Friday, 4 July 2025
อาเซียน

‘สีจิ้นผิง’ เตรียมเยือน ‘เวียดนาม-มาเลเซีย-กัมพูชา’ สัปดาห์หน้า หวังขยายความร่วมมือท่ามกลางสงครามการค้ากับ ‘สหรัฐฯ’

(11 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน เตรียมเดินทางเยือน 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา ระหว่างวันที่ 14-18 เมษายนนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างพันธมิตรในภูมิภาค ท่ามกลางความตึงเครียดจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ

การเยือนเวียดนามจะมีขึ้นในวันที่ 14-15 เมษายน ตามด้วยการเยือนมาเลเซียและกัมพูชาในช่วงวันที่ 15-18 เมษายน ทั้งนี้กระทรวงต่างประเทศจีนระบุว่า นี่คือการเดินทางต่างประเทศครั้งแรกของผู้นำจีนในปีนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่จีนให้ต่อประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศระงับภาษีนำเข้าจากเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชาเป็นเวลา 90 วัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 พร้อมกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสูงถึง 145% ขณะที่เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชาถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 46%, 24% และ 49% ตามลำดับ

ทั้งนี้ เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย ต่างได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนในช่วงสงครามการค้ารอบก่อน อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 ประเทศก็เริ่มตกอยู่ในความสนใจของสหรัฐฯ จากข้อกล่าวหาต่าง ๆ เช่น การลักลอบนำชิป, ความร่วมมือทางทหาร และข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

นายกฯ ญี่ปุ่น เตรียมบินเยือน ‘เวียดนาม-ฟิลิปปินส์’ 27 เมษายนนี้ เพื่อกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคง กับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

(17 เม.ย. 68) ชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น มีกำหนดเดินทางเยือน เวียดนามและฟิลิปปินส์ เป็นระยะเวลา 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายนนี้ เพื่อกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงกับชาติสมาชิกอาเซียน ท่ามกลางการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความเข้มข้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การเดินทางครั้งนี้เกิดขึ้นในจังหวะสำคัญที่ จีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำลังเพิ่มบทบาทและเสนอมาตรการเป็นมิตรต่อประเทศในภูมิภาค ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อสหรัฐฯ เริ่มสั่นคลอนจากมาตรการภาษีที่เข้มข้นของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ในเวียดนาม นายอิชิบะมีกำหนดพบกับ โท ลัม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูง เพื่อหารือเรื่องการบรรจุเวียดนามเข้าสู่กรอบความช่วยเหลือด้านความมั่นคงอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่น (Official Security Assistance หรือ OSA) ซึ่งครอบคลุมการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันประเทศให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่ประเทศที่มีแนวคิดสอดคล้องกัน

ญี่ปุ่นคาดหวังว่าจะสามารถร่าง บันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงกับเวียดนามให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมปีหน้า อีกทั้งยังมีกำหนดเยี่ยมชม มหาวิทยาลัยเวียดนาม-ญี่ปุ่น ในกรุงฮานอย ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระดับชาติเพื่อส่งเสริมการศึกษาระหว่างสองประเทศ

ขณะเดียวกัน ในฟิลิปปินส์ อิชิบะจะหารือกับ ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อเริ่มต้นการเจรจาเกี่ยวกับ ข้อตกลงด้านความมั่นคงทั่วไปของข้อมูลทางทหาร (GSOMIA) ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการแบ่งปันข่าวกรองทางทหารระหว่างสองประเทศ

นอกจากนี้ คาดว่าทั้งสองประเทศจะตกลงที่จะเริ่มเจรจาเกี่ยวกับ ข้อตกลงในการซื้อกิจการและการให้บริการข้ามกัน (Acquisition and Cross-Servicing Agreement หรือ ACSA) เพื่อให้สามารถจัดหากระสุนและเชื้อเพลิงให้กันและกันในกรณีที่จำเป็น

ระหว่างการเยือนฟิลิปปินส์ อิชิบะยังจะตรวจสอบ ระบบเรดาร์เฝ้าระวังชายฝั่ง และอุปกรณ์ความมั่นคงอื่น ๆ ที่ญี่ปุ่นได้จัดหาให้ภายใต้กรอบ OSA โดยมีเป้าหมายเพื่อเน้นย้ำความสัมพันธ์กึ่งพันธมิตรระหว่างทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ เขายังแสดงความตั้งใจที่จะพบกับกลุ่มผู้ไร้รัฐที่เป็นลูกหลานของชาวญี่ปุ่นซึ่งอพยพมายังฟิลิปปินส์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อแสดงการสนับสนุนของโตเกียวในการพิจารณาให้สัญชาติญี่ปุ่นแก่บุคคลเหล่านี้

อิชิบะซึ่งมีจุดยืนชัดเจนในเรื่องความสัมพันธ์กับ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เคยเดินทางเยือนมาเลเซียและอินโดนีเซียแล้วเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อวางรากฐานความร่วมมือระยะยาวในภูมิภาค

