Thursday, 23 May 2024
การเมือง

‘ส.ว.สมชาย’ ชี้!! ‘พิธา’ อธิบายเรื่อง ICC ไม่กระจ่าง

เมื่อวันที่ 13 ก.ค.66 นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายในรัฐสภาเกี่ยวกับเรื่อง ‘ICC’ หรือ 1 ในนโยบายที่พรรคก้าวไกลใช้หาเสียง และจะทำหากได้จัดตั้งรัฐบาล โดยระบุว่า…

"เรื่อง ICC ถามว่าทำไมประเทศไทยลงนามให้สัตยาบรรณไม่ได้ พิธาอธิบายไม่หมดที่ว่า ประเทศที่มีระบบแบบเดียวกับเราก็เข้าร่วมมากมาย ต้องชี้แจงว่าเหตุที่กัมพูชาเข้าร่วม เพราะ ICC จัดการเรื่องเขมรแดง ญี่ปุ่นเข้าร่วมเพราะแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนสหรัฐอเมริกา, รัสเซีย, จีน, อินเดีย ไม่เข้าร่วม ICC ดังนั้นต้องบอกประชาชนให้หมด"

สำหรับเรื่อง ‘ICC’ หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล ได้อธิบายไว้แล้ว สามารถตามอ่านได้ที่ https://thestatestimes.com/post/2023072013

14 ล้านเสียงกา ‘ก้าวไกล’ ยังไม่พร้อมลงถนน เชื่อ!! ปชช. สนปากท้อง มากกว่าแตกแยก

(21 ก.ค. 66) นายปรเมษฐ์ ภู่โต สื่อมวลชนอาวุโส พิธีกร ผู้ประกาศข่าว รายการคุยถึงแก่น ได้ร่วมพูดคุยกับ นายพิชิต ไชยมงคล อดีตแกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ในเรื่อง ‘ปฏิกิริยามวลชน 14 ล้านที่เลือกก้าวไกล หลัง ‘พิธา’ ไม่ได้เป็นนายกฯ และท่าทีของมวลชน หากเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ’ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กไลฟ์ ‘คุยถึงแก่น’ 

>> ประเมินแรงกดดันนอกสภาจากกองเชียร์ของพรรคก้าวไกล คิดว่าจะมีทิศทางอย่างไร?

นายพิชิต ระบุว่า ผมต้องประเมินย้อนไปถึงตั้งแต่ยุคอนาคตใหม่ กรณีคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คล้ายคล้ายกรณีคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพราะเป็นคดีถือหุ้นสื่อเหมือนกัน ตอนนั้นคุณธนาธรออกมาแสดงความคิดเห็น (ข้อแก้ตัว) ทางคดีผ่านมวลชน ศาลตัดสินได้ไม่ถึงสัปดาห์ คุณธนาธรก็นัดมวลชนที่สวนจตุจักร มวลชนไปเยอะมาก แต่ตอนนั้นคุณธนาธร คุณช่อ และคุณปิยะบุตร ก็ไม่ได้ออกมานำมวลชน และไม่ได้มีเหตุการณ์อะไร

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ผมประเมินว่าสุดท้ายก็จะเป็นหนังม้วนเดิม พรรคก้าวไกลก็อาจจะถูกคดีคล้ายกับพรรคอนาคตใหม่ คีย์แมนคนสําคัญของพรรคก้าวไกลก็ไม่กล้าออกมานำมวลชนชุมนุม พรรคก้าวไกลนัดมวลชนให้ไปปกป้องคุณพิธาที่รัฐสภา แต่กลายเป็นว่ามวลชนไม่ออกไป มวลชนส่วนหนึ่งคนรุ่นใหม่ที่เป็นฐานสําคัญของพรรคก้าวไกล คนทํางาน คนรุ่นใหม่ ไม่มีใครออก ถ้าพูดกันตรงๆ ก็คือเป็นมวลชนนี้คือพี่น้องคนเสื้อแดงที่หันมาเชียร์คุณพิธามากกว่า 

หรือแม้กระทั่งเมื่อวันที่ 19 ก.ค.66 การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผมต้องใช้คําว่า ‘สอบไม่ผ่าน’ ถ้าดูจากคะแนนเสียงที่ถูกเคลมอ้างตลอดว่า 14 ล้านเสียงพร้อมจะออกมา พรรคก้าวไกลก็พยายามปั่นว่า ถ้าคุณพิธาไม่ได้เป็นนายก มวลชน 14 ล้านเสียงจะปิดบริษัทชุมนุม แต่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา ยืนยันว่าเป็นแค่คำขู่ 

มวลชน 14 ล้านเสียงที่เลือกก้าวไกล ไม่ใช่มวลชนที่พร้อมจะลงถนนทั้ง 14 ล้านคน ต้องมองแบบแยกแยะกันพอสมควร จะมาเคลมแบบก้าวไกลว่า 14 ล้านเสียงคือแรงผลักดันทางการเมืองที่พร้อมจะลงถนน ผมว่า ณ วันนี้ต้องประเมินกันใหม่ บางส่วนเขาไม่ได้พร้อมที่จะมาปกป้องคุณพิธา บางส่วนของ 14 ล้านเสียงที่เขาเลือกก้าวไกล เพราะเขาอาจจะเบื่อลุงก็ได้ หรือจะเพื่อการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่พร้อมจะลงถนน 

>> สาเหตุที่ 14 ล้านเสียงไม่ไปลงถนนชุมนุม มาจากกลุ่มแกนนำชุมนุมยังเป็นกลุ่มเดิมๆ เนื้อหาที่พูดก็ค่อนข้างสุดโต่งเกินไป ทำให้คนไม่ค่อยอยากสุงสิงหรือเปล่า?

