Monday, 6 May 2024
น้ำมัน

OR คิกออฟ!! จำหน่ายน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ที่ ‘พีทีที สเตชั่น’ 226 แห่ง ค่ากำมะถันต่ำกว่า 10 PPM ลดการปล่อยไอเสียและฝุ่นขนาดเล็ก

(1 ธ.ค. 66) นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ ‘OR’ เปิดเผยว่า OR ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และในฐานะผู้บริหารแบรนด์สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น (PTT Station) ซึ่งเป็นผู้นำการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง OR จึงพร้อมสนองนโยบายภาครัฐในการช่วยลดปัญหาดังกล่าว

โดยปรับสูตรน้ำมันดีเซลทุกชนิด น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันเบนซิน พร้อมจ่ายให้สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งสิ้น 226 สถานี ด้วยน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 โดยปรับลดปริมาณกำมะถันให้มีปริมาณกำมะถันต่ำกว่า 10 ppm (หรือต่ำกว่า 10 ส่วนในล้านส่วน) เพื่อจำหน่ายให้ผู้บริโภคตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ก่อนการประกาศใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 5 ที่กระทรวงพลังงานได้กำหนดไว้เป็นวันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นเวลา 1 เดือน รวมทั้งจำหน่ายน้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 นี้ให้กับกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม หน่วยงานราชการ ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซไฮโดรคาร์บอนและออกไซด์ของไนโตรเจน ลดการเกิดฝุ่น PM 2.5 และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตรวจสอบรายชื่อสถานีบริการ พีทีที สเตชั่นที่มีน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ได้ที่เว็บไซต์ www.pttor.com

นอกจากนี้ OR ยังจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเกรดพรีเมียม ‘ซูเปอร์ พาวเวอร์’ (Super Power) น้ำมันเกรดพรีเมียมสูตรที่ดีที่สุดจาก พีทีที สเตชั่น ซึ่งมีทั้งกลุ่มน้ำมันเบนซินและดีเซล เพิ่มสาร Super Booster สูตรพิเศษจากบริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก

โดยน้ำมัน ซูเปอร์พาวเวอร์ ดีเซล บี7 เป็นน้ำมันที่มีความบริสุทธิ์สูง มีกำมะถันต่ำกว่า 10 ppm รับรองด้วยมาตรฐานยูโร 5 และมีค่าซีเทนสูง ช่วยให้การเผาไหม้สมบูรณ์ เครื่องยนต์สะอาดและทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มีจำหน่ายใน พีทีที สเตชั่น กว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.1365 Contact Center

'ปตท.' แจง!! หลังโซเชียลแชร์ปม ลูกค้าเติมน้ำมันได้ไม่เต็ม 5 ลิตร ยัน!! อยู่ในเกณฑ์คู่มือการตรวจสอบฯ ปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิง

จากกรณีผู้ใช้ติ๊กต็อกรายหนึ่งได้เผยคลิป เข้าไปเติมน้ำมันดีเซลที่สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี โดยลูกค้าสังเกตว่าเกจ์วัดน้ำมันไม่ได้ขึ้นตามที่ต้องการ จนทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์บนโลกโซเชียล

ล่าสุด พีพีที สเตชั่น ได้ออกหนังสือชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าว โดยระบุข้อความว่า ตามที่มีการเผยแพร่คลิปทางโซเชียลมีเดีย เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ระบุว่ามีลูกค้ามาเติมน้ำมันดีเซล จำนวน 1,000 บาท ที่สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น และรู้สึกว่าเกจ์วัดน้ำมันรถขึ้นไม่เป็นปกติ จึงแจ้งขอให้ทางสถานีบริการตรวจสอบนั้น จากการตรวจสอบพบว่า

สถานีบริการที่เกิดเหตุคือ สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น สระบุรี โดยลูกค้าได้เข้ามาเติม น้ำมันเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา และรู้สึกว่าเกจ์น้ำมันขึ้นไม่เป็นปกติ จึงขอให้ทางสถานีบริการดำเนินการตรวจสอบตามคลิปที่ปรากฏในโซเชียลมีเดีย โดยเมื่อบีบมือจ่าย 5 ลิตร 2 ครั้ง ได้ปริมาตรน้ำมันขาดไปประมาณ 25-30 มิลลิลิตร (หรือ 0.025 - 0.030 ลิตรต่อปริมาณน้ำมันที่ทดสอบ 5 ลิตร) ซึ่งพนักงานหน้าลานได้ชี้แจงว่ายังเป็นไปตามเกณฑ์ ใน ‘คู่มือการตรวจสอบและให้คำรับรองมาตรวัดปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิง’ ของสำนักงานชั่งตวงวัด ที่กำหนดให้มี ‘อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด’ หรือค่าความคลาดเคลื่อนที่ยอมให้ได้สูงสุดของมาตรวัดนั้น ๆ ในการตรวจสอบระหว่างใช้งานสำหรับเชื้อเพลิงปริมาณ 5 ลิตรให้มีความคลาดเคลื่อนบวกลบได้ไม่เกิน 50 มิลลิลิตร (หรือ 0.050 ลิตรต่อน้ำมันที่ทดสอบ 5 ลิตร)

