Thursday, 2 May 2024
รถยนต์ไฟฟ้า

‘กูรู EV จีน’ ชี้ ‘การปฏิวัติรถยนต์’ เข้าสู่ระยะใหม่ ใช้ชิปเป็นเทคโนโลยีหลัก ขับเคลื่อนการเดินทางอัจฉริยะ

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, ฮ่องกง รายงานว่า ยานยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ขณะโลกกำลังผลักดันเป้าหมายปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดย ‘เฉิน ชิงเฉวียน’ (C.C.Chan) นักวิทยาศาสตร์ด้านวิศวกรรม และผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้าของฮ่องกง เชื่อว่าการปฏิวัติรถยนต์ถึงเวลาเข้าสู่ระยะใหม่แล้ว

เมื่อไม่นานนี้ เฉินให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า การปฏิวัติระยะแรก คือ การเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้า และขณะนี้ถึงเวลาเข้าสู่การปฏิวัติช่วงครึ่งหลัง โดยอาศัยชิปรถยนต์และระบบปฏิบัติการเป็นเทคโนโลยีหลัก โดยอนาคตรถยนต์จะเปลี่ยนจากวิธีขนส่งแบบดั้งเดิม เป็นพื้นที่เดินทางเคลื่อนที่อัจฉริยะ นำสู่การบูรณาการเครือข่ายการขนส่ง พลังงาน ข้อมูล และวัฒนธรรม

เฉินเป็นศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ณ มหาวิทยาลัยฮ่องกง รวมถึงเป็นประธานผู้ก่อตั้งสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าโลก (WEVA) โดยเขาได้รับเลือกเป็นนักวิชาการประจำสถาบันบัณฑิตวิศวกรรมจีน เมื่อปี 1997 ซึ่งนับเป็นนักวิชาการจากฮ่องกงคนแรก

เฉินเริ่มมุ่งเน้นการวิจัยเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่กว่า 40 ปีก่อน และเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเทคโนโลยีนี้ โดยเขาได้รับรางวัลทัชชิง ไชน่า อะวอร์ด (Touching China Award) ปี 2022 ซึ่งเป็นรางวัลประจำปี เพื่อยกย่องบุคคลต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจมากที่สุดของประเทศในด้านต่างๆ เพื่อยกย่องคุณูปการอันโดดเด่นที่มีต่อเครื่องยนต์ไฟฟ้า ระบบไฟฟ้า และยานยนต์ไฟฟ้า

เฉินระบุว่า การวิจัยด้านวิศวกรรมให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ พร้อมเน้นย้ำ ความสำคัญของการแปรเปลี่ยนผลการวิจัยและพัฒนา (R&D) สู่ผลิตภัณฑ์ในแวดวงวิศวกรรมรถยนต์ไฟฟ้า

ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าเกี่ยวพันกับการเดินทางในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างใกล้ชิด ซึ่งเฉินมองว่า เหล่านักวิทยาศาสตร์ไม่ควรมุ่งเน้นเฉพาะความก้าวหน้าด้านการวิจัยและพัฒนาเท่านั้น แต่ควรคำนึงถึงความต้องการและการยอมรับของตลาดด้วย โดยมีเพียงวิธีนี้ที่สามารถผลักดันการวิจัยและพัฒนาไปข้างหน้าได้

เฉินออกแบบรถยนต์ไฟฟ้าคันแรก รุ่น ‘ยู 2001’ (U2001) ในปี 1993 โดย ‘ยู’ หมายถึง ‘สามัคคี’ และ ‘2001’ หมายถึง ‘การมุ่งสู่ศตวรรษที่ 21’ ซึ่งรถยนต์รุ่นนี้ใช้พลังงานแบบบูรณาการ แบตเตอรี่พลังงานสูง และระบบช่วยเหลือการขับเคลื่อนอัจฉริยะ มีอัตราเร่ง 6.3 วินาทีต่อ 100 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง และระยะขับขี่ 180 กิโลเมตร

นักวิทยาศาสตร์ผู้ช่ำชองอย่างเฉินมีความหมั่นเพียรอย่างมาก และเป็นเลิศในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และมีความปรารถนาจะรับใช้มาตุภูมิด้วยความสามารถตั้งแต่อายุยังน้อย

