Thursday, 2 May 2024
รถยนต์ไฟฟ้า

‘Xiaomi’ ประกาศเปิดตัว ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ คันแรก ตั้งเป้า!! จะขึ้นเป็นท็อป 5 ผู้ผลิตชั้นนำของโลก

(28 ธ.ค. 66) ‘เสียวหมี่ อีวี’ ซึ่งเป็นบริษัทลูกในเครือของเสียวหมี่ ผู้ผลิตสมาร์ตโฟนและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านรายใหญ่ในจีน ประกาศเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เป็นครั้งแรกในวันนี้ กับรถซีดานรุ่น SU7 พร้อมประกาศเป้าหมายจะขึ้นเป็น 1 ใน 5 บริษัทรถยนต์อีวีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

รถอีวี เสียวหมี่ SU7 ซึ่งย่อมาจาก Speed Ultra เป็นรถยนต์ซีดาน 4 ประตูโดยมีทั้งหมด 3 รุ่นย่อยด้วยกันคือ SU7, SU7 Pro และ SU7 Max รถทั้งหมดจะถูกผลิตโดยบริษัท ปักกิ่ง ออโตโมทีฟ อินดัสทรี โฮลดิง (BAIC) ซึ่งเป็นบริษัทของทางการจีนในโรงงานที่กรุงปักกิ่ง โดยมีกำลังการผลิต 2 แสนคันต่อปี

สำหรับรถรุ่น SU7 จะเป็นเครื่องมอเตอร์ไฟฟ้า 1 ตัว กำลังสูงสุด 220 แรงม้า และสามารถทำความเร็วได้สูงสุด 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยใช้แบตเตอรี่เทอนารี ลิเธียม ส่วนรุ่น SU7 Pro และ SU7 Max จะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าคู่ ให้กำลังสูงสุด 495 แรงม้า (มอเตอร์หน้า 220 และมอเตอร์หลัง 275 แรงม้า) และสามารถทำความเร็วได้สูงสุด 265 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 

รายงานข่าวอย่างไม่เป็นทางการระบุว่า รถอีวีคนแรกของเสียวหมี่รุ่นนี้คาดว่าจะมีราคาอยู่ระหว่าง 300,000 - 400,000 หยวน (ราว 1.5 - 2 ล้านบาท)

เล่ย จุน ผู้ก่อตั้งและปราะธานเจ้าหน้าที่บริหารของเสียวหมี่ กล่าวในการแถลงข่าววันนี้ว่า บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการทดลองผลิตรถรุ่นดังกล่าว และคาดว่าจะพร้อมวางจำหน่ายได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

"ด้วยการทำงานอย่างหนักตลอด 15-20 ปีข้างหน้า เราจะก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 5 ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก โดยมุ่งมั่นที่จะยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวมของจีน" เล่ย จุน กล่าว

คนใช้รถ EV กลับบ้านปีใหม่ แย่งกันใช้สถานีชาร์จไฟวุ่น เหตุมีไม่กี่ที่ แม้จะจองผ่านแอปฯ ไว้ล่วงหน้า แต่หากไปไม่ทัน ก็ต้องเสียสิทธิ

(28 ธ.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บนถนนมิตรภาพในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ได้มีประชาชนทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการจราจรหนาแน่นหลายจุด

ขณะเดียวกันพบว่า มีประชาชนหลายคนใช้รถยนต์ไฟฟ้า แต่หาสถานีชาร์จไฟฟ้าค่อนข้างยาก เนื่องจากจะมีเฉพาะบางปั๊มน้ำมันเท่านั้น ทำให้ต้องมีการวางแผนการเดินทางมากกว่าผู้ใช้รถยนต์น้ำมันปกติทั่วไป

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. สาขาถนนบายพาสเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ซึ่งมีสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ EV อยู่ 1 สถานี ที่มีสายชาร์จไฟฟ้ารถ EV ได้ครั้งละ 2 คันเท่านั้น ปรากฏว่ามีประชาชนนำรถยนต์ EV มาจอดชาร์จไฟฟ้าเต็มทั้ง 2 คันตลอดเวลา

