Monday, 6 May 2024
น้ำมัน

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 19-23 มิ.ย. 66  จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 26-30 มิ.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น จากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ โดยวันที่ 20 มิ.ย. 66 ธนาคารแห่งชาติของจีน (People's Bank of China: PBOC) ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลักเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (Loan Prime Rate : LPR) ระยะเวลา 1 ปี ลดลง 0.1% อยู่ที่ 3.55% และ 5 ปี ลดลง 0.1% อยู่ที่ 4.20% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี Reuters รวบรวมคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีนในปี 2566 จากวาณิชธนกิจชั้นนำล่าสุดอยู่ในช่วง 5.1-5.7% จากปีก่อนหน้า ลดลงจากคาดการณ์เดิมในช่วง 5.5-6.3% จากปีก่อนหน้า (เป้าหมายของรัฐบาลอยู่ที่ประมาณ 5% จากปีก่อนหน้า) สะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตช้าลง

ขณะที่วันที่ 20-21 มิ.ย. 66 นาย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve: Fed) กล่าวว่า Fed จำเป็นต้องดำเนินการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังคงสูงกว่าเพดานที่ +2% จากปีก่อนหน้า สะท้อนว่าที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.00 -5.25% เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 66 ยังมิใช่จุดสิ้นสุดของนโยบายการเงินตึงตัว (Tightening) และวันที่ 22 มิ.ย. 66 ธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England: BoE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% มาอยู่ที่ 5.0% ปรับขึ้นต่อเนื่อง 13 ครั้งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี

ด้านปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ วันที่ 24 มิ.ย. 66 กลุ่มกองกำลัง Wagner ก่อกบฏโดยยึดครองกองบัญชาการทหารในเมือง Rostov-on-Don ทางตอนใต้ของรัสเซีย และจะเคลื่อนพลสู่กรุง Moscow อย่างไรก็ดี วันที่ 25 มิ.ย. 66 กลุ่มกองกำลัง Wagner ล้มเลิกภารกิจ พร้อมถอนกำลังจากเมือง Rostov-on-Don โดยมีข้อแลกเปลี่ยนให้นาย Yevgeny Prigozhin ผู้นำกองกำลัง Wagner ไม่ถูกดำเนินคดีข้อหากบฏ และนำกองกำลังลี้ไปอยู่เบลารุสแทน ทั้งนี้ รัสเซียยังคงใช้มาตรการควบคุมความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในกรุง Moscow โดยประกาศให้ประชาชนหยุดงานในวันที่ 26 มิ.ย. 66

ติดตามความไม่แน่นอนของสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ในระยะสั้น โดยคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

>>ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- วาณิชธนกิจ HSBC ปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีน ในปี 2566 อยู่ที่ +5.3% จากปีก่อนหน้า (คาดการณ์ครั้งก่อนอยู่ที่ +6.3% จากปีก่อนหน้า) จากภาวะซบเซาของภาคธุรกิจและความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนที่ถดถอยลง

- S&P Global รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers’ Index : PMI) ของสหรัฐฯ ในเดือน มิ.ย. 66 ลดลง 2.1 จุด จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 46.3 จุด ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ธ.ค. 65 ทั้งนี้ ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด บ่งชี้ภาวะหดตัว

- 21 มิ.ย. 66 ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) นาย Jerome Powell กล่าวว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และส่งสัญญาณว่า Fed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ภายในปี 2566

>>ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- Bloomberg รายงานรัสเซียส่งออกน้ำมันดิบทางทะเล สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 มิ.ย. 66 ลดลง 30,000 บาร์เรลต่อวัน เทียบจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 3.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน

- หน่วยงานศุลกากรของจีน (General Administration of Customs: GAC) รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียในเดือน พ.ค. 66 เพิ่มขึ้น 15.3% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 2.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

- Joint Organizations Data Initiative (JODI) รายงานซาอุดีอาระเบียส่งออกน้ำมันดิบในเดือน เม.ย. 66 ลดลงประมาณ 3% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 7.32 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน และผลิตน้ำมันดิบทรงตัวอยู่ในระดับ 10.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน
 

