Wednesday, 1 May 2024
อาเซียน

ไทยเนื้อหอม!! เตรียมเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน หลังค่ายรถรุมขยายโรงงาน เงินสะพัดกว่า 4 หมื่นล้านบาท | Summary Reporter EP.11

ไทยเนื้อหอม!! เตรียมเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน หลังค่ายรถรุมขยายโรงงาน เงินสะพัดกว่า 4 หมื่นล้านบาท

10 ชาติอาเซียน ร่วมหารือ 'ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์' ตั้ง 'ASEAN CERT' รับมือกับภัยร้ายจากโลกออนไลน์

วันที่ (20 ตุลาคม 2565) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ครั้งที่ 7 (The 7th ASEAN Ministerial Conference on Cybersecurity : AMCC) และการประชุม AMCC วาระพิเศษ ร่วมกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ณ ประเทศ สิงคโปร์ โดยมี นางโจเซฟิน ทีโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสื่อสารและสารสนเทศของสาธารณรัฐสิงคโปร์ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม และมีรัฐมนตรี/ผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงปลอดภัยทางสารสนเทศจากประเทศอาเซียน และเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วม รวมทั้งประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย แคนาดา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สหพันธรัฐรัสเซีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป 

โดย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไทย เปิดเผยว่า ทุกวันนี้ต้องยอมรับ ว่าเรื่องปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือภัยไซเบอร์ เป็นปัญหา ระดับชาติ ในโลกไร้พรมแดน ดังนั้น การผนึกกำลังร่วมกัน เป็นสิ่งที่สำคัญ ทางสมาชิกอาเซียนมีความเห็นตรงกัน ที่จะจัดตั้งศูนย์ไซเบอร์ ที่ชื่อว่า ศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre) หรือ ASEAN CERT เพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์ พร้อมการจัดตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากรให้ความรู้ ฝึกอบรม ภาคประชาชน ให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์  

ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม ได้ร่วมแบ่งปันเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ เช่นเดียวกับ ประเด็นระดับโลกอื่น ๆ การปกป้องพื้นที่ไซเบอร์ต้องการความร่วมมือระหว่างรัฐ 

'บิ๊กป้อม' ร่วมประชุม 'รมว.กห.อาเซียน' เสนอรับมือร่วม 'ภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่'

'พล.อ.ประวิตร’ ร่วมประชุม รมว.กห.อาเซียน เสนอพัฒนากลไกและย้ำความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของอาเซียน พร้อมสนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์ของประเทศคู่เจรจา

โฆษกกลาโหม เปิดเผยว่า เมื่อ 22 พ.ย. 65 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทน รมว.กห. ได้เดินทางไปยังราชอาณาจักรกัมพูชา พร้อม รมช.กห.และปล.กห. เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ADMM Retreat) ณ เมืองเสียมราฐ โดยมีสมเด็จพิชัยเสนา เตีย บันห์ รอง นรม. และรมว.กห.กัมพูชาเป็นประธานการประชุม

ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนมุมมองด้านความมั่นคงของภูมิภาคร่วมกัน โดยให้ความสำคัญกับความเป็นแกนกลางของอาเซียนในการดำรงความร่วมมือด้านความมั่นคง และเห็นความจำเป็นที่ต้องร่วมมือกันรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ ทั้งด้านการก่อการร้าย อาชญกรรมข้ามแดนในรูปแบบต่างๆ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ความขัดแย้งทางการเมืองและข้อพิพาททางเขตแดนที่เสี่ยงต่อการใช้กำลังทางทหาร นอกจากนั้นยังมีการแข่งขันในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตร เข้ามามีอิทธิพลต่อกรอบความร่วมมือของอนุภูมิภาค โดยความร่วมมือของอาเซียน