นายพิชิต กล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่งครับ ผมถึงบอกตั้งแต่ต้นว่าถ้าจะให้จริงจังคุณพิธา คุณธนาธรต้องออกมานําเอง ผมว่ามวลชนจะเชื่อใจ คณะแกนนำชุมนุมต้องพูดเรื่องเดียวกับที่เกิดขึ้นในสภา อธิบายเนื้อหาว่าทําไมคุณพิธาไม่ได้ถูกเลือกเป็นนายก มีเนื้อหาอะไรบ้าง? มีการเล่นเกมโกงกันยังไง? รัฐธรรมนูญมีปัญหาอะไร? แต่เนื้อหาที่พูดบนเวทีกลายเป็นเรื่อง ม.112 ผมเชื่อว่ามวลชนเขาก็ไม่กล้าเสี่ยง เพราะกลัวคดี แต่หากอยากให้มวลชนออกมา คุณพิธา คุณธนาธรต้องออกมานำเอง อยู่ที่ว่าพวกเขากล้าหรือเปล่า

>> ประเมินธนาธร ซึ่งเป็นประธานคณะก้าวหน้า กล้าถือไมค์อยู่บนหลังรถกระบะนําคนเป็นพัน เป็นหมื่นพร้อมจะโดนคดี เขาจะกล้าไหม?

นายพิชิต ให้ความเห็นว่า ให้ประเมินตอนนี้ผม ผมฟันธงได้เลยว่า ‘ไม่กล้า’ ถ้าเป็นการชุมนุมแบบเดิมคือ ปักหลักยืดเยื้อขึ้นบนรถหลังเวที นอนพักค้างคืน แบบนี้เขาไม่กล้าแน่ หรือถ้าเอาแบบใหม่ แบบที่เขาถนัดคือมาแล้วกลับ ผมก็ยังฟันธงว่า ‘เขาไม่กล้า’ เพราะการชุมนุมมันมีผลแห่งการรับผิดชอบมวลชนเยอะพอสมควร ฟันธงว่าทั้งคุณธนาธรและคุณพิธาก็ไม่กล้า

>> หากพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคก้าวไกล จะเจอแรงคนกดดันจากกองเชียร์พรรคก้าวไกลแค่ไหน? แล้วทางกองเชียร์เพื่อไทยจะหนุนหลังพรรคเพื่อไทยมากน้อยแค่ไหน?

นายพิชิต กล่าวว่า ถ้าเพื่อไทยมีนโยบายเรื่องปากท้องเพื่อพี่น้องประชาชน เชื่อว่ามวลชนจะไม่ออกมา เพราะต้องยอมรับว่าประชาชนเหนื่อยกับการชุมนุม ประเทศไทยมีการชุมนุมมา ในช่วง 20 ปีก็หลายครั้งชุมนุมใหญ่ก็หลายหน มวลชนจะเหนื่อยกับการชุมนุม คณะราษฎร์ก็มีการชุมนุมใหญ่มาแล้ว มีการเคลื่อนไหว มวลชนออกมาค่อนข้างเยอะ แล้วจะกล้าไหมที่จะออกมาแค่ปกป้อง ‘พิธาหรือพรรคก้าวไกล’ 

ผมว่าถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลร่วมกับพรรคอื่น สิ่งที่ต้องคํานึงให้มากที่สุดคือ การแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชน เอานโยบายที่สามารถจับต้องได้ แก้ปัญหาของพี่น้องได้ เรื่องปากท้อง เรื่องแรงงาน เรื่องชาวนา เชื่อว่าประชาชนจะอินกับการแก้ปัญหามากกว่าที่จะออกมาเคลื่อนไหวบนถนน 

แน่นอนว่าอาจจะมีการโวยวายในโลกโซเชียล ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่คนที่จะออกมาเคลื่อนไหว ผมคิดว่า มันจะถูกลดทอนด้วยการทํางาน เอาการทํางานมาเป็นตัวพิสูจน์ ถึงแม้เราจะไม่ค่อยไว้ใจเพื่อไทยเท่าไหร่ แต่ในการจับขั้วรัฐบาลอย่างน้อยมันก็ต้องมีรัฐบาลในการบริหารประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็แล้วแต่ ถ้าคํานึงถึงผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก การชุมนุมมันจะไม่มีเหตุผลอะไรเลย เพราะเกมการเดินหน้าการแก้ปัญหาของประเทศยังเดินอยู่ ผมคิดว่าคนที่คิดออกมาชุมนุมก็ต้องเลือกระหว่างจะ ‘ทําให้ประเทศเดินหน้า’ หรือว่าจะเอามาชุมนุม ‘เพื่อสิ่งที่ตัวเองต้องการ’

>> ประชาชนคนทั่วไป ที่ทำงานหาเช้ากินค่ำ ผ่านช่วงที่เศรษฐกิจบอบช้ำ สงครามรัสเซีย-ยูเครน คนก็คงไม่อินกับการไปม็อบ ใช่ไหม?

