‘ด้อมการเมือง’ ผลิตผลจากนักการเมืองหิวแสง หน่วยพิทักษ์สุดคลั่ง หนักถึงขั้นถวายชีวิต

‘Political Fandom’ หรือปรากฏการณ์แฟนด้อมการเมือง ที่เริ่มมีส่วนร่วมในการเมืองสมัยใหม่นั้น เริ่มถูกพูดถึงในวันที่ ‘นักการเมือง’ ไม่ใช่แค่บุคคลที่มีชื่อเสียง แต่เริ่มกลายเป็นบุคคลที่มีผู้คนตาม ‘กรี๊ด’ 

มีบางคำถามผุดขึ้นมาว่า ‘นักการเมือง’ ควรอยู่ในสภาพของการให้ความสำคัญแบบที่ ศิลปิน ดารา นักร้อง นักกีฬา ได้รับกันหรือไม่? เพราะนักการเมืองถือเป็นบุคคลที่ต้องคงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือ สุขุม หรือจะพูดแบบตรงๆ ก็คือ ต้องทำตัวให้แตะต้องยากหน่อย 

>> เรื่องนี้ เดี๋ยวมีคำตอบ!! แต่ก่อนอื่นอยากให้ลองทำความเข้าใจกันก่อนว่า แฟนด้อมการเมืองมันคืออะไร? และเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

ต้องยอมรับก่อนว่า ในวันที่โซเชียลมีเดีย มีอิทธิพลต่อการถ่ายทอดตัวตนของใครก็ได้ในโลกให้คนทั้งโลกได้รู้จักตัวเองและสินค้าบริการของตน เนื่องจากมันประหยัดตังค์มากกว่า การนำเงินก้อนโตไปโอ๋สื่อช่องใหญ่ ที่จ่ายไปก็อาจจะได้ยอดคนรับรู้กลับมาแค่น้อยนิดนั้น ทำให้ทุกวงการ ศิลปิน ดารา นักร้อง นักกีฬา หรือแม้แต่ประชาชนคนธรรมดา เริ่มขยายขอบเขตความรู้จักของตนได้กว้างขึ้นผ่านช่องทางนี้

โลกของการเมือง ก็ไม่ต่างกัน ไอ้ที่จะใช้หัวคะแนน หรือเอาเงินไปหว่านแห่ซื้อแบบแต่ก่อน มันก็ไม่ค่อยได้ผล เพราะจ่ายไป ใช่ว่าคนจะเลือก หรือจะรัก

ดังนั้นนักการเมืองในทศวรรษใหม่ จึงแปลงร่างตัวเองเป็น ‘นักการเมืองแบบเซเลบริตี้’ (Celebrity Politics) ที่เค้นคุณสมบัติที่สร้างแรงกระเพื่อมต่ออารมณ์คนติดตามได้ดี เช่น ภาพลักษณ์ที่ดี คำพูดคมๆ การสร้างตัวตนที่สะท้อนถึงการเป็นคนร่วมสมัย เอาใจคนรุ่นใหม่ และต่อต้านสิ่งที่กระแสสังคมโดยรวม โดยเฉพาะในโลกออนไลน์กำลังต่อต้าน อารมณ์ว่า แสงอยู่ไหน ฉันอยู่นั่น สถานการณ์ใด กิจกรรมใดที่กำลังป็อบปูลาร์ในสังคม จะต้องมีฉันไปยืนอยู่ท่ามกลาง และไม่จำเป็นต้องใช้เงินหว่านตรงๆ ให้คนมาติดตาม แต่อาจจะส่งเงินไปเปลี่ยนเป็นความงามทางภาพลักษณ์ในรูปแบบของการใช้สื่อ เพื่อกระพือความนิยมของตนเอง

ทีนี้ ลองมาดูคำจำกัดง่ายๆ ของแฟนด้อมการเมือง กันสักนิด ความหมายของมันก็คือ กลุ่มแฟนคลับของนักการเมืองและ/หรือแคมเปญทางการเมืองก็ได้ ซึ่งลักษณะมันก็จะคล้ายๆ กับแฟนด้อมของป๊อปคัลเจอร์ทั่วไป เช่น แฟนด้อมศิลปินเกาหลี แฟนด้อมซีรีส์ หรือแม้แต่แฟนด้อมทีมกีฬา 

