Wednesday, 8 May 2024
จัดตั้งรัฐบาล

'ตระกูลฉายแสง' ไม่เห็นด้วย 'พท.' จับ 'รทสช.-พปชร.' 'อึดอัดใจ-นอนไม่หลับ' หาเสียงคนพื้นที่ไว้เยอะ

'ฐิติมา ฉายแสง' สส.ฉะเชิงเทรา เพื่อไทย ถึงกับ ‘อึดอัด-นอนไม่หลับ’ กับข่าวเพื่อไทยจะจับมือรวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ จัดตั้งรัฐบาล ยืนยันไม่เห็นด้วย หาเสียงไว้เยอะ คนพื้นที่อึดอัด

มาถึงเวลานี้ก็ยังไม่ชัดว่า รัฐบาลของเพื่อไทยจะประกอบด้วยพรรคไหนบ้าง ไม่เห็นร่องรอยของการทาบทาม-เจรจา จะจับมือกับรวมไทยสร้างชาติ หรือพลังประชารัฐ ก็มีวาจามัดคออยู่ 'ไม่เอาลุง'

ถ้าไม่เอาพรรค 'ลุงพี่-ลุงน้อง' จะเอาเสียงที่ไหนมาสนับสนุนให้เพียงพอ และมั่นใจว่า สว.จะโหวตให้ด้วย เพราะคร่าวๆ ต้องใช้มือจาก สว.ไม่น้อยกว่า 110 เสียง

ฝ่ายที่กำลังฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลก็คงจะยุ่งยากลำบากใจไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เคยลั่นวาจาไว้ว่า ในนามหัวหน้าพรรค ถ้าร่วมกับพรรคลุง "ผมลาออก"

ดูท่าทีของสองพี่น้อง 'ตระกูลฉายแสง' ทั้ง 'จาตุรนต์ ฉายแสง' และ 'ฐิติมา ฉายแสง' ก็อึดอัด กระอักกระอ่วนใจกับการจะดึงพรรคลุงมาร่วมรัฐบาล

แต่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือดึงมาหมดเกือบทุกพรรคแล้ว 13-14 พรรค ก็จะได้แค่ 266-267 เสียงเท่านั้น ถ้าไม่เพิ่มพรรคลุงเข้ามา ต้องอาศัยเสียง สว.มากถึง 110 เสียง เป็นอย่างน้อย

ถามว่า เวลาของเพื่อไทยเกือบเดือน 'สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ' หัวหน้าคณะเจรจากับ สว.ได้คุยกับใครแล้วบ้าง ได้มาแล้วกี่เสียง ซึ่งจนถึงวินาทีนี้ยังไม่มีสัญญาณใด ๆ ทั้งจาก 'สุริยะ' และจากน้ำเสียงของ สว.เองว่าจะโหวตให้

ที่ไม่ควรลืมคือ สว.ชุดนี้มาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช.ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีกรรมการสรรหา ที่มีชื่อ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ เป็นประธานกรรมการสรรหา

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อเกิดขึ้นจากการชุมนุมขับไล่เครือข่ายทักษิณ ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ปี 2543 ตั้งแต่ยุคทักษิณ ชินวัตร ยุคสมชาย วงศ์สวัสดิ์, สมัคร สุนทรเวช และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จึงถูกเฟ้นหามาจากคนที่ไม่เอาทักษิณ ไม่ชอบระบอบทักษิณ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย หรือเรื่องยากที่ สว.จะยกมือสนับสนุนคนของพรรคเพื่อไทยที่ใคร ๆ ก็รู้ว่าพรรคของใคร และมีเป้าหมายคือ 'เอาทักษิณกลับบ้าน'

วันนี้ 'ทักษิณ' เลื่อนกลับบ้านอย่างไม่มีกำหนด หลังการจัดตั้งรัฐบาลของเพื่อไทยยังไม่เรียบร้อย โดยอ้างว่า 'หมอนัดด่วน' จะนัดด่วนจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ยืนยันไม่กลับไทยตามกำหนดเดิม 10 สิงหาคม แต่เห็นเตร็ดเตร่อยู่ในกรุงพนมเปญ ประเทศข้างบ้านเรา ไปโผล่ร่วมงานวันเกิดนายกฯ ฮุนเซ็น ของกัมพูชา

ทางการไทยไม่มีขยับ หรือไม่รู้ว่าทักษิณเดินทางเข้าพนมเปญ ทำไมไม่แจ้งขอความร่วมมือกัมพูชา ส่งตัว 'ผู้ร้ายทักษิณ' กลับมารับโทษ เพราะไทย-กัมพูชา มีข้อตกลงเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันอยู่ และลงนามร่วมกันตั้งแต่ปี 2541 แล้ว

ระวังนะสักวันหนึ่ง 'ทักษิณ' อาจจะเดินทางเข้าไทย ผ่านทาง 'ช่องทางหมาลอด' หรือช่องทางธรรมชาติ ก็เป็นได้ ที่บอกว่าจะกลับมาอย่างแมนๆ เท่ห์ ผ่านสนามบินดอนเมือง อาจจะไม่จริงก็ได้ เป็นแค่ละครตบตาเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น

มาถึงนาทีนี้บอกได้เลยว่า การจัดตั้งรัฐบาลของเพื่อไทยยากขึ้นทุกที ยังไม่เห็นวี่แววของความสำเร็จ มีอุปสรรคมากมาย...

