Wednesday, 8 May 2024
จัดตั้งรัฐบาล

8 พรรครัฐบาลลงนาม ‘เอ็มโอยู’ 23 ข้อ 5 แนวทางปฏิบัติร่วมกัน เร่งร่างรัฐธรรมนูญ นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ไร้มาตรา 112

(22 พ.ค. 66) ที่ห้องบอลรูม โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรค แถลงข่าวการลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลว่า วันนี้แถลงบันทึกความเข้าใจร่วมกันการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งวันนี้ 22 พ.ค.เป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ครบรอบรัฐประหาร 2557 เป็นวันที่พวกเราเซ็นบันทึก เป็นหมุดหมายที่ดี สะท้อนความสำเร็จของสังคมไทย สามารถเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภาอย่างสันติ

จุดประสงค์การทำเอ็มโอยูเพื่อรวบรวมวาระร่วมที่เราเห็นตรงกันและพร้อมผลักดันผ่านกลไกของรัฐบาลและรัฐสภา และเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของพรรคร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล

นายพิธา อ่านเนื้อหาบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อสร้างพื้นฐานในการจัดตั้งรัฐบาลและการทำงานร่วมกัน ของ 8 พรรค

ทุกพรรคเห็นร่วมกันว่าภารกิจของรัฐบาลที่จะผลักดันนั้น ไม่กระทบรูปแบบของรัฐ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดไม่ได้ขององค์พระมหากษัตริย์ ดังนี้

1.) ฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

2.) ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการของศาสนาที่ตนเองนับถือ

3.) ผลักดันการปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม ให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย โดยยึดหลักความโปร่งใส ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน

4.) เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ ทั้งนี้ยังคงไว้ซึ่งการเกณฑ์ทหารหากมีศึกสงคราม

5.) ร่วมผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงทบทวนภารกิจของหน่วยงานและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง

6.) ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ปราศจากการทุจริต

7.) แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน

8.) ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม

9.) ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัด ลด หรือพักใช้ชั่วคราวซึ่งใบอนุมัติ อนุญาตที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้กับ SME พร้อมกับมุ่งเน้นการเติบโต GDP ของ SME สนับสนุนอุตสาหกรรม และสินค้าไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

10.) ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยพรรคประชาชาติขอสงวนสิทธิ์ไม่เห็นด้วยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเหตุผลทางศาสนา

11.) ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ด้วยการผลักดันกฎหมายปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมแก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้และที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน รวมถึงการทบทวนคดีที่เป็นผลจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

12.) ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน

13.) จัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ (zero-based budgeting)

14.) สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและภาระทางการคลังระยะยาว

15.) แก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเร่งด่วน

16.) นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ ผ่านการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา

17.) ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย คุ้มครอง รักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิตส่งเสริมการตลาด ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี และแหล่งน้ำ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร เพื่อวางแผนการผลิตและรักษาผลประโยชน์กษตรกร ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ

18.) แก้ไขกฎหมายประมง ขจัดอุปสรรค เยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน

19.) ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้องกับค่าครองชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

20.) ยกระดับสาธารณสุขเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณสุข

21.) ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

22.) สร้างความร่วมมือและกลไกภายในและระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) โดยเร็วที่สุด

23.) ดำเนินการนโยบายการต่างประเทศ โดยการฟื้นฟูบทบาทผู้นำของไทยในอาเชียน และรักษาสมดุลการเมืองระหว่างประเทศของไทยกับประเทศมหาอำนาจ

ทุกพรรคเห็นพ้องบริหารประเทศด้วยแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้
1.) ทุกพรรคจะคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน
2.) ทุกพรรคจะทำงานโดยซื่อสัตย์สุจริต หากมีบุคคลของพรรคใดมีพฤติกรรมทุจริต คอร์รัปชัน ทุกพรรคจะยุติการดำรงตำแหน่งของบุคคลนั้นๆ ทันที
3.) ทุกพรรคจะทำงานโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน จริงใจต่อกัน สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน โดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง มากกว่าผลประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง
4.)ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจฝ่ายบริหารของรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนของแต่ละพรรคการเมือง
5.) ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัติของผู้แทนราษฎรที่สังกัดแต่ละพรรคการเมือง

รัฐบาล 313 เสียงไปต่อลำบาก สว.รองดออกเสียง ‘ภท.-พปชร.’ พลิกเกม หนุนเพื่อไทยชิงประธานสภาฯ

(22 พ.ค.66) ครบรอบ 9 ปี การรัฐประหาร.... ‘เล็ก เลียบด่วน’ เขียนเรื่องนี้ก่อนหน้า 8 พรรค 313 เสียง เขาจะลงนาม MOU กันประมาณ 7 ชั่วโมง..แต่เชื่อว่าการลงนาม MOU ก็คงจะผ่านไปในลักษณะ ‘แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง’ เท่าที่ทราบมาก่อนหน้านี้เห็นว่าใน MOU มีภารกิจที่จะต้องทำร่วมกัน 23 ข้อ เช่น ยกเลิกการเกณฑ์ทหารเป็นระบบสมัครใจ, สมรสเท่าเทียมเดินหน้า แต่ไม่บังคับกับประชาชนที่เห็นว่าขัดกับหลักศาสนา, เอากัญชากลับเข้าบัญชียาเสพติด เป็นต้น

นอกจาก MOU 20 กว่าข้อแล้ว ยังมีพันธะสัญญาอีก 4-5 ข้อในการบริหารประเทศ ซึ่งดูดี เช่น รัฐมนตรีคนไหนทุจริตต้องออกจากตำแหน่งทันที…