“ถ้าคุณตามหลัง คุณก็จะถูกแซงหน้า” เฉินกล่าว “ผมรู้สึกว่าโชคชะตาของคนๆ หนึ่งนั้น สัมพันธ์กับประเทศอย่างใกล้ชิด”

เฉินเกิดในครอบครัวผู้ประกอบการเชื้อสายจีนในอินโดนีเซียเมื่อปี 1937 และเดินทางสู่กรุงปักกิ่งเมื่อปี 1953 เพื่อศึกษาด้านวิศวกรรมไฟฟ้าขณะมีอายุ 16 ปี ต่อมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงจนได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าในปี 1982 และมีส่วนร่วมในการสอนและวิจัยเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้านับตั้งแต่นั้น

เฉินบูรณาการยานยนต์ มอเตอร์ การควบคุม และเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ากับการศึกษาแบบสหวิทยาการใหม่อย่างสร้างสรรค์ พร้อมวางรากฐานสำหรับทฤษฎียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ รวมถึงมีส่วนส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีหลักอื่นๆ อย่างโดดเด่น จนขึ้นแท่นเป็นผู้ชี้นำเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าของจีน

เฉิน ในวัย 86 ปี ยังคงมีไหวพริบว่องไวและความจำดีเยี่ยม ทั้งยังเข้าใจแนวทางการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญของจีน

“ผมสรุปประเด็น 3 ข้อที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ได้แก่ ความต้องการเร่งด่วนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ การดูแลนักวิทยาศาสตร์และความคาดหวังต่อนักวิทยาศาสตร์ของประเทศ ตลอดจนโอกาสการมีส่วนร่วมในระดับประเทศและโลกของนักวิทยาศาสตร์” เฉิน อธิบาย

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2021-2025) ของจีน สนับสนุนการพัฒนาของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับนานาชาติอย่างชัดเจน โดยมีการออกสารพัดนโยบาย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในฮ่องกงตลอดหลายปีที่ผ่านมา

เฉินแนะนำว่า ฮ่องกงมีความแข็งแกร่งด้านการวิจัยพื้นฐาน แต่ค่อนข้างมีจุดอ่อนด้านการประยุกต์ใช้ โดยฮ่องกงสามารถทำงานร่วมกับเมืองอื่นๆ ในเขตเศรษฐกิจอ่าวกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊า และสร้างสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับเมืองเหล่านั้น

เฉินชี้ว่า แต่ละเมืองในเขตเศรษฐกิจฯ มีข้อได้เปรียบของตัวเอง เช่น เซินเจิ้นมีผู้ประกอบการนวัตกรรมจำนวนมาก ตงก่วนมีระบบประมวลผลสนับสนุนที่สมบูรณ์ จึงควรมีการจัดตั้งห่วงโซ่ระบบนิเวศการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมุ่งเน้นการแบ่งปันทรัพยากรและเสริมสร้างความร่วมมือ เพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันในวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมโดยรวมของเขตเศรษฐกิจ

ปัจจุบันเฉินสาละวนกับการเตรียมสุนทรพจน์ เพื่อการประชุมวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจ ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงปลายเดือนนี้ โดยเขาจะเดินหน้าแบ่งปันแนวคิดการปฏิวัติรถยนต์ต่อไป พร้อมเสริมว่า นักวิทยาศาสตร์ต้องแสวงหากฎธรรมชาติเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ ต้องคิดการณ์ไกลยามทำการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และยึดมั่นทิศทางที่ถูกต้องจนนาทีสุดท้าย

‘อิสราเอล’ เริ่มทดสอบรถยนต์ไฟฟ้าระบบชาร์จไร้สายบนถนน วิ่งไปชาร์จไปได้ต่อเนื่องแบบไม่หยุดพักนานกว่า 100 ชั่วโมง

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวซินหัว, เยรูซาเล็ม รายงานว่า แถลงการณ์จากอิเลคทรีออน ไวร์เลส (Electreon Wireless) บริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงสัญชาติอิสราเอล เปิดเผยว่าบริษัทฯ เริ่มการทดสอบวิ่งรถยนต์ไฟฟ้าบนถนนชาร์จไร้สายแบบไม่หยุดพักนาน 100 ชั่วโมงแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ (21 พ.ค) ที่ผ่านมา

บริษัทฯ สร้างระบบชาร์จผ่านถนนโดยใช้ขดลวดทองแดงแบบพิเศษที่ฝังใต้พื้นผิวถนน ซึ่งทำให้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถชาร์จพร้อมขับขี่บนถนนได้