นายพิชิต กล่าวว่า ประเมินจากพรรคก้าวไกล กรณีคุณพิธาที่โดน กกต. โดนศาลรัฐธรรมนูญ ถ้ามวลชนเยอะจริงอย่างที่พูดในโซเชียล ผมว่ามวลชนจะออกเยอะกว่านี้ แต่ที่นัดชุมนุมใหญ่ที่ผ่านมาหลายครั้ง คนไม่ออกนะ ดังนั้นผมมองว่าแม้เขาจะชอบก้าวไกล แต่เขายังไม่พร้อมที่จะลงถนนแบบแตกหัก บางส่วนก็คิดว่าประเทศบอบช้ำจากการชุมนุม และคนก็ต้องทำมาหากิน เขาก็ไม่ลงถนน อีกฝั่งก็คิดว่าที่คุณพิธาเป็นแบบนี้ก็เพราะไม่จัดการตัวเองเรื่องถือหุ้นสื่อ มันก็ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ เรื่องพวกนี้จะทำให้คนไม่อิน

ในอนาคต ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนําจัดตั้งร่วมกับพรรคอื่น แต่ถ้าบริหารจัดการนโยบายดี ๆ ผมคิดว่าคนพร้อมอยากให้รัฐบาลใหม่มาแก้ไขปัญหาของประเทศ มากกว่าที่จะออกมาชุมนุม

>> หากเปรียบการเมืองไทยเป็นสามก๊ก มีเพื่อไทย ก้าวไกล และ ฝั่ง กปปส. รวมกับพันธมิตร คิดว่ามวลชนกลุ่มที่ไม่ได้เชียร์เพื่อไทย หรือก้าวไกล จะออกมาเคลื่อนไหวด้วยเหตุผลอะไร?

นายพิชิต กล่าวว่า จุดแตกหักของมวลชนคงจะเป็นเรื่อง 112 ที่หลายคนกังวล มีโอกาสที่จะทําให้พันธมิตรเดิม หรือ กปปส. เดิม กลุ่มที่เคยออกมาปกป้องสถาบันได้ขยับอีกครั้งหนึ่ง แน่นอนว่าการขยับอาจจะไม่ใช่การแสดงพลังชุมนุมใหญ่ แต่มันจะไปกระตุ้น ให้เกิดการตื่นตัวและการเคลื่อนไหวออกมา ผมว่ามีปมเดียวคือเรื่อง 112 ยกเว้นกรณีคุณทักษิณจะกลับมา ซึ่งหลายคนก็เฝ้าจับตามอง จะกลับมาในลักษณะไหน มาแล้วต้องเคารพกฎหมาย ถ้าไม่เคารพกฎหมาย นี่อาจจะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะทําให้ กลุ่มที่เคยต่อต้านคุณทักษิณได้กลับมาแสดงพลังอีกรอบ

>> คิดว่าจะเป็นโอกาสทองในการก้าวข้ามความขัดแย้งของคนในสังคมหรือไม่?

นายพิชิต กล่าวว่า ที่จริงเรื่องความปรองดองเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันมาตั้งนานแล้ว แกนนำหลายท่านก็เคยมานั่งคุยกัน แต่การปรองดองก็ต้องมีเงื่อนไข ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะบอกว่าปรองดองหมด หากปรองดองภายใต้เงื่อนไขทางการเมือง สามารถเกิดขึ้นได้ อยู่ที่รัฐบาลจะกล้าหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยกันให้จริงจังขนาดไหน 

>> เมื่อถามว่า หากเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะเกิดการพูดคุยเรื่องการปรองดองหรือไม่?

นายพิชิต กล่าวว่า เพื่อไทยก็จะถูกจับตามองเรื่องคุณทักษิณ ขยับตัวยาก จึงต้องเป็นรัฐบาลที่หลายฝ่ายยอมรับ แต่ทุกวันนี้ก็ระแวงกันอยู่พอสมควร ดังนั้นต้องใช้ตัวเนื้อหาเป็นต้นแบบในการพูดคุย และให้สังคมได้ร่วมวิพากย์วิจารณ์กัน

'เศรษฐา' ลั่นไม่กลัว 'ชูวิทย์' ขู่แฉปมที่ดิน ยืนยัน!! มั่นใจในความบริสุทธ์ของตัวเอง

(20 ก.ค.66) ที่พรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ อดีตนักการเมือง เตรียมแฉเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน ว่า ตนเคยทำธุรกิจมานานก็มั่นใจว่าบริษัทเก่าที่ตนได้ทำมาก็ทำมาด้วยดี ไม่ได้มีปัญหาอะไร

