Thursday, 25 April 2024
พรรคก้าวไกล

‘วิโรจน์’ แนะ 6 ข้อ เปิดประเทศแบบมีหวัง หลัง 14 ตุลา ครบ 120 วัน สัญญานายกฯ

(11 ต.ค. 64) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมพร้อมที่จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

วิโรจน์ กล่าวว่า หากนับจากวันที่ 16 มิ.ย. 64 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้คำมั่นกับประชาชนเอาไว้ว่าจะเปิดประเทศใน 120 วัน ซึ่งจะครบกำหนด 120 วัน ในวันที่ 14 ต.ค. 64 ที่จะถึงนี้ ตนและ ฐณฐ จินดานนท์ ในฐานะกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบเงินกู้ 5 แสนล้าน ในสัดส่วนพรรคก้าวไกล ได้ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า…

สำหรับการเปิดประเทศ เพื่อให้การค้าการขาย การหารายได้ และการทำมาหากินของประชาชน สามารถดำเนินไปได้ตามปกติ เพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลจะเปิดประเทศได้ หรือทำ Travel Bubble กับประเทศต่างๆ เพื่อเปิดให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ และมีดัชนีในการพิจารณา และตรวจติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ชัดเจน โปร่งใส 

โดยที่ประชาชนสามารถร่วมติดตามสถานการณ์ไปด้วยได้ หากรัฐบาลมีแต่แผนการเปิดประเทศ เพียงแค่แบ่งเป็นกลุ่มจังหวัด และมีประมาณการคร่าวๆ ประชาชน ตลอดจนผู้ประกอบการต่างๆ จะไม่สามารถวางแผน และเตรียมการล่วงหน้าอย่างเหมาะสมได้เลย และไม่มีความมั่นใจว่า แผนการเปิดประเทศดังกล่าว จะเปิดได้จริงหรือไม่ เปิดแล้วจะปิดอีกเมื่อไหร่ 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 10,000 รายเศษ และมีผู้เสียชีวิตประมาณวันละ 60-80 ราย ที่สำคัญหากพิจารณาจากผลตรวจจากชุดตรวจ ATK ก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ และการระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นการระบาดที่แพร่กระจายไปยังส่วนภูมิภาค หลายจังหวัดยังมีแนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น

วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า การที่จะเปิดประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมได้ รัฐบาลจำเป็นต้องทำให้การระบาดของโรคโควิด-19 เป็น “การเจ็บป่วยในภาวะปกติวิสัย (Normality)” ที่ระบบสาธารณสุขปกติ สามารถควบคุมการระบาด และดูแลรักษาผู้ป่วยได้ โดยต้องมั่นใจว่า ไม่เกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข หรือมีแผนสำรองในการเพิ่มขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขได้โดยทันที อย่างไม่ตระหนกตกตื่น ในกรณีจำเป็น

“ถ้า Normality ไม่เกิดขึ้น การเปิดประเทศ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก็จะเป็นเครื่องยนต์ที่กระตุก ติดๆ ดับๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากทั้งนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ และประชาชนได้”

วิโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปิดประเทศไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ คิดจะเปิดก็เปิด คิดจะปิดก็ปิด พอไม่กล้าปิด ก็ฝืนเปิด แล้วก็มาปิดแบบกะทันหัน จนสร้างความสูญเสียให้กับประชาชน พรรคก้าวไกล จึงเสนอแนวทางในการเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ นำไปดำเนินการ 6 ข้อ ดังต่อไปนี้

ประชาชนยังไม่ได้ชัยชนะ ! "คณะก้าวหน้า" ร่วมรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา - "พรรณิการ์" ชี้วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลยังคงอยู่ - งง ผู้จัดงานไม่อนุญาตติดป้ายผ้าข้อเรียกร้องแห่งยุคสมัย

ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนินกลาง พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ร่วมวางพวงมาลารำลึก "เหตุการณ์ 14 ตุลา" ประจำปี 2564 โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้ ผ่านมาแล้ว 48 ปี แต่การต่อสู้ของประชาชนยังไม่จบ วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลยังคงอยู่ ผู้มีอำนาจสั่งฆ่าประชาชนโดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมยังเกิดขึ้น เพราะตราบใดที่กระบวนการยุติธรรมยังเป็นแบบนี้ มันก็จะยังเกิดซ้ำอีกในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสังคมยังไม่ยอมรับว่ามันมีหน้าประวัติศาสตร์เปื้อนเลือดอยู่ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อาจจะถูกจดจำว่าเป็นชัยชนะของประชาชน แต่เราก็ต้องยอมรับว่ายังไม่ใช่ชัยชนะที่แท้จริง เพราะถ้าเป็นชัยชนะที่แท้จริงจะไม่เกิดการปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาคม 2535, เมษายน-พฤษภาคม 2553 รวมถึงการยิงประชาชนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

