Monday, 6 May 2024
น้ำมัน

'พีระพันธุ์' เร่งสรุปรูปแบบการสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์  สร้างความมั่นคงด้าน 'พลังงาน-ราคาน้ำมัน' เพื่อคนไทยอย่างเป็นธรรม

'พีระพันธุ์ รมว.พลังงาน' เร่งสรุปรูปแบบการสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ เน้นสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันให้ยั่งยืน

เมื่อวานนี้ (12 มี.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ ครั้งที่ 7/2567 ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล 
.
โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละด้าน รวมทั้งผู้บริหารกระทรวงพลังงานร่วมกันดำเนินการออกแบบแนวทางการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ในครั้งนี้

ตลอดระยะเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการพิจารณาประเด็นสำคัญในการวางรูปแบบการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (SPR) เพื่อความมั่นคง และรักษาเสถียรภาพทางด้านราคา โดยคำนึงถึงภาครัฐ, ภาคเอกชน และผลกระทบภาคประชาชนเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นหัวใจของการเปลี่ยนแปลงระบบการสำรองน้ำมันและก๊าซในครั้งนี้

นอกจากนี้ ได้มีการศึกษาการอุดหนุนราคาน้ำมันของประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์, การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางการทหารและประชาชนในประเทศไทย, การปันส่วนน้ำมันในกรณีเกิดการขาดแคลน รวมทั้งหารือแนวทางการบริหารจัดการน้ำมันดิบที่ผลิตในประเทศ เพื่อให้นำมาใช้ประโยชน์ในประเทศให้มากที่สุด เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน แม้จะสามารถผลิตน้ำมันเองได้ แต่ก็เป็นส่วนน้อย

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ปัจจัยสำคัญมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยให้สูงขึ้น 

ดังนั้น การจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซในครั้งนี้ ประชาชนจะมั่นใจได้ว่าจะเป็นการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซที่เป็นธรรมกับประชาชนอย่างแน่นอน และก่อให้เกิดผลดีต่อการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศในอนาคตอย่างยั่งยืน

‘พีระพันธุ์’ ออกประกาศ ‘ผู้ค้าน้ำมัน’ ต้องเปิดเผยข้อมูลต้นทุน  ป้องกันค้ากำไรเกินควร มุ่งสร้างความเป็นธรรม-มั่นคงด้านพลังงาน

(14 มี.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยว่า ตั้งแต่รับตำแหน่งเป็นต้นมาได้เร่งทำงานทุกด้านเพื่อสร้างระบบพลังงานของประเทศขึ้นมาใหม่ตามแนวทางรื้อ ลด ปลด สร้าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เหมาะสม ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และประเทศมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน

ล่าสุด เมื่อวานนี้ (13 มี.ค.67) ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2567 ซึ่งให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป โดยประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 รายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน พร้อมทั้งแจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ยและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส และกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล จะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายใน 7 วัน โดยข้อมูลที่ได้รับมาจะถือเป็นข้อมูลลับของทางราชการและมีการเก็บรักษาเป็นความลับอย่างที่สุด

สำหรับต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งถือเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายด้านการพลังงานที่เหมาะสมนั้น ประกอบด้วย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหมายความรวมถึง น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล และต้นทุนอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าตอบแทนนายหน้า ค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนและโอนเงิน ค่าภาษี อากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นใด ซึ่งผู้ประกอบการได้บันทึกบัญชีและมีหน้าที่ต้องชำระ โดยคำนวณเฉลี่ยเป็นหน่วยต่อลิตรในแต่ละรายไตรมาสของปีบัญชี 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศ เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับกำหนดนโยบายด้านพลังงานให้เหมาะสมเพื่อให้น้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศมีราคาจำหน่ายที่ยุติธรรมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประชาชนได้รับการคุ้มครองไม่ให้มีการค้ากำไรเกินสมควรในการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และผู้ประกอบธุรกิจทุกประเภทและทุกระดับมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลเพิ่มมากขึ้น

“คงจำได้ว่าเมื่อรับตำแหน่งใหม่ๆ ผมพยายามที่จะหาว่าต้นทุนพลังงานแต่ละชนิดคืออะไร ราคาที่ขายให้ประชาชนมีความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ แต่ไม่ได้รับคำตอบ โดยอ้างว่าเป็นความลับทางการค้าและกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ ผมและทีมงานจึงศึกษาและพบว่าจริงๆ แล้วมีช่องทางในการขอทราบข้อมูลแต่ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน จึงได้ดำเนินการยกร่างออกประกาศเพื่อกำหนดแนวทางและวิธีการให้ภาครัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลต้นทุนได้”

