Thursday, 2 May 2024
พรรคประชาธิปัตย์

ปชป. ชี้ต้องมีแผนบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อสร้างเสถียรภาพให้ประเทศ ย้ำ ทุกอย่างต้องมีความชัดเจน

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. กล่าวเปิดงานเสวนา "เดินหน้าประเทศอย่างไร ในวันที่โควิด(ยัง) กลายพันธุ์" ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ว่า ประเทศไทยมีบทเรียนจากการต่อสู้กับวิกฤติการณ์โควิดมาแล้ว ทำให้คนไทยได้เรียนรู้ และใช้ชีวิตร่วมกับโควิดได้ในระดับหนึ่งแม้จะมีการกลายพันธุ์อยู่บ้าง ขณะที่เมื่อจีนเปิดประเทศให้ทั้งคนจากประเทศต่างๆ เดินทางท่องเที่ยวในจีน และคนจีนเดินทางท่องเที่ยวได้ทั่วโลก ทำให้หลายประเทศตั้งเงื่อนไขและมีปฏิกิริยาต่อจีน ซึ่งในวันที่ 12 มกราคมนี้ จะมีคนจีนชุดแรกเดินทางเข้าประเทศไทย และประเทศไทยมีแนวทางปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยวจีนเหมือนกับนักท่องเที่ยวอื่นๆ ทั่วโลก ดังนั้นวันนี้จึงชวนทุกคนช่วยกันขบคิดว่าจะเปิดประเทศอย่างไรเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า และทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข 

‘จุรินทร์’ นำลูกพรรคปชป. ออนทัวร์ กทม. ต่อเนื่อง ลงพื้นที่ชุมชนตลาดเก่า วัดพระยาไกร พร้อมเปิดตัว ‘อภิมุข ฉันทวานิช’ ชิง เก้าอี้ ส.ส. เขตบางคอแหลม - ยานนาวา มั่นใจ นโยบายตอบโจทย์คนกรุง

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 8 ม.ค.2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรค ลงพื้นที่ชุมชนหลังตลาดเก่า วัดพระยาไกร เขตบางคอแหลม ซอยเจริญกรุง โดยได้พูดคุยทักทายประชาชนที่มารอต้อนรับบริเวณชุมชน พร้อมทั้งแนะนำนโยบายและว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ เขตยานนาวา บางคอแหลม คือ นายอภิมุข ฉันทวานิช  

โดยนายจุรินทร์ กล่าวถึงความพร้อมของพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้ง ส.ส. พื้นที่กรุงเทพฯ ว่า การลงพื้นที่วันนี้เพื่อถือโอกาสสวัสดีปีใหม่ประชาชน และแนะนำ นายอภิมุข ฉันทวานิช  ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตยานนาวา บางคอแหลม ซึ่งเป็นที่อดีต สก. บางคอแหลม 3 สมัย เป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่เป็นอย่างดี เพราะเป็นคนที่เกิดในพื้นที่นี้ตั้งแต่เกิด มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาชุมชนเขตนี้ให้มีศักยภาพและความเป็นอยู่ที่สูงขึ้น 

นายจุรินทร์ได้ตอบคำถาม ผู้สื่อข่าวถึงพื้นที่หลักของประชาธิปัตย์ในการหาเสียงว่า กรุงเทพมหานครจะเป็นพื้นที่เป้าหมายอีกพื้นที่หนึ่งของประชาธิปัตย์ เราเพิ่งเสียที่นั่งไปคราวที่แล้ว อย่างน้อยที่สุดพี่น้องชาวกรุงเทพฯ ก็ต้องเลือกผู้แทนประชาธิปัตย์เข้ามาจำนวนหนึ่ง เพียงแต่คราวที่แล้วมันอาจจะเป็นอุบัติเหตุทางการเมือง แต่เที่ยวนี้ตนมั่นใจว่าเราปักธงได้แน่ 

ตอนนี้วางการเปิดตัวผู้สมัครไว้อย่างไร นายจุรินทร์ กล่าวว่า ภาคอีสานเคาะไปล่าสุดเมื่อวัน สองวันนี้อีก 90 เขต แล้วจะได้ทยอยสรุป ซึ่งเราจะส่งครบทั้ง 400 เขต ทั่วประเทศ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร 33 เขตด้วย เพียงแต่รอการแบ่งเขตให้ชัดเจนจาก กกต. สำหรับทุกพื้นที่ กรุงเทพฯ ก็รออีก 3 เขต ทุกอย่างก็เตรียมพร้อม สำหรับนโยบายภาพรวมเราก็ต้องเน้น “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” ซึ่งจะมีรายละเอียดตามมา กรุงเทพมหานครก็เหมือนกัน ภาพรวมของนโยบายกรุงเทพฯ ก็คือภาพรวมของนโยบายประเทศ เพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย ส่วนเรื่องรายละเอียด น้ำท่วม รถติดนั้นเป็นเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นด้านหลักตอนเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. แต่สำหรับการเลือกตั้งระดับชาติ สำหรับประชาธิปัตย์ นโยบายประเทศก็คือนโยบายกรุงเทพฯ ด้วย

เมื่อถามว่า มองเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะไปเปิดตัวที่ศูนย์สิริกิติ์ อย่างไรนั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนไม่ขอให้ความเห็น แต่ถ้าท่านไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคใดพรรคหนึ่งจริง ก็แปลว่าต่อไปนี้ท่านก็สังกัดพรรคการเมืองที่มีความชัดเจนแล้ว ไม่ใช่เป็นแค่คนกลาง ๆ ที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมือง หรือพรรคร่วมรัฐบาล แต่ลงลึกไปถึงท่านเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแล้ว ก็คงมีสถานภาพเหมือนๆ กันกับรัฐมนตรี หรือรองนายกฯ หลายท่านในคณะรัฐมนตรี ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง หรือดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค หรือเป็นสมาชิกพรรค 

ผู้สื่อข่าวยังถามต่อว่า ถ้า “คนกลางๆ” หายไป จะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่อย่างไร หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ตนตอบล่วงหน้าอะไรไม่ได้ อยู่ที่ท่านนายกฯ ด้วยว่าจะบริหารจัดการกับรัฐบาลผสมในรูปแบบไหนอย่างไร และมีทีท่าอย่างไร อันนั้นก็ต้องนับหนึ่งที่ตัวท่านด้วย