สำหรับปมร้อนอย่างกรณีการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นไม่มีใน MOU แปลว่า พรรคไหนใครจะขับเคลื่อนก็ให้เป็นเรื่องของพรรคนั้น ไม่เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล…

สุดท้ายแล้ว ความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล 313 เสียง แม้อาจจะมีเสียงสนับสนุนจากพรรคเล็กมาเติมให้ฟรี 4-5 เสียง ก็ไม่พออยู่ดี… ต้องอาศัยเสียงสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว.อีก 60 เสียง เพื่อให้ผ่าน 376 เสียง ซึ่ง ‘เล็ก เลียบด่วน’ ยังฟันธงว่ายากที่จะไปถึง อย่างเก่งเสียงของ สว.ก็น่าจะอยู่แค่ระดับ 25-30 เสียง…

ต้องบอกว่า ประเด็นแนวทางการแก้ไขมาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลเคยยื่นต่อสภานั้นมันก้าวเกินกว่าการแก้ไข แทบไม่ต่างจากการยกเลิก เช่นเดียวกับการปฏิรูปกองทัพที่ใช้โมเดลของสหรัฐฯ ที่เป็นการด้อยค่า ‘จอมทัพไทย’ ทางอ้อม.. .นี่คือสองประเด็นใหญ่ที่ สว.เขาไม่เล่นด้วยหรือใช้เป็นเหตุ ‘งดออกเสียง’
.
แต่พูดไปทำไมมี… กว่าจะถึงวันโหวตเลือกนายกฯ ที่ สว.จะลงมาร่วมวงด้วยนั้น ต้องผ่านด่านการรับรอง ส.ส.โดย กกต.และจากนั้นคือด่านเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร… ซึ่งขณะนี้ สายข่าวหลายทางวิเคราะห์ตรงกันว่า เกมจะพลิกกันตั้งแต่เลือกประธานสภาฯ… และคนพลิกเกมก็คือพรรคพลังประชารัฐ… และภูมิใจไทย

กระซิบเบาๆ กับแฟนๆ คอลัมน์ ‘เลียบการเมือง’ เป็นการเฉพาะตรงนี้ว่า… ประชุมพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันก่อนโน้นนน… ที่ประชุมเห็นพ้องให้ทุกคนรูดซิปปากเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล โดยให้ ‘ผู้กอง’ คนดังเป็นคนคอยประสานงานบอกกล่าวถึงทิศทางการเมือง… ทิศทางการเมืองที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคและในบ้านป่ารอยต่อรับรู้กันว่า… คำตอบสุดท้ายจะออกมาอย่างไร…

และคำตอบสุดท้ายที่ว่าก็คือ… พรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพลังประชารัฐเป็นแกนนำ โดยมีพรรคอื่นๆ เข้าร่วมด้วย… ส่วนรายละเอียดใครจะเป็นประธานสภาฯ ‘สุชาติ ตันเจริญ’ หรือ ‘นพ.ชลน่าน  ศรีแก้ว’ และใครจะเป็นนายกฯ อุ๊งอิ๊ง, เศรษฐา หรือลุงป้อม หรือแม้แต่ หนู อนุทิน… เป็นประเด็นที่จะดำเนินไปในทางลึก…

เช่นนี้แล้วก็ต้องขอย้ำว่า ทริปฮ่องกงของ ‘อนุทิน-ศักดิ์สยาม’ ที่มีข่าวว่าไปจิบไวน์กับคนแดนไกลเมื่อสองสามวันก่อนนี้… ก็ไม่ใช่ข่าวลือแต่อย่างใด

สรุปก็คงเป็นความลำบากแสนสาหัสของพรรคน้องใหม่อย่างก้าวไกล ที่จะฝ่าค่ายกลทางการเมืองที่ซับซ้อนและหฤโหดไปได้ แต่จะว่าไปถ้าพรรคก้าวไกลไม่มาติดกับดักมาตรา 112 การปฏิรูปกองทัพปฏิรูปสถาบัน...หันไปขับเน้นนโยบายอย่างอื่น มันก็คงไม่ประสบชะตากรรมเยี่ยงนี้…

กลัดกระดุมเม็ดแรกผิดก็เป็นอย่างนี้แล… และถ้าใครคิดจะขนม็อบปลุกมวลชนออกมากดดัน สว.กดดันประเทศในยามนี้ก็มีแต่จะทำให้ตัวเอง ‘เสียการเมือง’

สวัสดีครับ

เรื่อง : เล็ก เลียบด่วน

งานแถลงข่าว การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU)

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้กล่าวบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล ในงานแถลงข่าว การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) จัดตั้งรัฐบาล ที่ห้องบอลรูม โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 66

เพื่อสร้างพื้นฐานในการจัดตั้งรัฐบาล และการทำงานร่วมกันของทุกพรรค ว่า “ภารกิจของรัฐบาลที่ทุกพรรคจะผลักดันนั้น ต้องไม่กระทบต่อรูปแบบของรัฐฯ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ขององค์พระมหากษัตริย์” 
 

‘บิ๊กป้อม’ ยัน!! ไม่ทิ้งเก้าอี้หัวหน้า ‘พปชร.’ - ไม่ถอยการเมือง ไล่ถามคนปล่อยข่าวยุบพรรคย้ายซบ ‘พท.’ โอดอยู่เฉยๆ แท้ๆ

วันที่ (23 พ.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรีด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้ม กรณีที่มีกระแสข่าวจะลาออกจากการเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรค พปชร.ว่า “โอ้โห ยังไม่ได้คิดเลย ต้องไปถามคนที่วิเคราะห์เรื่องนี้ ไปถามเขาดู ออกแล้วผมจะไปไหน”

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะวางมือถอยทางการเมืองหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวย้อนว่า จะไปถอยที่ไหน ยังไม่ได้คิดเลย