- การรวมเสียง แม้จะได้เกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังไม่ผ่านด่าน 367 เสียงของรัฐสภา (สส./สว.)
- เพื่อไทยยังต้องการเสียงสนับสนุนจาก สส./สว.อีกอย่างน้อย 110 เสียง
- จะดึงพรรคลุงพี่-ลุงน้อง เข้าร่วมก็มีวาทะมัดคออยู่ แถมคนในเองก็ไม่เห็นด้วย

- การจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วในพรรคเพื่อไทยเองก็ยังเห็นแย้ง ไม่มีความเป็นเอกภาพเช่นกัน
- จะย้อนกลับไปคืนดีกับก้าวไกล ก็มาไกลเกินไปแล้ว ไกลเกินกว่าจะกลับไปร่วมเรียงเคียงหมอนกันอีก
- ท่าทีของผู้ใหญ่บางคนในพรรคเพื่อไทย กับพรรคข้ามขั้ว ยังไม่ให้เกียรติ์กันพอ เช่น เขามาเอง เราไม่ได้เชิญ เป็นต้น

- กว่าจะถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คาดิเดตของเพื่อไทย 'เศรษฐา ทวีสิน' น่าจะถูกตีน่วมไปก่อน ซึ่งประเดิมด้วย 'ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์' ผิดถูกอย่างไรไม่รู้ แต่มัวหมองไปแล้ว เรื่องอื่นๆ ก็น่าจะพลั้งพรูออกมาเรื่อยๆ

บอกตามตรงว่า ถึงเวลานี้ยัง 'มืดมน' กับการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย มืดมนพอๆ กับการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังไม่เห็นแววว่าจะสำเร็จเมื่อไทย

จึงเริ่มมีคำถามในสื่อโซเชี่ยลว่า สามคำถาม อันไหนยากกว่ากัน อันไหนจะสำเร็จก่อน...
- จัดตั้งรัฐบาล
- ทักษิณกลับบ้าน
- เลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

โดยส่วนตัว #นายหัวไทร ไม่เชียร์ใคร ไม่หยามใคร แต่อยากให้การจัดตั้งรัฐบาลเสร็จลงโดยเร็ว เพราะยิ่งช้า ประเทศชาติ และประชาชนจะเสียประโยชน์ ใครมองเห็น มองไม่เห็นผมไม่ทราบ แต่ผมมองไม่เห็นว่า ถ้ามีรัฐบาลช้า 'หายนะ' รออยู่ โดยเฉพาะหายนะด้านเศรษฐกิจ

ผมไม่ถึงกับ 'อึดอัด-นอนไม่หลับ' แต่กลุ้มใจกับภาวะที่เป็นอยู่ และไม่สบายใจกับผลที่อาจจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า

'นพดล' แจง!! สถานการณ์ตั้งรัฐบาลตอนนี้ไม่ง่าย ไม่ได้วิ่งอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ แต่จะทำให้ดีที่สุด 

(7 ส.ค. 66) นายนพดล ปัทมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการเห็นชอบแคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทย ในการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป ว่า น่าจะเป็นไปอย่างเรียบร้อย ต้องให้เวลาตัวแทนพรรคที่ไปเจรจาหาเสียงตั้งรัฐบาล การล่าช้าออกไปไม่กี่วันคงไม่กระทบโรดแมปในการตั้งรัฐบาลเข้ามาขับเคลื่อนประเทศและแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

นายนพดล กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้สื่อและนักวิเคราะห์ถกเถียงกันว่าใครจะเป็นนายกฯ จะพลิกขั้วไหม แต่ที่พรรคเพื่อไทยกังวลคือปัญหาปากท้อง ราคาพลังงานสูงขึ้น รายได้ประชาชนหดหาย หนี้สินครัวเรือน ยาเสพติดระบาด ปัญหาภัยแล้งเอลนิโญ ปัญหาไทยเสียโอกาสในเวทีโลก เด็กหลุดจากระบบการศึกษา การจัดทำงบประมาณประทศ เป็นต้น พรรคคิดตลอดว่าทำอย่างไรจึงจะมีรัฐบาลมาแก้ปัญหาเหล่านี้ให้เร็วที่สุด เพราะเราเอาปัญหาประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ง่วนกับการตั้งรัฐบาลเพื่อมีอำนาจอย่างเดียว นอกจากนั้นนักธุรกิจ นักวิชาการหลายคนเห็นว่าควรมีรัฐบาลโดยเร็ว ทางเลือกที่ให้ทอดเวลาไปเกือบปีเพื่อให้ สว.หมดอำนาจโหวตนายกฯ แล้วค่อยให้สภาผู้แทนฯ โหวตนายกฯ น่าจะมีผลเสียมากกว่าผลดี