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 28 ส.ค. - 1 ก.ย. 66 จับตาปัจจัย 'บวก-ลบ' ชี้แนวโน้ม 4 - 8 ก.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบอ้างอิงทุกชนิด เฉลี่ยสัปดาห์สิ้นสุด 1 ก.ย. 66 เพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดคาดว่าซาอุดีอาระเบียจะขยายเวลาอาสาลดการผลิตน้ำมันดิบ (ปริมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ออกไปถึงเดือน ต.ค. 66 จากเดิมช่วง ก.ค.- ก.ย. 66 ขณะที่รัสเซียจะขยายเวลาลดการส่งออกน้ำมันดิบออกไปถึง ต.ค. 66 เช่นกัน (ก่อนหน้ารัสเซียประกาศลดการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 66 ปริมาณ 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเดือน ก.ย. 66 ปริมาณ 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และอาจจะอาสาลดการผลิตจนสิ้นปีนี้

พายุเฮอริเคน Idalia (ระดับ 3: ความเร็วลมสูงสุด 179 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) เคลื่อนผ่านรัฐ Florida ของสหรัฐฯ ทำให้บริษัท Chevron อพยพพนักงานออกจากแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม (Platforms) แถบ Gulf of Mexico (GoM) บางส่วน โดย Reuters คาดว่าจะกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 0.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ GoM ผลิตน้ำมันดิบประมาณ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 15% ของการผลิตในสหรัฐฯ

ด้านเศรษฐกิจ ดัชนีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐฯ (Core Personal Consumption Expenditure: PCE) ที่ไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ซึ่งใช้วัดเงินเฟ้อ ในเดือน ก.ค. 66 อยู่ที่ +3.3% จากปีก่อน ต่ำกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์จาก Reuters คาดว่าจะอยู่ที่ +4.2 จากปีก่อน ทำให้ FedWatch Tool ของ CME Group ประเมินว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) วันที่ 19-20 ก.ย. 66 นักลงทุนให้น้ำหนัก 88% ที่ FOMC จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% และให้น้ำหนัก 12% ที่จะขึ้นดอกเบี้ย 0.25%

ภาคอุตสาหกรรมของจีนยังคงชะลอตัว โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers’ Index: PMI) ภาคการผลิตของรัฐวิสาหกิจและบริษัทขนาดใหญ่ ในเดือน ส.ค. 66 อยู่ที่ 49.7 จุด รัฐบาลจีนมีแนวโน้มจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกอย่างต่อเนื่อง

คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 85-90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 4-8 ก.ย. 66  จับตาปัจจัย 'บวก-ลบ' ชี้แนวโน้ม 11-15 ก.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากซาอุดีอาระเบียประกาศขยายกรอบเวลาลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบแบบสมัครใจ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมสิ้นสุดเดือน ก.ย. 66 เป็นเดือน ธ.ค. 66 และรัสเซียขยายกรอบเวลาลดปริมาณการส่งออก 3 แสนบาร์เรลต่อวัน จากเดิมสิ้นสุดเดือน ก.ย. 66 เป็นเดือน ธ.ค. 66 ซึ่งก่อนหน้านี้ ตลาดคาดว่าทั้งสองประเทศจะขยายเวลาออกไปถึงเดือน ต.ค. 66

ความกังวลต่อวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีนเริ่มทุเลาลง หลังจากวันที่ 1 ก.ย. 66 ผู้ถือหุ้นกู้ Onshore Private Bond ของบริษัท Country Garden ที่ออกขายภายในประเทศและจำกัดเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ ลงมติเห็นชอบเลื่อนกำหนดชำระหนี้หุ้นกู้สกุลเงินหยวน มูลค่า 3.9 พันล้านหยวน (537 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยมีกำหนดให้ผ่อนจ่ายในระยะเวลา 3 ปี จากเดิมมีกำหนดจ่ายภายในวันที่ 2 ก.ย. 66 อีกทั้งบริษัท Country Garden สามารถชำระหนี้หุ้นกู้ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่า 22.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในวันที่ 5 ก.ย. 66 ทันกำหนดระยะผ่อนผัน 30 วัน