“นโยบาย รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง เป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งผมและข้าราชการกระทรวงพลังงาน ที่ปรึกษาและทีมกฎหมายจากกฤษฎีกาได้ทำงานอย่างหนัก ประชุมและค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาวิธีที่จะทำให้ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมา มีการลดราคาพลังงานทั้ง น้ำมัน ไฟฟ้า ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม แต่ก็เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่นโยบายการรื้อระบบพลังงาน จะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชนอย่างถาวร เมื่อภาครัฐมีข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้านและมีกฎหมายที่ให้อำนาจ ก็สามารถพิจารณาและตรวจสอบต้นทุนเพื่อภาคเอกชนมีกำไรในระดับสมเหตุสมผล ไม่สร้างภาระให้ประชาชนจนเกินกว่าเหตุและสามารถแข่งขันได้ ประเทศก็จะมีความมั่นคงด้านพลังงาน ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งวันนี้ก็ได้เริ่มต้นจากการให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งข้อมูลการนำเข้าและส่งออกน้ำมัน และในอนาคตก็จะเริ่มปรับระบบพลังงานประเภทอื่นๆ ทั้ง ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ต่อไป ผมเชื่อว่า นโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาราคาพลังงานได้อย่างถาวร และผมจะดำเนินการให้สำเร็จให้เร็วที่สุด” นายพีระพันธุ์ กล่าว

มีผลแล้ว!! ‘พีระพันธุ์’ เร่งเครื่องนโยบาย ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ ออกประกาศให้ผู้ค้าน้ำมันแจ้งข้อมูลต้นทุนน้ำมัน

เมื่อวานนี้ (14 มี.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่รับตำแหน่งได้เร่งทำงานทุกด้านเพื่อสร้างระบบพลังงานของประเทศขึ้นมาใหม่ตามแนวทางรื้อ ลด ปลด สร้าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เหมาะสม ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และประเทศมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 ซึ่งให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป โดยประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 รายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน

นอกจากนั้น ต้องแจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ยและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส และกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล จะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายใน 7 วัน โดยข้อมูลที่ได้รับมาจะถือเป็นข้อมูลลับของทางราชการและมีการเก็บรักษาเป็นความลับอย่างที่สุด

สำหรับ ต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งถือเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายด้านการพลังงานที่เหมาะสมนั้น ประกอบด้วย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหมายความรวมถึง น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล และต้นทุนอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าตอบแทนนายหน้า ค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนและโอนเงิน ค่าภาษี อากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นใด ซึ่งผู้ประกอบการได้บันทึกบัญชีและมีหน้าที่ต้องชำระ โดยคำนวณเฉลี่ยเป็นหน่วยต่อลิตรในแต่ละรายไตรมาสของปีบัญชี

รมว.พลังงาน กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศ เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับกำหนดนโยบายด้านพลังงานให้เหมาะสมเพื่อให้น้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศมีราคาจำหน่ายที่ยุติธรรมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประชาชนได้รับการคุ้มครองไม่ให้มีการค้ากำไรเกินสมควรในการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และผู้ประกอบธุรกิจทุกประเภทและทุกระดับมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลเพิ่มมากขึ้น

“คงจำได้ว่าเมื่อรับตำแหน่งใหม่ ๆ ผมพยายามที่จะหาว่าต้นทุนพลังงานแต่ละชนิดคืออะไร ราคาที่ขายให้ประชาชนมีความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ แต่ไม่ได้รับคำตอบ โดยอ้างว่าเป็นความลับทางการค้าและกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ ผมและทีมงานจึงศึกษาและพบว่าจริงๆแล้วมีช่องทางในการขอทราบข้อมูลแต่ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน จึงได้ดำเนินการยกร่างออกประกาศเพื่อกำหนดแนวทางและวิธีการให้ภาครัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลต้นทุนได้” นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า นโยบาย รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง เป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งผมและข้าราชการกระทรวงพลังงาน ที่ปรึกษาและทีมกฎหมายจากกฤษฎีกาได้ทำงานอย่างหนัก ประชุมและค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาวิธีที่จะทำให้ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมา มีการลดราคาพลังงานทั้ง น้ำมัน ไฟฟ้า ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม แต่ก็เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ 

แต่นโยบายการรื้อระบบพลังงาน จะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชนอย่างถาวร เมื่อภาครัฐมีข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้านและมีกฎหมายที่ให้อำนาจ ก็สามารถพิจารณาและตรวจสอบต้นทุนเพื่อภาคเอกชนมีกำไรในระดับสมเหตุสมผล ไม่สร้างภาระให้ประชาชนจนเกินกว่าเหตุและสามารถแข่งขันได้ ประเทศก็จะมีความมั่นคงด้านพลังงาน ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม

“วันนี้ก็ได้เริ่มต้นจากการให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งข้อมูลการนำเข้าและส่งออกน้ำมัน และในอนาคตก็จะเริ่มปรับระบบพลังงานประเภทอื่นๆ ทั้ง ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ต่อไป ผมเชื่อว่า นโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาราคาพลังงานได้อย่างถาวร และผมจะดำเนินการให้สำเร็จให้เร็วที่สุด” นายพีระพันธุ์ กล่าว

