ควันหลังเลือกตั้ง!! ย้อนทำความรู้จัก ‘MOU’ จากทั่วโลก เวิร์คหรือไม่? ทางการเมือง

หนึ่งประเด็นที่ดูเป็น ‘เรื่องใหม่’ ของการเมืองไทย และถูกจับตามากที่สุด หลัง ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาประกาศต่อสาธารณชน เมื่อทราบผลการนับคะแนนไม่เป็นทางการ และปรากฏว่าพรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงมากที่สุด ก็คือ การเตรียมจัดทำข้อตกลง หรือ ‘เอ็มโอยู’ ระหว่างพรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยยืนยันว่า…

“เวลาที่เราจะร่วมรัฐบาลกัน มันไม่ใช่แค่แบ่งกระทรวง หรือดู ส.ส. จำนวนเท่าไร แต่เราจะทำเป็นเอ็มโอยู ที่เป็นเอกสารเปิดเผยต่อสาธารณชน ว่าการร่วมรัฐบาลเราคาดหวังอะไรซึ่งกันและกันบ้าง เวลาทำงานจะได้ไม่สะดุดระหว่างทาง แล้วก็ให้ประชาชนสามารถคาดหวังได้ว่าสิ่งที่เคยสัญญา ก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้งยังเหมือนเดิมทุกประการ”

ก่อนอื่น มาดูนิยามของ เอ็มโอยู (MOU-Memorandum of Understanding) ก็คือ “บันทึกความเข้าใจ” ซึ่งทำเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างบุคคล องค์กร หรือสถาบัน ตั้งแต่สองฝ่าย หรือมากกว่านั้น ไม่ได้เป็นสัญญาผูกมัด แต่เพื่อเป็นการแสดงความต้องการอันแน่วแน่ของผู้ลงนามว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขดังที่ได้ระบุและตกลงกันไว้

ในส่วนของการเมือง เมื่อการเลือกตั้งปรากฏผลลัพธ์ออกมา ว่าไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสภาฯ การฟอร์มรัฐบาลจึงต้องออกมาในรูปแบบการเจรจาจัดตั้ง ‘รัฐบาลผสม’ 

ที่ผ่านมาในการเมืองไทย การจัดตั้งรัฐบาลหลายพรรค มักเริ่มที่การดูจำนวน ส.ส. ก่อนตกลงผลประโยชน์ แบ่งโควต้ารัฐมนตรี และจับจองกระทรวงต่างๆ อาจมี ‘การให้สัตยาบัน’ เพื่อเป็นพันธะยึดโยงร่วมกันบ้าง แต่แทบไม่เคยเห็นการทำเอ็มโอยู เป็นตัวหนังสือกำหนดแนวทางดำเนินนโยบายร่วมกัน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะแต่ละพรรคการเมือง ย่อมมีนโยบายและจุดยืนแตกต่างกัน จึงต้องหาความลงตัว แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง เพื่อเดินหน้าทำงานร่วมกันให้ได้ 

แต่สำหรับในหลายประเทศทั่วโลก การจัดทำข้อตกลงร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาลในรัฐบาลผสม ก็อาจไม่ใช่เรื่องแปลกและเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง เรามาลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น

เริ่มต้นกันที่ ‘เยอรมนี’ ที่หลังสิ้นสุดยุคการบริหารบ้านเมืองโดยพรรคสหภาพคริสเตียนเดโมแครต หรือ ‘CDU’ ภายใต้การนำของ ‘อังเกลา แมร์เคิล’ มานานกว่า 16 ปี ก็นำมาสู่การเลือกตั้งทั่วไป 26 กันยายน 2021 ซึ่งพรรคโซเชียลเดโมแครต ที่นำโดย ‘โอลาฟ ชอลซ์’ ได้เสียงสนับสนุน 25.7% ร่วมกับ พรรคกรีน ที่มีเสียง 14.8% และพรรคฟรีเดโมเครต อีก 11.5% จับมือกันจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยมีการลงนาม ‘ข้อตกลงภายใน’ ร่วมกัน จำนวนกว่า 177 หน้า เพื่อเป็นแบบร่างแผนการบริหารประเทศตลอดระยะเวลา 4 ปี

สำหรับสาระสำคัญในข้อตกลงนี้ ครอบคลุมการดำเนินนโยบาย ทั้งการสร้างรัฐทันสมัย การเปลี่ยนแปลงสู่ยุครัฐบาลดิจิทัล มาตรการป้องกันและลดโลกร้อน การส่งเสริมการค้า อุตสาหกรรมการลงทุนและธุรกิจ  การพัฒนาที่อยู่อาศัย การสร้างงาน รัฐสวัสดิการ กระบวนการยุติธรรม และนโยบายต่างประเทศและสหภาพยุโรป

