชนทราบ แต่รหัสเขต 3 ตัวท้าย ไม่รู้ว่าประชาชนเข้าใจหรือไม่ อาจจะเข้าใจว่า กปน.ต้องกรอกรหัสไปรษณีย์ที่ตนเองมีภูมิลำเนาอยู่ ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของ กปน. แต่การที่เราออกแบบการจ่าหน้าซอง ให้เขียนถึง 3 ชั้น เพื่อที่เวลาเกิดปัญหาก็จะสามารถตรวจสอบได้ และสามารถส่งบัตรเลือกตั้งนั้นส่งไปยังหน่วยเลือกตั้งที่ประชาชนผู้มีสิทธิ์อยู่ ดังนั้น ยืนยันว่า แม้จะมีการตั้งข้อสังเกตการทำงานของ กปน. แต่ยืนยันว่าบัตรทุกใบไม่เป็นบัตรเสีย คะแนนเสียงไม่ตกน้ำ

‘ก้าวไกล’ ร้อง ‘กกต.’ เปิดข้อมูลผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้ารายเขต แนะ ถอดบทเรียน ป้องกันข้อความผิดพลาดก่อนเลือกตั้ง 14 พ.ค.นี้

(9 พ.ค. 66) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยื่นคำร้องต่อประธาน กกต.ขอให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม ว่า

ประเด็นที่ 1 เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 7 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ขณะที่แต่ละจังหวัดได้แถลงข้อมูลว่า มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าเป็นจำนวนเท่าไร เดินทางมาใช้สิทธิ์จริงเป็นจำนวนเท่าไร ซึ่งบางเขตมีผู้มาใช้สิทธิ์ตั้งแต่ 90% จนถึง 100% แต่ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีการเปิดเผยข้อมูลว่า มีผู้เดินทางมาใช้สิทธิ์เป็นจำนวนเกิน 100% ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะออกมาแก้ไขจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ที่ถูกต้อง ซึ่งส่วนตัวยอมรับได้ ซึ่งปัญหาหลังการเลือกตั้งล่วงหน้านั้น ตนก็ยังไม่รู้ว่ามีผู้เข้ามาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งในและนอกเขตเป็นจำนวนเท่าไร โดยตนอยากให้ กกต.แจ้งรายละเอียดเป็นรายเขต ทั้ง 400 เขตเลือกตั้ง และมีผู้มาใช้สิทธิ์จริงเป็นจำนวนเท่าไร

อีกทั้ง กรณีซองไปรษณีย์สำหรับใส่บัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ก็อยากทราบเหมือนกันว่า เมื่อแยกเป็นเขตแล้วมีจำนวนเท่าไร ซึ่งมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งกรณีความผิดพลาดในการกรอกข้อมูลต่าง ๆ ลงบนซองไปรษณีย์นั้นถูกต้องหรือไม่ ซึ่งปัญหาดังกล่าว กกต.ได้ออกมาชี้แจงแล้ว แต่ถ้าไม่ได้จัดทำรายละเอียดตามที่ตนระบุ จะไม่ทราบว่ามีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์ และมาใช้สิทธิ์เป็นจำนวนเท่าไร รวมถึงการส่งไปรษณีย์กลับไปนับคะแนนเป็นจำนวนเท่าไร บัตรจะตรงกับผู้ใช้สิทธิ์หรือไม่ ถ้าไม่ตรงกันเล็กน้อยก็อาจจะเกิดความผิดพลาดที่ไม่มาก แต่ถ้าไม่ตรงกันเป็นจำนวนมาก ก็จะมีข้อสงสัยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.น่าจะเกิดความไม่เป็นธรรมต่อทุกพรรคการเมือง

ประเด็นที่ 2 ถ้าดูตามระเบียบของ กกต.จะต้องประกาศเรื่องการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในนอกเขต และจะต้องประกาศว่า จะมีการนับคะแนนที่ใดไม่น้อยกว่า 10 วันก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. แม้ว่าทางการเมืองจะทราบแล้วว่า กกต.ได้มีการประกาศจำนวนผู้เดินทางมาใช้สิทธิ์แล้วก่อนหน้านี้ แต่ก็ไม่ได้ประกาศลงในเว็บไซต์ และยังตรวจพบว่า การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นในบางจังหวัด ซึ่งไม่ทั่วถึง ซึ่งจะทำให้ทั้งตัวแทนพรรคการเมือง ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า ภาคประชาชน และผู้สังเกตการณ์จะไม่ทราบเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องของการนับบัตรทั้งในและนอกเขต รวมถึงนอกราชอาณาจักร ซึ่งจะทำให้ผู้สังเกตการณ์ไม่สามารถรู้ถึงสถานที่นับคะแนน

ประเด็นที่ 3 ทราบว่าทั้งประเทศมีหน่วยเลือกตั้งเกือบแสนหน่วยตามที่ กกต.ได้ประกาศ แต่ไม่มีรายละเอียดที่ลงไว้ในเว็บไซต์ทั้งในส่วนกลาง และต่างจังหวัดที่ไม่ได้ลงข้อมูลดังกล่าว ทำให้ประชาชนไม่ทราบว่าหน่วยเลือกตั้งของตนเองอยู่ที่ไหน