เมื่อถามว่า มีคนวิจารณ์ท่าทีเพื่อไทยมากมายในช่วงนี้ นายนพดล กล่าวว่า เราเคารพความเห็นต่าง สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ก็นำมาคิดต่อ น่าเสียดายบางคนด่าล่วงหน้าไปแล้ว แต่ขอให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนว่าพรรคเพื่อไทยจะเลือกแนวทางที่ดีที่สุด สถานการณ์การตั้งรัฐบาลขณะนี้ไม่ใช่งานง่าย เราไม่ได้วิ่งอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ แต่ต้องทบทวนสิ่งที่พรรคเพื่อไทยทำมา ส.ส.ของพรรคเห็นชอบโหวตให้คุณพิธาครบ 141 เสียง และโหวตไม่เห็นด้วยกับญัตติที่ไม่ให้เสนอชื่อคุณพิธาเป็นครั้งที่ 2 ครบ 141 เสียง พรรคไม่ได้บิดพลิ้วเลย หลังจากที่พรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็ส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเราก็ต้องพยายามหาเสียงให้ครบ 375 เสียง ขณะนี้ก็ต้องดำเนินการขอเสียงสนับสนุน

"ผมขอความเป็นธรรมให้พรรคเพื่อไทยด้วยว่า พรรคไม่ได้มีทางเลือกมากมาย แต่จะพยายามทำให้ดีที่สุด โดยยึดมั่นประโยชน์ของประเทศและประชาชนมาก่อนประโยชน์พรรค" นายนพดล กล่าว

'อ.ไชยันต์' เปรียบการเมืองเนเธอร์แลนด์ แล้วย้อนดูการเมืองไทย พรรคคะแนนสูง แต่ไม่เกินครึ่งสภา อกหักเป็นเรื่องธรรมดา

(8 ส.ค.66) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในหัวข้อ 'ในเนเธอร์แลนด์ พรรคการเมืองอะไรที่พรรคอื่น ๆ ไม่อยากยุ่งด้วย' ว่า...

"ดูการเมืองเนเธอร์แลนด์ แล้วย้อนดูการเมืองเรา"

โดย Luket Chusorn นักศึกษาชาวเนเธอร์แลนด์ เชื้อสายไทย เผยว่า...

หากการทำนายผลเลือกตั้งถูกต้อง พรรค PVV (พรรคเพื่อเสรีภาพ : Partij voor de Vrijheid) ซึ่งเป็นพรรคขวาจัด จะกลายเป็นพรรคที่ได้ สส. มากที่สุด แต่ไม่เกินครึ่งในสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งที่จะมาถึง 

และนั่นไม่ได้หมายความว่า พรรค PVV จะได้จัดตั้งรัฐบาลโดยอัตโนมัติ 

ตรงกันข้าม โอกาสที่ PPV จะได้จัดตั้งรัฐบาลหรือร่วมรัฐบาลมีน้อยมาก เพราะไม่มีพรรคใหญ่ไหนอยากร่วมงานกับ PVV 

ถึงแม้ ดูเหมือนว่า พรรค VVD (พรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย : Volkspartij voor Vrijheid en Democratie) จะเปิดทางไว้บ้าง เพราะเนื่องจากหลักของพรรค VVD เห็นว่า 'ไม่ควรประกาศล่วงหน้าว่าจะไม่ร่วมมือกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง' ก็ตาม

แต่จริง ๆ แล้ว VVD และพรรคการเมืองแนวเสรีนิยมอื่น ๆ ต่างพยายามหาทางกำจัด PVV ให้เร็วที่สุด 

ไม่น่าเป็นไปได้ที่ PVV และ VVD จะได้เสียงข้างมากในรัฐสภาร่วมกัน 

เพราะทันทีที่พรรคของ Geert Wilders หรือ PVV ถูกเขี่ยออกไป การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีที่แท้จริงก็จะเริ่มขึ้น

ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกในประเทศเนเธอร์แลนด์ 

เพราะในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้ง พรรค PvdA (พรรคแรงงาน : Partij van de Arbeid) ก็ได้เป็นพรรคที่มี สส. มากที่สุดสองครั้ง แต่ก็ยังต้องลงเอยเป็น 'ฝ่ายค้าน'

แต่กระนั้น พรรค PVV ก็ไม่ได้กังวลอะไรกับการที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล

เพราะ Geert Wilders หัวหน้าพรรค PVV เชื่อว่า การที่พรรคของเขาถูกขัดขวางทางการเมือง ก็ยิ่งจะทำให้พรรค PVV ของเขาได้รับความนิยมมากขึ้น

‘วิษณุ’ ชี้!! หาก ‘ก้าวไกล’ จะเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ‘หมออ๋อง’ ต้องไขก๊อกรองประธานสภา

(8 ส.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน เนื่องจากรัฐธรรมนูญระบุห้ามไม่ให้ สส.ในพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรดำรงตำแหน่งดังกล่าว ว่า แม้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลจะถูกหยุดปฎิบัติหน้าที่ แต่ยังไม่ถือว่าพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน จึงยังแต่งตั้งไม่ได้ ตอนนี้ต้องรอให้รู้ก่อนว่า พรรคไหนเป็นพรรคร่วมรัฐบาลบ้าง เนื่องจากผู้นำฝ่ายค้านต้องมาจากพรรคที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาล และต้องเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดในฝ่ายค้าน

เมื่อถามถึงกรณีของนายปฏิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ที่เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ทำให้พรรคก้าวไกลเป็นผู้นำฝ่ายค้านไม่ได้ เนื่องจากแย้งกับรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าจะต้องเป็นผู้นำฝ่ายค้านก็ต้องลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาฯ

เมื่อถามว่า หากนายพิธาต้องหลุดจาก สส. พรรคก้าวไกลต้องเปลี่ยนหัวหน้าพรรคใช่หรือไม่ นายวิษณุ ยอมรับว่าใช่

เมื่อถามว่า การที่ยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ทำให้หลายฝ่ายกังวลเรื่องปีงบประมาณที่จะล่าช้าออกไป นายวิษณุ กล่าวว่า ก็น่ากังวล เพราะปกติในช่วงนี้งบประมาณปี 67 จะเข้าสภาฯ จนกระทั่งจวนจะพิจารณาเสร็จอยู่แล้ว แต่การที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ ทำให้ไม่มีคนมาทำงบประมาณ และกว่าจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามา สมมุติได้รัฐบาลใน ก.ย. กว่าจะทำงบประมาณได้ต้องแถลงนโยบายให้เสร็จก่อน อาจจะอยู่ในช่วงปลายก.ย.หรือต้น ต.ค. แล้วต้องใช้เวลาอีก 1 เดือนในการทำงบประมาณ ทำให้งบประมาณ ปี 67 เข้าสภาประมาณ พ.ย. - ธ.ค. แล้วต้องใช้เวลาอยู่ในสภาอีก 3 เดือน จังหวะนั้นจะพอดีกับการทำงบประมาณในปี 68 ทำให้งบประมาณสองปีซ้อนกัน เมื่อถามว่า มีการประเมินหรือไม่ว่าจะทำให้เกิดความเสียหายมากน้อยเพียงใด นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะไม่ได้ประเมิน ต้องให้ภาคเอกชนเขาประเมินแล้วกัน

'เพื่อไทย' แถลงจับมือ 6 พรรคจัดตั้งรัฐบาล เดินหน้าแก้วิกฤตประเทศ ดูแลประชาชน

(9 ส.ค. 66) ที่อาคารรัฐสภา พรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อมด้วย 6 พรรคการเมือง แถลงข่าวร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย โดยมีคำแถลง ดังนี้

วันนี้ พรรคเพื่อไทยได้รวบรวมเสียงเพิ่มเติม และได้รับการสนับสนุนจาก 6 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคเพื่อไทยรวมพลัง พรรคพลังสังคมใหม่ พรรคท้องที่ไทย และรวมเสียงโหวตได้มากกว่ากึ่งหนึ่งแล้ว

พรรคเพื่อไทยและทุกพรรคการเมืองคาดหวังอย่างยิ่งว่า จะสามารถคลี่คลายสถานการณ์ สลายขั้วการเมือง ทุกฝ่าย เดินหน้าขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากหลายพรรคการเมือง และเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ สามารถบริหารประเทศ และเร่งแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้โดยเร็ว ที่ขณะนี้กำลังเผชิญความเดือดร้อนรุนแรง การประวิงเวลาออกไปยิ่งทำให้เกิดความเสียหายยิ่งขึ้น การจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วเท่าไรจะยิ่งแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น

เรายืนยันจะทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความพิเศษ ท่ามกลางวิกฤตรัฐธรรมนูญ วิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชน และวิกฤตความขัดแย้งในสังคม แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งสีแบ่งขั้ว

การที่จะแก้วิกฤตครั้งนี้ได้ ต้องสลายขั้วการเมือง ดึงความร่วมมือจากทุกพรรคทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ทุกคน เพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทย และนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำ เพื่อนำรัฐธรรมนูญออกจากวิกฤต เพื่อนำประชาชนให้พ้นทุกข์ เพื่อสร้างความสามัคคี สมานฉันท์ โดยถือเป็น ‘วาระประเทศ’ ที่สำคัญอย่างสูงสุด

