Saturday, 18 May 2024
การเมือง

‘ดร.หิมาลัย’ แนะวิธีผ่อนคลาย มีสติ และทำใจให้เป็นกลาง เพื่อยอมรับ กับการเมืองที่มันเปลี่ยนไป

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 66 ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้ประสานงานพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้เล่าถึงประเด็น การจัดการ ความเครียดที่มากับการเมืองและการเลือกตั้ง
ผ่านรายการ ‘คุยกับ ดร. หิมาลัย’ EP.4 โดยระบุว่า…

ความเครียดที่มากับการเมือง ช่วงนี้คนไทยเครียดมาก ในเรื่องของการเมือง ในทางการเมืองนั้นที่ผ่านมามันเป็นการปลุกเร้าทางการเมือง เพื่อหาคะแนนเสียง มันเป็นการทำสงครามทางการเมือง มันจะรุนแรงก้าวร้าวและยิงตรงประเด็น เพราะถ้อยคำที่อ่อนโยนอ่อนหวานนั้นมันจะโดนกลืน มันไม่จุดกระแสมันไม่กินใจ ซึ่งเราอยู่ในบรรยากาศแบบนี้มานาน ในการเลือกตั้ง ซึ่งหลังจากที่ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วบรรยากาศแบบนี้ก็ยังไม่หมดไป ทุกคนยังอินอยู่กับบรรยากาศที่เพิ่งผ่านมาอย่างต่อสู้โจมตีกัน มันก็เกิดความเครียด

วิธีการ ที่จะคลายความเครียดทางการเมือง ก็คืออยากจะให้ทุกคนทำใจให้เป็นกลาง ในระบบประชาธิปไตยนั้น เราต้องเคารพสิทธิ์ เคารพเสียงส่วนใหญ่แต่ในขณะเดียวกันเสียงส่วนใหญ่ก็ต้องเคารพและฟังเสียงส่วนน้อยด้วย เพราะความคิดเห็นของเสียงส่วนน้อยนั้นก็อาจจะนำมาช่วยเหลือชาติบ้านเมืองได้
.
อย่างแรก เสพข่าวให้น้อยลง ถ้ารู้สึกเครียด แน่นอนว่าข่าวการเมืองนั้นคือการมุ่งไปสู่จุดหมายเป้าหมายฉะนั้น ถ้อยคำที่ใช้ก็ย่อมจะ ปลุกเร้าอารมณ์

อย่างที่สอง ก็คือในการเสพข่าวนั้นเราต้องมีสติและมีใจที่เป็นกลาง ได้ยินสิ่งที่ไม่ชอบ มันลอยมาเข้าหูเราก็ต้องทำใจให้เป็นกลาง ก็ปล่อยให้มันเป็นไป

อย่างที่ 3 ก็คือหาสิ่งใหม่ๆทำ เอาชีวิตของเราไปให้กับสิ่งที่เราชอบให้กับครอบครัวให้กับพ่อแม่พี่น้อง แล้วก็ปล่อยเรื่องการเมืองให้มันเป็นไปตามบริบท

อย่าให้มิตรภาพเสียไปเพราะการเมือง เป็นเพื่อนกันมาเรียนกันมาตั้งแต่สมัยมัธยม เพราะเรื่องการเมืองแค่นี้ จะเสียมิตรภาพไปทำไม บางครั้งก็ต้องปล่อยวางกันบ้าง อย่าไปเครียดว่าเขาจะตั้งรัฐบาลกันได้ไม่ได้มันไม่ใช่หน้าที่ของเราแล้ว

ตามหลักศาสนานั้น มีคำว่าอนิจจังซึ่งก็คือการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงนั้นเราก็จะต้องยอมรับมันให้ได้ ถ้าชอบก็ยินดีถ้าไม่ชอบก็ทำใจ ก็แค่นั้นเอง ใครจะเป็น รัฐบาลก็เป็นไปเถอะอย่างน้อย เราก็เป็นคนไทยด้วยกันเราไม่ได้ไปเป็นเมืองขึ้นของใคร

แฟนกีฬาถล่มยับ หลัง ‘พิธา’ ร่วมเชียร์วอลเลย์บอลหญิงไทย ซัด!! ควรมีมารยาท-วางตัวให้เป็น อย่าเอาการเมืองมาปนกับกีฬา .

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 66 ในการแข่งขัน วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ที่พบกับทีมชาติตุรกี ในศึกวอลเลย์บอลหญิง เนชันส์ลีก 2023 คนไทยส่งแรงใจเชียร์นักตบสาวไทยอย่างเนืองแน่นเต็มสนาม และหนึ่งในนั้น คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย

แต่หลังจากที่ทางเพจเฟสบุ๊ก ‘Volleyballthailand’ ได้ลงภาพนายพิธา ขณะที่มาร่วมเชียร์วอลเลย์หญิงไทย ได้เกิดเป็นกระแสดรามาขึ้น เนื่องจากมีกลุ่มแฟนคลับกีฬาจำนวนมาก ได้เข้ามาคอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์ถึงการวางตัวที่ ‘ไม่เหมาะสม’ ของหัวหน้าพรรคก้าวไกล และขอให้อย่าเอาการเมืองมาปนกับกีฬา เพราะคนที่ไม่ชอบนักการเมืองก็มีไม่น้อย โดยคอมเมนต์บางส่วนระบุว่า…

“ฝากบอกพิธาเว้นกีฬาไว้อย่างเหอะ สงสารน้องๆ นักกีฬาวอลเลย์บอลจะโดนเกลียดไปด้วยทำอะไรคิดถึงคนอื่นบ้างค่า แฟนวอลเลย์บอลที่ไม่ชอบพิธาก็ไม่น้อยค่า”

“เรื่องมารยาท เรื่องจิตสำนึกที่ดี เป็นหนึ่งในเรื่องที่เงินซื้อไม่ได้ คนมีมารยาทและนิสัยดีจะรู้ว่า อะไรควรทำ ต้องรู้ว่าตัวเองอยู่ในบทบาท หรือสถานะอะไร ถ้าเป็นนักการเมือง ถ้าทั้งปีทั้งชาติ ไม่เคยไปเชียร์ แต่วันนี้โผล่ไป ถ้าคนมีมารยาท คิดเป็น และไม่ฉวยโอกาส จะบอกตัวเองว่า เราอย่าไปเลย… ไปในฐานะอะไร? มันดูหิวแสง ดูสร้างภาพ ดูปลอม ดูไม่ดี การเชียร์นักกีฬาไทย มันเป็นความสุขของคนไทย คนไทยมี 70 กว่าล้านคน คนไม่ชอบเราก็เยอะ อย่าทำให้คนไทยหมดสนุกเพราะเราเลย อย่าทำให้คนไทยต้องมาทะเลาะแตกแยกไปทุกวงการเลย เว้นสักเรื่องเถอะ”

