Thursday, 9 May 2024
จัดตั้งรัฐบาล

หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลายังต้องพิสูจน์คน!!

‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในอีก 2 เดือนข้างหน้าได้หรือไม่? แต่ที่เหนือกว่าการเป็น ‘นายกฯ’ คือการนำพารัฐนาวาให้อยู่ตลอดรอดฝั่ง

ซึ่งกุญแจสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือ การมี ‘ทีมที่ดี’ ว่าแล้วลองเหลียวมอง (ว่าที่) ส.ส.ที่จะมาเป็นลูกทีมบริหารของพิธา แต่ละคน สายล่อฟ้าเรียกพี่!!

ย้อนไทม์ไลน์ ‘พิธา’ เส้นทางการเมืองจากคนตัวเล็กๆ สู่ผู้ถืออำนาจใหญ่ของการเลือกตั้งไทย ปี 66

นาทีนี้ ไม่มีใครร้อนแรงเกินกว่า ‘ทิม - พิธา  ลิ้มเจริญรัตน์’ ที่ใช้เวลากว่า 3 ปี เปลี่ยนผ่านจากยุคอนาคตใหม่มาสู่ยุคของพรรคก้าวไกลที่มีเขาเป็นผู้นำพรรค สั่งสมความนิยม จากพรรคอันดับรอง ไต่กระแส สร้างปรากฏการณ์ ‘สีส้ม’ ทั่วทั้งแผ่นดิน จนสามารถโกยคะแนนเสียงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในการเลือกตั้งล่าสุด

ความสำเร็จของ ‘พิธา’ ไม่ได้ไหลบ่ามาเพียงชั่วข้ามคืน แต่มาจากการค่อย ๆ สั่งสม เก็บเกี่ยวประสบการณ์ จากการข้องเกี่ยวกับผู้คนในแวดวงการเมืองมานานเกือบ 20 ปี ขยับจากเจ้าหน้าที่ตัวเล็ก ๆ ที่นั่งจดวาระการประชุมหลังห้อง จนกระทั่งกลายเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี ผู้กำหนดวาระของประเทศไทยในวันนี้ เส้นทางการเมืองของ ‘พิธา’ เป็นอย่างไร ย้อนไปดูกัน 

#เลียบเคียงการเมือง
ถ้ากล่าวถึง ‘ลิ้มเจริญรัตน์’ คนที่ติดตามการเมืองคงคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะเป็นนามสกุลของ ‘ผดุง’ เลขานุการส่วนตัวของ ‘ดร.ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี และด้วยความที่ ‘พิธา’ มีศักดิ์เป็นหลานของนายผดุง ทำให้เขามีโอกาสได้รู้จักมักคุ้นกับบุคคลการเมืองในพรรคไทยรักไทย รวมถึงทายาทของ ดร. ทักษิณ ชินวัตร ทั้ง โอ๊ค เอม และอุ๊งอุ๊งมาตั้งแต่ก่อนก้าวขาเข้ามาสัมผัสบรรยากาศ และกลิ่นอายของการเมืองด้วยตัวของเขาเอง

#จากเจ้าหน้าที่แถวหลัง ค่อยๆ ขยับก้าวมาสู่แถวหน้าการเมือง 
ช่วงปลายของการศึกษาปริญญาตรี สาขาบัญชี - การเงิน ที่ ม.ธรรมศาสตร์ พิธาเริ่มต้นฝึกงานที่บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งมี ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ เป็นผู้บริหาร และเป็นผู้ที่พิธายกให้เป็นเจ้านายคนแรกของเขา ก่อนจะขยับมาทำงานเป็นที่ปรึกษาธุรกิจให้กับอีกบริษัท ซึ่งพิธาเล่าว่า ช่วงนั้นเขามีโอกาสดูแลลูกค้ารายแรก คือ ‘ไทยซัมมิท’ ของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ซึ่งมีโปรเจกต์ขยายตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ไปที่ประเทศอินเดีย  

หลังจากนั้น 2 ปี พิธาได้มีโอกาสขยับเข้าใกล้งานการเมืองมากขึ้น ในช่วงหลังเหตุการณ์สึนามิ ที่ภาคใต้ และทีมงานของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ติดต่อมายังบริษัทของเขา ให้เข้าไปทำงานให้กับหลายกระทรวง ทำให้พิธา ได้เริ่มสัมผัส และซึมซับการทำงานของนักการเมืองหลายคนในรัฐบาลในช่วง ปี 2547-48

ก่อนที่เขาจะขยับเข้าใกล้การเมืองมากขึ้น เมื่อตัดสินใจข้ามฝั่ง จากที่ปรึกษาธุรกิจเอกชน มารับบทบาทข้าราชการ ติดตาม ‘ดร. สมคิด’ ตั้งแต่ในทำเนียบรัฐบาล ก่อนย้ายไปที่กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ตามลำดับ ทำให้ได้เรียนรู้การทำงานกับทีมงานของ ดร. สมคิด อย่าง ดร. อุตตม สาวนายน, ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รวมถึง ดร.โอฬาร ไชยประวัติ 

ในบทบาทของทีมเลขาฯ ตามนาย ที่นั่งอยู่แถวหลังสุดมุมห้อง พิธาใข้ช่วงเวลานั้น แอบบันทึก และซึมซับสาระสำคัญ รวมถึงวิธีคิด ของคีย์แมนทางการเมืองไปพร้อมกันด้วย แม้เป็นช่วงระยะเวลาไม่นาน ก่อนเขาจะตัดสินใจไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา กระทั่งเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ในปี 2549

#เป็นผู้สังเกตการณ์การเมืองระดับโลก
อีกด้าน พิธา มีโอกาสได้เปิดมุมมอง และได้พบเห็นการทำงานการเมืองระดับโลก ที่สหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลาที่เขาเดินทางไปศึกษาต่อ ทั้งในปี 2000 ช่วงการเลือกตั้งใหญ่ ที่เป็นการขับเคี่ยวกัน ของ จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช จากรีพับลิกัน และ อัล กอร์ จากเดโมแครต  ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เขาไปเรียนต่อด้านการเงิน ที่รัฐเท็กซัส ทำให้ได้เห็นบรรยากาศและวิธีการหาสียงในฟากของพรรครีพับลิกัน 