พรรณิการ์ กล่าวด้วยว่า ก่อนการจัดงานในเช้าวันนี้มีเหตุการณ์ปลดป้ายของประชาชนที่มีข้อความเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งก็น่าสงสัยว่า งานนี้เป็นการรำลึกถึงประชาชนที่เสียสละเสียชีวิตจากการต่อสู้กับเผด็จการ จากการต่อสู้เพื่อให้ข้อเรียกร้องของพวกเขาได้รับการรับฟังจากผู้มีอำนาจแล้วเขาต้องเสียชีวิตไป เรารำลึกถึงสิ่งนั้น แต่วันนี้ กลับเกิดเหตุการณ์ที่ข้อเรียกร้องของคนในยุคสมัยปัจจุบัน นั่นก็คือข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้รับอนุญาตให้ติด สุดท้ายต้องขยับไปตั้งด้านนอกงาน ซึ่งเรื่องนี้ก็น่าตั้งคำถามว่า วันนี้เป็นวันที่รำลึกถึงการต่อสู้ของประชาชน เป็นวันที่รำลึกถึงประชาชนที่เสียสละชีวิตตัวเองเพื่อข้อเรียกร้องทางการเมืองมิใช่หรือ แต่ทำไมข้อเรียกร้องของคนในยุคสมัยปัจจุบันกลับไม่ได้รับอนุญาตให้ปรากฏในงาน นี่ก็ยิ่งตอกย้ำว่าเหตุการณ์14 ตุลา ยังไม่ใช่ชัยชนะของประชาชน เพราะถ้าประชาชนชนะแล้ว ในวันนี้ข้อเรียกร้องของยุคสมัยต้องได้ปรากฏในงานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา

ศิริกัญญา-วิโรจน์ ฟังปัญหาเกษตรกรเลี้ยงวัว ชี้ รัฐบาลเยียวยาลัมปีสกินล่าช้า

(14 ต.ค. 64) ศิริกัญญา ตันสกุล, วิโรจน์ ลักขณาอดิสร, สุรวาท ทองบุ, ทวีศักดิ์ ทักษิณ ผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย อดิศักดิ์ สมบัติคำ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.มหาสารคาม เขต 4 พรรคก้าวไกล และทีมจังหวัดมหาสารคาม ลงพื้นที่ตลาดนัดโค-กระบือ ต.วังไชย อ.บรบือ จ.มหาสารคาม เพื่อรับฟังปัญหาเกษตรกรที่เดือดร้อนจากการระบาดของโรคลัมปีสกินในวัวได้รับการเยียวยาล่าช้า

ศิริกัญญา กล่าวว่า การได้ฟังเสียงของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทำให้เข้าใจความยากลำบากของเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวและเห็นว่ามาตรการช่วยเหลือที่ผ่านมาของรัฐบาลไม่ตรงจุด

“รัฐบาลสัญญาว่าจะเพิ่มเงินส่วนต่างค่าชดเชยวัวที่ตายจากโรคลัมปีสกิน แต่รัฐบาลไม่เคยประกาศว่าจะออกมาตรการเยียวยาวัวที่เสียราคาจากการเคยป่วย และผู้ที่อยู่ในธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ได้รับผลกระทบ เขียงเนื้อที่ขาดรายได้ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่ขาดรายได้ นายฮ้อยตลาดนัดซื้อขายวัวกระบือที่ขาดรายได้ รัฐบาลไม่เคยมีมาตรการเยียวยาออกมา

“การระบาดที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้เกิดจากเกษตรกร แต่เกิดจากรัฐบาลที่รู้ล่วงหน้าจากการเตือนขององค์กรระหว่างประเทศตั้งแต่ปี 2563 แล้ว แต่ยังไม่มีมาตรการใดมาป้องกัน ปล่อยให้ลัมปีสกินระบาดในประเทศไทยได้ ใครกันแน่ที่ควรต้องชดใช้ความเสียหาย”

‘ก้าวไกล’ ถกปัญหา ‘คนจนเมืองขอนแก่น’ ปมไล่ที่ ทำรถไฟความเร็วสูง แต่ไร้เยียวยา

ฟังคนขอนแก่น ‘วีรนันท์’ ว่าที่ผู้สมัครสส.เขต 1 ขอนแก่นนำทีม ‘ก้าวไกล’ ตั้งโต๊ะถกปัญหา ‘คนจนเมืองขอนแก่น’ เผยโครงการ ‘รถไฟฟ้า’ เส้นอีสานไล่ที่ไร้เยียวยา กระทบกว่า 10,000 ครอบครัว ‘วิโรจน์’ จ่อตั้งกระทู้ถาม ‘ศักดิ์สยาม’ ด้าน ‘อภิชาติ’ รับนำเข้ากมธ.ที่ดิน เตรียมเชิญหน่วยงานชี้เเจง

