Sunday, 19 May 2024
น้ำมัน

'กรมธุรกิจพลังงาน' กำชับปั๊มฯ หมั่นเช็กจุดเสี่ยง ไม่ให้น้ำปนเปื้อนในน้ำมัน ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อตนเองและทรัพย์สินของ ปชช.

(2 พ.ค. 67) นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า จากกรณีการเติมน้ำมันแล้วกลายเป็นน้ำ ในพื้นที่ อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี กรมธุรกิจพลังงานได้ดำเนินการตามกฎหมาย โดยเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงและเก็บตัวอย่างน้ำมันมาตรวจสอบคุณภาพ และแจ้งความดำเนินคดีกับปั๊มน้ำมันดังกล่าวในความผิดฐานการจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีลักษณะหรือคุณภาพแตกต่างจากที่อธิบดีประกาศกำหนด ตามข้อกฎหมายด้านคุณภาพและความปลอดภัย หากพบน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ได้คุณภาพ มีโทษตามมาตรา 48 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพบน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ได้คุณภาพ มีปริมาณเกิน 200 ลิตร จะเข้าข่ายเป็นการปลอมปนน้ำมัน มีโทษตามมาตรา 49 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ทางกรมฯ ได้กำชับผู้ประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมัน ตรวจสอบจุดเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเพื่อป้องกันมิให้เกิดกรณีน้ำปนในน้ำมัน โดยการปนเปื้อนของน้ำในน้ำมันดังกล่าวอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การปนเปื้อนของน้ำระหว่างขั้นตอนการขนส่งหรือจัดเก็บ และการรั่วไหลของน้ำเข้าไปในถังน้ำมัน 

อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าน้ำมันจะต้องมีการบริหารจัดการน้ำมันในถังเก็บน้ำมันให้เหมาะสม ตรวจวัดน้ำก่อนการรับน้ำมันจากรถขนส่ง และตรวจวัดปริมาณน้ำในถังเก็บน้ำมันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อตนเองและทรัพย์สินของประชาชน

‘ดร.หิมาลัย’ ลงพื้นที่ตรวจสอบ เคสปั๊มเติม ‘น้ำมันผสมน้ำ’ ให้ลูกค้า ชี้ ให้เป็นไปตาม กม. พร้อมกำชับพลังงานทั่วประเทศตรวจเข้ม

‘เสธหิ’ ที่ปรึกษา รมว.พลังงาน ชี้เคสปั๊มเติมน้ำมันผสมน้ำให้ลูกค้า ยกเป็นอุทาหรณ์ ส่วนคดีก็ว่าไปตามกระบวนของกฎหมาย พร้อมขอให้พลังงานจังหวัดแจ้งความดำเนินคดี ส่วนพนักงานสอบสวนมีหน้าที่สอบสวนเพื่อหาความจริงเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรม

จากกรณีนางสมนึก สิทธิการณา พลังงานจังหวัดกาญจนบุรี เข้าพบ ร.ต.ท.ทัศเทพ เพร็ชศรี รอง สว. (สอบสวน) สภ.หนองปรือ เพื่อแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีเจ้าของปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งตั้งอยู่ท้องที่ ต.สมเด็จเจริญ อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี ในข้อกล่าวหา กระทำผิดตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 25 วรรค 3 และมาตรา 50 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 48 และ 49

ขณะที่น้องชายเจ้าของปั๊มให้การว่าน้ำมันดีเซล B7 ที่บีบออกจากหัวจ่ายเพื่อให้ลูกค้าเมื่อวันที่ 22 เม.ย.เป็นน้ำมันที่มีน้ำเจือปนอยู่จริง ตามคลิปที่ผู้เสียหายไปโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก โดยมีพนักงานเป็นผู้บีบตัวอย่างลงในแกลลอน ทางปั๊มเองไม่ทราบว่าสาเหตุที่มีน้ำเจือปนในน้ำมันเกิดจากสาเหตุใด ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อวานนี้ (2 พ.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้ ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ หรือเสธหิ ที่ปรึกษาเดินทางมาตรวจสอบและติดตามความคืบหน้ากรณีข้างต้น โดยมีนางนิภา ศรแก้ว ผู้อำนวยการกองคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง นายอัครเดช ศุกระกาญจน์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมธุรกิจพลังงาน และนางสมนึก สิทธิการณา พลังงานจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับ พล.ต.ต.กำธร อุ่ยเจริญ ผู้บังคับการศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 7 (ผบก.ศพฐ.7) พร้อมเจ้าหน้าที่ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 7