กระทั่ง 16 ปี คล้อยหลัง พิธากลับไปศึกษาต่อปริญญาโท ที่สหรัฐอีกครั้ง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ของสหรัฐฯ แต่หนนี้เขาได้ไปอยู่ในพื้นที่ของพรรคเดโมแครต ได้เห็นการต่อสู้ทางการเมืองระหว่าง ‘โอบามา’ กับ ‘แม็คเคน’ ซึ่งพิธาได้เห็นวิวัฒนาการการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย รวมถึงได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ร่วมคลาสการเมือง ซึ่งต่อมาเติบโตไปเป็นคนการเมืองระดับประเทศในสหรัฐฯ รวมถึงได้ติดตามเพื่อน ออกไปหาเสียง ได้เห็นและเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า ‘เครื่องจักรทางการเมือง’ ซึ่งเป็นยุทธวิธี ในการลงพื้นที่เรียกคะแนน รวมถึงการเคาะประตูเพื่อขอรับบริจาคเงินสนับสนุนพรรคการเมือง จนได้นำสิ่งที่ได้เห็นและสัมผัส กลับมาปรับใช้ได้จริง เมื่อเขาตัดสินใจผันตัวเองเข้าสู่บทบาท ‘นักการเมือง’ เต็มตัว

‘พิธา’ ในบทบาทของผู้นำจัดตั้งรัฐบาล เพิ่งประกาศเอ็มโอยู ระหว่าง 8 พรรค 313 เสียง ที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลไปเมื่อต้นสัปดาห์ แน่นอนว่า กระแส ‘พิธาฟีเวอร์’ และ ‘ด้อมส้ม’ มาแรงต่อเนื่อง หากไม่มีอุบัติเหตุ หรือความผิดพลาดทางการเมืองเกิดขึ้น ว่าที่ผู้นำคนรุ่นใหม่ ที่มาพร้อมความคาดหวังในความเปลี่ยนแปลงฉากทัศน์ทางการเมือง ที่ชื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ กับประสบการณ์การเมืองที่เขาเรียนรู้และสั่งสมมา จะได้ใช้งานอย่างเต็มที่ในบทบาท และฐานะผู้นำของประเทศต่อไป

‘ฟิทช์’ ส่งสัญญาณถึง ‘รบ.ใหม่’ ปมจัดตั้งคลุมเครือ-ล่าช้า ชี้!! อาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือในเสถียรภาพของไทย

วันที่ (26 พ.ค.66) รายงานข่าวจาก Fitch Ratings บริษัทจัดอันดับเรตติ้งชั้นนำ ระบุถึงสถานการณ์ประเทศไทยหลังผ่านการเลือกตั้งว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีเวลาถึง 60 วันในการประกาศผลอย่างเป็นทางการหลังการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 66 แต่ตัวเลขเบื้องต้นบ่งชี้ว่า

พรรคก้าวไกลซึ่งได้ที่นั่งมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร และพรรคเพื่อไทย พรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดก่อนหน้านี้ ตามมาเป็นอันดับที่ 2 ยังมีความคลุมเครือในการจัดตั้งรัฐบาล โดยขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่า พรรคก้าวไกลจะได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอหรือไม่ ที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งจะส่งผลให้มีการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายในกรอบที่กว้าง ทำให้การกำหนดนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ อาจถูกจำกัดชั่วคราว หากกระบวนการสรรหาพันธมิตรร่วมรัฐบาลยังทำให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าไปหลายเดือน

สำหรับการจะครองเสียงข้างมากในรัฐสภา และเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปนั้น พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต้องรวมคะแนนเสียงให้ได้อย่างน้อย 376 เสียง จากที่นั่งรวม 700 ที่นั่งในรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ในสภาผู้แทนราษฎร 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารก่อนการเลือกตั้งปี 2562

ทั้งนี้ การคาดการณ์ในกรณีพื้นฐาน (Base Case) นั้น ผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระยะสั้นจะมีจำกัด โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ฟิทช์ ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยไว้ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

เราได้ระบุไว้กว้างๆ ว่า อาจเกิดรัฐบาลผสม ทำให้การกำหนดนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพนั้นกลายเป็นเรื่องซับซ้อน แต่ก็ไม่น่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ และแม้ว่าแนวโน้มนโยบายการคลังมีความไม่แน่นอน แต่คาดว่ารัฐบาลผสมชุดใหม่ จะยังคงยึดมั่นในนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญบางส่วนของรัฐบาลชุดที่แล้ว

ทั้งนี้ อาจมีการหยุดชะงักในการใช้จ่าย ภายใต้งบประมาณสำหรับปีงบประมาณที่สิ้นสุดในเดือนกันยายน 2567 หากการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า จะเป็นผลลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่เรายังคงคาดว่า การเติบโตจะเร่งตัวขึ้นในปี 2566 และยังคงแข็งแกร่งในปี 2567 โดยมีการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก

ตัวชี้วัดภาคการคลังสาธารณะของไทย ที่มีความเสื่อมถอยลงอย่างมากในช่วงการระบาดของโควิด 19 ซึ่งมีผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับปัจจุบัน แต่ฟิทช์คาดการณ์ว่า หนี้ภาครัฐทั่วไป/จีดีพี และดอกเบี้ย/รายได้ ในปี 2566-2567 จะยังคงอยู่ในระนาบตามค่ามัธยฐาน (Median) ของกลุ่มประเทศที่มีความน่าเชื่อถือในระดับ BBB

ทั้งนี้ ระบุว่า หากรัฐบาลชุดต่อไปไม่สามารถรักษาเสถียรภาพของสัดส่วนหนี้ภาครัฐได้ ตัวอย่างเช่น มีแรงกดดันด้านการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง หรือมีผลกระทบจากภายนอก ซึ่งอยู่นอกเหนือสมมติฐานพื้นฐานของเรา นั่นอาจส่งผลให้อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยลดลง

‘ก้าวไกล’ นโยบายเร่งด่วน 100 วัน เรื่องฝันๆ หรือทำได้จริง?

