Saturday, 4 May 2024
เชียงใหม่

เชียงใหม่ - มทบ.33 ดำเนินกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลฯ

มณฑลทหารบกที่ 33 ดำเนินกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ จัดกำลังพลจิตอาสาพระราชทาน ทำการพัฒนาลอกคลองช้างคลาน (สาขาคลองแม่ข่า) ชุมชนบ้านเอื้ออาทรป่าตัน ต.ป่าตัน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 28 ก.ค.64 โดยได้ดำเนินการลอกคลอง , เก็บจอกแหน , ผักตบชวา , เศษวัชพืช และปรับปรุงภูมิทัศน์สองฝั่งคลอง ระยะทาง 500 เมตร 

โดยมีหน่วยงานร่วมพัฒนาประกอบด้วย มณฑลทหารบกที่ 33 , ศูนย์ปฏิบัติการบริหารการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ( ศป.บส.ชน.) , เทศบาลนครเชียงใหม่ และประชาชนจิตอาสาชุมชนบ้านเอื้ออาทรป่าตัน ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด - 19 อย่างเคร่งครัด 

ทั้งนี้ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ได้มอบหมายให้ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 มาพบปะเยี่ยมให้กำลังใจแก่กำลังพลในการปฏิบัติงาน


ภาพ/ข่าว  ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน

เชียงใหม่ - เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ทำโครงการวิจัยอนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ป่าที่สำคัญและหายากเพื่อการอนุรักษ์

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 ในขณะที่ประเทศกำลังกังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีที่นอกจากการป้องกันความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว และผู้ปฏิบัติงานทุกคนแล้ว ยังได้มีมาตรการต่าง ๆ ในการดูแลสัตว์ทุกชนิด และยังมีแนวทางในการอนุรักษ์วิจัย เพื่อส่งต่อพันธุกรรมของสัตว์ป่าหายากเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป

นายเบญจพล นาคประเสริฐ กรรมการบริหาร ปฏิบัติหน้าที่แทน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร เปิดเผยว่า เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเป็นหนึ่งในแหล่งที่ดูแล รวบรวมสายพันธุ์ของสัตว์ป่าที่สำคัญและหายากไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งพันธุ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ของประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งในระดับนานาชาติได้มีการศึกษาวิจัย เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าเหล่านี้อยู่หลายหน่วยงาน เช่น WAZA (The world zoo and aquarium association) ได้กำหนดหน้าที่ของสมาชิกสวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในระดับโลก ให้ตระหนักถึงการรับผิดชอบต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยให้การสนับสนุนความรู้ด้านการวิจัยเพื่อการอนุรักษ์เชิงบูรณาการอย่างยั่งยืน ตามรายชื่อในบัญชีแดงของ IUCN (IUCN Red list) หรือ SEAZA (South East Asian Zoo Association) โดยมีเป้าหมายในการจัดการประชากรของสายพันธุ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ของภูมิภาคในสวนสัตว์อย่างยั่งยืนเพื่อการอนุรักษ์

และปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนสัตว์ป่าหลายชนิดที่มีการลดลงอย่างต่อเนื่องในธรรมชาติ เช่น เสือปลา กวางผา เลียงผา เสือดำ/ เสือดาว หมีหมา หมีควาย กระทิง วัวแดง สุนัขจิ้งจอกสีทอง หมาไน ฯลฯ อันเนื่องมาจากมีการบุกรุกของมนุษย์ เช่น การทำลายธรรมชาติ ทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย เป็นต้น จึงทำให้จำนวนของสัตว์ป่าบางชนิดมีแนวโน้มที่จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ ซึ่งการลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่องของสัตว์ป่านั้นไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น ในต่างประเทศทั่วโลกก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน ดังนั้นจึงได้มีการคิดค้นวิธีการที่จะช่วยอนุรักษ์พันธุ์ของสัตว์เหล่านี้ไว้ให้คงอยู่ต่อไป โดยใช้วิธีที่เรียกว่า “เทคโนโลยีช่วยสืบพันธุ์ในสัตว์ป่าหายาก” (Assisted reproductive technology for endangered species) ซึ่งมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน

เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี จึงได้ร่วมกับภาควิชาศัลยศาสตร์และวิทยาการสืบพันธุ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพเชียงใหม่ เลือกทำการวิจัยทางด้านการรีดน้ำเชื้อ การตรวจคุณภาพน้ำเชื้อ และการทำน้ำเชื้อแช่แข็ง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่นิยมใช้ทั่วโลก มีความปลอดภัยสูงต่อสัตว์ และสามารถพัฒนาสายพันธุ์ให้คงอยู่ได้อย่างสมดุลในธรรมชาติ ซึ่งนำไปสู่การดำเนินโครงการ “คืนม้าเทวดาสู่ยอดดอย” ที่เป็นโครงการต่อเนื่องในการวิจัยและอนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ป่าหายากของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีต่อไป