พ.ต.อ.สรวิชญ์ บัวกลิ่น ผกก.สภ.หนืองปรือ พ.อ.ทวี ดอนวิจิตร หัวหน้ากลุ่มงานประสานความมั่นคง กอ.รมน.จังหวัดกาญจนบุรี ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่พบว่ามีน้ำปนในน้ำมันดีเซลบี 7 ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ของประชาชน และกำชับให้สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตรวจสอบและดูแลเรื่องคุณภาพ รวมถึงปริมาตรน้ำมันให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อให้ประชาชนไม่ได้รับความเดือดร้อน

พร้อมกันนี้ กองคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงได้เก็บตัวอย่างน้ำมันเพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน โดยมีน้องชายเจ้าของปั๊มพาตรวจสอบ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จึงแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ ดร.หิมาลัย เปิดเผยภายหลังตรวจสอบว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวพัน ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เนื่องจากประชาชนได้จ่ายเงินค่าน้ำมันไปแล้ว ประชาชนต้องอยากได้น้ำมันที่มีคุณภาพและปริมาณที่ครบถ้วนตามจำนวนเงินที่จ่ายไป

หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่จะต้องลงมาตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ ซึ่งขณะนี้ท่านรัฐมนตรีท่านทำงานอยู่หลายอย่าง เช่น ในระดับนโยบายท่านทำในเรื่องการปรับโครงสร้างต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับน้ำมันที่มีความเป็นธรรม แต่ขณะเดียวกันเมื่อมาถึงระดับของประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็ต้องการให้ประชาชนได้รับสินค้าที่ตรงตามคุณภาพและปริมาณของน้ำมันตามที่ได้ระบุไว้ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ

สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอยากให้เจ้าที่ที่เกี่ยวข้องมีการตื่นตัว โดยพลังงานจังหวัดทุกจังหวัดจะต้องมีนโยบายแนวทางการตรวจสอบให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องที่เกิดขึ้นต้องขอขอบคุณสื่อมวลชนและประชาชนที่ร้องเรียนเพราะถือว่าช่วยเป็นหูเป็นตาให้ทางราชการ ซึ่งทางราชการต้องรีบเข้าไปแก้ไข ต้องฝากไปยังพลังงานจังหวัดทุกจังหวัดว่าต่อไปเมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วจะมีวิธีการอย่างไรที่จะดำเนินการให้ผู้ร้องได้รับความพึงพอใจ และจะมีวิธีการอย่างไรเพื่อที่จะหาความจริงมาตอบประชาชนให้ได้

โดยการเดินทางมาในครั้งนี้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการปั๊มน้ำมันเป็นอย่างดี เพื่อที่จะร่วมกันหาทางออก และหาคำตอบให้ประชาชนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นการเจตนาหรือไม่เจตนา เพราะหากมีการพลั้งเผลอหรือบกพร่องตรงไหนผู้ประกอบการจะต้องไปทำการแก้ไข ในส่วนของคดีให้ว่ากันไปตามกฎหมาย โดยพลังงานจังหวัดมีหน้าที่แจ้งความดำเนินคดี ส่วนพนักงานสอบสวนมีหน้าที่สอบสวนเพื่อหาความจริงเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรม

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตของผู้ประกอบการหรือไม่นั้น คงยังตอบไม่ได้ ให้เป็นไปตามข้อกฎหมายเบื้องต้น ตนยังไม่ทราบว่าข้อกฎหมายเป็นอย่างไร ซึ่งตรงนี้ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสอบสวน รวมทั้งเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานได้ทำการตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดก่อนว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนเกี่ยวกับความหนักเบาของพฤติกรรม

ซึ่งในข้อกฎหมายมีอยู่แล้ว ต่อไปลักษณะของการที่จะเพิ่มโทษอะไรต่าง ๆ ทางผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้วินิจฉัยร่วมกัน แต่ขณะนี้ข้อกฎหมายที่มีอยู่จะต้องบังคับใช้ให้มีความยุติธรรมกับประชาชนและต้องให้ความยุติธรรมกับผู้ประกอบการด้วยว่าเขามีเจตนาอย่างไร ซึ่งต้องฝากไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ทำการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงต่อไป

ในส่วนนโยบายขณะนี้รัฐมนตรีกำลังดำเนินการแก้ไข เช่น ตอนนี้ได้ให้มีการแจ้งต้นทุนน้ำมัน เพื่อเวลาที่รัฐบาลขอความร่วมมือหรือควบคุมราคาน้ำมันต่าง ๆ จะได้ทราบต้นทุนราคาน้ำมันที่แท้จริง ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการแจ้งต้นทุนราคาน้ำมันมาก่อนเลย ทำให้เราไม่สามารถทราบราคาต้นทุนน้ำมันที่แท้จริงได้ ต่อไปเมื่อรัฐบาลสามารถทราบราคาต้นทุนที่แท้จริงได้ จะทำให้รัฐบาลสามารถดูแลประชาชนได้ดีและมีความเป็นธรรมมากขึ้น

‘รัสเซีย’ มีรายได้จากการขาย ‘น้ำมัน-ก๊าซ’ พุ่งขึ้นเท่าตัว หลังใช้กลยุทธ์ ‘ลดราคา’ ขายให้ชาติพันธมิตร แม้จะถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร

(4 พ.ค. 67) รัสเซียมีรายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซพุ่งขึ้นเท่าตัวในเดือนเมษายน 2024 แม้ว่าถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ  โดยรัสเซียหาทางแก้ไขปัญหานี้ด้วยการขายน้ำมันให้กับชาติพันธมิตรในราคาที่ถูกลง นับตั้งแต่ปี 2022  แม้กระทั่งซาอุดีอาระเบียยังรับน้ำมันราคาถูกจากรัสเซีย  แล้วนำมาขายต่อให้กับยุโรปอีกทีเมื่อปี 2023  สิ่งนี้จึงช่วยให้รัสเซียยังมีเศรษฐกิจที่สมดุลอยู่ได้ และลอยตัวแม้ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร

ด้านอินเดียก็เคยซื้อน้ำมันจากรัสเซีย ช่วยประหยัดงบไปถึง 7,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 259,000 ล้านบาท ในอัตราแลกเปลี่ยน เช่นเดียวกับจีนที่ซื้อน้ำมันจากรัสเซียในราคาที่ถูกกว่าที่อื่น และซื้อขายกันในรูปเงินหยวน  ทั้งหมดนี้บ่งชี้ให้เห็นว่ามาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ มีผลแค่เล็กน้อย หรือแทบไม่มีผลเลยกับเศรษฐกิจรัสเซีย

รายงานล่าสุดจากรอยเตอร์ ประเมินว่า รัสเซียจะมีรายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซพุ่งขึ้นเท่าตัวในเดือนเมษายนนี้(2024 ) รายได้น้ำมันของรัสเซียเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว(2023 )อยู่ที่ 7,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 259,000 ล้านบาท  แต่ในปีนี้(2024 )น่าจะแตะ 14,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 518,000 ล้านบาท  เท่ากับว่าเพิ่มขึ้นมาร้อยเปอร์เซ็นต์ 

กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ยังได้ประโยชน์จากการซื้อน้ำมันรัสเซีย เพราะนอกจากจะมีราคาถูกกว่าที่อื่นแล้ว ยังใช้เงินสกุลท้องถิ่นซื้อได้ด้วย ไม่ต้องพึ่งดอลลาร์สหรัฐเลย  การทำเช่นนี้ ยังทำให้เศรษฐกิจของประเทศตัวเองแข็งแกร่งขึ้นด้วย กลายเป็นว่ามาตรการคว่ำบาตรนี้ กลับส่งผลดีต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเป็นส่วนใหญ่

ราคาน้ำมัน WTI ดีดแตะ 78 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังสต็อกน้ำมัน ‘ลดลง’ มากกว่าคาดการณ์

(10 พ.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาน้ำมัน WTI พลิกดีดตัวทะลุระดับ 78 ดอลลาร์ใน (8 พ.ค. 67) หลังสหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว

ณ เวลา 22.41 น. ตามเวลาไทย ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนมิ.ย. บวก 0.47 ดอลลาร์ หรือ 0.6% สู่ระดับ 78.85 ดอลลาร์/บาร์เรล

สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 1.4 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลงเพียง 1.1 ล้านบาร์เรล

ราคาน้ำมันปรับตัวลงในช่วงแรก ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสต็อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ ซึ่งบ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่ซบเซาในตลาด

สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 509,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าลดลง 1.430 ล้านบาร์เรล

นักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์ในตะวันออกกลาง โดยเจ้าหน้าที่อิสราเอลรายหนึ่งกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ยังคงไม่มีสัญญาณความคืบหน้าในการเจรจาหยุดยิงกับกลุ่มฮามาสที่กรุงไคโรของอียิปต์ 

ปิด ‘ช่องแคบฮอร์มุซ’ ดันราคาน้ำมันพุ่ง 250 ดอลลาร์/บาร์เรล เมื่อ 1 ใน 5 ‘การค้าน้ำมันดิบ-ผลิตภัณฑ์น้ำมัน’ ต้องผ่านเส้นทางนี้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานข้อมูลจากบริษัทวิเคราะห์วอร์เท็กซา (Vortexa) ระหว่างเดือน ม.ค. - ก.ย. 2566 น้ำมันหนึ่งในห้าของการบริโภคทั่วโลกทั้งในรูปน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันต้องผ่านเส้นทางนี้ เฉลี่ย 20.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ความหวาดวิตกล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อสถานทูตอิหร่านในกรุงดามัสกัสของซีเรียถูกโจมตีทางอากาศ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (ไออาร์จีซี) เสียชีวิตเจ็ดนาย ในจำนวนนี้เป็นระดับผู้บัญชาการสองนาย อิหร่านเชื่อว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล

ต่อมาวันที่ 9 เม.ย.อลิเรซา ตังซิรี ผู้บัญชาการกองทัพเรืออิหร่าน เผยกับสำนักข่าวอัลเมยาดีนที่สนับสนุนกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ของเลบานอน

“เราสามารถปิดช่องแคบฮอร์มุซได้ แต่เราไม่ทำ อย่างไรก็ตามถ้าศัตรูเข้ามาป่วนเรา เราจะทบทวนนโยบาย” ผบ.ทร.อิหร่านกล่าวและว่า ถ้าเรือพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐเข้ามายังน่านน้ำอิหร่าน ช่องแคบฮอร์มุซ “จะใช้การไม่ได้ไปอีกหลายปี”

ในอดีตอิหร่านเคยขู่ว่าจะปิดช่องแคบฮอร์มุซหลายครั้งเมื่อเกิดความตึงเครียดกับสหรัฐและอิสราเอล