เราอยากขอวิงวอน ให้พี่น้องประชาชนมั่นใจในพรรคเพื่อไทย และพรรคการเมืองที่ให้การสนับสนุนในครั้งนี้ เราจะช่วยกันฝ่าวิฤตเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนทุกคน

เราหวังจะเห็นความสามัคคีของทุกฝ่ายในประเทศ

‘ภูมิธรรม’ ปัดขอก้าวไกลช่วยโหวตเลือกนายกฯ มั่นใจ มีเสียงเพียงพอ ลั่น!! ขอให้รอดูผลวันจริง

(10 ส.ค. 66) ที่รัฐสภา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยไปขอเสียงพรรคก้าวไกลให้ช่วยโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะไม่มั่นใจเสียงสนับสนุนของ สว.ว่าจะได้ตามจำนวนหรือไม่ ว่า…

“ไม่ใช่ครับ เสียงมีพอ พร้อมทุกอย่าง ขอให้รอดูในวันโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งต้องรอหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และกำหนดวันประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้ง โดยให้รอดูผลการโหวตในวันนั้น”

เมื่อถามว่าการไปเชิญพรรคก้าวไกล จะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลอื่นเกิดความระแวงหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวย้ำว่า ขอให้รอดูผลโหวต

ส่วนกรณีนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความตอบโต้นายภูมิธรรม ด้วยข้อความที่ค่อนข้างรุนแรง ถือเป็นการกระทบกระทั่งกันหรือไม่นั้น นายภูมิธรรม กล่าวว่า “ก็เป็นนานาทัศนะของแต่ละคน”

เมื่อถามว่า นางอมรัตน์ยังเป็นน้องที่น่ารักอยู่หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า “ก็เหมือนเวลาเราบอกกับเด็กตัวเล็กๆ ว่า น่ารักน่าชัง”

‘ชัยวุฒิ’ เผย ‘ลุงป้อม’ ให้ความมั่นใจยังอยู่กับ พปชร. ลั่น!! ไม่เคยมีใครพูดว่าลุงป้อมไม่รับตำแหน่งรัฐบาล พท.

(12 ส.ค. 66) ที่สนามหลวง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้าอวยพรวันคล้ายวันเกิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ว่า พล.อ.ประวิตรได้ให้ความมั่นใจกับสมาชิกว่าจะทำงานร่วมกับพรรค เพื่อให้พรรคเข้มแข็งและเดินหน้าต่อไป

เมื่อถามว่า มีข่าวว่ามีการขอให้ซื่อสัตย์กับลุงป้อม นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ก็คงมีบางคนพูด แต่ก็เป็นแนวทางของเราอยู่แล้วที่จะต้องมีความจริงใจต่อกันในการทำงาน ตั้งใจทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับพรรคและทำนโยบายของพรรคต่อไปในอนาคต

เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตรได้กำชับสมาชิกในพรรคเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรีในครั้งต่อไปหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร บอกจะยกทั้ง 40 สส. โหวตนายกฯ ให้เพื่อไทย นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่มีคุยกันเรื่องนี้ งานวันเกิดไม่ใช่การประชุมพรรค เดี๋ยวคงจะมีการประชุมพรรคเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง ข่าวที่ออกมาเป็นเพียงแนวคิดของ สส.บางกลุ่ม แต่มันจะเป็นทางการก็ต่อเมื่อมีการประชุมพรรค เป็นมติพรรค และแถลงข่าวร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล ตอนนี้สมาชิกในพรรคยังไม่มีการพูดคุยกันว่าแนวทางการโหวตจะเป็นอย่างไร แต่แน่นอนว่านักการเมืองตอนนี้คุยกันในเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลถือเป็นวาระสำคัญของสภาฯ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ข่าวการจัดตั้งรัฐบาลที่ออกมาคิดว่าจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ก็ต้องรอติดตามดูอีกที ตนก็รู้จากนักข่าวนี่แหละว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะมันเป็นข่าวจากหลายพรรคหลายที่ตนก็รู้แต่เรื่องในพรรคพลังประชารัฐ

เมื่อถามว่าในส่วนของ พล.อ.ประวิตร ชัดเจนหรือไม่จะไม่รับตำแหน่งในรัฐบาลชุดนี้ เพราะมีกระแสข่าวว่าจะให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ รับตำแหน่งแทน นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่ทราบ ยังไม่ได้คุยกัน

เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตร ได้มีการบอกหรือไม่ว่าจะวางมือในรอบนี้ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ก็เห็นยังฟิตทำงานอยู่ตลอดจะวางมือตอนไหน พลังประชารัฐทุกคนก็ยังคงทำงานร่วมกันโดยมี พล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าพรรค และดูจากวันเกิดก็จะเห็นว่ามีลุงก็มีเรา อย่าคิดมาก