ทั้งนี้ ในช่วงเวลานี้เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ และดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด โดยนักท่องเที่ยวจะต้องลงทะเบียนจองการเข้าชมในช่องทางออนไลน์ล่วงหน้า ได้ที่ www.chiangmainightsafari.com


ภาพ/ข่าว  นภาพร / เชียงใหม่

เชียงใหม่ - วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ มอบอาหารกล่องและน้ำดื่ม ในโครงการ “อาชีวะร่วมด้วยช่วยประชาชน FIX IT จิตอาสา” ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

เมื่อวันจันทร์ ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ 2564 เวลา 10.30 น ที่หน้าวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ นายสมบัติ นาหลวง ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ พร้อมด้วย ผู้บริหาร คณะครู บุคลากรทางการศึกษา และงานโครงการพิเศษและบริการชุมชน มอบอาหารกล่องและน้ำดื่ม หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ตามโครงการ "อาชีวะร่วมใจ ต้านภัยโควิด"

นายสมบัติ นาหลวง ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ กล่าวว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ได้รับมอบหมายจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มอบหมายให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ดำเนินการช่วยเหลือประชาชน ผู้ประสบภัยพิบัติจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสติดเชื้อโคโรน่า 2019 (Covid-19) จัดตั้งโรงครัวประกอบอาหารปรุงสุก ในโครงการ “อาชีวะร่วมด้วยช่วยประชาชน FIX IT จิตอาสา” ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ได้รับความเดือดร้อน จากสถานการณ์ดังกล่าว

โดยได้จัดทำอาหารกลางวันในรูปแบบอาหารกล่อง มอบให้กับโรงพยาบาลสันทราย โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ และแจกอาหารกลางวัน ในรูปแบบอาหารกล่องพร้อมน้ำดื่ม หน้ากากผ้าพร้อมด้วยเจลแอลกอฮอล์แบบหลอด ให้กับประชาชนบริเวณด้านหน้า บริเวณหน้าวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ตั้งแต่วันที่ 26 - 30 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.45 น. ถึง 12.00 น. หรือแจกตามจำนวนอาหาร  ขอเชิญผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสติดเชื้อโคโรน่า 2019 รับอาหารและน้ำดื่มได้ที่บริเวณหน้าวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 ใส่Mask เว้นระยะห่าง Social Distancing ตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์


ภาพ/ข่าว  นภาพร / เชียงใหม่

เชียงใหม่ - เทศบาลนครเชียงใหม่ จัดกิจกรรมรณรงค์ “ล้างเมืองเชียงใหม่ สู้ภัยโควิด -19”

เทศบาลนครเชียงใหม่ จัดกิจกรรมล้างเมืองเชียงใหม่ สู้ภัยโควิด-19 ล้างถนนและทางเท้าด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ทำความสะอาดเมืองเชียงใหม่ สร้างความมั่นใจให้ประชาชน

วันที่ 2 สิงหาคม 2564 เวลา 20.00 น. ณ บริเวณข่วงประตูท่าแพ นายไทณ์ โรจน์รัตนจินดา รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมรณรงค์ ล้างเมืองเชียงใหม่ สู้ภัยโควิด -19 เป็นการเดินหน้านโยบายของเทศบาลฯ ภายใต้หลักการ “สร้าง สาน เสริม” การสร้างใหม่ สานต่อ และเสริมพลังการพัฒนา ซึ่งเทศบาลนครเชียงใหม่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงได้จัดให้มีการทำความสะอาดถนนและทางเท้าในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ทั้งสี่แขวงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้แก่ประชาชนชาวเชียงใหม่

การจัดกิจกรรมดังกล่าวในช่วงเวลากลางคืนเพื่อให้กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนน้อยที่สุด โดยมี นางบงกช ตุวานนท์ ประธานสภาเทศบาลนครเชียงใหม่ นางสาวรัชนี ชมชื่น รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ นายพิศุทธ์ พิศุทธกุล นางสาวพรผกา ตาระกา ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ สมาชิกสภาเทศบาลนครเชียงใหม่ หัวหน้าแขวงทั้งสี่แขวง เจ้าหน้าที่เทศบาล และประชาชนชาวเชียงใหม่ เข้าร่วมกิจกรรม