>> ข้อดีของการมีแฟนด้อม คืออะไร?
แต่ละแฟนด้อม มักจะมีพื้นที่ไว้แลกเปลี่ยนพูดคุยถึงเรื่องของแต่ละแฟนด้อมเอง เรียกภาษาชาวบ้านก็ ‘ชุมชน’ (Community) นั่นแหละ โดยแต่ละชุมชนของแฟนด้อม มักจะมีการหยิบเรื่องราวมุมดีๆ ของคนดังนั้นๆ มาเผยแพร่ เช่น รูปภาพสวยๆ ข่าวสารอัปเดต รวมถึงกิจกรรมที่คนดังนั้นๆ ไปทำ ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็อย่างวงฮอต BlackPink หรือแม้แต่ตัว ‘ลิซ่า’ ศิลปิน BlackPink เอง ที่ด้อมนั้นพร้อมจะปั่นทั้ง Hashtag และแชร์เรื่องราวดีๆ ให้แบบตัวคนดังนั้นๆ แทบไม่ต้องไปทำอะไรเลย ขอแค่คนดังนั้นๆ ตอบสนอง และลงมาโปรยยาหอม โบกมือให้ กอดนิดกอดหน่อย มอบลายเซ็น หรือพาตัวเองไปหา ‘ด้อมต้นทาง’ เพื่อสร้างความประทับใจ รัก หลง แบบตราตรึง สักนิด ที่เหลือ ‘ด้อมต้นทาง’ ก็จะไปสร้าง ‘ด้อมเครือข่าย’ ต่อให้ ยังกะแชร์ลูกโซ่ ขยายใหญ่จนกลายเป็นความเหนียวแน่นแบบโงหัวไม่ขึ้น

>> เทคนิคปั้น ‘แฟนด้อมทางการเมือง’!!
บริบทของแฟนด้อมการเมือง ก็ไม่ได้แตกต่างกันกับด้อมกลุ่มอื่นๆ แต่มันจะมีตัวแปรอยู่ที่บรรดา ‘นักการเมืองแบบเซเลบริตี้’ ที่ใช้เทคนิคของการสร้างแฟนด้อมการเมือง ซึ่งถ้าจะให้อธิบายอย่างง่ายที่สุด ก็คงเป็นการพา ‘การเมือง’ เข้าไปผูกกับสิ่งที่คนสนใจ เช่น บันเทิง กีฬา ไลฟ์สไตล์ โดยเน้นการสื่อสารและใช้เทคนิคทางการตลาดในการเพิ่มชื่อเสียงและอำนาจทางการเมืองให้แก่ตัวเอง อาทิ การชักชวนดารา นักแสดงมาช่วยโปรโมตแคมเปญทางการเมือง เน้นขายรูปลักษณ์ ภาพลักษณ์ของนักการเมืองแทนนโยบายพรรค การหันไปออกรายการวาไรตี้เพื่อพูดคุยเรื่องอื่นที่ไม่ใช่การเมืองมากขึ้น หรือแม้แต่การที่ดาราผันตัวเป็นนักการเมืองโดยใช้ชื่อเสียงของตัวเองมากรุยทางการเมือง

ตัวอย่างนักการเมืองที่หันมาทำการเมืองแบบนี้ชัดมากๆ จนถูกเรียกว่า นักการเมืองแบบเซเลบริตี้ (Celebrity Politician) ก็มีให้เห็นทั่วโลกอย่าง แต่ขอยกคร่าวๆ เช่น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา (Barack Obama) ที่พาตัวเองเข้าไปอยู่กับตลาดนักกีฬาอย่างวงการบาส NBA หรือแม้แต่อดีตนักแสดงชื่อดัง อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ (Arnold Schwarzenegger) ที่เอาความเป็นดาราของตัวเองชูเชิดจนผันตัวมาเป็นผู้ว่าการรัฐฯ ได้

>> การเมือง = การแสดง
ทีนี้กลับมาตอบ คำถามที่ค้างไว้ข้างต้น…เพราะความเบื่อหน่ายในการเมืองเก่า ของคนรุ่นใหม่ทั่วโลกนี่แหละ ที่เป็นแรงเร้าให้นักการเมืองเริ่มหันมาปรับตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการวางตัวที่คนทั่วไปมักจะมองว่า นักการเมืองเข้าถึงได้ยาก เหินห่าง ไม่ค่อยรับฟังและตระหนักถึงความเดือดร้อนของมวลชน ดังนั้นเพื่อดึงดูดคนให้กลับมาสนใจการเมืองมากขึ้น นักการเมือง จึงต้องหันมาแข่งขันกันอย่างหนัก โดยอาศัยการใช้โซเชียลมีเดีย และการเสนอภาพลักษณ์ของตัวเองให้แตกต่างจากภาพลักษณ์นักการเมืองแบบเดิมๆ ให้มากที่สุด จึงเกิดเป็นภาพนักการเมืองแบบใหม่ แบบเซเลบรีตี้ที่เน้นภาพลักษณ์ที่เข้าถึงง่าย มีมุมชิลๆ ขายความเป็นตัวเองมากขึ้นอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้

