Thursday, 9 May 2024
จัดตั้งรัฐบาล

‘สว.เสรี’ แนะ ‘เพื่อไทย’ รวมเสียงจัดตั้ง รบ. ให้ครบก่อน เชื่อ!! ‘สว.’ ยกมือให้ หากไม่มีนโยบายกระทบสถาบัน

(24 ก.ค. 66) ที่รัฐสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย จัดคณะพูดคุยกับสมาชิกวุฒิสภา เพื่อหาทางออกวิกฤตประเทศ โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นหัวหน้าคณะเจรจา ว่า พรรคเพื่อไทย ไม่จำเป็นต้องมา เพราะจุดยืนของ สว. ชัดเจนแล้วว่า หากมีพรรคการเมืองใดที่จะแก้รัฐธรรมนูญในหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 หรือแก้ไขกฎหมายใดที่จะไปกระทบต่อสถาบันหลักของชาติ สว. ก็จะไม่สนับสนุน และหากมีการพูดคุยกับคณะเจรจาของพรรคเพื่อไทย ก็อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีบทบัญญัติถึงการทำหน้าที่ของ สว. ที่จะต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติของพรรคการเมือง ดังนั้นจึงเห็นว่า พรรคเพื่อไทย ไม่ต้องเดินทางมาพูดคุยกับ สว. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา

เมื่อถามว่าหากการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ที่จะนำเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย โดยพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน สว. จะสนับสนุนหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า กระบวนการพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก็จะต้องนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมตามปกติ ขอแนะนำให้พรรคเพื่อไทย รวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลให้เพียงพอ และมีนโยบายที่ไม่กระทบต่อสถาบันหลักของชาติ ก็เชื่อว่าสมาชิกวุฒิสภาพร้อมสนับสนุน เพราะมองว่ากระบวนการแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลนั้น เป็นข้ออ้างที่ใช้เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อเป้าหมายที่ไกลกว่านั้น

เมื่อถามว่า เห็นอย่างไรที่นายสมชาย แสวงการ สว. เสนอให้เลื่อนวันโหวตนายกฯ จากวันที่ 27 ก.ค. 66 ออกไปก่อน หลังกระบวนการเจรจาพูดคุยของพรรคเพื่อไทยยังไม่เสร็จสิ้น นายเสรี กล่าวว่า สว.ไม่มีความขัดข้องว่าจะมีการประชุมรัฐสภาให้เลือกนายกรัฐมนตรีในวันใด แต่ขอให้พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลไปพูดคุยตกลงกันให้ได้ข้อสรุปก่อน 

ส่วนกรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เตรียมเปิดเผยข้อมูลลับของนายเศรษฐา ในวันที่ 25 ก.ค.นี้ จะมีผลต่อการตัดสินใจลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่นั้น นายเสรี กล่าวว่า จะต้องไปพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือ เพราะหากมีการฟังความข้างเดียวก็อาจไม่เป็นธรรม ดังนั้นจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน

‘ชลน่าน’ ยัน!! ‘เพื่อไทย’ พยายามจัดตั้ง รบ. ให้สำเร็จ ชี้!! เลื่อนโหวตนายกฯ ขึ้นอยู่กับความเห็นวิป 3 ฝ่าย

(24 ก.ค. 66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยให้สัมภาษณ์ถึงการประสานพูดคุยกับ สว. อย่างไรบ้างว่า พรรคเพื่อไทยมีคณะทำงานไปพูดคุยกับ สว.รายบุคคล ไม่มีการเชิญมาลักษณะองค์กรหรือตัวแทน สว. เช่นตนก็ไปประสาน สว. ที่รู้จักแล้วเอาสิ่งที่ได้รับมาสรุปกัน โดยการพูดคุยกับ 8 พรรคร่วมวันที่ 25 ก.ค.นั้น วาระสำคัญคือนำการบ้านที่ 8 พรรคร่วมมอบให้เพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำไปดำเนินการ สิ่งที่เราจะเสนอคือคำตอบของสว.และสส.ว่าตอบอย่างไร มีความเห็น เงื่อนไขอย่-างไร เมื่อถามว่ามีคำแนะนำจากสว.บางส่วนออกมาบอกว่าหากไม่มีพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เขาพร้อมโหวตให้ จะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นคำตอบของ สว. แต่ละท่าน เป็นข้อมูลนำเข้าที่จะไปพูดคุยในที่ประชุม 

เมื่อถามว่าในส่วนที่ นพ.ชลน่าน ได้พูดคุยกับ สว. ได้รับเสียงสะท้อนมาอย่างไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า หลายคนที่ตนได้พูดคุยก็ได้ยืนยันว่าไม่ยึดติด ว่าใครได้เป็นรัฐบาล แต่เจตนารมณ์คือยึดหลักการเดิมเหมือนที่ได้เสนอไปในรัฐสภาวันที่ 13 ก.ค. เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยจะสรุปเนื้อหาที่ได้พูดคุยกับ สว.วันไหน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราพยายามทำให้เสร็จก่อนหารือกับ 8 พรรควันที่ 25 ก.ค. 