ภาพ/ข่าว  นภาพร / เชียงใหม่

เชียงใหม่ - ม.แม่โจ้ MOU ร่วมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชงอินทรีย์ภาคเหนือ ปลูกกัญชงอินทรีย์-สร้างผลิตภัณฑ์ต่อยอดเชิงพาณิชย์-บันทึกข้อมูลระบบ Cloud เพื่อประโยชน์แก่เกษตรกร

วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2564 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชงอินทรีย์ภาคเหนือ (Northern organic Hemp: NOH) ซึ่งประกอบไปด้วยวิสาหกิจชุมชนจากจังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และลำพูน จำนวน 16  วิสาหกิจชุมชน ในโครงการปลูกกัญชงสายพันธุ์ที่ให้สารสำคัญสูง เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตในภาคเหนือของประเทศไทย ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพและจัดทำเป็นฐานข้อมูลสะดวกใช้ในระบบ Cloud 

โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ นายสุชาติ  อินต๊ะเขียว ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกกัญชงอินทรีย์ภาคเหนือ เป็นผู้แทนลงนามทั้งสองฝ่าย โอกาสนี้ นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(ปฏิบัติงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) และ ดร.ธนสาร  ธรรมสอน ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวแสดงความยินดีและให้กำลังใจ (ผ่านระบบออนไลน์) แก่เกษตรกรในเครือข่ายที่ได้ร่วมโครงการกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้  ทั้งนี้ มีคณะผู้บริหารของทางสองหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยายาน ณ สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้

โครงการปลูกกัญชงสายพันธุ์ที่ให้สารสำคัญสูง เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตในภาคเหนือของประเทศไทย ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพและจัดทำเป็นฐานข้อมูลสะดวกใช้ในระบบ Cloud  เป็นโครงการที่ทั้งสองฝ่ายมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการขอรับอนุญาตผลิต (ปลูก)กัญชง ผลิตผลิตภัณฑ์จากพืชกัญชงและนำผลผลิตและผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์  โดยร่วมกันสนับสนุนองค์ความรู้ และนวัตกรรมในเกษตรกรเพาะปลูกกัญชงระบบเกษตรอินทรีย์  ร่วมกันทดลองสายพันธุ์กัญชงที่มีเสถียรภาพ ผลผลิตต่อไร่สูง ให้สารสำคัญ CBD สูง มี THC ต่ำตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของภาคเหนือ และยังดำเนินการรวบรวมและพัฒนาข้อมูลการปลูกกัญชงอินทรีย์ทั้งกระบวนการ แล้วจัดเก็บฐานข้อมูลในระบบคลาวด์ เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานและเป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกร และประชาชนที่สนใจต่อไปในอนาคต  

ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันแต่งตั้งคณะทำงานและนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมพัฒนาและมอบหมายให้ผู้แทนของแต่ละฝ่ายได้ตกลงกันในรายละเอียดภายใต้วัตถุประสงค์และขอบเขตความร่วมมือ หน้าที่และความรับผิดชอบตามที่กำหนด โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี


ภาพ/ข่าว  วิภาดา

เชียงใหม่ - พิธีทำบุญครบรอบ 49 ปี คณะพยาบาลศาสตร์ มช. พร้อมจัดพิธีมอบโล่รางวัลอาจารย์และบุคลากรดีเด่น ประจำปี 2564

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม 2564 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิธีทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 49 ปี และ วาระปีที่ 61 การศึกษาพยาบาล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี แก้วธรรมานุกูล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ เป็นประธาน ภายในพิธีได้นิมนต์พระสงฆ์จากวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ มาประกอบพิธีทางศาสนา หลังจากนั้นได้จัดพิธีมอบโล่รางวัลอาจารย์และบุคลากรดีเด่น ประจำปี 2564

ประกอบด้วย อาจารย์ดีเด่น ด้านการจัดการเรียนการสอน ได้แก่ ผศ.ดร.คัทลียา ศิริภัทรากูร แสนหลวง ด้านการวิจัย/นวัตกรรมทางการพยาบาล ได้แก่ ผศ.ดร.วันเพ็ญ  ทรงคำ ด้านคุณธรรม จริยธรรม ได้แก่ ผศ.ดร.วรันธร จงรุ่งโรจน์สกุล ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ ผศ.ดร.โรจนี จินตนาวัฒน์ บุคลากรดีเด่น สายปฏิบัติการ ได้แก่ ว่าที่ร้อยตรี ธนากรณ์ ทำการดี สายบริการ ได้แก่ คุณสายทอง บุญเรือง และ ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ คุณรัชนี ทีปกากร รางวัลดังกล่าวมอบเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานและประกาศเชิดชูคุณงามความดีให้เป็นเกียรติประวัติสืบไป