‘ห้าดาว’ ร่วมโครงการ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ ผลักดันนวัตกรรมสีเขียว ส่งต่อน้ำมันใช้แล้ว ผลิตเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน

(1 เม.ย.67) ‘ธุรกิจห้าดาว’ (Five Star) ของ บริษัท ซีพีเอฟ เรสเทอรองท์ แอนด์ ฟู้ดเชน จำกัด ผู้นำธุรกิจจุดจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทาน ร่วมสร้างงานสร้างอาชีพให้ผู้ร่วมลงทุน และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องกว่า 5,000 สาขา ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ บนเส้นทางการสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนในไทยมานานกว่า 40 ปี ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในโครงการ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ จากความร่วมมือระหว่าง บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BSGF กับกรมอนามัย ในฐานะที่ห้าดาวเป็นหนึ่งกลุ่มพันธมิตรการค้า ที่มีอุดมการณ์เดียวกันในการนำน้ำมันพืชใช้แล้วไปรีไซเคิล ผลิตเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF เพื่อลดปัญหาสุขภาพ และสร้างความยั่งยืน โดยมี นายธนพันธ์ นามวิริยะโชติ รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาธุรกิจ เป็นผู้แทนห้าดาว นำทีมร่วมงาน

“ปัจจุบันมีร้านห้าดาวและเถ้าแก่ห้าดาว ร่วมโครงการฯ นี้แล้วกว่า 130 สาขาทั่วกรุงเทพฯ และบางสาขาตั้งอยู่ในสถานีบริการน้ำมันบางจากเอง ตั้งเป้าขยายสาขาเข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 5,000 สาขา ทั่วประเทศ ภายในปี 2567 และเดินหน้าเข้าร่วมโครงการ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ ตามเกณฑ์มาตรฐาน MOU การรณรงค์ไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำในครั้งนี้ โดยเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อน CPF ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับทางบางจากในการผลักดันนวัตกรรมสีเขียวและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายธนพันธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม โครงการ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ เป็นการต่อยอดจากโครงการ ‘ทอดไม่ทิ้ง’ ด้วยการรณรงค์ให้ผู้ประกอบการไม่นำน้ำมันใช้แล้วที่เป็นอันตรายกับสุขภาพมาใช้ทอดอาหารซ้ำ หรือ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ เพื่อช่วยขับเคลื่อนและผลักดันด้านอาหารทอดปลอดภัย จากความตระหนักถึงสุขภาพของผู้บริโภค คุณภาพชีวิต รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม จากการกำจัดของเสียอย่างถูกวิธีด้วยการ และช่วยสร้างรายได้เสริมจากการจำหน่ายน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว โดยหลังจาก BSGF รับซื้อน้ำมันใช้แล้ว จะออกใบประกาศนียบัตรให้กับร้านที่จำหน่ายน้ำมันดังกล่าว ว่าเป็นร้านอาหารที่ใช้น้ำมันปรุงอาหารทอดไม่ซ้ำ เพื่อยกระดับมาตรฐานร้านนั้น ๆ โดยการรับรองของกรมอนามัย

สำหรับร้านอาหารที่จะได้รับใบรับรองฯ ต้องผ่าน 3 เกณฑ์สำคัญ ได้แก่ 1. ไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ 2. ขายน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว นำไปผลิตเป็น SAF อย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 6 เดือน 3. ผ่านการตรวจค่าสารโพลาร์ (Polar compounds) โดยมีค่าสารโพลาร์ไม่เกินร้อยละ 25 ของน้ำหนักน้ำมันตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ทั้งนี้ การลงนาม MOU โครงการ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ มีนายธรรมรัตน์ ประยูรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน BSGF ร่วมลงนามกับ แพทย์หญิงอัจฉรา ปวะบุตร นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย ภายในงานห้าดาวนำผลิตภัณฑ์ไก่จ๊อห้าดาวที่ปรุงโดยใช้น้ำมันปรุงอาหารแบบทอดไม่ซ้ำไปร่วมออกบูธด้วย

‘PTT Station’ เตรียมพร้อมรับเทศกาลสงกรานต์ จะไม่ปรับขึ้นราคาน้ำมัน 12-17 เม.ย. ยาว 6 วัน

(3 เม.ย. 67) พีทีที สเตชั่น จะไม่ปรับขึ้นราคาน้ำมันทุกชนิดระหว่างวันที่ 12-17 เม.ย. 67 รวม 6 วัน และหากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงก็จะปรับราคาน้ำมันลงตาม อีกทั้งเตรียมความพร้อมให้ พีทีที สเตชั่น ทุกแห่งให้มีน้ำมันเพียงพอในช่วงเทศกาล และเป็นจุดแวะพักระหว่างเดินทาง พร้อมมอบโปรโมชั่นมากมายสำหรับผู้เดินทาง ที่ใช้บริการที่สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น