รายงานระบุว่า การทดสอบขับรถยนต์ระยะทาง 1,500 กิโลเมตร ซึ่งจะสิ้นสุดในวันพฤหัสบดี (25 พ.ค.) ดำเนินการบนถนนทดสอบที่สร้างแบบพิเศษยาว 200 เมตร ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ในหมู่บ้านชายฝั่งเบตยาไนทางตอนกลางของอิสราเอล

อนึ่ง ก่อนหน้าในเดือนนี้ อิเลคทรีออน ไวร์เลสได้เปิดตัวเส้นทางรถบัสสาธารณะที่ติดตั้งเทคโนโลยีชาร์จไร้สายในเมืองบัดเบลลิงเงนของเยอรมนี โดยบริษัทฯ ยังได้ลงนามข้อตกลงกับหุ้นส่วนหลายรายเพื่อสร้างถนนชาร์จไร้สายในสหรัฐฯ และหลายประเทศในยุโรป

6 ค่ายรถ EV ยักษ์ใหญ่ของจีน เล็งตั้งฐานการผลิตในไทย หวังดันไทยสู่ Hub ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งภูมิภาคเอเชีย

หากพูดถึง ‘The Big 6’ แห่งอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ของจีน ต้องเอ่ยชื่อ BYD (Build Your Dreams), Chongqing Changan, JAC Motors, Jiangling Motors, Great Wall Motor และ Geely

ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 66 ที่ผ่านมา ‘Geely’ ตามหลัง ‘Great Wall Motor’ เดินหน้ามาลงทุนธุรกิจ EV ในไทย

‘Geely’ หนึ่งในค่ายรถรายใหญ่ของจีน มีแผนเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ของไทย ประกอบด้วย การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งฐานการผลิตในไทย

Geely กำลังพิจารณาแผนการเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยครั้งใหญ่ ทั้งรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นเล็ก และรถกระบะไฟฟ้า ภายใต้ยี่ห้อ ‘Radar’ สอดคล้องกับ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) คุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ ที่เผยว่า ได้มีการหารือกับค่ายรถ EV จีนยักษ์ใหญ่ 6 บริษัท หรือ ‘The Big 6’

ได้แก่ ‘บีวายดี’ (BYD: Build Your Dreams), ‘ฉงชิ่ง ฉางอัน’ (Chongqing Changan), ‘เจเอซี มอเตอร์’ (JAC Motors), ‘เจียงหลิง มอเตอร์’ (Jiangling Motors), เกรต วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor) และ ‘จีลี’ (Geely)

เลขาฯ BOI เสริมว่า ‘The Big’ ให้ความสนใจในนโยบายของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘มาตรการส่งเสริมการลงทุนในการตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และวางระบบห่วงโซ่อุปทานแบบบูรณาการในภูมิภาค’

ก่อนหน้านี้ BYD (Build Your Dreams) และ Great Wall Motor ได้เดินตามแผนตั้งฐานการผลิต EV โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำลังพิจารณาการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา รถยนต์ไฟฟ้า EV ในประเทศไทย

ตามมาด้วย Geely ซึ่งเป็นรายล่าสุด ต่อจาก Great Wall Motor ที่มีแผนลงทุน ‘ปักหมุด’ EV ในไทย มูลค่าระดับหลักพันล้านบาท สอดรับกับนโยบายการรักษาสถานะผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่อันดับ 10 ของโลกของไทย ซึ่งมุ่งหวังสานต่อความสำเร็จของ Hub รถยนต์เอเชียในอดีต และต่อยอดสู่การเป็นศูนย์ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV ของภูมิภาค

ตามเป้าหมายปรับสัดส่วนการผลิตรถยนต์ 30% จากยอดการผลิตรถยนต์ 2.5 ล้านคันต่อปี ให้เป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Great Wall Motor ประกาศแผนลงทุน 30 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่แห่งใหม่ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV รุ่นเล็กในไทย ในปีหน้า หรือ ปี ค.ศ. 2024

คุณณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการบริษัท Great Wall Motor Thailand ระบุว่า บริษัทเเม่จากจีน กำลังพิจารณาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในประเทศไทย

“แผนการลงทุนที่ไทยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ รวมถึงเรื่องการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น มาตราการเงินอุดหนุนราคารถยนต์ไฟฟ้า หรือการลดภาษีรถ EV” MD Great Wall Motor Thailand กล่าว