ยังมีปัญหาความวุ่นวายให้แก้ หลัง ‘นายพิธา  ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำ 8 พรรค 313 เสียง ลงนาม ‘เอ็มโอยู’ ประกาศแนวทางนโยบายร่วมกัน 23 ข้อ กับ อีก 5 แนวปฏิบัติของพรรคร่วมรัฐบาล

แต่เส้นทางการก้าวขึ้นสู่อำนาจ ของรัฐบาลก้าวไกลก็ยังไม่ราบรื่น นอกจากต้องหาเสียงสนับสนุนให้ถึง 276 เสียงเพื่อโหวตนายกฯ แล้ว ปัญหาการแช่งชิงตำแหน่ง ‘ประธานสภาฯ’ กับพรรคเพื่อไทยก็ยังตกลงกันไม่ได้

แต่หากพรรคก้าวไกล สามารถฝ่าด่านไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็น่าสนใจว่า ในช่วง 100 วันแรก  ซึ่งก่อนหน้านี้ ‘พิธา’ เคยออกมาแถลง ‘โร้ดแมป’ ที่จะเร่งทำให้ ‘การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต’ จะเป็นไปตามนั้นหรือไม่  วันนี้ลองมาทวนดู ว่าสิ่งที่เคยให้คำมั่นไว้ มีอะไรบ้าง 

สำหรับ 100 วันแรก ที่ ‘ก้าวไกล’ ประกาศจะทำทันที เช่น การเสนอ ครม.ทำรัฐธรรมนูญใหม่ เปิดทางให้มี สสร. จากการเลือกตั้ง ให้รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลงบประมาณ เอากฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่พิจารณาค้างมาจากรัฐบาลที่แล้ว มาทำให้เสร็จ ยกเลิกบังคับใส่ชุดนักเรียน และทรงผม พร้อมกับแก้สูตรค่าไฟ เดินหน้าสุราก้าวหน้า ออกโฉนดนิคมสหกรณ์ และนิคมสร้างตนเอง และเปิดเสรีโซลาร์เซลล์

ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากออกหวยใบเสร็จแล้ว ที่ดูท้าทายมากที่สุดคือ ‘การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท’

หลังนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นำทีมไปที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อรับฟังข้อเสนอนโยบายสะท้อนปัญหา และข้อกังวลจากตัวแทนภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ซึ่งก็พบว่า แม้ก้าวไกลจะตั้งเป้าทำทันที แต่นายพิธา ก็ย้ำว่า การขึ้นค่าแรงจะขึ้นตามใจตัวเองไม่ได้ เพราะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝั่ง ทั้งนายจ้าง ที่จะสามารถควบคุมต้นทุนได้ ขณะที่ลูกจ้างก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานสามารถเกิดขึ้นได้จริง

‘ค่าแรง 450 บาท’ เป็นโจทย์ต้นๆ ที่พรรคก้าวไกล เลือกหยิบมาเดินหน้าทำ ซึ่งก็อาจเป็นกระจกสะท้อนให้เห็น ว่า นโยบาย 100 วัน ที่อยากเห็น กับความจริงที่เป็น อาจยังเป็นคนละภาพกัน ซึ่งแต่ละเรื่องไม่ง่าย เพราะมีรายละเอียด และความเห็นแตกต่างที่ต้องนำมาพิจารณาให้รอบด้าน ขณะเดียวกันก็ต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อดำเนินการผลักดันให้ไปถึงเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ ซึ่งท้ายที่สุดหากฝ่าด่านอุปสรรคนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็รอลุ้นว่าจะสามารถผลักดันตามที่ประกาศไว้ได้หรือไม่

‘เพื่อไทย’ ยัน ไม่สร้างเงื่อนไขให้การขับเคลื่อน รบ.ติดขัด ลั่น!! ไม่คิดใช้ตำแหน่งประธานสภาฯ ต่อรองเก้าอี้ รมว.มหาดไทย

 (27 พ.ค. 2566) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย (สร.) ออกมาระบุตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นเกมที่พรรคเพื่อไทยต้องการใช้ต่อรองเก้าอี้ รมว.มหาดไทย ว่า ไม่เป็นความจริง พรรคเพื่อไทยไม่คิดเอาตำแหน่งประธานสภาฯ มาเป็นเงื่อนไขต่อรองเก้าอี้ รมว.มหาดไทย เพราะเป็นคนละส่วนกัน

นายประเสริฐ กล่าวว่า เก้าอี้รัฐมนตรีเป็นฝ่ายบริหารที่พรรคร่วมทั้ง 8 พรรคต้องมาหารือตกลงร่วมกัน โดยมีธรรมเนียมเรื่องการนำเก้าอี้ ส.ส. ที่แต่ละพรรคได้มาเกลี่ยกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมถึงต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของตัวบุคคลในภารกิจนั้นๆ ด้วย ไม่ใช่จะเอาแค่เก้าอี้มาเป็นตัวชี้วัดอย่างเดียว ซึ่งเรื่องนี้ทางพรรคร่วมคงต้องมีการหารือเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้การทำงานของรัฐบาลเดินหน้าอย่างราบรื่น

“พรรคเพื่อไทยมีประสบการณ์ ไม่คิดจะเอาตำแหน่งฝ่ายนิติบัญญัติมาเป็นเงื่อนไขในการต่อรอง จนกระทบการทำงานของฝ่ายบริหารแน่ เพราะบ้านเมืองประสบปัญหามานาน เราต้องได้รัฐบาลที่กลมเกลียวไปแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ยืนยันเราไม่คิดที่จะเป็นคนสร้างเงื่อนไขให้การขับเคลื่อนรัฐบาลติดขัดแน่นอน” นายประเสริฐ กล่าว

‘สว.สมชาย’ คิดหนัก หลังเห็นรายชื่อว่าที่ประธานสภาฯ เย้ย ไร้ฝีมือ-ด้อยคุณภาพ ลั่น!! ไม่ขอเรียกท่านประธานที่เคารพ

(27 พ.ค. 66) จากกรณีกระแสข่าวการชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในสังคมนั้น ล่าสุด นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์รูปภาพและข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า…

“555ว่าที่ท่านประธานสภาที่เคารพไม่ลง”

โดยภาพที่นายสมชายโพสต์ ระบุข้อความว่า “#คิดหนักมาก เปิดประชุมร่วมรัฐสภาฯ ดูหน้ารายชื่อว่าที่ประธานสภาที่พรรคกร้าวเสนอ ไร้ฝีมือ ด้อยคุณภาพ ไม่ขอเรียกท่านประธานสภาที่เคารพแน่นอน #กระดากปาก”

คนไทยกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ กรณีคนไทยกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 1,352 คน เป็นการสำรวจทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 24-26 พ.ค.66 พบว่า จากการเลือกตั้งใหญ่ 14 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนสนใจติดตามข่าวการเมืองมากขึ้น ร้อยละ 72.63 ณ วันนี้ ประชาชนรู้สึกเครียดกับเรื่องปากท้อง/ค่าใช้จ่ายมากที่สุด ร้อยละ 52.14 รองลงมาคือ การจัดตั้งรัฐบาล ร้อยละ 51.90 ทั้งนี้เมื่อมีความรู้สึกเครียดจะแก้ปัญหาด้วยการคุยกับเพื่อน คนรัก คนที่ไว้ใจได้ ร้อยละ 46.38

เมื่อสอบถามว่าประชาชนมีความกังวลกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หรือไม่ พบว่า กังวล ร้อยละ 67.83 เนื่องจากกลัวว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน พรรคที่ได้เสียงข้างมากอาจไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาลมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน มีการเล่นเกมการเมืองมากเกินไป และกังวลการโหวตของ ส.ส. และ ส.ว.