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ณ ชุมชนมิตรภาพริมทางรถไฟ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล, อภิชาติ ศิริสุนทร และสุรวาท ทองบุ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เดินทางไปรับฟังเสียงสะท้อนปัญหาจากพื้นที่ชุมชนริมทางรถไฟต่อกรณีที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง โดยมี วีรนันท์ ฮวดศรี ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 จังหวัดขอนแก่น พรรคก้าวไกล ตัวเเทนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค และประชาชนที่ได้รับผลกระทบร่วมกันจัดวงเสวนาโต๊ะกลมเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองต่อกรณีดังกล่าว

วิโรจน์ กล่าวในวงเสวนาว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแม้ว่าเป็นกรณีที่ไม่มีสัญญาเช่า แต่รัฐจะทำเป็นไม่รู้เรื่องแล้วใช้กฎหมายมาปิดปากเพื่อจัดการประชาชนไม่ได้ จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเอาเรื่องที่รัฐไม่พูดถึงมาอยู่บนโต๊ะเพื่อเปิดให้มีการเจรจาและหาทางออกร่วมกัน  

“เบื้องต้นพรรคก้าวไกลมอบหมายให้ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ขอนแก่น สรุปเรื่องราวเข้ามา เพื่อเป็นข้อมูลข้อเท็จจริงในการตั้งกระทู้ถามต่อไปยัง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ตอบและชี้แจงถึงมาตรการของการเยียวยารวมถึงความชัดเจนของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหานี้ ทราบว่าประชาชนจำนวนมากไม่มีสัญญาเช่า ไม่มีโฉนดที่ดิน แต่ในการพัฒนาเมืองประชาชนก็ไม่ได้ต่อต้าน จึงอยากให้ทางรัฐเข้าใจหัวอกของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วย ผมอยากเห็นเมืองที่คนตัวเล็กตัวน้อยสามารถอยู่ร่วมในเมืองได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่เมืองที่พัฒนาแต่ความศิวิไลซ์ อยากเห็นเมืองที่มีการแบ่งปันพื้นที่ให้กับประชาชนรากหญ้าอย่างเป็นธรรมและเข้าใจวิถีชีวิตที่เขาเคยอยู่ ไม่ใช่เป็น Smart City แต่ผู้อยู่อาศัยได้รับความเดือดร้อน รัฐมองแผ่นดิน แต่ไม่มองประชาชนที่อยู่อาศัยไม่ได้” วิโรจน์ กล่าว 

‘อมรัตน์’ ร่วมอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา หวัง!! ป้องสิทธิแสดงความเห็น ‘เยาวชน-ประชาชน’

“คุกควรขังผู้ปล้นอำนาจประชาชน ไม่ใช่ขังผู้เรียกร้องประชาธิปไตย” - ‘อมรัตน์’ ร่วมอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา ยืนยันจุดยืนปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นของเยาวชนและประชาชน

26 ต.ค. 64 ที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล, ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม เขต 3 พรรคก้าวไกล และสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมทางการเมือง ร่วมกันอ่านจดหมายเปิดผนึกถึง ‘เมทินี ชโลธร’ ประธานศาลฎีกา เพื่อเรียกร้องต่อจุดยืนในการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมืองของเยาวชนและประชาชน 

อมรัตน์ กล่าวว่า ในฐานะผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล จึงออกมาแสดงจุดยืนต่อสาธารณะ ดังที่ปรากฏเป็นข่าวของสื่อมวลชนตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 63 ว่า…

“ยินดีใช้ตำแหน่งผู้แทนราษฎรไปประกันตัว หากเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่ถูกรองรับไว้โดยรัฐธรรมนูญถูกพรากไปด้วยข้ออ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” พร้อมโชว์ใบรับรองเงินเดือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นเพราะว่า หลายปีที่ผ่านมานับจากรัฐประหาร 22 พ.ค. 57 ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลนี้ที่สืบทอดอำนาจในปัจจุบันซึ่งยาวนานใกล้เข้าปีที่ 8 แล้ว ประเทศถูกปกครอง ครอบงำด้วยความกลัว ผู้ที่รักประชาธิปไตย ให้คุณค่ากับหลักการสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียม ตกอยู่ในความมืดมิดแห่งรัตติกาลอันยาวนานไม่เห็นแสงสว่าง ถูกปิดกั้นเสรีภาพในการคิด การพูด การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดในประเทศประชาธิปไตย เมื่อสิ้นสุดความอดทน เยาวชนหนุ่มสาวและประชาชนออกมาทวงคืนประชาธิปไตย ไล่นายกที่สืบทอดอำนาจจากการรัฐประหาร เรียกร้องให้ยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน ยกเลิกอำนาจ ส.ว.(สมาชิกวุฒิสภา) ในการเลือกนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้มีความเป็นสากลสอดคล้องกับยุคสมัย