นายวิเชียร จันทลุน อายุ 44 ปี กล่าวว่า ตนเดินทางจากกรุงเทพฯ จะไปบ้านที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยใช้รถยนต์ EV เดินทาง รถคันนี้ชาร์จไฟฟ้าครั้งหนึ่งสามารถวิ่งได้ประมาณ 300 กิโลเมตร แต่ระยะทางกว่าจะถึงกาฬสินธุ์ประมาณ 500 กิโลเมตร ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนการชาร์จไฟฟ้ารถยนต์ไว้ 2 ครั้ง โดยชาร์จ ที่ จ.นครราชสีมา 1 ครั้ง และชาร์จอีกครั้ง ที่ จ.มหาสารคาม

แต่เนื่องจากสถานีชาร์จไฟฟ้ารถ EV มีน้อย จึงต้องมีการจองชาร์จไฟฟ้าผ่านแอปพลิเคชันไว้ล่วงหน้า ซึ่งพบปัญหาว่า เมื่อจองแล้วเกิดปัญหาการจราจรติดขัด มาไม่ทันเวลาที่จองไว้ ต้องถูกยกเลิกการจองเพื่อให้รถคันอื่นที่มาทีหลังได้ชาร์จไฟแทน ขณะเดียวกันการชาร์จแต่ละรอบก็ต้องใช้เวลานานพอสมควร อย่างรถของตนเองแบตเตอรี่เหลือ 30% ต้องใช้เวลาชาร์จประมาณ 56 นาทีกว่าจะเต็ม 100%

‘รมว.ปุ้ย’ ดันอุตสาหกรรมต้นน้ำรับอุตฯ EV  เตรียมแหล่งลิเทียมผลิตแบตฯ เชิงพาณิชย์

‘รมว.อุตสาหกรรม’ สั่ง กพร. เร่งจัดหาแหล่งวัตถุดิบสำหรับผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ผลสำรวจเบื้องต้นพบแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตแบตเตอรีในเชิงพาณิชย์ ขานรับมติ ครม.เริ่มใช้มาตรการ EV 3.5 ตั้งแต่ 2 ม.ค.67 เป็นต้นไป

(3 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าลิเทียมเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับใช้เป็นพลังงานขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV จึงได้สั่งการให้ กพร. (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) เร่งสำรวจแหล่งแร่ลิเทียมที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงและเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตว่าประเทศไทยจะมีลิเทียมในการผลิตแบตเตอรี่เพื่อรองรับการตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศได้ สอดรับกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน

ด้าน นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กพร. ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดหาและบริหารจัดการวัตถุดิบเพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ได้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษจำนวน 3 แปลง เพื่อสำรวจแหล่งลิเทียมในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่า หินอัคนีเนื้อหยาบมากสีขาวหรือหินเพกมาไทต์ ซึ่งเป็นหินต้นกำเนิดที่นำพาแร่เลพิโดไลต์สีม่วง หรือแร่ที่มีองค์ประกอบของลิเทียมมาเย็นตัวและตกผลึกจนเกิดเป็นแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่…

- แหล่งเรืองเกียรติ มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45%
- และแหล่งบางอีตุ้มที่อยู่ระหว่างการสำรวจขั้นรายละเอียดเพื่อประเมินปริมาณสำรอง

โดยลิเทียมจากแหล่งเรืองเกียรติ หากมีการอนุญาตประทานบัตรเพื่อทำเหมือง คาดว่าจะสามารถนำแร่ลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน ที่สำคัญคือเทคโนโลยีการแต่งสินแร่ลิเทียมในปัจจุบันสามารถควบคุมและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ กพร.ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถ Reuse และ Recycle แบตเตอรี่ที่ใช้แล้วและนำกลับมาใช้เป็นแหล่งพลังงานซ้ำ (Second Life EV Batteries) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก อาคารบ้านเรือน สำนักงาน หรือโรงงานอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร เพื่อรองรับการบริหารจัดการแบตเตอรี่ที่ผ่านการใช้งานแล้วในอนาคตตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย

“นโยบาย EV 3.5 ของรัฐบาลสร้างแรงจูงใจให้บริษัทยานยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ๆ เข้ามาตั้งฐานการผลิตภายในประเทศ ซึ่งหากประเทศไทยมีปริมาณสำรองลิเทียมเป็นจำนวนมาก ย่อมเป็นส่วนสำคัญที่สร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มูลค่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ จะส่งผลดีต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและซัพพลายเชนทั้งระบบ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งด้านการลงทุนและการจ้างงาน กพร. จึงเร่งดำเนินการอนุญาตอาชญาบัตรให้มีการสำรวจแหล่งลิเทียมเพื่อกำหนดเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองเพิ่มเติม และจะเร่งอนุญาตประทานบัตรทำเหมือง เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคต่อไป” นายอดิทัตกล่าว