>> รู้จักช่องแคบฮอร์มุซ

น่านน้ำยุทธศาสตร์แห่งนี้มีรูปร่างเหมือนตัว V หัวตั้ง เชื่อมอ่าวเปอร์เซียกับมหาสมุทรอินเดีย มีอิหร่านอยู่ทางตอนเหนือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และโอมานอยู่ทางตอนใต้ความยาวของช่องเกือบ 161 กิโลเมตร ส่วนแคบสุดกว้าง 33.8 กิโลเมตร ความลึกของช่องแคบไม่มากนักทำให้เรือเสี่ยงต่อทุ่นระเบิด และระยะทางห่างจากแผ่นดินโดยเฉพาะอิหร่านไม่ไกลนัก ทำให้เรือมีโอกาสถูกโจมตีจากขีปนาวุธยิงจากฝั่ง หรือถูกเรือลาดตระเวนและเฮลิคอปเตอร์ตรวจจับได้

>>ความสำคัญของช่องแคบ

ช่องแคบฮอร์มุซสำคัญยิ่งต่อการค้าน้ำมันโลก สำนักข่าวบลูมเบิร์กรวบรวมข้อมูลพบว่า ในไตรมาสหนึ่งของปี 2567 เรือบรรทุกน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากซาอุดีอาระเบีย อิรัก คูเวต ยูเออีและอิหร่านผ่านช่องแคบนี้เกือบ 15.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ทั้งยังเป็นเส้นทางขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) กว่าหนึ่งในห้าของอุปทานโลก ส่วนใหญ่มาจากกาตาร์

>> ชนวนล่าสุด

วันที่ 13 เม.ย. หลายชั่วโมงก่อนใช้โดรนและขีปนาวุธโจมตีอิสราเอล ไออาร์จีซียึดเรือเอ็มเอสซีแอรีส์ ซึ่งเป็นเรือขนส่งสินค้าเกี่ยวข้องกับอิสราเอลใกล้ช่องแคบฮอร์มุซระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมาน

กองกำลังพิเศษโรยตัวจากเฮลิคอปเตอร์ลงเรือแล้วบังคับเรือเข้าน่านน้ำอิหร่าน ทอดสมอระหว่างหมู่เกาะเคชม์ของอิหร่านกับช่องแคบฮอร์มุซในอ่าวเปอร์เซีย

>> ทำไมอิหร่านต้องป่วนการเดินเรือ

อิหร่านคุกคามเรือในอ่าวเปอร์เซียมาหลายสิบปีเพื่อแสดงความไม่พอใจที่ถูกคว่ำบาตร หรือแสดงอำนาจเหนือกว่าเมื่อเกิดข้อพิพาท

กรณีล่าสุดรัฐบาลเตหะรานอ้างว่ายึดเรือไว้เพราะละเมิดกฎหมายทางทะเล แต่นักวิเคราะห์มองว่า น่าจะเป็นเพราะอิสราเอลเป็นเจ้าของเรือมากกว่า

ตอนที่อิหร่านยึดเรือบรรทุกน้ำมันมุ่งหน้าไปสหรัฐในเดือน เม.ย.2566 ได้ให้เหตุผลว่า เรือลำนี้โจมตีเรือลำอื่น แต่ดูเหมือนอิหร่านทำไปเพื่อตอบโต้ทางการสหรัฐยึดเรือบรรทุกน้ำมันอิหร่านนอกชายฝั่งมาเลเซียโทษฐานละเมิดมาตรการคว่ำบาตร

เดือน พ.ค.2565 อิหร่านยึดเรือบรรทุกน้ำมันกรีซสองลำไว้นานถึงหกเดือน สันนิษฐานว่าเพื่อตอบโต้ทางการกรีซและสหรัฐที่ยึดน้ำมันอิหร่านจากเรืออีกลำหนึ่ง สุดท้ายเรือทั้งสองลำก็ถูกปล่อยเป็นอิสระ

>> อิหร่านเคยปิดช่องแคบฮอร์มุซหรือไม่

จนถึงขณะนี้อิหร่านยังไม่เคยปิดช่องแคบฮอร์มุซ ระหว่างสงครามอิรัก-อิหร่าน ปี 2523-2531 กองทัพอิรักโจมตีสถานีส่งออกน้ำมันบนเกาะคาร์จ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของช่องแคบ เป็นชนวนหนึ่งให้อิหร่านต้องตอบโต้ซึ่งเป็นการดึงสหรัฐเข้ามาร่วมวงความขัดแย้งนี้ด้วย

