Thursday, 2 May 2024
รถยนต์ไฟฟ้า

‘รถยนต์ไฟฟ้าจีน’ ผงาด!! ครองอันดับ 1 ในตลาดยานยนต์ ผลจากการศึกษา-ความมุ่งมั่นทางวิทย์ฯ จนกลบทุกข้อกังขา

(29 ก.ย. 66) นายพงศ์พรหม ยามะรัต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Pongprom Yamarat' ระบุว่า…

5-6 ปีก่อน ผมเคยบอกเพื่อน ๆ ในวงการรถยนต์ว่ารถยนต์จีนน่ากลัวนะ วันนึงจะมาแย่ง market share บนโลกได้มากมาย

แต่คำตอบคือ รถจีนหนะเหรอ? แล้วก็หัวเราะกัน

สิ่งที่ผมพยายามบอกทุกคนก็คือ นี่คือเคล็ดไม่ลับในการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดดของจีน

‘การศึกษา’ และ ‘ความมุ่งมั่นทางวิทยาศาสตร์’ ยังไงหละครับ

เมื่อเห็นจุดเด่นตรงนี้ ก็เดาอนาคตไม่ยาก ผมพูดจนเพื่อนผมชอบบอกว่า ผมโปรจีน จริง ๆ เปล่า ผมแค่ชื่นชมญาติเรา และอยากให้ไทยทำแบบนั้นบ้างต่างหาก

ข่าวรถยนต์วันนี้ไม่มีอะไรดังไปกว่าการเปิดราคา BYD Seal แล้ว BYD Seal เป็นรถไฟฟ้า 100% ที่ค่าย BYD เคยเอามายั่วน้ำลายเมื่อตอนต้นปี แล้วเอามาเปิดตัววันนี้ ในราคาช็อกตลาด

BYD เป็นเจ้าตลาดรถ EV ในจีนมานาน ผมเคยโพสต์ไปว่า Warren Buffet เคยเลือกซื้อหุ้นบริษัทนี้ แต่ไม่ซื้อหุ้น Tesla 

จุดเด่น BYD คือเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ ที่มาทำรถยนต์ เทคโนโลยีแบตจึงเด่น ในต้นทุนที่ถูกกว่าชาวบ้าน

จุดขาย BYD Seal นี่แหละครับที่น่าสนใจ

วันนี้เค้าไม่สนใจตลาดรถ ‘ราคาถูก แต่คุณภาพต่ำ’ แต่มาเน้น ‘ราคาเอื้อมถึง ในคุณภาพที่ดีกว่าคู่แข่ง’ หรู คุณภาพสูง แข็งแรง เทคโนโลยีเยี่ยม ทนทาน ใช้งานง่าย ในราคาสบายกระเป๋า อุปกรณ์ภายในพรีเมียม ประตู ที่วางแขน บุนุ่มหมด เบาะหน้าหลัง เน้นตัวใหญ่ นั่งสบาย ไม่ลดต้นทุน

เอาจริง ๆ คือเบาะให้มาใหญ่ สบายกว่า Mercedes C-E กับ Tesla อีก

BYD Seal ใหญ่กว่า Tesla 3 ไม่มาก แต่ภายในใหญ่สู้ Camry, Accord ได้

จุดเด่นของแบตเตอรี่เค้าคือ High performance + วิ่งได้ไกล + ทนทาน + fitting กับรถง่าย + ไม่ติดไฟ 
ในขณะที่แบตรถ EV เกือบทุกยี่ห้อในโลก ติดไฟนะครับ

ราคาที่เปิดตัวมาเมื่อ 6 โมงเย็น ถือว่าทำค่ายรถญี่ปุ่นช็อกทันที เริ่ม 1.325 ล้าน จนถึง 1.599 ล้าน ราคานี้ ตั้งแต่ Honda Civic, Honda Accord, Toyota Corolla, Toyota Camry, Mazda 3 สะเทือนหนักแน่
ตัว 1.599 ล้าน เป็น dual motors 530 แรงม้า แรงบิด 670 nm. อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 3.8 วินาที
นั่นคือไล่ Porsche, Lamborghini ได้แล้ว

โหดมาก วันแรก ยอดจองเกือบ 900 คันแล้ว ราคานี้ ใครกำเงินแถว ๆ นี้ ผมว่ามีเขวไป BYD กันทั้งเมือง
นี่แหละครับ