ด้าน นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า OR ได้เตรียมความพร้อมเพื่อต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง  รองรับการเดินทางท่องเที่ยว และการเดินทางกลับภูมิลำเนาของประชาชน โดยจะไม่ปรับขึ้นราคาน้ำมันเป็นเวลา 6 วัน ระหว่างวันที่ 12-17 เมษายน 2567 ถึงแม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้น เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนและอำนวยความสะดวกผู้บริโภค แต่หากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง OR ก็จะปรับราคาน้ำมันลง ตลอดจนได้สำรองน้ำมันทั้งที่สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น และคลังน้ำมันของ OR ทั่วประเทศให้มีน้ำมันเพียงพอต่อความต้องการ และยังได้จัดให้ พีทีที สเตชั่น เป็นจุดแวะพักที่จะช่วยเติมเต็มความสุขให้ทั้งผู้คน สังคม และชุมชน โดยได้จัดเตรียม ‘จุดช่วยเหลือเพื่อนเดินทาง’ ซึ่งมีทั้งอุปกรณ์ปฐมพยาบาล และอุปกรณ์ช่วยเหลือรถเบื้องต้นเพื่อช่วยเหลือผู้เดินทางได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ OR ยังได้จัดกิจกรรมในช่วงสงกรานต์ 2567 เพื่อเติมเต็มความสุขให้ผู้บริโภค ด้วยโปรโมชั่นพิเศษมากมายสำหรับลูกค้าที่ใช้บริการที่สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น และร้านค้าต่าง ๆ ในเครือ OR  ดังนี้

- สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น มอบโปรโมชั่นพิเศษ ‘เติมเต็มความห่วงใย แจกประกันภัย ฟรี! สงกรานต์’ เติมน้ำมันทุกชนิดตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป รับคูปอง QR Code ท้ายใบเสร็จ เพื่อ Scan ลงทะเบียนรับสิทธิ์ประกันอุบัติเหตุฟรี ความคุ้มครองสูงสุด 100,000 บาท เป็นระยะเวลา 30 วัน นับจากวันที่ลงทะเบียนรับสิทธิ์ (จำกัด 1 คน ต่อ 1 สิทธิ์) ตั้งแต่วันที่ 11 - 18 เมษายน 2567 นอกจากนี้ ยังมีโปรโมชั่น ‘เติมน้ำมัน รับฟรี! น้ำดื่ม ขนาด 600 มล.’ เมื่อเติมน้ำมันเกรดมาตรฐาน XTRA SAVE ทุกชนิด ครบ 500 บาท/ใบเสร็จ และคุ้มยิ่งกว่าเมื่อเติมครบ 900 บาท/ใบเสร็จ รับไปเลย 2 ขวดตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 - 30 เมษายน 2567 และโปรสุดคุ้ม ‘เติมสุข วันศุกร์’ เมื่อเติมน้ำมันเกรดมาตรฐาน XTRA SAVE ทุกชนิดครบ 800 บาทขึ้นไป/ใบเสร็จ  รับคูปองส่วนลดน้ำมัน 20 บาท สำหรับใช้เป็นส่วนลดน้ำมันครั้งถัดไป ทุกวันศุกร์ ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2567 - 26 เมษายน 2567 ณ พีทีที สเตชั่น ทั่วประเทศที่ร่วมรายการ 

- ศูนย์บริการยานยนต์ ฟิต ออโต้ จัดโปรโมชั่นพิเศษ ‘FITต่อรถ ดีต่อคุณ’ มอบสิทธิพิเศษมากมาย เช่น บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง PTT Lubricants ฟรีไส้กรองและค่าแรง เปลี่ยนยางครบ 4 เส้น ฟรี โปรแกรมดูแลยาง FIT Care มูลค่า 4,000 บาท รวมทั้ง ผ่อน 0% นานสูงสุด 10 เดือน เมื่อมียอดซื้อผลิตภัณฑ์หรือใช้บริการขั้นต่ำ 5,000 บาท ที่ FIT Auto ทุกสาขา (เฉพาะธนาคารที่ร่วมรายการ) และโปรโมชั่นอื่น ๆ อีกมากมาย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 - 30 มิถุนายน 2567

- สถานีชาร์จ EV Station PluZ เตรียมจุดให้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั้งในและนอก พีทีที สเตชั่น กว่า 830 แห่ง ครอบคลุมเส้นทางถนนสายหลัก 77 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมมอบโปรโมชันสุดพิเศษ เมื่อเข้าใช้บริการที่ EV Station PluZ และมียอดการใช้งานสะสมครบ 800 บาท 150 ท่านแรกจะได้รับคูปองส่วนลดค่าชาร์จ 100 บาท พร้อมพลัซความสะดวก ด้วยแอปพลิเคชัน ‘EV Station PluZ โดยการจองล่วงหน้า ชาร์จ จ่าย สะดวก’ โดยสามารถจองเพื่อเข้าชาร์จ เริ่ม-หยุดการชาร์จ ชำระเงิน และการตรวจสอบประวัติการใช้งาน ได้ด้วยแอปเดียว พร้อมด้วย Call Center โทร. 02-061-9519 บริการช่วยเหลือตลอด 24 ชม.