“กีฬา โดยเฉพาะวอลเลย์หญิง เป็นสิ่งเดียวที่คนไทยไม่น้อยร่วมใจกันเชียร์ ต้องแตกแยกเพราะคนแบบนี้ ที่วางตัวไม่เป็น ไม้รู้อะไรควร ไม่ควร เห่ออออ”

“เลิกเชียร์เลิกติดตาม เชียร์มาตลอด เสียแรงจริงๆ”

“การเมืองเข้ามายุ่งกับกีฬาบรรลัยแน่นอน คอนเฟิร์ม”

“เสียใจ เป็น FC มาตั่งแต่รุ่น 7 เซียน ทำให้หมดใจกับวอลเลย์ขนาดแพ้ทุกนัดยังเชียร์”

“ปิดทีวีแทบไม่ทัน คุณพิธา/คุณปิยะบุตรมาเชียร์วอลเลย์บอลนี่นะ ขำตายล่ะ กระแสวอลเลย์บอลฟีเวอร์มากี่ชาติ ไม่เห็นได้ข่าวว่าไปเชียร์ มาตอนนี้เลยดูแปลก แต่ก็โอเค เป็นสิทธิ ของใครของเราไม่ว่ากัน”
 

‘นันทิวัฒน์’ กระตุกต่อมจิตสำนึก ‘ส.ส. - ส.ว.’ หากรักชาติ-รักสถาบัน อย่าให้คนคิดไม่ดีได้มีอำนาจ

(10 ก.ค. 66) นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวหัวข้อ ‘เรียกหาจิตสำนึก’ ระบุว่า ใกล้วันเลือกนายกฯ ในรัฐสภา เสียงจากพรรคการเมืองอ้างว่า เสียงเพียงพอ ส.ว.ให้การสนับสนุนจริงหรือไม่จริงไม่รู้ แต่มีข่าวลือมาเข้าหูว่า มีรถขนกล้วยคว่ำแถวหน้าสภา ขอให้เป็นข่าวปลอม คนแถวนั้นไม่ได้มาจากลพบุรี ไม่กินกล้วย สาธุ

มีเสียงจาก ส.ว.หลายคนชี้แจงว่า จะเลือกตามเสียงประชาชน มีคำถามว่า ส.ว.มีไว้ทำไม คำถามนี้ ต้องไปโทรถามคุณปรีดี เพราะปรีดีเป็นคนออกแบบให้รัฐสภาไทยมี ส.ว.ตั้งแต่เริ่มแรก จะให้เหมือนรัฐสภาอังกฤษที่มีสภาขุนนาง ที่มาจากการแต่งตั้งและสืบสายสกุล เพื่อเป็นพี่เลี้ยงและคอยถ่วงดุล ส.ส. ให้ทำเพื่อประเทศชาติ ไม่ต้องคำนึงถึงเสียง ส.ส. ที่มักอ้างเสียงประชาชน

แน่นอน ประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้ง แต่ผลเลือกตั้งไม่ได้มีหลักประกันอะไรว่าจะนำพาประเทศชาติไปในทิศทางที่ถูกต้อง ฮิตเลอร์ผู้นำเผด็จการและก่อสงครามโลกครั้งที่สอง ส่งผลให้คนตายหลายล้านคนก็มาจากการเลือกตั้ง สงครามยูเครน บ้านแตกสาแหรกขาด บ้านเมืองย่อยยับ คนตายคนอพยพนับล้านคน ก็มาจากการเลือกตั้ง นั่นคือ เลือกคนผิด บ้านเมืองฉิบ….

ชัดเจนว่า พรรคแกนนำประกาศนโยบายชัดเจน ต้องการแก้ไขล้มล้าง ม.112 ผลักดันการเลือกปกครองตนเองด้วยคำสวยหรู การตัดสินใจอนาคตของตนเองของจังหวัดชายแดนภาคใต้ สุดท้ายจะจบอย่างไร ส.ส.และส.ว. จะยอมเสี่ยงหลับหูหลับตาเดินลงเหวทั้ง ๆ ที่มีคนตะโกนเตือนอย่างนั้นหรือ

อยากถามหาจิตสำนึกความรักชาติและรักสถาบันของ ส.ส.และส.ว.ทั้งหลายว่ามีอยู่จริงหรือไม่ อย่าทำตัวเป็นคนซื่อบริสุทธิ์ อย่าทำตัวเป็นคนไร้เดียงสาทางการเมือง จนไม่รู้ว่า อะไรดีหรืออะไรไม่ดีต่อประเทศชาติ อย่าจมน้ำตายเพราะเกาะตำราตะวันตกไม่ยอมปล่อย อย่าให้โอกาสคนที่คิดไม่ดีต่อสถาบันได้เป็นใหญ่

‘อ.ไชยันต์’ ชี้!! ผู้ที่ใช้อำนาจข่มขู่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ ใช้ชีวิตของประชาชนมาต่อรอง เป็น ‘มาเฟีย’ มากกว่า ‘นักการเมืองที่ดี’

(13 ก.ค.66) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า…

ถ้าการนำข้อกล่าวหาการขาดคุณสมบัติของนักการเมืองคนหนึ่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รัฐจะต้องมี ‘ราคาที่ต้องจ่ายสูง’

มันไม่น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประชาชนทุกคนในประเทศนะครับ

คุณจะเป็นตัวอย่างของคนที่ไม่ยอมรับการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 

และใช้อำนาจอิทธิพลข่มขู่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งนำความสงบสุขในการทำมาหากินและใช้ชีวิตของประชาชนมาต่อรอง เป็นตัวประกัน

ผมว่าคุณเข้าข่าย ‘มาเฟีย’ มากกว่า ‘นักการเมืองที่ดี’

‘นันทิวัฒน์’ ย้อนบทเรียนคดีถือหุ้นสื่อ ‘ธนาธร’ สู่ ‘พิธา’ ชี้ สะดุดตีนล้มเอง อย่าชวนคนลงถนนเพื่อปกป้องตนเอง

13 ก.ค. 66) นายนันทิวัฒน์ สามารถ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘วิบากกรรม’ มีเนื้อหาระบุว่า...