กระจายอำนาจท้องถิ่นในแบบ ‘ปชป.’ ยืนหยัด ต้องให้จังหวัดจัดการตนเอง

ประชาธิปัตย์กับการกระจายอำนาจ ; จังหวัดจัดการตนเอง

ถ้าย้อนกลับไปพิจารณาเจตนารมณ์ อุดมการณ์ ตั้งแต่ต้นของพรรคประชาธิปัตย์ โดย 'ควง อภัยวงค์' ผู้ก่อตั้งพรรค จะพบเจตนารมณ์ 10 ข้อ ที่ประกาศต่อสาธารณะ และถือเป็นเจตนารมณ์-อุดมการณ์ ที่ยังทันสมัย และใช้ได้ หนึ่งในนั้น คือเรื่องการกระจายอำนาจ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหาร จัดการในระดับพื้นที่ที่เล็กลงไป โดยยึดถือหลักว่า คนในพื้นที่คือคนที่รู้ปัญหา รู้ความต้องการของประชาชนมากที่สุด รู้ว่าในแต่ละพื้นที่มีทรัพยากรธรรมชาติอะไรที่จะมาบริหารจัดการ ให้บริการสาธารณะอย่างไร

แต่เจตนารมณ์-อุดมการณ์ ประชาธิปัตย์ เดินผ่านช่วงเวลามาร่วม 70 ปี บางอย่างสำเร็จแล้ว บางอย่างอยู่ระหว่างการผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และยังจะเดินหน้าให้เกิดการกระจายอำนาจเกิดขึ้นอย่างแท้จริง แต่ปัญหาใหญ่คือ 'ห่วงอำนาจ' รัฐบาลกลางยังไม่จริงจัง จริงใจกับการกนะจายอำนาจ เพราะกลับ 'สูญเสียอำนาจ' โดยเฉพาะกระทรวงใหม่ สายอำมาตย์ อย่างกระทรวงมหาดไทย ยังกวดอำนาจไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมปล่อย

นี้คืออุปสรรคใหญ่ของการกระจายอำนาจ ในยุคที่ 'นิพนธ์ บุญญามณี' เข้าไปนั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย และถือว่าเป็นผู้รู้เรื่องกระจายอำนาจ รู้เรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นมากที่สุดคนหนึ่ง ก็ยังถูกกีดกันไม่ให้กำกับ-ดูแล กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐมนตรีว่าการฯกอดอำนาจไว้แน่น

ผลักให้นิพนธ์ไปดูกรมที่ดิน กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย แต่คำว่านักการเมือง ไม่ว่าอยู่ตรงไหนก็สามารถคิดงานคิดการขึ้นมาได้ 'นิพนธ์' จึงเป็นที่ยอมรับในผลงานในช่วงสามปีกว่า ๆ ในกระทรวงมหาดไทย

หากย้อนกลับไปดูเรื่องการ กระจายอำนาจจะพบผลงานมากมายของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จากเดิมที่บริหาร-ดูแล โดยกำนัน เป็นนายกฯอบต.โดยตำแหน่ง ทำงานทั้งการพัฒนา และความสงบเรียบร้อย แม้ช่วงแรก ๆ จะมีอุปสรรค มีปัญหา มีข้อครหา แต่เวลาผ่านพ้นไป จะเป็นบทพิสูจน์ และกลั่นกรองคนเข้าสู่ระบบผ่านการเลือกตั้ง วันนี้ อบต.เริ่มก้าวข้ามคำว่า ผู้บริหารมาจากผู้รับเหมา มาจากผู้มีอิทธิพล เริ่มมีคนรุ่นใหม่ มีการศึกษาสูง กลับบ้านไปรับใช้บ้านเกิดมากขึ้น เกิดโครงการ เกิดนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมากมาย แต่คำว่า อบต.ก็ยังต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนต่อไปอีกมาก เพื่อก้าวผ่านข้อครหา 'กินหัวคิว-กินเปอร์เซ็นต์' ไปให้ได้ แล้วเราจะเห็นแสงสว่างสดใสมากขึ้น รัฐบาลเองก็มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนให้องค์กรท้องถิ่นเข้มแข็ง 

การยกฐานะสุขาภิบาลมาเป็นเทศบาลทั่วประเทศ การให้นายกฯอบจ.มาจากการเลือกตั้ง โดยตรงของประชาชน แทนที่จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสวมหมวกสองใบ หรือให้สมาชิกซาวเสียงกันเองเลือกนายกฯอบจ.

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ก็เป็นผลงานการผลักดันของพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยการยกร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ที่กำหนดให้ผู้ว่าฯต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีสภาฯกทม.(สก.) เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีสมาชิกสภาเขต (สข.)เป็นที่ปรึกษาของ ผอ.เขต ผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯมาแล้วหลายคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็น 'อภิรักษ์ โกษะโยธิน' หรือ มรว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร แม้การเลือกตั้งครั้งล่าสุด ประชาธิปัตย์ โดย ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จะพ่ายให้กับ 'ชัชชาติ สิทธิพันธุ์' แต่คะแนนก็ไม่ได้น่าเกลียดอะไร ไล่มาอยู่ลำดับ 2 

ถามว่าการจายอำนาจจะเดินไปถึงจุดไหน พรรคการเมืองบางพรรค อย่างพรรคก้าวไกล เสนอแบบสุดขั้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ยกเลิกนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคด้วย พรรคประชาธิปัตย์ก็เคยเสนอเป็นนโยบายให้เลือกตั้งผู้ว่าราชจังหวัดทุกจังหวัดในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่มาคราวนี้น่าจะเสนอในรูปแบบของ 'จังหวัดจัดการตนเอง' จังหวัดไหนพร้อมก็ยกฐานะขึ้นมา เช่น ภูเก็ต-เมืองท่องเที่ยว เหมือนกับพัทยา และเชียงใหม่-น่าน สมุทรปราการ เมืองอุตสาหกรรม-เมืองการบิน ระยอง-เมืองอุตสาหกรรม-ท่องเที่ยว เหล่านี้เป็นต้น เป็นการทดลองการจัดการตนเอง อันเป็นแนวคิดค่อยเป็นค่อยไป