ในปี ค.ศ. 2022 รถยนต์ EV ยี่ห้อ ORA Good Cat ที่เป็นรถรุ่นเล็ก หรือ Compact Car ของ Great Wall Motor เป็นรถยนต์ไฟฟ้า EV ที่ขายดีที่สุดในประเทศไทย โดยรุ่นที่ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 828,500 บาท ซึ่งราคานี้ได้รับการอุดหนุจากรัฐ 230,500 บาท

โดย Great Wall Motor ได้เข้ามาเริ่มต้นทำธุรกิจในประเทศไทยเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่ง Great Wall Motor วางแผนที่จะผลิตรถยนต์ EV ยี่ห้อ ORA Good Cat ในไทย ในปีหน้า หรือ ปี ค.ศ. 2024 ส่วนแผนการลงทุนสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่ของ Great Wall Motor น่าจะใช้งบประมาณราว 500 ล้านบาท ถึง 1,000 ล้านบาท

ซึ่งทั้งหมดนี้ จะประกาศรายละเอียดให้ทราบในอีก 6 เดือนจากนี้ หรือในครึ่งปีหลังของปี ค.ศ. 2023 หรือไตรมาสที่ 3 ของปี ค.ศ. 2023

อย่างไรก็ดี แม้ว่า The Big 6 ทุกค่ายไล่ตั้งแต่ บีวายดี (BYD: Build Your Dreams), ฉงชิ่ง ฉางอัน (Chongqing Changan), เจเอซี มอเตอร์ (JAC Motors), เจียงหลิง มอเตอร์ (Jiangling Motors), เกรต วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor) และ จีลี (Geely) จะลงทุนในไทยเป็นมูลค่าที่สูงมากเท่าไหร่ก็ตาม

ทว่า ค่ายรถเจ้าใหญ่ (เจ้าที่) ในไทย ยังคงเป็นบริษัทญี่ปุ่น เช่น TOYOTA, ISUZU, HONDA, NISSAN, MAZDA, MITSUBISHI

เรื่อง : ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน
 

'รัฐบาล' เผยครึ่งปีแรก 66 มูลค่าการลงทุนต่างชาติแตะห้าหมื่นล้าน ส่วนตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตกว่า 3 เท่า จากยอดปี 65 ทั้งปี

(22 ก.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้ผลักดันและส่งเสริมการลงทุนอย่างจริงจัง ทำให้ใน 6 เดือนแรกของปี 2566 มีผู้สนใจเข้าลงทุนในประเทศเพิ่มต่อเนื่อง และได้มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 โดยอยู่ที่จำนวน 326 ราย รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 48,927 ล้านบาท สร้างการจ้างงาน 3,222 คน นักลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 74 ราย เงินลงทุน 17,527 ล้านบาท 2.สหรัฐอเมริกา 59 ราย เงินลงทุน 2,913 ล้านบาท 3. สิงคโปร์ 53 ราย เงินลงทุน 6,916 ล้านบาท 4.จีน 24 ราย เงินลงทุน 11,505 ล้านบาท และ 5. สมาพันธรัฐสวิส 14 ราย เงินลงทุน 1,857 ล้านบาท สำหรับการลงทุนจากชาติอื่น ๆ มีจำนวน 102 ราย เงินลงทุน 8,209 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมแรงดันหลุมขุดเจาะปิโตรเลียม ขั้นตอนดำเนินการขุดสถานีใต้ดิน การออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม เป็นต้น

นอกจากนี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ความพยายามของรัฐบาลในการมุ่งส่งเสริมการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเทคโนโลยียานยนต์รูปแบบใหม่ อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งปัจจุบันตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งปีแรก (เดือนมกราคม-มิถุนายน) ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมีมากถึง 31,738 คัน โดยมากกว่าถึง 3 เท่าของจำนวนทั้งหมดในปี 2565 