ประเทศที่เจริญเพราะความมุ่งมั่นด้านการวิจัย และวิทยาศาสตร์ยังไงหละครับ

BYD ฟันยอดขายเดือน 8 พาผงาดอันดับ 4 ของโลก  เหตุ 'กระแสรถไฟฟ้าบูม-ส่งรถใหม่' สู่ตลาดต่อเนื่อง

(17 ต.ค.66) เว็บไซต์ CarNewChina.com ได้เปิดเผยว่า จากการรวบรวมยอดขายรถยนต์ใน 37 ตลาดใหญ่ของโลกในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พบว่ามีความน่าสนใจอย่างมาก โดยนอกจากตลาดจะมียอดขายอยู่ที่ 5.55 ล้านคันแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อแยกตามแบรนด์แล้ว จะพบว่า BYD ซึ่งเป็นบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าของจีน สามารถทำยอดขายแซงหน้า Ford และ Hyundai ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลกสำหรับยอดขายในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการเปิดเผยยอดขายในเชิงตัวเลขออกมา แต่ระบุว่าเป็นการวัดจากส่วนแบ่งยอดขายที่เกิดขึ้นในเดือนนั้นๆ โดย BYD ทำตัวเลขของส่วนแบ่งทางตลาดอยู่ที่ 4.8% เหนือจากเจ้าของเดิมอย่าง Hyundai และ Ford อยู่ที่ 0.5 และ 0.6% ตามลำดับ และเบียดกับอันดับ 3 คือ Honda ด้วยตัวเลขที่ห่างกันเพียง 0.1% เท่านั้น

สำหรับเหตุผลที่ทำให้ BYD สามารถทำยอดขายในเดือนสิงหาคมได้นั้น เป็นผลมาจากความต้องการรถยนต์พลังไฟฟ้าในตลาดต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ BYD เองเริ่มส่งผลผลิตใหม่ๆ ของตัวเองออกมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีที่แล้ว รวมถึงการขยายตลาดออกสู่ประเทศต่างๆ ซึ่งช่วยทำให้ยอดขายในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมถึง 5% สวนทางตลาดรถยนต์ในจีนที่กำลังประสบปัญหาในเรื่องยอดขายที่ไม่เพิ่มขึ้นอันเป็นผลความต้องการที่ลดลง แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อ BYD

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนก็ยังเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เป็นผลมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่ง และทาง BYD พยายามที่รุกตลาดอยู่แล้วด้วยการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่มีความคุ้มค่าออกสู่ตลาด เมื่อความต้องการ 2 ส่วนมาสอดคล้องกันก็เลยทำให้เกิดตัวเลขยอดขายที่ดีขึ้น และยังต้องดูและติดตามถึงความคงที่ในเรื่องของการสร้างยอดขายของแบรนด์กันต่อไปว่า BYD จะยังรักษาตัวเลขของการเติบโตได้มากน้อยแค่ไหน

ขณะเดียวกัน หากมองในเรื่องของ The Most Valuable Car Company หรือบริษัทรถยนต์ที่มีมูลค่าสูงสุดนั้น BYD กลายเป็นบริษัทรถยนต์ที่ได้รับการประเมินและมีตัวเลขในส่วนนี้ขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดสามารถแซง Volkswagen ขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 3 ของโลก ต่อจาก Tesla และ Toyota ที่อยู่ในอันดับ 1 และ 2 โดยเป็นบริษัทรถยนต์จีนเพียงรายเดียวในท็อปเท็นลิสต์

สำหรับ BYD ก่อตั้งขึ้นในปี 1995 ในฐานะผู้ผลิตแบตเตอรี่และเข้าสู่ตลาดรถยนต์ในปี 2003 ซึ่งตอนนั้นพวกเขามีรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นทางเลือกที่มีอยู่ในตลาด ก่อนที่จะผันตัวมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าอย่างเต็มตัว ซึ่งในปัจจุบันพวกเขาเป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่มียอดขายสูงสุดในจีน

