‘ดร.สุวินัย’ ตั้งข้อสงสัย 3 เรื่องถึง ‘ไพศาล’ เกิดอะไรขึ้นกับสภาพจิตของ ‘กูรู’ ท่านนี้

(17 ก.ค. 66) ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความในหัวข้อ ‘กุนซือทิพย์ : บทเรียนด้านกลับสำหรับนักยุทธศาสตร์’ ใจความว่า…

จากรายการ "ถอนหมุดข่าว" ของ NEWS1 วันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม 2566 ได้นำเสนอรายงานพิเศษเรื่อง "ไพศาล พืชมงคลเป็นกูรูทิพย" ซึ่งมีความน่าสนใจยิ่ง  

ผมขอยก รายงานพิเศษ เรื่องนี้ มาให้อ่านกันอีกทีก็แล้วกัน ...

"โอกาสของพิธา จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี แทบไม่เหลือแล้ว ...ต้องฝันค้างกลายเป็น ‘นายกฯ ทิพย์’p เพราะความหมกมุ่นกับการแก้ไข ม.112 ของพรรคก้าวไกล

คนที่เสียรังวัดอย่างแรงไปด้วยจากเดิมเป็นถึง 'กูรูการเมือง' ที่มีข่าวลึกๆลับๆมาโพสต์ทุกวัน จริงบ้างแต่เท็จจะเยอะกว่า แต่ตอนนี้ต้องมีสภาพเป็น 'กูรูทิพย์' ตาม 'นายกฯทิพย์' ไปแล้วเช่นกัน

เขาคนนั้นก็คือ นายไพศาล พืชมงคล อดีตกุนซือของลุงป้อม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งช่วงหลัง ออกอาการ 'ฝ่ายแค้น' กับพรรคพลังประชารัฐ ค่อนข้างชัดเจน

ขณะเดียวกัน นายไพศาลก็เผยไต๋ว่า เข้าไปแอบอิงพรรคก้าวไกล เพราะเปิดหน้าเชียร์แหลก

แต่การเป็นด้อมส้มกับทำตัวเป็นกูรู บางทีมันก็ไปกันไม่ได้ นายไพศาลเลยได้บทเรียน(หน้าแตก) กับตัวเองจากการโหวตนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ผ่านมา

เพราะขณะที่ใครต่อใคร มองว่ายากที่ ส.ว. จะยกมือให้พิธา แต่นายไพศาล เป็นคนเดียวที่เปิดประเด็นแบบสวนกระแส ระบุว่า ...ผู้มีอำนาจคุม ส.ว.ไว้ไม่ได้แล้ว ...

แต่โพสต์ของนายไพศาล ที่ทำเอาเขา 'สิ้นสภาพ' จากการเป็น 'กูรูการเมือง' ก็คือการฟันธงว่า นายพิธา จะชนะโหวตแบบม้วนเดียวจบ ในวันที่ 13 ก.ค.

แต่ผลจริงๆที่ออกมา เป็นตรงข้าม กลายเป็นนายพิธา โดนน็อกแบบม้วนเดียวจบ ..."

"นายไพศาลโพสต์ลงรายละเอียด ....เป็นคุ้งเป็นแควอย่างชัดเจนว่า เป็นมโนล้วนๆ เป็นความโลกสวยอย่างไม่น่าเชื่อของคนที่เชี่ยวการเมืองอย่างเขา

ยิ่งไปกว่านั้น นายไพศาลยังใช้สำนวนภาษาแนว 'ลิเก' แบบที่นายพิธา รวมถึงแกนนำคนอื่นๆของพรรคก้าวไกล ชอบใช้กันประจำ อีกต่างหาก

เรียกว่านายไพศาลออกตัวแรง ด้วยสำนวนภาษาให้รู้ว่า 'พวกเดียวกัน'

ความผิดพลาดในการเผยแพร่หลักคิดและข้อมูลคราวนี้ ส่งให้ไพศาลกลายเป็น 'กูรูทิพย์' ภายในพริบตา ตามพิธาที่เป็น 'นายกทิพย์'  

แสงอาทิตย์อัสดงของนายไพศาล ทำท่าจะดับวูบ
ซึ่งนายไพศาลควรทบทวนตัวเอง จะต้องเร้นกายปิดสำนักตัวเองล้างอายหรือไม่? ..."


อาจารย์ไพศาล (เกิด 9 ตุลาคม พ.ศ. 2490) ที่ผมรู้จัก ตั้งแต่สมัยที่เราทั้งคู่เคยเป็น "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" เพื่อต่อต้าน "ระบอบทักษิณ" ในปี 2549  ...เขาเป็นกุนซือที่รอบรู้และปราดเปรื่องคนหนึ่งอย่างหาตัวจับยาก  

ในปี พ.ศ. 2549 ตอนนั้นอาจารย์ไพศาลมีอายุ 59 ปี น่าจะอยู่ในช่วงท็อปฟอร์มที่สุด ในฐานกุนซือ เช่นเดียวกับคุณสนธิ ลิ้มทองกุล (เกิด 7 พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2490) ซึ่งอยู่ในช่วงท็อปฟอร์มที่สุดเช่นกันในฐานะ "แกนนำพันธมิตรฯ" ในวัย 59 ปี