เมื่อถามถึงข้อเสนอให้เลื่อนโหวตออกไป 10 เดือนจนกว่า สว .จะหมดอำนาจ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร สิ่งที่เราต้องมาดูในรายละเอียดคือผลสัมฤทธิ์จะเป็นตามที่เราคาดหวังหรือไม่ แต่ระบบรัฐสภาเป็นระบบเสียงข้างมาก หนึ่งเสียงชนะสองเสียงไม่ได้ แม้เราอยากจับมือกันไป 10 เดือน ถ้าเสียงข้างมากเขาไม่ยอม แทนที่จะได้สิ่งที่เราต้องการเหมือนไปส่งเสริมสิ่งที่ทุกคนไม่อยากทำ ข้อแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ตลอด นี่คือผลกระทบทางการเมือง สิ่งที่คาดการณ์กันไว้อาจเกิดขึ้นได้ เพราะ สส. หนึ่งคนมีสิทธิ์เท่ากันแต่ใครจะมีเสียงมากกว่ากันในระบบเสียงข้างมาก เป็นสิ่งที่พึงระวัง เราคิดแบบโลกสวยไม่ได้ ในทางการเมืองมันมีหลายมิติ ก็ต้องมาคิดกันว่าถ้าเราไม่ทำ แพ็กกันแน่นอยู่แบบนี้ แล้วคนอื่นไม่มีวิธีคิดหรือ เขาก็มีวิธีคิด และเขาก็สามารถรวบรวมเสียงได้ในที่ประชุมรัฐสภา ถามว่าเราทำอะไรได้ เราก็ต้องยอมรับ แม้แต่การโหวตข้อบังคับว่าการเลือกนายกฯ เป็นญัตติทั้งที่เราบอกว่าไม่ใช่ เมื่อแพ้เราก็ต้องยอมรับ เมื่อถามว่าในทางการเมืองสามารถรอ 10 เดือนให้ สว. หมดอำนาจได้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สิ่งที่ตนตอบไปคือมิติทางการเมืองที่เรากลัว อีกทั้งยังมีผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เราต้องไปดูในรายละเอียด 

เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะพิจารณากรณีที่นายสมชาย แสวงการ สว. ที่ออกมาเสนอให้เลื่อนการโหวตนายกฯ จากวันที่ 27 ก.ค. ออกไปก่อนหากยังไม่พร้อม นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การเลื่อนประชุมเป็นอำนาจประธานรัฐสภา และขึ้นอยู่กับความเห็นวิปทั้ง 3 ฝ่าย อย่าง 8 พรรคร่วมเป็นเพียงความเห็นของหนึ่งใน 3 ที่จะเสนอ ถ้าเราพร้อมแต่อีกสองฝ่ายไม่พร้อม ประธานรัฐสภาก็สามารถเลื่อนได้จึงต้องฟังความเห็นของทั้ง 3 ฝ่าย 

เมื่อถามว่าขณะนี้ในส่วนของพรรคเพื่อไทยมีการหยิบยกเรื่องเลื่อนการโหวตนายกฯ มาพูดคุยบ้างหรือยัง นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ยังครับ เราดำเนินการตามกระบวนการที่กำลังดำเนินการอยู่ สิ่งที่พอจะตอบได้คือทิศทางที่จะได้พูดคุยกันวันที่ 25 ก.ค. ผลเป็นอย่างไร ตรงนั้นจะนำมาประกอบการพิจารณา 

เมื่อถามว่าเป้าหมายของพรรคเพื่อไทยขณะนี้คือการโหวตนายกฯ วันที่ 27 ก.ค. ให้ได้เสียงเกิน 375 เสียงใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราเดินตามไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้ 

เมื่อถามอีกว่าพรรคเพื่อไทยอยากเลื่อนโหวตหรือไม่เพราะจะได้พูดคุยกับ สส. และ สว. ให้ละเอียดก่อน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า หน้าที่เราเอาวันที่ 27 ก.ค.เป็นตัวตั้ง เรารับโจทย์มาอย่างนั้นและพยายามทำให้ถึงที่สุด เมื่อผลการประชุมวันที่ 25 ก.ค. ออกมาก็เป็นองค์ประกอบของฝ่ายเรา แต่เข้าใจว่าการประชุมวิป 3 ฝ่ายของประธานรัฐสภาน่าจะประชุมก่อนที่เรามีความเห็น 

เมื่อถามว่าหลังจากนี้หากพรรคเพื่อไทยตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใด อยากจะบอกอะไรกับประชาชน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ต้องรอดูการตัดสินใจที่จะเกิดขึ้นเพราะยังไม่เกิด 

เมื่อถามว่าผลการหารือกับพรรคการเมืองส่วนใหญ่มีเสียงตรงกันว่าไม่เอาพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาล เมื่อไปพูดกับพรรคก้าวไกลเราต้องการคำตอบอะไรจากก้าวไกล นพ.ชลน่าน กล่าวว่า โจทย์เรามีหน้าที่นำข้อมูลที่ได้รับมาเข้าสู่การประชุม 8 พรรคแล้วร่วมพิจารณา ทางเลือกทั้งหมดจะออกมาอย่างไรอยู่ที่การพูดคุย ตนยังตอบไม่ได้ว่าจะเป็นมุมไหน 

เมื่อถามถึงกรณีที่มีการพูดถึงการสลาย 8 พรรค ร่วม พรรคเพื่อไทยได้นำมาคิดบ้างหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เพื่อไทยคิดหรือไม่คิดไม่มีประเด็นเพราะสิ่งสำคัญคือการตัดสินใจของ 8 พรรค 

