Sunday, 19 May 2024
กระทรวงพลังงาน

รู้จัก ‘พลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค’ ผู้บุกเบิกกิจการด้านพลังงานของไทย บิดาของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รมว.กระทรวงพลังงาน คนปัจจุบัน

ชื่อ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ที่ปรากฏในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของ ครม. ชุดใหม่อาจเป็นเซอร์ไพรส์ทางการเมืองที่หลายคนคาดไม่ถึง แต่สำหรับผู้ที่ติดตามแนวคิดและแนวทางของพรรครวมไทยสร้างชาติมาตลอดย่อมทราบดีว่า ‘พีระพันธุ์’ เคยนำเสนอหลักคิดและนโยบายด้านพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้กลไกด้านกฎหมายที่เขาเชี่ยวชาญมาปรับปรุงโครงสร้างด้านพลังงานของประเทศให้มีประสิทธิภาพและสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ประชาชน เช่น นโยบายการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรีเพื่อลดราคาน้ำมัน เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น ‘พีระพันธุ์’ ยังมีพื้นฐานชีวิตที่เกี่ยวข้องกับผู้บุกเบิกกิจการพลังงานในอดีต ซึ่งมีส่วนปลูกฝังตัวตนของเขาในปัจจุบัน

ในอดีต คุณพ่อของเขา ‘พลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค’ ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกกิจการด้านพลังงานของไทย โดยดำรงตำแหน่งเจ้ากรมการพลังงานทหาร และผู้อำนวยการองค์การเชื้อเพลิง สังกัดกระทรวงกลาโหม ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเร่งรัดพัฒนาประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเป็นผู้บุกเบิกก่อสร้าง ‘โรงกลั่นน้ำมัน’ แห่งแรกของประเทศไทย ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2502 

และเป็นผู้ก่อตั้งปั๊มน้ำมัน ‘สามทหาร’ เพื่อจำหน่ายน้ำมันที่ขุดและกลั่นได้เองจากโรงกลั่นน้ำมันที่อำเภอฝางให้ประชาชนใช้ในราคาถูก และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมสมัยใหม่ในประเทศในเวลาต่อมา โดยรัฐบาลสมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้แปรสภาพองค์การเชื้อเพลิงและปั๊มน้ำมันสามทหารให้กลายมาเป็น ‘การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย’ ซึ่งกลายมาเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน

พลโทณรงค์ฯ เข้าดำรงตำแหน่งเจ้ากรมการพลังงานทหารและรักษาราชการผู้อำนวยการองค์การเชื้อเพลิงในปี พ.ศ. 2497 ก่อนดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเชื้อเพลิงเต็มตัวในปีถัดมา ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังเตรียมเจรจายกเลิกข้อผูกพันหลังสงครามที่ทำไว้กับบริษัทต่างชาติอย่างเสียเปรียบ โดยในข้อผูกพันดังกล่าวนั้นได้กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทน้ำมันต่างชาติซึ่งเป็นบริษัทในเครือของประเทศผู้ชนะสงคราม สามารถเข้ามาทำการค้าขายน้ำมันในประเทศไทยได้อย่างเสรี และผูกขาดการขายน้ำมันให้แก่รัฐบาลไทย ขณะที่รัฐบาลไทยไม่สามารถทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันและไม่สามารถจำหน่ายน้ำมันให้แก่หน่วยงานราชการและประชาชน ยกเว้นในกิจการทหาร

ต่อมารัฐบาลไทยสามารถเจรจาต่อรองปรับแก้สัญญาให้คนไทยสามารถเปิดดำเนินกิจการน้ำมันได้เองเช่นเดียวกับบริษัทต่างชาติ โดยมีพลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค บิดาของ ‘พีระพันธุ์’ เป็นทั้งบุคลากรหลักในการเจรจาและเป็นทั้งผู้การวางรากฐานให้องค์การเชื้อเพลิงเป็นผู้ดำเนินการจัดหาและกลั่นน้ำมัน รวมทั้งดำเนินธุรกิจบริการน้ำมันเชื้อเพลิงให้ประชาชนในราคาถูกภายใต้ชื่อว่า ‘ปั๊มสามทหาร’ โดยต่อมา ‘องค์การเชื้อเพลิง’ และ ‘ปั๊มสามทหาร’ ก็ได้แปรสภาพมาเป็น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และกลายมาเป็น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ส่วน ‘ปั๊มสามทหาร’ ทั้งหมด ก็กลายมาเป็น ‘ปั๊ม ปตท.’ ในปัจจุบัน