การเลือกตั้งครั้งปี 2562 พรรคภูมิใจไทย เสนอแนวคิด 'ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน' ก็ยังแค่เสนอให้ลดจำนวนกระทรวง ทบวง กรม ลง ส่วนเพิ่มอำนาจประชาชนจะทำอย่างไร ยังอธิบายไม่ชัด

ก้าวไกลเสนอเลือกตั้งนายกจังหวัด (26 พ.ย. 65)
เพื่อไทยเสนอเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในทุกจังหวัดที่พร้อม (6 ธ.ค. 65)
รูปธรรมกว่านั้นคือ ในปี 2570 เพื่อไทยตั้งเป้ากระจายอำนาจจากโรงพยาบาลของรัฐไปยังท้องถิ่นในรูปแบบองค์การมหาชน หรือกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการ ส่วนก้าวไกลมีนโยบายจัดทำประชามติภายใน 1 ปี เพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และภายใน 4 ปีจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่ส่วนกลางต้องแบ่งสรรให้ท้องถิ่นจากไม่เกิน 30% เป็นไม่น้อยกว่า 35% เป็นต้น

น่าเสียดายพรรคพลังท้องถิ่นไทย มี ส.ส.ในสภา มีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านการเมืองท้องถิ่น มี ส.ส.ที่มาจากการเมืองท้องถิ่น แต่ไม่ได้ขับเคลื่อนจริงจังกับการกระจายอำนาจ

นึกย้อนไปในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 13 กันยายน 2535 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ตอนนั้นมีอย่างน้อย 4 พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่มีความพร้อม ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์, พรรคพลังธรรม, พรรคความหวังใหม่ และพรรคเอกภาพ ส่วนหนึ่งเสนอในเชิงยุทธการวิธีหาเสียง เพราะเชื่อว่าประชาชนจะให้การสนับสนุน ทว่า เมื่อทั้ง 4 พรรคมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสมแล้ว นโยบายนี้ก็หายไปจากนโยบายของรัฐบาล โดยพรรคแกนนำอย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคความหวังใหม่เห็นว่านั่นเป็นเพียงนโยบายพรรคการเมือง ไม่ใช่นโยบายรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งท้องถิ่นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่ช่วงปลายปี 2563 มาจนถึงกลางปี 2565 ไล่ตั้งแต่ อบจ. เทศบาล อบต. มาจนถึงเมืองพัทยา และ กทม. ผู้บริหารท้องถิ่นที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปไม่สามารถนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ โดยเฉพาะในเชิงของการพัฒนาพื้นที่ได้ ใช่ว่าผู้บริหารท้องถิ่นเหล่านี้ไม่มีศักยภาพ แต่เป็นเพราะบทบาทอำนาจท้องถิ่นมีจำกัด งานสำคัญๆ ยังคงถูกรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง แม้แต่ กทม.เองที่ได้ชื่อว่าเป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษก็ยังทำอะไรได้น้อยมากเมื่อเทียบกับเมืองหลวงของประเทศอื่น ถ้าเห็นว่าประชาชนเริ่มตระหนักและเข้าใจถึงปัญหากันมากขึ้น การกระจายอำนาจกลายเป็นประเด็นที่ขายได้ และมีคนพร้อมซื้อ พรรคการเมืองจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแสดงท่าทีของตนออกมา ซึ่งต้องตรงไปตรงมากว่าการเลือกตั้งหนก่อน

‘จุรินทร์’ ยินดี ‘บิ๊กตู่’ เปิดตัวกับ รทสช. ส่วนจะได้เป็นนายกฯ อีกหรือไม่ ผลงานจะเป็นตัววัด

วันนี้เวลา 09.20น. (10 ม.ค. 66) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงประเด็นบิ๊กตู่เปิดตัวที่พรรครวมไทยสร้างชาติวานนี้ว่า เป็นสิ่งที่ดีจะได้มีความชัดเจน ในส่วนจะเป็นคู่แข่งหรือไม่ ตนไม่อยากจะพูดถึงขนาดนั้น แต่ว่าที่จริงทุกพรรคการเมืองก็ต้องแข่งกันโดยปริยายอยู่แล้ว เวลามีการเลือกตั้ง ในส่วน ส.ส.ที่ย้ายจากประชาธิปัตย์ซบรวมไทยสร้างชาติ ส่วนนี้พรรคได้รับทราบมาก่อนแล้ว ความจริงก็ไม่อยากจะพูดซํ้า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ 

ในส่วนบรรยากาศงานเมื่อวานนี้ มองว่าพลเอกประยุทธ์จะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหรือไม่ ตนยังตอบไม่ได้ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับที่ทําวันนี้ แล้วก็จะส่งผลในอนาคต ตนคิดว่าอนาคตก็จะให้คําตอบ

ด้านนโยบายที่บอกว่าจะมีการเปิดตัวภายในเดือนนี้ จุรินทร์กล่าวว่าเรื่องนโยบายได้กรอบชัดเจน แล้วก็ประชาสัมพันธ์อยู่ คือสร้างเงินสร้างคนสร้างชาติ โดยการสร้างเงินหมายถึงการเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับคนไทย และก็ให้กับประเทศไทย ด้วยการสร้างเงินให้กับคนไทยและให้กับประเทศ

‘เจะอามิง’ ความหวังของ ‘ประชาธิปัตย์’ กับภารกิจทวงคืนเก้าอี้ ส.ส. ชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นอีกสนามที่พรรคการเมืองใหญ่หวังแจ้งเกิด หรือรักษาฐาน ขยายฐานของพรรค แน่นอนว่า จะเป็นการสับประยุทธ์กัน 4-5 พรรค ทั้งประชาชาติ (เจ้าถิ่น) ประชาธิปัตย์ อดีตเจ้าถิ่นที่หวังกลับมายึดฐานที่มั่นคืน พรรคพลังประชารัฐ ที่คราวที่แล้ว แจ้งเกิดไปหลายท่าน พรรคภูมิใจไทย ที่หวังจะขยายฐานมากขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