“แต่ไม่ว่าจะออกมาส่งเสียงมากมายแค่ไหน ข้อเรียกร้องของพวกเขาถูกตั้งใจละเลยไม่ถูกได้ยิน สิ่งที่ได้รับคือการลุแก่อำนาจปราศจากมนุษยธรรม ใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุ ใช้งบประมาณมากมายปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างบ้าคลั่งราวกับพวกเขาเป็นอริราชศัตรูเพียงแค่พวกเขาคิดต่างจากผู้ทรงอำนาจบาตรใหญ่ แจกคดีความถ้วนหน้าออกหมายเรียก หมายจับ ใช้กฎหมายปิดปาก จงใจใช้และต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยข้ออ้างเรื่อง Covid-19 อย่างปราศจากความละอายต่อสายตาชาวโลก”

อมรัตน์ ย้ำว่า สำหรับตนแล้วเยาวชนผู้กล้าหาญเหล่านั้น คือ นักต่อสู้ไม่ใช่นักโทษ คือเจ้าของอนาคตประเทศนี้ พวกเขาได้ก้าวข้ามเส้นแห่งความกลัวที่คนยุคตนไม่เคยเข้าข้ามพ้นเส้นนั้นมาได้ บัดนี้มีผู้ต้องหาคดี 112, 116, 215, พ.ร.บ.คอมพ์, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มากมายถึง 1,500 คน จาก 800 กว่าคดี โดยเฉพาะคดี 112 มีถึง 150 คน และส่วนใหญ่เป็นเยาวชน

“เราต้องยอมรับกันเสียทีว่า คดีมาตรา 112 เป็นคดีทางการเมือง จะต้องถูกแก้ไขด้วยวิถีทางการเมือง แทนใช้คุก ศาล ทหาร และใช้กฎหมายปิดปาก รวมทั้งกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ เป็นประเด็นที่ประเทศไทยถูกองค์กรระหว่างประเทศ และประเทศต่าง ๆ วิพากษ์วิจารณ์ นับจากปี 54 ถึงปี 64 ถูกวิจารณ์มาแล้วไม่ต่ำกว่า 22 ครั้ง ถูกเสนอแนะให้แก้ไขในเรื่องอัตราโทษที่สูงเกินไป ไม่ได้สัดส่วนกับความผิดและไม่มีโทษขั้นต่ำ ไม่มีคำนิยามที่แน่นอนของคำว่าดูหมิ่น และกฎหมายนี้มีปัญหาการบังคับใช้ที่ถูกตีความอย่างไร้ขอบเขต รวมไปถึงไม่สอดคล้องกับหลักการสากลในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง” อมรัตน์ กล่าว 

'ก้าวไกล' จี้!! เยาวชนถูกยิงดับหน้า ‘สน.ดินแดง’ ชี้!! คดีไม่คืบหน้า สังคมยังมีข้อกังขาหลายจุด

พันตำรวจตรี ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวในฐานะรองประธานในคณะทำงานสืบหาข้อเท็จจริง (Fact finding) กรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมทางการเมืองบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ภายหลังจากที่สื่อมวลชนรายงานว่าเมื่อวานนี้ (28 ตุลาคม 2564) นายวาฤทธิ์ สมน้อย หนึ่งในเยาวชนอายุ 15 ปี ที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ จากการสลายการชุมนุมที่แยกดินแดง บริเวณหน้าสน.ดินแดง เข้ารักษาตัวที่ร.พ.ราชวิถี ด้วยอาการวิกฤตเนื่องจากกระสุนฝังบริเวณไขสันหลังส่วนบน ร่วมกับมีภาวะสมองบวมจากการขาดออกซิเจนเสียชีวิตแล้ว

พันตำรวจตรีชวลิต กล่าวว่า กว่า 2 เดือนแล้วจากเหตุการณ์ยิงเยาวชนหน้า สน.ดินแดง ในขณะที่ตนและคณะทำงานของกรรมาธิการได้เปิดหลักฐานในบริเวณที่เกิดเหตุและบริเวณใกล้เคียงจนพบกลุ่มคนต้องสงสัยที่ตำรวจควรจะตามตัวมาได้ไม่ยาก แต่คดีนี้ในชั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไม่มีความคืบหน้าใด ๆ จนกระทั่งผู้ถูกกระทำได้จากไปแล้ว 

“ภาพจากกล้องวงจรปิดจับภาพ วาฤทธิ์ วิ่งอยู่บนถนนมิตรไมตรี มุ่งหน้าแยกโรงกรองน้ำ ก่อนถูกยิงล้มลง ซึ่งมีรอยกระสุนอีกนัดที่กำแพง ระบุทิศทางการยิงมาจากซอยหน้า สน.ดินแดง ซึ่งเป็นจุดที่ไม่มีผู้ชุมนุมอยู่ ที่สำคัญรัฐจะต้องเร่งหาตัวคนร้าย ผู้ก่อเหตุและผู้สั่งการต้องถูกนำตัวมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม”