ส่วนความเชื่อมั่นว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเป็นไปด้วยความราบรื่น พบว่าไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 58.33 และเชื่อมั่น ร้อยละ 41.67 จากผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมาทำให้คนไทยติดตามข่าวการเมืองมากขึ้น แต่ก็ยังมีความกังวลกับการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง รวมไปถึงกังวลกับการเลือกนายกรัฐมนตรีว่าอาจจะไม่ได้ตาม ที่ต้องการเพราะกลไกของการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นมีเงื่อนไขของการโหวตจาก ส.ว. ร่วมด้วย กอปรกับภาพความขัดแย้งของพรรคฝั่งประชาธิปไตยที่มีข่าวให้เห็นรายวัน จึงทำให้ประชาชนยังไม่แน่ใจว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ครั้งนี้จะเป็นไปด้วยความราบรื่น

‘รศ.หริรักษ์’โพสต์ข้อความ ชวนให้คิด พรรคก้าวไกล มีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr

เกี่ยวกับประเด็นที่มีคนตั้งข้อสงสัยว่าประเทศสหรัฐอเมริกาแทรกแซงการเมืองไทยด้วยการให้การสนับสนุนพรรคการเมืองที่ยืนอยู่ข้างสหรัฐอเมริกาเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล โดยมีใจความว่า ...

5 ปีที่แล้วหากบอกว่า สหรัฐอเมริกาแทรกแซงการเมืองไทยด้วยการให้การสนับสนุนพรรคการเมืองที่ยืนอยู่ข้างสหรัฐอเมริกาเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล จะไม่มีใครเชื่อ นอกจากไม่เชื่อแล้วยังมองว่าคนที่พูดบ้าไปแล้ว ดูหนังมากไปหรือไม่ แต่วันนี้ มีคนที่เชื่อเรื่องนี้มากขึ้นทุกวัน มากจนกระทั่งคุณรังสิมันต์ โรม มีความวิตก ออกมาชี้แจงและปฏิเสธว่า เป็น fake news เป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลพรรคก้าวไกลจะยอมให้ต่างชาติมาตั้งฐานทัพในประเทศไทย คุณวิโรจน์ ลักณาอดิศรก็ตอบโต้ว่า เป็นนิทานหลอกเด็ก เป็นอุปทานหมู่

ระยะนี้ จึงมีคนถามกันมากว่า การแทรกแซงประเทศไทยโดยชาติมหาอำนาจด้วยการให้การสนับสนุนพรรคการเมืองบางพรรค ซึ่งก็หมายถึงพรรคก้าวไกลให้ชนะการเลือกตั้งเพื่อได้เป็นรัฐบาล เป็นความจริงหรือไม่ มีหลักฐานหรือไม่

คำตอบคือ ไม่มีใครที่เป็นคนนอกบอกได้ 100% หลักฐานมีหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าหลักฐานแบบจับให้มั่นคั้นให้ตายคงไม่มี แต่มีเหตุการณ์ และข้อเท็จจริงต่างๆที่เกิดขึ้นเ จนทำให้มีความน่าเชื่อมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่นี้จึงจะลองรวบรวมเหตุการณ์และข้อเท็จจริงต่างๆเท่าที่ทำได้ โดยจะเลือกเฉพาะที่เป็นจริงเท่านั้นมาให้ลองพิจารณากัน

1. คุณธนาธรได้ว่าจ้าง APCO Worldwide ซึ่งเป็นบริษัทลอบบี้ยิสต์ ตั้งแต่วันที่ 1 กค ถึง 31 ธค 2562 เป็นเงินประมาณ 1.8 ล้านบาท โดยบอกว่าใช้เงินส่วนตัว เพื่อช่วยให้ข้อมูลแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและให้บริการด้านกลยุทธ์การสื่อสารในประเทศสหรัฐอเมริกาให้กับผู้ว่าจ้าง เพื่อให้ผู้คนในสหรัฐฯได้ตระหนักเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมในประเทศไทยดียิ่งขึ้น และให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และให้บริการด้านการสื่อสารในฐานะตัวแทนของผู้ว่าจ้าง ประสานงานกับสื่อมวลชนและองค์กรในสหรัฐฯเพื่อสร้างความตระหนักมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมในประเทศไทย

คุณธนาธร เมื่อไปสหรัฐอเมริกา ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าวที่สำนักข่าว NBC ยกย่องสหรัฐอเมริกาและแสดง ความต้องการให้สหรัฐอเมริกาช่วยสร้างสังคมไทยให้ดีขึ้น และเมื่อก่อนการเลือกตั้ง 2562 คุณธนาธรเสนอความคิดเรื่องการใช้ hyperloop แทนรถไฟความเร็วสูงซึ่งขณะนั้นรัฐบาลกำลังเจรจากับจีน คุณธนาธรให้ข่าวว่าจะออกเงินเองเพื่อศึกษาความเป็นไปได้(feasibility study)ของ hyperloop แต่ไม่มีใครเคยได้เห็นรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ฉบับนั้นแต่อย่างใด เมื่อมีการจัดแถลงข่าวเรื่อง hyperloop คุณธนาธรตอบคำถามนักข่าวต่างชาติว่า รัฐบาลไทยเอนเอียงไปทางจีนมากเกินไป จึงต้องการให้มีการปรับความสัมพันธ์กับต่างประเทศใหม่ ใช้คำว่า "realign"โดยให้หันไปทางประเทศอื่นเช่น สหรัฐอมเริกาและญี่ปุ่นให้มากขึ้น

2. เมื่อคุณธนาธรต้องไปรับทราบข้อกล่าวหากรณียุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ที่สน.ปทุมวัน มีเจ้าหน้าที่สถานทูตจากประเทศตะวันตกหลายประเทศ ต่างไปร่วมสังเกตการณ์กันอย่างเนืองแน่น ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต

3. นาย Robert F. Godec ก่อนเดินทางมารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภาสหรัฐก่อนเดินทางมารับตำแหน่งว่า จะช่วยให้ประเทศไทยปรับปรุงในเรื่องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ และจะให้ไทยร่วมกดดันเมียนมาร์ด้วย เมื่อมีวุฒิสมาชิกตั้งกระทู้ถามเรื่องมาตรา 112 ที่ส่งผลถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมีผู้ถูกจับกุมคุมขังมากมาย นาย Godec กล่าวว่า

"สหรัฐให้ความเคารพต่อราชวงศ์ไทย และเข้าใจในความจงรักภักดีของคนไทยต่อราชวงศ์ แต่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมีความสำคัญอย่างยิ่ง และเขาเคยเน้นย้ำต่อสาธารณะและโดยส่วนตัวว่า ที่ประชาชนจะแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องกลัวการถูกจับกุม และจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" และยังกล่าวต่อไปว่า

" ผมขอย้ำว่า คนที่ถูกจับกุมจะต้องได้รับการปฏิบัติโดยเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเต็มที่ในระหว่างการดำเนินคดี"

นอกจากนี้นาย Godec ยังกล่าวว่า จะกดดันให้ไทยลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติและน้ำม้นจากพม่า และจะพยายามให้ไทยเพิ่มแรงกดดันต่อพม่า เพื่อหยุดการกระทำอันเหี้ยมโหดของรัฐบาลเมียนมาร์ อีกด้วย

4. คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีช่วงท้ายที่ว่า นายกรัฐมนตรีทำลายศักยภาพของประเทศไทยในต่างประเทศเพราะไม่เข้าไปกดดันรัฐบาลเมียนมาร์ และทำลายศักยภาพของประชาชน เนื่องจากใช้มาตรา 112 ดำเนินการจับกุมคุมขังผู้ที่แสดงออกทางความคิด อันเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยเสรีของประชาชนเหล่านั้น เนื้อหาในการอภิปราย 2 ข้อนี้ตรงกับที่ว่าที่เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยแสดงความคิดเห็นก่อนเดินทางมารับตำแหน่งอย่างไม่ผิดเพี้ยน

5. เป็นที่น่าสังเกตว่า สื่อในประเทศไทยที่อยู่ข้างม็อบ 3 นิ้ว ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรจากต่างประเทศโดยเปิดเผย เช่น จาก NED หรือ National Endowment for Democracy, Open Society Foundation, USAID, Freedom House เป็นต้น องค์กรต่างๆเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งสิ้น Open Society foundation มี George Soros เป็นผู้ก่อตั้ง NED เป็นองค์กรที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกา แต่เดิมการให้การสนับสนุนทั้งเงิน และการสนับสนุนแบบอื่นๆให้แก่กลุ่มต่างๆในต่างประเทศเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ หรือ national interest ของสหรัฐอเมริกา จะกระทำอย่างลับๆโดย Central Intelligent Agency หรือ CIA แต่ในสมัยประธานาธิบดี Lyndon B Johnson ต้องการให้เป็นการสนับสนุนอย่างเปิดเผย จึงให้จัดตั้ง NED ขึ้นให้เป็นองค์กรเอกชนเพื่อให้การสนับสนุนเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งและการเติบโตของสถาบันทางประชาธิปไตยทั่วโลก

6. คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้รับเชิญไปพูดในการประชุมที่เรียกว่า Oslo Freedom Forum ที่ไต้หวัน ซึ่งคุณธนาธรได้เลือกที่จะพูดในหัวข้อ

"Why we must defend democracy" หรือทำไมเราต้องปกป้องประชาธิปไตย

Oslo Freedom Forum คือที่ประชุมที่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2009 ที่ Oslo เพื่อเป็นที่รวมตัวกันของนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน และนักประชาธิปไตย เพื่อต่อสู้กับเผด็จการ หลังจากนั้นก็ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ครั้งล่าสุดจัดขึ้นที่ไต้หวัน

ผู้จัดการประชุม Oslo Freedom Forum คือมูลนิธิสิทธิมนุษยชน( Human Rights Foundation) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ New York สหรัฐอเมริกา

แหล่งเงินทุนที่ให้การสนับสนุนมูลนิธิสิทธิมนุษยชน มาจากทั้งภาคเอกชน เช่น Twitter และ Amazon เป็นต้น และยังมาจากองค์กรที่เรียกว่า Freedom Fund ซึ่งหากค้นลึกลงไปก็จะพบว่าองค์กรแห่งนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และรัฐบาลอังกฤษ นั่นเอง

Oslo Freedom Forum ไม่ใช่เพียงจัดประชุมปีละครั้ง แต่ยังจัดกิจกรรมต่างๆระหว่างปีด้วย หนึ่งในกิจกรรมก็คือ จัดอบรมวิธีการทำปฏิวัติ(ไม่ใช่รัฐประหาร) และการจัดการชุมนุม หรือจัดม็อบ การรับมือกับตำรวจควบคุมฝูงชนให้กับนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านรัฐบาลจากประเทศต่างๆ นักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกงที่ชื่อนาย โจชัว หว่อง ก็เคยเข้ารับอบรมดังกล่าวนี้

การประชุมครั้งนี้ที่ไต้หวัน ยังได้มีการนำภาพของผู้นำของประเทศที่ถูกคนกลุ่มนี้ตราหน้าว่าเป็นเผด็จการมาติดผนังไว้ให้ผู้ที่เข้าร่วมประชุมเขียนอะไรก็ได้บนภาพของผู้นำเหล่านี้

7. เมื่อมีการชุมประท้วงรัฐบาลประเทศอิหร่าน คุณธนาธรออกมาแสดงความเห็นสนับสนุนผู้ประท้วง จนสถานทูตอิหร่านต้องโพสต์ข้อความเตือนคุณธนาธร แต่คุณธนาธรไม่เคยออกมาแสดงความเห็นต่อต้านอิสราเอล กรณีปาเลสไตน์เลยสักครั้ง

8. ม็อบชานม ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของม็อบ 3 นิ้ว เชียร์ไต้หวัน ฮ่องกง และอุยกูร์ ชัดแจ้งว่าต่อต้านจีน แต่สนับสนุนสหรัฐอเมริกา

9. Dr. Agnes Callamard เลขาธิการองค์การนิรโทษกรรมสากลหรือ Amnesty International ชาวฝรั่งเศสมาเมืองไทย ในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งทั่วไป และได้แสดงปาฐกถาเกี่ยวกับประเทศไทย เนื้อความที่สำคัญที่ Dr. Callamard กล่าวคือ

