14 ล้านเสียงกา ‘ก้าวไกล’ ยังไม่พร้อมลงถนน เชื่อ!! ปชช. สนปากท้อง มากกว่าแตกแยก

(21 ก.ค. 66) นายปรเมษฐ์ ภู่โต สื่อมวลชนอาวุโส พิธีกร ผู้ประกาศข่าว รายการคุยถึงแก่น ได้ร่วมพูดคุยกับ นายพิชิต ไชยมงคล อดีตแกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ในเรื่อง ‘ปฏิกิริยามวลชน 14 ล้านที่เลือกก้าวไกล หลัง ‘พิธา’ ไม่ได้เป็นนายกฯ และท่าทีของมวลชน หากเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ’ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กไลฟ์ ‘คุยถึงแก่น’ 

>> ประเมินแรงกดดันนอกสภาจากกองเชียร์ของพรรคก้าวไกล คิดว่าจะมีทิศทางอย่างไร?

นายพิชิต ระบุว่า ผมต้องประเมินย้อนไปถึงตั้งแต่ยุคอนาคตใหม่ กรณีคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คล้ายคล้ายกรณีคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพราะเป็นคดีถือหุ้นสื่อเหมือนกัน ตอนนั้นคุณธนาธรออกมาแสดงความคิดเห็น (ข้อแก้ตัว) ทางคดีผ่านมวลชน ศาลตัดสินได้ไม่ถึงสัปดาห์ คุณธนาธรก็นัดมวลชนที่สวนจตุจักร มวลชนไปเยอะมาก แต่ตอนนั้นคุณธนาธร คุณช่อ และคุณปิยะบุตร ก็ไม่ได้ออกมานำมวลชน และไม่ได้มีเหตุการณ์อะไร

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ผมประเมินว่าสุดท้ายก็จะเป็นหนังม้วนเดิม พรรคก้าวไกลก็อาจจะถูกคดีคล้ายกับพรรคอนาคตใหม่ คีย์แมนคนสําคัญของพรรคก้าวไกลก็ไม่กล้าออกมานำมวลชนชุมนุม พรรคก้าวไกลนัดมวลชนให้ไปปกป้องคุณพิธาที่รัฐสภา แต่กลายเป็นว่ามวลชนไม่ออกไป มวลชนส่วนหนึ่งคนรุ่นใหม่ที่เป็นฐานสําคัญของพรรคก้าวไกล คนทํางาน คนรุ่นใหม่ ไม่มีใครออก ถ้าพูดกันตรงๆ ก็คือเป็นมวลชนนี้คือพี่น้องคนเสื้อแดงที่หันมาเชียร์คุณพิธามากกว่า 

หรือแม้กระทั่งเมื่อวันที่ 19 ก.ค.66 การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผมต้องใช้คําว่า ‘สอบไม่ผ่าน’ ถ้าดูจากคะแนนเสียงที่ถูกเคลมอ้างตลอดว่า 14 ล้านเสียงพร้อมจะออกมา พรรคก้าวไกลก็พยายามปั่นว่า ถ้าคุณพิธาไม่ได้เป็นนายก มวลชน 14 ล้านเสียงจะปิดบริษัทชุมนุม แต่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา ยืนยันว่าเป็นแค่คำขู่ 

มวลชน 14 ล้านเสียงที่เลือกก้าวไกล ไม่ใช่มวลชนที่พร้อมจะลงถนนทั้ง 14 ล้านคน ต้องมองแบบแยกแยะกันพอสมควร จะมาเคลมแบบก้าวไกลว่า 14 ล้านเสียงคือแรงผลักดันทางการเมืองที่พร้อมจะลงถนน ผมว่า ณ วันนี้ต้องประเมินกันใหม่ บางส่วนเขาไม่ได้พร้อมที่จะมาปกป้องคุณพิธา บางส่วนของ 14 ล้านเสียงที่เขาเลือกก้าวไกล เพราะเขาอาจจะเบื่อลุงก็ได้ หรือจะเพื่อการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่พร้อมจะลงถนน 

>> สาเหตุที่ 14 ล้านเสียงไม่ไปลงถนนชุมนุม มาจากกลุ่มแกนนำชุมนุมยังเป็นกลุ่มเดิมๆ เนื้อหาที่พูดก็ค่อนข้างสุดโต่งเกินไป ทำให้คนไม่ค่อยอยากสุงสิงหรือเปล่า?