เมื่อถามว่า มีข่าวว่า พล.อ.ประวิตรจะไม่รับตำแหน่งในรอบนี้ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ใครบอกว่าไม่รับตำแหน่ง ท่านไม่เคยพูดสักหน่อย ตนยังไม่เคยได้ยินเลย ลุงป้อมเคยพูดที่ไหน ถ้าท่านทำงานได้ท่านก็ทำอยู่แล้ว และตอนนี้ พล.อ.ประวิตรยังคงเป็นแคนดิเดตนายกฯ อยู่ ดังนั้น จะมาบอกว่าท่านจะไม่รับตำแหน่งในรัฐบาลนี้ได้อย่างไร แต่ว่าโอเคอาจจะไม่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ทำไมสื่อชอบไปยุให้ท่านถอนตัวหรือวางมือ

เมื่อถามว่า มีกระแสคัดค้านลุงก่อนหน้านี้ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า มีลุงมีเราอย่าไปคิดมาก ส่วนที่มีสื่อบางสำนักไปลงว่ามีลุงไม่มีแรงนั้นไม่ทราบ แต่ยืนยันว่ามีลุงก็มีเรา ยังอยู่ๆ อย่าคิดว่าลุงไม่อยู่ เพราะท่านก็ยังเป็นหัวหน้าพรรคอยู่ ยังไม่ได้วางมือทางการเมือง สื่อต้องลงข่าวให้มีข้อเท็จจริงด้วย เพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน

จอดป้าย 315 เสียง 10 สส.แลก 1 รมต. รทสช.ยึดพลังงาน/ดีอี ‘ป้อม’ ดัน ‘ป๊อด’

สถานการณ์ทางการเมือง… เดินทางมาถึงหลักกิโลเมตรสุดท้าย ของการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 คาดว่าถ้าวันพุธที่ 16 ส.ค.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไม่รับพิจารณาเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องไป การโหวตนายกรัฐมนตรีอย่างช้าก็จะเกิดขึ้นในวันอังคารที่ 22 ส.ค.นี้

อย่างที่เคยวิเคราะห์ว่า… เวลาที่ทอดยาวออกไป ทำให้พรรคเพื่อไทยได้อย่างเสียอย่าง… ที่ได้คือ การเจรจาฟอร์มรัฐบาลที่รัดกุมรอบคอบมากขึ้น ส่วนที่เสียคือ ฝ่ายต่อต้านจะจัดทัพกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ ทั้งม็อบตัวเป็นๆ และไอโอ โรบอต ในโลกไซเบอร์-ออน์ไลน์… ซึ่งกรณีหลังทราบว่าคนแดนไกลสั่งให้พรรคเพื่อไทยเสริมอุปกรณ์เสริมคนสู้กับกองทัพด้อมส้มเต็มคาราเบลแล้ววววว

มาอัปเดทสูตรรัฐบาลกันดีกว่า… สรุปว่าหลังจากร่ายรำอยู่หลายกระบวนท่า… พรรคเพื่อไทยก็ต้องยอมรับว่าอย่างไรเสียต้องมีพรรคลุงร่วมด้วยอย่างน้อยหนึ่งพรรค เอาไปเอามา… ได้มาทั้งสองพรรค… ถึงวันนี้ดีลลับดีลลึกของพรรคเพื่อไทยก็จบลงที่ 315 เสียง

ถ้าไม่พลิกกันอีก 315 เสียงจะประกอบด้วย

เพื่อไทย 141, ภูมิใจไทย 71, พลังประชารัฐ 40, รวมไทยร้างชาติ 36, ชาติไทยพัฒนา 10,ประชาชาติ 9, ชาติพัฒนากล้า 2, เพื่อไทรวมพลัง 2 และพรรคเล็ก 1 เสียงอีก 4 พรรค คือ เสรีรวมไทย, พลังสังคมใหม่, ท้องที่ไทย, ประชาธิปไตยใหม่...

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า… ที่สุดของที่สุดจะมีประชาธิปัตย์มุ้งใหญ่ของ ‘เฉลิมชัย – เดฃอิศม์’ ประมาณ 20 เสียงเข้าร่วมด้วยหรือไม่...หลังจากที่เดชอิศม์ ขาวทอง หรือ ‘นายกฯ ชาย’ อุตส่าห์ดั้นด้นไปพบทักษิณ ชินวัตร ถึงฮ่องกงเมื่อ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา… ถ้าให้ ‘เล็ก เลียบด่วน’ ฟันธง ก็คงต้องบอกว่าต่อให้ไม่มีมติพรรค ก็น่าจะมี สส.จำนวนหนึ่งยกมือหนุนนายกฯ พรรคเพื่อไทย ให้สัญญาณขอเกาะโบกี้รถไฟไปด้วยคน