เมื่อถามว่าขอให้ขยายความที่ได้ให้ไปสัมภาษณ์สื่อว่าหาก 2 พรรคหมดปัญญาจะมอบให้พรรคอันดับ 3 นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่อยากขยายความเดี๋ยวตีความผิดอีก ความหมายของตนคือทางเลือกมีคนเสนอเยอะ ตนเพียงจะบอกว่าทางเลือกอื่นมีคนเสนอมาทำนองนี้ว่าเราหมดปัญญาแล้ว การมอบให้พรรคที่ 3 เป็นไปได้หรือไม่ ตนจึงบอกไปว่ามันเป็นทางเลือกจะเกิดขึ้นหรือไม่เราไม่รู้ และตนยังพูดไปชัดว่าเป็นการมอบอำนาจให้เสียงข้างน้อย เมื่อถามย้ำว่าให้จบที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราจะพยายาม

‘ไทยสร้างไทย’ แถลงจุดยืนทางการเมือง ในการจัดตั้งรัฐบาล ยัน!! ค้านแก้ ม.112 พร้อมยึดมั่นใน 3 สถาบันหลักของชาติ

‘พรรคไทยสร้างไทย’ ประชุมผู้บริหารพรรคแถลง 5 จุดยืนทางการเมืองในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล หวังทุกฝ่ายร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศชาติ ประชาชน ด้วยความจริงใจและเสียสละ

(25 ก.ค. 66) ที่พรรคสร้างไทย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประชุมคณะผู้บริหาร นำโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, นายสุพันธุ์ มงคลสุธี, นายฐากร ตัณฑสิทธิ์, นายอุดมเดช รัตนเสถียร และ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ซึ่งหลังการประชุม มีการประกาศ 5 จุดยืนทางการเมือง ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล ดังนี้

1.) พรรคไทยสร้างไทยยืนยันเคารพเสียง และเจตนารมณ์ของประชาชน ที่ต้องการเห็นการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยตามข้อตกลงร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรค ที่ได้รับฉันทามติจากประชาชน และสนับสนุนให้มีการเดินหน้าตั้งรัฐบาลตามเจตนารมณ์ของประชาชนให้สำเร็จ เพื่อนำประเทศสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง

2.) พรรคไทยสร้างไทย ขอขอบคุณและชื่นชมความเสียสละของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แม้ระหว่างทางจะมีปัญหาและอุปสรรคบ้าง แต่ขอให้กำลังใจให้เดินหน้าต่อไปเพื่อประเทศชาติ และประชาชน

3.) ขอให้แกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และพรรคร่วมได้หาทางออกร่วมกัน ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรในการหาเสียงสนับสนุนเพิ่มเติมจาก ส.ว. และ ส.ส. ขอให้นำมาพูดคุยกัน
ด้วยความจริงใจและความเสียสละเพื่อประชาชน และถอยกันคนละก้าวเพื่อที่จะนำไปสู่ทางออกของประเทศ

4.) พรรคไทยสร้างไทยมีจุดยืนมั่นคงในการรักษาสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และพรรคไทยสร้างไทยขอสนับสนุนการสร้างประชาธิปไตยถาวร ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจอย่างเด็ดขาด และไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่เห็นว่า รากเหง้าปัญหาของประเทศเกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2560

พรรคไทยสร้างไทยจึงได้เสนอ ให้คืนอำนาจให้กับประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ตามร่างที่พรรคไทยสร้างไทยได้เสนอเข้าสภาเรียบร้อยแล้ว เพื่อตัดวงจรการสืบทอดอำนาจทั้งสว. และแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยไม่แก้ หมวด 1 และ 2 เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนสำเร็จลุล่วงได้จริง

5.) ยอมรับว่าขณะนี้บ้านเมืองต้องการรัฐบาล และปัญหาของประชาชนรอไม่ได้ แต่ถ้าหากสามารถตั้งรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยได้ตามที่ประชาชนคาดหวังก็จะดีที่สุด ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาบ้าง โดยระหว่างนี้ให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อพิจารณาและประสานงานกับคณะรัฐบาลรักษาการและหน่วยงานราชการเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนไปพลางก่อน

‘อนุทิน’ ชี้!! ประเทศรอเลือกนายกฯ อีก 10 เดือนไม่ได้  พร้อมส่งกำลังใจหนุนให้ ‘เพื่อไทย’ จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ

(25 ก.ค. 66) ที่พรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมสส.ของพรรค กรณีที่มีข้อเสนอให้ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล รอให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) หมดวาระช่วงเดือนพ.ค.67 ก่อนที่จะเลือกนายกรัฐมนตรี ว่า พรรคภูมิใจไทยรอไม่ได้ เพราะไม่เป็นผลดีต่อการบริหารงานของประเทศ

ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยเชิญเข้าไปพูดคุย เพื่อหาทางออกให้วิกฤตประเทศ นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นเพียงการไปพูดคุย ซึ่งมีการแถลงข่าวไปแล้ว ทุกอย่างเป็นไปตามที่แถลงข่าว คือพรรคภูมิใจไทยจะไม่ร่วมงานกับพรรคที่เสนอแก้มาตรา 112 คือพรรคก้าวไกล ทั้งนี้ ขอส่งกำลังใจให้พรรคเพื่อไทยในการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ ส่วนพรรคภูมิใจไทยหากมีเรื่องใดสามารถพูดคุยหรือช่วยเหลือได้ก็ยินดีที่จะทำ