และจากรายงานของ China Association of Automobile Manufacturers (CAAM) พบว่า ไทยถือเป็น 1 ใน 3 ประเทศ ผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมากที่สุด เนื่องจากผู้บริโภคมีความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีรูปแบบใหม่มากขึ้น ประกอบกับภาครัฐได้มีการออกมาตรการสนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภค รวมถึงมีมาตรการจูงใจให้นักลงทุนสามารถขยายธุรกิจ และใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในภูมิภาค โดยเมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการชิ้นส่วนอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่มีศักยภาพ เข้าร่วมการเจรจาธุรกิจกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนอย่างบริษัท BYD ซึ่งมีแผนลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ของ BYD แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ไทย นับเป็นการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างบริษัทผลิตรถยนต์โลกกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน และเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ผลิตในไทยได้มีส่วนร่วมอยู่ในซัพพลายเชนระดับโลก

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทย มาอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยนับได้ว่ามีศักยภาพและความได้เปรียบที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้ง มีกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพสูงตามมาตรฐานสากล มีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่เป็นประโยชน์กับการค้าการลงทุน ซึ่งเมื่อประกอบกับนโยบายของไทยที่เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี ตอบรับความท้าทายระดับโลก เช่น ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง” น.ส.รัชดากล่าว

TESLA Model 3 ประกาศปรับราคาลง เริ่มต้นที่ 1,659,000 บาท  พร้อมฟรีประกันชั้น 1 สั่งซื้อผ่านออนไลน์ รับรถได้ ภายในเดือนนี้

Tesla Model 3 ประกาศปรับลดราคาอย่างเป็นทางการ (นำเข้า CBU จากประเทศจีน) โดยบริษัทแม่ Tesla Official (Thailand)
Model 3 Rear-Wheel Drive    ส่วนลด 100,000 บาท  เริ่มต้น    1,659,000 บาท
Model 3 Long Range AWD     ส่วนลด 120,000 บาท  เริ่มต้น     1,879,000 บาท
Model 3 Performance AWD  ส่วนลด 250,000 บาท  เริ่มต้น   2,059,000 บาท

โดยมีเงื่อนไขรับรถภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2023 นี้ พร้อมฟรีประกันภัยชั้น 1 เมื่อจัดไฟแนนซ์ กับสถาบันการเงินที่ร่วมรายการ
(ทิสโก้, กรุงศรีฯ, เกียรตินาคิน, กสิกรไทย)

โดยผู้ที่สนใจสามารถสั่งซื้อผ่านทาง website : https://www.tesla.com/th_TH หรือ TESLA Center แห่งแรกในไทย The Paseo รามคำแหง

‘EV ไทย’ ติดท็อป 10 ของโลก บริษัทยักษ์ใหญ่แห่ปักฐาน ตั้งแต่โครงการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ไปจนถึงสถานีชาร์จไฟ

เมื่อไม่นานมานี้ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวปาฐกถาในงานThailand Focus 2023 หัวข้อ ‘Benefifs from supply chain relocation and renewed investments : EV industries’ ว่าไทยจะได้ประโยชน์อย่างไรจากการย้ายฐานห่วงโซ่อุปทาน และการกลับเข้ามาลงทุนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 

ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมีความแข็งแกร่ง มีส่วนแบ่งใน GDP ถึง 6% และถูกจัดอยู่ในอันดับ 10 ของโลก มีการเข้ามาขอการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น มีตั้งแต่โครงการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ไปจนถึงสถานีชาร์จไฟ 

โครงการรถยนต์ EV ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปแล้วถึง 17 โครงการ เป็นผู้เล่นรายใหญ่เข้ามา เช่น บีวายดี(BYD), เกรทวอลล์ มอเตอร์ (GWM) และยังมีอีกหลายบริษัทใหญ่ที่กำลังขออนุมัติการส่งเสริมการลงทุน เช่น ฉางอันมอเตอร์ 

ด้านแบตเตอรี่ BOI ได้ส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ 71 โครงการ และสถานีชาร์จไฟ EV 10 โครงการ เพิ่มสถานีชาร์จเป็น 11,000 หน่วย จากปัจจุบัน 4,000 หน่วย

หนุ่มเจ้าของรถไฟฟ้า BYD ป้ายแดง ไม่ติดใจ หลังบริษัทดูแลอย่างดี ได้รถสำรองมาใช้ รอสืบสาเหตุ

(4 ก.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุไฟไหม้รถไฟฟ้าขณะจอดชาร์จแบตเตอรี่ บริเวณจุดจอดชาร์จหน้าห้างแห่งหนึ่ง ถนนนิตโย เขตเทศบาลนครอุดรธานี พบเป็นรถทะเบียนป้ายแดง มีควันลอยออกมาจากฝากระโปรงรถ โดย นายวิ เจ้าของรถ เผยว่าซื้อรถคันนี้มาได้ 1 สัปดาห์ ในราคาประมาณ 1 ล้านกว่าบาท ปกติจะชาร์จแบตเตอรี่อยู่ที่บ้าน และตามจุดชาร์จที่มีบริการ