‘แบรนด์จีน’ เฮ!! ยอดขาย ‘EV’ ดีที่สุดในอิสราเอล ครองสัดส่วนถึงร้อยละ 60.98 ในปี 2023

(3 ม.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สมาคมผู้นำเข้ายานยนต์แห่งอิสราเอล รายงานว่ารถยนต์ไฟฟ้าอเนกประสงค์ขนาดเล็กมาก รุ่นอัตโต 3 (Atto 3) ผลิตโดยบีวายดี (BYD) ผู้ผลิตยานยนต์ของจีน เป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่มียอดจำหน่ายดีที่สุดในอิสราเอลในปี 2023

ซึ่งทาง สมาคมฯ เปิดเผยว่า รถยนต์รุ่นดังกล่าวซึ่งเข้าสู่ตลาดอิสราเอลเมื่อช่วงปลายปี 2022 มียอดจำหน่าย 14,244 คันในปี 2023

อีกทั้ง จี๋ลี่ ออโต กรุ๊ป (Geely Auto Group) ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนอีกราย มียอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าอเนกประสงค์ รุ่นจีโอเมทรี ซี (Geometry C) รวม 7,129 คันในช่วงเดียวกัน ซึ่งครองอันดับสองด้านยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในอิสราเอล

ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่มียอดจำหน่ายดีเป็นอันดับสาม ได้แก่ เทสลา รุ่นโมเดล วาย (Tesla Model Y) ตามด้วย เทสลา รุ่นโมเดล 3 (Tesla Model 3)

ข้อมูลระบุว่า แบรนด์จีนครองสัดส่วนร้อยละ 60.98 ของยอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าของอิสราเอลในปี 2023 โดยมียอดจำหน่าย 29,402 คัน มากกว่าตัวเลข 13,294 คันในปี 2022 กว่าสองเท่า

สำหรับยอดจำหน่ายยานยนต์เชื้อเพลิงน้ำมัน เชอรี ออโตโมบิล (Chery Automobile) ผู้ผลิตยานยนต์ของจีน ซึ่งเข้าสู่ตลาดอิสราเอลช่วงปลายปี 2022 ครองอันดับ 6 ด้วยยอดจำหน่าย 11,162 คันในปี 2023

สำรวจแหล่งแร่ลิเทียมในไทย ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก 'ลบจุดอ่อน-เพิ่มศักยภาพ' ไทย สู่ผู้นำการผลิตรถ EV ในอาเซียนเต็มตัว

นับเป็นข่าวดี สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี ของไทย ที่นอกจากจะมีจุดแข็งในด้านการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ที่มีคุณภาพสูง ความเชี่ยวชาญในการผลิตรถยนต์ และยังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่โดดเด่นกว่าประเทศคู่แข่ง ล่าสุดก็ได้มีการค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมขนาดใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์อีวี ทำให้เพิ่มศักยภาพดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมอีวี ได้มากขึ้น และจะมีการลงทุนโรงงานแบดเตอรี่อีวีต้นน้ำมากขึ้น ส่งผลให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่มีศักยภาพสูงอย่างรอบด้าน

โดยไม่นานมานี้ นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้ให้การสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์อีวีอย่างเต็มที่ โดยสั่งการให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จัดหาและบริหารจัดการวัตถุดิบ เพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี

โดยที่ผ่านมา ได้ออกใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษจำนวน 3 แปลง เพื่อสำรวจแหล่งลิเทียมในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่า หินอัคนีเนื้อหยาบมากสีขาวหรือหินเพกมาไทต์ ซึ่งเป็นหินต้นกำเนิดที่นำพาแร่เลพิโดไลต์สีม่วง หรือแร่ที่มีองค์ประกอบของลิเทียมมาเย็นตัวและตกผลึกจนเกิดเป็นแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% อยู่ในเกรดระดับกลาง และแหล่งบางอีตุ้มที่อยู่ระหว่างการสำรวจขั้นรายละเอียดเพื่อประเมินปริมาณสำรอง