เมื่อถามว่า หากพรรคอันดับ 2 อย่างพรรคเพื่อไทยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคอันดับ 3 อย่างพรรคภูมิใจไทยมีความพร้อมหรือไม่ นายอนุทิน ระบุว่า ให้ถึงเวลานั้นก่อนค่อยพูด เพราะตอนนี้ยังไม่มีอะไรที่แน่นอน

‘ราเมศ’ ยัน!! พรรคไม่เคยมีมติดีล ‘ทักษิณ’ เพื่อร่วมรัฐบาล ย้ำ!! ปชป.มีหลักการพรรค คนใดคนหนึ่งจะตัดสินใจเองไม่ได้

(28 ก.ค. 66) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า นายเดชอิสม์ขาวทอง ได้เดินทางไปฮ่องกง เพื่อพบกับนายทักษิณ ชินวัตร เพื่อเจรจาถึงการร่วมรัฐบาลของประชาธิปัตย์ ว่า…

ในเรื่องนี้ตนยืนยันได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยส่งใครไปเจรจากับนายทักษิณ เพราะตามหลักการของพรรคโดยเฉพาะเรื่องการร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล ไม่ได้เป็นอำนาจการตัดสินใจของใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพราะการร่วมรัฐบาลถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะต้องมีการปรึกษาหารือกันในพรรคอย่างละเอียดรอบคอบ อีกทั้งพรรคมีข้อบังคับที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เมื่อมีประเด็นการที่จะร่วมรัฐบาลหรือไม่ จะต้องมีการประชุมร่วมกันระหว่าง กก.บห. และ สส. ของพรรคชุดปัจจุบันที่จะต้องร่วมกันพิจารณา แล้วจึงจะมีมติพรรคออกมาว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

ส่วนที่จะมีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคทันต่อการพิจารณาเรื่องร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลหรือไม่นั้น นายราเมศกล่าวว่ากก.บห. ชุดปัจจุบันซึ่งทำหน้าที่รักษาการอยู่ ก็มีอำนาจในการร่วมพิจารณา ไม่ใช่เฉพาะกรณีร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลแต่สามารถร่วมพิจารณาได้ในทุกๆ เรื่อง สำหรับการที่มีรายงานข่าวกรณีของนายเดชอิสม์นั้น อยากให้ไปสอบถามเจ้าตัวจะดีกว่า

‘นิด้าโพล’ ชี้!! ‘ก้าวไกล’ เดินเกมพลาด จนชวดตั้งรัฐบาล เพราะไม่ยอมยกเลิกบางนโยบาย-ประมาทเสนอ ‘พิธา’ เป็นนายกฯ

(30 ก.ค. 66) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘ความผิดพลาดของพรรคก้าวไกล’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับข้อผิดพลาดของพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ ‘นิด้าโพล’ สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อผิดพลาดของพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 42.98 ระบุว่า พรรคก้าวไกลไม่ยอมยกเลิกบางนโยบาย เพื่อให้ได้การสนับสนุนเพิ่มขึ้น รองลงมา ร้อยละ 30.46 ระบุว่า พรรคก้าวไกล ไม่มีข้อผิดพลาดใด ๆ ทั้งนั้น ร้อยละ 27.56 ระบุว่า พรรคก้าวไกลสู้เกมการเมืองในสภาไม่ได้ ร้อยละ 11.68 ระบุว่า พรรคก้าวไกลทำตัวปิดกั้นตัวเอง ทำให้ไม่ค่อยมีพันธมิตรทางการเมือง ร้อยละ 10.23 ระบุว่า พรรคก้าวไกลไม่เข้าใจวัฒนธรรมและความเป็นจริงทางการเมืองแบบไทย ๆ

ร้อยละ 9.54 ระบุว่า พรรคก้าวไกลประมาทในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่พรรคเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี (นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์) ร้อยละ 7.94 ระบุว่า พรรคก้าวไกลสร้างศัตรูทางการเมืองไว้มากในช่วงที่ผ่านมา ร้อยละ 7.86 ระบุว่า ปัญหาจากพฤติกรรมของแฟนคลับ พรรคก้าวไกลทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุนในรัฐสภา ร้อยละ 7.56 ระบุว่า พรรคก้าวไกลฟังแฟนคลับของตนเองมากเกินไป ร้อยละ 6.11 ระบุว่า พรรคก้าวไกลหลงไปกับตัวเลข 14 ล้านเสียง และ 151 สส. มากเกินไป ร้อยละ 5.88 ระบุว่า กุนซือ นักวิชาการของพรรคก้าวไกลที่อยู่นอกพรรคฯ ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด และร้อยละ 0.53 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง หากพรรคก้าวไกลต้องไปเป็นฝ่ายค้าน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 35.19 ระบุว่า จะมีการชุมนุมใหญ่แต่จะสามารถควบคุมได้ รองลงมา ร้อยละ 24.81 ระบุว่า จะมีการชุมนุมเพียงเล็กน้อยและสามารถควบคุมได้ ร้อยละ 23.66 ระบุว่า จะมีการชุมนุมใหญ่และไม่สามารถควบคุมได้ ร้อยละ 11.99 ระบุว่า จะไม่มีการชุมนุมใด ๆ ร้อยละ 2.90 ระบุว่า จะมีการชุมนุมเพียงเล็กน้อยแต่จะไม่สามารถควบคุมได้ และร้อยละ 1.45 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนถึงความเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีพรรคการเมืองใหม่ที่มีลักษณะบุคลากรและวิธีการดำเนินการทางการเมืองคล้ายกับพรรคก้าวไกลเกิดขึ้น แต่มีความประนีประนอมมากกว่า พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 35.88 ระบุว่า ค่อนข้างเป็นไปได้ รองลงมา ร้อยละ 33.89 ระบุว่า เป็นไปได้มาก ร้อยละ 19.54 ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลย ร้อยละ 9.62 ระบุว่า เป็นไปไม่ค่อยได้ และร้อยละ 1.07 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