ปัจจุบัน BYD เป็นผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนเพียงรายเดียวที่ติดอันดับ 10 ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกตามมูลค่าตลาด ผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่รายอื่นๆ ที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ ได้แก่ Li Auto, Nio และ Xpeng แต่พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC) ได้เพิ่มพวกเขาเข้าไปในรายการ 'การเพิกถอนก่อนจดทะเบียน' พร้อมด้วยอีกกว่า 80 รายจากบริษัทจีน สิ่งนี้ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ใช้มาตรการตอบโต้ เช่น Nio เปลี่ยนไปจดทะเบียนในสิงคโปร์แทน

บิ๊กดีล!! WHA เซ็นขายที่นิคมฯ 250 ไร่ให้ ‘ฉางอาน ออโต้ฯ’ ตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรก เพื่อส่งออกทั่วโลก

(26 ต.ค. 66) บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในเครือดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งใหญ่กับบริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด หนึ่งในกลุ่มยานยนต์ชั้นนำ 4 กลุ่มของจีน จำนวน 250 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์น ซีบอร์ด 4 ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป บนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า นับเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ครั้งสำคัญแห่งปี 2566 สะท้อนถึงศักยภาพและการบูรณาการด้านการส่งเสริมการลงทุนอันโดดเด่นของประเทศไทย และมาตรฐานการจัดการนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate) ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป นับเป็นการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรชั้นนำของโลก

ในพิธีลงนามในสัญญาครั้งสำคัญนี้ ได้รับเกียรติจาก มิสจาง เซียว เซียว อัครราชทูตจีน ประจำแผนกพาณิชย์ สถานทูตจีนประจำประเทศไทยร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมีนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และนายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด และกรรมการผู้จัดการและประธานกรรมการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ลงนามในสัญญา

นายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด และกรรมผู้จัดการและประธานกรรมการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การตัดสินใจลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ใช้เงินลงทุนในเฟสแรกกว่า 8,862 ล้านบาท เพื่อตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวา ทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV) สำหรับจำหน่ายในไทยและส่งออกสู่ภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้ ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์ 100,000 คันต่อปี รวมถึงจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าจะเริ่มผลิตรถยนต์ได้ในปี 2568 โดยบริษัทยังเล็งเห็นถึงศักยภาพของไทยมากกว่าการเป็นฐานการผลิต จึงมีแผนจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนารถยนต์ในไทยในระยะต่อไปอีกด้วย

ด้วยทำเลที่ตั้งและชื่อเสียงของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปในฐานะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของภูมิภาค ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 มีทำเลที่ตั้งอันโดดเด่นบนพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ระบบสาธารณูปโภคและบริการระดับเวิลด์คลาส รวมไปถึงการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง และการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ในอีอีซีด้วย

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การตัดสินใจลงทุนของฉางอานฯโดยเลือกดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งใหม่ในไทย ซึ่งการลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แห่งปี ของความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน ในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ตลอดจนเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า ประเทศไทยคือจุดหมายด้านการลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทคจากต่างประเทศที่สำคัญของเอเชีย

ปัจจุบัน การเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลกจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ในอีอีซีอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.44 พันล้านดอลลาร์ ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศไทย ในการก้าวสู่การเป็นหนึ่งในศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าสำคัญของโลกต่อไป โดยที่ผ่านมาบีโอไอได้อนุมัติโครงการยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 23 โครงการจาก 16 บริษัท และภายในปี 2573 รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะมีสัดส่วน 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศไทย หรือ 725,000 คันต่อปี

นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 เป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 9 ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในประเทศไทย มีพื้นที่ทั้งหมด 2,443 ไร่ (รวมพื้นที่ส่วนขยาย) ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ของอีอีซีที่เอื้อต่อการส่งออกสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ได้รับการออกแบบให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate)

โดยมีโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานระดับโลก เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมล่าสุดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง การรักษาความปลอดภัย การควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการผลิตและการบำบัดน้ำเสีย และมีการเชื่อมต่อกับศูนย์ควบคุมส่วนกลางของดับบลิวเอชเอ (Unified Operation Center หรือ UOC) ทำให้บริษัทฯ สามารถตรวจสอบสภาวะด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในการพัฒนาธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน The Ultimate Solution for Sustainable Growth

“การตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยของฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าบนเวทีโลก เพราะนอกจากแสดงถึงความเชื่อมั่นของฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย ที่มีต่อประเทศไทยทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพของตลาด นโยบายเชิงรุกในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่ครบวงจรพร้อมรองรับการผลิต ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะแผนยุทธศาสตร์ชาติในการผลักดันให้ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ตลอดจนการขยายเครือข่ายสถานีชาร์จ และการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร สู่การบรรลุเป้าหมายการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle) ภายในปี 2573 หรือ 2030 ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050” นางสาวจรีพร กล่าว

Grab จับมือพาร์ตเนอร์ให้กู้ซื้อรถอีวี BYD 'ไม่ดูประวัติการเงิน-เงินดาวน์' ขอแค่ประวัติขับ Grab และหักผ่อนรายวันจากค่าบริการ เริ่มต้นปี 67

(30 ต.ค. 66) เมธิณี อนวัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจการเดินทางและบริหารพาร์ตเนอร์คนขับ แกร็บ ประเทศไทย เปิดเผยว่า แกร็บเตรียมผนึกความร่วมมือกับ Moove ผู้ให้บริการด้านสินเชื่อยานยนต์ และ Rever Automotive ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า BYD 

เปิดโอกาสให้พาร์ตเนอร์คนขับสามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อใช้ให้บริการรับส่งผู้โดยสารในโปรแกรม 'ผ่อนขับรับรถ' (Drive-to-Own)

ทั้งนี้ไม่ต้องใช้ประวัติทางการเงิน แต่จะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจากประวัติในการให้บริการกับแกร็บ คือ พาร์ตเนอร์คนขับไม่ต้องวางเงินดาวน์ และสามารถผ่อนจ่ายได้แบบรายวันผ่านการหักรายได้จากการให้บริการในแต่ละวัน

สำหรับความพิเศษของโปรแกรมสินเชื่อที่มีระยะเวลาผ่อนนานสูงสุด 72 เดือนนี้ และยังมีสิทธิประโยชน์เสริมอื่น ๆ อาทิ ฟรีค่าซ่อมบำรุงรถ รวมถึงครอบคลุมการทำประกันรถยนต์ ประกันสุขภาพและประกันชีวิตให้กับพาร์ตเนอร์คนขับ

อย่างไรก็ตาม โปรแกรมดังกล่าวจะเริ่มเปิดให้พาร์ตเนอร์คนขับแกร็บสามารถจองรถยนต์ไฟฟ้าจาก BYD ได้ในได้ในช่วงต้นปี 2567 และคาดว่าจะทำให้พาร์ตเนอร์คนขับสามารถเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าได้ทั้งสิ้น 5,000 คันภายในปี 2568 

เปิดพิกัด ‘ค่ายรถ EV จีน’ ในพื้นที่ EEC แต่ละเจ้าลงทุนเท่าไรและพื้นที่ใดกันบ้าง? 🚕⚡️

🔰หลังจากที่ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ ‘บอร์ดอีวี’ ซึ่งมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ไทยเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค รวมทั้งออกมาตรการ EV 3.5 โดยภาครัฐจะให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่ โดยมูลค่าเงินอุดหนุนขั้นต่ำสุดอยู่ที่ 20,000 บาทต่อคัน และมูลค่าเงินอุดหนุนสูงสุดอยู่ที่ 100,000 บาทต่อคัน รวมถึงการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท จาก 8% เหลือ 2%

ในส่วนของโครงการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ในพื้นที่อีอีซี มีกี่โครงการ และเป็นบริษัทใดบ้าง รวมทั้งจะมีค่ายรถยนต์ที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซี ในระยะต่อไปนั้นมีใครกันบ้าง? ไปดูกันเลย!!