วันที่ 10 ก.ย. 66 บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (National Oil Corporation: NOC) ประกาศปิดท่าส่งออกน้ำมันจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ Ras Lanuf, Zueitina, Brega และ Es Sider กำลังการผลิตรวม 6.7 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็นเวลา 3 วัน หลัง Arab Regional Weather Center คาดการณ์พายุเฮอริเคน Daniel จะพัดจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสู่ลิเบียภายในวันที่ 12 ก.ย. 66 อนึ่ง ลิเบียผลิตน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 66 อยู่ที่ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ติดตามพายุเฮอริเคน Lee และพายุโซนร้อน Margot ซึ่งกำลังเคลื่อนตัวอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกใกล้หรัฐฯ โดยศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติสหรัฐฯ (National Hurricane Center: NHC) คาดว่าพายุ Lee ซึ่งเป็นพายุเฮอริเคนระดับที่ 1 (ความเร็วลม 128 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) จะเพิ่มกำลังกลายเป็นเฮอริเคนระดับที่ 5 (ความเร็วลม 249 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และคาดว่าพายุ Margot จะยกระดับจากพายุโซนร้อนเป็นพายุเฮอริเคนภายในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ พายุทั้งสองยังไม่มีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเม็กซิโกในสหรัฐฯ ซึ่งมีการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 15% ของปริมาณการผลิตในสหรัฐฯ

คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 88-93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

‘ซีเรีย’ ร้อง!! UN จัดการ ‘สหรัฐฯ’ ให้จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหาย หลังใช้สงครามบังหน้า ก่อนเข้ายึดครองดินแดน-ขโมยน้ำมัน

(14 ก.ย. 66) ‘ซีเรีย’ เรียกร้องสหประชาชาติ ให้ดำเนินการเอาผิดกับสหรัฐฯ ต่อกรณียึดครองดินแดนบางส่วนของซีเรีย เช่นเดียวกับลอบสกัดทรัพยากรทางธรรมชาติในพื้นที่เหล่านั้นอย่างผิดกฎหมาย ตามรายงานของสำนักข่าวซานา สื่อมวลชนแห่งรัฐเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้แล้ว ดามัสกัส ยังเรียกร้องขอเงินชดเชยจากวอชิงตัน สำหรับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า เป็นการปล้นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของประเทศ

ในรายงานชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ (10 ก.ย.) สำนักข่าวซานา อ้างอิงหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศของซีเรีย ที่ส่งถึง ‘อันโตนิโอ กูเตอร์เรส’ เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ เช่นเดียวกับ แอลเบเนีย ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานหมุนเวียนคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประจำเดือนกันยายน

โดยในหนังสือดังกล่าว เรียกร้องให้องค์กรระหว่างประเทศแห่งนี้หยุดสหรัฐฯ จากการละเมิดกฎหมายสากลและกฎบัตรสหประชาชาติ ด้วยการประจำการทหารอย่างผิดกฎหมาย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศของซีเรีย อ้างอีกว่า นอกจากนี้แล้ว วอชิงตันและกลุ่มติดอาวุธพันธมิตร ยังกระทำผิดด้วยการฉกชิงทรัพยากรทางยุทธศาสตร์ และความมั่งคั่งของประเทศอีกด้วย

ในหนังสือดังกล่าวได้ประเมินความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่เกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและเหมืองที่มั่งคั่งของซีเรีย จากฝีมือของกองทัพสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 2011 จนถึง 2023 อยู่ที่ประมาณ 115,200 ล้านดอลลาร์

โดยในหนังสือได้ปิดท้าย เรียกร้องให้ลงโทษพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ สำหรับการขโมยและบอกว่ารัฐบาลอเมริกาจำเป็นต้องจ่ายชดเชยแทนคนเหล่านี้ นอกจากนี้แล้ว พวกเขายังเรียกร้องให้ถอนบุคลากรทางทหารของอเมริกาทุกรายออกจากซีเรีย พร้อมกับคืนบ่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั้งหมด กลับคืนสู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลซีเรีย

เมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้ว พลเอกมาร์ค มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมแห่งกองทัพสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ทหารอเมริกาจะยังคงประจำการในประเทศแห่งนี้ต่อไปอีกในอนาคตอันใกล้ โดยเน้นว่า วอชิงตันจะไม่มีวันเดินหนีออกจากตะวันออกกลาง อ้างถึงอันตรายจากพวนักรบรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในภูมิภาค นอกจากนี้ เขายังยอมรับว่าน้ำมันเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่อเมริกาจะไม่ถอนตัวจากภูมิภาคนี้