วิบากกรรม

กรณีถือครองหุ้นสื่อ ทำไมนักการเมืองที่อยากเป็นนายกฯ มันถึงได้ทำผิดแล้วผิดอีก และมาจากพรรคเดียวกันเสียด้วย น่าสงสัยที่ปรึกษากฎหมายของพรรคนี้มืออ่อน ผู้นำพรรคทำผิดซ้ำซาก คุณธนาธรก็ทีนึงแล้ว ยังมาเจอคุณพิธาอีก วิบากกรรมจริงๆ

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้หยุดปฏิบัติหน้าไว้ก่อน ก็เป็นการหยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ส.ส. ไม่ได้ตัดสิทธิในการถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ นอกจากถูกสมาชิกทักท้วงว่าทำไม่ได้ เพราะมาตรา 160(6) บัญญัติถึงคุณสมบัติคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรี นายกฯ ถือว่าเป็นรัฐมนตรีคนหนึ่ง ต้องไม่มีคุณสมบัติที่ขัดต่อมาตรา 98(3) ที่ห้ามถือหุ้นสื่อ มันย้อนกลับไปสู่คุณสมบัติต้องห้ามในการถือหุ้นสื่อ 

นั่นแสดงว่ารัฐธรรมนูญตั้งใจเขียนรัดเอาไว้ไม่ให้นักการเมืองถือหุ้นสื่อจริงๆ เพราะเขียนล้อ ผูกตรึง (โยง) กันไปหมด

คนที่อาสาจะมาเป็นผู้บริหารประเทศ เป็นถึงนายกรัฐมนตรีไม่น่าทำผิดแบบปลาตายน้ำตื้นขนาดนี้เลย มีอย่างที่ไหนมีหุ้นสื่ออยู่ในมือ (คงจะรวยมากจนจำไม่ได้ว่า มีสมบัติซุกไว้ที่ไหนบ้าง) กรณีคุณธนาธรไม่ทำให้ฉุกใจคิดบ้างเลยหรือ

อาสามาเป็นผู้นำประเทศนะครับ ไม่ใช่เล่นขายขนมครกนะ ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ผู้นำต้องบริหารประเทศตามกฎหมาย เป็นนิติรัฐ

พลาดท่าเสียทีด้วยความสะเพร่าของตนเอง ไม่มีใครกลั่นแกล้งยัดหุ้นสื่อใส่มือคุณพิธาแน่นอน ไม่มีใครเตะตัดขา ไม่มีการสร้างหลักฐานเท็จ สะดุดตีนล้มเอง ไม่มีนิติสงคราม

คุณพิธาไม่ใช่คนแรกที่โดนคดีถือหุ้นสื่อ คุณธนาธรก็โดน และยังมีนักการเมืองอีกหลายคนที่ถูกถอดถอนและถูกตัดสิทธิทางการเมือง

คนที่จะมาเป็นนายกต้องรอบคอบ

อย่าชวนคนลงถนนเพื่อมาปกป้องตนเองเลย มันทำไม่ได้ ประการสำคัญคนที่อยากเป็นผู้นำต้องไม่พาคนไปตาย อย่าเหยียบศพเพื่อนเพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำ

‘อดิศร’ ชี้ ‘พิธา’ จบ Harvard MIT พูดอังกฤษดี สง่างามเมื่อออกงานในต่างประเทศ มั่นใจ!! ไม่เดินหลงธงชาติแน่นอน

(13 ก.ค. 66) ที่รัฐสภาฯ ในวาระการเสนอชื่อบุคคลเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวอภิปรายว่า…

"คุณพิธาจบ Harvard MIT พูดอังกฤษดีกว่าผมเยอะ เวลาพิธาไปที่ฝรั่งเศส ไปจับมือกับประธานาธิบดีมาครง ไปแคนาดา ไปจับมือกับประธานาธิบดีทรูโด ไปจีนจับมือกับสีจิ้นผิง ไปอเมริกาจับมือกับผู้เฒ่าไบเดน มันสง่างาม รับรองไม่เดินหลงธงชาติแน่นอนครับ"
 

‘ด้อมการเมือง’ ผลิตผลจากนักการเมืองหิวแสง หน่วยพิทักษ์สุดคลั่ง หนักถึงขั้นถวายชีวิต

‘Political Fandom’ หรือปรากฏการณ์แฟนด้อมการเมือง ที่เริ่มมีส่วนร่วมในการเมืองสมัยใหม่นั้น เริ่มถูกพูดถึงในวันที่ ‘นักการเมือง’ ไม่ใช่แค่บุคคลที่มีชื่อเสียง แต่เริ่มกลายเป็นบุคคลที่มีผู้คนตาม ‘กรี๊ด’ 

มีบางคำถามผุดขึ้นมาว่า ‘นักการเมือง’ ควรอยู่ในสภาพของการให้ความสำคัญแบบที่ ศิลปิน ดารา นักร้อง นักกีฬา ได้รับกันหรือไม่? เพราะนักการเมืองถือเป็นบุคคลที่ต้องคงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือ สุขุม หรือจะพูดแบบตรงๆ ก็คือ ต้องทำตัวให้แตะต้องยากหน่อย 

>> เรื่องนี้ เดี๋ยวมีคำตอบ!! แต่ก่อนอื่นอยากให้ลองทำความเข้าใจกันก่อนว่า แฟนด้อมการเมืองมันคืออะไร? และเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

ต้องยอมรับก่อนว่า ในวันที่โซเชียลมีเดีย มีอิทธิพลต่อการถ่ายทอดตัวตนของใครก็ได้ในโลกให้คนทั้งโลกได้รู้จักตัวเองและสินค้าบริการของตน เนื่องจากมันประหยัดตังค์มากกว่า การนำเงินก้อนโตไปโอ๋สื่อช่องใหญ่ ที่จ่ายไปก็อาจจะได้ยอดคนรับรู้กลับมาแค่น้อยนิดนั้น ทำให้ทุกวงการ ศิลปิน ดารา นักร้อง นักกีฬา หรือแม้แต่ประชาชนคนธรรมดา เริ่มขยายขอบเขตความรู้จักของตนได้กว้างขึ้นผ่านช่องทางนี้

โลกของการเมือง ก็ไม่ต่างกัน ไอ้ที่จะใช้หัวคะแนน หรือเอาเงินไปหว่านแห่ซื้อแบบแต่ก่อน มันก็ไม่ค่อยได้ผล เพราะจ่ายไป ใช่ว่าคนจะเลือก หรือจะรัก

ดังนั้นนักการเมืองในทศวรรษใหม่ จึงแปลงร่างตัวเองเป็น ‘นักการเมืองแบบเซเลบริตี้’ (Celebrity Politics) ที่เค้นคุณสมบัติที่สร้างแรงกระเพื่อมต่ออารมณ์คนติดตามได้ดี เช่น ภาพลักษณ์ที่ดี คำพูดคมๆ การสร้างตัวตนที่สะท้อนถึงการเป็นคนร่วมสมัย เอาใจคนรุ่นใหม่ และต่อต้านสิ่งที่กระแสสังคมโดยรวม โดยเฉพาะในโลกออนไลน์กำลังต่อต้าน อารมณ์ว่า แสงอยู่ไหน ฉันอยู่นั่น สถานการณ์ใด กิจกรรมใดที่กำลังป็อบปูลาร์ในสังคม จะต้องมีฉันไปยืนอยู่ท่ามกลาง และไม่จำเป็นต้องใช้เงินหว่านตรงๆ ให้คนมาติดตาม แต่อาจจะส่งเงินไปเปลี่ยนเป็นความงามทางภาพลักษณ์ในรูปแบบของการใช้สื่อ เพื่อกระพือความนิยมของตนเอง