สำหรับแหล่งลิเทียมเรืองเกียรติแห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นแหล่งที่มีปริมาณแร่ลิเทียมมมากเป็นอันดับ 3 ของโลกในปัจจุบัน เป็นรองเพียงประเทศโบลิเวีย และอาร์เจนตินา ซึ่งหากได้รับประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่แล้ว คาดว่าจะสามารถนำแร่ลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน คาดว่าจะสามารถออกประทานบัตรผลิตแร่ได้ภายใน 2 ปี จึงเริ่มการทำเหมืองได้

ทั้งนี้ นอกจากทั้ง 2 แหล่งดังกล่าว กพร. ยังได้ออกใบอาชญาบัตรสำรวจแร่ลิเทียมไปแล้ว 6 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ และฝั่งตะวันตกที่ จ.ราชบุรี คาดว่าจะพบแร่ลิเทียมได้อีกหลายแหล่ง แต่ทั้งนี้ ในแหล่งแร่บางแห่งอาจจะไม่สามารถผลิตได้ เพราะอยู่ในพื้นที่ความมั่นคงทางทหาร ซึ่งปัญหานี้อาจจะหาทางออกได้ในอนาคต ทำให้คาดว่าจะสำรวจพบแร่ลิเทียมอีกหลายแห่งในประเทศไทย

ส่วน ข้อกังวลในด้านการทำเหมืองแร่ลิเทียมนั้น เทคโนโลยีการแต่งสินแร่ลิเทียมในปัจจุบันสามารถควบคุม และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดี รวมทั้งในกระบวนการสกัดแร่ลิเทียม ก็ไม่มีสารเคมีอันตรายเข้ามาเกี่ยวข้อง ในส่วนของ กพร. ก็จะเข้าไปกำกับดูแลอย่างเข้มงวดในทุกขั้นตอนการผลิต จึงมั่นใจว่าเหมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้ จะมีความปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชนโดยรอบเหมืองลิเทียมอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ กพร. ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถ Reuse และ Recycle แบตเตอรี่ที่ใช้แล้วและนำกลับมาใช้เป็นแหล่งพลังงานซ้ำ (Second Life EV Batteries) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก อาคารบ้านเรือน สำนักงาน หรือโรงงานอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร เพื่อรองรับการบริหารจัดการแบตเตอรี่ที่ผ่านการใช้งานแล้วในอนาคตตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย

ทั้งนี้ นโยบาย EV 3.5 ของรัฐบาลสร้างแรงจูงใจให้บริษัทยานยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ ๆ เข้ามาตั้งฐานการผลิตภายในประเทศ ซึ่งหากประเทศไทยมีปริมาณสำรองลิเทียมเป็นจำนวนมาก ย่อมเป็นส่วนสำคัญที่สร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มูลค่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ จะส่งผลดีต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและซัพพลายเชนทั้งระบบ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งด้านการลงทุนและการจ้างงาน

รวมทั้งยังสร้างความได้เปรียบในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์อีวี อันดับ 1 ของอาเซียน ลบจุดอ่อนเดิมที่ไม่มีเหมืองแร่ต้นน้ำแบตเตอรี่ เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างประเทศอินโดนีเซีย

สำหรับข้อมูล บริษัท สยามโลหะ อุตสาหกรรม จำกัด ได้รับอาชญาบัตรสำรวจแร่ 3 ใบ ได้แก่...

อาชญาบัตรพิเศษที่ 1/2562มีพื้นที่ 7,670 ไร่ (ประมาณ 12.27 ตร.กม.) ครอบคลุมพื้นที่ ต.ถ้ำ และ ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

อาชญาบัตรพิเศษที่ 2/2562 มีพื้นที่ 7,433 ไร่ (ประมาณ 12.64 ตร.กม.) ครอบคลุมพื้นที่ ต.ถ้ำ ต.กะไหล และ ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

อาชญาบัตรพิเศษที่ 3/2562 มีพื้นที่ 7,417 ไร่ (ประมาณ 11.87 ตร.กม.) ครอบคลุมพื้นที่ ต.ถ้ำ ต.กะไหล และ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ปรับตัวทันเทคโนโลยี แต่ต้องรักษาพื้นฐานขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของไทยให้มากที่สุด เพื่อจะทำให้เด็กก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งที่ยังมีวัฒนธรรมที่เป็นสมบัติของประเทศ