ล่าสุด พ.ต.ท.กุศล สิทธิขันแก้ว ให้ข้อมูลว่า เบื้องต้นสอบปากคำเจ้าของรถเอาไว้แล้ว และให้เจ้าของรถนำเอารถเข้าไปที่ศูนย์ เพื่อรอเจ้าหน้าที่วิศวกรของบริษัทมาตรวจสอบหาสาเหตุของไฟไหม้ครั้งนี้อย่างละเอียดอีกครั้ง คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบสักพัก

ด้าน นายวิ เจ้าของรถ เปิดเผยผ่านทางโทรศัพท์ว่า ตอนนี้บริษัทนำรถเข้าไปที่ศูนย์ เพื่อให้ทางวิศวกรของบริษัทตรวจสอบ ตนยังไม่ทราบว่าจะใช้เวลาในการตรวจสอบนานขนาดไหน ต้องรอบริษัทติดต่อมาอีกครั้ง ส่วนประกันของรถจะต้องรอการตรวจสอบของบริษัท เพื่อจัดการรับผิดชอบ

นายวิ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่เกิดเหตุเมื่อวาน ทางบริษัทเอารถเข้าศูนย์ แล้วให้ตนเอารถสำรองมาใช้ไปจนกว่าจะทำการตรวจสอบ และซ่อมบำรุงเสร็จสิ้น โดยรถที่บริษัทเอามาใช้ก็ยังเป็นรถไฟฟ้าหมือนเดิม ความรู้สึกตนไม่ได้กลัวจะเกิดเหตุการณ์แบบเดิมขึ้นอีก ตนรู้สึกพอใจที่บริษัทมาดูแลเบื้องต้นเป็นอย่างดี รอเพียงการตรวจสอบหาสาเหตุที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน ก็จะรู้ว่าบริษัทจะทำยังไงต่อไป

BYD เปลี่ยนรถคันใหม่ให้ลูกค้าที่ชาร์จรถ EV แล้วเกิดควัน ด้านเจ้าของรถเผย ยังเชื่อมั่นในรถยนต์ไฟฟ้าและจะใช้งานต่อไป

จากกรณี รถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ BYD รุ่น ATTO3 เกิดควันจากฝากระโปรงหน้าขณะทำการชาร์จไฟฟ้า บริเวณห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งทาง บีวายดี และ บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ ในฐานะผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ BYD ได้ส่งทีมเข้าตรวจสอบ พร้อมออกแถลงการณ์ 2 ฉบับดังข่าวที่นำเสนอไปก่อนหน้า

(8 ก.ย.66) รายงานข่าวจากเพจ จส.100 ระบุว่า ทางเจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุ ได้รับการติดต่อจากบีวายดีและเรเว่ ในการมอบรถยนต์ BYD รุ่น ATTO3 คันใหม่ให้เพื่อทดแทนคันเดิมที่เกิดเหตุดังกล่าวขึ้น โดยระบุว่า หลังจากเกิดเหตุได้มีการนำไปตรวจสอบอย่างละเอียดโดยวิศวกร และแจ้งเบื้องต้นว่ารถคันดังกล่าวได้เปลี่ยนอะไหล่ที่มีปัญหา ทำการสตาร์ทรถ และชาร์จทั้ง AC และ DC ได้เป็นปกติแล้ว แต่ทาง บริษัทฯ ก็ยังยืนยันจะมอบรถไฟฟ้า BYD Atto3 คันใหม่ให้ ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการตกแต่งติดฟิล์มให้เหมือนคันเดิม ก่อนจะนัดส่งมอบในวันอาทิตย์ที่ 10 ก.ย.66 นี้

ซึ่งเจ้าของรถคันดังกล่าวได้ระบุเพิ่มเติมอีกว่า ในช่วงแรกหลังเกิดเหตุมีความกังวลอยู่บ้าง แต่หลังจากนี้ มองว่าเป็นอุบัติเหตุและเชื่อมั่นในรถยนต์ไฟฟ้าและจะใช้งานต่อไป

‘อ.พงษ์ภาณุ’ วิเคราะห์!! ยานยนต์ไทยใต้เงายุค EV ทางสองแพร่ง ที่ไม่ควรส่งเสริมแค่สิทธิด้านภาษี

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 10 ก.ย.66 ในประเด็นอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์โลก และทางแยกสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ภายใต้ทิศทางใดเพื่อผลักไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ของเอเชียได้อย่างแท้จริง ดังนี้...

อนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์อุตสาหกรรมและตลาดยานยนต์ของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engines) ซึ่งครองความเป็นเจ้าถนนมาตลอดระยะเวลากว่า 130 ปี กำลังเจอความท้าทายอย่างหนัก นับจาก Benz ได้จดสิทธิบัตร Motorwagen ครั้งแรกเมื่อปี 1880 และพาอุตสาหกรรมยานยนต์เติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในยุโรป, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น และไทย

แต่วันนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ดั้งเดิมกำลังเจอกับ Technological Disruption ครั้งใหญ่ที่สุด ใหญ่ถึงขนาดที่จะเปลี่ยนแปลงวงการแบบถอนรากถอนโคน เมื่อ Tesla ของ Elon Musk ได้นำรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles - EV) ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2010 จนผ่านมาถึงวันนี้ตลาดรถยนต์ EV ได้เติบโตอย่างรวดเร็วจนปัจจุบันมียอดผลิต/จำหน่ายเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของรถยนต์นั่งทั้งหมดและน่าจะเติบโตต่อไปอีกมาก เพราะความสนใจของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญใน Hardware และความเป็นเลิศทางยนตรกรรม มาเป็น Software และประสบการณ์ทางดิจิทัลผ่านยานพาหนะมากขึ้น

แน่นอนว่า ประเทศไทยซึ่งประสบความสําเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์มากว่า 50 ปี และมีอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีขนาดใหญ่มาก มีสัดส่วนใน GDP กว่า 10% พิจารณาได้จากการจ้างงานเกือบ 1 ล้านคน และถึงขั้นได้รับสมญานามว่าเป็น Detroit of Asia เมื่อปี 2017 ไทยผลิตรถยนต์ได้ 2 ล้านคัน ขายในประเทศ 1 ล้านคัน และส่งออกอีก 1 ล้านคัน ถือเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์ส่งออกมากเป็นอันดับ 13 ของโลก

แต่วันนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ได้เดินมาถึงทางแยกสำคัญ หากยังยึดโยงกับผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งมีการเคลื่อนตัวค่อนข้างช้าไปสู่การผลิตรถยนต์ EV เมื่อเปรียบเทียบกับแนวโน้มในประเทศอื่น โดยเฉพาะจีนที่ได้กลายเป็นผู้นำในรถยนต์ EV และในการผลิตแบตเตอรี

ทิศทางการส่งออกรถยนต์ (สันดาป) ไปตลาดสำคัญๆ ของไทยก็เริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อตลาดที่เคยเป็นฐานหลักของไทยเริ่มหันเหไปมองหารถยนต์ EV มากขึ้น

ครั้นจะพลิกบทบาทมาเป็นผู้เล่นในตลาด EV ก็น่าห่วงกับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ซึ่งยังไม่สามารถเทียบได้กับจีนที่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง หรือแม้แต่อินโดนีเซียที่มีสินแร่สำคัญสำหรับผลิตแบตเตอรีและมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่กว่าหลายเท่า

ดังนั้น จากนาทีนี้ จึงเป็นภารกิจสำคัญที่รัฐบาลใหม่จะต้องทบทวนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนที่เคยมุ่งเน้นแต่การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร มาเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยี ก่อนที่เราจะไม่มีอุตสาหกรรมยานยนต์เหลือให้พัฒนา

‘อียู’ สั่งสอบรถยนต์ไฟฟ้าของ 'จีน' หลังพบราคาถูกเกินไป หวั่นยุโรปได้รับผลกระทบ หากเป็นการขายเพื่อตัดราคาคู่แข่ง

(14 ก.ย. 66) อียูจะทำการสืบสวนการอุดหนุนรถไฟฟ้าโดยภาครัฐจีน จากการเปิดเผยของอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อวันพุธ (13 ก.ย.) พร้อมประกาศปกป้องอุตสาหกรรมยุโรปจาก ‘ราคาขายต่ำแบบเทียมๆ’