🚕⚡️เกรท วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor) ลงทุน 22,600 ล้านบาท เพื่อปรับโรงงานเป็นศูนย์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและรถไฮบริดของภูมิภาค โดยจะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Ora Good Cat ในปี2567 และจะนำบริษัทในเครืออย่าง MIND Electronics, HYCET และ Nobo Auto ที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า ระบบส่งกำลังรถยนต์ และเบาะที่นั่ง เข้ามาลงทุนในไทยอีกด้วย

🚕⚡️SAIC Motor (Shanghai Automotive Industry Corporation) รัฐวิสาหกิจจากจีน เจ้าของบริษัทผลิตรถยนต์ MG Motor ซึ่งเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกในไทยไปเมื่อปี 2562 จะลงทุนเพิ่ม 500 ล้านบาทเพื่อขยายโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่รถยนต์ในประเทศไทย โดยมีแผนจะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยกลางปี 2567

🚕⚡️BYD ได้ลงทุน 17,900 ล้านบาท เพื่อตั้งโรงงานแห่งใหม่ในไทย กำลังการผลิต 150,000 คันต่อปี โดยกลางปี 2567 จะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และในอนาคตจะใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวาไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป

🚕⚡️Changan Automobile ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ ที่ถือหุ้นโดยรัฐวิสาหกิจของจีน มีแผนลงทุนเฟสแรกมูลค่ากว่า 8,800 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV กำลังการผลิตในระยะแรก 1 แสนคันต่อปี

🚕⚡️Horizon Plus ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Foxconn Technology Group จากไต้หวัน และบริษัทอรุณพลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. ลงทุนกว่า 36,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตได้ในปี 2568

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทจากจีนอีกหลายรายบริษัทที่มีแผนจะเข้ามาลงทุนในอีอีซี และได้เริ่มศึกษาถึงการลงทุนอย่างจริงจัง ได้แก่ บริษัท GAC Aion ที่เป็นบริษัทลูกของบริษัทผลิตรถยนต์ Guangzhou Automobile Group กำลังวางแผนลงทุนกว่า 6,400 ล้านบาท เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอีอีซี, บริษัท Chery Automobile และบริษัท Geely ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีน ก็แสดงความสนใจลงทุนในไทย และวางแผนเข้ามาทำตลาดในไทยภายในต้นปี 2567

Website : www.eeco.or.th
Facebook : โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก – EEC
YouTube : EEC WE CAN

‘โตโยต้า’ เล็งหนุน ‘ไทย’ ศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หลัง ‘รบ.ไทย’ ตั้งเป้าผลิต EV เกินครึ่งในปี 2573

(20 พ.ย. 66) เพจเฟซบุ๊ก ‘AEC Connect’ โพสต์ข้อความในหัวข้อ ‘โตโยต้า’ จ่อหนุนไทยเป็นเมืองหลวง EV ความว่า…

ในเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยออกนโยบายจูงใจใหม่เพื่อกระตุ้นให้คนเปลี่ยนมาใช้รถ EV โดยตั้งใจเปลี่ยนการผลิตรถยนต์กว่าครึ่งหนึ่งของไทยให้เป็นรถ EV ภายในปี 2573

จากงานวิจัยของ Counterpoint Research พบว่า ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนมีอิทธิพลต่อตลาดรถ EV ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งเกือบ 79% ของจำนวนรถ EV ทั้งหมดที่ถูกขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไตรมาสแรกของปี 2566

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าตลาดรถ EV ของไทยจะใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ก็ยังคงมีการแข่งขันว่าแบรนด์รถ EV ใดจะขายได้มากสุดในประเทศ ซึ่งในปัจจุบัน แบรนด์รถ EV ที่ขายดีที่สุดในไทยคือ BYD ของจีน แต่แบรนด์รถสัญชาติจีนอื่น ๆ ก็เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ แบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ที่หวังว่าจะสร้างผลกระทบในตลาดรถ EV ในไทยอีกหนึ่งแบรนด์คือ โตโยต้าจากญี่ปุ่น ซึ่งเรียกว่าเป็นแบรนด์ประจำบ้านในไทยไปแล้ว โดยได้รับความนิยมจากรถเก๋งและรถกระบะ

ในฐานะศูนย์กลางรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 10 ของโลก ไทยเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ส่งออกรถยนต์โตโยต้าและฮอนด้า แต่เพื่อเปลี่ยน 1 ใน 3 ของยอดการผลิตรายปีจำนวน 2.5 ล้านคันให้เป็นรถ EV ภายในปี 2573 ระบบนิเวศทางที่ถูกต้องจะเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลง

โดยรัฐบาลไทยมีความต้องการที่จะทำงานร่วมกับโตโยต้าเพื่อพัฒนารถ EV ในประเทศ ซึ่งรวมถึงการพัฒนารถยนต์ Eco Car และรถกระบะด้วย ทั้งนี้มาจากการที่โตโยต้าวางแผนทดสอบรถกระบะไฟฟ้าครั้งแรกในไทย เพื่อจะกระตุ้นยอดขายรถ EV ภายในประเทศ

อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยก็ออกแผนลดหย่อนภาษี 3 ปีให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ที่ลงทุนในระบบ Automation และ Robotics หลังมีการลดเงินอุดหนุนผู้บริโภคสำหรับการซื้อรถ EV ลง

‘หัวเว่ย’ เดินหน้ารุดอุตสาหกรรม ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ในจีน อาศัย ‘เทคโนโลยี’ ที่เชี่ยวชาญเป็นจุดขายร่วมธุรกิจ

(29 พ.ย.66) ‘หัวเว่ย’ บริษัทโทรคมนาคมและสมาร์ตโฟนยักษ์ใหญ่สัญชาติจีน กำลังขยายการจำหน่ายเทคโนโลยีหัวเว่ยในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และย้ำว่าบริษัทไม่ได้ผลิตรถยนต์ แต่ขายส่วนประกอบด้านเทคโนโลยี เช่น ระบบปฏิบัติการ Harmony OS และผลิตภัณฑ์ช่วยเหลือผู้ขับขี่ หรือการทำงานร่วมกับผู้ผลิตรถยนต์เพื่อสร้างแบรนด์อีวีใหม่ ๆ

โดยเมื่อวานนี้ (28 พ.ย.) หัวเว่ยยืนยันว่า บริษัททำงานร่วมกับผู้ผลิตรถยนต์ในท้องถิ่นเพื่อผลิตรถยนต์รุ่นใหม่อย่างน้อย 4 รายในจีน หลังมีข่าวว่าหัวเว่ยร่วมทุนกับฉางอัน ออโตโมบิลเพื่อผลิตเทคโนโลยีสำหรับรถยนต์

หัวเว่ยยังทำงานร่วมกับ Chery เพื่อผลิตเทคฯยานยนต์ให้กับแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า Luxeed ที่เปิดตัวซีดาน S7 เมื่อวานนี้ (28 พ.ย.) รวมถึง BAIC Motor และ JAC Motor ซึ่ง BAIC เจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ Arcfox ใช้เทคโนโลยีของหัวเว่ยเรียบร้อยแล้ว แต่ JAC ยังไม่ตอบคำขอแสดงความเห็น

‘ทู เล่อ’ ผู้ก่อตั้งซิโน ออโต้ อินไซด์ บริษัทที่ปรึกษาในปักกิ่ง เผยว่า ผู้ผลิตรถยนต์จีนที่ผลิตภัณฑ์ยังขาดเทคโนโลยีสำคัญ พึงพอใจที่จะใช้เทคฯ ของหัวเว่ยมากกว่าที่อื่น แต่ยังเร็วเกินไปที่จะทราบว่าโซลูชันของหัวเว่ยดีกว่าคู่แข่งอย่างไร และหัวเว่ยก็เหมือนบริษัทเทคฯ อื่น ๆ ที่เห็นโอกาสในตลาดยานยนต์อีวีและลงมือทำทุกอย่างเต็มที่

ด้าน ‘เทนเซ็นต์’ ที่บริหารจัดการแอปพลิเคชันวีแชท วางแผนเปิดตัวรถยนต์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 และประกาศเมื่อปลายเดือน ต.ค. ว่าบริษัทมีระบบปฏิบัติการเป็นของตนเองแล้ว เรียกว่า HyperOS

>> ธุรกิจอีกส่วนหนึ่งของหัวเว่ย

หลังสหรัฐขึ้นบัญชีดำหัวเว่ย และห้ามให้บริษัทซื้อซัพพลายเออร์จากสหรัฐ รวมถึงใบอนุญาตเข้าถึงกูเกิลเวอร์ชันล่าสุดของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ หัวเว่ยจึงสร้างระบบปฏิบัติการ Harmony OS ขึ้นมาแทน

ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ หัวเว่ยมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าเทคโนโลยี 103,500 ล้านหยวน ขณะที่โซลูชันยานยนต์อัจฉริยะ รวมถึงเทคโนโลยีเพื่อยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) มีรายได้ 1,000 ล้านหยวน