"ช่วงสำคัญของการมาเมืองไทยครั้งนี้ คือการพบกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วง พวกเขาต้องการสร้างประเทศที่แข็งแกร่งและเป็นธรรม แต่เมื่อได้ถามว่า พวกเขาได้มองอนาคตของตัวเองไว้อย่างไร เขาตอบว่า 'ไม่มีอนาคคสำหรับเราที่นี่' นั่นทำให้ดิฉันมีความกังวลอย่างมาก และคิดว่า ผู้นำประเทศควรมีความห่วงใยอย่างมาก เยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนมาก มีความรู้สึกว่า พวกเขาไม่มีอนาคตก็เพราะการถูกปราบปราม ความไม่เท่าเทียมกัน การทุจริตคอรัปชั่นและความไม่ยุติธรรม และสิ่งเหล่านี้ต้องเปลี่ยนแปลง"

"เด็กๆและเยาวชนเป็นร้อยๆ รวมทั้งนักกิจกรรมทางการเมือง และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กำลังเผชิญกับการถูกดำเนินคดีทางอาญาในประเทศไทย เพียงเพราะการใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงออก และการประท้วงอย่างสันติ จำนวนมากถูกลลิดรอนสิทธิเสรีภาพและอาจต้องเผชิญกับการถูกบันทึกลงประวัติอาชญากร รวมถึงเด็กอายุ 15 ปี ที่ยังคงถูกคุมตัวอยู่ในสถานพินิจมาเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์แล้ว"

เนื้อความเหล่านี้ล้วนสอดคล้องและเป็นชุดความคิดเดียวกันกับม็อบ 3 นิ้ว และพรรคก้าวไกลทั้งสิ้น

10. สว.สมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค ได้เชิญเอกอัครราชทูต สหรัฐอเมริการประจำประเทศไทย นาย Robert F. Godec และคณะเข้าหารือที่วุฒิสภา กรณีมีคนไทยกลุ่มหนึ่งส่งเอกสารถึงรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา และวุฒิสมาชิกกลุ่มหนึ่งเป็นผลให้วุฒิสมาชิกกลุ่มนี้เคลื่อนไหวเพื่อยื่นเรื่องให้วุฒิสภาของสหรัฐอเมริกาออกมติที่ 114 ซึ่งมีเนื้อหาข่มขู่ กล่าวหา สถาบันพระมหากษัตริย์ว่า แทรกแซงการเลือกตั้งทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเลือกตั้ง ตลอดจนเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 หากไม่ทำตามก็จะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา สว.สมชายพยายามชี้แจงให้ นาย Godec ว่าข้อมูลทั้งหมดที่คนไทยกลุ่มนั้นส่งไปไม่เป็นความจริง

กรณีนี้ ไม่น่าจะมีความเป็นไปได้ที่คนไทยกลุ่มหนึ่ง อยู่ดีๆก็ส่งเอกสารดังกล่าวไปให้วุฒิสมาชิกของสหรัฐอเมริกา และวุฒิสมาชิกกลุ่มนี้ก็รับลูกไปดำเนินการต่อ โดยไม่มีการนัดแนะประสานกันล่วงหน้ามาก่อน

11. คุณพรรณิการ์ วาณิช กล่าวถึงรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ ว่า มีที่มาเป็นเผด็จการ ไม่สามารถเข้าคลับของประเทศตะวันตกได้ ได้แต่คบกับรัสเซีย จีน และซาอุดิอเรเบีย ที่มีที่มาคล้ายๆกัน รัฐบาลไทยจะต้องสร้างสมดุล โดยหันไปทางประเทศประชาธิปไตยให้มากขึ้น

12. นาย Robert F. Godec เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย แสดงความสนใจ และความกระตือรือล้นต่อผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาอย่างออกนอกหน้า โดยไม่มีสถานทูตประเทศอื่นๆแม้แต่แห่งเดียวที่แสดงออกเช่นนาย Godec

13. ทันทีที่ทราบผลการเลือกตั้ง คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โพสต์ข้อความใน social media เรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารออกจากยูเครนโดยไม่มีเงื่อนไข และให้สัมภาษณ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลประยุทธ์ว่า ไม่มีจุดยืน เป็นไผ่ลู่ลม ทำให้ไม่มีที่ยืนในเวทีโลก หากก้าวไกลเป็นรัฐบาลจะทวงคืนศักดิ์ศรีการต่างประเทศไทย และยืนยันว่าตนเองกดดันให้ประเทศเมียนม่าร์กลับมาเป็นประเทศประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐอเมริกาต้องการ ทั้งที่หลักการสำคัญของอาเซียนคือ การไม่แทรกแซงซึ่งกันและกัน

14. คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จบจาก John F. Kennedy School of Government มหาวิทยาลัย Harvard ซึ่งสอนทางด้าน Public Policy, Public Administration เป็นสถาบันที่ปลูกฝังความเชื่ออย่างที่สหรัฐอเมริกาต้องการ ผู้ที่จบจากที่นี่ส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก และในระบอบทุนนิยม เสรีนิยม

โรงเรียนนี้มีความเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับ World Economic Forum ซึ่งเป็น elite group ก่อตั้งโดยนาย Klaus Schwab มีสมาชิกประกอบด้วย นักการเมือง กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่จากประเทศต่างๆ ว่ากันว่าองค์กรนี้มีความพยายามที่จะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของโลก คำว่า "New World Order" ก็เกิดขึ้นจากกล่ม elite กลุ่มนี้ และหลังจากสถานการณ์โควิดผ่อนคลาย ยังมีคำว่า " The Great Reset" ออกมาอีกซึ่งก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะ reset อย่างไร

นาย Schwab ยังได้ก่อตั้งหลักสูตรอบรมที่เรียกว่า Young Global Leaders ผู้ที่ผ่านการอบรมจากหลักสูตรนี้จำนวนมาก ได้ไปมีบทบาทเป็นผู้นำรัฐบาลในประเทศต่างๆทั่วโลก นาย Justin Trudeau นายกรัฐมนตรีของ Canada และอีกหลายคนในคณะรัฐมนตรี ก็ผ่านการอบรมจากหลักสูตรนี้ ผู้ที่ผ่านการอบรมจากหลักสูตรนี้ และจาก John F. Kennedy School of Government ส่วนใหญ่ดูเหมือนจะดำเนินนโยบายเอนเอียงไปทางสหรัฐอเมริกาอย่างมาก