- คาเฟ่ อเมซอน จัดโปรโมชั่นพิเศษรับเทศกาลสงกรานต์ ‘Fruit of Summer Combo Set’ เมื่อซื้อเครื่องดื่ม 1 แก้ว (เมนูใดก็ได้) คู่กับเบเกอรี่ที่ร่วมรายการ ได้แก่ ชีสเค้กมะม่วง มาการองมะขาม เค้กโรลลำไย หรือพายสับปะรด จำนวน 1 กล่อง ภายในใบเสร็จเดียวกัน รับทันทีส่วนลด 10 บาท ตั้งแต่วันที่ 10 - 25 เมษายน 2567

'กบน.' ใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ อุ้มราคาดีเซลต่อ แม้สถานะกองทุนติดลบหนักเกินแสนล้านแล้ว

เมื่อวานนี้ (18 เม.ย.67) สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งราคาน้ำมันยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง และยังมีปัจจัยต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบกับราคาน้ำมันได้ โดยเฉพาะความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางกรณีอิหร่าน-อิสราเอลที่อาจปะทุขึ้นอีก ประกอบกับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 1 บาท/ลิตร กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 19 เมษายน 2567 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล สกนช. เห็นว่า เพื่อไม่ให้มาตรการลดภาษีที่สิ้นสุดลงกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลมากนัก จึงจะเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ให้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาช่วยดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนมากจนเกินไปและไม่ให้ราคามีความผันผวนมากจนเกินไปด้วย โดย กบน. จะพิจารณาอัตราการอุดหนุนหรือลดการชดเชยให้เป็นไปตามช่วงเวลาและจังหวะที่เหมาะสม จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงสามารถรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศไม่ให้ผันผวนมากจนเกินไปได้

สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 14 เมษายน 2567 ติดลบ 103,620 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 56,407 ล้านบาท ส่วนบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 47,213 ล้านบาท

'พีระพันธุ์' ลุยรื้อโครงสร้างพลังงาน ดันไอเดียรัฐบาลกำหนดราคาน้ำมันเอง ลั่น!! ตลาดโลกเป็นเรื่องของ 'ผู้ประกอบการ-รัฐบาล' ไม่ควรดึง ปชช.มาร่วมแบก

(21 เม.ย.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ถึงการประกาศราคาน้ำมันที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการเอง ว่า ตนจะทำอย่างนั้น เมื่อไม่สามารถแยกตัวออกจากตลาดโลกได้ แต่สามารถแยกประชาชนออกจากตลาดโลกได้ ตลาดโลกจะเป็นเรื่องของผู้ประกอบการและรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับประชาชน นั่นคือสิ่งที่ตนตั้งเป้าไว้ ซึ่งขณะนี้มีช่องทางในการดำเนินการแล้ว และได้ประชุมอยู่ทุกสัปดาห์ จะดำเนินการได้ในรัฐบาลนี้ในช่วงที่ตนอยู่ในตำแหน่งรมว.พลังงาน

เมื่อถามว่าจะเป็นเรื่องยากหรือไม่เพราะมีกลุ่มนายทุน นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ถึงจะยาก แต่ก็ต้องทำ เพราะไม่มีอะไรง่ายอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายหรือยากแต่เป็นเรื่องที่มีความตั้งใจจะทำ ดังนั้นถ้าเราตั้งใจจะทำ เรื่องยากก็เป็นเรื่องง่าย ถ้าไม่มีความตั้งใจต่อให้ง่ายแค่ไหนก็ทำไม่ได้

เมื่อถามว่าราคาน้ำมันดีเซลจะมีการตรึงราคาที่ลิตรละ 30 บาทหรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นปัญหาของระบบโครงสร้างพลังงานปัจจุบัน ซึ่งตนพูดมาตั้งแต่ตอนแรกที่รับหน้าที่ว่าไม่พอใจกับระบบและโครงสร้างพลังงานเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องแก้ไข แต่ระหว่างที่แก้ไขก็ต้องยอมรับว่าเป็นโครงสร้างเดิมมาถึง 51 ปี และที่ผ่านมา 51 ปีไม่มีใครคิดจะปรับปรุงและแก้ไขเพื่อประชาชน แต่ตนเองจะลงมือทำ และกำลังทำอยู่ ซึ่งจะทำให้ได้

นายพีระพันธุ์ กล่าวถึงการขยายมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 30 บาทให้ประชาชนและผู้ประกอบการหรือไม่ ว่า เดิม ก่อนรัฐบาลชุดนี้ การรักษาระดับราคาน้ำมัน ใช้กลไกหลักอยู่ 2 กลไกล ถือเป็นอำนาจของกองทุนน้ำมัน กลไก 1 คือการกำหนดเพดานภาษีสรรพสามิต และภาษีต่างๆที่จัดเก็บกับน้ำมัน ถือเป็นอำนาจของคณะกรรมการ ไม่ใช่ของกระทรวงการคลัง แต่เมื่อกำหนดเพดานแล้ว คนมีอำนาจเก็บภาษี คือกระทรวงการคลัง