พีทีที สเตชั่น ใครขอชี้แจงว่า มาตรวัดปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิงที่สถานีบริการน้ำมันทุกแห่งต้องผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองจากสำนักงานชั่งตวงวัด กระทรวงพาณิชย์ โดยที่ผู้ค้าน้ำมันไม่สามารถปรับแต่งมาตรวัดเองได้ และสถานีบริการน้ำมันจะต้องดำเนินการตรวจวัดปริมาตรน้ำมัน และนำส่งสำนักงานกลางชั่งตวงวัดเป็นประจำทุกเดือน โดยผลการตรวจวัดปริมาตรน้ำมันของ สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น สระบุรี ล่าสุด ยังคงเป็นไปตามเกณฑ์ที่สำนักงานชั่งตวงวัดกำหนด ทั้งนี้ พีทีที สเตชั่น ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเรื่องดังกล่าว

โดยในวันพรุ่งนี้ (22 ธ.ค. 66) จะประสานงานให้สำนักงานชั่งตวงวัดเข้ามาตรวจสอบและยืนยันว่ามาตรวัดของ พีทีที สเตชั่น เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับผู้บริโภคต่อไป พีทีที สเตชั่น ขอยืนยันว่า เรามุ่งมั่นที่จะส่งมอบสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐานให้แก่ผู้บริโภครวมถึงยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นไปตามหลักกำกับดูแลกิจการที่ดี ตามนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน ของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

กรมควบคุมมลพิษ หนุนใช้ ‘น้ำมันยูโร 5’ เชื่อช่วยลดฝุ่น PM2.5 ได้กว่า 20-24%

(9 ม.ค. 67) นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า พล ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ติดตามการดำเนินงานตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (พื้นที่ที่มีปัญหา/พื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่นละออง) รวมถึงการควบคุมฝุ่นในเมือง สนับสนุนเร่งรัดการจำหน่ายน้ำมันคุณภาพมาตรฐานยูโร 5 ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ 

ทั้งนี้ เพื่อลดมลพิษจากไอเสียรถยนต์โดยเฉพาะฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันในกลุ่มน้ำมันเบนซิน –แก๊สโซฮอล์ และกลุ่มดีเซล ให้เป็นมาตรฐาน ยูโร 5 โดยโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ไทยออยล์ บางจาก พีทีทีจีซี บางจากศรีราชา ไออาร์พีซี  และเอสพีอาร์ซี พร้อมจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567

สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 5 ทั้งกลุ่มน้ำมันเบนซิน – แก๊สโซฮอล์ และกลุ่มดีเซล จะมีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm (10 ส่วนในล้านส่วนโดยน้ำหนัก) ขณะที่มาตรฐานยูโร 4 จะมีกำมะถันไม่เกิน 50 ppm 

โดยน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร5 สามารถใช้ได้กับรถยนต์ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ และไม่ก่อเกิดปัญหาต่อเครื่องยนต์ จากการทดสอบการปล่อยมลพิษโดยห้องปฏิบัติการตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะของกรมควบคุมมลพิษ  รถยนต์มาตรฐานยูโร

และรถยนต์มาตรฐานยูโร 4 ซึ่งมีการใช้งานมากที่สุด เมื่อมาใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 5 จะทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 ลดลงถึง 20 – 24%

ในช่วงนี้มีความกดอากาศสูง สภาพอากาศปิด อัตราการระบายอากาศไม่ดี ทำให้ฝุ่นละอองเกิดการสะสมในบรรยากาศจนอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ซึ่งยานพาหนะเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 หลักในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

‘กรมธุรกิจพลังงาน’ ยัน!! น้ำมันมีเพียงพอใช้ในประเทศ หลัง ‘โรงกลั่นไทยออยล์’ ประกาศหยุดซ่อมบำรุง 13 วัน

เมื่อวานนี้ (17 ม.ค. 67) นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่าจากกรณีหน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 3 ของโรงกลั่นไทยออยล์มีการหยุดซ่อมบำรุง เป็นระยะเวลา 13 วัน ระหว่างวันที่ 16-28 มกราคม 2567 

ทั้งนี้ กรมธุรกิจพลังงานจึงได้ประชุมหารืออย่างต่อเนื่องในวันที่ 16-17 มกราคม 2567 ร่วมกับบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) โรงกลั่นน้ำมันทุกแห่งและผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เพื่อติดตามสถานการณ์ เตรียมมาตรการป้องกันและแก้ไขการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง

โดยพบว่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตน้ำมันอากาศยาน (JETA1)110 ล้านลิตร น้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว 240 ล้านลิตร น้ำมันกลุ่มเบนซิน 60 ล้านลิตร และก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) 15 ล้านกิโลกรัม

อย่างไรก็ดี จากการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวพบว่าไทยออยล์ และผู้ค้าน้ำมันสามารถจัดหาน้ำมันกลุ่มเบนซินน้ำมันอากาศยาน (JET A1)และLPG ได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศโดยไม่มีผลกระทบ 