กล่าวถึงประชาธิปัตย์ ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ รองหัวหน้าพรรค ลงไปคุมพื้นที่ด้วยตัวเอง พร้อมกับการคัดเลือกตัวผู้สมัคร และจัดกิจกรรมในพื้นที่ถี่ยิบ ด้วยความหวังว่า จาก 12 ที่นั่ง จะต้องได้กลับคืนมาอย่างสมน้ำสมเนื้อ ด้วยนโยบายที่ประกาศไปแล้ว ทั้งเรื่องให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นคลังอาหาร การช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานร้านอาหารต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซีย และการเอาใจใส่ดูแลพี่น้องชาวประมงกับอีกหลากหลายปัญหาที่ยังต้องเจอ

สำหรับนราธิวาสเป็นอีกสนามเลือกตั้งที่พรรคประชาธิปัตย์หมายมั่นปั้นมือว่า จะต้องกลับมายึดพื้นที่คืน ดึง ‘เจะอามิง โตะตาหยง’ อดีต ส.ส.5 สมัย กลับมาอยู่บ้านหลังเดิม ที่มั่นคง คราวที่แล้วไม่ได้ลงสนามเลือกตั้ง หลีกทางให้ลูกชาย อาจารย์ เจ๊ะ อิลย๊าส โตะตาหยง ที่ไปลงกับพรรคลุงกำนัน ‘รวมพลังประชาชาติไทย’ หรือพรรครวมพลังในปัจจุบัน แต่เลือกตั้งครั้งหน้า ‘นิพนธ์’ ดึง เจะอามิง กลับมาเข้าค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม  

พรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาผงาดในจังหวัดนราธิวาสได้อีกครั้ง แต่ไม่ควรมองข้ามคู่ต่อสู้ที่ไม่ธรรมดาเช่นกัน ทั้งจากพรรคพลังประชารัฐ พรรคสร้างอนาคตไทย และพรรคภูมิใจไทย

‘พึ่งได้ ใกล้ชิด ติดดิน’ ตามหลักยึด ของ ‘เจะอามิง โตะตาหยง’ เข็มทิศทางความคิดที่มุ่งมั่นขันอาสาทำหน้าที่ตัวแทนประชาชนพรรคประชาธิปัตย์นราธิวาส เขต 5 เดินหน้าต่อไป ในการขับเคลื่อนการเสริมสร้างความมั่นคง ด้วยผลงาน ‘โฉนดชุมชน’ และจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการที่ดิน เพื่อพี่น้องชายแดนใต้มีที่ทำกิน ที่อยู่และสร้างอาชีพ โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอ รือเสาะ ศรีสาคร บาเจาะ ยี่งอ สุคิรินทร์ จะแนะ ระแงะ สุไหงปาดี มีเอกสิทธิ์ที่เป็นโฉนดที่ดิน เป็นของตนเอง และผลงานสำคัญด้านการกระจายอำนาจและงบประมาณสู่ท้องถิ่นเข้มแข็ง ทำได้ไว ทำได้จริง

‘เจะอามิง โตะตาหยง’ กล่าวถึงนโยบาย และแนวทางในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง คือพูดถึงนโยบายที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง พูดถึงในแง่การแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ราคายางพารา ทำให้ภาพรวมความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น ก็เป็นที่พอใจของประชาชน เงินผู้สูงอายุที่ได้กันทุกคนทุกครัวเรือน นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านพอใจ เงิน อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) เข้าโรงพยาบาลรักษาโรคฟรีก็เป็นที่พอใจของชาวบ้าน

มีคำถามว่า ต่อไปว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์จะยังคงนโยบายเหล่านี้ไว้หรือไม่ ‘เจะอามิง’ ย้ำว่า เป็นแนวนโยบายที่ประกาศชัดเจนแล้วว่าจะเดินหน้าต่อ เป็นการสานต่อนโยบายหลักของพรรค

ส่วนมิติการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เจะอามิง บอกว่า ได้พยายามสื่อสารกับชาวบ้านว่า ณ วันนี้ รัฐบาลได้แสดงความตั้งใจและจริงใจโดยการออกกฎหมาย ศอ.บต.(พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553) ซึ่งประชาชนยังไม่ทราบว่า มีแนวนโยบายอย่างไรบ้าง ประชาชนยังไม่ทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากกฎหมายฉบับนี้

แต่เดิม การแก้ปัญหาที่ผ่านมา ที่ไม่ได้ผลส่วนหนึ่งมาจากความไม่เป็นเอกภาพของระบบราชการ วันนี้พอออกกฎหมายฉบับนี้ ทุกหน่วยงานต้องมาอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายฉบับนี้ ทำให้หน่วยงานราชการเกิดเอกภาพ ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเดิมต่างคนต่างทำ ทำให้การแก้ปัญหาไม่สามารถเดินหน้าไปได้เท่าที่ควร

“ความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือนายกรัฐมนตรีจะเข้ามาดูแลโดยตรง และมีรัฐมนตรีดูแลอีกหนึ่งคน ไม่สังกัดกระทรวงมหาดไทยแต่จะขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรีโดยตรง สาระสำคัญคือ ชาวบ้านสามารถชี้แนวทางการแก้ปัญหาผ่านสภาที่ปรึกษา ศอ.บต.(หมายถึง สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้) แนวทางต่าง ๆ ไม่ว่า ด้านการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ ศาสนา”

ส่วนในกรณีที่ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม อันเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนสามารถร้องเรียนไปยังเลขาธิการ ศอ.บต. ถ้ามีมูลความผิดจริง เลขาธิการ ศอ.บต.ก็สามารถสั่งย้ายได้ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นการลดเงื่อนไขต่อประชาชน

มิติการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เจะอามิง กล่าวว่า เราจะขับเคลื่อนงบประมาณค้างท่อ ที่เคยสะท้อนติดตาม ขับเคลื่อน ในกระบวนการ สภาผู้แทนราษฎร จนได้รับการแก้ไข จากรัฐบาลจนสำเร็จ เช่น ที่ผ่านมา ถนนสาย ยะลา – สี่แยกดอนยาง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเดิมเป็นเงินค้างท่อ สร้างไม่เสร็จ เราจึงได้ลบล้างข้อครหาที่ว่า งบลงมาแล้วแต่ไม่ดำเนินการอะไรเลย เราดำเนินการจนสร้างเสร็จในสมัยรัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์ ถนนสายสี่แยกตะโล๊ะหะลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา – ปาลอบาต๊ะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส หรือ ถนนสาย 4066 ก็เกิดจากเงินค้างท่อ ซึ่งสร้างจนเสร็จอีกเส้นทางหนึ่ง

