สถิติชวนอึ้ง!! ‘กรมอนามัย’ ห่วงเด็กไทย ‘อ้วน’ ติด 1 ใน 3 ของอาเซียน ชี้ ควรกินอาหารเพื่อสุขภาพ-ออกกำลังกายควบคู่

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลพบเด็กไทยมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนติด 1 ใน 3 ของอาเซียน ซึ่งเด็กไทยอายุ 0-5 ขวบมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 9.13 เด็กวัยเรียน 6-14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 13.4 และเด็กวัยรุ่น 15-18 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนร้อยละ 13.2 ซึ่งสหพันธ์โรคอ้วน (World Obesity Federation) คาดการณ์ภายในปี 2573 ประชากรอายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนสูงขึ้นอีกเกือบร้อยละ 50 พร้อมแนะกินอาหารชูสุขภาพ ถูกหลักโภชนาการ และเสริมการออกกำลังกายป้องกันภาวะอ้วน

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นวันโรคอ้วนโลก (World Obesity Day) กรมอนามัยขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมให้เด็กไทยปลอดภัย จากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มหวานมันเค็มเกิน ลดเสี่ยงโรคอ้วน เนื่องจากการเฝ้าระวังภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนในเด็กของกระทรวงสาธารณสุข (Health Data Center) ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่า เด็กอายุ 0-5 ขวบ ภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 9.13 เด็กวัยเรียน 6-14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 13.4 และเด็กวัยรุ่น 15-18 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 13.2 รวมทั้งจากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (อาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง) ในเด็กพบว่าเด็กประมาณ 1 ใน 3 คน ดื่มนมรสหวานทุกวัน กินขนมกรุบกรอบทุกวัน และดื่มน้ำอัดลมทุกวัน เด็กประมาณ 1 ใน 5 คน ดื่มน้ำหวาน น้ำผลไม้ทุกวัน การสำรวจพฤติกรรมการเลือกซื้อของเด็กไทย ปี 2563 พบว่า เด็กส่วนใหญ่ยังซื้ออาหารตามความชอบ ร้อยละ 27.7 และมีเพียงร้อยละ 8.1 เท่านั้น ที่คำนึงถึงคุณค่าทางอาหาร

นพ.สุวรรณชัยกล่าวต่อไปว่า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดพฤติกรรมการกินและออกกำลังกายจากอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน อาหารทอดมัน อาหารจานด่วน ขนมขบเคี้ยว เบเกอรี่ และขนมหวานต่างๆ รวมทั้ง เด็กยังมีภาวะในการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารน้อย ประกอบกับกลยุทธ์การตลาด ลด แลก แจก แถม ชิงโชค ชิงรางวัล ทำให้การกินอาหารและเครื่องดื่มหวาน มัน เค็มกลายเป็นเรื่องปกติ อาจส่งผลไปยังสุขภาพในอนาคตของเด็กไทย ทั้งนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และโรงเรียน คือ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุดจึงควรสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพเด็กในการเลือกซื้ออาหาร และส่งเสริมโภชนาการที่ดี จากการเลือกอาหารที่ดีมีประโยชน์ ถูกหลักโภชนาการ ลดการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น อาหารมีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง และเสริมอาหารที่ถูกหลักโภชนาการให้ครบ 5 หมู่กินอาหารกลุ่มข้าว แป้ง เนื้อสัตว์ในปริมาณที่เหมาะสม เลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เพื่อเป็นการปลูกฝังนิสัยการบริโภคที่ดีให้กับเด็ก ขนมหวาน ไม่ควรเกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ปลาหรือผลิตภัณฑ์จากปลาอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เนื้อสัตว์ เช่น ไก่ หมู เนื้อ หรือผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ไข่ 2-3 ฟองต่อคน ต่อสัปดาห์ ตับ เลือด ปลาเล็กปลาน้อย อย่างละ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ถั่วเมล็ดแห้ง เผือกมันอย่างละ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และเน้นผักและผลไม้ นอกจากนี้ ปริมาณอาหารที่เด็กได้รับในแต่ละมื้อควรเป็นปริมาณที่เหมาะสมกับอายุ ให้ได้รับสารอาหารที่พอดีไม่มากหรือน้อยเกินไป”

“ทั้งนี้ การออกกำลังกายก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำควบคู่กันไปกับการกินอาหาร เพื่อให้เด็กได้พัฒนาร่างกาย กล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อต่างๆ และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีร่างกายที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย โดยสามารถออกกำลังกายง่ายๆ เช่น เต้นแอโรบิก วิ่ง ปั่นจักรยาน กระโดดตบ กระโดดเชือก ซิทอัพดันพื้น ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ อย่างน้อย 60 นาทีทุกวัน (สะสมต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง และความอ่อนตัวของกล้ามเนื้อ

แต่ต้องอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุขณะออกกำลังกาย หรือพ่อแม่ควรเพิ่มกิจกรรมการออกกำลังกายร่วมกัน ที่สำคัญควรให้เด็กนอนหลับสนิทเพียงพอ วันละ 9-11 ชั่วโมง (สำหรับเด็กอายุ 6-13 ปี) และวันละ 8-10 ชั่วโมง (สำหรับเด็กอายุ 14-17 ปี) เพื่อช่วยพัฒนาสมรรถภาพของหัวใจ สมอง การเจริญเติบโต ให้สมวัย สูงสมส่วน และแข็งแรงอีกด้วย” อธิบดีกรมอนามัยกล่าวในที่สุด


ที่มา : https://www.naewna.com/lady/715997