ส่วนที่ ‘สหราชอาณาจักร’ ถ้าย้อนไปดูบรรยากาศหลังการเลือกตั้งในปี 2010 ปรากฏว่าไม่มีพรรคการเมืองได้ครองเสียงเบ็ดเสร็จในสภาฯ โดยพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่นำโดย ‘เดวิด คาเมรอน’ ได้เสียงมากที่สุด ได้ตกลงจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคลิเบอรัลเดโมแครต และนำมาสู่การทำ ‘ข้อตกลง’ ร่วมกัน ที่ครอบคลุมวาระสำคัญ เช่น การแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญๆ นโยบายและความรับผิดชอบที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น โดยมีการประเมินและทบทวนความคืบหน้าของข้อตกลงและเผยแพร่เป็นเอกสารชี้แจงสู่สาธารณะในช่วงครึ่งเทอม เพื่อประเมินการทำงานร่วมกันรวมถึงพิจารณาความร่วมมือกันในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

คล้อยหลังมา 5 ปี หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2015 ‘เทเรซา เมย์’ ไม่สามารถพาพรรคคอนเซเวทีฟ ที่ได้ 318 ที่นั่ง แต่ยังไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้ จึงตัดสินใจใช้เวลานานกว่า 2 สัปดาห์ในการเจรจาจับมือพรรคลำดับ 5 อย่าง สหภาพประชาธิปไตยหรือดียูพี ที่มีจำนวน ส.ส. 10 คน เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยที่พรรคดียูพีจะไม่ร่วมรัฐบาล โดยมีการลงนามในข้อตกลงร่วมกัน 

สาระสำคัญคือ พรรคดียูพีจะโหวตสนับสนุนพรรคคอนเซเวทีฟในวาระสำคัญ เช่น การผ่านร่างงบประมาณและการลงมติไว้วางใจ รวมถึงสนับสนุนการออกกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับเบร็กซิท ความมั่นคง และอื่นๆ ขณะเดียวกัน รัฐบาลพรรคคอนเซอเวทีฟต้องให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนโครงการและนโยบายของพรรคดียูพี เช่น การเพิ่มงบประมาณ 1 พันล้านปอนด์ให้กับไอร์แลนด์เหนือ ฐานที่มั่นของพรรคดียูพี เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณสุข และการศึกษา ในช่วง 2 ปี 

หรือลองแวะมาดูในพื้นที่ใกล้ตัว อย่าง ‘มาเลเซีย’ ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ที่เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 ปรากฎว่าไม่มีพรรคใดชนะขาดการเลือกตั้งและมีเสียงข้างมากในสภาฯ แต่ในที่สุด ‘อันวาร์ อิบราฮิม’ ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสม และสาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว

ซึ่งต่อมา ในเดือนธันวาคม มีการลงนามในเอ็มโอยู เพื่อเสถียรภาพของรัฐบาลผสม โดยพรรคแนวร่วมได้ลงนามยืนยันว่าจะสนับสนุน ‘อันวาร์ อิบราฮิม’ ผ่านการออกเสียงให้รัฐบาลหรืองดเว้นการออกเสียงเมื่อมีการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจ รวมทั้งให้การสนับสนุนรัฐบาล อย่างเช่น การผ่านงบประมาณรายจ่าย

ย้อนกลับมาที่บ้านเรา สูตรจัดตั้งรัฐบาลผสม ที่มี ‘ก้าวไกล’ เป็นแกน จับมือกันถึง 8 พรรค จำนวน 313 เสียง เพิ่งผ่านเวลามาเพียงสัปดาห์เศษเท่านั้น ขณะเดียวกันการจัดทำ ‘เอ็มโอยู’ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่เคยสัญญาไว้กับประชาชนตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ก็เป็นเรื่องใหม่ และไม่ง่าย 

แต่ถ้าการทำข้อตกลง เอ็มโอยู ครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้น ในการยกระดับ การ ‘เจรจา’ ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเปิดทางนำไปสู่การทำงานด้านนโยบายร่วมกันเพื่อประชาชน ก็จะเป็นการเริ่ม ‘เปลี่ยน’ หากจุดสมดุล และเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการเมืองไทยนับจากนี้ ที่จะทำให้การบริหารบ้านเมือง เป็นไปตามที่เคยสัญญาและให้คำมั่นกับประชาชนเอาไว้ แทนที่จะเป็นไปเพื่อการรักษาผลประโยชน์ และตำแหน่งแห่งที่ของนักการเมือง เป็นประชาธิปไตยของประชาชนเพียงแค่สี่นาที อย่างที่เคยฝังรากอยู่ในบ้านเรามานาน