เจะอามิง กล่าวอีกว่า ในจังหวัดนราธิวาสเราได้พัฒนาสนามบินบ้านทอนให้เป็นสนามบินระดับนานาชาติ เพื่อรองรับชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะใช้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยรัฐบาลอภิสิทธ์ ฯ ได้จัดสรรงบประมาณขยายรันเวย์เพื่อให้ได้ตามมาตรฐาน ทำให้สามารถรองรับเครื่องบินบินตรงไปยังประเทศซาอุดิอาราเบีย ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ในส่วนของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เดิมมีแค่ป้าย แต่นักศึกษาไปฝากตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ขอนแก่นบ้าง เชียงใหม่บ้าง กรุงเทพบ้าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์บ้าง พอเรียนจบก็จะมาสวมชุดครุยมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ แต่ตอนนี้รัฐบาล สมัยอภิสิทธิ์ ฯ ได้ให้งบไทยเข้มแข็งเกือบพันล้าน เพื่อสร้างอาคารต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ สามารถรับนักศึกษา เรียนที่สถาบัน ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ตอนนี้ ยกระดับมาเป็นโรงพยาบาลศูนย์แล้ว นี่เป็นผลงานรัฐบาลอภิสิทธิ์เช่นกัน

ในด้านเยาวชน รัฐบาลได้ให้งบพัฒนาการกีฬา โดยทุ่มงบกว่า 1,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบผูกพัน สร้างสนามฟุตบอลในจังหวัดนราธิวาส ให้เป็นสนามฟุตบอลที่ใหญ่สุดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ส่วนในจังหวัดยะลา รัฐได้ให้งบสร้างสนามบินเบตง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งได้เปิดให้บริการไปแล้ว เพื่อให้ผู้คนหลั่งไหลไปเที่ยว เบตง แล้วจะเป็นจุดขายต่อไป

- นโยบายทางด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงแม้ที่ผ่านมาอาจจะดีระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ แนวทางการแก้ปัญหาตราบใดที่ยังมีการสูญเสียของประชาชน ก็ยังไม่แฮปปี้ การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ มีหลายขั้นตอนหลายเงื่อนไข การแก้ไขนับตั้งแต่นี้ไป ต้องแก้ไขในแต่ละเงื่อนไข แก้ปมไปทีละปม ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

“ขอยืนยันว่า แนวทางการเมืองนำการทหารบวกกับการพัฒนา สร้างอาชีพ อย่างมั่นคงในอนาคตที่ดี แต่ความสำเร็จทั้งหลายมันต้องอยู่บนพื้นฐานกลไกของรัฐ คนที่รับผิดชอบต้องตั้งใจและจริงใจในการแก้ปัญหา”

นิพนธ์ ระดมสมองผู้สมัครประชาธิปัตย์ ชายแดนใต้ ชู นโยบาย 'สันติภาพสู่สันติสุข' สอดรับ คำประกาศ '3 ส. สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ' พร้อมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหาร สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประชุม ชู 8 นโยบาย ด้านการเกษตร สู้ศึกเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำสันติภาพสู่สันติสุข โดยมีผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดสตูล และสงขลาบางส่วน ร่วมประชุมรับทราบนโยบายดังกล่าว ณ ห้องประขุมย่อย บ้านพักเขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา

โดยนายนิพนธ์ กล่าวว่า วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออก 3  ยุทธศาสตร์หลัก เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งในครั้งนี้คือ การสร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ  โดยเฉพาะนโยบายในการนำมาใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือ การสร้างเงิน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นหลายนโยบาย โดยเฉพาะเน้นในเรื่องของนโยบายประกันรายได้คน และประกันรายได้ให้กับประเทศ 
ซึ่งในส่วนของการประกันรายได้ มุ่งเน้นในเรื่องของการเกษตร การประกันรายได้เงินส่วนต่าง ในเรื่องของ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์ม ยังคงนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง ในเรื่องของการให้เงินส่วนต่าง และนโยบายช่วยเหลือชาวนา 30,000 บาทต่อครัวเรือน แม้แต่ปลูกข้าวกินก็ยังได้ส่วนต่าง สำหรับผู้ที่มาลงทะเบียน นโยบายการจัดตั้งธนาคารหมู่บ้าน-ชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาท การออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลงภายใน 4 ปี ฟรีนมโรงเรียน 365 วัน การให้เงินทุนสำรองประมงท้องถิ่น 100,000 บาททุกปี ทุกกลุ่มที่ขึ้นทะเบียน การออกเอกสารสิทธิทำกินในที่ดิน ให้ผู้ที่ทำกินในที่ดินของรัฐ และการปลดล๊อกประมงพาณิชย์ ภายใต้ luu นี่คือสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ทำนโยบายในเรื่องของการสร้างเงิน 8 นโยบาย และอีก 5 ฟรี คือเรียนฟรี อาหารกลางวันฟรี นมโรงเรียนฟรี และหญิงตั้งครรภ์รับทันที 600 บาท ต่อเดือน จนคลอด ฟรี

ในวันนี้เราได้เน้นในเรื่องของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งเราต้องเดินหน้าต่อ พร้อมกับการขยายการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ ซึ่งจังหวัดชายแดนใต้ต้องยุติความขัดแย้ง การสูญเสียชีวิตมันต้องยุติได้แล้ว และเราอยากเห็นจังหวัดชายแดนใต้สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน

‘ประชาธิปัตย์’ ชู นโยบายเป็นไปได้ - ทำได้จริง สู่หมุดหมายทวงคืนเก้าอี้ 3 จ.ชายแดนใต้

ประชาธิปัตย์กับสามจังหวัดชายแดนใต้ นโยบายที่เป็นไปได้ ทำได้จริง ไม่วาดฝันแค่ช่วงเลือกตั้ง