'ชัยวุฒิ' ปัดตอบ!! สูตรรัฐบาล 265 เสียง 'ไร้กก.-พรรค 2 ลุง' ชี้!! การเมืองเป็นเรื่องตัวเลข ทำให้เกิดได้หลายสูตร

(1 ส.ค. 66) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวพรรคเพื่อไทย เตรียมตั้งรัฐบาล 265 เสียง โดยไม่มีพรรคก้าวไกล และพรรค 2 ลุง คือ พรรค พปชร. และรวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ว่า...

สูตรการเมืองมีได้หลายสูตร เกิดได้จากหลายกลุ่มหลายคน และเกิดได้ทุกสูตร เพราะการเมืองเป็นเรื่องของตัวเลข แต่ต้องรอดูว่าพรรคเพื่อไทย ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะสรุปออกมาอย่างไร และเวลานี้ยังไม่รู้จะชัดเจนอย่างไร ยังตอบไม่ได้ว่าสูตรดังกล่าวจะเกิดได้หรือไม่ 

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากเป็นสูตรดังกล่าว พรรคพปชร.มีแนวทางที่จะยกมือโหวตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 4 ส.ค.นี้ อย่างไร นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องมีการพูดคุยกันในพรรค พปชร.ก่อน และต้องรอดูท่าทีของพรรคเพื่อไทย ที่จะหาหารือกับ 8 พรรคร่วมรัฐบาลในวันที่ 2 ส.ค.นี้ จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนออกมาเป็นอย่างไร เวลานี้ยังไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร และเสียงสนับสนุนในสภามีเพียงพอหรือไม่

เมื่อถามว่า หากตั้งรัฐบาล 265 เสียงโดยไม่มีพรรค 2 ลุง รวมถึงพรรคก้าวไกล จะลดแรงต้านของสังคม ทั้งฝ่ายสนับสนุนพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ต้องถามว่าสังคมไหน สังคมของใคร เพราะในสังคมก็มีหลายกลุ่ม หลายฝ่าย ตนไม่ทราบว่าจะลดแรงเสียดทานสังคมหรือไม่ เพราะสังคมก็มีหลายกลุ่มที่มีเป้าหมายต่างกัน ดังนั้นต้องรอให้มีเหตุการณ์ตามที่มีกระแสคาดการณ์เกิดขึ้นก่อน

‘ครัวสิทธิเพชร’ เปิดเมนูเด็ด เกาะกระแสการเมือง จัดโปรดีสั่ง 4 เมนูแถมฟรี ‘พิธาเดินเดี่ยว’ ทำลูกค้าแน่นร้าน

ร้านอาหารครัวสิทธิเพชร ตั้งอยู่ริมถนนสายสิงห์บุรี-บางระจัน ตำบลต้นโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี ร้านนี้มีเจ้าของร้านเป็นแฟนพันธ์แท้ทีมฟุตบอลหงส์แดง โดยคลั่งไคล้เป็นอย่างมาก จึงได้ตกแต่งบรรยากาศภายในร้านเป็นสัญลักษณ์ของสโมสรลิเวอร์พูล พนักงานในร้านก็สวมใส่เสื้อของทีมหงส์แดง เคยมีข่าวจัดโปรโมชั่น ลดค่าอาหาร 10% ให้แก่ลูกค้า ทุกครั้งที่ทีมรักลงสนามแล้วชนะ แต่ช่วงเวลานี้ พรีเมียร์ลีกของอังกฤษยังไม่เปิดฤดูกาล จึงยังไม่มีลูกค้ามาใช้บริการโปรโมชั่นนี้

ในช่วงนี้ สถานการณ์บ้านเมืองกำลังร้อนแรง ทางร้านจึงเอาใจคอการเมือง ที่เข้ามาใช้บริการ โดยการคิดเมนูอาหารไว้มากมายหลายรายการ เช่น ยำ สว. หรือยำวุ้นเส้นโบราณ, กกต.ลุยสวน หรือปลาช่อนลุยสวน, กระดูกคนละเบอร์ หรือต้มแซ่บกระดูกอ่อน, ตำ MOU หรือตำหมูตกครก, งดออกเสียง หรือต้มแซ่บหมู, ลุงนอนมา หรือปลาทับทิมนึ่งมะนาว, พิธาแค่พิธี หรือกุ้งแช่น้ำปลา, เพื่อนแกงส้ม หรือแกงส้มชะอมไข่กุ้ง, ศึกสองด้าน หรือแจ่วฮ้อน กลมกล่อม/หมาล่า, มันใหญ่มาก หรือตำถาดใหญ่, เป็นต้น