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าเมื่อจะก้าวขึ้นมาเหมือนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกลก็มีประเด็นที่จะถูกแฉเรื่อยๆ นายเศรษฐา กล่าวว่า เขาก็แฉกันมาตลอด ตั้งแต่วันแรกที่เดินเข้ามา เขาก็บอกว่าจะมีเรื่องที่จะแฉ แต่ก็ไม่เป็นไร ตนเข้าใจเมื่อมาอยู่จรงจุดนี้ก็ต้องระมัดระวัง ยืนยันว่าตนมั่นใจในความบริสุทธ์ของตัวเอง

‘แสนดี’ โผล่ร่วมเฟรม ‘ม้า อรนภา’ หลังดรามาโพสต์ความเห็นการเมือง

จากกรณีข่าว ‘แสนดี-แสนปิติ สิทธิพันธุ์’ ลูกชายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ‘นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ที่ได้ออกมาเคลื่อนไหวโพสต์วิจารณ์พรรคก้าวไกล ว่า ‘นายพิธา’ ไม่มีทางได้เป็นนายกฯ อีกทั้งไม่มีนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นไปได้ ต่อมาทำให้กระแสโซเชียลดุเดือดเช่นกัน ก่อนที่เจ้าตัวต้องออกมาโพสต์ข้อความขอโทษและยืนยันว่า คือความคิดเห็นของตนไม่ได้แสดงความเกลียดชังต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลใด ตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้

ล่าสุด วันเมื่อวันที่ 22 ก.ค.66 ‘ม้า อรนภา กฤษฎี’ โพสต์อินสตาแกรม เป็นรูปที่ถ่ายคู่กับแสนดี แสนปิติ สิทธิพันธุ์ ลูกชายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมข้อความว่า…

“แสนดี ผ่านมาร้านห่อหมกแม่คุณม้า #You’re the best”

‘ขยัน’ อดีต สส.ลำพูน มั่นใจ!! สมาชิก ปชป.จะเลือกทางที่ถูกต้อง เพื่อสานต่ออุดมการณ์พรรค มากกว่าตอบแทนบุญคุณตัวบุคคล

(23 ก.ค. 66) นายขยัน วิพรหมชัย อดีต สส.ลำพูน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเลือกตั้งหัวหน้า และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ที่จะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 6 ส.ค. 66 ว่า จากการที่ได้พูดคุยกับสมาชิกในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคเหนือ ส่วนใหญ่ยังมั่นใจว่าจะสามารถผ่านไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะเมื่อผู้อาวุโสที่สืบทอดอุดมการณ์และจุดยืนที่มั่นคงของพรรคมากว่า 50 ปี หลายท่านต่างช่วยกันประคับประคอง ให้พรรคยืนหยัดความเป็นสถาบันของบ้านเมืองที่ประชาชนสามารถยึดเหนี่ยวได้ ด้วยความเป็นห่วงว่าพรรคจะกลายเป็นพรรคเฉพาะกิจเฉพาะกาล ท่านชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค จึงออกมาเรียกร้องให้สมาชิกทุกท่านช่วยกันรักษาพรรค เพื่อเป็นหลักของประเทศชาติและประชาชนต่อไป

นายขยัน กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวมีความเชื่อมั่นต่อจุดยืน และอุดมการณ์ของผู้อาวุโสของพรรคทุกท่าน โดยเฉพาะท่านชวนฯ ที่ต้องถือว่าเป็นเสาหลักของพรรคมากว่า 30 ปี ด้วยหลักคิดที่สำคัญคือพรรคต้องมีหลักคิดที่ถูกต้องเพื่อประเทศชาติ และประชาชนมากกว่า เป็นเครื่องมือเพื่อตอบแทนบุญคุณของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลไดบุคคลหนึ่ง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้สืบทอดอุดมการณ์นี้กันมารุ่นต่อรุ่นในระยะเวลา 78 ปี ที่ผ่านมา

“ผมเชื่อว่าสมาชิกพรรรคทุกคน ก็คงจะยึดมั่นในอุดมการณ์และจุดยืนนี้เช่นกัน ผมจึงเชื่อว่าด้วยความเป็นชาวประชาธิปัตย์ ทุกคนจะสามารถเลือกหนทางที่ถูกต้อง เพื่อพรรคประชาธิปัตย์ของเราต่อไป” นายขยัน กล่าวทิ้งท้าย

‘อดีตตุลาการศาล รธน.’ ชี้ ศาลฯ ไม่มีโอกาสชี้แจงผ่านออนไลน์ ทำได้แค่เขียนคำวินิจฉัยให้กระจ่าง วอนสื่อช่วยเชื่อมความเข้าใจ

(25 ก.ค. 66) ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จัดโครงการศาลรัฐธรรมนูญพบสื่อมวลชน ประจำปี 2566 โดยมีนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานเปิดโครงการ โดยมีสื่อมวลชวนจำนวน 25 สำนักข่าวเข้าร่วม

โดยนายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทของสื่อมวลชนในการส่งเสริมประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม” ว่า ศาลรัฐธรรมนูญและทุกศาลไม่มีโอกาสพูดแก้ตัวต่อสังคมผ่านช่องทางสื่อของศาล และศาลไม่มีไอโอ งานในฝ่ายตุลาการท่านได้สร้างประเพณีไว้ว่าอยากจะพูดอะไรกับประชาชนก็เขียนลงในคำวินิจฉัยให้กระจ่างให้หมด แล้วไม่ต้องไปโต้แย้งโต้เถียงหรือแก้ตัวอย่างใด ๆ กับประชาชน ขอให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องตั้งใจนำเอาร่างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปวิเคราะห์แล้วจะวิพากษ์วิจารณ์ หรือเสนอแนะโดยถูกต้องสุจริต เป็นธรรมนั้นก็จะเป็นประโยชน์แก่ศาลรัฐธรรมนูญเราเอง เพราะเสียงติติงของผู้มีใจเป็นธรรมในสังคม เหมือนผู้ที่ชี้ขุมทรัพย์ให้กับศาลเราได้พัฒนาปรับปรุง เพราะไม่มีอะไรในโลกทางวัตถุนี้จะสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือทำอะไรถูกหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ มันก็ต้องมีขาดมีเกิน แต่ขอให้ทำโดยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ตรงไปตรงมา ไม่เบียดเบียน ไม่หลงเชื่อไปตามพยานหลักฐานเท็จ ใช้กฎหมายให้ถูกต้องตามหลักนิติธรรม

นายจรัญ กล่าวอีกว่า ถ้าเราสามารถพัฒนาระบบงานกฎหมาย ยุติธรรมของประเทศเราให้มั่นคงบนหลักการนี้ได้ก็จะช่วยให้ระบอบการปกครอง ระบบการเมือง ระบบกฎหมายงานยุติธรรม ระบบเศรษฐกิจ ระบบคิดและวิถีของประชาชนจะมีคุณภาพมาตรฐานดีขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้พัฒนาการของศาลรัฐธรรมนูญ และศาลอื่นๆคือเสียงสะท้อนที่ทรงคุณประโยชน์ที่ใช้สติปัญญาความรู้ที่เป็นธรรม และวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ให้เราได้มีโอกาสรับไปปรับพัฒนา ซึ่งความจริงแล้วศาลท่านแทบไม่ได้พูดสื่อสารหลักเกณฑ์พื้นฐานให้ประชาชนได้เข้าใจ ตั้งแต่ก่อนที่คดีจะเข้าสู่ศาล ซึ่งข้อขัดแย้งในสังคมความจริงก็สับสนวุ่นวายอยู่ในโลกเสรี หรือโลกไซเบอร์มาอย่างชุลมุนสับสน อย่างศาลแทบจะไม่มีโอกาสได้เข้าไปร่วมแสดงหลักการอะไรได้เลย เพราะถ้าศาลพูดก่อนที่คดีจะมาศาลนั่นศาลก็จะไม่มีใจที่จะพิจารณาคดีนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่ายตุลาการต้องระมัดระวังไม่ล่วงล้ำเข้าไปในพื้นที่นั้น

ในระหว่างที่คดีเข้ามายังศาลก็ไม่สามารถไปบอกอะไร ๆ ให้ประชาชนรับรู้ในเชิงลึกในเนื้อหาของคดีได้ แล้วกระแสกดดันในสังคม ในคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครองอาจจะไม่รุนแรงเท่าคดีที่มาสู่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเดิมพัน หรือผลของการแพ้ชนะกันที่ศาลรัฐธรรมนูญมันมหาศาล กระทบคนเป็นล้านเป็นสิบล้าน กระทบสถาบันหลักของชาติ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่แรงกดดันของฟากฝ่ายต่าง ๆ ของสังคมก็จะอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไปในทิศทางที่เป็นคุณประโยชน์แก่ตน พอแพ้ไม่ได้ก็จะเป็นสถานะยากลำบากของศาล วันนี้เราตั้งประเด็นว่าแล้วสื่อมวลชนมีเสรีภาพที่ยิ่งใหญ่ และถือเป็นเสาหลักเสาหนึ่งของการปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตย เป็นปากเป็นเสียงของประชาชน เป็นเวทีเปิดกว้างให้คนที่ไม่มีพื้นที่เป็นของตัวเองสามารถสะท้อนคิดความเห็น ข้อมูล ออกไปสู่การรับรู้ของประชาชนอย่างมาก ดังนั้นถือเป็นวิชาชีพที่สูงมาก มีมาตรฐาน อุดมการณ์และจริยธรรม ที่ไม่ได้ต่ำต้อยน้อยหน้าไปกว่าอาชีพ อื่น นายจรัญ กล่าว

