Sunday, 16 June 2024
พิธาลิ้มเจริญรัตน์

'พิธา' โผล่!! เวทีประชุมความเป็นผู้นำแห่งเอเชีย ประเทศเกาหลีใต้ ย้ำ!! ‘ก้าวไกล’ เป็น ‘สะพาน’ เชื่อมช่องว่างความขัดแย้งของสังคม

เมื่อวานนี้ (23 พ.ค.67) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ขึ้นเวทีเสวนาในงานประชุม Asian Leadership Conference (งานประชุมความเป็นผู้นำแห่งเอเชีย) ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

ทั้งนี้ ระหว่างเสวนา พิธาได้ตอบคำถามจากพิธีกรหลายคำถาม เริ่มด้วยการอธิบายแนวคิดและยุทธศาสตร์ของพรรคก้าวไกลที่ทำให้ชนะการเลือกตั้ง และเหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงผลกระทบต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทย เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และบทเรียนต่อนักการเมืองและผู้นำรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมฟังการเสวนาในวันนี้

โดยพิธายังได้อธิบายถึงการต่อสู้ของประชาชนต่อระบอบอำนาจของชนชั้นนำและผลพวงของระบอบรัฐประหาร พร้อมย้ำถึงความพยายามและความจริงใจของพรรคก้าวไกลในการหาฉันทามติใหม่ของสังคมไทย

พิธากล่าวถึงช่องว่างความขัดแย้งต่าง ๆ ในสังคมไทย และย้ำว่าพรรคก้าวไกลได้เสนอตัวและมองตัวเองเป็น ‘สะพาน’ ที่เชื่อมระหว่างความขัดแย้งเหล่านี้ โดยหวังให้ผู้มีอำนาจมองถึงความจริงใจ นอกจากนี้ พิธาได้กล่าวถึงความจำเป็นในการปฏิรูปสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ ของการเมืองไทย ด้วยความหวังที่จะลดโอกาสของความรุนแรงและการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น

เมื่อพิธีกรถามว่าเขามองความเปลี่ยนแปลงอย่างไรในเมื่อกลุ่มหนึ่งอยากให้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกกลุ่มหนึ่งอาจไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งพิธาตอบว่าการเปลี่ยนแปลงต้องมีจังหวะทั้งช้าทั้งเร็วเหมือนทำนองดนตรี บางอย่างที่สำคัญก็อาจต้องเปลี่ยนแปลงก่อน บางอย่างที่ต้องใช้ความรอบคอบและใช้เวลาก็อาจจะต้องใช้เวลานานกว่า และดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมต่ออนาคตของประเทศไทยอย่างแท้จริง

จากนั้นพิธาได้เน้นย้ำถึงความฝันของคนไทย เมื่อพิธีกรถามว่าเขามองอนาคตประเทศไทยอย่างไร พิธาตอบว่าความฝันของคนไทยนั้นเรียบง่าย คืออยากเห็นครอบครัวคนไทยที่สามารถมีชีวิตที่ดี มีปากท้องที่ดี สามารถทำงานและเลี้ยงครอบครัวได้ และคนรุ่นใหม่ก็ต้องมองเห็นอนาคตของตัวเองด้วย แต่ความฝันเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากการเมืองไทยยังไม่ดี

'พิธา' ดิ้นสู้คดียุบพรรค ยัน!! ไม่มีเจตนาล้มล้าง-เป็นปฏิปักษ์ อ้าง!! ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีเขตอำนาจพิจารณา-วินิจฉัยคดีนี้

(9 มิ.ย.67) ที่พรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล แถลงข้อต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล ว่า จุดประสงค์ของการแถลงเพื่อเน้นข้อเท็จจริงของข้อกฎหมายและคดี เพื่อสอดคล้องกับสิ่งที่เป็นข้อกังวลของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะแบ่งเป็น 9 ข้อต่อสู้ 3 หมวดหมู่

หมวดหมู่ที่ (1.) เขตอำนาจและกระบวนการ 1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ 2.กระบวนการยื่นคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หมวดหมู่ที่ (2.) ข้อเท็จจริง 3.คำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 67 ไม่ผูกพันการวินิจฉัยคดีนี้ 4.การกระทำที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ 5.การกระทำตามคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 67 ไม่ได้เป็นมติพรรค

หมวดหมู่ที่ (3) สัดส่วนโทษ 6.โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น 7.ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 8.จำนวนปีในการตัดสิทธิทางการเมือง ต้องได้สัดส่วนกับความผิด 9.การพิจารณาโทษต้องสอดคล้องกับชุดกรรมการบริหารพรรคในช่วงที่ถูกกล่าวหา

เมื่อถามว่าในข้อต่อสู้มีข้อไหนที่ไม่มั่นใจ นายพิธา กล่าวว่า มั่นใจทุกข้อทั้ง 9 ข้อ แต่ละข้อก็เหมือนด่าน บันไดที่ใช้ต่อสู่ตั้งแต่ของเขตอำนาจของศาล จนถึงบทลงโทษกรรมการบริหาร แต่เรายังเชื่อว่าทั้งเจตนา และการกระทำของ สส.ในการเข้าชื่อแก้กฎหมาย ไม่ได้เป็นการล้มล้าง และไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ รวมถึงการกระทำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเป็นนายประกัน สันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน การที่มีผู้ต้องหามาตรา 112 เป็นสมาชิกพรรค เป็น สส.ก็ยังไม่สิ้นสุดคดี รวมถึงการแสดงออกเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ก็กระทำทั่วไปโดยนักการเมืองในตอนนั้น โดยสภาพบังคับที่มีเรื่องเกี่ยวข้องอยู่แล้ว

“สุดท้ายการกระทำทุกอย่างเป็นเรื่องของรายบุคคลที่ขยุมรวมกันเป็นข้อกล่าวหา ไม่ได้มาจากมติพรรค ไม่ได้เป็นเรื่องของนิติบุคคล แต่เป็นเรื่องของปัจเจก ไม่ได้มีความเห็นที่ออกมาจากกรรมการบริหารว่าทั้งหมดเป็นการกระทำของพรรค ต้องแยกระหว่างบุคคลธรรมดากับนิติบุคคล นั้นต่างกัน ซึ่งที่มีเป็นมติของพรรคออกมาคือการบรรจุเป็นนโยบายหาเสียง แต่ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ได้ เพราะกกต.เองก็อนุญาต ซึ่งหลักเดียวกับตอนที่ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ก็ไม่ได้มีจดหมายเตือน ไม่มีคำถามมาว่านโยบายนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรอย่างที่พรรคอื่นโดน” นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวว่า ยืนยันตรงนี้ว่าไม่ได้มีเจตนา และไม่มีข้อกฎหมายที่เอาผิดทั้ง 44 คนที่เข้าชื่อในการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง และไม่ได้เข้าสภา และถึงแม้จะได้เข้าสภา ระบบนิติบัญญัติก็มีการเช็คแอนด์บาลานซ์เบรคในตัวเองอยู่ จะเบรคโดยกกต.ก็ได้ จะเบรคโดยสภาในการโหวตวาระ 1 , 2 , 3  หรือขั้น สว. และยังมีเวลาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในตอนสุดท้าย เพราะฉะนั้นไม่มีความเร่งด่วนสำคัญอะไรที่ต้องใช้มาตรการรุนแรงอย่างนี้ 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top