สำหรับน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว การจัดหาค่อนข้างตึงตัวในช่วงแรกกรมธุรกิจพลังงานจึงได้สั่งการให้ผู้ค้าน้ำมันห้ามส่งออกน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ยกเว้นกรณีจำเป็นตามสัญญาเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วภายในประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการใช้รวมถึงเร่งนำน้ำมันสำรองตามกฎหมายกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ออกมาจำหน่ายได้ในปริมาณไม่เกินกว่า 20% ของปริมาณสำรองตามกฎหมายที่มีหน้าที่ต้องเก็บสำรอง ส่งผลให้มีน้ำมันเพียงพอต่อความต้องการใช้ของประเทศ 

นอกจากนี้ กรมจะติดตามและประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดจึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดการขาดแคลนน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว

‘ก.พลังงาน’ จ่อใช้ ‘กองทุนน้ำมันฯ’ กดราคาเบนซินต่อ หลังมาตรการปรับลดภาษีจะสิ้นสุดลงวันที่ 31 ม.ค.นี้

(26 ม.ค. 67) นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตามที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันกลุ่มเบนซิน ประกอบกับกระทรวงพลังงานได้มีมาตรการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินทุกประเภท ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันลดลงตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 2566 เป็นต้นมา โดยมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ม.ค. 2567 ที่กำลังจะถึงนี้  

ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ประชุมเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าว ทั้งการบริหารจัดการเรื่องราคาโดยคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) และการบริหารจัดการเรื่องปริมาณการจัดหาและการจำหน่ายโดยกรมธุรกิจพลังงาน และสำนักงานพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ มั่นใจแม้สิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว ยังสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน

“มาตรการช่วยกลุ่มเบนซินที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ม.ค.นี้ เป็นไปตามมติ ครม.ที่กระทรวงพลังงานเสนอในการลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ใช้น้ำมันเบนซินในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงพลังงานขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยหลังจากสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.นี้ กระทรวงพลังงานจะใช้กลไกของกองทุนน้ำมันฯ เข้ามาบริหารจัดการเรื่องราคาน้ำมัน เพื่อไม่ให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันตรวจสอบให้มีน้ำมันพร้อมจำหน่ายเต็มที่” นายประเสริฐ กล่าว

‘รมว.พีระพันธุ์’ เล็งแก้ กม. สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศไทยและประชาชน

(7 ก.พ. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซ เพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ โดยมีนางสาวอรพินทร์ เพชรทัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนา และผู้บริหาร พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมประชุม

นายพีระพันธุ์ฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่แปลกที่ประเทศไทยมีการสำรองและควบคุมราคาน้ำมันและก๊าซโดยเอกชนมากว่า 40 ปี และราคาขึ้นลงเหมือนหุ้น ทำให้ไม่มีความมั่นคงด้านพลังงานกับประเทศและประชาชน จากนี้ไป คกก.ชุดนี้จะเร่งศึกษาและเร่งทำงานเพื่อแก้ไขกฎหมายที่เป็นธรรมให้ทุกฝ่าย เช่น เปิดการค้าน้ำมันเสรี การสำรองน้ำมันด้วยน้ำมัน และแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลัง เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศและประชาชน

‘พีระพันธุ์’ ชื่นชม ‘ครูน้อย’ สร้างนวัตกรรมใหม่ด้านพลังงาน เล็งต่อยอดหอกลั่นน้ำมันประจำอำเภอ ลดต้นทุนเกษตรกร

เมื่อไม่นานมานี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เผยว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมา ได้พบกับนายทวีชัย ไกรดวง หรือ ‘ครูน้อย’ ผู้มีความสามารถด้านนวัตกรรม สามารถผลิตสิ่งประดิษฐ์หลายอย่างที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประชาชน ตรงกับนโยบายของตน ที่มุ่งหวังจะลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประชาชนโดยใช้พลังงานทดแทน เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ การประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมเองในประเทศเพื่อลดต้นทุน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานน้ำ 

โดยครูน้อยสามารถผลิตน้ำมันจากยางพาราและขยะพลาสติกจากอุปกรณ์ที่คิดค้นและผลิตขึ้นเองสามารถผลิตน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลชั่วโมงละ 40 ลิตร โดยครูน้อยได้สาธิตการนำน้ำมันที่ผลิตได้ไปใช้กับรถมอเตอร์ไซค์และเครื่องมือทางการเกษตรซึ่งสามารถใช้งานได้ตามปกติ ทำให้นายพีระพันธุ์สนใจผลงานของครูน้อยที่เป็นนวัตกรรมของคนไทยเป็นอย่างมาก

โดยเมื่อ 23 ก.พ. 67 นายพีระพันธุ์ได้เชิญครูน้อยมาหารือเพิ่มเติมที่บ้านพิบูลธรรม เพื่อหาทางต่อยอดนวัตกรรมการผลิตน้ำมันจากยางพาราและขยะพลาสติกของครูน้อย และขอให้ครูน้อยช่วยออกแบบอุปกรณ์เครื่องมือผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงแดด พลังงานลม และพลังงานน้ำ สำหรับใช้ในครัวเรือนและในการเกษตรโดยจะให้เป็นเครื่องต้นแบบของกระทรวงพลังงานที่จะผลิตขายให้ประชาชนและเกษตรกรในราคาถูก

