Thursday, 2 May 2024
รถยนต์ไฟฟ้า

รถยนต์ไฟฟ้าใน 'เมียนมา' 'ถึงเวลา' หรือ 'มาก่อนกาล'

ถ้ากล่าวถึงประเทศไทยวันนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรานั้นมาถึงยุคของรถไฟฟ้าแล้ว เพราะยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยนับได้ว่าดีวันดีคืนจนค่ายรถเกือบทุกสำนักต้องเข็นรถยนต์ไฟฟ้าออกมายึดหัวหาดในตลาดนี้ และด้วยเหตุผลทางเศรษฐสถานะของคนไทยไม่ว่าจะเรื่องค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่ไม่สามารถลดลงได้ ทำให้การเลือกเปลี่ยนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่สามารถใช้ได้กับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเมียนมาได้เลย เพราะประเด็นของเมียนมา ณ วันนี้คือ ต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อในประเทศไม่ใช่จากภาวะต้นทุนน้ำมัน และภาวะการขาดแคลนไฟฟ้า รวมถึงภาวะการที่รัฐไม่สามารถจ่ายไฟให้มีระดับโวลต์ที่คงที่ได้ นี่ต่างหากที่คืออุปสรรคของการทำตลาดรถไฟฟ้าในเมียนมา

แต่อย่างไรก็ดีค่ายรถจีน ก็ยังมองว่าเมียนมาเป็นประเทศที่มีศักยภาพสำหรับที่จะเปิดตลาดรถไฟฟ้า โดยค่ายรถยักษ์ใหญ่อย่าง NETA ที่เข้าไปเปิดตลาดในเมียนมาร์ก่อนแล้วตอนนี้ตามมาด้วย BYD ซึ่งเอาใจผู้ใช้รถชาวพม่าโดยออกรถ SUV ที่เป็นรถยอดนิยมในหมู่ชาวพม่าออกมาเพื่อแย่งตลาดผู้ใช้รถ SUV ในเมือง ด้วยราคาเปิดตัวที่ประมาณ 100 ล้านจ๊าตหรือประมาณ 1.2 ล้านบาทไทยซึ่งเท่าๆ กับราคา ของ BYD ในไทย น่าจะทำให้เศรษฐีเมืองพม่าหลายคนที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องไฟตก ไฟเกิน เข้าถึงได้ไม่ยากนัก

ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทยเนื้อหอม คาดปีนี้แตะ 5 หมื่นคัน - แบรนด์จีนกวาด 85%

ในปี 2565 ที่ผ่านมา ได้เห็นถึงการเข้ามาทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100% หรือ BEV ในหลายรูปแบบในไทย ซึ่งทำให้ตลาดรถยนต์ BEV ในไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดขึ้นมาก และยังมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า

สำหรับในปี 2566 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าจะเป็นอีกปีที่ดีสำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้า 100% ( Battery Electric Vehicle :BEV) ในไทย ซึ่งหากทำได้ดีก็มีโอกาสที่ยอดขายรถยนต์ BEV จะสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดถึง 271.6% (YoY) ไปแตะระดับ 50,000 คัน เพิ่มขึ้นจาก 13,454 คันในปี 2565 แม้ยังมีปัจจัยกดดันอยู่จากเรื่องระบบ Ecosystem ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหลังมีการเคลมปัญหาชิ้นส่วนและการใช้งานบ่อยขึ้น รวมถึงประเด็นการรออะไหล่ที่ยาวนานเนื่องจากยังไม่มีฐานผลิตในไทย ประกอบกับเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในช่วงฟื้นตัว ซึ่งแรงหนุนหลัก มาจากทั้งปัจจัยด้านอุปสงค์จากความต้องการรถยนต์ BEV ที่ยังอยู่ในระดับสูงของผู้บริโภค อันเป็นผลของ (1) มาตรการกระตุ้นด้านราคาที่ถูกจุดจากทางภาครัฐและ (2) การเร่งกระจายจุดชาร์จรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งาน