นายพิชิต กล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่งครับ ผมถึงบอกตั้งแต่ต้นว่าถ้าจะให้จริงจังคุณพิธา คุณธนาธรต้องออกมานําเอง ผมว่ามวลชนจะเชื่อใจ คณะแกนนำชุมนุมต้องพูดเรื่องเดียวกับที่เกิดขึ้นในสภา อธิบายเนื้อหาว่าทําไมคุณพิธาไม่ได้ถูกเลือกเป็นนายก มีเนื้อหาอะไรบ้าง? มีการเล่นเกมโกงกันยังไง? รัฐธรรมนูญมีปัญหาอะไร? แต่เนื้อหาที่พูดบนเวทีกลายเป็นเรื่อง ม.112 ผมเชื่อว่ามวลชนเขาก็ไม่กล้าเสี่ยง เพราะกลัวคดี แต่หากอยากให้มวลชนออกมา คุณพิธา คุณธนาธรต้องออกมานำเอง อยู่ที่ว่าพวกเขากล้าหรือเปล่า

>> ประเมินธนาธร ซึ่งเป็นประธานคณะก้าวหน้า กล้าถือไมค์อยู่บนหลังรถกระบะนําคนเป็นพัน เป็นหมื่นพร้อมจะโดนคดี เขาจะกล้าไหม?

นายพิชิต ให้ความเห็นว่า ให้ประเมินตอนนี้ผม ผมฟันธงได้เลยว่า ‘ไม่กล้า’ ถ้าเป็นการชุมนุมแบบเดิมคือ ปักหลักยืดเยื้อขึ้นบนรถหลังเวที นอนพักค้างคืน แบบนี้เขาไม่กล้าแน่ หรือถ้าเอาแบบใหม่ แบบที่เขาถนัดคือมาแล้วกลับ ผมก็ยังฟันธงว่า ‘เขาไม่กล้า’ เพราะการชุมนุมมันมีผลแห่งการรับผิดชอบมวลชนเยอะพอสมควร ฟันธงว่าทั้งคุณธนาธรและคุณพิธาก็ไม่กล้า

>> หากพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคก้าวไกล จะเจอแรงคนกดดันจากกองเชียร์พรรคก้าวไกลแค่ไหน? แล้วทางกองเชียร์เพื่อไทยจะหนุนหลังพรรคเพื่อไทยมากน้อยแค่ไหน?

นายพิชิต กล่าวว่า ถ้าเพื่อไทยมีนโยบายเรื่องปากท้องเพื่อพี่น้องประชาชน เชื่อว่ามวลชนจะไม่ออกมา เพราะต้องยอมรับว่าประชาชนเหนื่อยกับการชุมนุม ประเทศไทยมีการชุมนุมมา ในช่วง 20 ปีก็หลายครั้งชุมนุมใหญ่ก็หลายหน มวลชนจะเหนื่อยกับการชุมนุม คณะราษฎร์ก็มีการชุมนุมใหญ่มาแล้ว มีการเคลื่อนไหว มวลชนออกมาค่อนข้างเยอะ แล้วจะกล้าไหมที่จะออกมาแค่ปกป้อง ‘พิธาหรือพรรคก้าวไกล’ 

ผมว่าถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลร่วมกับพรรคอื่น สิ่งที่ต้องคํานึงให้มากที่สุดคือ การแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชน เอานโยบายที่สามารถจับต้องได้ แก้ปัญหาของพี่น้องได้ เรื่องปากท้อง เรื่องแรงงาน เรื่องชาวนา เชื่อว่าประชาชนจะอินกับการแก้ปัญหามากกว่าที่จะออกมาเคลื่อนไหวบนถนน 

แน่นอนว่าอาจจะมีการโวยวายในโลกโซเชียล ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่คนที่จะออกมาเคลื่อนไหว ผมคิดว่า มันจะถูกลดทอนด้วยการทํางาน เอาการทํางานมาเป็นตัวพิสูจน์ ถึงแม้เราจะไม่ค่อยไว้ใจเพื่อไทยเท่าไหร่ แต่ในการจับขั้วรัฐบาลอย่างน้อยมันก็ต้องมีรัฐบาลในการบริหารประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็แล้วแต่ ถ้าคํานึงถึงผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก การชุมนุมมันจะไม่มีเหตุผลอะไรเลย เพราะเกมการเดินหน้าการแก้ปัญหาของประเทศยังเดินอยู่ ผมคิดว่าคนที่คิดออกมาชุมนุมก็ต้องเลือกระหว่างจะ ‘ทําให้ประเทศเดินหน้า’ หรือว่าจะเอามาชุมนุม ‘เพื่อสิ่งที่ตัวเองต้องการ’

>> ประชาชนคนทั่วไป ที่ทำงานหาเช้ากินค่ำ ผ่านช่วงที่เศรษฐกิจบอบช้ำ สงครามรัสเซีย-ยูเครน คนก็คงไม่อินกับการไปม็อบ ใช่ไหม?