ทีนี้ ลองมาดูคำจำกัดง่ายๆ ของแฟนด้อมการเมือง กันสักนิด ความหมายของมันก็คือ กลุ่มแฟนคลับของนักการเมืองและ/หรือแคมเปญทางการเมืองก็ได้ ซึ่งลักษณะมันก็จะคล้ายๆ กับแฟนด้อมของป๊อปคัลเจอร์ทั่วไป เช่น แฟนด้อมศิลปินเกาหลี แฟนด้อมซีรีส์ หรือแม้แต่แฟนด้อมทีมกีฬา 

>> ข้อดีของการมีแฟนด้อม คืออะไร?
แต่ละแฟนด้อม มักจะมีพื้นที่ไว้แลกเปลี่ยนพูดคุยถึงเรื่องของแต่ละแฟนด้อมเอง เรียกภาษาชาวบ้านก็ ‘ชุมชน’ (Community) นั่นแหละ โดยแต่ละชุมชนของแฟนด้อม มักจะมีการหยิบเรื่องราวมุมดีๆ ของคนดังนั้นๆ มาเผยแพร่ เช่น รูปภาพสวยๆ ข่าวสารอัปเดต รวมถึงกิจกรรมที่คนดังนั้นๆ ไปทำ ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็อย่างวงฮอต BlackPink หรือแม้แต่ตัว ‘ลิซ่า’ ศิลปิน BlackPink เอง ที่ด้อมนั้นพร้อมจะปั่นทั้ง Hashtag และแชร์เรื่องราวดีๆ ให้แบบตัวคนดังนั้นๆ แทบไม่ต้องไปทำอะไรเลย ขอแค่คนดังนั้นๆ ตอบสนอง และลงมาโปรยยาหอม โบกมือให้ กอดนิดกอดหน่อย มอบลายเซ็น หรือพาตัวเองไปหา ‘ด้อมต้นทาง’ เพื่อสร้างความประทับใจ รัก หลง แบบตราตรึง สักนิด ที่เหลือ ‘ด้อมต้นทาง’ ก็จะไปสร้าง ‘ด้อมเครือข่าย’ ต่อให้ ยังกะแชร์ลูกโซ่ ขยายใหญ่จนกลายเป็นความเหนียวแน่นแบบโงหัวไม่ขึ้น

>> เทคนิคปั้น ‘แฟนด้อมทางการเมือง’!!
บริบทของแฟนด้อมการเมือง ก็ไม่ได้แตกต่างกันกับด้อมกลุ่มอื่นๆ แต่มันจะมีตัวแปรอยู่ที่บรรดา ‘นักการเมืองแบบเซเลบริตี้’ ที่ใช้เทคนิคของการสร้างแฟนด้อมการเมือง ซึ่งถ้าจะให้อธิบายอย่างง่ายที่สุด ก็คงเป็นการพา ‘การเมือง’ เข้าไปผูกกับสิ่งที่คนสนใจ เช่น บันเทิง กีฬา ไลฟ์สไตล์ โดยเน้นการสื่อสารและใช้เทคนิคทางการตลาดในการเพิ่มชื่อเสียงและอำนาจทางการเมืองให้แก่ตัวเอง อาทิ การชักชวนดารา นักแสดงมาช่วยโปรโมตแคมเปญทางการเมือง เน้นขายรูปลักษณ์ ภาพลักษณ์ของนักการเมืองแทนนโยบายพรรค การหันไปออกรายการวาไรตี้เพื่อพูดคุยเรื่องอื่นที่ไม่ใช่การเมืองมากขึ้น หรือแม้แต่การที่ดาราผันตัวเป็นนักการเมืองโดยใช้ชื่อเสียงของตัวเองมากรุยทางการเมือง

ตัวอย่างนักการเมืองที่หันมาทำการเมืองแบบนี้ชัดมากๆ จนถูกเรียกว่า นักการเมืองแบบเซเลบริตี้ (Celebrity Politician) ก็มีให้เห็นทั่วโลกอย่าง แต่ขอยกคร่าวๆ เช่น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา (Barack Obama) ที่พาตัวเองเข้าไปอยู่กับตลาดนักกีฬาอย่างวงการบาส NBA หรือแม้แต่อดีตนักแสดงชื่อดัง อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ (Arnold Schwarzenegger) ที่เอาความเป็นดาราของตัวเองชูเชิดจนผันตัวมาเป็นผู้ว่าการรัฐฯ ได้

>> การเมือง = การแสดง
ทีนี้กลับมาตอบ คำถามที่ค้างไว้ข้างต้น…เพราะความเบื่อหน่ายในการเมืองเก่า ของคนรุ่นใหม่ทั่วโลกนี่แหละ ที่เป็นแรงเร้าให้นักการเมืองเริ่มหันมาปรับตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการวางตัวที่คนทั่วไปมักจะมองว่า นักการเมืองเข้าถึงได้ยาก เหินห่าง ไม่ค่อยรับฟังและตระหนักถึงความเดือดร้อนของมวลชน ดังนั้นเพื่อดึงดูดคนให้กลับมาสนใจการเมืองมากขึ้น นักการเมือง จึงต้องหันมาแข่งขันกันอย่างหนัก โดยอาศัยการใช้โซเชียลมีเดีย และการเสนอภาพลักษณ์ของตัวเองให้แตกต่างจากภาพลักษณ์นักการเมืองแบบเดิมๆ ให้มากที่สุด จึงเกิดเป็นภาพนักการเมืองแบบใหม่ แบบเซเลบรีตี้ที่เน้นภาพลักษณ์ที่เข้าถึงง่าย มีมุมชิลๆ ขายความเป็นตัวเองมากขึ้นอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้

จากจุดนี้เอง ที่พอจะทำให้สรุปได้ว่าการเมืองในปัจจุบัน เริ่มกลายเป็นเรื่องของ ‘การแสดง’ ไปแล้ว กล่าวคือนักการเมืองกลายเป็นดารา ส่วนมวลชนก็กลายเป็นผู้ชมโดยสมบูรณ์

>> ผลดี-ผลเสีย ‘แฟนด้อมการเมือง’ ต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบใหม่
คำถามใหญ่ที่หลายคนคงติดใจ แล้วเอาเข้าจริงๆ แฟนด้อมการเมือง คือ ผลผลิตของผู้คนที่อยากมีส่วนร่วมทางการเมืองแท้จริงแค่ไหน? หรือเป็นเครื่องมือทางการเมืองของนักการเมืองเซเลบริตี้...คำตอบนี้เชื่อว่าผู้อ่านคงมีอยู่ในใจ...