‘จีน’ เดินหน้ายกระดับภาคธุรกิจ ‘NEV’ พร้อมเร่งพัฒนาเต็มสูบ หวังเสริมประสิทธิภาพ-เพิ่มขีดความสามารถทางการค้าตลาด EV

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 67 สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานว่า ‘จิน เซียนตง’ เจ้าหน้าที่คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน แถลงข่าวว่า จีนจะยกระดับความพยายามเพิ่มประสิทธิภาพของนโยบายต่างๆ กระตุ้นการบริโภค และเดินหน้าการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงของภาคยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV)

รายงานระบุว่า จีนจะเร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพของนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการซื้อขายยานยนต์พลังงานใหม่ โดยคณะกรรมการฯ จะสนับสนุนการพัฒนายานยนต์พลังงานใหม่ในชนบทและส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาครัฐควบคู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จีนจะกระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี ในภาคยานยนต์พลังงานใหม่ พร้อมกับสนับสนุนบทบาทนำของกลุ่มบริษัทยานยนต์ของจีน ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างเต็มที่ เพื่อเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่

คณะกรรมการฯ จะมุ่งเดินหน้าการจัดตั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จที่มีคุณภาพสูง พร้อมด้วยเพิ่มพูนประสิทธิภาพการดำเนินงานและการบริการ

อนึ่ง ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศจีน ระบุว่า ยอดการผลิตและจำหน่ายยานยนต์พลังงานใหม่ของจีนในปี 2023 สูงเกิน 9.58 ล้านคัน และ 9.49 ล้านคัน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.8 และร้อยละ 37.9 เมื่อเทียบปีต่อปี

ส่วนการส่งออกยานยนต์พลังงานใหม่ของจีนในปี 2023 สูงเกิน 1.2 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 77.6 เมื่อเทียบปีต่อปี

ประธาน TOYOTA ลั่น!! "รถ EV จะไม่มีวันครองโลก" เพราะคนเป็นพันล้านคนบนโลก ยังไม่มีไฟฟ้าใช้เลย

(24 ม.ค. 67) Business Tomorrow เผย เมื่อไม่นานมานี้ Akio Toyoda ประธานบริษัทโตโยต้าได้กล่าวอ้างว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะไม่ครองตลาดโลก และยังกล่าวอ้างอีกว่าส่วนแบ่งการตลาดของรถยนต์ไฟฟ้า EV จะมีไม่เกิน 30% ก่อนที่สิ่งนี้จะจุดชนวนให้เกิดบทสนทนาและข้อถกเถียงที่น่าสนใจเกี่ยวกับอนาคตของรถยนต์ไฟฟ้า

📌 รถยนต์ EV อาจไม่ใช่อนาคต

ตามคำกล่าวของ Akio Toyoda (อากิโอะ โตโยดะ) ระบุว่าโลกใบนี้ไม่ควรพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า EV แต่ควรโฟกัสไปที่รถยนต์ไฮบริดและรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนที่บริษัท Toyota กำลังพัฒนาอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้เขาเชื่อว่ารถยนต์ EV 100% จะสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดได้สูงสุดเพียง 30% ซึ่งน้อยกว่าส่วนแบ่งปัจจุบันในสหราชอาณาจักรเกือบ 2 เท่า และที่เหลืออีก 70% จะเป็นรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนที่เข้ามาครองส่วนแบ่งการตลาด

เหตุผลเนื่องจากผู้คนกว่า 1 พันล้านคนบนโลกที่ใช้ชีวิตอยู่โดยไม่มีไฟฟ้า แต่ใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้าและขนส่ง สิ่งนี้ทำให้ประธาน TOYOTA มองว่า EV จะยังเข้าไม่ถึงกลุ่มคนเหล่านี้ที่มีอยู่ในปริมาณมาก แต่การใช้รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนสามารถทำให้พวกเขาใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น

📌 ทั่วโลกโต้แย้ง EV ยังเป็นทางออกสำหรับสิ่งแวดล้อม

ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมและแรงจูงใจของรัฐบาลกำลังผลักดันให้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ความหลากหลายและราคาที่เพิ่มขึ้นจะดึงดูดผู้บริโภคมากขึ้น โดยเชื่อว่าปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงได้มากกว่า 15 ตันต่อคันต่อปี