นายจรัญ กล่าวว่า วันนี้เราใช้ระบบการเมืองแบบรัฐสภา เราเลือกที่จะไม่ใช้ระบบแบบประธานาธิบดี และส่วนใหญ่เราก็เลือกใช้ระบบ 2 สภา ระบบกฎหมายก็สำคัญสำหรับสื่อมวลชนที่จะใช้เสรีภาพ เพราะถ้าเราใช้เสรีภาพล่วงละเมิดกฎหมายบ้านเมืองจะมีปัญหา แล้วเราจะไปโทษว่าคนที่มากล่าวหา ดำเนินคดีกับเราเป็นการกลั่นแกล้ง นั่นมันก็ไม่กระจ่าง ฉะนั้นเราก็ต้องมีกรอบมาในระบบกฎหมายและระบบงานยุติธรรม

อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนถือเป็นกลไกลสำคัญในระบอบการปกครอง ระบบการเมือง ระบบกฎหมาย เศรษฐกิจของประเทศเราที่จะช่วยให้วิถีชีวิตของประชาชนค่อยๆพัฒนาขึ้น แต่ต้องระวังอย่าหักด้ามพร้าด้วยเข่า อย่าใจเร็วด่วนได้ว่าต้องดีขึ้นวันนี้พรุ่งนี้เลย ไม่เช่นนั้นแตกหัก ถ้าสื่อใดพลาดไปอย่างนั้นตนว่าน่าห่วง อีกทั้งตัวร้ายที่เรามองข้ามไป  มหาอำนาจจากโลกเสรี ประชาธิปไตย ทุนนิยมสุดโต่งทรงพลังครอบงำการปกครองระบบการเมืองของเรา ระบบกฎหมาย ระบบงานยุติธรรมของเรา มีอย่างที่ไหนศาลกำลังพิจารณาพิพากษาคดีสำคัญอยู่แต่ส่งตัวแทนต่างชาติเข้ามา แม้จะบอกว่าเข้ามาเพื่อประดับรู้ แต่ผลกระทบมันคือการกดดันผู้พิพากษาที่ทำภารกิจนั้นอยู่ เว้นแต่ท่านจะมั่นคง ตรงไปตรงมาจริงๆไม่หวั่นไหว แต่แรงกดดันแบบนี้เป็นไปได้ และเคยเป็นไปแล้วให้เราได้เห็น ไม่มีประเทศไหนเขายอมอย่าว่าแต่ผู้แทนต่างชาติเลยแม้แต่คนในประเทศพอคดีสำคัญเข้าสู่ศาลต้องหยุดกดดัน เพราะเราก็ไม่มั่นว่าผู้พิพากษาท่านจะหวั่นไหวหรือไม่ ถ้าท่านหวั่นไหวก็ทำงานง่ายตัดสินตามกระแสกดดัน แบบนี้แล้วฝ่ายตรงข้ามที่ไม่มีกระแสหนุนหลังเขาจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่

หลักการพื้นฐานเมื่อคดีเข้าสู่ศาลต้องสกัดการกดดันศาลทุกรูปแบบเพื่อหวังว่าเราจะได้คุณภาพของคำวินิจฉัย หรือถ้ากลัวว่าไม่กดดันเราจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่นั้นต้องบอกว่าถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรมเราต้องจัดการ ซึ่งมันมีช่องทางมากมาย มีตัวอย่างคนในแวดวงตุลาการที่ดูแลองค์กรนี้อยู่ท่านไม่ปล่อยให้เนื้อร้ายเจริญงอกงามแน่ มะเร็งร้ายจะต้องถูกกำจัดไปโดยกระบวนวิธีการของท่านที่ไม่ต้องการประฌานเชื้อโรคหรือเนื้อร้ายนั้น

“ผมไม่ได้อยู่กับคนไหนฝ่ายไหน ผมไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ทุนนิยม และผมก็ไม่เสรีสุดโต่ง แต่ผมก็ไม่อาจจะยอมรับการกดขี่ข่มเหงของผู้ทรงอำนาจในประเทศ ไม่ว่าจะรูปแบบไหน ทรงอำนาจอาวุธหรือเสียงข้างมาก เพราะในชีวิตผมเติบโตมาในแวดวงการตุลาการไทย เราเคารพเสียงข้างมาก ยอมรับมติให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก แต่เราขอให้เราที่เป็นเสียงข้างน้อยได้แสดงความคิดเห็น เหตุผลหลักวิชาของเราให้ปรากฏไว้ว่า ไม่ใช่เพราะผมเป็นตะบึงตะบอนเห็นแต่ความเห็นของตัวเอง ไม่เคารพความคิดเห็นของคนอื่น นี่คือวัฒนธรรมของการทำงานของฝ่ายตุลาการของประเทศเรา แต่มันก็ไม่ค่อยได้มีการเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้ เพราะมันเกินกำลังของศาลที่จะเผยแพร่อะไรต่างๆที่เป็นเรื่องเฉพาะตัว นั่นจึงจะเป็นหน้าที่สื่อมวลชนที่จะได้เป็นตัวกลางเชื่อมสื่อสารให้ประชาชนรับรู้เข้าใจ ความโกธรแค้นต่างๆก็จะได้เบาบางลง” นายจรัญ กล่าว