แต่หากให้มองผลดีของเรื่องนี้ คือ การมีอยู่ของแฟนด้อมการเมือง ได้ส่งผลให้มวลชนที่เลิกสนใจการเมืองหรือไม่เคยสนใจการเมืองเดิม เริ่มหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น เนื่องจากชุมชนของแฟนด้อมมักใช้ภาษาที่เข้าถึงหมู่คนได้มากกว่า เช่น บทความสรุปนโยบายต่างๆ วิดีโอไฮไลต์งานปราศรัย และมีมนักการเมืองต่างๆ รวมไปถึงการเป็นแฟนด้อมการเมืองยังส่งผลต่อการแสวงหาข้อมูลและข่าวสารทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ แฟนด้อมการเมืองยังส่งผลดีต่อการเรียนรู้วัฒนธรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ เนื่องจากแฟนด้อมเป็นการรวมตัวของคนที่มีความสนใจเดียวกัน ไม่ได้เกิดจากสายสัมพันธ์ดั้งเดิม เช่น เพื่อน คนรู้จัก หรือ ครอบครัว จึงช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในการเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น ผ่านการมีส่วนร่วมในชุมชนหรือแฟนด้อม การเป็นอาสาสมัครในกิจกรรมต่างๆ การวางแผนยุทธศาสตร์ และการแสดงความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะ

แต่...ในทางกลับกัน ผลกระทบเชิงลบที่น่ากังวล คือ แฟนด้อมการเมือง จะกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดด้อยค่าการเมืองหรือไม่ เรื่องนี้น่าห่วง เพราะบางครั้งการมุ่งความสนใจไปที่ตัวนักการเมืองคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว อาจจะทำให้ประเด็นทางการเมืองหรือนโยบายของพรรคถูกมองข้ามไป ซึ่งเรื่องนี้ก็อยากให้ผู้อ่านลองตอบข้อสงสัยนี้ดูอีกข้อว่าจริงเท็จแค่ไหน?

ท้ายสุด ขอบเขตของแฟนด้อมการเมือง จะมีจุดสิ้นสุดที่ตรงไหน จะขยายไปจนเริ่มหาแก่นสารไม่ได้ เช่น เริ่มจับนักการเมืองด้วยกันเองไปจิ้นบ้างหรือไม่ หรือแฟนด้อมควรมอง นักการเมือง พรรคการเมือง อุดมการณ์พรรคการเมือง นโยบายพรรคการเมือง และความถูกต้องในสังคมแบบใด? 

เรื่องนี้คงต้องรอวันเวลามาช่วยตอบ เพียงแต่สิ่งที่โคตรน่าห่วงในตอนนี้ คือ หากจะเปรียบการส่งมอบความรัก ความรู้สึก การตามติด การเก็บหอมรอมริบเงินทอง หรือหาซื้อสิ่งของมากองให้คนดังอันเป็นที่รักของเหล่าแฟนด้อมสายอื่นๆ… ‘เหล่าด้อมการเมือง’ ที่ถูกปลุกปั่นจนสุกงอม อาจจะพร้อมมอบ ‘ชีวิต’ ให้กับอุดมการณ์ที่ ‘นักการเมืองเซเลบฯ’ ชี้นำไปได้ไม่ยาก

อันนี้น่าห่วง...

และมันก็ไม่ใช่เรื่องเกินจริงในสังคมตอนนี้ด้วย…

‘ดร.สุวินัย’ ชี้ ‘เพื่อไทย’ จับมือ ‘ก้าวไกล’ อาจไปได้ ‘ไม่ไกล’ อย่างที่หวัง

(17 ก.ค. 66) ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์บทความของ นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระเรื่อง ‘เข็มมุ่ง’ พรรคก้าวไกล...กับมาตรา 112 ‘ตัวตน’ ของมาตรา 112 มีเนื้อหาในรูปแบบถามและตอบ ดังนี้...

ถาม : ผู้คนเป็นอันมากไม่เข้าใจว่า เพื่อแลกกับการได้เป็นรัฐบาล ทำไมพรรคก้าวไกล ไม่ยอมสละวาระแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งถ้ายอมเอ่ยปากยืนยันในสภา ก็น่าเชื่อว่าคุณพิธาจะได้เสียงสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่านี้แน่นอน
ตอบ : คุณต้องเข้าใจตัวตนของ มาตรา 112 ก่อนว่า อยู่ตรงที่คุ้มครองบุคลิกภาพของคนในสถาบันกษัตริย์ด้วยกรอบความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ 

ดังนั้นเมื่อคุณปฏิเสธสถาบันนี้ คุณก็ต้องเห็นในหลวงเป็นคนธรรมดา ใครไปด่าว่าก็ไม่ถือเป็นเรื่องความมั่นคง รัฐก็ไม่เกี่ยว ถ้าในหลวงติดใจก็ต้องไปแจ้ง ความเอาผิดเอาเองเช่นคนธรรมดาทั่วไป 

การที่ ก้าวไกล เสนอให้เลิก 112 แล้วเอาความผิดนี้ออกจากหมวดความผิดต่อความมั่นคง ไปมีฐานะเป็นความผิดเช่นดูหมิ่นคนธรรมดา จึงเป็นการเลิกไม่นับในหลวงเป็นสถาบันของชาติอีกต่อไป

ถาม : ที่ก้าวไกลเขาบอกว่าไม่ได้ยกเลิก เขาเพียงแก้ไขมาตรา 112 ก็ไม่เป็นความจริง
ตอบ : ไม่เป็นความจริงครับ...แม้ร่างกฎหมายของก้าวไกล จะยังมีบทบัญญัติว่าด้วยการใส่ความหรือดูหมิ่นในหลวงไว้ โดยเฉพาะก็ตาม แต่เมื่อเลิกไม่คุ้มครองด้วยหมวดความผิดต่อความมั่นคงอีกต่อไปแล้ว นั่นก็คือการเลิกไม่นับถือในหลวงในฐานะเป็นสถาบันของชาติอีกต่อไปนั่นเอง ตัวตนของ 112 อยู่ที่ตรงนี้ เมื่อเลิกตรงนี้แล้ว แม้คุณจะสร้างกฎหมายเฉพาะอะไรขึ้นมาใหม่ เช่นให้โทษหมิ่นกษัตริย์หนักกว่าหมิ่นคนธรรมดาบ้าง หรือให้สำนักพระราชวังแจ้งความแทนในหลวงก็ตาม นั่นก็ไม่มีความหมายอะไร 

‘ตัวตน’พรรคก้าวไกล
ถาม : ก้าวไกลได้คะแนนเสียงเลือกตั้งถึง 14 ล้านเสียง จนเป็นที่ 1 แล้ว น่าจะเห็นแก่การใหญ่ ยอมแขวนวาระแก้ 112 ไว้เสียก่อนครับ มีเรื่องเร่งด่วนในบ้านเมือง ที่ผู้ลงคะแนนเขาเห็นว่าสำคัญ ต้องการให้พรรคก้าวไกล ขึ้นเป็นรัฐบาลทุ่มเทแก้ไขมากมายนักโดยเฉพาะเรื่องปากท้อง และปราบคอร์รัปชั่น