‘ซีเรีย’ ดำดิ่งสู่ความขัดแย้งในปี 2011 เมื่อกลุ่มฝ่านค้านลุกฮือต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด จากนั้นในปี 2015 อัสซาดเผชิญกองทัพรัสเซียเข้าช่วยเหลือกองกำลังของพวกเขาในการสู้รบกับกลุ่มไอเอส ในขณะที่สหรัฐฯ เปิดปฏิบัติการทางทหารของตนเองหนึ่งปีก่อนหน้านั้น ทว่าไม่ได้เป็นการเชิญจาก อัสซาด แต่อย่างใด

‘อัครเดช’ ย้ำ ‘มาตรการลดไฟฟ้า-น้ำมัน’ รทสช.ทำตามที่ได้หาเสียงไว้ วอนภาคเอกชนช่วยลดราคาสินค้า หลังต้นทุนในการขนส่งลดลง

(14 ก.ย.66) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนลดค่าไฟฟ้า-น้ำมัน ว่า พรรครวมไทยสร้างชาติได้ประกาศนโยบายในการหาเสียงว่า จะลดค่าครองชีพประชาชน เมื่อได้เข้ามาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค ในฐานะรมว.พลังงาน ได้เสนอนโยบายลดราคาเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้า ได้รับความเห็นชอบจากครม. ทางพรรครวมไทยสร้างชาติต้องขอบคุณครม.ที่ได้อนุมัติมาตรการที่นายพีระพันธุ์เสนอเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน

นายอัครเดช กล่าวว่า จากนี้ไปก็ขอให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ รวมถึงภาคเอกชนทุกภาคส่วนได้ช่วยกันลดราคาสินค้าให้กับพี่น้องประชาชนด้วย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เมื่อราคาน้ำมันดีเซลลดลงซึ่งถือเป็นต้นทุนในการขนส่ง ก็จะทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงด้วย กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาคเอกชนก็ต้องช่วยกันสนับสนุนการลดราคาสินค้าให้กับประชาชนด้วยเช่นกัน

“ทั้งนี้ มาตรการลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และลดไฟฟ้าคงไม่ใช่มาตรการเดียวที่จะทำ หลังจากนี้กระทรวงพลังงานยังมีมาตรการอื่น ๆ ทยอยออกมาเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนให้ได้ทุกกลุ่ม ตามที่นายพีระพันธุ์ได้ประกาศไว้ เช่น การช่วยเหลือเกษตรกร การช่วยเหลือกลุ่มแท็กซี่ และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง นายพีระพันธุ์เพิ่งทำงานวันแรกหลังจากนี้จะทยอยมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาเรื่อย ๆ ขอให้ประชาชน ติดตามมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลจะทยอยประกาศออกมา” โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าว

โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงเสียงวิจารณ์ต่อมาตรการดังกล่าวว่า รัฐบาลนี้มาจากประชาชน ผ่านการเลือกตั้งให้เข้ามาบริหารประเทศอะไรที่ได้หาเสียงไว้ก็ถือเป็นความรับผิดชอบต่อพี่น้องประชาชน เมื่อแต่ละพรรคการเมืองได้เข้าไปบริหารในแต่ละกระทรวง ก็จะนำนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ไปขับเคลื่อน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติได้ตระหนักดีว่า เราต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้สัญญากับประชาชนเอาไว้

“การที่ฝ่ายค้านได้วิจารณ์นโยบายดังกล่าวก็เข้าใจ แต่ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลเมื่อเข้ามาบริหารประเทศก็ต้องใช้เงินงบประมาณในการแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือประชาชน แม้แต่พรรคฝ่ายค้านที่วิจารณ์ ถ้าเข้ามาเป็นรัฐบาลถ้าจะช่วยเหลือประชาชนก็ต้องใช้งบประมาณของแผ่นดิน แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ การใช้งบประมาณช่วยเหลือประชาชนต้องเกิดความโปร่งใสไร้การรั่วไหลของเงินงบประมาณ จะประชานิยมหรือไม่ประชานิยมไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญคือ ต้องไม่มีทุจริตคอร์รัปชัน และเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์กับประชาชนสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องยึดหลักเอาไว้” นายอัครเดชกล่าว