พล.อ.ประวิตร ได้เสนอมุมมองของไทยต่อประเด็นด้านความมั่นคงของภูมิภาค โดยการพัฒนากลไก ADMM 3 ประการ คือ 1) การจัดระเบียบความร่วมมือที่มีอยู่ออกเป็นกลุ่มงาน เพื่อความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากรทางทหาร  2) การขยายบทบาทของฝ่ายทหารอาเซียน ตอบสนองความท้าทายข้ามพรมแดน และ 3) การปฏิสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศมหาอำนาจ รวมทั้งกลุ่มพันธมิตรในภูมิภาค ควรเป็นไปอย่างสมดุล สร้างสรรค์และเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย พร้อมย้ำ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของอาเซียน จะทำให้สามารถก้าวข้ามช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง สร้างปัจจุบันให้เข้มแข็งและเกิดประโยชน์กับอาเซียนอย่างแท้จริง

'รฟท.' เร่งจัดหา 'รถไฟ EV ต้นแบบ' เพิ่ม 50 คันในปี 66 ชู ระบบรางไร้มลพิษ ยกระดับการขนส่ง-คมนาคม

รถไฟ EV ต้นแบบของไทยดังไกลถึงอาเซียน 'ชาวเวียดนาม' แห่ชื่นชม รฟท.เดินหน้าทดสอบ เตรียมจัดหาอีก 50 คัน ภายในปี 66 ใช้ลากขบวนโดยสารเข้าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ลดมลพิษ

(20 ก.พ. 66) นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่การรถไฟฯ ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA จัดทดสอบการใช้งานรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ปรากฏว่า นอกจากจะได้รับความสนใจ และเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชนคนไทยแล้ว รถจักรคันดังกล่าวยังโด่งดังไปไกลถึงประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม ที่มีการแชร์เรื่องราวของรถจักรพลังงานไฟฟ้าลงในกลุ่มเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศของเวียดนาม ซึ่งมีการแสดงความชื่นชมยินดีกับประเทศไทย และพูดคุยแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย

นอกจากนี้ ยังมีชาวเวียดนามบางคนมาช่วยเพิ่มเติมข้อมูล และตอบคำถามในบางประเด็นที่มีการตั้งข้อสงสัยกัน เช่น ทำไมถึงต้องใช้รถไฟแบตเตอรี่ ซึ่งประเด็นนี้ นอกจากจะใช้แบตเตอรี่เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันแล้ว ยังสามารถนำไปต่อยอด โดยการยกระดับขนส่งโดยสารของเมือง และรองรับการใช้งานในระบบรถไฟฟ้ารางเบา Light Rail Transit (LRT) ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มีหลายคนยังเห็นด้วยว่า ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีถือเป็นเรื่องสำคัญมาก และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะการจะเริ่มต้นจากศูนย์ ทำเพียงคนเดียวอาจเป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งเมื่อพัฒนาขึ้นมาได้แล้ว เทคโนโลยีนี้ก็จะอยู่กับประเทศไทยตลอดไป

สำหรับรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ประเทศไทยสามารถประกอบ ติดตั้งระบบแบตเตอรี่สำหรับรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าเองได้ เสร็จเมื่อปี 2565 เป็นแห่งแรกของโลก ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยลดมลพิษ และบรรเทาภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แทนน้ำมันเชื้อเพลิงในระบบขนส่งของประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี 2573

ปัจจุบัน รถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ได้ดำเนินการทดสอบเดินรถในเส้นทางต่าง ๆ แล้ว รวมถึงการทดสอบลากจูงขบวนรถโดยสารขึ้นมาบนสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถือว่าประสบความสำเร็จเรียบร้อยดี ซึ่งหลังจากนี้การรถไฟฯ จะพิจารณานำไปลากจูงรถโดยสาร และรถสินค้าในโอกาสต่อไป

โดยในระยะแรก จะนำรถจักรดังกล่าวมาใช้ลากเป็นรถสับเปลี่ยน (Shunting) ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อลดมลพิษในอาคารสถานีชั้นที่ 2 ซึ่งจากผลการทดสอบของการรถไฟฯ สามารถลากขบวนรถจากย่านสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไปที่ชานชาลาสถานีที่ชั้น 2 ได้จำนวน 12 เที่ยว ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ระยะเวลาการชาร์จจนแบตเตอรี่เต็มประมาณ 1 ชั่วโมง