ตอบ : เพื่อนผม ลูกหลานผม ที่เลือกก้าวไกล ก็บ่นอย่างนี้เหมือนกัน ผมก็ตอบเขาไปให้ดูให้ดี ๆ ว่า ‘ตัวตน’ แท้จริงของก้าวไกลนั้น คืออะไร คิดอย่างไรกับสังคมไทยทุกวันนี้ จริงหรือที่ว่าพวกเขาคือ ‘พรรคปฏิรูป’

ถาม : มันไม่จริงหรือครับ?
ตอบ : ไม่จริง แกนกลางของพวกเขา เห็นสังคมไทยทุกวันนี้เป็นขยะ ซึ่งขยะต้องถูกทำลายไม่ใช่ปฏิรูป และต้องทำให้โครงสร้างส่วนบนฉิบหายสลายตัวไปเสียก่อน จึงจะปูรากฐานสร้างบ้านเมืองใหม่ขึ้นมาได้ อำนาจจากประชาชนที่ก้าวไกลสร้างขึ้น จึงต้องเป็นอำนาจที่มีธรรมชาติของการปฏิวัติ ไม่ใช่การปลุกให้เลือกตั้งหย่อนบัตรแล้ว ปล่อยกลับไปนอนรอดูผลที่บ้านอีก 4 ปี

ถาม : อำนาจลุกฮืออย่างนี้ สร้างอย่างไร?
ตอบ : อธิบายตามทฤษฎีจิตวิทยาการเมือง ก็ต้องสร้างให้คนธรรมดาๆ ถูกสิงสู่ด้วย ‘ชีวิตหมู่ปฏิวัติ’ จนเป็นมวลชนที่ไวต่อโทสะและพร้อมเสียสละ

ปัจจัยจัดตั้งที่สำคัญที่สุดคือ ความจงเกลียดจงชัง เพราะคนเราเกลียดอะไรร่วมกันแล้วจะหลอมรวมเกิดชีวิตหมู่ได้ง่ายมาก 

ทุกขบวนการมวลชนในอดีต จึงต้องมีปีศาจที่เลวร้ายและมีอิทธิฤทธิ์มาก มาให้ผู้คนเคียดแค้น เห็นเป็นต้นตอความสิ้นหวังในปัจจุบันให้ได้เสียก่อน เช่น…

- ถ้าเป็นมวลชนคอมมิวนิสต์ ปีศาจก็เป็นนายทุน 
- ถ้าเป็นมวลชนนาซี ปีศาจก็เป็นยิว 
- ถ้าเป็นมวลชนชาตินิยม ปีศาจก็เป็นจักรวรรดินิยม
- ถ้าเป็นนีโอนาซีของเซเลนสกี้ ปีศาจก็เป็นรัสเซีย

ดังนั้น ถ้าเป็นเมืองไทย คุณคิดว่าใครที่จะโดนวาดภาพให้เป็นปีศาจได้ง่ายและร้ายที่สุด?

ถาม : คำตอบก็คือ สถาบันกษัตริย์ และสมุนขุนศึก อย่างนั้นหรือ?
ตอบ : ถูกต้องครับ และเพื่อให้ดูขลัง ให้เห็นเป็นภาระโค่นล้มอันศักดิ์สิทธิ์ของเขา ก็เลยโมเมว่า เป็นมรดกที่คณะราษฎร์สืบสานส่งต่อมาให้เขาด้วย นี่ถึงขนาดโทรศัพท์คุยข้ามภพกันได้เลย คุณไม่เห็นหรือ ด้วยความเข้าใจเช่นนี้ การที่คุณไปหวังให้ก้าวไกลวางมือเรื่องแก้ไข 112 จึงไม่ต่างกับการไปขอให้ขบวนการนาซีของฮิตเลอร์เลิกยุ่งกับยิวเลยทีเดียว

ถาม : เพราะตัวตนของเขาคือการปฏิเสธระบบกษัตริย์ ?
ตอบ : อ่านในทางจิตวิทยาการเมือง ผมตอบได้เช่นนั้น แต่ลำพังแค่นี้คุณอย่าเอาไปอ้างให้ศาลยุบพรรคก้าวไกลนะครับ มันต้องมีหลักฐานการจัดตั้ง และปลุกระดมทางโซเชียลมีเดีย มาประกอบด้วยว่า พวกเขามีเครือข่ายและกิจกรรมการปลุกระดมเช่นนี้อยู่จริงๆ มาให้ศาลเห็นด้วย 

งานนี้ผมเพียงแต่ใช้ความรู้มาอธิบายเป็นคำตอบเท่านั้นว่า ทำไมพรรคก้าวไกล เขาถึงแขวนงานยกเลิก 112 เพื่อจะได้เป็นรัฐบาลไม่ได้เท่านั้น

ถาม : หลายคนชื่นชมว่า เส้นทางของก้าวไกลคือประชาธิปไตยใหม่ ที่ไม่ต้องใช้เงินและหัวคะแนน
ตอบ : จริงครับที่ว่าเป็นเส้นทางใหม่ แต่ไม่ใช่เส้นทางแห่งประชาธิปไตย มันเป็นเส้นทางของโมหะและโทสะ สมัยระบอบทักษิณ เขาจัดตั้ง ‘โลภะ’ ขึ้นมาเป็นสินค้าประชานิยม มายุคก้าวไกล เขาเพิ่ม ‘โมหะ’ ขึ้นมาอีกปัจจัยหนึ่ง

ถาม : ‘โทสะ’ จะมาเมื่อไหร่? 
ตอบ : เมื่อผู้คนลงถนน จนมีเหตุรุนแรงฆ่าฟันประชาชนเกิดขึ้น แล้วแพร่ไปในโซเชียลให้ผู้คนเห็นเป็นศพเด็ก ศพผู้หญิงถูกยิงตาย จนมวลชนฮือออกจากบ้าน เกิดเป็น ‘อาหรับสปริง’ หรือ ‘ฮ่องกงสปริง’ นั่นแหละครับคือจุดระเบิด ที่ลามเป็นสงครามกลางเมืองได้ ฝรั่งเศสวันนี้ก็เกิดแล้ว บ้านเราจะเกิด ‘ไทยสปริง’ หรือไม่ นี่คือเรื่องที่ต้องวิตก

ถาม : ผมเลือกก้าวไกลเหมือนกัน ผมเป็นมวลชนส้มหรือไม่?
ตอบ : ถ้าคุณไม่ถูกหลอมให้จงเกลียดจงชังสถาบัน คุณก็เป็นเพียงคนปกติ ที่ดันไปเชื่อว่าเขาจะสร้างบ้านเมืองขึ้นมาใหม่ได้จริง ๆ เท่านั้นเอง 