หรือถ้าหากคิดว่าโลกใบนี้มีรถยนต์อยู่ราว ๆ 1.5 พันล้านคัน และมีอัตราการเปลี่ยนอยู่ที่ 30% จะสามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้มากกว่า 6.75 หมื่นล้านตันต่อปี เลยทีเดียว

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่ารถยนต์น้ำมันยังคงได้รับความนิยมมากกว่า แต่นั่นคือ #ตลาดเก่า ที่เกิดขึ้นมาก่อนการเปลี่ยนแปลง และหมายความว่าในอนาคตหากเทคโนโลยีด้านรถยนต์และแบตเตอรี่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับรถยนต์น้ำมัน ทั้งในแง่ระยะทาง ระยะเวลาการใช้งาน ราคาที่โดนใจผู้บริโภค และการซ่อมแซมที่รวดเร็ว ก็คงไม่มีเหตุผลอะไรที่ทำให้รถยนต์ EV ไม่เป็นที่นิยม

อย่างไรก็ตามระยะเวลาในการยอมรับรถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายและส่วนแบ่งตลาดที่พวกเขาจะคว้าได้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นโยบายของรัฐบาล ความชอบของผู้บริโภค และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ต้องมาติดตามกันว่าสุดท้ายแล้วรถยนต์ EV จะสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดโลกได้มากกว่ารถยนต์น้ำมันหรือไม่ ?

ผู้เขียน : กิตตินันท์ จอมประเสริฐ

'สื่อญี่ปุ่น' เผย 'รถเทสลา' เริ่มถูกแบนในหลายสถานที่ของ 'จีน' หวั่น!! ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือจารกรรมข้อมูลในถิ่นมังกร

(26 ม.ค. 67) สื่อเผยป้าย 'รถเทสลาห้ามเข้า' ในหลายสถานที่ของจีน กลายเป็นเหตุชวนกุมขมับสำหรับผู้ขับขี่ รถยนต์ไฟฟ้า ยอดฮิตสัญชาติอเมริกัน ที่มีฐานผลิตใหญ่ในเซี่ยงไฮ้ เพราะดูจะมีสถานที่ห้ามรถ 'เทสลา' เข้า จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดย อ้างเหตุผลด้านความปลอดภัยทางข้อมูล

สำนักข่าว นิกเกอิ เอเชีย รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวว่า ผู้ขับขี่ รถยนต์ไฟฟ้า ของ 'เทสลา' (Tesla) ใน ประเทศจีน กำลังเผชิญกับข้อจำกัดในการเดินทางเข้าสถานที่บางแห่งที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน เช่น ศูนย์ประชุม, ศูนย์นิทรรศการ, สถานที่ราชการบางแห่ง ฯลฯ เนื่องด้วยเกิดความกังวลด้าน ความปลอดภัยของข้อมูล ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดอย่างต่อเนื่องระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน

แหล่งข่าวกล่าวกับสำนักข่าวนิกเกอิ เอเชียว่า สถานที่ต่างๆ ในจีนได้เริ่มห้ามรถของเทสลาเข้าพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากเริ่มต้นสั่งห้ามมาตั้งแต่ปีที่แล้ว (2566) ซึ่งสถานที่เหล่านี้รวมถึง สถานที่ราชการ หน่วยงานท้องถิ่น ผู้ให้บริการทางหลวง และแม้แต่ศูนย์วัฒนธรรมและศูนย์จัดนิทรรศการ โดยก่อนหน้านี้ ข้อห้ามดังกล่าวจำกัดเพียงแค่ฐานทัพหรือสถานที่ทางการทหารเป็นหลัก

หนึ่งในตัวอย่างของข้อจำกัดดังกล่าวเกิดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแกรนด์ ฮอลล์ (Grand Halls) บริเวณใจกลางย่านนอร์ทบันด์ของนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นศูนย์ประชุมที่ดำเนินการโดยองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ที่นี่ถูกใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม นิทรรศการระดับนานาชาติ และงานเลี้ยงต่างๆ

ผู้อาศัยในพื้นที่กล่าวว่า รถของเทสลาถูกห้ามไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ของศูนย์ประชุมแกรนด์ ฮอลล์ แม้ว่ารถยนต์คันดังกล่าวเพียงแค่ขับผ่านก็ตาม