‘ริชาร์ด ยู’ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์และสินค้าอุปโภคบริโภค เผยแนวทางการร่วมงานกับผู้ผลิตรถยนต์ไว้ 3 แนวทาง ได้แก่

1.บริษัทปฏิบัติตนเป็นซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนประกอบ
2.บริษัทจำหน่ายชุดผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีรถยนต์ที่เรียกว่า ‘Huawei Inside’ ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ออกแบบยานยนต์เอง
3.บริษัทควบคุมการออกแบบ Huawei Inside ส่วนใหญ่ รวมถึงการจำหน่าย และการทำการตลาด ขณะที่ผู้ผลิตยานยนต์ผลิตรถยนต์เอง

‘นายกฯ’ หารือ ‘รมว. METI ญี่ปุ่น’ ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุนในอุตฯ ยานยนต์ EV และพลังงานสะอาด

(15 ธ.ค. 66) ที่โรงแรม Imperial Hotel Tokyo กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 14 - 18 ธันวาคมว่า เช้าวันเดียวกันนี้นายกรัฐมนตรี พบหารือกับนายไซโต เค็น (H.E. Mr. Saito Ken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Ministry of Economic, Trade and Industry: METI) ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น

โดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง METI ต่างยินดีต่อความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ที่ใกล้ชิด โดยเฉพาะความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยภาคเอกชนญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมายาวนาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางการค้าและลงทุนกับญี่ปุ่น จึงได้จัดสัมมนา Investment Forum เพื่อนำเสนอนโยบายส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการลงทุนในไทยให้ญี่ปุ่นได้รับทราบ

นายกรัฐมนตรี ใช้โอกาสนี้ กล่าวเชิญชวนมาร่วมมือในโครงการ Landbridge เพื่อเพิ่มทางเลือกในการขนส่งให้แก่ภูมิภาค ช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค รวมถึงเชิญชวนภาคเอกชนญี่ปุ่นให้มาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย 

จากนั้นทั้งสองฝ่าย ได้หารือถึงความร่วมมือด้านยานยนต์ โดยนายกรัฐมนตรีจะพบปะกับผู้ประกอบการยานยนต์ของญี่ปุ่น 7 ราย เพื่อให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลพร้อมดูแลอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปของญี่ปุ่น ควบคู่ไปกับการพัฒนา EV และยานยนต์สมัยใหม่ รวมทั้งไทยออกมาตรการใหม่เพื่อส่งเสริมการลงทุนในสาขายานยนต์ หวังว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ICE ของญี่ปุ่นในไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระยะเปลี่ยนผ่าน

ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง METI ชื่นชมในนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของไทย และขอบคุณที่ไทยดูแลเอกชนญี่ปุ่นที่มาลงทุนในไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยพร้อมสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น และยินดีร่วมมือกันในกรอบ Asia Zero-Emission Community (AZEC) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่กับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน รวมถึงยังได้เสนอข้อริเริ่มในการจัดตั้งกลไก energy and industrial dialogue เพื่อร่วมกันพัฒนาแหล่งพลังงานสีเขียวกับไทย

‘4 ค่ายยักษ์จากญี่ปุ่น’ จ่อลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าใน ‘ไทย’ รวมมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท หลัง ‘นายกฯ’ ลุยหารือ

(25 ธ.ค.66) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีวิสัยทัศน์และนโยบายให้ความสำคัญกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย-ญี่ปุ่น รวมทั้งร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์เครื่องสันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการขยายการลงทุนในไทย และขับเคลื่อนให้ไทยเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหลักในภูมิภาคอาเซียน 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้หารือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น 7 ราย เมื่อครั้งเดินทางร่วมการประชุม ASEAN-Japan ระหว่างวันที่ 14-18 ธันวาคม 2566 โดยจากการหารืออย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างนายกฯ และบริษัทยานยนต์นี้ ทำให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Thailand Board of Investment (BOI) ได้ข้อสรุปว่าภายในระยะเวลา 5 ปี จะมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น 4 รายที่พร้อมขยายการลงทุนสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ได้แก่ โตโยต้า 5 หมื่นล้านบาท ฮอนด้า 5 หมื่นล้านบาท อีซูซุ 3 หมื่นล้านบาท และมิตซูบิชิ 2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้บางบริษัทให้ความเห็นว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตรถกระบะไฟฟ้าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

โดยกลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นทั้ง 7 ราย ยืนยันใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักในภูมิภาค พร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของรัฐบาลไทยที่จะสนับสนุนค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ ลดการปล่อยคาร์บอน ใช้พลังงาน EV และไฮโดรเจน ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นยังได้นำเสนอโมเดลของการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Swapping) สำหรับรถเชิงพาณิชย์ ซึ่งไทยพร้อมส่งเสริมสภาพแวดล้อมการลงทุนให้กับผู้ลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น โดยจะดำเนินการออกมาตรการยกเว้นวีซ่าให้นักธุรกิจญี่ปุ่นที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อติดต่อธุรกิจระยะสั้น นายกรัฐมนตรีย้ำว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยให้เป็นผู้นำด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในระดับภูมิภาคอาเซียน

ไทยจึงพร้อมสนับสนุนและร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นที่ต้องการขยายการลงทุนเพิ่มเติมในประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของทั้งสองประเทศ ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่สำคัญนี้สู่ความสำเร็จ และประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ” นายชัย กล่าว

ชาวเน็ตขำก๊าก!! หลังเปิดตัว 'รถยนต์ไฟฟ้า’ คันแรกของ ‘รัสเซีย’  ชี้!! ดีไซน์แปลก-สะดุดตา ยกเป็น ‘รถยนต์ที่น่าเกลียดที่สุดในโลก’

(26 ธ.ค.66) แอมเบอร์ ยันตาร์ (Amber Yantar) รถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบรุ่นใหม่จากรัสเซียได้รับความสนใจจากชาวเน็ตเพราะรูปลักษณ์ภายนอก หลังเปิดตัวโดย Avtotor ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติรัสเซียในเมืองคาลินินกราด ร่วมมือกับสถาบันโพลีเทคนิคมอสโก เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา รถคันนี้กล่าวกันว่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกของรัสเซียที่ผลิตโดยรัสเซีย 100%

งานนี้ รถยนต์ไฟฟ้ามีการออกแบบที่สะดุดตาและดึงดูดจินตนาการของผู้ชม ทำให้แฟน ๆ หัวเราะกับรูปลักษณ์จนขนานนามว่าเป็นรถยนต์น่าเกลียดที่สุดในโลก ตามรายงานแอมเบอร์ ยันตาร์ดูเหมือนจะเป็นผู้สืบทอดของ Fiat Multipla ปี 1998

ทางบริษัท Avtotor ประกาศว่ามีแผนจะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแอมเบอร์ ยันตาร์ให้ได้มากถึง 50,000 คันในปี 2568 ที่โรงงานในเมืองคาลินินกราด โดยเสริมว่าส่วนประกอบหลักทั้งหมด เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า อินเวอร์เตอร์ แผงควบคุม และแบตเตอรี่ทั้งหมดจะได้รับการออกแบบและผลิตในรัสเซีย

แม้จะมีการเปิดเผยรายละเอียดทางเทคนิคน้อยมาก แต่รถไฟฟ้าแอมเบอร์ ยันตาร์ มีราคาไม่แพงมากและมาพร้อมกับแบตเตอรี่ขนาด 25kW/h นอกจากนี้ ผู้ขับขี่รถยนต์ยังสามารถเช่าแบตเตอรี่แทนการซื้อได้ รถจะไปถึงความเร็วสูงสุดที่ 105 กม./ชม. (65 ไมล์ต่อชั่วโมง)

อย่างไรก็ตาม เมื่อเห็นรถแล้ว มีเพียงไม่กี่คนที่สนใจด้านเทคนิค เพราะมีแต่คนสนใจในเรื่องของรูปลักษณ์มากกว่าทำให้เกิดมีมและเรื่องตลกนับไม่ถ้วนในโลกออนไลน์ ทั้งนี้ ทางบริษัทไม่นิ่งนอนใจเผยว่า รถไฟฟ้าจะมีการออกแบบที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงเมื่อเข้าสู่การผลิต และนี่เป็นเพียงต้นแบบรถยนต์ในการทดสอบ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top