ทั้งนี้ นายทวีชัย ไกรดวง หรือ ครูน้อย ได้นำเสนอแบบการสร้างหอกลั่นน้ำมันที่สามารถผลิตน้ำมันจากยางพาราและขยะพลาสติกได้ถึงชั่วโมงละ 500 ลิตร และอยากจะให้เป็นเครื่องมืออุปกรณ์ประจำแต่ละอำเภอเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันให้แก่ประชาชนและเกษตรกร โดยนายพีระพันธุ์ได้ให้การสนับสนุนและมอบให้นายณอคุณ สิทธิพงษ์ ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีพลังงานเป็นผู้สนับสนุนพัฒนาเรื่องความปลอดภัยของอุปกรณ์และคุณภาพน้ำมันให้ดียิ่งขึ้น 

และมอบให้นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีพลังงานเป็นผู้ประสานงานให้เกิดความคล่องตัวและความรวดเร็วในการดำเนินการ นอกจากนี้นายพีระพันธุ์ได้มอบให้ครูน้อยไปคิดประดิษฐ์แผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอร์รี่ที่จะผลิตขึ้นเองในประเทศเพื่อทำให้ราคาระบบผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์มีราคาถูกลงอีกด้วย 

โดยนายพีระพันธุ์เห็นว่าคนไทยจำนวนมากที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมแต่ขาดโอกาสและการสนับสนุน หากคนเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจังจะสามารถมีสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์และเป็นฝีมือของคนไทยที่น่าภาคภูมิใจ และสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทุกระดับไม่ว่าจะเป็นชาวนา เกษตรกร ชาวประมง หรือประชาชนทั่วไปให้มีทางเลือกในการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน

'โฆษก รมว.พลังงาน' แจง!! 'หม่อมอุ๋ย' ปมนโยบายพลังงานทำลายประเทศ ยัน!! 'อุ้มดีเซล-ลดค่าไฟ' เป็นมาตรการที่ช่วย ปชช.ได้จริงในระยะสั้น

(2 มี.ค. 67) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ โฆษกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ้กส่วนตัว แสดงความเห็นตอบโต้หนังสือเปิดผนึกของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ที่ออกมาแสดงความเป็นห่วงต่อการดำเนินนโยบายพลังงานของรัฐบาล โดยข้อความระบุว่า

เข้าใจว่าท่านรัฐมนตรีไม่ได้ชื่นชอบแนวทาง "จ่ายก่อนคืนทีหลัง" เท่าไหร่นัก แต่เป็นมาตรการเดียวที่ลดความเดือดร้อนประชาชนได้ในระยะสั้น ภายใต้โครงสร้างพลังงานเดิมที่มีอยู่ 

ระยะยาวกระทรวงมีการผลักดัน โซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชน ปลดข้อจำกัดให้ประชาชนมีไฟฟ้าที่พึ่งพาตัวเองได้ ,กฎหมายน้ำมันสำหรับเกษตรกร และผู้มีรายได้ต่ำกำลังร่างกฎหมายกันอยู่ ,รื้อระบบกองทุนน้ำมันที่ทำให้ภาระหนี้ตกอยู่กับรัฐ  

สิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนฉากทัศน์โครงสร้างพลังงานไทย ถาวรแน่นอน

ประเด็น3-4 เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อม ที่ว่ากระทรวงเอาจริงขนาดไหนเกี่ยวกับการลดควันPM2.5

ตอบในฐานะหนึ่งในกรรมาธิการพ.ร.บ. อากาศสะอาด ก็ต้องเรียนว่าทางกระทรวงพลังงานจริงจังมาก ได้ประกาศใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร5 ที่ลดการปล่อยPM2.5ตั้งแต่ต้นม.ค.67 เป็นที่เรียบร้อย 

ส่วนเรื่องราคาที่พรีเมียมขึ้น น่าจะอยู่ในช่วงที่กระทรวงกำลังหารือเจรจากับผู้กลั่นน้ำมัน นอกจากนั้นร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ส่งเสริมเรื่องยานยนต์EV3.5 ลดการใช้รถพลังงานสันดาบ และส่งเสริม Utility Green Tariff ไฟฟ้าสีเขียวให้ใช้แพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมไทยเป็นที่เรียบร้อย 

อย่าตัดสินว่าลดราคาน้ำมัน แล้วจะไม่จริงจังปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะคนละส่วน

ประเด็นข้อ5 เรื่องสูตรราคาPool Gas 

พูดว่าพูลแก๊ส(ราคาก๊าซเฉลี่ย+นำเข้า) คนส่วนใหญ่ไม่คุ้นชินนัก ต้องบอกประชาชนผู้ใช้พลังงานทุกท่านว่า สูตรที่รัฐมนตรีพีระพันธุ์ ได้ปรับผ่านมติเห็นชอบจากกกพ. เมื่อปลาย ธ.ค. 66 ได้สร้างประโยชน์กับประชาชนผู้ใช้ไฟทั้งประเทศมหาศาล เพราะการนำเอาโควต้าก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยราคาถูก ที่เคยให้กับบริษัทปิโตรเคมีเอกชน ไปให้การใช้กับก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนก่อน เอกชนจะต้องไปซื้อราคาPool Gasแพงขึ้น แต่ราคาต้นทุนผลิตไฟฟ้าคนไทยถูกลงถาวร 18สตางค์/หน่วย