ทั้งนี้ พันตำรวจตรีชวลิต กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้ทุกคนร่วมใจกันทวงถามความยุติธรรมจากรัฐ เราจะต้องไม่ปล่อยให้ครอบครัวของเขาต้องสู้อย่างเดียวดาย และจะต้องไม่ให้มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก และสิ่งที่เกิดขึ้นคุ้มแล้วหรือกับเยาวชนอนาคตของชาติที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสันติ ปราศจากอาวุธ ต้องมาแลกกับชีวิตของตนด้วยปลายกระบอกปืน อย่าปล่อยให้เป็นความอยุติธรรมที่ถูกกลืนหายไปโดยไร้คำตอบ

‘ปิยบุตร’ สวน ‘ก้าวไกล’ แค่แก้ไขไม่พอ ยัน!! ยกเลิก 112 เหตุไม่ใช่แค่กฎหมายธรรมดา

จูงจมูกกันอีกพรรค ‘ปิยบุตร’ หวดก้าวไกล ถ้าเป็นพรรคหัวไม่ก้าวหน้า ไม่รู้ว่าจะลาออกจากอาจารย์ ทิ้งชีวิตวิชาการมาทำไม เลือกตั้งคราวหน้าคงไม่มีใครเลือก เหน็บอธิบายยืดยาวให้ยกเลิก ม.112 แต่ไม่ทำตามจบ ได้ผล! โฆษกก้าวไกลแถลงทันที อ้างสถานการณ์เปลี่ยน แค่แก้ไขไม่พอ เพราะภาคประชาชนร้องให้ยกเลิก ขณะที่ ‘กำนัน-หมอวรงค์’ ประกาศ ห้ามแตะ ม.112 กังวลนำไปสู่ความขัดแย้ง

เมื่อ 4 พ.ย. 64 ภายหลังจากนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) พร้อมด้วย ส.ส.พรรคก้าวไกล ร่วมแถลงท่าทีต่อ ม.112 โดยยืนยันว่าร่างแก้ไขมาตรา 112 ของพรรค ไม่มีเนื้อหาขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญมาตรา 6 แต่อย่างใดนั้น ก็ได้ถูก ‘นายปิยบุตร แสงกนกกุล’ เลขาธิการคณะก้าวหน้า ออกมาตำหนิอย่างรุนแรง

โดยนายปิยบุตรทวีตข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า พรรคต้องเป็น Avant-Garde (อาวองการ์ด: ผู้นำทางสังคม) ถ้าพรรคไม่เป็นแบบนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะลาออกจากอาจารย์ ทิ้งชีวิตวิชาการมาทำไม คำว่า Avant-Garde ไม่เท่ากับ ‘ต้องตามใจ - เอาใจการชุมนุม’ แต่ คือ การชี้นำสังคม ผลักวาระนำหน้าเพื่อให้สังคมตาม 

...เลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าไม่มีพรรคแบบนี้ คงกาไม่เลือกใคร!!

“ส.ส. บางคนถามผมว่าจะเสนอร่างกฎหมาย 112 แบบใด ผมยืนยันเรื่องยกเลิก 112 พร้อมยกเลิกความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาททั้งหมด ผมอธิบายเหตุผลยืดยาว แต่เมื่อพรรค ก.ก. เสนอแบบนั้นก็จบ ผมไม่เกี่ยวด้วย แต่ผมขอใช้เสรีภาพแสดงจุดยืนของผม เท่านี้ก็พิสูจน์ได้แล้วว่าผมไม่เกี่ยวกับ ก.ก. สั่งการ ก.ก. ไม่ได้”

นายปิยบุตรทวีตอีกว่า “112” ไม่ใช่แค่กฎหมายธรรมดา แต่เป็นมากกว่านั้น การปล่อยให้ “112” อยู่ต่อไป แบบเบาลง หรือปล่อยให้อวตารเป็นร่างอื่น คือ กินยาพารา แต่ก็มีโอกาสฟื้นคืนชีพกลับมาได้เสมอ ปฏิวัติที่ไม่ปฏิวัติไม่ใช่ปฏิวัติ โค้กที่ไม่มีน้ำตาลไม่ใช่โค้ก กาแฟที่ไม่ขมไม่ใช่กาแฟ ปฏิวัติอยู่หน้าประตูแต่ไม่ใช้

จากนั้นท่าทีของพรรคก้าวไกลเปลี่ยนไป โดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคก้าวไกลดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ การแก้ไข น่าจะเป็นทางออกที่โอบรับบุคคลทุกฝ่ายที่พอจะมีฉันทามติร่วมกันได้ แต่สถานการณ์ตอนนี้เปลี่ยนไป มาตรา 112 ถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อ มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีมากเป็นประวัติการณ์ จนสามารถพิจารณาได้ว่าเป็นคดีการเมืองแล้ว อาจจะไม่ใช่คดีอาญาแล้ว