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 11 - 15 ก.ย. 66  จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ ชี้แนวโน้ม 18 - 22 ก.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบทุกชนิด เฉลี่ยสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ก.ย. 66 เพิ่มขึ้น โดยนักลงทุนคาดตลาดน้ำมันโลกจะตึงตัว และมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ หลังธนาคารกลางรายใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งสัญญาณใกล้สิ้นสุดช่วงนโยบายการเงินแบบตึงตัว อาจสนับสนุนอุปสงค์พลังงาน

อุปสงค์น้ำมันโลกยังคงเติบโต OPEC คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2566 เพิ่มขึ้น 2.44 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 102.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ปรับเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน 0.05 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และในปี 2567 เพิ่มขึ้น 2.25 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 104.31 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยมองว่าเศรษฐกิจหลัก และตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย โดยเฉพาะอินเดีย รวมถึงบราซิล และรัสเซีย แกร่งเกินคาด

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานโรงกลั่นนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Refinery Throughput) ในเดือน ส.ค. 66 เพิ่มขึ้น 2.4% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 15.23 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ธนาคารแห่งชาติของจีน (People’s Bank of China: PBOC) ประกาศลดอัตราส่วนเงินสำรองขั้นต่ำ (Reserve Requirement Ratio: RRR) สำหรับธนาคารพาณิชย์ลง 0.25% (ยกเว้นธนาคาร RRR ต่ำกว่า 5%) ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 66 คาดว่าจะทำให้ RRR เฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ 7.4% และช่วยเพิ่มเงินเข้าสู่ระบบประมาณ 5 แสนล้านหยวน (6.87 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ) ทั้งนี้ RRR ตั้งแต่ปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 15% ก่อนที่ PBOC จะปรับลดลงต่อเนื่องกว่า 16 ครั้ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

วันที่ 14 ก.ย. 66 ที่ประชุมธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% ทำให้ Deposit Facility Rate, Main Refinancing Operations Rate และ Marginal Lending Facility Rate อยู่ที่ 4.0%, 4.5% และ 4.75% ตามลำดับ สูงสุดตั้งแต่ ECB ก่อตั้งในปี 2542 อย่างไรก็ตาม ประธาน ECB นาง Christine Lagarde ส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ย ECB ใกล้ระดับสูงสุดแล้ว การประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 26 ต.ค. 66 จึงมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ย

จับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในวันที่ 19-20 ก.ย. 66 โดยตลาดคาดว่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25-5.50%

คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 85-95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

‘พีระพันธุ์’ ถก ‘กรมศุลฯ’ ถอดสูตรต้นทุนนำเข้าน้ำมัน เร่งหาช่องทางลดราคา หวังช่วยเกษตรกร-ภาคขนส่ง

(19 ก.ย. 66) ที่กรมศุลกากร นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเดินทางเข้าหารือกับ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เกี่ยวกับข้อมูลการนำเข้าน้ำมันของไทย ว่า ที่มาเข้าพบกรมศุลกากรเพราะต้องการข้อมูลการนำเข้าน้ำมันที่แท้จริงทั้งหมด ตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งกรมศุลฯ จะมีรายละเอียดข้อมูลการนำเข้าน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป เพื่อทำความเข้าใจรายละเอียดโครงสร้างราคาพลังงานไปจัดทำมาตรการดูแลราคาพลังงานให้เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม แม้ครั้งนี้ยังไม่ได้รายละเอียดทั้งหมด แต่ได้ข้อมูลระดับหนึ่ง เพราะกระทรวงพลังงานแม้เป็นผู้กำหนดนโยบายแต่กลับไม่มีข้อมูล จึงจำเป็นต้องมาดูต้นทุนผู้ประกอบการว่าต้นทุนจริงอยู่ส่วนใด ถือเป็นการทำงานระหว่างหน่วยงานราชการแบบสอดประสานกัน