หากคิดถึงคนทั้งชาติ กับทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย เรื่องนี้ยกประโยชน์ให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง ดีกว่าเอื้อเอกชนรายใหญ่ไม่กี่ราย จึงไม่ควรต้องปรับเปลี่ยนสูตรกลับไป

"เข้าใจว่าทั้ง 3 ท่านต่างมีเจตนาดีต่อการบริหารงานประเทศ เข้าใจว่าทางรัฐมนตรีและกระทรวงพลังงาน ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ สร้างผลงานให้โครงสร้างพลังงานเป็นธรรม-ยั่งยืน-มั่นคง ให้เป็นที่ประจักษ์ ครับ

รายงานข่าวระบุว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและรายละเอียดเพื่อเตรียมชี้แจงข้อเท็จจริง และทำความเข้าใจกรณีต่างๆ ของหนังสือเปิดผนึกอย่างเป็นทางการในที่ 4 มี.ค.2567

'รสนา' สงสัย!! จดหมายเปิดผนึกของผู้ใหญ่ 3 ท่านถึงนายกฯ สงสัยห่วงใยประชาชน หรือห่วงใยผลประโยชน์ของใครกันแน่

(5 มี.ค. 67) นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ดิฉันออกจะผิดหวังกับข้อเสนอของผู้หลักผู้ใหญ่ 3 ท่านที่เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงท่านนายกรัฐมนตรี อ้างความห่วงใยในความเสียหายทางเศรษฐกิจของชาติที่เกิดจากนโยบายพลังงานของรัฐบาลจำนวน 5 ข้อ 

โดยภาพรวมของประเด็นความห่วงใยของพวกท่าน ล้วนเป็นความห่วงใยต่อผลประโยชน์ที่จะกระทบทุนพลังงานเป็นหลัก มิได้ห่วงใยประชาชนที่ต้องแบกรับราคาน้ำมันแพง ค่าไฟแพงและค่าก๊าซหุงต้มที่แพงเกินสมควรตลอดมา ใช่หรือไม่

ข้อที่ 1) ท่านห่วงกรณีเรื่องกองทุนน้ำมันติดลบเพราะรัฐบาลนำไปตรึงราคาดีเซล และลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 1บาท/ลิตรในผู้ใช้เบนซิน เพื่อลดภาระบนหลังของผู้ใช้เบนซินลงบ้าง แต่พวกท่านไม่เห็นด้วย โดยอ้าง 'ตรรกะดึกดำบรรพ์' ที่ว่า น้ำมันราคาถูก จะทำให้ประชาชนไม่ประหยัด ซึ่งเข้าทางตลาดโลกของผู้ประกอบการ ที่หาทางล้วงส่วนต่างค่าน้ำมันที่มีราคาลดลงตามตลาดโลก แต่ไม่ลดให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย โยกไปไว้ในค่าการตลาดบ้าง ย้ายไปไว้ในน้ำมันเอทานอลให้แพงขึ้นโดยไร้การตรวจสอบ จะได้ไม่ต้องลดราคาน้ำมันให้ประชาชน ตามราคาตลาดโลก ด้วยข้ออ้าง น้ำมันแพง ประชาชนจะได้ประหยัด ใช่หรือไม่ !?! 

ดิฉันขอย้ำว่ากองทุนน้ำมันตามกฎหมายคือ เงินที่ประชาชนสะสมไว้ช่วยเหลือตัวเองในยามราคาน้ำมันแพงจากตลาดโลก แต่ปัจจุบันน้ำมันแพงไม่ได้มาจากราคาตลาดโลก แต่มาจากกลไกบวกเพิ่มของผู้ประกอบการ ทั้งค่าการตลาด ราคาน้ำมันชีวภาพ และรวมถึงค่าการ กลั่นด้วย โดยมีกองทุนฯ เป็นเงินประกันกำไรให้ผู้ประกอบการ ใช่หรือไม่

ถ้าพวกท่านห่วงใยประชาชน ไม่อยากเอากองทุนน้ำมันมาตรึงราคาดีเซล ก็ควรเสนอให้ตัดน้ำมันไบโอดีเซลที่เติมในดีเซล 7% ออกไปทำให้ลดราคาน้ำมันลงได้ 2.42 บาท/ลิตร สามารถคงราคาดีเซล 30 บาทโดยไม่ต้องขึ้นราคาดีเซลเป็น 32 บาท ให้เป็นภาระแก่ประชาชน