"หากคุณจะเข้าร่วมการประชุมที่นั่น ผู้จัดการประชุมจะแจ้งให้คุณทราบล่วงหน้า โดยแจ้งไม่ให้คุณขับรถเทสลา หรือเช่ารถเทสลาเข้าไป เนื่องจากคุณจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสถานที่" ผู้อาศัยในพื้นที่รายหนึ่งกล่าว

ก่อนหน้านี้ เมืองบางแห่งในจีน ซึ่งมักเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬารายการสำคัญๆ ได้เพิ่มมาตรการจำกัดต่อรถเทสลา เช่น กรณีหนึ่งที่เมืองเฉิงตู ซึ่งเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการผลิตยุทโธปกรณ์ทางทหาร โดยผู้อาศัยในพื้นที่กล่าวว่ารถของเทสลาถูกห้ามไม่ให้ใช้ถนนบางเส้นระหว่างการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว

รายงานระบุว่า จีนคือตลาดสำคัญของเทสลา แต่เทสลากำลังเผชิญการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้นเรื่อย ๆ จากบรรดาแบรนด์คู่แข่งสัญชาติจีนเอง โดยล่าสุด บีวายดี (BYD) ซึ่งเป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน เพิ่งสร้างสถิติใหม่ ทำยอดขายทั่วโลกแซงหน้าเทสลาได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566

กระจ่าง!! Tesla ขายได้แค่ 1 คันทั้งเดือนในเกาหลีใต้ เพราะขายหมดจนไม่เหลือสต็อกรถไว้ขายในเดือนมกราคม

(8 ก.พ.67) Business Tomorrow ได้ออกบทความกรณีข่าวสะพัด Tesla ขายได้แค่ 1 คันทั้งเดือนจริงหรือไม่? โดยมีเนื้อหาดังนี้...

จากเหตุการณ์ที่ประเทศเกาหลีขายรถยนต์ EV อย่าง Tesla ได้เพียง 1 คันในเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลายคนอาจจะมองว่าเป็นข่าวร้ายและขาลงของอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ในเกาหลีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

แต่ใครจะรู้ว่าสิ่งนี้อาจเป็นสัญญาณที่ดีมากสำหรับวงการ EV และ Tesla ที่ Tesla ขายรถในเกาหลีใต้ทั้งเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้เพียงแค่ 1 คัน

📌 ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ?

เพราะหากเราเจาะเข้าไปดูรายละเอียดให้ดีแล้ว เราจะทราบว่า Tesla ในเกาหลี (หรือแม้แต่ในไทยก็ตาม) จะไม่ได้รับรถจากโรงงานจีนเลยในเดือนแรกของไตรมาส เพราะรถทั้งหมดกำลังถูกขนผ่านเรือจากจีนเข้ามาอยู่ กว่าจะได้รับรถก็คือต้องรอเป็นเดือนที่ 2 และ 3 ของไตรมาส ทำให้ยอดขาย Tesla ในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียจะออกมาในรูปแบบนี้เสมอ คือยอดขายในแต่ละไตรมาสจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามเดือน และไปสูงสุดที่เดือนที่ 3 เสมอ

📌 ทำไม Tesla ถึงต้องทำแบบนี้ ?

ทั้งนี้เพื่อ Maximize ให้ยอดจดทะเบียน หรือยอดขายของรถสูงที่สุดในไตรมาสเดียว หาก Tesla ไม่กำหนดการส่งออกจากจีนให้ดี และส่งรถออกมาในเดือนสุดท้ายของไตรมาส จะทำให้รถเหล่านั้นอยู่ระหว่างการเดินทางในช่วงการปิดงบรายไตรมาส และไม่ได้รับรู้เข้าไปในบัญชี

ทำให้ในเดือนแรกของทุกไตรมาส Tesla จะส่งรถออกไปให้ประเทศที่อยู่ไกลที่สุดก่อน ที่ใช้เวลาเดินทางมากที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่าในไตรมาสนั้น ประเทศนั้นจะได้มีเวลาส่งมอบรถให้ได้มากที่สุด (หากส่งเรือไปถึงช้า เวลาขายในไตรมาสก็จะน้อย) ก่อนที่จะค่อย ๆ ส่งออกให้กับประเทศที่อยู่ใกล้ขึ้น ให้มีเวลาในการขายที่มากขึ้นไปตาม ๆ กัน 

จนเดือนสุดท้ายที่ไม่สามารถส่งรถออกทัน Tesla ก็จะขายรถเหล่านั้นในตลาด Domestic ของจีนให้มากที่สุด เพื่อเร่งยอดการส่งมอบในแต่ละไตรมาส

📌 สรุปแล้วดีกับ Tesla ?