เมื่อถามย้ำว่า จะยังทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพรรค พปชร.ต่อไปใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “เป็นสิ แล้วผมเป็นอยู่หรือเปล่าล่ะ”

เมื่อถามว่ายืนยันจะไม่ลาออกใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ถามเหลือเกิน

เมื่อถามว่าได้พูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติ จะถอยจากการเมืองหรือไม่ พล.อ.ประวิตร ปฏิเสธตอบคำถามดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กระแสข่าวที่จะยุบพรรค พปชร.ไปรวมกับพรรคเพื่อไทย แสดงว่าไม่จริงใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ต้องไปถามคนที่คิด คิดแล้วพูดออกมา มาถามตน ทั้งที่ไม่ได้คิด ยังไม่ได้พูดอะไร และอยู่เฉย ๆ แท้ ๆ

เมื่อถามว่า กระแสข่าวที่ออกมาเป็นความพยายามสกัดไม่ให้ร่วมรัฐบาลหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่รู้ ต้องไปถามคนที่พูดดู

ผู้สื่อข่าวถามว่า การออกมาพูดเรื่องแบบนี้ในเวลาที่กำลังตั้งรัฐบาลมีจุดประสงค์ เพื่ออะไร พล.อ.ประวิตร กล่าวย้ำว่า จะไปรู้ได้อย่างไร ต้องไปถามคนพูดดู

เมื่อถามว่ามองอย่างไรกับเอ็มโอยู 23 ข้อของ 8 พรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ได้รับทราบแล้ว แต่จะไปเกี่ยวข้องอะไรกับเขา

เมื่อถามว่า เป็นห่วงกรณีที่พรรคก้าวไกลยืนยันที่จะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับเขา ต้องไปถามพรรคร่วมกับเขาดู

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ยืนยันสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ย้ำจุดยืนในประเด็นการแก้ไข-ยกเลิก มาตรา 112

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ได้กล่าวยืนยันสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี และย้ำจุดยืนในประเด็นการแก้ไข-ยกเลิก มาตรา 112 ในงานแถลงข่าว การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) จัดตั้งรัฐบาล ที่ห้องบอลรูม โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 66 ว่า…

“การสนับสนุนพรรคที่ได้อันดับ 1 เป็นผู้ก่อตั้งรัฐบาล และสนับสนุนคุณพิธาเป็นนายกฯ เป็นหลักการที่เรายืนยัน และในส่วนของมาตรา 112 เราได้พูดหลายครั้งแล้ว ว่าเราไม่แก้ เราไม่ยกเลิก”

‘วันชัย’ เชื่อ ส.ว.มีวุฒิภาวะ พร้อมรับฟังเหตุผล ไม่กังวลม็อบกดดัน เผย ส.ว.แบ่ง 3 กลุ่ม หนุน ‘พิธา’ - ยังไม่ตัดสินใจ - กำลังพิจารณา

‘วันชัย’ เผย ส.ว.แบ่ง 3 กลุ่ม โหวต ‘พิธา’ แต่กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ-อยู่ระหว่างการพิจารณา มีจำนวนมาก ส่วนเอ็มโอยูรู้สึกเฉยๆ ชี้ ม.112 ยังอีกไกล ส่วนม็อบกดดันไม่กังวล แต่จะรับฟังด้วยเหตุผล เชื่อ ส.ว. 250 คนมีวุฒิภาวะไม่มีใครสั่งได้

(23 พ.ค. 66) ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงแนวโน้มของ ส.ว.ในการโหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี หลังทำเอ็มโอยูกับ 8 พรรคร่วมรัฐบาลแล้วว่า ต้องยอมรับว่ายังมีเวลาเกือบอีก 2 เดือน ดังนั้น การหารือกับ ส.ว.อย่างเป็นทางการยังไม่มี แต่มีการแลกพูดคุย และปรึกษาหารือกัน และยังไม่ถึงขนาดตัดสินใจไปในแนวทางใดชัดเจน

ดังนั้น ขอเรียนว่าจากการที่ตนติดตามและปรึกษาหารือในหลายกลุ่มนั้น สรุปแนวทางได้ 3 แนวทาง คือ

กลุ่มที่ 1 เป็น ส.ว.ที่ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกหรือไม่เลือกตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว ซึ่งมีจำนวนหนึ่ง แต่ไม่มากนัก

กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ โดยบอกว่าขอรอเวลาก่อน

และกลุ่มที่ 3 อยู่ในระหว่างการพิจารณา และจะไปตัดสินใจในวันโหวต

ซึ่งกลุ่มที่ 2 และ 3 ถือว่ามีจำนวนมาก เขาคงดูสถานการณ์ ดูเหตุการณ์ แล้วค่อยตัดสินใจเพราะหากตัดสินใจในวันนี้ ไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ต่างๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่ เขาจึงสงวนท่าที แล้วพิจารณาสถานการณ์ไปเรื่อยๆ แล้วไปตัดสินใจในวันโหวตเลย

นายวันชัย กล่าวว่า ฉะนั้นแนวทางเท่าที่ดูมา คือ มีการโหวตว่าจะเลือกหรือไม่เลือก กับอีกแนวทางหนึ่งคือการงดออกเสียง ก็อาจจะเป็นไปได้ ดังนั้นจึงเชื่อว่าแนวทางในการโหวตเลือกนายกฯจะมี 3 แนวทางดังกล่าว ส่วนแนวทางไหนจะมากหรือน้อยกว่ากัน ยังไม่สามารถบอกได้ แต่เชื่อเหลือเกินว่า ส.ว.มีการปรึกษาหารือกันตลอด และบอกว่าการตัดสินใจครั้งนี้ มีแนวทางวิธีการที่จะโหวต เพื่อประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ และยืนยันว่าจะไม่ทำให้พี่น้องประชาชนผิดหวังแน่นอน