จากนั้น ในระยะต่อไปจะทดลองวิ่งในระยะทางใกล้ เช่น ขบวนรถโดยสารชานเมือง ระยะทางประมาณ 30-50 กิโลเมตร และระยะทางที่ไกลมากขึ้น เช่น ขบวนรถข้ามจังหวัด ระยะทางประมาณ 100-200 กิโลเมตร และขบวนรถขนส่งสินค้า จาก ICD ลาดกระบัง ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น เพื่อทดสอบจนเกิดความมั่นใจและปลอดภัย

สถิติชวนอึ้ง!! ‘กรมอนามัย’ ห่วงเด็กไทย ‘อ้วน’ ติด 1 ใน 3 ของอาเซียน ชี้ ควรกินอาหารเพื่อสุขภาพ-ออกกำลังกายควบคู่

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลพบเด็กไทยมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนติด 1 ใน 3 ของอาเซียน ซึ่งเด็กไทยอายุ 0-5 ขวบมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 9.13 เด็กวัยเรียน 6-14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 13.4 และเด็กวัยรุ่น 15-18 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนร้อยละ 13.2 ซึ่งสหพันธ์โรคอ้วน (World Obesity Federation) คาดการณ์ภายในปี 2573 ประชากรอายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนสูงขึ้นอีกเกือบร้อยละ 50 พร้อมแนะกินอาหารชูสุขภาพ ถูกหลักโภชนาการ และเสริมการออกกำลังกายป้องกันภาวะอ้วน

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นวันโรคอ้วนโลก (World Obesity Day) กรมอนามัยขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมให้เด็กไทยปลอดภัย จากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มหวานมันเค็มเกิน ลดเสี่ยงโรคอ้วน เนื่องจากการเฝ้าระวังภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนในเด็กของกระทรวงสาธารณสุข (Health Data Center) ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่า เด็กอายุ 0-5 ขวบ ภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 9.13 เด็กวัยเรียน 6-14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 13.4 และเด็กวัยรุ่น 15-18 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 13.2 รวมทั้งจากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (อาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง) ในเด็กพบว่าเด็กประมาณ 1 ใน 3 คน ดื่มนมรสหวานทุกวัน กินขนมกรุบกรอบทุกวัน และดื่มน้ำอัดลมทุกวัน เด็กประมาณ 1 ใน 5 คน ดื่มน้ำหวาน น้ำผลไม้ทุกวัน การสำรวจพฤติกรรมการเลือกซื้อของเด็กไทย ปี 2563 พบว่า เด็กส่วนใหญ่ยังซื้ออาหารตามความชอบ ร้อยละ 27.7 และมีเพียงร้อยละ 8.1 เท่านั้น ที่คำนึงถึงคุณค่าทางอาหาร

นพ.สุวรรณชัยกล่าวต่อไปว่า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดพฤติกรรมการกินและออกกำลังกายจากอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน อาหารทอดมัน อาหารจานด่วน ขนมขบเคี้ยว เบเกอรี่ และขนมหวานต่างๆ รวมทั้ง เด็กยังมีภาวะในการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารน้อย ประกอบกับกลยุทธ์การตลาด ลด แลก แจก แถม ชิงโชค ชิงรางวัล ทำให้การกินอาหารและเครื่องดื่มหวาน มัน เค็มกลายเป็นเรื่องปกติ อาจส่งผลไปยังสุขภาพในอนาคตของเด็กไทย ทั้งนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และโรงเรียน คือ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุดจึงควรสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพเด็กในการเลือกซื้ออาหาร และส่งเสริมโภชนาการที่ดี จากการเลือกอาหารที่ดีมีประโยชน์ ถูกหลักโภชนาการ ลดการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น อาหารมีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง และเสริมอาหารที่ถูกหลักโภชนาการให้ครบ 5 หมู่กินอาหารกลุ่มข้าว แป้ง เนื้อสัตว์ในปริมาณที่เหมาะสม เลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เพื่อเป็นการปลูกฝังนิสัยการบริโภคที่ดีให้กับเด็ก ขนมหวาน ไม่ควรเกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ปลาหรือผลิตภัณฑ์จากปลาอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เนื้อสัตว์ เช่น ไก่ หมู เนื้อ หรือผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ไข่ 2-3 ฟองต่อคน ต่อสัปดาห์ ตับ เลือด ปลาเล็กปลาน้อย อย่างละ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ถั่วเมล็ดแห้ง เผือกมันอย่างละ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และเน้นผักและผลไม้ นอกจากนี้ ปริมาณอาหารที่เด็กได้รับในแต่ละมื้อควรเป็นปริมาณที่เหมาะสมกับอายุ ให้ได้รับสารอาหารที่พอดีไม่มากหรือน้อยเกินไป”