ปรากฏว่าเรียกเสียงฮือฮาจากลูกค้าที่เข้ามาอุดหนุนได้เป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่ต้องการมาทานอาหาร ที่เดิมก็มีรสชาติอร่อย ถูกใจอยู่แล้ว เมื่อได้เห็นเมนูรายการอาหารชื่อแปลกใหม่ จึงต้องการทดลอง โดยเมนูที่ลูกค้าส่วนใหญ่ชื่นชอบเป็นพิเศษ ได้แก่ ยำ สว., และ กกต.ลุยสวน

เมนูที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ นั้นเป็นสีสัน และเข้ากับสถานการณ์ทางการเมือง นอกจากนี้ทางร้านก็ยังได้จัดโปรโมชั่น โดยลูกค้าที่สั่งรายการอาหารทางการเมือง 4 รายการขึ้นไป ทางร้านก็จะแถมอาหารว่างชื่อ “พิธาเดินเดี่ยว” หรือเฟรนด์ฟรายทอด ให้อีก 1 จาน อีกด้วย

‘เอกชน’ ยัน!! พร้อมทำงานทุกขั้ว วอนตั้งรัฐบาลใหม่เร็วที่สุด หวั่นยืดเยื้อกระทบเศรษฐกิจ พร้อมเร่งเดินหน้าวางแผนรับมือ

(5 ส.ค. 66) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนการพิจารณาคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ขอให้พิจารณากรณีรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบกับการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และกำหนดวันนัดพิจารณาคำร้องในวันที่ 16 ส.ค. จากเดิมวันที่ 3 ส.ค. ว่า ประเด็นดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ทำให้ศาลต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ โดยการเลือกนายกรัฐมนตรี และการฟอร์มคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ยังอยู่ในช่วงเวลาที่เคยประเมินไว้ ซึ่งยังไม่ถือว่าล่าช้าจนเกินไป

ทั้งนี้ หากศาลมีคำสั่งว่ากรณีดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าหลังจากนั้น รัฐสภาคงจะดำเนินการให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุดต่อไป ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นวันที่ 17-18 ส.ค. 2566ดังนั้นอาจจะได้ ครม.ชุดใหม่ ช่วงปลายเดือน ส.ค.- กลางเดือน ก.ย. หากไทม์ไลน์เป็นเช่นนี้ ภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลชุดใหม่ คงจะต้องเร่งจัดทำงบประมาณประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อดึงกำลังซื้อ และความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

ส่วนกรณีหากศาลมีคำสั่งว่าการดำเนินการของรัฐสภาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็คงต้องรอความชัดเจนว่า จะส่งผลให้การเลือกนายกรัฐมนตรีจะมีทิศทางเป็นอย่างไร และมีช่วงเวลานานมากน้อยแค่ไหน ซึ่งต้องมาประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง แต่เชื่อมั่นว่าศาลจะมีการพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ด้วยความรอบคอบและรวดเร็วที่สุด เพราะการมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศเร็ว เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมากในสถานการณ์เช่นนี้

สำหรับกรณีที่พรรคเพื่อไทย (พท.) จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเองนั้น นายสนั่น มองว่า ส่วนนี้เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่จะต้องดำเนินกระบวนการตามกรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ และหาก พท. เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจนสำเร็จ ก็เชื่อว่าน่าจะสามารถเร่งดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจได้ทันที เพราะ พท. เคยมีประสบการณ์ในด้านการบริหารประเทศมาก่อนหน้านี้ และหลายนโยบายในสมัยที่เป็นรัฐบาลก็สามารถดำเนินการจนประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ดี ในส่วนประเด็นความเห็นต่างและการชุมนุมที่เกิดขึ้น ถือเป็นสิทธิของประชาชนที่จะแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย โดยหากไม่มีการชุมชนที่ยืดเยื้อ หรือสถานการณ์ที่รุนแรง ก็เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว

“ภาคเอกชนนั้น ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็พร้อมทำงานร่วมกัน โดยที่ผ่านมาได้ส่งสัญญาณต่อเนื่องว่า สิ่งสำคัญคือการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งล่าช้ายิ่งไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจประเทศ” นายสนั่นกล่าว

‘จตุพร’ หยัน!! ‘เพื่อไทย’ หมดสภาพและไม่เชื่อ ‘ทักษิณ’ จะกลับไทย  ชี้!! พรรคอันดับ 3 ผงาด!! แต่นายกฯ อาจมาจากพรรคอันดับ 4

‘จตุพร’ สงสาร ‘ทักษิณ’ เลื่อนกลับไทย ถามเป็นอะไรหรือเปล่า ฉะตรรกะ “เราไม่ได้ข้ามไปหา แต่เขาข้ามมาเอง” สะท้อน ‘เพื่อไทย’ หมดสภาพ อยู่ในช่วงตกต่ำสุดขีด สูญสิ้นอำนาจต่อรอง ถูกไล่ต้อนให้เป็น ‘พรรคสมุน’ ของพรรคอันดับ 3 คาด นายกฯ อาจมาจากพรรคอันดับ 4

(6 ส.ค. 66) นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์รายการประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน “ดูท่า… ว่าจะ?” เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 66 ระบุว่า…