ประกอบกับ ปัจจัยด้านอุปทาน โดยมีสัญญาณบวกจาก (1) สถานการณ์การขาดแคลนชิปในการผลิตรถยนต์ที่เริ่มคลี่คลายขึ้นตามลำดับทำให้โอกาสส่งมอบรถยนต์ทำได้ดีขึ้น (2) ค่ายรถต่างส่งสัญญาณบุกตลาดมากขึ้นในไทย ไม่ว่าจะจากจีน ตะวันตก ญี่ปุ่น หรือแม้แต่เกาหลีใต้ โดยเตรียมเปิดตัวรถยนต์ BEV รุ่นใหม่ในไทยปีนี้หลายรุ่นหลาย Segment ตั้งแต่รถยนต์นั่งไปจนถึงรถปิกอัพ ซึ่งจะทำให้มีตัวเลือกรถยนต์ BEV มากขึ้นในตลาด (3) ยอดขายรถยนต์ BEV ในจีนตกลงมาก ทำให้จีนมีโอกาสส่งออกมาทำตลาดในไทยแทนมากขึ้น หลังรัฐบาลกลางจีนไม่ต่ออายุมาตรการให้เงินอุดหนุนในการซื้อรถยนต์ BEV ทั้งนี้ ปัจจัยต่างๆ ข้างต้น ในด้านหนึ่ง ช่วยสนับสนุนให้ผู้ซื้อรถ BEV ในไทยมีตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงสภาวะการแข่งขันในตลาดรถ BEV ที่คงจะรุนแรงขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การแข่งขันของตลาดรถยนต์ BEV ในไทย มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นอีก จากจำนวนผู้เล่นที่มีแนวโน้มหนาตามากขึ้น เนื่องจากคาดว่าจะยังมีค่ายรถในจีนอีกหลายแบรนด์ที่อาจมีแผนรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเพื่อหาโอกาสทางธุรกิจ ขณะเดียวกันก็เพื่อบริหารจัดการอัตรากำลังการผลิตส่วนเกินในจีนด้วย และเมื่อผนวกกับการที่ค่ายรถสหรัฐฯที่ใช้สิทธิ FTA นำเข้าจากจีนมาไทยและกำลังเตรียมจะเข้ามาลุยตลาดรถยนต์ BEV ในรุ่นตลาด Mass แล้ว ก็ยังมีค่ายรถญี่ปุ่นที่ถึงแม้จะเข้ามาลุยตลาดช้าแต่ก็มีพื้นฐานเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือในกลุ่มผู้บริโภคไทยมานาน ตลอดจนค่ายเกาหลีและตะวันตกที่ก็เป็นที่รู้จักในตลาดรถยนต์ BEV โลกที่กำลังจะตามเข้ามาทำตลาดด้วย

เป็นรูปเป็นร่าง!! ไทยเดินหน้าฮับ EV เร่งผลักดันมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม หลังค่ายรถสัญชาติจีนยักษ์ใหญ่ เริ่มก่อสร้างโรงงานจริงจัง

(17 มี.ค.66) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เผยว่า ได้ผลักดันให้การส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าครอบคลุมการผลิตยานพาหนะไฟฟ้าทุกประเภท รวมทั้งจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถสามล้อไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า และเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพ และสามารถพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีในอนาคตได้ ตามมติคณะกรรมการบีโอไอเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Roadmap 30@30) ที่มีเป้าหมายในปี 2573 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด

ล่าสุด บีโอไอรายงานว่าผู้ผลิตรถ EV จากจีนสองค่าย ได้แก่ เนต้า (NETA) และบีวายดี (BYD) ได้วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างโรงงานผลิตรถ EV ในประเทศไทย คาดว่าจะแล้วเสร็จ 1-2 ปีข้างหน้าโรงงานจะแล้วเสร็จ และยังมีค่ายรถจากจีนและยุโรปยื่นขอรับการสนับสนุนอีกหลายค่าย โดยรัฐบาลกำลังเร่งผลักดันมาตรการสนับสนุนรถอีวีเพิ่มเติม หรือมาตรการ EV 3.5 ต่อเนื่องจากมาตรการ EV 3 ที่จะหมดอายุภายในสิ้นปี 2566 ซึ่งจะทำให้ไทยก้าวสู่ความเป็นฮับอีวีได้ไม่ยาก

ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวเป็นที่ชื่นชอบของพี่น้องประชาชน นอกจากกระตุ้นธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เกิดการจ้างงาน ถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว เมื่อมีการผลิตที่มากขึ้นในไทย จะทำให้ราคาถูกลง ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและลดมลพิษ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ได้ในระยะยาว

‘อนุชา’ เผย ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเติบโต สะท้อนผลสำเร็จมาตรการของ รบ. ผลักดันไทยเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

(23 มี.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รับทราบและยินดีที่มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ถึง 317,502 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.47 จากช่วงเดียวกันของปี 2565 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญของไทยในการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต และเป็นผลสำเร็จจากการดำเนินมาตรการเชิงรุกของรัฐบาลที่สนับสนุนให้เกิดการผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศมากขึ้น โดยยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า 3 ประเภท ในกลุ่มรถยนต์นั่ง ล่าสุดในเดือน ก.พ. มียอดจดทะเบียนสะสม 331,885 คัน ยอดจดทะเบียนสูงสุดคือรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle: HEV) รองลงมาได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) 

ฝีมือ รปภ.คนเดิม!! รู้หรือไม่? ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมถึงร้อยละ 39.47

ภายหลังจาก ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินหน้าผลักดันมาตรการเชิงรุก เพื่อสนับสนุนให้เกิดการผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง 

ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ถือเป็นพัฒนาการสำคัญของไทยในเชิงของเศรษฐกิจใหม่ด้านยานยนต์ ขณะเดียวกันก็ช่วยพาประเทศเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคตอีกด้วย

สัปดาห์แรก ‘มอเตอร์โชว์’ คนแห่จองรถทะลุ 1.3 หมื่นคัน รถยนต์ไฟฟ้ามาแรงยอดพุ่งกว่า 1 พันคัน

สัปดาห์แรกของการจัดงาน “บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44” ค่ายรถที่เข้าร่วมงานกวาดยอดจองไปแล้วมากกว่า 1.3 หมื่นคัน มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 32.5% ขณะที่ยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าพุ่งมากกว่า 1,000 คัน

นายจาตุรนต์ โกมลมิศร์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงาน “บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์” เปิดเผยว่า “ในช่วงสัปดาห์แรกของการจัดงาน มีผู้บริโภคให้ความสนใจเข้าชมงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการนำรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ เข้ามาจัดแสดงภายในงานจากหลายค่าย เป็นตัวช่วยกระตุ้นผู้เข้าชมให้มางานได้เป็นอย่างดี การผ่อนปรนมาตรการการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรื่องการเว้นระยะห่างของกระทรวงสาธารณสุข ก็เป็นอีกหนึ่งส่วนที่ทำให้คนรู้สึกผ่อนคลาย และมีความมั่นใจในการออกมาเยี่ยมชมงานมากกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

โดยในช่วงของสัปดาห์แรกของการจัดงาน มีรายงานตัวเลขจากค่ายรถที่นำรถ เข้ามาร่วมจัดแสดงภายในงาน พบว่ามีตัวเลขยอดจองรถยนต์กว่า 13,343 คัน คิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 32.5 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งในจำนวนดังกล่าว มียอดจองเฉพาะรถไฟฟ้า 100% มากกว่า 1,000 คัน

ทั้งนี้ ตัวเลขยอดจองรถไฟฟ้าสูงเกินเป้าหมายที่ทางคณะผู้จัดงานฯ คาดการณ์ไว้เล็กน้อย ส่วนหนึ่งเพราะในงานบางกอก มอเตอร์โชว์ปีนี้ มีผู้จำหน่ายรถไฟฟ้าเข้ามาร่วมงานหลายแบรนด์ และยังมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่อีกหลายรุ่น แต่คงต้องรอดูตัวเลขยอดจองหลังจบงานอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ว่าจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมามากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาที่เหลือของการจัดงาน อยากเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้ามาเลือกชม เลือกซื้อรถภายในงาน เพราะนอกจากเป็นการรวมรถยนต์ทุกค่ายไว้ในงานเดียวแล้ว ยังรวมโปรโมชั่นมากมายจากค่ายรถไว้ให้ผู้บริโภคเลือกตัดสินใจ อีกทั้งผู้เข้าชมงานยังมีโอกาสลุ้นรับรางวัลต่างๆ มากมายอีกด้วย

ยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าในงานมอเตอร์โชว์ 2023 กระฉูดหลังลูกค้าชาวไทยให้การตอบรับ ดีเกินคาด ค่ายรถจีนกวาดยอดเกิน 50%

รายงานข่าวจาก บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงานมอเตอร์โชว์ 2023 (ครั้งที่ 44) ระบุว่า ยอดจองรถยนต์ไฟฟ้า 100% (EV) จากงานมอเตอร์โชว์ 2023 ที่เพิ่งจบไป ปรากฏว่ามียอดจองทั้งสิ้น 9,234 คัน หรือคิดเป็น 20% จากยอดรวม 45,983 คัน

แบ่งเป็น กลุ่มรถจีน 8,465 คัน ประกอบด้วย MG จำนวน 2,750 คัน, BYD จำนวน 2,737 คัน, NETA จำนวน 1,300 คัน และ ORA จากค่ายเกรท วอลล์มอเตอร์ จำนวน 1,678 คัน ซึ่งมีตัวเลขเกิน 50%

‘บีวายดี’ เผย รถยนต์ไฟฟ้ารุ่น atto 3 ขายดีสุดในไทย 3 เดือนซ้อน เดินหน้าสร้างโรงงานผลิตในไทย รองรับฐานการตลาดอาเซียน

เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 66 สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานว่า เซี่ยงไฮ้ ซีเคียวริตีส์ นิวส์ (Shanghai Securities News) หนังสือพิมพ์หลักทรัพย์ สังกัดสำนักข่าวซินหัว รายงานเมื่อไม่นานนี้ว่า รถยนต์ไฟฟ้ารุ่น บีวายดี อัตโต 3 (Atto 3) ของบีวายดี (BYD) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำสัญชาติจีน ขึ้นแท่นรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในประเทศไทยเป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกัน โดยมียอดจดทะเบียนรถรุ่นนี้ 2,434 คันในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ในไตรมาสแรกของปี 2023 มีรถยนต์รุ่นอัตโต 3 จดทะเบียนในไทยรวม 5,542 คัน คิดเป็นร้อยละ 37.5 ของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดที่จดทะเบียนในไทยในช่วงเวลาเดียวกัน

บีวายดี กล่าวว่า นับตั้งแต่ที่รถยนต์รุ่นนี้เปิดตัวในประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2020 ช่วงระหว่างวันที่ 1 พ.ย. - 12 ธ.ค. ก็มียอดสั่งซื้อมากถึง 10,305 คัน โดยบริษัทบีวายดี ส่งมอบรถยนต์อัตโต 3 ในประเทศไทยแล้วทั้งสิ้น 11,539 คัน

‘รัฐบาล’ ปลื้ม!! แนวโน้มตลาดรถ EV ไทยโตต่อเนื่อง พร้อมยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาค

(12 เม.ย.66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนในภาคการผลิตและส่งออกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฐานการการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์ของภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

พร้อมทั้งรับทราบการเปิดเผยรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยซึ่งคาดการณ์ว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า BEV ในไทยในปี 2566 นี้จะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดถึง 271.6% เมื่อเทียบกับปี 2565 พร้อมประเมินว่าจะสามารถทำยอดขายได้กว่า 50,000 คัน สะท้อนถึงพัฒนาการด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ รถยนต์ไฟฟ้า BEV (Battery Electric Vehicle) เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อน โดยไม่มีการปลดปล่อยมลพิษ (Zero Emission) จากรถยนต์โดยตรง จึงได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยเพิ่มเติมว่า แนวโน้มการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า BEV ในไทย มีปัจจัยสนับสนุนทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยด้านอุปสงค์มาจากความต้องการรถยนต์ BEV ที่ยังอยู่ในระดับสูงของผู้บริโภค ซึ่งเป็นผลของมาตรการกระตุ้นด้านราคาที่ถูกจุดจากทางภาครัฐและการเร่งกระจายจุดชาร์จรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งาน 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top