นอกจากนี้ได้มอบเข็มที่ระลึกแด่ผู้ที่ปฏิบัติงานในคณะฯ ครบ 30 ปี ได้แก่ ผศ.ดร.ฐิติณัฎฐ์  อัคคะเดชอนันต์  รศ.ดร.ประทุม สร้อยวงค์ อ.ดร.หรรษา เศรษฐบุปผา และ คุณสังวาลย์ บุญมา ตลอดจนได้มอบกระเช้าดอกไม้ร่วมแสดงความยินดีแด่ อ.ดร.หรรษา เศรษฐบุปผา รับรางวัลบุคคลที่ดำเนินการดีเด่นด้านการป้องกันควบคุม การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประจำปี 2564 จาก สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รศ.ดร.จุฑามาศ โชติบาง รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นบัณฑิตวิทยาลัย ประเภทบูรณาการทั่วไป จากมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2562 คุณสายทอง คำป้อ รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2563 (ครุฑทองคำ) ประเภทลูกจ้างประจำ และ ศ.ดร.นงเยาว์ เกษตร์ภิบาล ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งฯ เป็น ศาสตราจารย์ ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคาร 4 คณะพยาบาลศาสตร์ โดยมีการถ่ายทอดสดให้ได้รับชมผ่านทาง Nurse CMU Youtube การดำเนินงานจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นไปตามประกาศของจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19


ภาพ/ข่าว  วิภาดา / เชียงใหม่

เชียงใหม่ - รพ.สวนดอก เปิดวอล์กอินผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรค เรื้อรัง ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวันจันทร์และวันศุกร์

รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ย้ำลูกหลานพาพ่อแม่อายุ 60 ปี ขึ้นไป มาฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบวอล์กอิน เผยผู้สูงอายุเชียงใหม่รับวัคซีนยังน้อย หากติดเชื้อความเสี่ยงเสียชีวิตสูง ส่วนหญิงนน.เกิน 70 กก.และชาย นน.เกิน 90 กก. หรือมีดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่าเท่ากับ 30 วอล์กอินรับวัคซีนได้เลย ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันจันทร์ และวันศุกร์

ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ได้เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ระยะแรกใช้สถานที่ชั้น 15 อาคารเฉลิมพระบารมี คณะแพทยศาสตร์ มช. เพื่อทำการทดสอบระบบการฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่อมาย้ายไปที่ชั้น 2 อาคารเรียนรวม คณะแพยศาสตร์ มช. ซึ่งพบว่ามีผู้มารับการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมากทำให้พื้นที่มีความแออัด จึงได้ขออนุมัติไปยังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถานที่ในการฉีดวัคซีนให้กับภาคประชาชนและบุคลากร

หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้การสนับสนุนทั้งสถานที่ และบุคลากร ให้เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ที่สามารถฉีดได้มากถึง 1,700 คนต่อวัน โดยเริ่มฉีดระหว่างเวลา 08.00-14.00 น. ปัจจุบันฉีดไปแล้วทั้งหมดประมาณ 6 หมื่นราย เราได้ใช้หอประชุมอย่างเต็มพื้นที่ ทั้งการลงทะเบียน การคัดกรอง , การฉีดวัคซีน , การสังเกตอาการ และการปฐมพยาบาล แต่ด้วยวัคซีนที่วางแผนและถูกจัดส่งมาจากทางจังหวัดไม่ได้มีมากตามที่ได้คาดการณ์ไว้ จึงทำให้ไม่สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ทุกวัน ทางรพ.มหาราชนครเชียงใหม่ จึงลดการฉีดลงเหลือเพียงแค่ 3 วัน คือ วันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์เท่านั้น