‘นิพนธ์ บุญญามณี’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องย้ำหลายครั้งถึงความอุดมสมบูรณ์ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพียงแต่มีปัญหาความไม่สงเรียบร้อย จึงต้องการให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นคลังอาหารของภาคใต้ นอกจากภาคพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์แล้ว มีสองจังหวัดที่ติดทะเล คือปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งทางทะเลก็ยังมีความอุดมสมบูรณ์เช่นกัน และยังมีเป้าหมายในการ ‘สร้างสันติภาพให้เกิดสันติสุข’

การเลือกตั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่น้อย มีเพียงครั้งที่ผ่านมา ที่สูญเสียที่นั่งส่วนใหญ่ไป ได้มาเพียงคนเดียว คือ ‘อันวาร์ สาและ’ จังหวัดปัตตานี โดยสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามี ส.ส.ได้ 11 คน พรรคประชาชาติได้ไป 6 คน พรรคพลังประชารัฐ 3 คน ประชาธิปัตย์ 1 คน และภูมิใจไทย 1 คน การเลือกตั้งครั้งหน้ามี ส.ส.เพิ่มมา 1 คน เป็น 12 คน ยะลา 3 ปัตตานี 4 และนราธิวาสเพิ่มมา 1 คน เป็น 5 คน

สำหรับ ‘พรรคประชาธิปัตย์’ นอกจากจะมีนโยบายใหม่ เช่น ‘สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ’ โดยภาพรวมแล้ว ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ หัวหน้าพรรค ยังเลือกที่จะใช้นโยบายเดิมที่เป็นนโยบายซึ่งทำได้จริงที่เคยประสบความสำเร็จ และเสริมนโยบายใหม่ ๆ ทันสมัย และทำได้จริงเข้าไปและถึงมือประชาชนจริง เช่น นโยบายการประกันรายได้ผลผลิตการเกษตรของเกษตรกร และจะขยายขอบเขตของการประกันรายได้ไปสู่อาชีพอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เกษตรกรด้วย

‘ประชาธิปัตย์’ เป็นพรรคการเมืองที่มีนโยบายชัดเจนและต่อเนื่อง ไม่ใช่มีนโยบายเฉพาะกิจในช่วงหาเสียงเพื่อการเลือกตั้ง หวือหวาในช่วงหาเสียง แต่ยังไม่รู้ว่าทำได้จริงหรือไม่ เอางบประมาณมาจากไหน แต่เป็นนโยบายที่วางเป็นรากฐานของการแก้ปัญหาและการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีหลักฐานยืนยันได้เป็นอย่างดี เช่น โครงการนมโรงเรียน โครงการอาหารกลางวัน เงินกู้ กยศ. และอีกหลายโครงการที่แยกย่อยลงมาในกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อครั้งที่คนของพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปเป็นรัฐมนตรี

หรือโครงการ อสม. เงินผู้สูงอายุ ยกระดับสถานีอนามัย 10,000 แห่งให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือ รพ.สต. เมื่อครั้งที่ ‘จุรินทร์’ คนของประชาธิปัตย์เป็นเจ้ากระทรวงสาธารณสุข

ประชาธิปัตย์ก้าวย่างเข้าไปในกระทรวงไหน ก็จะเข้าไปเป็นผู้วางรากฐาน ที่เป็นนโยบาย เพื่อให้เกิดความมั่นคงที่คนของพรรคการเมืองอื่น เมื่อเข้าไปเป็นเจ้ากระทรวงจะได้สานต่อทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม เช่น เพิ่มค่าตอบแทนให้ อสม. และเพิ่มเงินผู้สูงอายุ และอื่น ๆ ที่ ‘ประชาธิปัตย์’ เป็นผู้ทำเอาไว้ และไม่มีโครงการไหนที่ประชาธิปัตย์ทำไว้แล้วถูกยกเลิก

นโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ในการเลือกตั้งสมัยที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์มี ส.ส.เพียงคนเดียวใน จ.ปัตตานี กับอีก 3 คนของ จ.สงขลา แต่ประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้ละเลยในการแก้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเรื่องของความยากจนของคนใน จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พร้อมกับเดินหน้าสรรหาคนเลือดใหม่เข้ามาเสริมทัพให้แข็งแกร่งขึ้น จะต้องมี ส.ส.ทุกจังหวัดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

'นิพนธ์' ปลื้ม นโยบาย 'สันติภาพ' สู่ 'สันติสุข' ของ' ปชป.ที่ ปลายด้ามขวาน มีเสียงตอบรับอย่างท่วมท้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่”นิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรค/ผู้อำนวยการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ และที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการชูนโนยาย สันติภาพ สู่ สันติสุข”ในการแก้ปัญหาความไม่สงบใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏว่า นโยบายดังกล่าว ได้รับการเห็นด้วยจาก ประชาชน กลุ่มต่างๆ ใน 3 จังหวัด คือ ปัตตานี,ยะลา ,นราธิวาส” และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เพราะเห็นว่า เป็นนโยบายในการแก้ปัญหาความไม่สงบ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกต้อง

'มูฮัมมัด เด็ง' จาก อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี กล่าวว่า ความไม่สงบละลอกใหม่ ที่เกิดตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2566 ย่างเข้า 20 ปี  มีแต่เรื่องของความสูญเสีย ทั้ง เจ้าหน้าที่ และ ประชาชน คนในพื้นที่รู้สึก ผิดหวัง และ เบื่อหน่าย กับการแก้ปัญหาของ หน่วยงานความมั่นคง ที่มีการแต่การ ตรวจค้น จับกุม ปะทะกัน ทุกคนในพื้นที่ต้องการเห็น 'สันติภาพ' ที่จะเป็นหนทางนำไปสู่ 'สันติสุข' ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยการ 'พูดคุย' ทำความเข้าใจ และ 'จริงใจ' ที่ผ่านมา มีการ 'พูดคุย' แต่ไม่ จริงใจ จึงทำให้ไม่เกิด”สันติภาพ”ที่ต้องการ