นายพีรพันธุ์ กล่าวว่า “หากได้ข้อมูลทั้งหมดแล้วจะจัดทำมาตรการลดราคาน้ำมันพิเศษให้เฉพาะกลุ่ม อาทิ เกษตรกร ภาคขนส่ง เช่นเดียวกับกลุ่มประมงที่มีน้ำมันเขียวที่ราคาน้ำมันถูกกว่าน้ำมันทั่วไป โดยจะเร่งสรุปมาตรการให้เร็วที่สุด รวมทั้งจะนำไปปรับโครงสร้างราคาพลังงานระยะยาว เพื่อให้ราคาพลังงานเหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชน ยืนยันว่าจะไม่เป็นภาระของประชาชนในอนาคตตามข้อกังวลของนักวิชาการ”

อีกทั้งยังกล่าวว่า สำหรับนโยบายการเปิดนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรี ยืนยันไม่ได้ทำในเชิงการค้า แต่เป็นการเปิดโอกาสให้บางกลุ่มนำเข้านำน้ำมันสำเร็จรูปได้เอง อาทิ ภาคขนส่ง หากรวมตัวกันหาแหล่งซื้อน้ำมันสำเร็จรูปที่มีราคาถูกกว่าจะช่วยลดต้นทุนขนส่งถูกลง

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการลดค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปี (กันยายน-ธันวาคม2566) ให้เหลืออัตรา 3.99 บาทต่อหน่วย ขณะนี้ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปพิจารณาด้วยการยืดหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกไปอีกจากเดิมจะชำระคืนหนี้ 5 งวด ซึ่ง กกพ.มีแนวทางการทำตามความเหมาะสม ส่วนจะยืดหนี้ได้เท่าไหรขึ้นอยู่กับแนวทางของ กกพ. แต่เมื่อคำนวณรวมกับค่าไฟฟ้าฐานแล้วจะต้องอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ได้รายงานข้อมูลโครงสร้างต้นทุนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ ดีเซล และเบนซิน โดยปัจจุบันกรมศุลฯ ไม่มีการเก็บอากรนำเข้าน้ำมันดิบแล้ว ส่วนน้ำมันสำเร็จรูปก็เก็บเพียงน้อยมากเพียง 0.001 บาทต่อลิตรเท่านั้น ทำให้แต่ละปีกรมศุลฯ จัดเก็บรายได้จากอากรน้ำมันสำเร็จรูปได้กว่า 20 ล้านบาทเท่านั้น ปัจจุบันไทยนำเข้าน้ำมันจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นหลัก ณ สิ้นเดือนสิงหาคม ปี 2566 มีการนำเข้าน้ำมันดิบ 5 หมื่นล้านลิตร มูลค่า 78,000 ล้านบาท นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป 7 ล้านลิตร มูลค่า 5,593 ล้านบาท และน้ำมันดีเซล 500 ล้านลิตร มูลค่า 1,700 ล้านบาท

สำหรับส่วนแนวทางการเปิดเสรีนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป ปัจจุบันกฎหมายเปิดให้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปได้อยู่แล้ว โดยขั้นตอนจะต้องยื่นจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ จึงมองว่าหากรัฐบาลจะทำนโยบายดังกล่าวก็สามารถดำเนินการได้เลย

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 18 - 22 ก.ย. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ ชี้แนวโน้ม 25 - 29 ก.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบทุกชนิดเฉลี่ยสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ก.ย. 66 เพิ่มขึ้นจากอุปทานน้ำมันสำเร็จรูปตึงตัว หลังกระทรวงพลังงานรัสเซียประกาศห้ามส่งออก Gasoline และ ดีเซลไปยังทุกประเทศ ยกเว้นอดีตรัฐโซเวียต 4 ประเทศ ได้แก่ เบลารุส คาซัคสถาน อาร์เมเนียและคีร์กีซสถาน เป็นการชั่วคราว มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. 66 เพื่อสร้างเสถียรภาพตลาดภายในประเทศ 

วันที่ 22 ก.ย. 66 บริษัทผู้ดำเนินการท่อขนส่งน้ำมัน Transneft ของรัสเซียหยุดลำเลียงดีเซลทางท่อสู่ท่าส่งออก Primorsk ชายฝั่งทะเล Baltic ปริมาณ 400,000 บาร์เรลต่อวัน และท่าส่งออก Novorossiysk ชายฝั่งทะเลดำ ปริมาณ 180,000 บาร์เรลต่อวัน (รวมคิดเป็น 60% ของปริมาณส่งออกดีเซลของรัสเซีย) ซึ่งในช่วงปี 2566 รัสเซียส่งออกดีเซลเฉลี่ยประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ส่งออก Gasoline ประมาณ 160,000 บาร์เรลต่อวัน และอุปทานน้ำมันโลกตึงตัวจากมาตรการควบคุมการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC+