นายจรัญ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนจะต้องเป็นสื่อกลางที่จะเชื่อมระหว่างรัฐ กับประชาชน และประชาชนด้วยกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันสื่อจะต้องมีเสรีภาพเพื่อไม่ให้ตัวกลางหายไป ถ้าหายไปประชาชนก็จะถูกปลุกปั่นให้เป็นเครื่องมือของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล แล้วจะต้องเป็นตัวกลางระหว่างสองฝ่ายที่มักจะขัดแย้งกันเพื่อให้ไปสู่ศาลกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่ยุยงให้ลงถนนเพราะการลงถนนของประชาชนต้องเป็นเส้นทางสุดท้ายของสังคม เพราะฉะนั้นจะกลายเป็น Mob Rule  หรือกฎหมู่ เป็นภัยอันตรายมหาศาลของระบอบเสรีประชาธิปไตย ไม่ค่อยเป็นภัยต่อระบอบเผด็จการ ซึ่งประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เขาไม่กลัว Mob Rule อีกทั้ง Mob Rule เป็นตัวบ่อนทำลายหลักของหลักธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรมที่ทรงพลังที่สุด รวมถึงทำให้เกิดความสูญเสียในสังคม มีผู้วิจารณ์การเมืองบอกว่าถ้าเลือกตั้งใหม่จะเสียค่าอีก 5- 6 พันล้าน ซึ่งเป็นเรื่องเล็กมากถ้าเปรียบเทียบกับความล้มสลายทางเศรษฐกิจเป็นล้านล้าน ถ้าเกิด Mob Rule ซึ่งเสียหายทุกฝ่ายรวมทั้งม็อบเองก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการเดินถนน จึงขอให้นั่นเป็นวิธีสุดท้ายที่หมดปัญญาแล้ว ไม่มีปัญญาจะแก้ปัญหาของประเทศชาติโดยวิธีสันติได้แล้ว

'โบว์ ณัฏฐา' แนะคนไทยมองการเมืองเป็นการทำงานเพื่อชาติ ไม่ใช่มองทุกอย่างเป็นละครที่มี 'พระเอก-นางเอก- ธรรมะ-อธรรม'

(26 ก.ค. 66) คุณโบว์ ณัฏฐา มหัทธนา ผู้ดำเนินรายการ Ringside การเมือง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

คนต้องเลิกมองการเมืองเหมือนคนดูละครน้ำเน่า แล้วมองการเมืองเป็น 'การทำงาน' มีเป้าหมายของงานที่ต้องทำให้สำเร็จอยู่ตรงหน้า คนรับประโยชน์จากงานคือประเทศชาติ คือประชาชน 

จะได้เลิกประสาท มองทุกอย่างเป็นละครมีพระเอกนางเอก ฝ่ายธรรมะอธรรม ผู้ร้าย ตัวโกง พ่อมดแม่มด รักกันเลิกกัน พ่อแง่แม่งอน บ้าบ้าบอบอ แล้วนั่งโกรธเกรี้ยวกรีดร้องฟูมฟาย ตีอกชกหัวอยู่หน้าจอ

ไม่มีอะไรมากหรอกค่ะ แค่คนทำงาน
ทำงาน เจอปัญหา แก้ปัญหา ทำงานต่อ

'สุหฤท' โพสต์คอมเมนต์ถึง 4 ฝ่าย "เรามาถึงจุดตกต่ำอะไรได้ขนาดนี้"

(8 ส.ค. 66) นายสุหฤท สยามวาลา นักธุรกิจและนักจัดรายการชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘DJ Suharit Siamwalla’ ระบุว่า...

ความเห็นสามสี่ข้อดังนี้ (มีหลายข้อนะอ่านเพลิน)

แด่กลุ่มทะลุวัง

จะโกรธอะไรแค่ไหนก็ประท้วงแบบคนที่เจริญแล้วก็ได้ มีคนโกรธร่วมด้วยมากมาย ความหยาบคายจะกลบทุกอย่างลงสิ้น ตอนนี้หยาบเกินบรรยายจร้า ไม่มีประโยชน์นะ ลองหาครีเอทีฟสร้างสรรค์เก่ง ๆ ในกลุ่มดู

แด่เพื่อไทย

ไม่รู้ว่ามาถึงจุดนี้ได้อย่างไรเลย คืองงมาก ๆ งงแบบที่สุด ผมไม่ติดด้วยถ้าจะได้นายกจากเพื่อไทย จริง ๆ นะ ถ้ามันสง่างามมีคลาสกว่านี้ แต่ถ้าทำเพื่อให้ทักษิณกลับบ้านให้ได้ คุณทักษิณก็โหดเหี้ยมเกินเบอร์มากๆ มีอีกกี่ชีวิตในเพื่อไทยหรือคนที่รักที่แบกคุณเขาจะโกรธแค้นอ่ะ งง มากจริง ๆ มึนสุด มันไม่ใช่การพูดหลอกการหาเสียงนะ มันคือคำสัตย์ที่สัญญาไว้