จากจุดนี้เอง ที่พอจะทำให้สรุปได้ว่าการเมืองในปัจจุบัน เริ่มกลายเป็นเรื่องของ ‘การแสดง’ ไปแล้ว กล่าวคือนักการเมืองกลายเป็นดารา ส่วนมวลชนก็กลายเป็นผู้ชมโดยสมบูรณ์

>> ผลดี-ผลเสีย ‘แฟนด้อมการเมือง’ ต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบใหม่
คำถามใหญ่ที่หลายคนคงติดใจ แล้วเอาเข้าจริงๆ แฟนด้อมการเมือง คือ ผลผลิตของผู้คนที่อยากมีส่วนร่วมทางการเมืองแท้จริงแค่ไหน? หรือเป็นเครื่องมือทางการเมืองของนักการเมืองเซเลบริตี้...คำตอบนี้เชื่อว่าผู้อ่านคงมีอยู่ในใจ...

แต่หากให้มองผลดีของเรื่องนี้ คือ การมีอยู่ของแฟนด้อมการเมือง ได้ส่งผลให้มวลชนที่เลิกสนใจการเมืองหรือไม่เคยสนใจการเมืองเดิม เริ่มหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น เนื่องจากชุมชนของแฟนด้อมมักใช้ภาษาที่เข้าถึงหมู่คนได้มากกว่า เช่น บทความสรุปนโยบายต่างๆ วิดีโอไฮไลต์งานปราศรัย และมีมนักการเมืองต่างๆ รวมไปถึงการเป็นแฟนด้อมการเมืองยังส่งผลต่อการแสวงหาข้อมูลและข่าวสารทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ แฟนด้อมการเมืองยังส่งผลดีต่อการเรียนรู้วัฒนธรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ เนื่องจากแฟนด้อมเป็นการรวมตัวของคนที่มีความสนใจเดียวกัน ไม่ได้เกิดจากสายสัมพันธ์ดั้งเดิม เช่น เพื่อน คนรู้จัก หรือ ครอบครัว จึงช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในการเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น ผ่านการมีส่วนร่วมในชุมชนหรือแฟนด้อม การเป็นอาสาสมัครในกิจกรรมต่างๆ การวางแผนยุทธศาสตร์ และการแสดงความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะ

แต่...ในทางกลับกัน ผลกระทบเชิงลบที่น่ากังวล คือ แฟนด้อมการเมือง จะกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดด้อยค่าการเมืองหรือไม่ เรื่องนี้น่าห่วง เพราะบางครั้งการมุ่งความสนใจไปที่ตัวนักการเมืองคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว อาจจะทำให้ประเด็นทางการเมืองหรือนโยบายของพรรคถูกมองข้ามไป ซึ่งเรื่องนี้ก็อยากให้ผู้อ่านลองตอบข้อสงสัยนี้ดูอีกข้อว่าจริงเท็จแค่ไหน?

ท้ายสุด ขอบเขตของแฟนด้อมการเมือง จะมีจุดสิ้นสุดที่ตรงไหน จะขยายไปจนเริ่มหาแก่นสารไม่ได้ เช่น เริ่มจับนักการเมืองด้วยกันเองไปจิ้นบ้างหรือไม่ หรือแฟนด้อมควรมอง นักการเมือง พรรคการเมือง อุดมการณ์พรรคการเมือง นโยบายพรรคการเมือง และความถูกต้องในสังคมแบบใด? 

เรื่องนี้คงต้องรอวันเวลามาช่วยตอบ เพียงแต่สิ่งที่โคตรน่าห่วงในตอนนี้ คือ หากจะเปรียบการส่งมอบความรัก ความรู้สึก การตามติด การเก็บหอมรอมริบเงินทอง หรือหาซื้อสิ่งของมากองให้คนดังอันเป็นที่รักของเหล่าแฟนด้อมสายอื่นๆ… ‘เหล่าด้อมการเมือง’ ที่ถูกปลุกปั่นจนสุกงอม อาจจะพร้อมมอบ ‘ชีวิต’ ให้กับอุดมการณ์ที่ ‘นักการเมืองเซเลบฯ’ ชี้นำไปได้ไม่ยาก

อันนี้น่าห่วง...

และมันก็ไม่ใช่เรื่องเกินจริงในสังคมตอนนี้ด้วย…