หลังจากนั้นเกิดสงครามเรือบรรทุกน้ำมัน ทั้งสองฝ่ายโจมตีเรือของกันและกัน 451 ลำ เพิ่มต้นทุนการขนส่งน้ำมันอย่างมหาศาลดันราคาน้ำมันพุ่งสูงตามไปด้วย

ตอนถูกคว่ำบาตรในปี 2554 อิหร่านขู่ว่าจะปิดช่องแคบฮอร์มุซแต่สุดท้ายก็ไม่ทำ

ผู้ค้าน้ำมันสงสัยว่าอิหร่านจะปิดช่องแคบทั้งหมดได้หรือไม่ เพราะอิหร่านก็ส่งออกน้ำมันของตนไม่ได้เหมือนกัน

ยิ่งไปกว่านั้น กองทัพเรืออิหร่านยังเทียบกันไม่ได้กับกองเรือที่ 5 ของสหรัฐและกองกำลังอื่น ๆ ในภูมิภาค

ก่อนเกิดเหตุยึดเรือลำล่าสุดในเดือน เม.ย.ได้ไม่นาน ผบ.กองทัพเรืออิหร่านพูดว่า อิหร่านสามารถใช้ช่องแคบฮอร์มุซป่วนการเดินเรือได้แต่เลือกที่จะไม่ทำ

>> จะปกป้องช่องแคบฮอร์มุซได้อย่างไร
ระหว่างสงครามเรือบรรทุกน้ำมัน กองทัพเรือสหรัฐกลับมาลาดตระเวนติดตามเรือในอ่าวเปอร์เซียอีกครั้งหนึ่ง ปี 2562 สหรัฐส่งเรือบรรทุกเครื่องบินหนึ่งลำและเครื่องบินทิ้งระเบิดบี-52 จำนวนหนึ่งเข้ามาในภูมิภาคนี้

ปีเดียวกันสหรัฐเริ่มปฏิบัติการ Operation Sentinel ตอบโต้อิหร่านก่อกวนการเดินเรือ ต่อมาอีกสิบชาติ อาทิ สหราชอาณาจักร ซาอุดีอาระเบีย ยูเออี และบาห์เรน เข้าร่วมด้วย เรียกว่า โครงสร้างความมั่นคงทางทะเลระหว่างประเทศ

นับตั้งแต่ปลายปี 2566 ปฏิบัติการปกป้องเรือสินค้าส่วนใหญ่ย้ายจากช่องแคบฮอร์มุซมายังทะเลแดงตอนใต้และช่องแคบบับเอลมันเดบ ที่เชื่อมช่องแคบกับอ่าวเอเดนและมหาสมุทรอินเดีย

การโจมตีเรือสินค้าเข้าออกทะเลแดงโดยฮูตีในเยเมนกลายเป็นความน่ากังวลมากกว่าช่องแคบฮอร์มุซ กองกำลังในทะเลแดงนำโดยสหรัฐจึงพยายามปกป้องการเดินเรือในพื้นที่นี้

>> ใครพึ่งพาช่องแคบฮอร์มุซมากที่สุด
การส่งออกน้ำมันของซาอุดีอาระเบียส่วนใหญ่ผ่านช่องแคบนี้ แต่ก็สามารถเปลี่ยนไปใช้ท่อส่งความยาว 1,200.5 กิโลเมตรข้ามประเทศไปสู่สถานีน้ำมันในทะเลแดงได้

ยูเออีสามารถเลี่ยงช่องแคบฮอร์มุซได้บ้าง ด้วยการส่งน้ำมัน 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันผ่านท่อส่งจากบ่อน้ำมันของตนไปยังท่าเรือฟูไจราห์ในอ่าวโอมาน