ก็ไม่เป็นไรครับ...ระบบประชาธิปไตยบ้านเรา ประชาชนมีไว้หลอกอยู่แล้ว ต่างกันตรงที่ จะหลอกไปทิศทางไหน ถึงขั้นทำลายชาติเลยหรือไม่เท่านั้นเอง

~ แก้วสรร อติโพธิ

‘ดร.สุวินัย’ ตั้งข้อสงสัย 3 เรื่องถึง ‘ไพศาล’ เกิดอะไรขึ้นกับสภาพจิตของ ‘กูรู’ ท่านนี้

(17 ก.ค. 66) ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความในหัวข้อ ‘กุนซือทิพย์ : บทเรียนด้านกลับสำหรับนักยุทธศาสตร์’ ใจความว่า…

จากรายการ "ถอนหมุดข่าว" ของ NEWS1 วันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม 2566 ได้นำเสนอรายงานพิเศษเรื่อง "ไพศาล พืชมงคลเป็นกูรูทิพย" ซึ่งมีความน่าสนใจยิ่ง  

ผมขอยก รายงานพิเศษ เรื่องนี้ มาให้อ่านกันอีกทีก็แล้วกัน ...

"โอกาสของพิธา จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี แทบไม่เหลือแล้ว ...ต้องฝันค้างกลายเป็น ‘นายกฯ ทิพย์’p เพราะความหมกมุ่นกับการแก้ไข ม.112 ของพรรคก้าวไกล

คนที่เสียรังวัดอย่างแรงไปด้วยจากเดิมเป็นถึง 'กูรูการเมือง' ที่มีข่าวลึกๆลับๆมาโพสต์ทุกวัน จริงบ้างแต่เท็จจะเยอะกว่า แต่ตอนนี้ต้องมีสภาพเป็น 'กูรูทิพย์' ตาม 'นายกฯทิพย์' ไปแล้วเช่นกัน

เขาคนนั้นก็คือ นายไพศาล พืชมงคล อดีตกุนซือของลุงป้อม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งช่วงหลัง ออกอาการ 'ฝ่ายแค้น' กับพรรคพลังประชารัฐ ค่อนข้างชัดเจน

ขณะเดียวกัน นายไพศาลก็เผยไต๋ว่า เข้าไปแอบอิงพรรคก้าวไกล เพราะเปิดหน้าเชียร์แหลก

แต่การเป็นด้อมส้มกับทำตัวเป็นกูรู บางทีมันก็ไปกันไม่ได้ นายไพศาลเลยได้บทเรียน(หน้าแตก) กับตัวเองจากการโหวตนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ผ่านมา

เพราะขณะที่ใครต่อใคร มองว่ายากที่ ส.ว. จะยกมือให้พิธา แต่นายไพศาล เป็นคนเดียวที่เปิดประเด็นแบบสวนกระแส ระบุว่า ...ผู้มีอำนาจคุม ส.ว.ไว้ไม่ได้แล้ว ...

แต่โพสต์ของนายไพศาล ที่ทำเอาเขา 'สิ้นสภาพ' จากการเป็น 'กูรูการเมือง' ก็คือการฟันธงว่า นายพิธา จะชนะโหวตแบบม้วนเดียวจบ ในวันที่ 13 ก.ค.

แต่ผลจริงๆที่ออกมา เป็นตรงข้าม กลายเป็นนายพิธา โดนน็อกแบบม้วนเดียวจบ ..."

"นายไพศาลโพสต์ลงรายละเอียด ....เป็นคุ้งเป็นแควอย่างชัดเจนว่า เป็นมโนล้วนๆ เป็นความโลกสวยอย่างไม่น่าเชื่อของคนที่เชี่ยวการเมืองอย่างเขา

ยิ่งไปกว่านั้น นายไพศาลยังใช้สำนวนภาษาแนว 'ลิเก' แบบที่นายพิธา รวมถึงแกนนำคนอื่นๆของพรรคก้าวไกล ชอบใช้กันประจำ อีกต่างหาก

เรียกว่านายไพศาลออกตัวแรง ด้วยสำนวนภาษาให้รู้ว่า 'พวกเดียวกัน'

ความผิดพลาดในการเผยแพร่หลักคิดและข้อมูลคราวนี้ ส่งให้ไพศาลกลายเป็น 'กูรูทิพย์' ภายในพริบตา ตามพิธาที่เป็น 'นายกทิพย์'  

แสงอาทิตย์อัสดงของนายไพศาล ทำท่าจะดับวูบ
ซึ่งนายไพศาลควรทบทวนตัวเอง จะต้องเร้นกายปิดสำนักตัวเองล้างอายหรือไม่? ..."


อาจารย์ไพศาล (เกิด 9 ตุลาคม พ.ศ. 2490) ที่ผมรู้จัก ตั้งแต่สมัยที่เราทั้งคู่เคยเป็น "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" เพื่อต่อต้าน "ระบอบทักษิณ" ในปี 2549  ...เขาเป็นกุนซือที่รอบรู้และปราดเปรื่องคนหนึ่งอย่างหาตัวจับยาก  

ในปี พ.ศ. 2549 ตอนนั้นอาจารย์ไพศาลมีอายุ 59 ปี น่าจะอยู่ในช่วงท็อปฟอร์มที่สุด ในฐานกุนซือ เช่นเดียวกับคุณสนธิ ลิ้มทองกุล (เกิด 7 พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2490) ซึ่งอยู่ในช่วงท็อปฟอร์มที่สุดเช่นกันในฐานะ "แกนนำพันธมิตรฯ" ในวัย 59 ปี

ตอนนั้นทั้งผมและอาจารย์ไพศาลต่างก็เป็นคอลัมนิสต์ของสื่อผู้จัดการเหมือนกัน จึงเข้าออกบ้านพระอาทิตย์ของคุณสนธิ บ่อยมากในช่วงสถานการณ์สู้รบ

ผ่านไปแล้ว 17 ปี  ปัจจุบันอาจารย์ไพศาลและคุณสนธิต่างก็มีอายุ 75 ปีย่าง 76 ปีเหมือนกัน ขณะที่คุณสนธิยังคงอยู่ใน"สภาวะท็อปฟอร์ม" ได้อย่างน่าทึ่งสำหรับคนวัยนี้  คือคุณสนธิยังมีมันสมองที่เฉียบแหลม และมีจิตใจที่หนักแน่นมั่นคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง  ...กาลเวลา 17 ปี ที่ผ่านไปทำอะไรคุณสนธิไม่ได้เลยจริงๆ

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสู่ "ขาลง" ของอาจารย์ไพศาล" ที่ผมนับถือนั้น ทำเอาผมใจหายและแทบไม่เชื่อสายตาตนเอง

เกิดอะไรขึ้นกับ "มันสมอง" ของ "กุนซือสมองเพชร" คนนี้?

เกิดอะไรขึ้นกับ "สภาพจิต" ของ "กูรูการเมือง" ผู้เป็นเจ้าสำนักกระบี่เดียวดายท่านนี้?