สำหรับตัวเต็งนายกฯ คนที่ 30 นาทีนี้ แม้ว่าจะมีแรงต้านพอประมาณจากแนวรบ สว. แต่โอกาสที่เศรษฐา ทวีสิน...จะฝ่าด่านมาได้ก็มีสูงขึ้น ตราบใดที่โครงสร้างพรรคร่วมรัฐบาลยังมีพรรคสองลุง… คือพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติรวมอยู่ด้วย… ขอเพียงอย่างเดียวให้เศรษฐาพูดจาให้ไพเราะขึ้น จริงใจต่อคำพูดใหม่ จุดยืนใหม่มากขึ้น และพรรคเพื่อไทยเองก็ต้องแสดงความชัดเจนว่าไม่แอบจับมือกับพรรคก้าวไกล… แต่ถ้าวันโหวตมีพรรคก้าวไกลโผล่มาโหวตเห็นชอบด้วย โอกาสที่เศรษฐาจะร่วงกลางงาน ก็มีสูง

และมากไปกว่านั้นที่พรรคเพื่อไทย ต้องเปล่งประกายความทุ่มเทที่จะแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ความจริงใจและคำมั่นสัญญาที่นำพาบ้านเมืองออกจากความขัดแย้ง แบ่งฝ่ายแบ่งสี ดังที่ประกาศไว้… จะต้องเข้มข้นมากกว่าการหมกมุ่นหมุนวนอยู่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สำหรับโผ ครม.งวดนี้… คาดว่าจะใช้สูตรคำนวณ 10 เสียงต่อ 1 เก้าอี้รัฐมนตรีเท่าที่ทราบพรรคเพื่อไทยพยายามไม่ให้รัฐมนตรีในรัฐบาลลุงตู่นั่งอยู่ที่เดิม  แต่อาจจะมีข้อยกเว้นสำหรับเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน… โควตาน่าจะตกเป็นของพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่รัฐมนตรีอาจจะเปลี่ยนจาก ‘รองพงษ์’ เป็น อดีตปลัดพลังงานที่ชื่อ ‘ณอคุณ’ ขณะที่กระทรวงดีอี… ก็จะตกเป็นของพรรครวมไทยสร้างชาติ เช่นเดียวกัน

ถามว่าทำไมสองกระทรวงนี้เป็นของพรรคนี้… ตอบสั้นๆ ว่า น่าจะเพราะบารมีเจ้าสัวหนุ่มหล่อ คนนั้น!!

ส่วน ‘ลุงป้อม’ ที่เพิ่งฉลองวันเกิด 78 เมื่อวาน ย่าง 79 ในวันนี้… มีแนวโน้มว่าจะถูกสถานการณ์บีบรัดให้ปล่อยวางเก้าอี้เสนาบดี… วาระนี้จึงน่าจับตาไปที่น้องชายลุงป้อมคือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ หรือ ‘บื๊กป๊อด’ ว่าจะนั่งกระทรวงไหน เช่นเดียวกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า, สันติ  พร้อมพัฒน์, พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ...

ครับ!! ก็สรุปสั้นๆ ได้ประมาณนี้ก่อน… ขออนุญาตไปตรวจโผแต่งตั้งทหาร-ตำรวจ เพื่อมาเล่าสู่กันฟังกลางสัปดาห์ครับ!!

‘ภูมิธรรม’ แจงเสียงโหวตนายกฯ เพื่อไทยอยู่ที่ 278  ชี้!! ‘รทสช.’ ยังไม่ชัดและยังไม่ตอบรับเสียง ‘ปธม.’ 

(12 ส.ค. 66) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีการรวบรวมเสียงที่จะโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ พรรคพท.ซึ่งล่าสุดมีทั้งหมด 315 เสียงว่า ขณะนี้หากนับเสียงที่ชัดเจนที่จะโหวตให้กับแคนดิเดตนายกฯ พรรคพท.นั้น ตัวเลขที่ชัดเจนจริงๆ ยังอยู่ที่ 278 เสียง ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 71 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 10 เสียง พรรคประชาชาติ (ปช.) 9 เสียง พรรคเพื่อไทยรวมพลัง (พทล.) 2 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) 2 เสียง ส่วนพรรคเสรีรวมไทย (สร.) พรรคพลังสังคมใหม่ พรรคท้องที่ไทย พรรคละ 1 เสียง รวมเป็น 238 เสียง รวมกับทางพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ประกาศจะยกมือให้กับพรรคพท.อีก 40 เสียง ทำให้มีเสียงรวมกันอยู่ที่ 278 เสียง ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) นั้น เราถือว่ายังไม่ชัดเจน เพราะทางนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครทสช.ให้สัมภาษณ์ว่ายังต้องขอคุยกันภายในพรรคก่อน ขณะที่พรรคประชาธิปไตยใหม่ (ปธม.) อีก 1 เสียงนั้น ขณะนี้เรายังไม่ตอบรับ