โดยทั้ง 3 ประเด็นตนขอให้สำนักงาน กกต.ได้จัดทำข้อมูลดังกล่าวเป็นรูปแบบของไมโครซอฟต์ เอกซ์เซล เพื่อชี้จุดว่า เลือกตั้งอยู่ที่ไหน รวมถึงหน่วยเลือกตั้งกว่าแสนหน่วยนั้นอยู่ที่ใดบ้าง โดยขอให้ กกต.ส่วนกลางได้แจ้งพื้นที่ เพื่อประกาศข้อมูลลงไปในเว็บไซต์ทุกจังหวัด เพื่อให้ประชาชนทราบต่อไป

เมื่อถามว่า กรณีความผิดพลาดในการเลือกตั้งล่วงหน้าที่เกิดขึ้น มีทั้งภาคประชาชนและการเมืองบางส่วน ออกมาเรียกร้องว่าให้การเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นโมฆะเพื่อความโปร่งใส นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า การเลือกตั้งล่วงหน้าจะเป็นโมฆะหรือไม่ ต้องดูข้อเท็จจริงในหลายปัจจัย ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาเกี่ยวกับการร้องเรียนในขั้นตอนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดที่พบ เป็นเพียงความผิดพลาดส่วนบุคคล ส่วนตัวมองว่ากรรมการประจำหน่วยอาจจะเกิดความไม่เข้าใจแม้จะมีการอบรม เมื่อ กกต.ทราบปัญหาดังกล่าวแล้ว ก็จะควรเร่งทำความเข้าใจ โดยส่วนตัวมาว่าเร็วไปถ้าทำให้การเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นโมฆะ ซึ่ง กกต.มีเวลาแก้ไขก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2566 ให้การเลือกตั้งครั้งนี้เดินหน้าไปดีกว่า

ส่วนรายละเอียดเรื่องที่จะฟ้องร้อง กกต.หรือไม่นั้น นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ยังอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูล ซึ่งเบื้องต้นพบเพียงว่าเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ ใช่ปัญหาความตั้งใจของ กกต.หรือระเบียบข้อกฎหมายที่จะส่อไปได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีใครที่ต้องการให้เหตุการณ์เช่นนั้นเป็นไปหรือไม่ ยอมรับว่า พรรคก้าวไกลเป็นผู้ที่เสียหาย และเสียผลประโยชน์ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะต้องรวบรวมข้อมูลความเสียหายที่เกิดขึ้น ว่าจะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งของพรรคก้าวไกลหรือไม่ หากมีข้อมูลหรือมีหลักฐานที่ส่อว่าเป็นไปตามนั้นก็จะต้องมีผู้รับผิดชอบ ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ แต่ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ระดับนโยบาย คือ กกต. ส่วนตัวย้ำว่า กกต.ชุดนี้มีประสบการณ์ในการจัดการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 แล้ว ซึ่งผ่านมาแล้ว 4 ปี ถ้าหากทำให้เกิดผลกระทบต่อการเลือกตั้ง กกต.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

‘กกต.’ ร่อนหนังสือกำชับ ผอ.กกต. ทุกจังหวัดทั่วประเทศ คุมเข้มเลือกตั้ง 14 พ.ค.นี้ ย้ำ!! ทำงานรอบคอบ กันผิดพลาดซ้ำ

(9 พ.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด และกรุงเทพมหานคร เรื่องกำชับการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง ว่าในการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยภาพรวมของการจัดการเลือกตั้งจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ปรากฏข้อมูลตามสื่อต่างๆ พบความผิดพลาดในการปฎิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประจำที่เลือกตั้งกลางหลายแห่ง ดังนั้น เพื่อให้การเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 14 พ.ค.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงขอให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

ในการอบรมคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ให้เน้นย้ำการปฎิบัติหน้าที่ให้เป็นไปด้วยความรอบคอบและถูกต้องตามกฏหมาย ระเบียบ ประกาศ และแนวทางที่ กกต.กำหนด คู่มือปฎิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่พนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด หากมีเหตุการณ์ใดให้บันทึกลงในรายงานเหตุการณ์ประจำที่เลือกตั้ง ส.ส.

การดำเนินงานในวันเลือกตั้ง ก่อนเปิดการลงคะแนน ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งตรวจสอบความถูกต้องของป้ายปิดประกาศให้ครบถ้วน และเมื่อเสร็จสิ้นการนับคะแนน ให้รีบดำเนินการรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการโดยเร็ว

กำชับการปฎิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้งและผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และแนวทางที่ กกต.กำหนด โดยให้ ผู้อำนวยการสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดและกรุงเทพฯ ปฎิบัติหน้าที่ในการอำนวยการจัดการเลือกตั้งด้วยความเข้มแข็งและรับผิดชอบ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือ คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง และผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ในกรณีที่มีปัญหาหรือข้อขัดข้องในการปฎิบัติหน้าที่

ทั้งนี้ ในกรณีเกิดเหตุจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอย่างอื่นในวันเลือกตั้ง และมีผลกระทบต่อการออกเสียงลงคะแนน หรือการนับคะแนนให้รายงานเหตุดังกล่าวต่อสำนักงาน กกต.โดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม ในตอนท้ายของหนังสือ ยังระบุว่า ได้แจ้งรายชื่อและเลขโทรศัพท์ของผู้บริหารและฝ่ายที่รับผิดชอบ เพื่อใช้ในการติดต่อประสานงาน และแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ ไปให้กับผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top