เห็นด้วยกับนโยบายของประชาธิปัตย์ที่ สนับสนุนการพูดคุย กับขบวนการผู้เห็นต่าง ทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่อย่าง จริงจัง และต่อเนื่องที่ผ่านมา มีการเจรจากันเป็นเวลา 10 ปี แต่การเจรจา ไม่มีผลในการนำ พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกจากความขัดแย้ง ที่สำคัญ พรรคการเมืองทุกพรรค ไม่มี นโยบาย ที่ชัดเจน  ในการดับไฟใต้ ปล่อยให้ ทหาร ทำหน้าที่ โดยไม่มีการ คัดค้าน ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

นิมะ สาแม ชาวบ้าน อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส กล่าวว่า ขอให้ ประชาธิปัตย์ ทำจริงตามที่มีการประกาศเป็นนโยบายในเรื่องนำสันติภาพสู่สันติสุขเราไม่ต้องการเห็นคนตายไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่รัฐ หรือเป็น ผู้เห็นต่าง เพราะเราพบว่าการ ปิดล้อม ตรวจค้น และ วิสามัญ” ผู้เห็นต่าง “ไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหา แต่ยิ่งทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และสุดท้าย การ พัฒนา จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ ล้มเหลวเพราะถูก ขัดขวาง จากกลุ่มผู้เห็นต่าง และผู้เสียประโยชน์ และที่เสียประโยชน์มากที่สุดคือ ประเทศชาติ ที่ต้อง เสียงงบประมาณ 19 ที่ผ่านมาถึง 4.9 แสนล้านแล้ว

‘นิพนธ์’ ลุยยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหาร มอบทุนส่งเสริม 14 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคลังกาสุกะ

‘เฉลิมชัย’ มอบ ‘นิพนธ์’ เดินหน้ายุทธศาสตร์ ทำชายแดนใต้เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางด้านอาหาร มอบทุนส่งเสริม 14 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคลังกาสุกะ ห้าจังหวัดชายแดนใต้

เมื่อวานนี้ (26 ม.ค. 66) นายนิพนธ์ บุญญามณี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้รับมอบหมายจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญากู้ยืมเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคของวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส พร้อมทั้งมอบป้ายสนับสนุนเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ให้แก่วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส จำนวน 14 กลุ่ม  และมอบนโยบายการขับเคลื่อน โครงการเมืองปศุสัตว์ภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ รองผวจ. ปัตตานี นายอำเภอกะพ้อ หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 14 กลุ่ม และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว ณ สนามฟุตบอลตำบลปล่องหอย หมู่ที่ 5 ตำบลปล่องหอย อำเภอกะพ้อจังหวัดปัตตานี

โดยที่กองบริหารกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พิจารณาอนุมัติ สัญญายืมเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรเลี้ยงโคให้กับวิสาหกิจชุมชนจำนวน 14 กลุ่ม 14 โครงการ เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการต่อยอดอาชีพ การเลี้ยงโคเนื้อ และยกระดับสินค้าโคเนื้อให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากระดับชุมชน นำไปสู่การพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้ออย่างยั่งยืน รวมวงเงินทั้งสิ้น 54,149,600 บาทประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี จำนวน 13 กลุ่ม 13 โครงการ วงเงิน 50,538300 บาท 

และในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสจำนวน 1 กลุ่ม 1 โครงการ วงเงิน 3,611,300 บาท โดยนายนิพนธ์ บุญญามณี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญากู้ยืมเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคของวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส และมอบป้ายสนับสนุนเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้แก่วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาสจำนวน 14 กลุ่ม โดยมีตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคลังกาสุกะ มารับมอบจากรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ 

นายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมจะร่วมขับเคลื่อนการทำงานให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม ผ่านโครงการสำคัญในพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินหน้าสู่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหาร เช่นโครงการเมืองปศุสัตว์ชายแดนภาคใต้ โดยกรมปศุสัตว์และหน่วยงานในสังกัดได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ และการพัฒนางานด้านการเกษตร ได้มีการมอบหมายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การพัฒนาส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน 'ฮาลาล' ในพื้นที่ชายแดนใต้ การพัฒนาแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์เชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

‘บังเลาะ’ เด็กปั้น ‘นิพนธ์’ มั่นใจแจ้งเกิด ปักธงช่วยประชาธิปัตย์เข้าวิน เขต 2 ยะลา

‘บังเลาะ’ ลั่นลงสนาม ส.ส.พิสูจน์ฝีมืออีกครั้งในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ เขต 2 ยะลา เหมือนเดิม หลังจากการเลือกตั้งปี 2562 พ่ายให้กับ ‘ซูการ์โน มะทา’ พรรคประชาชาติ

“การเลือกตั้งครั้งที่แล้วผมมีเวลาเตรียมตัวน้อย เพียงไม่กี่วัน แต่คราวนี้เราเตรียมตัวมา 4 ปี จึงมีความพร้อมมากกว่า จากการสัมผัสชาวบ้านรู้สึกได้ว่าเขาอิ่มตัวกับนักการเมืองเก่า ต้องการเปลี่ยนบ้าง” บังเลาะ หรือ อับดุลย์เล๊าะ บูวา กล่าว

สำหรับเขต 2 ยะลา น่าจะประกอบด้วย อ.เมืองยะลา (เฉพาะ ต.บุดี เปาะเส้ง และ ต.บันนังสาเรง) อ.รามัน ยะหา (ยกเว้นต.ยะหา ตาชี และ ต.บาโงยซิแน) อ.กาบัง ปัจจุบันมีซูการ์โน มะทา จากพรรคประชาชาติ เป็น ส.ส.อยู่