วิโรจน์ กล่าวอีกว่า จากการเสนอแก้ไขเมื่อ 9 เดือนก่อน วันนี้พรรคก้าวไกลต้องกลับมาทบทวนแล้วว่ามันตอบรับกับสถานการณ์หรือไม่ แต่เราต้องคิดถึงการโอบรับคนอื่นด้วย แค่การแก้ไข ยังไม่มีพรรคการเมืองใดลงชื่อร่วมกันกับเราเลย ก็ต้องคิดถึงมือในสภาด้วย ถ้ามือในสภายกผ่าน จึงจะเกิดการแก้ไข ความพยายาม หรือการผลักดันจากภาคประชาชนที่จะให้มีการยกเลิกมาตรา 112 พรรคก้าวไกล ก็รับฟัง

“ไม่ว่าจะการแก้ไขก็ดี หรือการยกเลิกก็ดี พรรคก้าวไกลพร้อมที่จะรับฟังและผลักดันอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องโอบรับความเห็นอื่น ๆ และคำนึงถึงโอกาส หรือวิธีการที่จะทำให้เกิดขึ้นจริง”

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการหาว่าพรรคก้าวไกลไปปลุกม็อบอีกหรือไม่ นายวิโรจน์ ชี้แจงว่า วันนี้ถ้าพรรคก้าวไกลเงียบ คุณคิดว่าสังคมหยุดหรือไม่ กลับคิดว่าถ้าวันนี้พรรคก้าวไกลเงียบ ภาคประชาชนจะยิ่งรุนแรง เพราะไม่มีทางระบายออกเชิงระบบที่เป็นไปได้ ข้อกล่าวหาว่าพรรคก้าวไกลปลุกม็อบนั้น วันนี้ภาคประชาชนตั้งคำถามกับพรรคก้าวไกลอย่างรุนแรง ในสภาเป็นพรรคที่ชัดเจนที่สุดแล้ว ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากภาคประชาชนว่า ตอบสนองเขาน้อยเกินไป ขอบันทึกไว้ตรงนี้ว่า ไม่ได้รู้สึกไม่ดีต่อการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน เป็นความชอบธรรมของภาคประชาชนที่จะเรียกร้องมากกว่าสิ่งที่เราทำ เราก็ต้องน้อมรับและสกัดเอาแก่นของความคิดเห็นเหล่านั้นมาประมวล

ขณะที่ด้าน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ได้เผยแพร่รายการ “คุยกับลุง” EP.4 ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)’ ถึงประเด็นมาตรา 112 ว่า เราตรากฎหมายอาญามาตรา 112 ขึ้น เพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์ ไม่ให้ผู้ใดละเมิด จริง ๆ แล้ว ของเรา เราไม่ได้ปกป้องเฉพาะพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพระประมุขของประเทศเรา เรามีกฎหมายอาญามาตรา 133 ปกป้องประมุขของรัฐอื่น ประเทศอื่นเช่นเดียวกัน ข้อความเหมือนกันเลย สาระในกฎหมายที่บัญญัติไว้ มีข้อความเหมือนกัน มาตรา 133 บัญญัติว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ต้องระวางคุกจำโทษ ตั้งแต่ 1 ปีถึง 7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 1 แสน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"เรามีกฎหมายอาญาปกป้องทั้งพระประมุขที่เป็นพระมหากษัตริย์ของเรา และเราให้เกียรติ ปกป้องประมุขของประเทศอื่น และลองนึกดูว่า ถ้าเราไม่เขียนปกป้องประมุขของประเทศอื่นไว้ หากมีคนไทยคนไหนเครื่องร้อนขึ้นมา ไปหมิ่นประมาท ไปดูหมิ่น หรือไปแสดงความอาฆาตมาดร้ายประมุขประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หรือพระราชาธิบดี หรือประธานาธิบดี ถ้าเกิดมีคนไทยทำอย่างนั้นขึ้นมา เป็นเรื่องระหว่างประเทศ ประชาชนเขาก็คงไม่ยอมว่า ทำไมคนไทยถึงไปล่วงละเมิดดูหมิ่นประมุขของประเทศเขา อันนี้ก็เรียกว่า เป็นสงครามได้ เป็นเรื่องใหญ่ได้"

นายสุเทพ เผยว่า กังวลใจลึก ๆ ว่า เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่นำไปสู่ข้อขัดแย้งของคนในประเทศ วันนี้มี 3 ฝ่ายในประเทศ ฝ่ายหนึ่งต้องการแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย แต่ฝ่ายที่สามไม่รู้จะคิดอย่างไร เพราะไม่รู้ว่าเรื่องที่เขาคิดจะแก้ไข หรือเรื่องที่เขาไม่ต้องการจะแก้ไข เนื้อหาสาระเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทย วันนี้ไม่สนใจไม่ได้แล้ว จึงชวนพี่น้องมาช่วยกันติดตามศึกษา