นักวิเคราะห์มองว่าการเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นสะท้อนถึงยุทธศาสตร์ “เสริมอิทธิพลผ่านความร่วมมือ” เพื่อตอบโต้การขยายบทบาทของจีนในภูมิภาค พร้อมส่งสัญญาณถึงความมุ่งมั่นของโตเกียวในการเป็นพันธมิตรที่ไว้วางใจได้สำหรับประเทศในอาเซียน

ACFTA 3.0 นำพาอาเซียนและจีนเข้าสู่ยุคใหม่ของการค้าเสรี สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ขยายตลาดขนาดใหญ่รับมือวิกฤตการค้าทั่วโลก

(28 เม.ย. 68) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ท่ามกลางสถานการณ์การค้าโลกที่ไม่แน่นอน ผู้เชี่ยวชาญจากมาเลเซียและจีนได้ย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับจีน โดยเฉพาะในการใช้ประโยชน์จากตลาดขนาดใหญ่ร่วมกันเพื่อบูรณาการภูมิภาคและต่อต้านกระแสการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ในเวทีสัมมนาอาเซียน-จีนที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วนได้เห็นพ้องกันถึงศักยภาพของการร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่าย

โลว์ เคียน ชวน ประธานสภาธุรกิจมาเลเซีย–จีน กล่าวว่าการที่มาเลเซียดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันความร่วมมือระหว่างสองภูมิภาค และการลงนามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ฉบับ 3.0 จะเป็นจุดสำคัญในการเสริมสร้างการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ โดยช่วยขยายความร่วมมือในหลายมิติ

นับตั้งแต่การเปิดตัวเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนในปี 2010 ความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่ายเติบโตอย่างรวดเร็ว แม้จะเผชิญกับแรงกดดันจากการค้าโลก แต่ในไตรมาสแรกของปี 2025 มูลค่าการค้าระหว่างจีนและอาเซียนยังเติบโตขึ้นถึง 7.1% ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ในอนาคต ความร่วมมือระหว่างอาเซียนและจีนจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงการปรับโครงสร้างห่วงโซ่มูลค่าโลก โดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างจริงจังจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในภูมิภาคนี้

รศ.ดร.อักษรศรี แนะ!! จีนเปิดตลาดให้กว้างขึ้น เป็นเพื่อนบ้านที่พึ่งพาได้ ของอาเซียน

(3 พ.ค. 68)  รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Aksornsri Phanishsarn เกี่ยวกับ ‘จีน’ โดยมีใจความว่า ...

‘จีน’ เป็นทั้งความกังวลและความหวังของอาเซียน … ทำอย่างไรจีนจะเป็น #เพื่อนบ้านที่พึ่งพาได้ ของอาเซียน #China 🇨🇳 #ASEAN 

ถ้าจะแค่พูดว่า จีน-อาเซียนมี FTA กันแล้ว เช่น RCEP และ ACFTA แต่ยังทำเหมือนเดิมหรือทำแบบเดิม มันจะไม่เห็น #ผลประโยชน์เป็นรูปธรรมที่ฝ่ายอาเซียนจะได้รับ .. ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์กีดกันการค้าในยุคทรัมป์ป่วนโลก หากจีนต้องการสร้าง Trust - Building Diplomacy กับอาเซียน จีนก็ควรจะต้องเป็นผู้ให้มากกว่า  #จีนควรเปิดตลาดกว้างขึ้นและง่ายขึ้น เพื่อผ่อนคลายมาตรการการค้าให้กับสินค้าจากอาเซียน

นอกจากนี้ จีน - อาเซียนต่างก็ยึดมั่นในระบบ Multilateralism และกลไกระงับข้อพิพาทการค้าภายใต้ WTO ก็อาจจะยื่น joint trade dispute ร่วมกัน เพื่อฟ้องร้องพฤติกรรมกีดกันการค้าตามอำเภอใจ Unilateralism ของสหรัฐในยุคทรัมป์ 

หมายเหตุ : รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ตอบคำถามนี้ในระหว่างประชุมหารือกับผู้บริหารและนักวิจัยของมหาวิทยาลัย China Foreign Affairs University #CFAU ซึ่งเป็นสถาบันฯชั้นนำของจีนในการผลิตนักการทูตจีน และผู้เชี่ยวชาญความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

‘พิชัย’ ถกอาเซียน-จีน-ญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย-นิวซีเเลนด์ จับมือลดความเสี่ยงการค้า ชู WTO เป็นกลไกลฟื้นเศษรฐกิจ

(25 พ.ค. 68) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ว่า ทุกฝ่ายยืนยันสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีภายใต้กลไกขององค์การการค้าโลก (WTO) พร้อมร่วมกันหลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้ทางการค้าและยึดมั่นในความเป็นกลางทางเศรษฐกิจ

ที่ประชุมยังเห็นพ้องร่วมกันเร่งส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างสมดุล มุ่งพัฒนาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะการยกระดับความตกลงอาเซียน–จีนภายในปี 2567 เพื่อขยายความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