ราคาน้ำมันลดลงได้อีกถ้าให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันลดกำไรส่วนเกินของตนเองลงไปบ้าง เหมือนสมัยที่ปตท.ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ เวลาค่าการกลั่นพุ่งสูงขึ้นตามความผันผวนตลาดโลก กพช.ก่อนยุคปตท.ถูกแปรรูป เคยมีมติ (การประชุมครั้งที่ 8/2543) ว่า "ในช่วงที่ภาวะตลาดน้ำมันผิดปกติ ทำให้ค่าการกลั่นมีความผันผวนมาก ให้ ปตท.และโรงกลั่นไทยออยล์ ใช้หลักการบริหารค่าการกลั่นและค่าการตลาด โดยนำส่วนลดค่าการกลั่นมาช่วยตรึงหรือลดราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงมิให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นการบริหารความผันผวนของตลาด" โดยไม่ได้ใช้กองทุนน้ำมันมารับภาระชดเชยค่าน้ำมันแพงตลอดเวลา ผู้ประกอบการมีส่วนช่วยด้วย แต่ปัจจุบันล้วนแต่เงินกองทุนน้ำมันที่เป็นเงินประชาชน ผู้ประกอบการรับแต่กำไร ใช่หรือไม่

ช่วงปี 2566 ที่โรงกลั่นได้กำไรอู้ฟู่จากค่าการกลั่นที่ผันผวนในตลาดโลก กพช.และนายกฯ ในรัฐบาลก่อนไม่หือ ไม่อือ ทั้งที่ควรใช้เครื่องมือของกระทรวงการคลังเก็บภาษีลาภลอยจากโรงกลั่นน้ำมันมาชดเชยให้น้ำมันถูกลง แต่รัฐบาลก็ปล่อยให้โรงกลั่นได้กำไรค่าการกลั่นสูงถึงลิตรละ 8 - 11 บาท ทั้งที่ค่าการกลั่นบวกกำไรในเวลาปกติ ลิตรละ 1.50 บาทก็ใช้ได้แล้ว พวกท่านก็ไม่เคยออกมาเรียกร้องสักแอะให้ประชาชนเลย ใช่หรือไม่ 

ประชาชนคงออกมาแซ่ซ้องสรรเสริญท่าน ถ้าท่านจะแนะนำท่านนายกฯ ให้รัฐบาลยกเลิกการคิดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นที่บวกต้นทุนเทียมเสมือนนำเข้าจากสิงคโปร์ (Import Parity) ทั้งที่น้ำมันสำเร็จรูปกลั่นในประเทศไทย 100% ในอดีตรัฐบาลเคยให้แรงจูงใจโรงกลั่นสมัยแรกตั้งโรงกลั่น เพื่อให้มีกำไรมากขึ้นในช่วงเริ่มกิจการ แต่นั่นมันก็เป็นเวลาเกือบ 30 ปีมาแล้ว ปัจจุบันควรยกเลิกแรงจูงใจนี้ได้แล้ว จะได้ลดภาระบนหลังของประชาชนลงบ้าง ท่านก็ไม่เรียกร้องให้ประชาชนบ้างเลย ใช่หรือไม่ 

แม้ บมจ.ปตท.เป็นบริษัทเอกชนมหาชน แต่รัฐถือหุ้นเกิน 51% รัฐบาลสามารถสั่งการ บมจ.ปตท.ให้ควบคุมค่าการกลั่น ค่าการตลาดที่เหมาะสมตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่ดีเซลลิตรละ 1.50 บาท และเบนซินลิตรละ 2 บาท ก็จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงได้ลิตรละ 2-3 บาทโดยไม่ต้องไปล้วงกองทุนน้ำมันเลยก็ได้ ใช่หรือไม่

ข้อที่ 2) ท่านวิจารณ์การลดค่าไฟ โดยการให้ กฟผ. ยืดหนี้ เป็นวิธีแก้ที่จะสร้างภาระหมักหมมหนี้ในอนาคต ข้อนี้ดิฉันเห็นด้วย 

การแก้ปัญหาค่าไฟแพงสำหรับประชาชน ไม่ควรต้องให้ กฟผ.มาแบกรับภาระหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องชั่วคราว ท่านก็ควรเสนอวิธีแก้ปัญหาระยะยาวที่ต้นเหตุคือให้รัฐบาลหยุดทำสัญญาซื้อไฟเพิ่มจากเอกชน เพราะปัจจุบันเรามีสำรองไฟฟ้าเกินมาตรฐานมากกว่า 50% แล้ว ทั้งที่ควรมีสำรองไว้แค่ 15% ตามหลักเกณฑ์ทึ่เหมาะสม ประเด็นนี้ต่างหากที่เป็นสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ค่าไฟแพง เพราะการสำรองไฟมากเกินไป อุ้มเอกชนมากเกินไป โดยจ่ายค่าความพร้อมจ่ายตลอดอายุสัญญา 25 ปีให้เอกชน จึงควรเสนอรัฐบาลเจรจาเอกชนที่ได้กำไรคุ้มทุนแล้ว ลดค่าความพร้อมจ่ายลง 