เมื่อถามว่าใน 3 กลุ่มดังกล่าว นายวันชัย อยู่กลุ่มไหน นายวันชัย กล่าวว่า ตนตัดสินใจว่าตั้งแต่ต้นก่อนการเลือกตั้ง จนกระทั่งวันนี้ว่าโหวตให้คนรวมเสียงข้างมาก แล้วเขาเสนอใครเป็นนายกฯ และตนก็โหวตให้กับคนนั้น ซึ่งเป็นจุดยืนของตนมาตั้งแต่ต้นและไม่เปลี่ยนแปลง

ต่อข้อถามว่าทางพรรคก้าวไกล ได้มาทำความเข้าใจกับทาง ส.ว.แล้วหรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า เรื่องนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวที่เขาจะหาวิธีการ เพราะแต่ละพรรคการเมืองต่างๆ ที่เขาจะตกลงกันเชื่อว่ามีการพูดคุยแลกเปลี่ยนจนกระทั่งตกลงกันได้ และในทำนองเดียวกันอะไรที่เห็นว่า ส.ว.ยังไม่เข้าใจ เห็นไม่ตรงกัน การที่จะมาพบ ส.ว.ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะสื่อสารและทำความเข้าใจกัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตนไม่ได้รับการประสานใดๆ แต่เขาอาจจะติดต่อกับคนบางกลุ่ม บางพวกที่มี ซึ่งเท่าที่ตนทราบก็มี แต่ยังไม่ได้เป็นทางการ ซึ่งทราบจากเพื่อน ส.ว.คนไหนที่มีกลุ่ม และรู้จักแต่ละคนก็มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน

เมื่อถามถึงตำแหน่งประธานสภาฯ ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสำคัญเหมือนกัน เพราะจะต้องเป็นประธานรัฐสภาด้วย ทาง ส.ว.มีการพูดคุยกันเพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจเลือกนายกฯหรือไม่ว่าควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร เพื่อที่จะทำงานร่วมกันได้ นายวันชัย กล่าวว่า ส.ว.ไม่มีหน้าที่เลือกประธานสภาฯ เพราะเป็นเรื่องของสภาฯ ทาง ส.ว.จึงไม่ได้นำเรื่องนี้มาพิจารณา ประกอบการตัดสินใจ เพราะถือว่าเป็นเรื่องของแต่ละสภาที่จะตัดสินใจเอง แม้ในอนาคตจะต้องทำงานร่วมกันในฐานะประธานรัฐสภา แต่ก็ไม่ได้เกี่ยว และไม่ใช่หน้าที่ของเรา

เมื่อถามว่า ในเอ็มโอยู การร่วมรัฐบาลไม่มีเรื่องของมาตรา 112 จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ ส.ว.เลือกนายพิธา หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของ ส.ว.แต่ละคน ตนเองพยายามที่จะแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วยความระมัดระวัง เพราะ ส.ว.แต่ละคน ท่านบอกว่าเป็นสิทธิของตัวท่าน เพราะฉะนั้น ใครจะพูดหรือแสดงความคิดเห็นก็เป็นสิทธิแต่ละคน และยังเป็นเห็นเขานำเรื่องนี้มาพูดคุยกัน แต่ในส่วนตัวตนเห็นเอ็มโอยูแล้ว รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้ติดใจอะไร และคิดว่าประเด็นเหล่านี้ยังอีกยาวไกล ที่จะนำมาพิจารณาและมีระยะเวลาในการพิจารณาอีกมาก ส่วน ส.ว.ท่านใดจะตัดสินใจอย่างไร จะให้ความเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไรตนคิดว่าเป็นสิทธิของแต่ละคน

ต่อข้อถามถึง การถือครองหุ้นสื่อของนายพิธา จะเป็นปัจจัยในการตัดสินใจของส.ว.หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ตนคิดว่าประเด็นนี้เท่าที่พูดคุยกัน ส.ว.หลายคนบอกว่าเป็นเรื่องขององค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบที่จะวินิจฉัย ฉะนั้น ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องขององค์กรที่เกี่ยวข้องที่ตัดสิน และ ส.ว.ทั้ง 250 คน แต่ละคนก็อาจจะมีประเด็นแต่ละประเด็นไม่เหมือนกัน บางคนเขาไม่ได้ติดใจอะไรเลย บางคนก็บอกชัดเจนว่าคำนึงถึงเสียงข้างมากเป็นสำคัญ แต่บางคนในการตัดสินใจก็เป็นเหตุผลของเขา ตนขอไม่ก้าวล่วง

เมื่อถามถึงการชุมนุมในเย็นวันนี้ (23 พ.ค.) ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จะมีผลต่อการตัดสินใจของส.ว.หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ตนเชื่อว่าการเคลื่อนไหวการชุมนุมใดๆ ส.ว.รับฟังอยู่แล้ว คงไม่มีใครที่จะปฏิเสธเสียงของพี่น้องประชาชน ดังนั้น จึงเชื่อว่าทุกเรื่อง ทุกประเด็นต่างๆ นำมาประกอบการตัดสินใจได้ทั้งสิ้น ไม่ได้มองเป็นศัตรูคู่อาฆาต หรือไม่ได้มองกันถึงขนาดว่าจะเป็นเหตุของการที่จะโหวตให้หรือไม่โหวตให้ แต่เรามองด้วยเหตุด้วยผล เพราะถือว่าการชุมนุมเป็นการแสดงออกในระบอบ แต่ในสถานการณ์และภาวะอย่างนี้ การเจรจาและการพูดคุยกัน หารือกันด้วยไมตรีที่ดีจะเป็นประโยชน์ร่วมกัน