จะเห็นว่า หลังจากการเลือกตั้งไม่กี่วัน พรรคก้าวไกลยังไม่ทันได้เป็นรัฐบาล World Economic Forum ก็ส่งคณะผู้แทนเข้าพบคุณพิธา และเป็นที่น่าสังเกตว่า สื่อตะวันตก เช่น BBC Bloomberg Insider ต่างเผยแพร่ข่าวเชียร์คุณพิธาอย่างออกหน้าออกตา เห็นแล้วทำให้รู้สึกว่า ประเทศตะวันตกมึความพอใจที่จะได้คุณพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย มากกว่าคุณธนาธรเสียอีก ทำให้ขณะนี้คุณพิธามีความเจิดจรัสบดบังรัศมีของคุณธนาธร และอ.ปิยบุตรไปเกือบหมด

ทั้งหมดนี้คือเหตุการณ์ และข้อเท็จจริงต่างที่พอรวบรวมได้ ที่ทำให้มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากว่า ประเทศตะวันตก ไม่เพียงแต่สหรัฐอเมริกา กำลังแทรกแซงการเมืองไทย

เรื่องนี้หากไปถาม ผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่คร่ำหวอด ติดตาม และทำข่าวต่างประเทศมาอย่าวยาวนาน เขาจะตอบว่า ไม่น่าแปลกใจ และมีความเป็นไปได้สูง เพราะเขาทราบดีว่า สหรัฐอเมริกาแทรกแซงประเทศต่างๆในโลกมาแล้วมากมาย เช่น นิคารากัว อิรัก อัฟกานิสถาน ลิเบีย ซีเรีย และอีกหลายประเทศในอาฟริกา

ข้อเท็จจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้คือ สหรัฐอเมริกาทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับประเทศจีนอย่างเปิดเผย และในทางภูมิรัฐศาสตร์ ประเทศไทยตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญอย่างยิ่ง ทำให้สหรัฐอยากได้ไทยเป็นพวก ความจริงข้อนี้สามารถไปหาอ่านได้ในเอกสาร Indo-pacific Strategy ได้

การสร้างสถานกงสุลแห่งใหม่ที่ใช้เงินเกือบหมื่นล้านบาท มีชั้นที่อยู่ใต้ดินอีก 10 ชั้นต้องมีวัตถุประสงค์บางอย่างที่เกี่ยวกับเมียนม่าร์และจีนที่เปิดเผยไม่ได้อย่างแน่นอน

ที่เมียนม่าร์ มีข่าวและรูปถ่ายเล็ดรอดออกมาว่า สหรัฐส่งอาวุธและคนไปฝึกอาวุธให้ชนกลุ่มน้อยและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนม่าร์อย่างลับๆ เพื่อรบกับฝ่ายรัฐบาล เมื่อมีข่าวนี้ออกมา สหรัฐชี้แจงว่าผู้ที่ไปฝึกอาวุธเป็นอดีตนาวิกโยธิน จึงไม่เกี่ยวกับรัฐบาลสหรัฐแต่อย่างใด แต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เราก็คงคาดเดาได้ ดังนั้นจึงเชื่อได้อย่างยิ่ง ที่สหรัฐจะมีความต้องการที่จะเข้ามาตั้งฐานทัพในไทยเช่นเดียวกับที่ประเทศ ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์

คำถามคือ หากคุณพิธาได้เป็นนายกรัฐมนตรีในอีก 2 เดือนข้างหน้า คุณพิธาจะทำตัวเป็นลูกรักของสหรัฐอเมริกาหรือไม่ และจะยินยอมให้สหรัฐอเมริกามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยหรือไม่

เราต้องติดตามดูต่อไป

‘บิ๊กตู่’ ปัดรอ ‘ส้มหล่น’ จัดตั้ง รบ. ชี้!! ต้องเคารพกติกา ดักคอสื่อ อย่าตั้งคำถามเรื่องอนาคตทางการเมือง

(29 พ.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การเมืองว่า หลายๆ อย่างก็ขอร้องให้ช่วยกัน อย่ามัวแต่ฟังเรื่องวุ่นๆภายในประเทศเราในขณะนี้ ฟังต่างประเทศเขาบ้างจะได้รู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน และต้องแก้กันอย่างไร

เมื่อถามว่า แต่สถานการณ์การเมืองที่วุ่นๆ ในขณะนี้ พัวพันมาถึง พล.อ.ประยุทธ์ โดยมีความพยายามที่จะโยงว่ารอส้มหล่นอยู่ พล.อ.ประยุทธ์ย้อนถามว่า “ส้มหล่น ส้มที่ไหนหล่น หล่นเรื่องอะไรล่ะ”

เมื่อถามย้ำว่า เป็นส้มหล่นทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ถึงกับร้องเสียงดังว่า “ฮู้!! อย่ามาพูดการเมืองกับผม ผมไม่รู้ว่าจะตอบว่าอย่างไร ผมก็อยู่ของผมอย่างนี้ ผมก็ทำหน้าที่ของผมให้เรียบร้อยแค่นั้น ก็เมื่อเขาส่งมอบให้ใครเป็น ก็เป็นไปสิ ไอ้ที่ว่าผมจะเป็น ผมจะเลิกอะไรต่างๆ ผมไม่ตอบอะไรสักนิด ทุกอย่างมันก็เป็นไปตามกฎกติกา ตามกฎเกณฑ์ของเขาอยู่ไม่ใช่เหรอ ก็ว่ากันไป”

เมื่อถามย้ำว่า หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจริงๆ และตั้งรัฐบาลไม่ได้จริงๆ ท่านพร้อมหรือไม่? พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ไม่ต้องมาถ้า อย่ามาถ้าผม ถ้าไม่ได้หรอก ไม่มีถ้า ก็เป็นเรื่องของอนาคตใช่หรือไม่ เพราะถ้าทางโน้น ก็ต้องมีถ้าตรงนี้ ถ้า 1 ถ้า 2 ถ้า 3 ถ้า 4 ฉันจะไปตอบเธอได้อย่างไรเล่า ใช่ไหม พอแล้ว โอเค”

เมื่อถามว่า มีโอกาสที่จะไปต่อหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์เดินออกจากโพเดียม พร้อมกล่าวว่า “ถ้า”

จับตา!! บรรดา ‘งูเห่า-อนาคอนดา’ ส่อแว้งฉก ‘เพื่อไทย’ อาจพลิกเกมหนุน ‘ลุงตู่’ คนเดิม หากผลประโยชน์ไม่ลงตัว