"เวลานี้ตลาดโลกท่วมไปด้วยรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกกว่าของจีน และราคาของรถเหล่านั้นถูกคงไว้ในระดับต่ำแบบเทียมๆ ด้วยการอุดหนุนมหาศาลของภาครัฐ" ฟอน แดร์ ไลเอิน กล่าวระหว่างปราศรัยต่อรัฐสภายุโรปในสตาร์บวร์ก

ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวต่อว่าการสืบสวนนี้อาจนำมาซึ่งการที่สหภาพยุโรปกำหนดจัดเก็บภาษีกับรถยนต์ไฟฟ้าเหล่านั้น ที่เชื่อว่าถูกวางจำหน่ายในราคาถูกอย่างไม่ยุติธรรม ซึ่งเป็นการขายตัดราคาบรรดาคู่แข่งสัญชาติยุโรปทั้งหลาย "ยุโรปเปิดกว้างสำหรับการแข่งขัน แต่ไม่ใช่การแข่งขันที่นำไปสู่จุดเสื่อม"

มีรายงานข่าวว่า ฝรั่งเศสคือชาติที่ผลักดันให้ ฟอน แดร์ ไลเอิน เปิดการสืบสวน ท่ามกลางความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วยุโรป ต่อกรณีที่ทวีปแห่งนี้ต้องพึ่งพิงผลิตภัณฑ์ของจีน

บรรดาผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติยุโรปต่างชื่นชมการสืบสวนในครั้งนี้ โดยมองมันในฐานะสัญญาณในทางบวก "คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังตระหนักถึงสถานการณ์ที่ไม่สมดุลมากขึ้นเรื่อยๆ ที่อุตสาหกรรมของพวกเราต้องเผชิญ และกำลังพิจารณาอย่างเร่งด่วนต่อการแข่งขันที่บิดเบี้ยวในภาคอุตสาหกรรมของเรา" Sigrid de Vries ผู้อำนวยการทั่วไปของสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งยุโรปกล่าว

เธียร์รี เบรตอง หัวหน้าตลาดภายในของอียู กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เตือนเกี่ยวกับแนวโน้มหนึ่งที่กำลังก่อตัวขึ้น แนวโน้มที่ยุโรปกำลังถูกผลักไปเป็นผู้นำเข้าสุทธิยานยนต์ไฟฟ้าและแผงโซลาร์เซลล์

ขณะเดียวกัน พวกผู้เชี่ยวชาญบางส่วนมองว่า จีน อาจแซงหน้าญี่ปุ่น กลายเป็นชาติผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกในปีนี้

ฝรั่งเศสมีความกังวลอย่างยิ่งว่า ยุโรปจะตกเป็นฝ่ายตามหลังถ้าไม่ดำเนินการเชิงรุกมากกว่านี้ ยามที่ต้องเผชิญหน้ากับความเคลื่อนไหวต่างๆ ของจีน ที่มีการกีดกันทางการค้ามากกว่า

ก่อนหน้านี้ ฝรั่งเศสได้แถลงมาตรการต่างๆ ที่จะมอบการอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้าใหม่ บนพื้นฐานของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเหล่าผู้ผลิต ซึ่งมันจะทำให้รถยนต์ของจีนเจองานที่ยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากบ่อยครั้งที่ผู้ผลิตสัญชาติจีนมักพึ่งพิงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน

ฟอน แดร์ ไลเอิน เรียกร้องให้อียูกำหนดแนวทางของตนเองในการรับมือกับจีน แต่บรรดามหาอำนาจยักษ์ใหญ่ของยุโรปบางส่วนอยากให้ดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงถูกตัดขาดความสัมพันธ์ทางธุรกิจ

แม้แสดงออกด้วยคำพูดที่แข็งกร้าว แต่ ฟอน แดร์ ไลเอิน กล่าวเช่นกันว่า มันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับยุโรปที่ต้องธำรงไว้ซึ่งการติดต่อสื่อสารและการทูตกับจีน "เพราะว่ายังมีหัวข้อต่างๆ ที่เราสามารถและมีความร่วมมือระหว่างกัน ลดความเสี่ยง ไม่ใช่เพิ่มเป็นทวีคูณ นี่คือท่าทีของฉันที่มีต่อพวกผู้นำจีน ณ ที่ประชุมซัมมิตอียู-จีน ในช่วงปลายปี"


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top