“ผมเชื่อว่า ส.ว. แต่ละคนมีวุฒิภาวะ ท่านไม่ได้ดื้อรั้นอะไร แต่ความคิดเห็นก็เป็นสิทธิของแต่ละคน และ ส.ว.มีตั้ง 250 คน จะให้ไปในแนวทางเดียวกันคงเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่บอกว่า มีกลุ่มนั้นมาสั่งกลุ่มนี้ กลุ่มนี้มาส่งกลุ่มนั้น หรืออยู่ในอาณัติของคนนั้นคนนี้ ผมอยากจะบอกให้พี่น้องประชาชน คลายกังวลต่อประเด็นนี้ได้เลย ไม่มีใครมาสั่งใครในสถานการณ์อย่างนี้ และไม่มีใครมาบอกว่า อย่างนั้นเอาไม่เอา ยิ่งในสถานการณ์อย่างนี้ ความเป็นอิสระในการตัดสินใจของแต่ละคน ผมถือว่าเป็นเรื่องที่สวยงามและเหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมืองในขณะนี้” นายวันชัย กล่าว

เมื่อถามย้ำว่า ในวันนี้ (23 พ.ค.) ส.ว. จะมีการหารือนอกรอบเพื่อพิจารณาเรื่องการโหวตนายกฯ หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ไม่ได้มีการประชุมกันแบบนอกรอบ หรือนัดกันเป็นกลุ่มใหญ่แต่อย่างใด แต่กลุ่มย่อยเล็กๆ 10-20 คน ก็จะคุยกัน ซึ่งตั้งแต่เช้ามาก็มีการพูดคุยกันตามลำดับ แม้จะปิดสมัยประชุม แต่การประชุมกรรมาธิการแต่ละคณะ การทำภารกิจร่วมกันก็ยังมีอยู่ตลอดเวลา จึงเชื่อว่าทุกครั้งที่มีการพูดคุยกัน มีการนำเรื่องทางการเมืองมาหารือกันอยู่แล้ว ที่สำคัญที่สุดอยากจะบอกว่า ยังมีเวลาอีกเกือบ 2 เดือนในการตัดสินใจ ดังนั้น ส.ว.หลายคนสงวานท่าทีที่จะตอบ ส่วน ส.ว.คนใดประกาศตัวว่าเลือกหรือไม่เลือก ก็ถือว่าเป็นอิสระของท่าน แต่ส่วนใหญ่บอกว่ายังมีเวลาในการตัดสินใจ

‘ธนกร’ ให้กำลังใจ ‘รบ.ก้าวไกล’ ชี้ หลายนโยบายน่าห่วง แนะ ต้องปรับบ้าง หวั่น ม็อบกดดัน ส.ว. สร้างความขัดแย้ง

วันที่ (24 พ.ค. 66) ที่จากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ทำทันทีเมื่อเป็นรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ที่ประกาศไว้ ว่า

จากที่ฟังความเห็นของผู้ประกอบการ เช่น รองประธานสภาหอการค้าไทย และ สภาอุตสาหกรรม ก็ออกมาให้ความเห็นไปแล้วว่า อาจจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการ บริษัทต้องปิดตัวลงจำนวนมากอย่างแน่นอน เข้าใจว่า ว่าที่นายกรัฐมนตรีคงต้องปรับตัว ไม่ว่านโยบายที่จะทำทันที ทำ 100 วัน

เมื่อเป็นรัฐบาลพรรคร่วม หรือกำลังจะเป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคก้าวไกลก็จะต้องยึดหยุ่น ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะไม่ใช่แค่นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น หากไม่ปรับจะทำไม่ได้ แต่ถ้ามีการปรับเปลี่ยนไป อาจจะไม่ถูกใจกองเชียร์ เราต้องไม่ลืมว่าประชาชนเลือกมาเพราะนโยบาย

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายนโยบายที่น่าเป็นห่วง เพราะว่าทำได้ยาก บางอย่างเป็นนโยบายที่ใช้หาเสียงแต่ปฏิบัติจริงได้ยาก แต่ทั้งหมดก็ต้องให้โอกาสพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ ยังมีอีกหลายขั้นตอน

“เพียงแต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย คือ การเคลื่อนไหวกดดันสมาชิกวุฒิสภา ให้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาความขัดแย้งแบบเดิม สิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำมาตลอด 7-8 ปี จะกลับไปเป็นแบบเดิม ซึ่งประเด็นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความเป็นห่วงเรื่องนี้มาก ไม่อยากให้เกิดการชุมนุมหรือเดินลงถนนกันอีก ความรุนแรงไม่ควรเกิดขึ้นแล้ว และควรเลิกได้แล้ว จึงหวังว่าวิธีการพูดคุยและเจรจา จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด” นานธนกร กล่าว

‘รศ.ดร.เจษฎ์’ จวก!! กระแสกดดัน ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ ลั่น!! ต่อให้ได้ถึง 750 เสียง ก็ไม่มีสิทธิ์ทำแผ่นดินลุกเป็นไฟ

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 66 ที่ผ่านมา รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ได้กล่าวในรายการตอบโจทย์ ของสถานีข่าวไทยพีบีเอสกรณีปมกดดัน สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.ให้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้ามากของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.