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หนีคดีอยู่ต่างประเทศ ไม่ควรประกาศซ้ำสองกรณีเลื่อนกลับไทยอีก 2 สัปดาห์ เพราะฟังดูยิ่งน่าเห็นใจ เป็นห่วง ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น ดังนั้นให้คิดปล่อยจิตว่าง ทำตามที่สบายใจ จะกลับมาวันไหนก็ติดคุกอยู่ดี

นายจตุพร กล่าวว่า การไม่กลับไทยตามเวลานัด 10 ส.ค. ของนายทักษิณ เป็นไปตามที่ตนประเมินไว้ทุกประการ อีกทั้งได้แนะเหตุผลให้อ้างป่วยก็ตรง และยังทำตาม ส่วนการเลื่อนกลับไทยไปอีก 2 สัปดาห์ ยังต้องฟังหูไว้หู เพราะแม้มนุษย์เราไม่มีใครอยากผิดคำพูด แต่แสดงถึงใจยังไม่ปล่อยวางกับการตัดสินใจมาติดคุกโดยดุษฎี จึงได้แต่ฟังคำพูดคนอื่น ทั้งที่ทางปฏิบัติแล้วไม่เคยมีอยู่จริงที่ไม่ต้องติดคุก ความจริงคนระดับอดีตนายกฯแล้ว นายทักษิณไม่จำเป็นต้องประกาศกลับบ้านเป็นครั้งที่สอง เพราะขาดความน่าเชื่อถือ เมื่อประกาศครั้งเดียวก็ให้มาเลย อย่างไรก็ตามขอให้ตัดใจปล่อยวางการติดคุกให้ได้ ตนเสนอให้เอาตามสบายใจ จะมาวันไหนก็มา แต่ต้องติดคุกอยู่ดี

นายจตุพร กล่าวว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่นายทักษิณระบุจะกลับไทยในวันใดวันหนึ่งนั้น โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 10-24 ส.ค. ซึ่งเป็นช่วงการเจรจาลับตั้งรัฐบาลอย่างเข้มข้น และต้องยกมือไหว้ สว.ในทางแจ้งเพื่อให้ช่วยตั้งรัฐบาลข้ามขั้วอีก จึงเป็นสถานการณ์ที่ชุลมุนในทางการเมืองอย่างหนัก รวมทั้งคาดว่าสถานการณ์จริงทางการเมืองไทยจะเริ่มในวันที่ 16 ส.ค. ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญนัดสั่งคำร้องข้อบังคับการประชุมรัฐสภาขัดรัฐธรรมนูญ (รธน.) หรือไม่ ดังนั้นวันที่ 17 ส.ค.จะโหวตนายกฯ เมื่อได้นายกฯ จะมีเวลาตั้งรัฐบาลอีกเพียง 7 วัน และนายทักษิณจะกลับไทยตามคำประกาศครั้งสอง จึงเป็นไปไม่ได้เพราะกระชั้นชิดมาก และคงต้องเลื่อนอีกครั้งค่อนข้างแน่นอน

“ขอแนะนำอีกว่าหลังจากตรวจร่างกายตามแพทย์บอกแล้ว หมอต้องสั่งห้ามเดินทางเด็ดขาด อีกทั้งระยะเวลาทางการเมืองและการตั้งรัฐบาลยังไม่สอดคล้องกัน จึงเป็นไปไม่ได้จะกลับมาช่วงนั้น เพราะเป็นช่วงชุลมุนตามข้อตกลงตั้งรัฐบาล แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ การโหวตนายกฯ นายเศรษฐา ทวีสิน คงไม่ได้เป็นนายกฯ”

นายจตุพร กล่าวถึง ‘นายภูมิธรรม เวชยชัย’ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ว่า เคยยืนกรานว่านายทักษิณกลับไทยตามวันเวลาเดิม แล้วเมื่อเลื่อนกลับ จะมีการทวงหาคำพูดจากนายภูมิธรรมบ้างหรือไม่ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในช่วงนี้คำพูดทางการเมืองแสดงถึงการพูดไม่จริงระหว่างกันทั้งสิ้น โดยหลายคนอธิบายเหตุผลนายทักษิณกลับไทยต้องเชื่อว่าเป็นจริง เพราะ ‘อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร’ ลูกสาว เป็นคนประกาศด้วยตัวเอง ดังนั้น นายทักษิณ คงไม่ยอมทำให้ลูกเสียหายได้ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ผิดที่สุด

“ถ้าลูกรู้ว่า พ่อเข้ามาแล้วติดคุก จะมีลูกคนไหนบอกพ่อให้กลับมาเพื่อช่วยรักษาหน้าตาของลูก ซึ่งในโลกความจริงไม่มีลูกคนไหนยอมให้พ่อมาติดคุกหรอก เพราะพ่อติดคุกเท่ากับครอบครัวต้องติดคุกไปด้วย ดังนั้น สัญชาตญาณของลูกที่รักพ่อ ย่อมทนเห็นพ่อติดคุกไม่ได้”

นายจตุพร ระบุว่า ตนไม่เข้าใจนายทักษิณ พูดเลื่อนกลับไทยอีกทำไม ถ้าไม่ติดใจอะไรแล้ว จะกลับก็มาเลย แต่การประกาศแบบปลายเปิดลักษณะนี้มันน่าสงสารว่า เป็นอะไรมากหรือเปล่า เพราะช่วงเวลาทางการเมืองนั้นมันเป็นเรื่องยากที่สุด ควรต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งเสีย เนื่องจากการขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะรายเป็นเรื่องยากมาก