ยุทธศาสตร์คานงัดเศรษฐกิจไทย 10 ล้านล้าน โอกาสที่ 'อาเซียน-จีน-ตะวันออกกลาง' พร้อมเสิร์ฟ

“...ปีนี้จะเป็นปีแห่งโอกาสในวิกฤติทางด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวของไทย...”

“…เราทำเงินจากโอกาสการค้าของไทยกว่า 10 ล้านล้านบาท ในตลาดอาเซียน-จีน-ตะวันออกกลาง...”

นี่คือคำกล่าวโดยนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ และอดีตรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นภาคต่อ (ติดตามตอนแรก >> https://thestatestimes.com/post/2023031438) ในการฉายภาพเศรษฐกิจไทยที่กำลังพุ่งทะยาน โดยมีประชาธิปัตย์ทันสมัยเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนผ่านกระทรวงเกษตรฯ 

สำหรับในตอนล่าสุดนี้ นายอลงกรณ์ ได้พา THE STATES TIMES ไปโฟกัสถึงโอกาสขนาดใหญ่ที่ไทยกำลังปั้นให้เกิดเป็นผลลัพธ์จาก ตลาดอาเซียน-จีน-ตะวันออกกลาง ซึ่งเข้ามามีบทบาทต่อการเติบโตของภาคเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้...

ปลายปี 2565 ไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุม APEC ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญและมีผลต่อเศรษฐกิจของไทยและภูมิภาคอาเซียนอย่างมาก รวมถึงการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ในรอบ 30 ปี ถือเป็น 'ลมส่งท้าย' ถึงปีนี้ ซึ่งจะเป็นปีแห่งโอกาสในวิกฤติของไทยทางด้านการค้า, การลงทุน, การท่องเที่ยว

เริ่มต้นปีด้วยข่าวดี เมื่อจีนเริ่มผ่อนคลายนโยบายการควบคุมโควิดและเปิดประเทศในเดือนมกราคม

ทั้งนี้ภาคการเกษตรของไทยถือเป็นกลไกสําคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยพร้อมกับยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรไทย ภายใต้วิสัยทัศน์เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในประเทศ พร้อมทั้งมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรม องค์ความรู้ ศาสตร์พระราชาภูมิปัญญาไทยโดยจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) ทั้ง 77 จังหวัด และศูนย์ AIC ประเภทศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence) อีก 23 ศูนย์ เมื่อ 1 มิถุนายน 2563 ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่สำคัญของการยกระดับอัพเกรดการพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 และยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตบนความร่วมมือระหว่าง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์กับ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯ

สำหรับโอกาสการค้าการลงทุนของไทยในจีน-ตะวันออกกลาง และอาเซียน ประเทศไทยถือได้ว่ามีศักยภาพสูงโดยใช้จุดแข็งของไทยที่ขอเรียกว่า...

>> '8 ลมใต้ปีก' ช่วยผลักดันโอกาสของไทยและหุ้นส่วนเศรษฐกิจให้เดินหน้าสู่ความสำเร็จ ได้แก่...