ตอนนั้นทั้งผมและอาจารย์ไพศาลต่างก็เป็นคอลัมนิสต์ของสื่อผู้จัดการเหมือนกัน จึงเข้าออกบ้านพระอาทิตย์ของคุณสนธิ บ่อยมากในช่วงสถานการณ์สู้รบ

ผ่านไปแล้ว 17 ปี  ปัจจุบันอาจารย์ไพศาลและคุณสนธิต่างก็มีอายุ 75 ปีย่าง 76 ปีเหมือนกัน ขณะที่คุณสนธิยังคงอยู่ใน"สภาวะท็อปฟอร์ม" ได้อย่างน่าทึ่งสำหรับคนวัยนี้  คือคุณสนธิยังมีมันสมองที่เฉียบแหลม และมีจิตใจที่หนักแน่นมั่นคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง  ...กาลเวลา 17 ปี ที่ผ่านไปทำอะไรคุณสนธิไม่ได้เลยจริงๆ

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสู่ "ขาลง" ของอาจารย์ไพศาล" ที่ผมนับถือนั้น ทำเอาผมใจหายและแทบไม่เชื่อสายตาตนเอง

เกิดอะไรขึ้นกับ "มันสมอง" ของ "กุนซือสมองเพชร" คนนี้?

เกิดอะไรขึ้นกับ "สภาพจิต" ของ "กูรูการเมือง" ผู้เป็นเจ้าสำนักกระบี่เดียวดายท่านนี้?

โดยส่วนตัว ผมสนใจประเด็นนี้เป็นพิเศษ

ผมมีคำถามในใจหลายข้อเกี่ยวกับ "ความย้อนแย้งในตัวตนปัจจุบัน" ของอาจารย์ไพศาล และพยายามหาคำตอบให้กับตัวเองเพื่อใช้เป็นอุทราหรณ์สำหรับตัวเองในอีกสิบปีข้างหน้า

(1) "ทำไม คนที่ดำรงตำแหน่งอุปนายกและเลขาธิการสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน อย่างอาจารย์ไพศาล ถึงกลายมาเป็น 'พ่อยก' ด้อมส้มตัวเอ้ของพรรคก้าวไกล ทั้งๆที่พรรคก้าวไกลมีท่าทีที่ชัดเจนว่า ต้านจีน?"

(2) "ทำไม คนที่เคยเขียนบทความเชียร์จีน ทางด้านความมั่นคง-การเมือง-เศรษฐกิจ และต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมของอเมริกา มานานหลายสิบปีอย่างอาจารย์ไพศาล จึงออกตัวแรงสนับสนุนพรรคก้าวไกลเต็มที่ ทั้งที่พรรคก้าวไกลมีจุดยืนชัดเจนว่า ยืนอยู่ฝั่งอเมริกาและต้องการชักศึกเข้าบ้าน เพื่อต้านจีน?"

(3) "ทำไม คนที่เคยชูคำขวัญ "เราจะต่อสู้เพื่อในหลวง" สมัยยังเป็นพันธมิตรฯ อย่างอาจารย์ไพศาล ถึงกลับเปลี่ยนธาตุแปรสี กลายมาเป็นผู้สนับสนุน "การแก้ ม. 112" ของพรรคก้าวไกล ที่มุ่งล้มล้างการปกครองและล้มสถาบัน?"

ผมสงสัยกระทั่งว่า อาจารย์ไพศาลในฐานะ "ผู้ปฏิบัติธรรม" ได้เคย "แลเห็นจิต" , เคย "แลเห็นความคิด" ตัวเองจริงๆหรือไม่?

ทั้งๆ ที่ จิตและความคิดของอาจารย์ไพศาลได้เปลี่ยนแปลงจากแต่ก่อนชนิดสวิงอย่างสุดขั้วไปอีกฝั่งแล้ว

สำหรับผู้ฝึกจิต โมหะหรือความหลง เป็นสิ่งที่ต้องรู้ทันและระวังให้มาก

"อาการหิวแสง" หรือความต้องการได้รับความสนใจจากสื่อและผู้คนทุกๆวัน ของ "กุนซือชรา" หรือ "กูรูการเมืองชรา" ...แค่บ่งชี้ว่า สภาวะจิตของบุคคลผู้นั้น ยังไม่ได้บรรลุ "ความพอใจในตนเอง" จนเพียงพอ

จึงทำให้ จิตของผู้นั้น มิอาจเป็น บ่อน้ำที่สะท้อนจันทราบนท้องฟ้า (สภาวะจิตแบบ "จันทร์ในบ่อ" ของเซน) ที่เป็นสภาวะจิตกระจ่าง ได้ ... 

ทำให้ไม่อาจสะท้อน "ความจริงที่มีอยู่หนึ่งเดียว" ได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริงได้

อย่างไรก็ดี ผมก็ยังเคารพอาจารย์ไพศาลอยู่เสมอ ในฐานะที่เขาเคยเป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจให้ผม เลือกเดินบนเส้นทาง "กุนซืออิสระ" หรือ "นักยุทธศาสตร์อิสระ" อย่างบูรณาการตั้งแต่ 19 ปีก่อน 

จนเป็นที่มาของหนังสือ "ภูมิปัญญามูซาชิ -วิถีแห่งนักกลยุทธ์เชิงบูรณาการ" (สำนักพิมพ์ openbooks, 2550) ...ของผมในเวลาต่อมา