โดยส่วนตัว ผมสนใจประเด็นนี้เป็นพิเศษ

ผมมีคำถามในใจหลายข้อเกี่ยวกับ "ความย้อนแย้งในตัวตนปัจจุบัน" ของอาจารย์ไพศาล และพยายามหาคำตอบให้กับตัวเองเพื่อใช้เป็นอุทราหรณ์สำหรับตัวเองในอีกสิบปีข้างหน้า

(1) "ทำไม คนที่ดำรงตำแหน่งอุปนายกและเลขาธิการสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน อย่างอาจารย์ไพศาล ถึงกลายมาเป็น 'พ่อยก' ด้อมส้มตัวเอ้ของพรรคก้าวไกล ทั้งๆที่พรรคก้าวไกลมีท่าทีที่ชัดเจนว่า ต้านจีน?"

(2) "ทำไม คนที่เคยเขียนบทความเชียร์จีน ทางด้านความมั่นคง-การเมือง-เศรษฐกิจ และต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมของอเมริกา มานานหลายสิบปีอย่างอาจารย์ไพศาล จึงออกตัวแรงสนับสนุนพรรคก้าวไกลเต็มที่ ทั้งที่พรรคก้าวไกลมีจุดยืนชัดเจนว่า ยืนอยู่ฝั่งอเมริกาและต้องการชักศึกเข้าบ้าน เพื่อต้านจีน?"

(3) "ทำไม คนที่เคยชูคำขวัญ "เราจะต่อสู้เพื่อในหลวง" สมัยยังเป็นพันธมิตรฯ อย่างอาจารย์ไพศาล ถึงกลับเปลี่ยนธาตุแปรสี กลายมาเป็นผู้สนับสนุน "การแก้ ม. 112" ของพรรคก้าวไกล ที่มุ่งล้มล้างการปกครองและล้มสถาบัน?"

ผมสงสัยกระทั่งว่า อาจารย์ไพศาลในฐานะ "ผู้ปฏิบัติธรรม" ได้เคย "แลเห็นจิต" , เคย "แลเห็นความคิด" ตัวเองจริงๆหรือไม่?

ทั้งๆ ที่ จิตและความคิดของอาจารย์ไพศาลได้เปลี่ยนแปลงจากแต่ก่อนชนิดสวิงอย่างสุดขั้วไปอีกฝั่งแล้ว

สำหรับผู้ฝึกจิต โมหะหรือความหลง เป็นสิ่งที่ต้องรู้ทันและระวังให้มาก

"อาการหิวแสง" หรือความต้องการได้รับความสนใจจากสื่อและผู้คนทุกๆวัน ของ "กุนซือชรา" หรือ "กูรูการเมืองชรา" ...แค่บ่งชี้ว่า สภาวะจิตของบุคคลผู้นั้น ยังไม่ได้บรรลุ "ความพอใจในตนเอง" จนเพียงพอ

จึงทำให้ จิตของผู้นั้น มิอาจเป็น บ่อน้ำที่สะท้อนจันทราบนท้องฟ้า (สภาวะจิตแบบ "จันทร์ในบ่อ" ของเซน) ที่เป็นสภาวะจิตกระจ่าง ได้ ... 

ทำให้ไม่อาจสะท้อน "ความจริงที่มีอยู่หนึ่งเดียว" ได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริงได้

อย่างไรก็ดี ผมก็ยังเคารพอาจารย์ไพศาลอยู่เสมอ ในฐานะที่เขาเคยเป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจให้ผม เลือกเดินบนเส้นทาง "กุนซืออิสระ" หรือ "นักยุทธศาสตร์อิสระ" อย่างบูรณาการตั้งแต่ 19 ปีก่อน 

จนเป็นที่มาของหนังสือ "ภูมิปัญญามูซาชิ -วิถีแห่งนักกลยุทธ์เชิงบูรณาการ" (สำนักพิมพ์ openbooks, 2550) ...ของผมในเวลาต่อมา

‘ชูวิทย์’ คาด 'เพื่อไทย' ดอดเจรจา 'ก้าวไกล' ช่วยถอยเป็นฝ่ายค้าน ชี้!! หากมีการจับขั้วใหม่ นายกฯ อาจมาจากพรรคเสียงข้างน้อย

(20 ก.ค. 66) ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์’ ถึงกรณีพรรคเพื่อไทย อาจเจรจาก้าวไกลขอให้ไปเป็นฝ่ายค้าน โดยระบุว่า…

เกมโหดการเมือง
อย่าไปคิดว่าจะได้คะแนนโหวตจาก ส.ว. จนถึง 376 หรือไม่?
เอาแค่ให้พิธาได้โหวตในรอบสอง ยังไม่มีโอกาส

ภาพซ้ำรอยกับธนาธรไปอีก ที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.
จากจะเสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ รอบสอง กลายเป็นการอำลากลางสภา

ขั้นต่อไปเข็มทิศพุ่งไปที่การยุบพรรคก้าวไกล
วันนี้เป็นบรรทัดฐานว่า ชื่อนายกฯ เสนอโหวตซ้ำรอบสองไม่ได้
หากเพื่อไทยจะเสนอชื่อเศรษฐา ก็ต้องมั่นใจว่าผ่าน ส.ว. ในครั้งเดียว

จึงถึงเวลาที่ก้าวไกลจะต้องถูกผลักไปเป็นฝ่ายค้านสมบูรณ์แบบ
เพราะหากมีชื่อก้าวไกลในพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว แม้เสนอชื่อนายกฯ เพื่อไทยไปก็ไม่ผ่าน
ส.ว. จะมีข้ออ้างในการไม่โหวตให้ เสียของไปอีก

พรรคก้าวไกลได้คะแนนมากเป็นอันดับ 1 ในทางประชาธิปไตยต้องได้จัดตั้งรัฐบาล
แต่กลับไม่ได้ทั้งตำแหน่งประธานสภา นายกฯ และรัฐบาล
ผมเคยเตือนแล้วว่าต้องเอาประธานสภามาให้ได้

เมื่อตำแหน่งประธานสภาไปตกกับคนกลาง อ.วันนอร์ ผลจึงออกมาวันนี้ ต้องโหวตว่าจะเสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ รอบสองได้ไหม ท้ายสุดก้าวไกล ไม่ได้อะไรเลย จากกลเกมการเมืองอย่างเหี้ยม คะแนนประชาชนมาหลังสุด

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น
ก้าวไกลพลิกสถานการณ์ไม่ทันจากทะยานพุ่งสู่ฟ้า กลับดิ่งลงเหวโดยฉับพลันทันใด
ลูกบอลเข้าเท้าเพื่อไทยแต่หากเดินไม่ดีมีโอกาสพลาดเช่นกัน

จึงต้องกลืนน้ำลายตัวเอง เอาพลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย มาร่วมรัฐบาล
พลิกขั้วตามที่ผมคาดไว้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top