ส่วนกลไกที่ 2 คือ เงินจากกองทุนน้ำมันฯ แต่เงื่อนไขของกฎหมายปัจจุบัน ไปตัดอำนาจการกำหนดเงินเพดานออก เหลือแต่เพียงอำนาจการใช้เงินกองทุน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มาแบกภาระที่เงินกองทุนน้ำมัน ทั้งๆ ที่เดิมเป็นอำนาจของคณะกรรมการที่กำหนดว่าควรจะปรับภาษีสรรพสามิตขึ้นลงเท่าไหร่ เมื่อถูกตัดอำนาจออกไป ทำให้เป็นภาระกองทุนน้ำมันที่ต้องใช้เงินอย่างเดียว และตอนนี้ตนเองก็กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อยู่ และย้ำว่าจำเป็นต้องแก้กฎหมาย ซึ่งขณะนี้กำลังร่างฯโดยไม่ต้องกลัวว่าจะร่างกฎหมายช้า ตนเองเป็นผู้ดำเนินการร่างฯเอง

เมื่อถามว่าต้องรออีกนานหรือไม่ นายพีระพันธุ์กล่าวว่า เมื่อไปถึงขั้นสุดท้ายที่ตนได้วางแนวทางไว้ คือ รัฐบาลมีอำนาจในการกำหนดราคา แต่ก่อนจะไปถึงวันนั้นก็ต้องค่อยๆปรับ เพราะว่าโครงสร้างรูปแบบเดิม เป็นแบบนี้มา 51 ปีแล้ว ซึ่งไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยตนมาเริ่มเปลี่ยน และกำลังเริ่มทำเป็นครั้งแรกในรอบ 51 ปี ที่มีมาตรการให้ผู้ค้าต้องแจ้งต้นทุน ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ทั้งที่ผ่านมาไม่มีใครเคยรู้ต้นทุน รู้แค่เพียงขาดทุนแล้วนำเงินกองทุนฯไปชดเชยกับสิ่งไหน ซึ่งก็ไม่เคยมีใครทำ แต่ตอนนี้ตนเองทำแล้ว นี่คือสิ่งที่พยายามทำให้เห็นว่าพรรครวมไทยสร้างชาติทำงานจริง รื้อสิ่งที่ไม่ดีให้หมด ซึ่งพยายามทำอยู่

ส่องราคาน้ำมัน ในอาเซียน 'เบนซิน-ดีเซล' ใครแพงที่สุด-ถูกที่สุด?

จัดอันดับราคาน้ำมัน 'เบนซิน-ดีเซล' ในอาเซียน ใครแพงที่สุด-ถูกที่สุด? แล้วไทยอยู่ตรงจุดไหน? ✨✨

ข้อควรรู้ : การเก็บข้อมูลราคาน้ำมันในอาเซียน

- แต่ละประเทศสมาชิกมีมาตรการภาษี และระบบการเก็บเงินเข้ากองทุนหรืออุดหนุนราคาพลังงานที่แตกต่างกัน
- หลายประเทศเพื่อนบ้านยังมีการอุดหนุนราคาอยู่
- ไทยสนับสนุนการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ให้การอุดหนุนราคาโดยกองทุนน้ำมันฯ จึงทำให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ถูกกว่าเบนซิน

(หมายเหตุ : ข้อมูลราคาน้ำมันข้างต้น ประเทศไทย อ้างอิงราคาจาก ปตท. และ บางจาก และเป็นราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95, E10 ซึ่งมีสัดส่วนการใช้มากที่สุด)

บทสรุปราคาน้ำมันอาเซียน ใต้ ‘อุณหภูมิโลก-ตะวันออกกลาง’ เดือด ราคาเบนซินไทยเกาะกลุ่มกลางตาราง ส่วนดีเซลราคายังรั้งท้าย

เดือดปุดทั้งอาเซียน สมกับเป็นหน้าร้อนจริง ๆ เมื่อราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเร็วและแรงไปทั่วโลก จากความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ผสานเข้ากับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่พุ่งไม่แพ้กัน จากโลกที่ร้อนเข้าขั้นเดือด เพราะดวงอาทิตย์มาอยู่แถวนี้พอดี ซึ่งโดยรวม ๆ แล้วทั้งโลก และหมายรวมถึงอาเซียนบ้านเรา ก็คงได้รับผลกระทบจากราคาที่ปรับขึ้นนี้ไปตาม ๆ กัน

ว่าแล้ว วันนี้เลยขอถือโอกาสมาเช็กราคาน้ำมันเชิงเปรียบเทียบ เอาแค่ในประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนดูกันสักเล็กน้อย ว่า ณ ตอนนี้ ที่ไหน ถูก- แพง กันบ้าง? เผื่อคนไทยเราจะสบายใจกันขึ้นเล็ก ๆ