น้ำมันอิรักบางส่วนใช้เรือบรรทุกจากท่าเรือซีฮานของตุรกี แต่ 85% ขนส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซ อิรักจึงต้องพึี่งพาเส้นทางนี้อย่างมาก

คูเวต กาตาร์ และบาห์เรนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้เส้นทางนี้เท่านั้น

>> แนวโน้มราคาน้ำมันหากปิดช่องแคบฮอร์มุซ
ต้นเดือน พ.ย.2566 ไม่กี่สัปดาห์หลังสงครามระหว่างฮามาสกับอิสราเอลปะทุขึ้น เกิดความกังวลกันมากว่าความขัดแย้งจะบานปลาย แบงก์ออฟอเมริการายงานว่า การปิดช่องแคบฮอร์มุซอาจดันราคาน้ำมันไปสูงกว่า 250 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ผู้ติดตามอุตสาหกรรมน้ำมันหลายคนมองว่า การปิดช่องแคบยังไม่น่าจะเป็นไปได้

แอนดี ลิโปว์ ประธาน Lipow Oil Associates กล่าวว่า ผู้ผลิตน้ำมันอย่างซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน อิรัก และคูเวตยังต้องพึ่งพารายได้จากน้ำมันผ่านช่องแคบฮอร์มุซ

โกลด์แมนแซคส์แสดงความคิดเห็นแบบเดียวกัน คณะนักวิเคราะห์นำโดยแดน สตรูว์เยน หัวหน้าฝ่ายวิจัยน้ำมันรายงานไว้เมื่อวันที่ 26 ต.ค.

ต้นทุน ‘ราคาขายปลีกน้ำมัน’ ภายในประเทศไทย มีอะไรบ้าง ❔⛽

ในภาวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยที่สูงขึ้นตามไปด้วย ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า โครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกในแต่ละประเทศ ‘ไม่เหมือนกัน’ 

สำหรับประเทศไทยราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มน้ำมันนั้น ผ่านผู้เกี่ยวข้องถึง 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ ต้นทุนเนื้อน้ำมัน, ภาษี, เงินกองทุน และค่าการตลาด เพราะฉะนั้น ราคาน้ำมัน 1 ลิตร ที่ขายในหน้าปั๊ม จึงประกอบด้วยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังนี้

1. ต้นทุนเนื้อน้ำมัน (40-60%) คือ ต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ผันผวนไปตามราคาน้ำมันในตลาดโลก

2. ภาษี (30-40%) มีการจัดเก็บ ดังนี้

🟠ภาษีสรรพสามิต จัดเก็บโดย กระทรวงการคลัง ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต นำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ

🟠ภาษีเทศบาล จัดเก็บโดย กระทรวงการคลัง ในอัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต มาตรา 150 และจัดส่งให้ กระทรวงมหาดไทย เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น

🟠ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บ 7% ของราคาขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดเก็บอีก 7% ของค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด

3. กองทุน (5-20%) มีการจัดเก็บ ดังนี้

🟠เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน

🟠เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน

4. ค่าการตลาด (10-18%) คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน

ดังนั้น จะเห็นได้ถึงโครงสร้างราคาน้ำมัน 1 ลิตรที่ขายในหน้าปั๊ม มีปัจจัยหลายตัวมาเกี่ยวข้อง เชื่อว่าทุกคนคงอยากใช้น้ำมันในราคาถูกที่สุดอยู่แล้ว แต่ก็ต้องมีความเข้าใจในราคาน้ำมัน และก็ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่มีปัญหาน้ำมันแพง แต่หลาย ๆ ประเทศก็ประสบปัญหานี้ไม่แพ้กัน และด้วยประเทศไทยไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเจอกับความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก 

เพราะฉะนั้น หากเราไม่มีเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองไว้ หากเกิดเหตุการณ์ที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นมาก ๆ เราก็จะไม่มีเงินสำรองเพื่อช่วยรักษาสมดุลของราคาน้ำมันในประเทศ จนอาจทำให้เกิดวิกฤตราคาน้ำมันก็เป็นได้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top