1. การฟื้นสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย 
- สร้างระเบียงเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Corridor) ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย อาเซียนและตะวันออกกลาง

2. รถไฟลาว-จีน เชื่อมไทย เชื่อมโลก 
- การพัฒนาโลจิสติกส์เชื่อมการขนส่งการค้า และการลงทุนของไทยไปยังตลาดทุกมณฑลในจีน อาเซียนตะวันออกกลาง เอเซียกลาง ยุโรป และอังกฤษเพราะการขนส่งสินค้าจะเร็วขึ้น ต้นทุนจะลดลง โดยเฉพาะอีสานเกตเวย์ และท่าเรือหวุ่งอ๋างเปิดเส้นทางสู่แปซิฟิก

3. 'ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค' (RCEP:Regional Comprehensive Economic Partnership)
- เป็นเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้ภาษีนำเข้าสินค้าไทยเหลือศูนย์ทันทีเกือบ 30,000 รายการ ใน 14 ประเทศที่ร่วมเป็น FTA Partner ของ RCEP เริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 โดยมีสมาชิก 15 ประเทศรวมทั้งจีน และประเทศอาเซียนซึ่งผู้มีบทบาทสำคัญคือรองนายกรัฐมนตรีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีพาณิชย์และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นประธานการประชุมตั้งแต่ต้นจนบรรลุข้อตกลงRCEP

4. มินิ-เอฟทีเอ (Mini-FTA)
- เป็นกลยุทธ์ใหม่เพิ่มโอกาสความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนเปิดตลาดเมืองรองในประเทศต่างๆ ปูทางสร้างโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยรัฐมนตรีพาณิชย์เดินหน้าเชื่อมสัมพันธ์กับเมืองต่างๆในหลายประเทศ เช่น ไห่หนาน, กานซู และเสิ่นเจิ้นของจีน / เมืองโคฟุของญี่ปุ่น / เมืองเตลังกานาของอินเดีย และปูซานของเกาหลีใต้ เป็นต้น

5. FTA และการเปิดเจรจา FTA รอบใหม่ 
- ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีผลบังคับใช้แล้วถึง 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ทำให้ไทยมีศักยภาพในการเป็นจุดหมายการลงทุนและการค้า รวมทั้งการเปิดเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป อังกฤษ EFTA และ UAE

6. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่
- เป็นอีกปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญต่อการค้าการลงทุนในการสร้างศักยภาพเศรษฐกิจ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น โครงการรถไฟสี่รางทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โครงการทางหลวงระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์)

EA-รามาฯ-EXAT ร่วมเปิดตัว “EV Smart Building” by EA Anywhere พร้อมหัวชาร์จมากที่สุดใน ASEAN

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า EA ยกระดับมิติใหม่ของระบบการจัดการพลังงานแบบเดิม สู่รูปแบบการก่อสร้างอาคารและติดตั้งระบบบริการชาร์จไฟที่ทันสมัย ในการเป็น EV Hub แห่งแรกในอาเซียน ภายใต้แนวคิด “EV Smart Building” by EA Anywhere บนอาคารจอดรถ รามาธิบดี – พลังงานบริสุทธิ์ สนับสนุนพื้นที่โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นอาคารต้นแบบแห่งแรกที่ติดตั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้ามากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เป็นจำนวน 578 เครื่อง พร้อมให้บริการสถานีชาร์จทั้งระบบ AC Normal Charge ขนาด 7.3 kW จำนวน 576 เครื่อง ดำเนินการครอบคลุม 100% ทุกช่องจอดรถในอาคาร และระบบ DC Fast Charge 360 kW จำนวน 2 เครื่อง โดยคาดว่าจะพร้อมให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนพฤษภาคมนี้

 

อาคารแห่งนี้ออกแบบเพื่อการ Sharing & Charging ที่ส่งเสริมผู้ใช้บริการยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมระบบการบริหารจัดการพลังงานที่ครบวงจรอย่างคุ้มค่า ด้วยนวัตกรรมการจัดการพลังงานไฟฟ้า แบบ Predictive และ Productive ให้สามารถรองรับจำนวนเครื่องชาร์จไฟฟ้าจำนวนมากได้ ไม่ต้องลงทุนในระบบโครงสร้างเพิ่มเติม และมีความสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้งานต่อจำนวนชั่วโมงการชาร์จ ใช้งานง่าย ควบคู่ไปกับ แอปพลิเคชันอัจฉริยะ EA Anywhere ที่สามารถ ค้นหา จอง ชาร์จ จ่าย จบได้ในแอปฯ เดียว