โดยประเด็นนี้ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ และประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย กล่าวในหัวข้อ จับกระแส ‘กดดัน ส.ว.’ โหวตเลือกนายกฯ ของทางรายการข่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญเขียนเรื่อง ส.ว.ไป และข้อต่อ ส.ว. มาทำอะไรตรงนี้ ทำไม ส.ว.ต้องมาลงมติเพื่อได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมุมดังกล่าวนักวิชาการในร่างแขกรับเชิญ ระบุต่อมา ตรงนี้อาจจะถือเป็นก้าวที่ คสช. ก้าวผิดไป

“ถ้าวันนี้ คสช.ไม่เอา ส.ว. มาร่วมด้วยเนี่ยนะ เมื่อวันปี 62 ท่านก็ได้เสียงข้างมากไปละ รัฐบาลที่จัดตั้งด้วยเสียงข้างมากทหาร วันนี้ถ้าหากเป็นระบบรัฐสภาจริง ๆ จะไม่เกิดเหตุหรือเกิดน้อยมากที่พรรรคที่ได้คะแนนเสียงลำดับ 1 กับลำดับ 2 จับ” กล่าวจบ รองศาสตราจารย์ยังยกตัวอย่างเพื่อย้ำข้อเท็จจริง โดยระบุให้ไปดูตัวอย่างของประเทศระบบรัฐสภาส่วนใหญ่ ไม่ใช่แต่เพียงพรรคจะไม่จับกัน แต่ประชาชนก็ไม่อยากให้จับมือร่วมรัฐบาลกันแบบนี้ด้วย เพราะจะใหญ่เกิน”

“ข้อ 2 ในระบบรัฐสภา สิทธิจัดตั้งก่อน ไม่ใช่ได้สิทธิเป็น ตอนนี้ต้องเข้าใจให้ดีว่า ได้สิทธิในการจัดตั้งนะ ถ้าจัดตั้งไม่ได้ก็ต้องเป็นหน้าที่ของสิทธิลำดับพรรคที่ได้คะแนนเสียงลดหลั่นกันไป”

รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวต่อถึงประเด็นกลไก ตอนปี 60 มีประชามติการให้ความเห็นชอบคำถามพ่วง ว่าจะให้ ส.ว.มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ ปรากฏว่า ผู้มาใช้สิทธิส่วนใหญ่ 15,132,050 คน (58.07%) เห็นด้วยกับการให้ ส.ว.มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี

จุดนี้เองทำให้นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ฯ แสดงมุมมองตัวเองเสริมไปว่า ครั้งนั้นเมื่อไม่มีการผลักดัน ตีฆ้องร้องป่าว เท่ากับเป็นคะแนนบริสุทธิ์ ประชาชนก็มาออกเสียง ในกลไก คือ เอา ส.ว. มาเพราะปฏิรูปประเทศ

เมื่อถูกถามว่าอิสระจริงรึเปล่า? ถอดจากคำให้สัมภาษณ์ในรายการโดยละเอียดของ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก สามารถระบุได้ดังนี้

“ผมถึงได้พูดว่าการที่ไม่สามารถที่จะแสดงทรรศนะ ว่าเห็นด้วยหรือเห็นต่างเป็นสาธารณะ หรือมาบอกว่า เธอเห็นด้วยสิ เธอเห็นต่างสิ เธออย่าไปเอาร่างรัฐธรรมนูญ อย่าไปเอาคำถามเพิ่มเติมนะ เธอเอาสิ ไม่มีเลย แสงดว่ามันเป็นคะแนนบริสุทธิ จะด้วยภาวะการณ์ เขาลงคะแนนบริสุทธิ์ ถูกไหมครับ เขาลงคะแนนมาแล้วให้ ส.ว.มาเลือกนายกฯ อันนี้คือประชามติ

“ประชามติ คือ ประชาธิปไตยทางตรงนะ ตรงยิ่งกว่าการเลือกตั้งอีกนะ การเลือกตั้งมันเป็นประชาธิปไตยทางอ้อมนะ คุณเลือก ส.ส. และ ส.ส.ไปเลือกนายกให้นะ แต่นี่ประชาธิปไตยมันตรงนะ คุณจะเอาไม่เอา เขาเอามาแล้ว มันกลายเป็นหน้าที่แล้ว กลายเป็นลักษณะพิเศษของบ้านนี้เมืองนี้ ส.ว.เขาเลยต้องมาลงมติ ที่ถามไว้แบบนี้จะเป็นรอื่นเป็นแบบไหนได้อีกไหม คุณมี 160 ไปขอเพื่อน 150 เลขกลม เพื่อนอีกจำนวนรวมได้ 313 พอรวมได้ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญต้อง 376 ขึ้นไป”

“ความอยากได้ตรงนี้เองทำให้เกิด ‘ความบิดเบี้ยว’ ของกลไกรัฐสภา ส.ว. และ ส.ส. ต้องไม่เป็นพวกเดียวกัน ต้องไม่ใช่คนที่จะมาพูดคุยอะไรกัน ต้องตรวจสอบถ่วงดุลค้านอำนาจกันเสียด้วย”

มาถึงเรื่อง ปิยบุตร แสงกนกกุล ออกมาเคลื่อนไหวจะส่งผลอะไรต่อพิธาในการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลล่าสุดนี้บ้าง เจษฎ์ตอบข้อสงสัยนี้โดยเริ่มจากยกตัวอย่างกรณีที่หากต่อให้ การออกมาเคลื่อนไหวของนายปิยบุตรล่าสุดไม่มีผลใด ๆ กับฝ่ายที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีผลต่อคนอื่น ๆ

รศ.ดร.เจษฎ์ ย้ำว่าอย่าลืมว่า ตอนนี้มีคนเลือกคุณ 14 ล้าน ไม่เลือก 27 ล้าน แล้วคนที่ไม่ได้มาเลือกด้วย อีกเท่าไร นับรวมให้ครบคนไทยทั้งประเทศ มีเสียง 160 หย่อน ๆ 300 กว่าคือไม่มี ก่อนจะสรุปด้วยวาจาแข็งกร้าวขึ้นกว่าเดิมว่า...