อย่างไรก็ตาม อยากให้เข้าใจก่อนว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันถูกหรือแพงนั้น จะขึ้นอยู่กับ…

1. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประเทศไหนสามารถผลิตเองได้ ก็นับว่าโชคดีไป ที่บรรพบุรุษหามาให้เป็นทรัพย์สมบัติ
2. ค่าขนส่งน้ำมัน ถ้าประเทศที่ต้องนำเข้าคงไม่ต่างกันมากนัก แต่ประเทศที่ผลิตเองได้ ก็จะทำให้ค่าขนส่งถูกลง
3. ประเทศที่มีโรงกลั่นน้ำมันเอง ซึ่งในอาเซียน มีอยู่ 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์, ไทย, มาเลเซีย และ เวียดนาม 
4. ภาษีต่าง ๆ ที่ในแต่ละประเทศเรียกเก็บ

ทั้งนี้ หากในส่วนของอาเซียน ก็มีประเทศที่สามารถขุดน้ำมันมาใช้เองได้ โดยแทบไม่ต้องนำเข้าด้วย ได้แก่... 
1. มาเลเซีย
2. บรูไน
3. อินโดนีเซีย

ส่วน ประเทศไทย และ เวียดนาม ผลิตใช้เองได้เล็กน้อย คิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของปริมาณความต้องการเท่านั้น

คราวนี้ ก็ได้เวลาพามาดูราคาน้ำมันสำเร็จรูป ในกลุ่มอาเซียน ที่รายงานอยู่บนเว็บไซต์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 พบว่า…

>> ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน ในสิงคโปร์ แพงที่สุด คือ 80.29 บาทต่อลิตร ตามมาด้วย ลาว 57.57 บาทต่อลิตร, กัมพูชา 48.33 บาทต่อลิตร, เมียนมา 43.32 บาทต่อลิตร, ไทย 40.35 บาทต่อลิตร, ฟิลิปปินส์ 40.23 บาทต่อลิตร, เวียดนาม 36.61 บาทต่อลิตร, อินโดนีเซีย 33.23 บาทต่อลิตร, มาเลเซีย 15.79 บาทต่อลิตร และ บรูไน 14.33 บาทต่อลิตร

>> ส่วนราคาน้ำมันดีเซล แพงสุดก็ยังเป็น สิงคโปร์ 72.99 บาทต่อลิตร, กัมพูชา 45.59 บาทต่อลิตร, เมียนมา 43.32 บาทต่อลิตร, ลาว 36.62 บาทต่อลิตร, ฟิลิปปินส์ 36.61 บาทต่อลิตร, อินโดนีเซีย 35.85 บาทต่อลิตร, เวียดนาม 31.11 บาทต่อลิตร, ไทย 30.94 บาทต่อลิตร, มาเลเซีย 16.56 บาทต่อลิตร และ บรูไน 8.38 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้ ต้องบอกให้ทราบกันก่อนว่า ราคาจากประเทศที่มีเห็นว่าน้ำมันถูกนั้น ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลแต่ละประเทศจะมีการอุดหนุนทั้งสิ้น โดยเฉพาะอินโดนีเซีย มาเลเซียและบรูไน ที่แม้จะเป็นประเทศที่สามารถผลิตน้ำมันใช้เองได้ก็ตาม

แต่จากภาวะสงครามความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้แต่ละประเทศเริ่มอุ้มไม่ไหวแล้ว จะเริ่มลอยตัวราคาน้ำมันตามกลไกตลาดกันแล้ว เพราะการอุ้มนาน ๆ จะทำให้เศรษฐกิจส่วนอื่นไม่รู้ต้นทุนจริง สุดท้ายประเทศจะไม่มีความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

อย่างเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายราฟิซี รามลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจมาเลเซีย ก็ได้ออกมาระบุว่า มาเลเซียเตรียม ‘ลดการอุดหนุน’ ราคาน้ำมันเบนซินในปีนี้ เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งสาเหตุที่รัฐบาลมาเลเซีย เตรียมลดการอุ้มราคาน้ำมันนั้น เป็นเพราะผลจากการอุ้ม ทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณประเทศที่มีตัวเลขพุ่งไปแตะ 5% ของ GDP ในปี 2566 จนกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน และไม่เพียงเท่านั้น ยังส่งผลให้สกุลเงินริงกิตของมาเลเซียใกล้แตะระดับต่ำสุดในรอบ 26 ปี ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินในเอเชียเมื่อปี 2541 อีกด้วย

ดังนั้น รัฐบาลมาเลเซีย จึงตั้งเป้าหมายในปีนี้ว่า จะลดภาวะขาดดุลงบประมาณจาก 5% ของ GDP ลงเหลือ 4.3% ของ GDP โดยเริ่มจากลดการอุดหนุนน้ำมันเบนซิน RON95 ซึ่งเป็นประเภทเบนซินราคาถูกที่สุด และชาวมาเลเซียใช้มากที่สุดด้วย โดยในปีที่แล้วรัฐบาลใช้งบประมาณไปกับการอุดหนุนเหล่านี้มากถึง 81,000 ล้านริงกิต หรือราว 622,000 ล้านบาท