ทำให้หากเราเห็นว่า Tesla ในเกาหลีขายได้เพียง 1 คันในเดือนมกราคม นั้นหมายความว่า Tesla ได้ขายรถในเกาหลีออกไปเกือบทุกคันจนหมดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาแล้ว ! ทำให้ไม่เหลือสต็อกรถไว้ขายในเดือนมกราคม

ด้วยสิ่งเหล่านี้ทำให้สามารถสรุปสั้น ๆ ได้ว่า จริง ๆ แล้วนี่เป็นข่าวที่ดีมากสำหรับ Tesla และวงการรถ EV ในเกาหลีเลยทีเดียว

'สภาอุตฯ' เผย!! ตัวเลขเดือนมกราคม 67 ยอดผลิตรถ EV พุ่ง 9,000% ยอดขายในตลาดเติบโต 200% มี EV ไหลวนบนถนนแล้ว 1.48 แสนคัน

(23 ก.พ. 67) เริ่มต้นเดือนแรกของปีด้วยการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของยานยนต์ไฟฟ้า เมื่อกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เผยแพร่รายงานจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศ ในเดือนมกราคม 2567

โดยยอดผลิต EV พุ่งกระฉูด อาทิ ในส่วนของรถยนต์นั่ง เดือนมกราคม 2567 ผลิตได้ 52,509 คัน ลดลง -7.27% จากเดือนมกราคม 2566 โดยตัวเลขการผลิต EV พุ่งกระฉูดเกือบหนึ่งหมื่นเปอร์เซ็นต์จากการเริ่มตั้งโรงงานผลิตต่าง ๆ ของค่ายรถโดยเฉพาะแบรนด์จีน ซึ่งการผลิตจะต้องเพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อนโยบาย EV 3.5 ดังนี้...

-สันดาป (ICE) 32,655 คัน ลดลง -28.95% จากเดือนมกราคม 2566
-แบตเตอรี่ (BEV) 652 คัน เพิ่มขึ้น +9,214.29% จากเดือนมกราคม 2566 
-ไฮบริด (HEV) 18,801 คัน เพิ่มขึ้น +94.63% จากเดือนมกราคม 2566
-ปลั๊กอิน (PHEV) 401 คัน ลดลง -59.70% จากเดือนมกราคม 2566

ด้านยอดขาย EV เริ่มท้าทายตลาด โดยเมื่อเทียบสัดส่วนเดือนมกราคมปีก่อนกับปีนี้ จะเห็นได้ว่า ปีที่แล้ว ICE ครองตลาด 30% ส่วน BEV และ HEV ยังมีตัวเลขอยู่ในหลักหน่วย แต่ปีนี้ การเติบโตของอีวีที่มีหลายเจ้าเข้าตลาดไทยมา ทำให้ยอดขาย BEV เติบโตในระดับ 200% ดังนี้...

-สันดาป (ICE) 14,373 คัน สัดส่วน 26.22 ของยอดขายทั้งหมด ลดลง -32.81%
-แบตเตอรี่ (BEV) 9,763 คัน สัดส่วน 17.81 ของยอดขายทั้งหมด เพิ่มขึ้น +205.48%
-ไฮบริด (HEV) 10,130 คัน สัดส่วน 18.48 ของยอดขายทั้งหมด เพิ่มขึ้น +71.52%
-ปลั๊กอิน (PHEV) 98 คัน สัดส่วน 0.18 ของยอดขายทั้งหมด ลดลง -67.66%

ส่วนยอด EV สะสมนั้น BEV ยังคงเป็นดาวเด่น ดังนี้...

- แบตเตอรี่ (BEV) มีจำนวนทั้งสิ้น 147,743 คัน เพิ่มขึ้น +301.75% จากปีก่อน
- ไฮบริด (HEV) มีจำนวนทั้งสิ้น 357,645 คัน เพิ่มขึ้น +33.75% จากปีก่อน
- ปลั๊กอิน (PHEV) มีจำนวนทั้งสิ้น 54,907 คัน เพิ่มขึ้น + 26.63 จากปีก่อน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top