ปัจจุบันมีผู้ได้รับ SMS นัดรับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวนมาก โดยในตอนนี้จังหวัดเชียงใหม่ใช้สูตรในการฉีดคือ วัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 ซึ่งต้องห่างจากเข็มที่ 1 ประมาณ 3 สัปดาห์ รวมทั้งฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 ให้กับประชาชนที่ทำการวอล์กอินเข้ามา ภายใต้การบัญชาของกรรมการวัคซีนจังหวัด โดยระยะแรกประชาชนที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ “ก๋ำแปงเวียง” บุคคลที่เน้นตอนแรกคือกลุ่ม 607 หมายถึง กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง แต่ในภาพรวมของจังหวัด ยังพบว่าประชาชนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ในจังหวัดเชียงใหม่ ฉีดวัคซีนเพียงแค่ 35 % ยังไม่ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ หากผู้สูงอายุได้รับการฉีดอย่างน้อย 50% ขึ้นไปแล้ว หลังจากนั้นจึงจะเป็นการฉีดวัคซีนในภาคประชาชนทั่วไป ซึ่งคงจะไม่นานนัก ขอให้ประชาชนรออีกสักนิด เพราะกลุ่มผู้สูงอายุเมื่อป่วยจะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูง ดังนั้นนโยบายจังหวัดตอนนี้จึงยังคงเน้นที่กลุ่ม 607 อยู่ และได้เปิดวอล์กอินให้เข้ามาฉีดวัคซีนมากขึ้น”

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า “ในส่วน รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 และ 30 สิงหาคม 2564 ได้เปิดวอล์กอินเต็มกำลัง 1,000 คน ต่อวัน ให้ผู้สูงอายุเข้ามาฉีด แต่ก็ยังพบว่ามีผู้สูงอายุมาฉีดน้อยมากเพียงแค่ประมาณ 30% เท่านั้น อาจเพราะการเดินทางไม่สะดวก หรือความเข้าใจของผู้สูงอายุเองว่าไม่อยากฉีดเนื่องจากกลัวผลข้างเคียง ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้ผู้สูงอายุปฏิเสธในการรับวัคซีน

ผู้สูงอายุบางท่านที่อยู่แต่บ้านอาจมองว่าไม่ต้องฉีดก็ได้เพราะไม่ได้ไปไหน แต่อาจไม่ปลอดภัยเสมอไปเพราะลูกหลานบางคนที่แข็งแรงดี อาจป่วย แล้วเดินทางมาหา พูดคุย เข้าใกล้ สัมผัสผู้สูงอายุ ก็อาจจะทำให้ มีการแพร่กระจายเชื้อมาสู่ท่านได้ อยากให้ผู้สูงอายุที่มีภูมิคุ้มกันไม่มากเท่าคนหนุ่มสาวทำความเข้าใจใหม่เรื่องความอันตรายของวัคซีน เพราะประโยชน์ของวัคซีนโควิด-19  มีมากกว่าผลเสีย

ข่าวการเสียชีวิตหรือผลข้างเคียงไม่ได้มีข้อพิสูจน์ว่าเกิดจากวัคซีนอย่างแท้จริง ในกลุ่มประชาชนทั่วไป เสียชีวิตกะทันหันจากโรคประจำตัวเดิม ก็มีอยู่ไม่น้อย หากแต่บังเอิญเสียชีวิตช่วงที่รับวัคซีนโควิด-19 พอดี อาจทำให้เข้าใจผิดว่า เสียชีวิตจากวัคซีนก็ได้ จึงขอให้ผู้สูงอายุ ออกมารับวัคซีนกันให้มาก ๆ เพราะผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วเสียชีวิตมีจำนวนมากในทุก ๆวัน

อีกหนึ่งกลุ่มคือ กลุ่มที่มีนำหนักตัวมาก ได้แก่ ผู้หญิงน้ำหนักมากกว่า 70 กิโลกรัม ผู้ชายน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม หรือมีดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่าเท่ากับ 30 สามารถวอล์กอินเข้ามาฉีดที่ศูนย์ฉีด ของรพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ได้เลย ในวันจันทร์ และวันศุกร์ ระหว่างเวลา 10.00 -14.00 น. ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องวัคซีนโควิด-19 โทร.053-934900-1 ทุกวัน ระหว่างเวลา 08.30-16.00 น.


ภาพ/ข่าว  นภาพร/เชียงใหม่

เชียงใหม่ - ประธานหอฯ เชียงใหม่ ชี้! ภาวะเศรษฐกิจเชียงใหม่ครึ่งแรก และแนวโน้มโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยหลักทำให้เศรษฐกิจภาพรวมยังหดตัว

วันที่​ 7​ ก.ย.​ 2564​ เวลา​ 10.00​ น.​ ณ​ ห้องประชุม​ 1​ ชั้น​ 2​ สำนักงานหอการค้า​จังหวัดเชียงใหม่ นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ดร.กอบกิจ อิสรชีวัฒน์ รองประธานกรรมการหอการค้าจังหวัด เชียงใหม่  นายสมชาย ทองคำคูณ รองประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารฯได้ร่วมกันแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ไตรมาสที่ 1-2 ประจำปี 2564 และแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 3 และ 4

นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงทั่วโลกต้นปี 2563  ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่หดตัวรุนแรงและสูญเสียรายได้ ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องหดตัวสูง ทั้งการบริโภคและการลงทุน ธุรกิจจำนวนมากปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงาน  ภาวะเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 หดตัวใกล้เคียงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน จากการแพร่ระบาดของโควิดระลอกที่สอง ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวหดตัวมาก  การใช้จ่ายปรับตัวดีขึ้นในกลุ่มสินค้าจำเป็น  ในไตรมาสที่สองเศรษฐกิจเชียงใหม่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิดรอบสาม และการดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศ ส่งผลให้ภาคท่องเที่ยวและการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวมากขึ้น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ด้านการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวสูงจากการเร่งเบิกจ่าย ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ช่วงไตรมาส 3 และ 4 ปี 2564  การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสามกระทบการท่องเที่ยวไตรมาส 3 ปี 64 อย่าง มาก รายได้ของธุรกิจและชาวเชียงใหม่หายไปมากช่วงปีเศษนี้ แผนการจัดหาและกระจายวัคซีน โควิด-19 ที่ชัดเจนมากขึ้น และสถานการณ์ ความรุนแรงของโควิด ณ ต้นเดือน ก.ย.น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว หากธุรกิจ ท่องเที่ยวและธุรกิจท่ีเกี่ยวข้อง ได้รับการสนับสนุนเยียวยา ฟื้นฟูจากทางการ เช่น การเติมสภาพคล่อง การปรับโครงสร้างหนี้ คาดว่าการท่องเที่ยวจาก นักท่องเที่ยวในประเทศจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในไตรมาส 4 ปี 64 เมื่อการท่องเท่ียวท่ีเป็นเครื่องยนต์หลักของจงัหวดัเชียงใหม่กลับมา เดินเครื่องได้ ธุรกิจอื่น ๆ ท่ีเก่ียวเนื่อง การจ้างแรงงาน การใช้จ่าย การลงทุนจะเริ่มขยับขึ้นมาได้

ด้านดร.กอบกิจ อิสรซีวัฒน์ รองประธานกรรมการหอการค้าจังหวัด เซียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ไตรมาส 1 ปี 2564 หดตัวมากขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า จากการแพร่ระบาดระลอกสอง ประกอบกับสถานการณ์หมอกควัน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวและอัตราการเข้าพักลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังคงหดตัวสูง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ เข้าสู่ไตรมาส 2 ภาคการท่องเที่ยวหดตัวมากขึ้น จากการระบาดของโควิดระลอกสาม ที่กระจายวงกว้างและรุนแรงมาก และจากมาตรการควบคุมการระบาดของจังหวัดต่าง ๆ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวในประเทศชะลอการเดินทาง โดยภาพรวมช่วงครึ่งปีแรก 2564 ภาคการท่องเที่ยวหดตัวรุนแรง สูญเสียรายได้ต่อเนื่องเกือบ 2 ปี ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดกิจการ  แรงงานภาคท่องเที่ยวไม่มีรายได้ 

ภาคอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ไตรมาสแรกของปี หดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อน จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้การใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันปรับดีขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าจำเป็น ในขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนกำลังซื้อที่เปราะบาง เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2 การอุปโภคบริโภคหดตัวเพิ่มขึ้น จากการระบาดของ COVID-19 ระลอกสาม  ทำให้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าใน 

ชีวิตประจำวันและหมวดบริการหดตัว ด้านการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนชะลอกำลังซื้อโดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถบรรทุกเชิงพาณิชย์ ขณะที่กลุ่มรถจักรยานยนต์ยังขยายตัวได้ตามความต้องการซื้อของลูกค้ากลุ่มเกษตร โดยภาพรวมครึ่งปี 2564 การใช้จ่ายกระเตื้องเล็กน้อยในช่วงต้นปี และชะลอลงเมื่อพบการระบาดระลอกที่สาม

ภาคการลงทุนภาคเอกชน ชะลอลงต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาทั้งสองไตรมาส การลงทุนเพื่อการก่อสร้างชะลอตัว ตามภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ชะลอลงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอ ทำให้ผู้ประกอบการเลื่อนแผนการลงทุนออกไป การลงทุนเพื่อการผลิตขยายตัวเล็กน้อย จากการลงทุนในกลุ่มธุรกิจขนส่ง ทั้งสินค้า  E-Commerce และสินค้าเกษตร โดยยังมีความต้องการซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์ สะท้อนจากยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัว รวมทั้งมีการลงทุนนำเข้าเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและรองรับคำสั่งซื้อในอนาคต เฉพาะธุรกิจรายใหญ่บางรายเท่านั้น โดยภาพรวมช่วงครึ่งปีแรกของปีการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงมาก   