“ผมเรียนอย่างนี้ครับว่า ต่อให้คุณมีเสียง ส.ส. 500 มีเสียง ส.ว.อีก 250 มีคนไทยทั้งประเทศ คุณก็ไม่มีสิทธิทำลายสิ่งที่บรรพบุรุษคนไทยสร้างไว้ให้ แล้วบรรพบุรุษที่พูดถึงไม่ใช่แค่บรรพบุรุษเจ้าเท่านั้นด้วย เป็นบรรพบุรุษทั้งเจ้าทั้งคนไม่ใช่เจ้าทั้งหมด บรรพบุรุษไทยที่สร้างแผ่นดินนี้มา เขาคือเจ้าของแผ่นดินนี้ที่แท้จริง คุณเป็นผู้สืบทอดเขามา ต่อให้คุณได้ 500 เสียง ส.ส. 250 เสียง ส.ว. คุณก็ไม่มีสิทธิที่จะทำให้แผ่นดินนี้ลุกเป็นไฟ คุณไม่มีสิทธิที่จะทำลายแผ่นดินนี้

หลัง เจษฎ์ โทณะวณิก กล่าวจบ แพทย์หญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ก็กล่าวเสริมทันทีว่า เธอเองเห็นด้วย

“อันนั้นล่ะคะ เห็นด้วยอย่างยิ่ง เขาไม่เข้าใจ เขาหาว่าเราบ้า อะไรประมาณนี้ เขามีเสียงข้างมาก สิ่งนี้เขาจะไม่ฟังเลย” คำกล่าวเสริมถึงกรณีกดดัน ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ จากปากของแพทย์หญิงพรทิพย์ที่หลังจากแสดงมุมมองของตัวเธอจบ รศ.ดร.เจษฎ์ แขกรับเชิญนักวิชาการไทยก็ สรุปถึงสิ่งที่สังคมจะต้องทำและทุก ๆ ประเทศต้องทำ คือ ช่วยกันทำนุบำรุงบ้านเมืองนั้นให้พัฒนาและดีขึ้นเรื่อย ๆ ดีกว่าที่บรรพบุรุษทำไว้ เพื่อเราจะได้มีแผ่นดินที่ดี ดีขึ้นเรื่อย ๆ และเพื่อลูกหลานเราจะได้มีแผ่นดินที่ดีและดีขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่พากันทำลาย

ควันหลังเลือกตั้ง!! ย้อนทำความรู้จัก ‘MOU’ จากทั่วโลก เวิร์คหรือไม่? ทางการเมือง

หนึ่งประเด็นที่ดูเป็น ‘เรื่องใหม่’ ของการเมืองไทย และถูกจับตามากที่สุด หลัง ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาประกาศต่อสาธารณชน เมื่อทราบผลการนับคะแนนไม่เป็นทางการ และปรากฏว่าพรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงมากที่สุด ก็คือ การเตรียมจัดทำข้อตกลง หรือ ‘เอ็มโอยู’ ระหว่างพรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยยืนยันว่า…

“เวลาที่เราจะร่วมรัฐบาลกัน มันไม่ใช่แค่แบ่งกระทรวง หรือดู ส.ส. จำนวนเท่าไร แต่เราจะทำเป็นเอ็มโอยู ที่เป็นเอกสารเปิดเผยต่อสาธารณชน ว่าการร่วมรัฐบาลเราคาดหวังอะไรซึ่งกันและกันบ้าง เวลาทำงานจะได้ไม่สะดุดระหว่างทาง แล้วก็ให้ประชาชนสามารถคาดหวังได้ว่าสิ่งที่เคยสัญญา ก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้งยังเหมือนเดิมทุกประการ”

ก่อนอื่น มาดูนิยามของ เอ็มโอยู (MOU-Memorandum of Understanding) ก็คือ “บันทึกความเข้าใจ” ซึ่งทำเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างบุคคล องค์กร หรือสถาบัน ตั้งแต่สองฝ่าย หรือมากกว่านั้น ไม่ได้เป็นสัญญาผูกมัด แต่เพื่อเป็นการแสดงความต้องการอันแน่วแน่ของผู้ลงนามว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขดังที่ได้ระบุและตกลงกันไว้

ในส่วนของการเมือง เมื่อการเลือกตั้งปรากฏผลลัพธ์ออกมา ว่าไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสภาฯ การฟอร์มรัฐบาลจึงต้องออกมาในรูปแบบการเจรจาจัดตั้ง ‘รัฐบาลผสม’ 

ที่ผ่านมาในการเมืองไทย การจัดตั้งรัฐบาลหลายพรรค มักเริ่มที่การดูจำนวน ส.ส. ก่อนตกลงผลประโยชน์ แบ่งโควต้ารัฐมนตรี และจับจองกระทรวงต่างๆ อาจมี ‘การให้สัตยาบัน’ เพื่อเป็นพันธะยึดโยงร่วมกันบ้าง แต่แทบไม่เคยเห็นการทำเอ็มโอยู เป็นตัวหนังสือกำหนดแนวทางดำเนินนโยบายร่วมกัน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะแต่ละพรรคการเมือง ย่อมมีนโยบายและจุดยืนแตกต่างกัน จึงต้องหาความลงตัว แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง เพื่อเดินหน้าทำงานร่วมกันให้ได้ 

แต่สำหรับในหลายประเทศทั่วโลก การจัดทำข้อตกลงร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาลในรัฐบาลผสม ก็อาจไม่ใช่เรื่องแปลกและเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง เรามาลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น