นอกจากนี้ควรสนับสนุนรัฐบาลให้รีบเปิดทางให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์บนหลังคาผลิตไฟลดค่าใช้จ่ายซึ่งรัฐบาลไม่ต้องเอาภาษีมาลดค่าไฟให้ รัฐบาลแค่ลดอุปสรรคให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์บนหลังคาได้สะดวก อนุมัติให้ใช้วิธีหักลบหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ กับไฟฟ้าที่ใช้ จ่ายเงินส่วนเกินที่ใช้ไฟจากการไฟฟ้า เรียกว่าระบบ Net Metering เพียงแค่นี้ประชาชนก็ลดภาระได้มากโขแล้วโดยรัฐบาลไม่ต้องเอาภาษีมาลดค่าไฟให้ 

ท่านควรสนับสนุนนายกเศรษฐาให้รีบปฏิบัติตามมติ ครม.สมัยที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรีที่ให้ใช้ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า ควรเร่งรัดรัฐบาลให้ช่วยลดค่าไฟประชาชนด้วยวิธีนี้ ก็จะลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าให้ประชาชนอย่างเป็นจริง ดีกว่าการบีบให้กฟผ.ชะลอหนี้สินออกไปเพื่อลดค่าไฟให้ประชาชนแบบชั่วคราว ใช่หรือไม่

ข้อ 3 และ ข้อ 4 ที่ท่านผู้ใหญ่แสดงความกังวลห่วงใยคุณภาพอากาศของประเทศ แต่มาสรุปท้ายให้รัฐบาลอนุมัติโรงกลั่น 6 โรงที่ปรับปรุงคุณภาพน้ำมันจากยูโร 4 เป็นยูโร 5 สามารถขึ้นราคาน้ำมันได้นั้น

เป็นข้อเสนอที่ทำให้ผู้ฟังสะดุดกึก และทำให้ประชาชนอดคลางแคลงใจไม่ได้ว่า เพราะเหตุใด พวกท่านยอมใช้เครดิตตำแหน่งฐานะทางสังคมมาทวงเงินแทนโรงกลั่นเหล่านี้!? หรือท่านถือหุ้น? รับทุน? หรือเป็นกรรมการ ฯลฯ ในบริษัทเหล่านี้หรือไม่ อย่างใด !?

ในเมื่อพวกท่านเป็นห่วงคุณภาพอากาศจากคุณภาพน้ำมัน ดิฉันก็อยากให้ท่านช่วยสอบถามบริษัทพลังงานที่ขายก๊าซ NGV ว่าปัจจุบันยังเติมก๊าซ CO2 สูงถึง 18% ในก๊าซ NGV อยู่อีกหรือเปล่า? 

สมัยที่ดิฉันเป็นสมาชิกวุฒิสภา (พ.ศ 2551-2557) เคยตรวจสอบเรื่องการเติม CO2 ในก๊าซรถยนต์ NGV 18% โดยมีข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพลังงาน อ้างว่าก๊าซในอ่าวไทยแต่ละแหล่งมี CO2 สูงต่ำไม่เท่ากันตั้งแต่ 14-16 % และก๊าซบนบกมี CO2 ต่ำประมาณ 2-3% เพื่อไม่ให้ค่าความร้อนแตกต่างเกินไป เลยปรับให้เท่ากัน ด้วยการเติม CO2 ลงไป 18% เพื่อไม่ให้เครื่องยนต์มีปัญหา หรือเกิดการน็อก แทนที่จะใช้เทคโนโลยีเอา CO2 ออกจากก๊าซในทะเลออกไป ผู้บริหารในกระทรวงบอกกรรมาธิการว่า ที่ทำแบบนี้เพื่อให้ธุรกิจพอจะอยู่ได้ ?!!!? 

นี่ก็ผ่านมาหลายปีแล้ว ฝากท่านผู้ใหญ่ช่วยถามว่า ยังใส่ก๊าซขยะ 18% อยู่หรือเปล่า มาตรฐานต่างประเทศให้มี CO2 ในก๊าซ NGV ได้ไม่เกิน 3% และต้องลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือไม่เกิน 1% แต่บริษัทพลังงานของไทยเติม CO2 ถึง 18% โดยกระทรวงพลังงานอนุญาต ดูแล้วก็มีความลักลั่นกับแนวทางปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเป็นยูโร 5 หรือไม่?

การเติม Co2 18% นอกจากเอาเปรียบผู้ใช้ ที่จ่ายเงินซื้อก๊าซ NGV 100% แต่ได้เนื้อก๊าซไม่ถึง 100% เพราะคนขายใส่ก๊าซขยะมาให้ 18% และก๊าซขยะพวกนั้นถูกปล่อยเป็นก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลในแต่ละปีที่ทำให้โลกร้อน ดิฉันไม่ทราบว่าท่านผู้ใหญ่เหล่านี้ ทราบหรือไม่ และผู้กำกับดูแล ได้แก้ไขแล้วหรือยัง?

ประชาชนอดสงสัยมิได้ว่า การปรับปรุงคุณภาพทั้งที่เลวลง (กรณีเติม CO2 ใน NGV) และที่อ้างว่าดีขึ้น เช่นการปรับคุณภาพเป็นยูโร 5 เป้าประสงค์หลักคือการทำกำไรของผู้ประกอบการ ใช่หรือไม่?

และการปรับน้ำมันเป็นยูโร 5 เป็นวิธีการกีดกันทางการค้าหรือไม่ เป็นการกีดกันน้ำมันราคาถูกจากที่อื่นด้วยหรือไม่?