 

"โครงการอาคารจอดรถ รามาธิบดี - พลังงานบริสุทธิ์  นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะยกระดับประเทศสู่ EV Hub ด้วย Model  “EV Smart Building” by EA Anywhere สู่การพัฒนาพื้นที่สำหรับ อาคารชุด อาคารสำนักงาน และอาคารขนาดใหญ่ อาทิ ห้างสรรพสินค้า, โรงแรม,  คอนโด, Mix Use และ Community Mall ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่เดิมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้า ที่คุ้มค่า ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพสูงสุด” นายสมโภชน์กล่าว

 

ทั้งนี้ ระบบ “EV Smart Building” by EA Anywhere ได้มีการออกแบบระบบการควบคุมกำลังไฟฟ้า โดยคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการพลังงาน ซึ่งในทุกเครื่องอัดประจุไฟฟ้า จะมีการเชื่อมโยงกับระบบ Smart Monitoring ของบริษัทฯ ผ่านระบบสื่อสารแบบ Real-Time เพื่อตรวจสอบสถานะการทำงาน และ ควบคุมการจ่ายพลังงาน มาพร้อมกับการจัดลำดับความสำคัญของการใช้พลังงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 

ปัจจุบัน สถานีชาร์จในโครงข่าย EA Anywhere ดำเนินการโดยบริษัท พลังงานมหานคร จำกัด ให้บริการแล้วกว่า 490 สถานีทั่วประเทศ และตั้งเป้าขยายสถานีชาร์จไปสู่ธุรกิจการจัดการพลังงาน “EV Smart Building” by EA Anywhere ภายในสิ้นปี 2566 เพื่อให้ผู้ใช้รถ EV โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้รถในอาคาร มีความมั่นใจในการเลือกใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น

HIGHLIGHT
- โรงพยาบาลรามาธิบดี และ บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ โดยรับการสนับสนุนพื้นที่โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย  ร่วมติดตั้ง การพลังงาน “EV Smart Building” by EA Anywhere ซึ่งเป็นอาคารที่มีหัวชาร์จมากที่สุดใน ASEAN 
- โดยจะให้บริการทั้งรูปแบบ AC Normal Charge ขนาด 7.3 kW จำนวน 576 เครื่อง ดำเนินการครอบคลุม 100% ทุกช่องจอดรถในอาคาร และ แบบ DC Fast Charge 360 kW จำนวน 2 เครื่อง 
- ออกแบบระบบการอัดประจุ ภายใต้หลักการ Sharing and Charging และมีระบบการบริหารจัดการพลังงานในอาคารที่สอดรับกับพฤติกรรมการจอดรถของผู้ใช้งานอย่างแท้จริง 

5 เมืองแห่งอาเซียนที่ค่าครองชีพ 'ถูก' นักลงทุน-ชาวต่างชาติ 'อยากมาอยู่-ทำธุรกิจ' ไปยาวๆ

ค่าครองชีพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ปัจจุบัน กำลังเป็นแรงดึงดูดต่อนักลงทุนและชาวต่างชาติที่วาดอนาคตในการอยู่อาศัยระยะยาวและมองหาการลงทุนทางธุรกิจมากขึ้น

โดย 5 เมืองใหญ่ในอาเซียนเหล่านี้ มีค่าครองชีพ อาหารการกินไม่แพง แหล่งเที่ยวหลากหลาย สาธารณูปโภคพื้นฐานพร้อมสรรพ และวัฒนธรรมอันดีงาม ที่ดึงดูดต่างชาติได้มากจริง ๆ โดยเฉพาะกับประเทศไทย ที่หลากเสียงจากนักลงทุนและชาวต่างชาติ หวังที่จใช้ประเทศนี้เป็นบ้านหลังที่ 2 กันเลยทีเดียว

'เหงียน' คิดใหญ่!! มุ่งสู่ 'ประเทศ ศก.ดิจิทัล-หลุดรายได้ปานกลาง' พา 'เวียดนาม' เป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2045 