เริ่มต้นกันที่ ‘เยอรมนี’ ที่หลังสิ้นสุดยุคการบริหารบ้านเมืองโดยพรรคสหภาพคริสเตียนเดโมแครต หรือ ‘CDU’ ภายใต้การนำของ ‘อังเกลา แมร์เคิล’ มานานกว่า 16 ปี ก็นำมาสู่การเลือกตั้งทั่วไป 26 กันยายน 2021 ซึ่งพรรคโซเชียลเดโมแครต ที่นำโดย ‘โอลาฟ ชอลซ์’ ได้เสียงสนับสนุน 25.7% ร่วมกับ พรรคกรีน ที่มีเสียง 14.8% และพรรคฟรีเดโมเครต อีก 11.5% จับมือกันจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยมีการลงนาม ‘ข้อตกลงภายใน’ ร่วมกัน จำนวนกว่า 177 หน้า เพื่อเป็นแบบร่างแผนการบริหารประเทศตลอดระยะเวลา 4 ปี

สำหรับสาระสำคัญในข้อตกลงนี้ ครอบคลุมการดำเนินนโยบาย ทั้งการสร้างรัฐทันสมัย การเปลี่ยนแปลงสู่ยุครัฐบาลดิจิทัล มาตรการป้องกันและลดโลกร้อน การส่งเสริมการค้า อุตสาหกรรมการลงทุนและธุรกิจ  การพัฒนาที่อยู่อาศัย การสร้างงาน รัฐสวัสดิการ กระบวนการยุติธรรม และนโยบายต่างประเทศและสหภาพยุโรป

ส่วนที่ ‘สหราชอาณาจักร’ ถ้าย้อนไปดูบรรยากาศหลังการเลือกตั้งในปี 2010 ปรากฏว่าไม่มีพรรคการเมืองได้ครองเสียงเบ็ดเสร็จในสภาฯ โดยพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่นำโดย ‘เดวิด คาเมรอน’ ได้เสียงมากที่สุด ได้ตกลงจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคลิเบอรัลเดโมแครต และนำมาสู่การทำ ‘ข้อตกลง’ ร่วมกัน ที่ครอบคลุมวาระสำคัญ เช่น การแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญๆ นโยบายและความรับผิดชอบที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น โดยมีการประเมินและทบทวนความคืบหน้าของข้อตกลงและเผยแพร่เป็นเอกสารชี้แจงสู่สาธารณะในช่วงครึ่งเทอม เพื่อประเมินการทำงานร่วมกันรวมถึงพิจารณาความร่วมมือกันในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

คล้อยหลังมา 5 ปี หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2015 ‘เทเรซา เมย์’ ไม่สามารถพาพรรคคอนเซเวทีฟ ที่ได้ 318 ที่นั่ง แต่ยังไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้ จึงตัดสินใจใช้เวลานานกว่า 2 สัปดาห์ในการเจรจาจับมือพรรคลำดับ 5 อย่าง สหภาพประชาธิปไตยหรือดียูพี ที่มีจำนวน ส.ส. 10 คน เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยที่พรรคดียูพีจะไม่ร่วมรัฐบาล โดยมีการลงนามในข้อตกลงร่วมกัน 

สาระสำคัญคือ พรรคดียูพีจะโหวตสนับสนุนพรรคคอนเซเวทีฟในวาระสำคัญ เช่น การผ่านร่างงบประมาณและการลงมติไว้วางใจ รวมถึงสนับสนุนการออกกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับเบร็กซิท ความมั่นคง และอื่นๆ ขณะเดียวกัน รัฐบาลพรรคคอนเซอเวทีฟต้องให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนโครงการและนโยบายของพรรคดียูพี เช่น การเพิ่มงบประมาณ 1 พันล้านปอนด์ให้กับไอร์แลนด์เหนือ ฐานที่มั่นของพรรคดียูพี เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณสุข และการศึกษา ในช่วง 2 ปี 

หรือลองแวะมาดูในพื้นที่ใกล้ตัว อย่าง ‘มาเลเซีย’ ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ที่เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 ปรากฎว่าไม่มีพรรคใดชนะขาดการเลือกตั้งและมีเสียงข้างมากในสภาฯ แต่ในที่สุด ‘อันวาร์ อิบราฮิม’ ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสม และสาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว

ซึ่งต่อมา ในเดือนธันวาคม มีการลงนามในเอ็มโอยู เพื่อเสถียรภาพของรัฐบาลผสม โดยพรรคแนวร่วมได้ลงนามยืนยันว่าจะสนับสนุน ‘อันวาร์ อิบราฮิม’ ผ่านการออกเสียงให้รัฐบาลหรืองดเว้นการออกเสียงเมื่อมีการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจ รวมทั้งให้การสนับสนุนรัฐบาล อย่างเช่น การผ่านงบประมาณรายจ่าย

ย้อนกลับมาที่บ้านเรา สูตรจัดตั้งรัฐบาลผสม ที่มี ‘ก้าวไกล’ เป็นแกน จับมือกันถึง 8 พรรค จำนวน 313 เสียง เพิ่งผ่านเวลามาเพียงสัปดาห์เศษเท่านั้น ขณะเดียวกันการจัดทำ ‘เอ็มโอยู’ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่เคยสัญญาไว้กับประชาชนตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ก็เป็นเรื่องใหม่ และไม่ง่าย 

แต่ถ้าการทำข้อตกลง เอ็มโอยู ครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้น ในการยกระดับ การ ‘เจรจา’ ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเปิดทางนำไปสู่การทำงานด้านนโยบายร่วมกันเพื่อประชาชน ก็จะเป็นการเริ่ม ‘เปลี่ยน’ หากจุดสมดุล และเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการเมืองไทยนับจากนี้ ที่จะทำให้การบริหารบ้านเมือง เป็นไปตามที่เคยสัญญาและให้คำมั่นกับประชาชนเอาไว้ แทนที่จะเป็นไปเพื่อการรักษาผลประโยชน์ และตำแหน่งแห่งที่ของนักการเมือง เป็นประชาธิปไตยของประชาชนเพียงแค่สี่นาที อย่างที่เคยฝังรากอยู่ในบ้านเรามานาน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top