แด่ผู้รักลุง

มีแต่คนด่าเพื่อไทย แต่ถ้าพรรคของลุงมาร่วมกับเพื่อไทยจริง ๆ ผมก็ว่าน่าละอายมาก ๆ มากที่สุด มันไม่มีชัยชนะอะไรเลยนะ เราอยู่บนรัฐบาลที่ตั้งขึ้นด้วยกลอุบายตั้งแต่แรก จะรักกันร่วมกันบริหารเพื่อประเทศอย่างไรอ่ะ งงมาก ๆ อึนสุด ๆ นอกจากจะสะใจที่หลอกเพื่อไทยสำเร็จ การบริหารงานราชการช่างแม่ง

แด่ก้าวไกล

คุณไม่ใช่เทวดามาจากไหนนะ มันไม่มีเทวดาที่จะอยู่ในนรกได้ อยู่ในการเมืองไทยเป็นเทวดาไม่ได้เพราะมันคือนรกที่แฝงอำนาจที่หอมหวน จงเป็นมนุษย์ที่เข้าใจมนุษย์ที่กำลังอยู่ในนรก แบบประชาชน มนุษย์แบบก้าวไกลต้องมีจุดยืนที่น่ายกย่อง สัญญาไว้สามร้อยอย่างถ้าทำสำเร็จ 299 อย่าง พลาดข้อเดียวก็ยังดี น่าจะรู้ว่าข้อไหน และโปรดรังเกียจพรรคที่บอกว่ายังไงกูก็ไม่เอาก้าวไกลแบบเหมารวม มันไร้เหตุเกินไป

ใครไม่งง กูงงครับ ว่าเรามาถึงจุดตกต่ำอะไรได้ขนาดนี้

จากผมที่เป็นมนุษย์ที่อยู่ในนรกการเมืองไทย ทุกคนอยู่กลุ่มความเชื่อไหนก็ตามจะรู้สึกแย่หมด

สุหฤท สยามการเมืองไทยหมดศักดิ์ศรีสิ้นแล้ว

‘อ.ไชยันต์’ ชี้ ศาสดาทางการเมืองไม่ต่างจากพ่อค้ายา ใช้เด็กเป็นเครื่องมือ ตอบแทนแค่เศษเงิน

(9 ส.ค. 66) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Chaiyan Chaiyaporn’ ระบุว่า…

ผู้ที่ให้การสนับสนุน-อยู่เบื้องหลังเยาวชนที่ออกมาประท้วงด้วยอาการและอารมณ์ที่รุนแรง จนน่าเป็นห่วงสุขภาพจิตของพวกเยาวชนเหล่านั้น คือ ผู้ที่มีจิตใจอำมหิตมาก

ใช้ช่วงชีวิตและอนาคตของเด็กเป็นเครื่องมือไปสู่สิ่งที่พวกตนต้องการ โดยพวกตนเท่านั้น คือ ผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริง

ส่วนเด็กเหล่านั้น ได้แค่เศษ ที่ไม่มีวันคุ้มค่ากับช่วงชีวิตและอนาคตที่จะต้องเสียไป ผู้ที่ให้การสนับสนุน-อยู่เบื้องหลังนี้ ไม่ต่างจากพวกค้ายาเสพติดที่ทำให้เด็กติดยา แล้วใช้เด็กวิ่งยา ขายยาฯ

เด็กเหล่านี้ถูกทำให้ไม่เชื่อว่า จะมีใครที่จะดีหรือหวังดีต่อพวกเขาจริง ๆ นอกจาก ‘ผู้ที่ให้การสนับสนุนเหล่านั้น’

เด็กจะทำทุกอย่างเพื่อได้รับคำชมและค่าขนมจาก ‘ศาสดา’ ผู้ที่ทำตัวเป็นศาสดาทางการเมือง-ผู้นำมาซึ่งแสงอันเจิดจรัส ที่ทำให้เยาวชนได้ตาสว่าง ปลดปล่อยพวกเขาจากการถูกกดทับกดขี่ พวกศาสดาเหล่านี้ไม่ต่างจากพวกค้ายาเสพติด

'สมศักด์เจียม' โพสต์ 'ท่านอ้น' นัดกินข้าวคนในพรรคเพื่อไทย ด้าน 'ท่านอ้น' โพสต์แจง "ไม่เป็นความจริง ผมไม่ยุ่งการเมือง"

(10 ส.ค. 66) นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ปัจจุบันลี้ภัยที่ประเทศฝรั่งเศส โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

วันนี้ คุณอ้น วัชเรศร วิวัชรวงศ์ มีนัดกินข้าวกับคนในพรรคเพื่อไทย บริเวณย่านสุขุมวิท

ด้านท่านอ้น วัชรเรศร วิวัชรวงศ์ เมื่อได้เห็นโพสต์ดังกล่าว ก็ได้เข้ามาโพสต์แจง ว่า...

"ต้องกราบขอโทษครับ ไม่เป็นความจริงเลย ผมไม่ยุ่งกับเรื่องการเมือง"

หลังจากนั้น นายสมศักดิ์ ได้โพสต์เพิ่มเติมอีกว่า "คุณอ้น วัชเรศร วิวัชรวงค์ ปฏิเสธครับ"


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top