"ผมสารภาพเลยว่าผมยืนอยู่ข้างฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะเห็นว่าที่บัญญัติไว้แค่นี้ เหมาะสมถูกต้องแล้ว สำหรับประเทศไทยของเรา อยากเอาความคิดตรงนี้มาจุดประกายความคิดในใจของพี่น้องประชาชนว่า ผมคิดถูกหรือเปล่าที่คิดอย่างนี้ พี่น้องประชาชนที่เป็นคนไทยแบบผมคิดเห็นแบบผมกันหรือเปล่า วันหลังเราจะมาคุยกันถึงเนื้อหาสาระในร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่พรรคการเมืองพรรคต่างเขากำลังจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา" นายสุเทพกล่าว

เท่าพิภพ จี้!! ผู้ว่าฯ อัศวินรับผิดชอบ หลังน้ำท่วมชุมชนรอบแม่น้ำเจ้าพระยา 

เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. เขตคลองสาน พรรคก้าวไกล ลงพื้นที่น้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนเข้าประชุมสภาฯ โดยพบว่าพี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากน้ำทะเลหนุนขึ้นสูงและไม่มีการแจ้งเตือนจากกรุงเทพมหานคร ทำให้ทรัพย์สินในบ้านได้รับความเสียหาย จากการสอบถามจากประชาชนที่น้ำท่วมเล่าว่าไม่มีการแจ้งเตือนเลย สำนักระบายน้ำ ก็บอกว่าคิดว่าจะขึ้นแค่ 1 เซนติเมตร แต่ที่จริงขึ้น 34 เซนติเมตร ทำให้ชาวบ้านขนของไม่ทัน เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหาย 

โดยเท่าพิภพระบุว่า แม้เหตุการณ์น้ำทะเลหนุนจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งแต่อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานคร ก็ควรมีการจัดทำระบบแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเพื่อให้สามารถเตรียมตัวและรับมือกับเหตุการณ์เช่นนี้ได้ 

 

'ก้าวไกล’ แนะรัฐหนุน ‘แรงงานข้ามชาติ’ เข้าระบบ ชี้!! ยิ่งจับ ยิ่งส่งเสริม ‘ค้ามนุษย์’ เฟื่องฟู

เปิดประเทศสุดลักลั่น สวนความต้องการภาคเศรษฐกิจ ‘สุเทพ’ ชี้ ‘แรงงานข้ามชาติ’ ยิ่งเน้นจับ ยิ่งส่งเสริมขบวนการ ‘ค้ามนุษย์’ เฟื่องฟู

วันที่ 9 พ.ย. 64 นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนแรงงาน พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร สะท้อนทัศนะต่อสถานการณ์แรงงานในขณะนี้ว่า เมื่อรัฐบาลต้องการเปิดประเทศ สิ่งที่ตามมาทันทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ความต้องการแรงงานเพื่อขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแรงงานต่างชาติที่ยังจำเป็นอย่างมากในหลายภาคส่วน ไม่ว่าภาคประมง ภาคเกษตร ภาคท่องเที่ยว หรือภาคอุตสาหกรรม แต่สิ่งที่ไม่ควรละเลยคือ ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างชาติ ซึ่งเกี่ยวพันซ้อนทับกับปัญหาหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากขบวนการค้ามนุษย์ ต้นทุนทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงทางสาธารณสุขที่อาจเกิดการระบาดของโควิด-19 ซ้ำรอยกรณีคลัสเตอร์แรงงานต่างชาติจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อกลางเดือนธ.ค. ปีก่อน สิ่งที่น่ากังวลก็คือ เริ่มปรากฏสัญญาณหลายอย่างที่ส่อไปในทางนั้น ซึ่งสะท้อนว่า รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ไม่เคยมีการถอดบทเรียนเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นเลย

“กรณีคลัสเตอร์สมุทรสาคร เกิดขึ้นหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 จากคำสั่งปิดเมืองระลอกแรก ทำให้มีความต้องการแรงงานข้ามชาติสูงในภาคการผลิต แต่ภาครัฐก็ยังดำเนินนโยบายปิดชายแดนอย่างเข้มงวด ไม่ปรับตัวตามสถานการณ์จริงเพื่อทำให้การเข้ามาของแรงงานต่างชาติเป็นไปอย่างถูกกฎหมายภายใต้มาตรการสาธารณสุข ทั้งที่เรื่องนี้สามารถทำได้ ผลที่ตามมาคือ เกิดขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานขึ้น ซึ่งเป็นธุรกิจสีเทาที่จะเกิดไม่ได้เลย หากไม่มีความร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตกินสินบาทคาดสินบน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งก็เป็นที่รู้กันดีว่าเจ้าหน้าที่ส่วนไหนมีหน้าที่ในการดูแลชายแดน แต่กลับปล่อยปละละเลยจนเกิดการทะลักเข้ามาของแรงงานเถื่อนได้มหาศาล สุดท้ายจึงเกิดเป็นคลัสเตอร์จังหวัดสมุทรสาครขึ้น นำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดอีกครั้ง สร้างความเดือดร้อนและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลับไม่สามารถหาตัวเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในความบกพร่องเหล่านี้มารับผิดได้เลย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อมาก”