ผ่านมาได้ 20 วัน กระบวนท่าและขบวนทัพการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลอย่างไร้รอยต่อ ของ 8 พรรค 312 เสียง ยังดำเนินไป ซึ่งในวันที่ 30 พ.ค.นี้ จะมีการนัดเจรจาหารือกันที่พรรค 9 เสียง คือ ‘พรรคประชาชาติ’ ด้วยความเชื่อกันว่าบรรยากาศต่างๆ จะดีขึ้น หลังจาก ‘ประดาบ’ กันมา 2 สัปดาห์…

ถึงวันนี้จับความได้ว่า… สองพรรคใหญ่คือ ก้าวไกลกับเพื่อไทยยังตกลงปลงใจกันไม่ได้ว่า ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นของใคร… ขณะที่ข่าวการจัดตั้งรัฐบาลสูตร 14+1 ที่หมายถึง ก้าวไกลเอาไป 14 รัฐมนตรีกับ 1 นายกรัฐมนตรี เพื่อไทยเอาไป 14 รัฐมนตรีกับ 1 ประธานสภานั้น เชื่อกันว่า น่าจะถูกโยนออกมาจากฝั่งพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่จากฝั่งพรรคก้าวไกลอย่างแน่นอน เพราะวันนี้ ‘ด้อมส้ม’ ยังยืนกรานให้ก้าวไกลยึดเก้าอี้ประธานสภาไว้ให้มั่น…

อย่างไรก็ตาม ‘เล็ก เลียบด่วน’ ยังขอแทงหวยเหมือนเดิมว่า ประธานสภาจะเป็นของพรรคเพื่อไทย โดยมี ชลน่าน ศรีแก้ว คือ เต็งหนึ่ง, สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ คือ เต็งสอง, สุชาติ ตันเจริญ คือเต็งสาม…

แต่ถ้าพรรคก้าวไกลไม่ยอม แล้วเกมไถลไปถึงขั้นฟรีโหวต รับรองพรรคก้าวไกลก็ไม่ได้กิน โอกาสยังเป็นของพรรคเพื่อไทยอยู่ดี และดีไม่ดี เกมอาจพลิกไถลไปเป็นของอีกฝั่ง ดังนั้น ในที่สุดพรรคก้าวไกลก็คงต้องยอมพรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อไทยเองก็จะโอบอุ้มนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไปถึงที่ประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตชิงนายกฯ ซึ่ง ‘เล็ก เลียบด่วน’ ได้ฟันธงไปแล้วว่าเสียงโหวตพิธาจะไม่ถึง 376 เสียง… สอบไม่ผ่าน…

เมื่อพิธาสอบไม่ผ่าน ไปไม่ถึงดวงดาว โอกาสก็เป็นของพรรคเพื่อไทยที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งท้ายที่สุด สูตรหลักก็คือ จับมือข้ามขั้วกับภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา… ยอมถูกด่าว่าผสมพันธุ์กับพรรคลุง… มุ่งหน้าทำงานสร้างผลงานทดแทนเสียงด่า

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตาเป็นพิเศษในพรรคเพื่อไทยยามนี้ ก็คือทิศทางความเป็นไปของพรรค หลังจากพรรคพ่ายแพ้หมดรูปเหลือ 141 เสียง แยกเป็น ส.ส.เขต 112 บัญชีรายชื่อ 29 สายข่าว รายงานว่า แนวคิดของปีกคนรุ่นใหม่ที่นำโดย ‘อุ๊งอิ๊ง’ นั้น ต้องการให้ยกเครื่องพรรคครั้งใหญ่ ซึ่งตามแนวทางจะกระเทือนกับบรรดาผู้เฒ่าชแรแก่ชราในพรรคกันโดยทั่วถ้วน

ดังนั้น วาระนี้บรรดาซุ้มบ้านใหญ่ ส.ส.ผู้เฒ่าทั้งหลายโดยเฉพาะ 70 กว่าคนจากภาคอีสาน คงจะสำแดงเดช ต่อรองผลประโยชน์กันเต็มแม็กซ์… และหากพรรคไม่ตอบสนอง โอกาสที่จะเกิดการรวมตัวรวมมุ้ง พลิกเกมไปหนุนขั้วรัฐบาลเดิม ก็อาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

ดูเหมือนว่า ‘เดอะเต้น’ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ผู้ช่วยหาเสียงกิตติมศักดิ์ของพรรคเพื่อไทยจะจับสัญญาณและส่งสัญญาณได้ชัดกว่าใครเพื่อน ว่าขณะที่ฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค ต้องการอีก 65 เสียงเพื่อให้ผ่าน 376 เสียง ฝ่ายอนุรักษ์หรือขั้วรัฐบาลเดิม 118 เสียง ต้องการอีกเพียง 62 เสียง เพื่อให้ครบ 250 เสียงเพื่อพลิกเกมจัดตั้งรัฐบาล ได้ 250 เสียง ส.ส.เมื่อไหร่ บรรดา ส.ว.250 คนก็พร้อมจะโหวตหนุนให้เป็นนายกฯ และตั้งรัฐบาล… ดีไม่ดี นายกฯ คนนั้นอาจจะชื่อ “ประยุทธ์” ณ รวมไทยสร้างชาติ คนเดิม....

ตามไทม์ไลน์ที่ ดร.วิษณุ เครืองาม กางเอาไว้นั้น คือ วันที่ 25 ก.ค. จึงจะถึงวันเลือกประธานสภา เดือนหน้า มิ.ย.และต้นเดือน ก.ค. ก็ทยอยรับรองผลเลือกตั้งไปเรื่อยๆ วันไหนที่มีการรับรองผลและไปรายงานตัวเรียบร้อย วันนั้นแหละ บรรดา ส.ส.ของแต่ละพรรคจะสำแดงฤทธิ์เดช… โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของพรรคเพื่อไทย หากจัดสรรผลประโยชน์ไม่ลงตัว ดังกล่าวมา อะไรก็เกิดขึ้นได้..ปรากฎการณ์งูเห่าอาจจะน้อยไป อาจจะถึงขั้นอนาคอนดากันเลยทีเดียว.. หมอมิ้งค์,หมอชลน่าน,บิ๊กอ้วน,คุณอุ๊งอิ๊ง… โปรดอย่ามองข้ามความปลอดภัยเป็นอันขาด สิบอกให้!!

เรื่อง : เล็ก เลียบด่วน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top