นายจตุพร กล่าวถึงการตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ว่า จากนี้ไปอำนาจต่อรองของเพื่อไทยได้สูญหายไปตามลำดับ และประชาชนที่สนับสนุนจะหดหายไป คงเหลืออีกไม่สักเท่าไร นอกจากนี้แกนนำบางคนให้เหตุผลการตั้งรัฐบาลข้ามขั้วว่า เราไม่ได้ข้ามขั้ว แต่เขาข้ามมาหาเราเอง แสดงถึงการจนปัญญา หมดหนทางอธิบาย เพราะแถมาทุกทิศทางแล้ว จนสีข้างถลอกหมดจึงไม่รู้จะอธิบายอย่างไร

นายจตุพร ประเมินว่า หากเพื่อไทยตั้งรัฐบาลไม่ได้ คงเกิดจากเงื่อนไขไม่มีพรรคสองลุงมาร่วมด้วย ดังนั้น การโหวตนายกฯ ก็จะถูกคว่ำทันที อีกรณีหนึ่งคือ เพื่อไทยอาจไม่ส่งแคนดิเดตนายกฯ ให้สภาฯ โหวต แล้วมอบให้พรรคอันดับ 3 เป็นผู้รวบรวมเสียงตั้งรัฐบาลและเสนอแคนดิเดตนายกฯ ให้สภาโหวตเห็นชอบ

“การให้พรรคอันดับ 3 มาจัดตั้งรัฐบาล เพื่อไทยจะกลายเป็นพรรคถูกชวนเข้าร่วมด้วย แต่พรรคที่ 3 อาจส่งมอบนายกฯ ให้พรรคอันดับ 4 ก็ได้ ซึ่งพร้อมรออยู่ ดังนั้นไม่ว่าอธิบายมุมใดที่เพื่อไทยถูกเชิญมาร่วมรัฐบาลนั้น ก็จะกลายเป็นเพียงพรรคสมุนของพรรคอันดับสามและสี่ไปทันที”

นายจตุพร กล่าวถึงกรณีนายเศรษฐา ถูกตรวจสอบกรณีเลี่ยงภาษีที่ดิน ว่า เมื่อการกล่าวหามีน้ำหนักทางการเมือง โดยเน้นการตรวจสอบคุณสมบัติทางจริยธรรมของบุคคลจะเข้ามามีตำแหน่งทางการเมืองต้องมีความสุจริตเป็นที่ประจักษ์ ดังนั้นในกรณีนายเศรษฐา จึงเสี่ยงกับตำแหน่งนายกฯ เพราะมีแต่เสียกับเสีย และพร้อมเกิดแรงเหวี่ยงกระทบกับชีวตในอนาคตด้วย

“เผลอๆ ไม่กี่วันนี้ คุณเศรษฐา อาจคิดโยนผ้าไม่เป็นนายกฯ หรือจะมีคนอื่นจัดการไม่ส่งก็ได้ เพราะกรณีตรวจสอบจริยธรรมการเลี่ยงภาษีที่ดินจะส่งผลกระทบในวงกว้างมาก ดังนั้นถัดจากนี้ไป คุณเศรษฐา คงต้องกำหนดท่าทีและจุดยืนทางการเมืองว่า จะเอาอย่างไร”

นายจตุพร เชื่อว่า การโหวตนายกฯอาจต้องขยายเวลาออกไปอีก แต่จะออกแบบกันอย่างไรก็จะนำพาสู่วิกฤตใหญ่ เพราะการอธิบายอะไรก็ตามทำให้ผิดเป็นถูก ย่อมเป็นตรรกะที่ยากมากที่สุด เช่น การอธิบายว่า ไม่ได้ข้ามไปหาเขา แต่เขาข้ามมาหาเอง ซึ่งเป็นตรรกะที่วิบัติอย่างยิ่ง การใช้ตรรกะ “เขามาเอง” มาอธิบายการข้ามขั้วนั้น ไม่แตกต่างจากคำพูดหาเสียงประกาศแก้ ม.112 แต่เมื่อจะตั้งรัฐบาลก็บอกไม่แก้แล้ว ม.112 แล้วเหลือแยกทางจากก้าวไกล คิดจะไปตั้งรัฐบาลแบบหมูๆ แต่กลับไม่ง่ายตามหวังหลังจากแยกทางก้าวไกล เพราะอำนาจต่อรองเปลี่ยนไป การเจรจาตกเป็นรองพรรคอื่น และที่สำคัญทำให้ประชาชนเสียไปด้วย

“ดังนั้น อะไรก็ตามที่ท้าทายความรู้สึกคน เอาการร่วมเป็นร่วมตายมาละเลงเล่นดูเสมือนประชาชนไม่มีความรู้สึก คิดว่าทำอะไรก็ได้ จึงเป็นการคิดผิดอย่างมาก อีกทั้งเกิดภาพยกมือไหว้ สว.กลางห้องประชุมสภา เพื่อขอปิดสวิตช์ตัวเอง เป็นการกระทำที่ผิดวิสัย ซึ่งไม่น่าได้เห็น แต่ก็เห็นจนได้ จึงเป็นพฤติกรรมแบบหมดสภาพของพรรคอันดับสอง” นายจตุพร กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top