ข้อที่ 5) ท่านอ้างว่า “ตั้งแต่ต้นปี 2567 กระทรวงพลังงานใช้กลเม็ดการคิดเลขในการหาต้นทุนที่ต่ำลงสำหรับก๊าซใน Pool Gas ที่ใช้สำหรับผลิตไฟฟ้า โดยมิได้เป็นการจัดหาและนำก๊าซต้นทุนต่ำมาเพิ่มเติมใน Pool Gas โดยนำราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (ซึ่งมีราคาต่ำกว่าราคาก๊าซจากพม่าและก๊าซ LNG) ส่วนที่เคยส่งเป็นวัตถุดิบ ไปเข้าโรงแยกก๊าซเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์คืออีเทนและโพรเพนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เอามารวมคำนวณเป็นราคาใน Pool Gas เพื่อให้ได้ราคาเฉลี่ยสำหรับการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำลง ผลที่ตามมาก็คือราคาของก๊าซส่วนที่แยกไปใช้ผลิตเป็นวัตถุดิบในโรงแยกก๊าซ (GSP) เพิ่มสูงขึ้นทันที อันส่งผลต่อการทำผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง และทำให้ต้นทุนวัตถุดิบของปิโตรเคมีทั้งระบบเพิ่มขึ้น” นั้น

ดิฉันผิดหวังจริง ๆ ที่ท่านเห็นว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยควรจะเป็นอภิสิทธิ์ของบริษัทปิโตรเคมีที่เป็นบริษัทลูกของ บมจ.ปตท.ได้ใช้ก๊าซในราคาถูกเท่านั้น แล้วประชาชนทั้งประเทศล่ะ ท่านไม่คิดถึงเลยหรือ?

ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นทรัพยากรของชาติ ประชาชนควรได้ใช้ในการดำรงชีพด้วยราคาในประเทศ ส่วนบริษัทปิโตรเคมีเอกชน ควรไปแข่งขันตามกลไกตลาดเสรี การใช้แต้มต่อต้นทุนก๊าซราคาถูกเพื่อทำกำไร แต่ผลักประชาชนไปใช้ก๊าซหุงต้มราคาแพงตามราคาตลาดโลก เเล้วเอากองทุนมาชดเชย เป็นหนี้สินวน ๆ กันไป ไม่มีวันจบ เป็นการแย่งชิงทรัพยากรของประชาชนไปทำกำไรให้กลุ่มทุน

แทนการล้วงเงินจากกระเป๋าประชาชนไปใส่กองทุนน้ำมันเพื่อชดเชยราคาก๊าซหุงต้มราคาตลาดโลก การขายทรัพยากรก๊าซชั้นดีที่เป็นไม้สัก ควรได้ราคาไม้สัก จะได้นำกำไรจากการขายไม้สัก หรือก๊าซชั้นดีมาชดเชยราคาให้ประชาชน เพราะที่แล้วมาการใช้เงินจากกระเป๋าประชาชนในกองทุนน้ำมันมาชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม วิธีแบบนั้นไม่ใช่การชดเชยราคา แต่เป็นวิธีหลอกขายก๊าซหุงต้มให้ประชาชนแบบผ่อนส่งราคาเพื่ออำพรางกำไรที่ฉกฉวยจากทรัพยากรก๊าซในประเทศไว้ในมือของคนฝ่ายเดียว ใช่หรือไม่

ด้วยวิธีนี้จะเป็นการจัดสรรทรัพยากรก๊าซในอ่าวไทยที่มีความเป็นธรรมต่อประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน ส่วนบริษัทเอกชนก็ขอให้ท่านใช้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดเสรีที่ท่านมักพร่ำพูดอยู่เสมอว่าราคาพลังงานในประเทศเป็นไปตามกลไกตลาดเสรี 

การสร้างสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ไม่ใช่มาจากบริษัทเอกชนเท่านั้น แต่มาจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ที่เป็นการบริโภคภายในประเทศของประชาชน ซึ่งมีมูลค่าถึงครึ่งหนึ่งคือ 50% ของ GDP เลยทีเดียว การทำให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น ด้วยการลดกำไรส่วนเกินที่ทำให้ราคาพลังงานไม่สูงเกินจริงลงไป จะเป็นการช่วยเศรษฐกิจของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน 

จึงขอให้ท่านผู้ใหญ่ของบ้านเมืองนี้ และท่านนายกรัฐมนตรีช่วยพิจารณาให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนคนเล็กคนน้อยในประเทศนี้ด้วย

ย้อนส่อง!! 'ค่าไฟฟ้า-ก๊าซหุงต้ม-น้ำมัน' ในรอบ 1 ปี ขยับแค่ไหน

ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ‘ค่าไฟฟ้า-ก๊าซหุงต้ม-น้ำมัน’ ในไทยมีการขยับปรับราคาอยู่ตลอดเวลา 

วันนี้ THE STATES TIMES ได้รวบรวมข้อมูลมาไว้ให้แล้ว หากอยากรู้ว่าราคาขยับมาก-น้อยแค่ไหน มาดูกันเลย!! ✨✨


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top