สุเทพ กล่าวต่อไปว่า เมื่อไม่มีการถอดบทเรียนจนมาถึงการเปิดเมืองในครั้งนี้ จึงยังเห็นนโยบายที่เน้นการปิดชายแดนอย่างเข้มงวดหรือทำให้เป็นเรื่องยากแบบเดิม และสวนทางกับความต้องการของภาคเศรษฐกิจเหมือนเดิม ช่วงที่ผ่านมาจึงเห็นสัญญาณการลักลอบนำเข้าแรงงานข้ามชาติอย่างผิดกฎหมายกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งในส่วนที่จับกุมได้ เช่น ที่จังหวัดกาญจนบุรี วันเดียว 260 คน พบว่ามีการจ่ายกันถึงรายละ 18,000 - 23,000 บาทต่อคน ขณะเดียวกัน ส่วนที่จับกุมไม่ได้ก็มี ดังกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถคว่ำและถูกเอาไปทิ้งไว้ข้างทางกว่า 20 คน ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 3 คน ในจำนวนนี้ยังพบผู้ติดเชื้อโควิด- 19 ด้วย   

“สัญญาณเหล่านี้ชัดมากว่ากำลังมีขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานระลอกใหญ่ เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น หากรัฐบาลและกระทรวงแรงงานมีวิสัยทัศน์ในการมองแรงงานเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจเพื่อเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส หันมาส่งเสริมสนับสนุนสวัสดิการและการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเต็มที่ เพื่อจูงใจให้แรงงานต้องการอยู่ในระบบ เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด ทั้งแรงงานในประเทศหรือแรงงานข้ามชาติล้วนเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งที่ขาดไม่ได้ทั้งสิ้น ในทางกลับกัน หากบริหารจัดการไม่ดี ปัญหาก็จะวนลูปกลับไปเหมือนกรณีคลัสเตอร์สมุทรสาคร”  

สุเทพ กล่าวต่อไปว่า หากพิจารณาจากความต้องการของภาคเศรษฐกิจขณะนี้ คาดว่า ไทยยังมีความต้องการแรงงานต่างชาติไม่น้อยกว่า 5 แสนคน เพราะแรงงานกลุ่มเดิมที่กลับภูมิลำเนาไปยังไม่สามารถกลับเข้ามาได้หรือกลับมาได้ยาก เนื่องจากการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายมีต้นทุนสูง มีต้นทุนจากการตรวจคัดกรองตามระบบสาธารณสุขเพิ่มเข้ามา ขณะเดียวกันระบบราชการที่ล่าช้าก็เป็นอีกช่องว่างหนึ่งที่ภาคธุรกิจรอไม่ได้ ส่วนแรงงานข้ามชาติที่ตกค้างในประเทศน่าจะอยู่ประมาณหนึ่งล้านคน บางส่วนเมื่อหมดอายุลง การขึ้นทะเบียนใหม่ก็มีภาระต้นทุนแพงกว่าการใช้แรงงานผิดกฎหมาย 

‘ก้าวไกล’ โวยกลุ่มเซาะกร่อนบ่อนทำลายพรรค ยันชงแก้ ม.112 ไม่ล้มล้างการปกครอง

อย่าหวั่นเสียงขู่ของพวกตกยุค ‘ก้าวไกล’ ยืนยัน ข้อเสนอแก้มาตรา 112 ของพรรคไม่ล้มล้างการปกครอง ‘โรม’ จี้ ‘ประธานชวน’ เร่งบรรจุวาระเพื่อใช้สภาเป็นทางออก

รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยประเด็นว่า ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของประชาชนผู้ชุมนุมถือเป็นการล้มล้างการปกครองฯ เป็นต้นมา เห็นได้ว่าเริ่มมีบางคนบางกลุ่มพยายามนำมาเป็นข้ออ้างในการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพรรคก้าวไกล ราวกับเป็นขั้นตอนต่อไปของแผนการที่ได้ตระเตรียมมาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นบางคนบางกลุ่มจากนอกสภาที่อ้างเหตุที่ ส.ส. ของพรรคไปประกันตัวให้ผู้ชุมนุมบ้าง หรือที่พรรคพยายามยื่นเสนอแก้มาตรา 112 ต่อสภา ซึ่งเรื่องเหล่านี้ เราก็ได้ยืนยันแล้วว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตในฐานะผู้แทนประชาชน ที่จะต้องช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน และผลักดันสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องให้เกิดผล


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top