วันที่ 20 ก.ย. 66 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25 - 5.50% อย่างไรก็ตาม ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) นาย Jerome Powell ส่งสัญญาณอาจปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นสู่ระดับ 5.50 - 5.75% ภายในสิ้นปี 2566 (การประชุม FOMC ครั้งถัดไปวันที่ 31 ต.ค. - 1 พ.ย. 66) และจะเริ่มปรับลดในปี 2567 และ 21 ก.ย. 66 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee) ของธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England: BoE) มีมติ 5-4 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 5.25%  

คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 90-97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

‘บิ๊กต่อ’ ประเดิม ผบ.ทบ.วันแรก สั่งเด้ง ‘เจ้ากรมสรรพาวุธ’ เซ่นปม ‘น้ำมัน’ ค่ายทหารที่สระบุรีสูญหายกว่า 2 แสนลิตร

(1 ต.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงาน จากกรณีกองทัพบก (ทบ.) สั่งตรวจสอบน้ำมันเชื้อเพลิงของค่ายทหารแห่งหนึ่งในจังหวัดสระบุรี สูญหายจากคลังกองโรงงานซ่อมสร้างรถยนต์ทหาร ศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์สายสรรพาวุธ กองทัพบก กว่า 2 แสนลิตร เมื่อปี 2565 โดยล่าสุดเมื่อเดือน มิ.ย. ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยเจ้ากรมจเรทหารบกเป็นประธานตรวจสอบในรายละเอียดซ้ำอีกครั้ง

ล่าสุด พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้ออกคำสั่งให้ พล.ท.สุธา อดุลย์ฐานานุศักดิ์ เจ้ากรมสรรพาวุธ ไปช่วยราชการสำนักงานเลขานุการ กองทัพบก เพื่ออำนวยความสะดวกให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ตรวจสอบกรณีน้ำมันหาย

ก่อนหน้านี้ กองทัพบก ได้ออกเอกสารชี้แจงกรณีดังกล่าว โดยยืนยันว่า ปัจจุบันคณะกรรมการกำลังเร่งดำเนินการตรวจสอบและยังไม่ได้สรุปผล หากผลสอบสวนปรากฏว่า มีผู้ที่ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ ก็จะเสนอให้พิจารณาลงโทษต่อไป ขอเรียนว่า เมื่อกองทัพบกได้รับรายงานว่า อาจมีความไม่เรียบร้อยในการเบิกจ่ายและเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงในพื้นที่ดังกล่าว

กองทัพบกได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทันที พร้อมกำชับให้หน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการสอบสวนด้วยความรอบคอบ ครอบคลุมทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง และรายงานสรุปผลสอบสวนให้ทราบโดยเร็ว

ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วย ต้องบริหารจัดการสิ่งอุปกรณ์ประเภทต่าง ๆ ให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของทางราชการ กรณีนี้กองทัพบกให้ความสำคัญในการตรวจสอบทุกข้อมูลข้อเท็จจริง และจะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ

ธปท. วิเคราะห์ 'ดอลลาร์-ทองคำ-น้ำมัน' สารพัดปัจจัยต่างประเทศ ทำบาทอ่อน

ไม่นานมานี้ นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกรณีเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้น และอ่อนค่าผ่านระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยปรับอ่อนค่าลงร้อยละ 6.75 จากต้นปี

สอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค โดยการอ่อนค่าในช่วงหลังได้รับผลจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก โดยเฉพาะการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ จากความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะคงดอกเบี้ยไว้นานกว่าที่คาด ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าประเทศอื่น ๆ โดยเปรียบเทียบ 

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากราคาทองคำที่ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือน และราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบปี ซึ่งตลาดมองว่าอาจกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ประกอบกับนักลงทุนยังรอความชัดเจนของนโยบายการคลังและการระดมทุนของภาครัฐ 

ทั้งนี้ ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และอาจพิจารณาเข้าดูแลหากเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติเพื่อไม่ให้กระทบต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจ และในช่วงที่สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง ภาคเอกชนควรบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงิน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top