สำหรับความร่วมมือกับญี่ปุ่น ไทยได้เสนอให้ขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อผลักดันให้อาเซียนเป็นฐานการผลิตระดับโลก ส่วนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่ประชุมเห็นพ้องให้เร่งใช้ประโยชน์จาก FTA ฉบับปรับปรุง โดยเน้นเศรษฐกิจหมุนเวียน พลังงานสะอาด และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ จีนยังคงเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียนในปี 2567 ด้วยมูลค่าการค้ากว่า 770,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ อยู่ในอันดับ 3, 6 และ 10 ตามลำดับ สะท้อนบทบาทสำคัญของอาเซียนในเศรษฐกิจภูมิภาคและโลกอย่างต่อเนื่อง

จีนพร้อมเปิดตัว ‘วีซ่าอาเซียน’ สิทธิ์เข้าออกยาว 5 ปี สำหรับนักธุรกิจพาคู่สมรส-บุตร พำนักได้สูงสุด 180 วัน

(4 มิ.ย. 68) กระทรวงการต่างประเทศจีนเปิดเผยว่า จีนได้เปิดตัว 'วีซ่าอาเซียน' สำหรับ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และติมอร์-เลสเต เพื่อส่งเสริมการเดินทางระหว่างประเทศในภูมิภาค โดยผู้ที่มีคุณสมบัติจะได้รับวีซ่าประเภทเข้าหลายครั้งภายใน 5 ปี สำหรับการเดินทางเพื่อธุรกิจ พร้อมสิทธิให้คู่สมรสและบุตรพำนักได้สูงสุดครั้งละ 180 วัน

หลิน เจี้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่า ความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียนในช่วงหลังมีความก้าวหน้าอย่างมาก ทั้งในมิติความมั่นคง เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน จึงมีความมุ่งหวังร่วมกันในการส่งเสริมความสะดวกในการเดินทางระหว่างกันมากขึ้น

นอกจากนี้ จีนยังขยายมาตรการยกเว้นวีซ่าให้แก่พลเมืองของประเทศในลาตินอเมริกา เช่น บราซิล อาร์เจนตินา และชิลี โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ทำให้จำนวนประเทศที่ได้รับสิทธิเดินทางเข้าจีนโดยไม่ต้องขอวีซ่าเพิ่มเป็น 43 ประเทศ

โฆษกฯ ย้ำว่า มาตรการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของจีนในการเปิดประเทศในระดับสูง และสร้างเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้าง โดยในไตรมาสแรกของปี 2025 จีนต้อนรับชาวต่างชาติเกิน 9 ล้านคน และมีบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนใหม่กว่า 18,000 แห่ง เพิ่มขึ้นกว่า 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

จีนส่งออกไปสหรัฐฯ ดิ่งหนักสุดรอบ 5 ปี ค้ากับยุโรป-อาเซียนพุ่งแทนที่ โตแตะแสนล้านดอลล์

(10 มิ.ย. 68) การส่งออกของจีนไปยังสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤษภาคม 2025 ลดลงถึง 34.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2020 ขณะที่การนำเข้าจากสหรัฐฯ ก็ลดลงกว่า 18% ส่งผลให้ดุลการค้าของจีนกับสหรัฐฯ หดตัวลง 41.55% เหลือ 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แม้การค้ากับสหรัฐฯ จะลดลง แต่จีนยังคงรักษาการเติบโตของการส่งออกโดยรวมได้ที่ 4.8% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้เล็กน้อย ขณะที่การนำเข้าลดลง 3.4% จากภาวะอุปสงค์ในประเทศที่ยังอ่อนแอ

การค้ากับสหรัฐฯ ที่ชะลอตัว ทำให้จีนเร่งปรับทิศทางการส่งออกไปยังตลาดอื่น โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 15% สหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 12% และแอฟริกาเพิ่มขึ้นกว่า 33% ส่งผลให้ดุลการค้ารวมของจีนในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 25% จากปีก่อนหน้า แตะ 103,200 ล้านดอลลาร์

ภายใต้แรงตึงเครียดทางการค้า จีนและสหรัฐฯ ยังคงใช้มาตรการภาษีตอบโต้ แม้สหรัฐฯ จะลดภาษีสินค้าจีนจาก 145% เหลือ 51.1% แต่จีนยังเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ อยู่ที่ 32.6% การปรับเปลี่ยนทิศทางการค้าครั้งนี้สะท้อนยุทธศาสตร์ของจีนที่พึ่งพาตลาดทางเลือกในช่วงวิกฤต

ขณะที่สหรัฐฯ ถอยห่างจากจีน แต่ยุโรปกลับเดินเกมตรงข้าม โดยเพิ่มการค้ากับจีนอย่างต่อเนื่อง บริษัทในยุโรปไม่ได้ถูกกดดันให้กระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนเท่ากับฝั่งสหรัฐฯ ทำให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับยุโรปยังแน่นแฟ้น ส่งผลให้จีนสามารถชดเชยการส่งออกที่หายไปจากตลาดสหรัฐฯ ได้บางส่วน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top