ไตรมาสแรก (ม.ค. - มี.ค) การใช้จ่ายของภาครัฐลดลงจากไตรมาสก่อน รายจ่ายประจำหดตัวโดยลดลงมากในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปของสถาบันการศึกษา และหมวดรายจ่ายอื่นของงบกลาง ส่วนทางด้านรายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงต่อเนื่อง จากการเร่งเบิกจ่ายของ หน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในไตรมาส 2 การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวสูงจากไตรมาสก่อน จากการเร่งรัดการเบิกจ่าย โดยรายจ่ายประจำขยายตัว ส่วนรายจ่ายลงทุนก็ขยายตัวสูงตามการใช้จ่ายในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างด้านโครงสร้างพื้นฐาน และหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน    

รายได้ภาคเกษตร ในครึ่งแรกปี 2564 โดยรวมลดลงเล็กน้อย เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสุกรลดลงจากโรคระบาด  ราคาสุกรเพิ่มสูงตามความต้องการจากตลาดภายในและต่างประเทศ ส่วนราคาข้าวโพดสูงขึ้นเล็กน้อย  ราคาที่สูงยังไม่สามารถชดเชยรายได้ที่เสียไปจากผลผลิตที่ลดลงมาก สำหรับผลผลิตพืชสำคัญชนิดอื่น เช่น ข้าว ลำไยนอกฤดู มะม่วง เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยและราคาอยู่ในเกณฑ์ดี 

การผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัว เครื่องชี้สำคัญ เช่น การใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.7 แต่ปรับตัวดีขึ้นช่วงไตรมาสสอง  ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 อุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกฟื้นตัวตามเศรษฐกิจต่างประเทศ  แต่ประสบปัญหาขาดตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้การขนส่งล่าช้า และต้นทุนการขนส่งสูงขึ้นมาก การผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศโดยรวมหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจ  สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์จากโคนมและหมวดอาหารแปรรูปฟื้นตัวดี และช่วงปลายไตรมาสสอง โรงงานแปรรูปผลิตผลเกษตร คอนกรีตผสมเสร็จเริ่มต้นผลิต 

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นจากช่วงก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ตามราคาพลังงานจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น อัตราการว่างงานสูงขึ้นเป็นเฉลี่ยร้อยละ 2.9 ในไตรมาสที่สอง  เทียบกับอัตราว่างงานร้อยละ 1.6 ช่วงก่อนโควิดไตรมาสที่ 4 ปี 2562  ธุรกิจปรับตัว เช่น การลดชั่วโมงการทำงาน ให้พนักงานหยุดงานโดย   ไม่รับค่าจ้าง  รวมทั้งเปลี่ยนเงื่อนไขการจ้างจากรายเดือนเป็นรายวัน และเลิกจ้างแรงงานประเภทสัญญาชั่วคราว   

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ยอดเงินฝากคงค้างของสาขาธนาคารพาณิชย์ลดลงจากช่วงก่อนหน้า เนื่องจากย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น จากที่โอนย้ายมาฝากกับธนาคารพาณิชย์ช่วงเกิดโควิดระลอกแรก ด้านสินเชื่อคงค้างยังคงขยายตัวต่อเนื่องในสินเชื่อประเภทค้าส่งค้าปลีก บริการและอุปโภคบริโภค ขณะที่สินเชื่อที่ให้กับสถาบันการเงินประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมลดลง

 


ภาพ/ข่าว  พัฒนชัย / เชียงใหม่

เชียงใหม่ - สวนสัตว์เชียงใหม่ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย จัด “รำลึก...ครบ 2 ปี หมีแพนด้าช่วง ช่วง จากไป”

วันที่ 16 กันยายน 2564 รำลึก..ครบ 2 ปี หมีแพนด้า ‘ช่วง ช่วง’ จากไป กับความทรงจำที่ดีถึงหมีแพนด้าเพศผู้ตัวแรกของไทย ณ รูปปั้นหมีแพนด้าด้านหน้าทางขึ้นส่วนจัดแสดงหมีแพนด้า ภายในสวนสัตว์เชียงใหม่

นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้บริหารได้ให้การต้อนรับ นายอู๋ จื้ออู่ กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำเชียงใหม่ ที่ให้เกียรติเดินทางมาร่วมรำลึก ครบรอบ 2 ปี หมีแพนด้าช่วง ช่วง ที่จากไปเมื่อ ปี 2562 ในโอกาสนี้ทางกุงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำเชียงใหม่ และผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ พร้อมด้วย ผู้บริหารสวนสัตว์เชียงใหม่ รวมถึงทีมพี่เลี้ยงหมีแพนด้า ได้ร่วมกันยืนไว้อาลัย พร้อมนำช่อดอกไม้สดวางเพื่อรำลึกถึงหมีแพนด้าช่วง ช่วง ณ บริเวณรูปปั้นหมีแพนด้าด้านหน้าทางขึ้นส่วนจัดแสดงหมีแพนด้า ภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการจัดซุ้มภาพในอริยบทต่าง ๆ ของหมีแพนด้าช่วง ช่วง ตลอดระยะเวลา 16 ปี ที่อยู่ในไทย  ได้สร้างความสุขให้คนไทยทั้งประเทศได้ยิ้ม สนุกและมีความสุขทุกครั้งที่มาเยี่ยมชมหมีแพนด้าภายในสวนสัตว์เชียงใหม่

วันนี้แม้ช่วง ช่วง หมีแพนด้าเพศผู้ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน จะจากไปแล้ว แต่เรื่องราวต่าง ๆ ของหมีแพนด้าช่วง ช่วง จะยังคงอยู่ในใจและอยู่ในความทรงจำของคนไทยไปตลอดกาล

สำหรับหมีแพนด้าช่วง ช่วง มาอยู่ประเทศไทย ที่สวนสัตว์เชียงใหม่เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2546  กับหมีแพนด้าหลินฮุ่ย จนกระทั่งปี 2552 ได้ตกลูกน้อยออกมาเป็นหมีแพนด้า “หลินปิง” ขณะนี้ได้เดินทางไปอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนตามสัญญาข้อตกลงระหว่างกัน ปัจจุบันประเทศไทยได้หมีแพนด้า จำนวน 1 ตัว คือ “หลินฮุ่ย” ปัจจุบันอายุเกือบ 20 ปี และมีสุขภาพดี มีความสุข กับการเลี้ยงดูที่เป็นมาตรฐานที่ทางจีนกำหนด


ภาพ/ข่าว  พัฒนชัย / ขัติยะ

เชียงใหม่ - กองทัพภาคที่ 3 ร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ส.จัดโครงการพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ครูฝึกทหารกองประจำการในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน รุ่นที่ 1 เพื่อนำไปสอนทหารกองประจำการในสังกัด

วันที่ 22 กันยายน 2564 ณ มณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่  เวลา 11.30 น. พันเอกสงบศึก วังแก้ว  รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 เป็นประธานในพิธีปิดโครงการพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ครูฝึกทหารกองประจำการในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 ภาคเหนือตอนบน รุ่นที่ 1 ร่วมด้วยผู้มีเกียรติ พันเอก ประณต ศิริพันธ์  หัวหน้ากองกำลังพล มณฑลทหารบกที่ 33 พันโท นพอนันต์ ปาลิวนิช  รองหัวหน้ากองกำลังพล มณฑลทหารบกที่ 33 ผู้แทน ปปส.ภาค 5 และคณะวิทยากร ประกอบด้วย นางสาวสุกันยา ใหญ่วงศ์ ผู้อำนวยการส่วนประสานพื้นที่ ว่าที่ร้อยเอก ดร.พัฒนดล พลเยี่ยม หัวหน้ากลุ่มงานระบบฐานข้อมูล นางทิพากร ชีวสกุลยง หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ นางสาวนฤมล วรรณพริ้ง เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการฯ  และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ นายกิตติชัย เหลืองกำจร  ที่ปรึกษาศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นางบังอร สุปรีดา ข้าราชการบำนาญโรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ 

โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ทหารในสังกัด มณฑลทหารบกที่ 33 กองทหารราบที่ 7 (ร.7) กรมทหารราบที่ 7 กองบินที่ 1 (ร.7 พัน 1) กองพลทหารราบที่ 7 กองบินทหารปืนใหญ่ที่ 7 (ป พัน 7 พล.ร.7)  กองพันทหารพัฒนาที่ 3 (พันพัฒนา 3)  รวม 20 นาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กฎหมายยาเสพติด ทักษะชีวิต เทคนิคการสอน  และการใช้เทคโนโลยีการสอน  เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ฝึกสอนและสร้างการรับรู้ให้กับทหารกองประจำการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ในสังกัดต่อไป โดยกระบวนการจัดโครงการฯได้ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันโรคโควิด-19


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top