อับดุลการิม เด็งระกีนา อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คราวที่แล้วลงสนามพร้อมสวมเสื้อพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ของลุงกำนัน (สุเทพ เทือกสุบรรณ) แต่พ่ายให้กับซูการ์โน มะทา จากพรรคประชาชาติ (ปช.) น้องชาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ นักการเมืองมุสลิม และ แกนนำ ‘กลุ่มวาดะห์’ ซึ่งตัวซูการ์โนเคยเป็นผู้ช่วย ส.ส. เป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ยะลา 2 สมัย เคยเป็น ส.ส.สังกัดพรรคพลังประชาชน ในการเลือกตั้งปี 2550 และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.คนเดียวของพรรคในพื้นที่ ภาคใต้ โดยปี 2554 ซูการ์โนได้ลงสมัครในสังกัดพรรคเพื่อไทย (พท.) เขตเลือกตั้งที่ 2 แต่พ่ายให้กับ อับดุลการิม เด็งระกีนา จากพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม ยังมองข้ามอีกคนหนึ่งในเขตนี้ไปไม่ได้ นั่นคือ ริดวาน มะเต๊ะ จากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีดีกรีเป็นอดีต ส.อบจ.เขต อ.รามัน และมีบิดาชื่อ มะโซ๊ะ มะเต๊ะ เป็นอดีตกำนันคนดังแห่ง ต.ตะโละหะลอ อ.รามัน และในอดีตยังเป็นหัวคะแนนให้กับ อดีต ส.ส.ในพื้นที่มาแล้ว แต่คราวที่แล้วเขายังเดินไปไม่ถึงฝั่งฝัน

กล่าวสำหรับ ‘บังเลาะ-อับดุลย์เล๊าะ บูวา’ ยังคงมุ่งมั่นกระโดดเข้าสู่การเมืองระดับชาติ ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันเป็นรองนายกเทศบาลตำบลโกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา

บังเลาะ เข้าศึกษาต่อในตลาดวิชา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ด้วยระบบการศึกษาแบบ ‘แพ้คัดออก’ เข้าร่วมทำกิจกรรม ร่วมกับ ชมรมมุสลิม ม.รามคำแหง และกลุ่ม PNYS ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษามุสลิมที่มีพลังมากในรามคำแหง บังเลาะสนใจการเมืองมาตั้งแต่ต้น จึงเข้าร่วมกับพรรคนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้า คือนักศึกษา 7 คณะ พรรคสานแสงทอง เช่น กิจกรรมออกค่ายอาสา กิจกรรมอบรมทางวิชาการ กิจกรรมรณรงค์การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย และอื่น ๆ อีกมากมาย

หลังจบการศึกษาเข้าทำงานที่บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย จำกัด ทำงานที่เนชั่น 24 ปี ตำแหน่งสุดท้ายคือ หัวหน้าซับเอดิเตอร์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ที่เนชั่น ได้เรียนรู้ถึงข้อมูลข่าวสารและแนวทางการวิเคราะห์ ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งได้เผชิญกับวิกฤติการเมือง เศรษฐกิจ มาหลายยุคหลายสมัย เมื่อถึงเวลาอิ่มตัวกับงาน จึงตัดสินใจเก็บเสื้อผ้าเดินทางกลับบ้านเกิด หมายมั่นทำงานการเมืองรับใช้บ้านเกิด

“ออกจากเนชั่นด้วยความคิดที่ได้ตั้งปณิธานไว้ว่าสักวันจะต้องกลับสู่บ้านเกิด สิ่งที่จะทำคือการได้มีโอกาสในการใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ เพื่อนำไปพัฒนาในพื้นที่ รวมทั้งเป็นสื่อกลางในการประสานงานระหว่างท้องถิ่น กับ หน่วยงานภาครัฐ เพื่องานจะได้คล่องตัวและราบรื่น”

บังเลาะ กล่าวว่า การเล่นการเมืองระดับท้องถิ่น คือ เป็นการทำงานช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่แคบ ๆ และจำกัด แต่การเมืองระดับชาติ ถือ เป็นงานใหญ่ที่จะได้ช่วยเหลือชาวบ้านอย่างกว้างขวาง ซึ่งในพื้นที่เขต 2 ที่รับผิดชอบจะมีนักการเมืองที่เกือบจะผูกขาดมาอย่างยาวนาน แต่ไม่ได้ทำอะไรกับประชาชนพอสมควร ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้โอกาสคนรุ่นใหม่ จะได้ช่วยกันพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม

อับดุลย์เล๊าะ บูวา มั่นใจว่า การเลือกตั้งรอบใหม่นี้ ผมมีความหวังเต็ม 100 ที่จะได้รับการเลือกตั้ง โดยการเข้าถึงชาวบ้านในระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง โดยได้รับเสียงสะท้อนจากชาวบ้านว่า ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนสักที และด้วยนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ โดนใจชาวบ้านอย่างที่สุด เช่น การประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ปาล์ม เป็นต้น รวมทั้งการเร่งรัดเดินสำรวจออกโฉนดและให้สิทธิ์ทำกินในที่ดินของรัฐ ถือเป็นหัวใจหลักที่ได้เสียงตอบรับจากชาวบ้านเป็นอย่างมาก

บังเลาะ กล่าวทิ้งท้ายว่า ยะลาเป็นเมืองเกษตรกรรม มีผลไม้มากมาย ทั้งทุเรียน เงาะ มังคุด เป็นต้น รัฐจะต้องเข้ามาส่งเสริมอย่างจริงจัง อนาคตเราจะเสนอให้ยะลาเป็น ‘เมืองฮับทุเรียน’

เลือดใหม่ประชาธิปัตย์ ‘อับดุลย์เล๊าะ บูวา’ ที่ ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จูงมือมาลงสมัคร และหมายมั่นปั้นมือจะปั้นให้แจ้งเกิดให้ได้

ข้อมูลเคียงข่าว

จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีพืชทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 4 ชนิด ทุเรียน  ลองกอง เงาะ และมังคุด โดยไม้ผลที่ปลูกมากที่สุด คือ ลองกอง มีพื้นที่ปลูก 157,300 ไร่ รองลงมาเป็น ทุเรียน มีพื้นที่ปลูก105,135 ไร่ มังคุด มีพื้นที่ปลูก 39,630 ไร่ และ เงาะ มีพื้นที่ปลูก 39,446 ไร่ ตามลำคับ

ส่วนไม้ผล ที่เป็นที่รู้จักและนิยมของผู้บริโภคมากที่สุด คือ ลองกอง โดยฉพาะลองกองตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เนื่องจากเป็นลองกองที่มีรสชาติทวาน หอม และอร่อย

นอกจากนี้ ทุเรียน ชายแดนใต้ นับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิด ที่ได้รับความนิยมเพิ่มการปลูกมากขึ้น ด้วยปัจจัยจากราคา ทำให้ทุเรียน ออกสู่ตลาดมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top