รัฐบาลเวียดนาม เดินหน้า Road Map ยกระดับประเทศกำลังพัฒนารายได้ปานกลาง สู่ประเทศรายได้สูงที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล ตั้งเป้าในการเป็นสังคมดิจิทัล 100% ภายในปี 2030 ที่จะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจ Start-ups และผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีใหม่ และจะช่วยการยกระดับรายได้ประชาชนในประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม

การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัลของเวียดนาม เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาลเวียดนามได้ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2020 ที่จะผลักดันภาคเศรษฐกิจดิจิทัลให้โตขึ้นจากเดิม 14% ของ GDP ให้ได้ถึง 20% ของ GDP ภายในปี 2025 โดยเชื่อว่า หากรัฐบาลสามารถบรรลุเป้าหมายในการสร้างประเทศที่ขับเคลื่อนโดยเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ จะสามารถพาเวียดนามขึ้นสู่ประเทศที่มีรายได้สูงในอีกไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า

ตัวเลขเหล่านี้ รัฐบาลเวียดนาม อ้างอิงจากการคาดการณ์ของ World Bank ที่กล่าวว่า หากภาคธุรกิจดิจิทัลโตได้ถึง 10% ในแต่ละปี ตั้งแต่ปีนี้ (2021) จะสามารถสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้มากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ ภายในปี 2045 ซึ่งเกือบเท่ากับ GDP ของเวียดนามในปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลเวียดนามจึงตัดสินใจปูพรมมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัลรุ่นใหม่ สร้างศูนย์ฝึกอบรม Start-ups ในหลายเมือง อาทิ ฮานอย, ดานัง, โฮจิมินห์ ซิตี้ อัดฉีดงบประมาณเพื่อการศึกษา พัฒนา นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ ให้ได้ 1% ของ GDP

จึงเกิดปรากฏการณ์ธุรกิจดิจิทัลบูมอย่างมากในเวียดนาม จากตัวเลขผู้ประกอบการธุรกิจในเวียดนามตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา พบว่ามี Start-ups หน้าใหม่เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และมีบริษัทด้านธุรกิจ IT ทั้งฮาร์ดแวร์, ซอฟต์แวร์ และ สร้างสรรค์คอนเทนต์ดิจิทัลเกือบ 14,000 บริษัท จากเดิมที่หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีก่อน ในเวียดนามแทบไม่มีธุรกิจประเภทนี้เลยในประเทศ

และตอนนี้เวียดนามกำลังเป็นประเทศที่น่าจับตาที่ดึงดูดนักลงทุนด้านธุรกิจดิจิทัลจากทั่วโลก โดยล่าสุดเวียดนามขึ้นมาอยู่ในอันดับ 3 ของประเทศที่มีการตกลงทำสัญญาในธุรกิจด้านเทคโนโลยีมากที่สุดในอาเซียน และมีธุรกิจที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลลาร์ หรือที่เรียกว่า 'ยูนิคอร์น' ถึง 4 บริษัท ได้แก่ VNG, VNPay, MoMo และ Sky Mavis

ถึงแม้รัฐบาลเวียดนามจะทุ่มเทอย่างเต็มที่สำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล แต่ก็ยังมีอุปสรรคบางประการที่อาจทำให้เวียดนามไปไม่ถึงเป้า และยังเป็นจุดที่นักลงทุนกังวล คือ การปรับกรอบข้อกฎหมายใหม่ให้เข้ากับธุรกิจในยุคดิจิทัล เช่น การจัดเก็บภาษี การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การป้องกันฐานข้อมูลสำคัญ หรือการเข้าแทรกแซงของภาครัฐ อีกทั้งปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในประเทศที่มีทักษะในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับสูง ที่จะรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบของประเทศ

แต่ก็นับว่าเวียดนามเป็นเสือซุ่มที่น่าจับตาในอาเซียน ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองไกล และตั้งเป้าไว้สูงของรัฐบาลเวียดนามนั้น ทำให้ไทยเราต้องเร่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล หากไม่อยากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top