“สำหรับตัวเลข 278 เสียงสำหรับสภาล่าง ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความมั่นคง และเราก็จะยินดีมากหากพรรคการเมืองอื่นๆ จะช่วยโหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค พท.เพิ่มขึ้น เราเชื่อว่าหลายฝ่ายพร้อมจะให้โอกาสกับพรรค พท. ซึ่งการโหวตสนับสนุนจะเป็นจุดเริ่มต้นของโอกาสที่จะพูดคุยกันต่อในการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ยืนยันว่าหากพรรคใดไม่โหวตสนับสนุน ก็ไม่ได้อยู่ในสมการนี้” นายภูมิธรรม กล่าว

นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับรายชื่อหลัง รทสช.ไม่ชัด ชี้!! ยังไม่ตอบรับเสียง ปธม. รัฐมนตรี (ครม.) ที่เริ่มปรากฏเป็นข่าวในขณะนี้ ก็เป็นเพียงแค่การเสนอแนะ ความคิดเห็นหรือวิเคราะห์กันเองของแต่ละบุคคลที่ให้ข่าวเท่านั้น ยืนยันว่าพรรค พท.ยังไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรีกับพรรคใดทั้งสิ้น เพราะต้องรอให้การโหวตแคนดิเดตนายกฯ พรรค พท.เสร็จสิ้นก่อน ถึงตอนนั้นรายชื่อ ครม.ของจริงจะเกิดขึ้นหลังได้นายกฯ แล้วอย่างแน่นอน

ตั้งรัฐบาล วางตัวรัฐมนตรี สีสันพูดคุยในวงกาแฟตอนเช้า คาด!! หน้าตาคล้ายเดิม เติม 'เพื่อไทย-นายกฯ คนใหม่'

สมมติว่า ตัวเลขพรรคร่วมรัฐบาลสรุปอยู่ที่ 315 เสียง รวมสองพรรคลุง พลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติเข้าไปด้วย สูตรคำนวณโควตารัฐมนตรีก็จะเป็น 9:1 หมายถึง สส.9 คน จะได้รัฐมนตรี 1 คน ส่วนรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบันจะได้นั่งกระทรวงเก่าหรือไม่อยู่ที่การเจรจาไม่กำหนดเงื่อนไข บางคนอาจจะได้นั่งกระทรวงเดิม บางคนอาจจะต้องสลับกระทรวง ตามความเหมาะสม และผลการเจรจา

แต่ต้องทำใจอย่างหนึ่งว่า หน้าตารัฐมนตรีอาจจะคล้าย ๆ รัฐบาลปัจจุบัน เปลี่ยนในส่วนของเพื่อไทยเข้ามาใหม่ และหัว…ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หากลองสรุปกันเล่น ๆ เพื่อขบคิด-ถกเถียงกันในวงกาแฟตอนเช้าเพื่อจะได้มีสีสันไว้คุยกันก่อนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าภายในสองวันนี้เพื่อไทยจะนัดภูมิใจไทยเพื่อคุยแบ่งกระทรวง โดยสัดส่วนโควตา 9:1 เพื่อไทยจะได้ 15-16 เก้าอี้ ส่วนภูมิใจไทย จะได้ 8 เก้าอี้ พลังประชารัฐ จะได้ 4-5, รวมไทยสร้างชาติได้ 4, ประชาชาติได้ 1 เก้าอี้

- เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
- อนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีสาธารณสุข
- พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีท่องเที่ยวและกีฬา
- ภูมิธรรม เวชชยชัย รัฐมนตรีมหาดไทย
- ทวี สอดส่อง รัฐมนตรียุติธรรม
- อาทิตย์ นันทวิทยา รัฐมนตรีคลัง (คนนอก)
- ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีคมนาคม
- ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีศึกษา
- สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์
- จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีพลังงาน
- ปานปรีย์ มหิทธานุกร รัฐมนตรีต่างประเทศ
- วราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติ
- ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีดีอีเอส
- ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่ว่าการพัฒนาสังคม ก็ว่าการแรงงาน
- พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ส่วนกลาโหม, วัฒนธรรม, อุดมศึกษา, อุตสาหกรรม พาณิชย์ น่าจะเป็นโควตาของเพื่อไทย ขณะที่ แรงงาน น่าจะเป็นโควตาของรวมไทยสร้างชาติ

จับตาในวงเจรจา เพราะยังมีตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย และยังมีคนว่างไม่ได้ลงตำแหน่ง เช่น สันติ พร้อมพัฒน์, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, สุชาติ ชมกลิ่น, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ, สุทิน คลังแสง เป็นต้น และภายในพรรคเดียวกัน เมื่อได้โควตากระทรวงแล้ว อาจจะสลับคนเข้ามานั่งก็เป็นเรื่องภายในของพรรค ในวงเจรจาคงไม่ลงรายละเอียดตัวบุคคล


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top