*** ขนาดประเทศที่ผลิตน้ำมันใช้ได้เองอย่างมาเลเซียยังวิกฤต ก็เลยไม่อยากให้คิดว่าเมืองไทยไม่ทำอะไร ปล่อยแพงเอา ๆ

เพราะถ้าลองหันกลับมาดูประเทศไทยเราดี ๆ จะพบว่าราคาน้ำมันของไทย อยู่ในระดับกลาง ๆ ค่อนไปทางราคาถูกด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล เพราะมีการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเข้าไปอุ้มอยู่ แต่ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป หรืออุ้มน้ำมันดีเซลนาน ๆ ประเทศก็จะสูญเสียการแข่งขันเช่นกัน 

เนื่องจากตอนนี้ กองทุนน้ำมันบ้านเรา ได้เข้าอุ้มน้ำมันดีเซลอย่างเดียวก็ร่วม 60,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งถ้าจะให้พูดเชิงสำนึกกันสักหน่อย ก็น่าจะหมายถึงว่า “เวลาที่ภาคประชาชนต้องช่วยกันประหยัดน้ำมันกัน มันมาถึงแล้ว” เพราะต้องตระหนักรู้ด้วยว่า ประชาชนทุกคนที่ไม่ได้ใช้น้ำมันดีเซลก็มีเยอะ และเขาก็ต้องมาช่วยอุ้มน้ำมันดีเซลด้วยเช่นกันในตอนนี้

อย่างไรก็ดี ยังมีอีกสาเหตุที่ประเทศไทย ราคาน้ำมันไม่แพงพุ่งกระฉูด เพราะเรามีโรงกลั่นน้ำมันของเราเอง อยู่ที่จังหวัดระยอง, ชลบุรี และกรุงเทพฯ ที่มีความสามารถในการกลั่นเองมาใช้เองภายในประเทศได้หมด แถมส่งออกได้อีกต่างหาก เรียกว่าประเทศไทยแทบไม่ต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป แต่ทว่าก็ยังต้องนำเข้าน้ำมันดิบอยู่

อีกเรื่องที่จะมองข้ามไม่ได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้ราคาน้ำมันพุ่งหรือไม่ คือ สงครามในภูมิภาคตะวันออกกลาง อันมีจุดเริ่มต้นจาก ‘อิสราเอล’ กับ ‘กลุ่มฮามาส’ ที่กำลังลุกลามยกระดับไปเป็น ‘อิสราเอล’ กับ ‘อิหร่าน’ แล้วนั่นเอง!!

ทำไมต้องจับตามอง? เพราะนอกจากจะส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบพุ่งแล้ว โดยภูมิศาสตร์ภูมิภาคแถบนั้น การขนส่งน้ำมัน 30 %ของโลกต้องผ่านช่องแคบฮอร์มุซ ของอิหร่านทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าเกิดสงครามลุกลามขึ้นมา แล้วอิหร่านคิดจะกดดันด้วยการปิดช่องแคบฮอร์มุซแบบเบ็ดเสร็จ ก็ต้องมีการขนอ้อมไปทางอื่น ซึ่งจะทำให้ค่าขนส่งพุ่งกระฉูดอีกทางหนึ่ง เมื่อถึงตอนนั้นคงไม่ต้องคิดว่าคนไทยและชาวโลกจะเดือดร้อนขนาดไหน

อย่างไรก็ตาม เห็นข่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กำลังเร่งจัดทำระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SPR เพื่อสำรองน้ำมัน เตรียมไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เป็นเวลา 90 วัน ซึ่งจะทำให้ราคาในประเทศไม่ผันผวนตามตลาดโลกแม้มีภาวะสงคราม ซึ่งเรื่องนี้อยากให้ได้รับความสนใจจากทุกหน้าสื่อสักหน่อย 

ส่วน THE STATES TIMES เองก็สนใจเรื่องนี้พอสมควร ไว้ขอไปศึกษาและคราวหน้าจะเอารายละเอียดมาฝาก...

เรื่อง: กองบรรณาธิการ THE STATES TIMES

ทำไม? น้ำมันในไทยถึง ‘แพง’

เคยสงสัยไหม ทำไมราคา ‘น้ำมัน’ ในไทยถึง ‘แพง’ วันนี้ THE STATES TIMES มีคำตอบ!!

เหตุที่ทำให้น้ำมันในไทยมีราคาแพง มี 4 ปัจจัย ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ค่าขนส่ง ภาษีต่าง ๆ ที่แต่ละประเทศเรียกเก็บ และ ค่าการกลั่น นั่นเอง

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ ‘ไทย’ ที่เจอปัญหาน้ำมันแพง แต่หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกก็เจอปัญหานี้เช่นกัน อีกทั้งประเทศไทยไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตน้ำมัน จึงไม่อาจเลี่ยงความผันผวนในตลาดโลก ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ยากจะควบคุม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top