นายพิชิต กล่าวว่า ประเมินจากพรรคก้าวไกล กรณีคุณพิธาที่โดน กกต. โดนศาลรัฐธรรมนูญ ถ้ามวลชนเยอะจริงอย่างที่พูดในโซเชียล ผมว่ามวลชนจะออกเยอะกว่านี้ แต่ที่นัดชุมนุมใหญ่ที่ผ่านมาหลายครั้ง คนไม่ออกนะ ดังนั้นผมมองว่าแม้เขาจะชอบก้าวไกล แต่เขายังไม่พร้อมที่จะลงถนนแบบแตกหัก บางส่วนก็คิดว่าประเทศบอบช้ำจากการชุมนุม และคนก็ต้องทำมาหากิน เขาก็ไม่ลงถนน อีกฝั่งก็คิดว่าที่คุณพิธาเป็นแบบนี้ก็เพราะไม่จัดการตัวเองเรื่องถือหุ้นสื่อ มันก็ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ เรื่องพวกนี้จะทำให้คนไม่อิน

ในอนาคต ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนําจัดตั้งร่วมกับพรรคอื่น แต่ถ้าบริหารจัดการนโยบายดี ๆ ผมคิดว่าคนพร้อมอยากให้รัฐบาลใหม่มาแก้ไขปัญหาของประเทศ มากกว่าที่จะออกมาชุมนุม

>> หากเปรียบการเมืองไทยเป็นสามก๊ก มีเพื่อไทย ก้าวไกล และ ฝั่ง กปปส. รวมกับพันธมิตร คิดว่ามวลชนกลุ่มที่ไม่ได้เชียร์เพื่อไทย หรือก้าวไกล จะออกมาเคลื่อนไหวด้วยเหตุผลอะไร?

นายพิชิต กล่าวว่า จุดแตกหักของมวลชนคงจะเป็นเรื่อง 112 ที่หลายคนกังวล มีโอกาสที่จะทําให้พันธมิตรเดิม หรือ กปปส. เดิม กลุ่มที่เคยออกมาปกป้องสถาบันได้ขยับอีกครั้งหนึ่ง แน่นอนว่าการขยับอาจจะไม่ใช่การแสดงพลังชุมนุมใหญ่ แต่มันจะไปกระตุ้น ให้เกิดการตื่นตัวและการเคลื่อนไหวออกมา ผมว่ามีปมเดียวคือเรื่อง 112 ยกเว้นกรณีคุณทักษิณจะกลับมา ซึ่งหลายคนก็เฝ้าจับตามอง จะกลับมาในลักษณะไหน มาแล้วต้องเคารพกฎหมาย ถ้าไม่เคารพกฎหมาย นี่อาจจะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะทําให้ กลุ่มที่เคยต่อต้านคุณทักษิณได้กลับมาแสดงพลังอีกรอบ

>> คิดว่าจะเป็นโอกาสทองในการก้าวข้ามความขัดแย้งของคนในสังคมหรือไม่?

นายพิชิต กล่าวว่า ที่จริงเรื่องความปรองดองเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันมาตั้งนานแล้ว แกนนำหลายท่านก็เคยมานั่งคุยกัน แต่การปรองดองก็ต้องมีเงื่อนไข ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะบอกว่าปรองดองหมด หากปรองดองภายใต้เงื่อนไขทางการเมือง สามารถเกิดขึ้นได้ อยู่ที่รัฐบาลจะกล้าหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยกันให้จริงจังขนาดไหน 

>> เมื่อถามว่า หากเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะเกิดการพูดคุยเรื่องการปรองดองหรือไม่?

นายพิชิต กล่าวว่า เพื่อไทยก็จะถูกจับตามองเรื่องคุณทักษิณ ขยับตัวยาก จึงต้องเป็นรัฐบาลที่หลายฝ่ายยอมรับ แต่ทุกวันนี้ก็ระแวงกันอยู่พอสมควร ดังนั้นต้องใช้ตัวเนื้อหาเป็นต้นแบบในการพูดคุย และให้สังคมได้ร่วมวิพากย์วิจารณ์กัน