รัฐบาลไทยในขณะนั้นยังได้เชิญภาคเอกชนมาร่วมทำการสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียม และกลั่นน้ำมันในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง ซึ่งถือเป็นยุคบุกเบิกอุตสาหกรรมปิโตรเลียมสมัยใหม่ในประเทศ

เมื่อรัฐบาลไทยในช่วงเวลาดังกล่าวได้เข้ามาดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมอย่างจริงจัง พลโทณรงค์ฯ จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในนามของกรมการพลังงานทหารและองค์การเชื้อเพลิงในกิจการพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะการขุดเจาะน้ำมันที่เริ่มต้นเป็นครั้งแรกของประเทศที่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันดิบแห่งแรกที่พบในประเทศไทย 

โดย พลโทณรงค์ฯ เป็นผู้ลงมือคุมการดำเนินการและการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของประเทศที่อำเภอฝางด้วยตนเอง จนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม นำความภาคภูมิใจมาให้คนไทยและกองทัพไทยอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ผลักดันให้เกิดการตื่นตัวเรื่องจัดหาและพึ่งพาทรัพยากรพลังงานในประเทศ จนพัฒนาไปสู่การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทยในปัจจุบัน

ในระหว่างการบุกเบิกการขุดเจาะน้ำมันที่อำเภอฝาง พลโทณรงค์ฯ ยังได้ถวายการต้อนรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรกิจการของหน่วยสำรวจน้ำมันอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และทรงประทับแรม ณ พระตำหนัก ในบริเวณโรงกลั่นน้ำมันฝาง เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2501 ด้วย

ด้านชีวิตส่วนตัว พลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค เกิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2452 เป็นบุตรชายของ พระยาสาลีรัฐวิภาค และ คุณหญิงขนิฐา สาลีรัฐวิภาค จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และได้เข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จเตรียมแพทย์รุ่นเดียวกับ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว โดยเขาเลือกที่จะไม่ศึกษาต่อด้านการแพทย์ แต่สอบทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อ ณ ประเทศฟิลิปปินส์ จนได้รับปริญญาตรีด้านการประมงและด้านสัตววิทยา

หลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ พลโทณรงค์ฯ ได้เข้ารับราชการในกองการประมง กระทรวงเกษตราธิการ ก่อนขอโอนย้ายไปเป็นข้าราชการทหาร และได้ใช้ความสามารถช่วยเหลือราชการในการเจรจาการค้ากับต่างประเทศในยุคที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะปัญหาการค้าข้าวและน้ำมัน จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี รักษาการผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และ รักษาการปลัดกระทรวงเศรษฐการ และต่อมามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเศรษฐการ (ปัจจุบันคือกระทรวงพาณิชย์) ก่อนโอนมาดำรงตำแหน่งเจ้ากรมการพลังงานทหาร และ ผู้อำนวยการองค์การเชื้อเพลิงที่ดูแลเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ ตั้งแต่ยุคสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนถึงยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 

จากนั้นจึงย้ายไปช่วยปฏิบัติราชการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเมื่อ พ.ศ. 2509 จนเกษียณอายุราชการ ภายหลังเกษียณอายุ พลโทณรงค์ฯ ยังรับเป็นอาจารย์พิเศษในภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยไม่รับเงินเดือนด้วย

ด้านชีวิตครอบครัว พลโทณรงค์ฯ สมรสกับ นางโสภาพรรณ (สกุลเดิม สุมาวงศ์) บุตรีพระมนูเวทย์วิมลนาถ และคุณหญิงแฉล้ม มนูเวทย์วิมลนาถ มีบุตรธิดา 5 คน โดย ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ เป็นบุตรคนที่ 4

‘พีระพันธุ์’ เคยเล่าถึงแนวคิดและทัศนคติของคุณพ่อของเขาว่า “คุณย่าเคยเล่าเรื่องคุณพ่อสมัยหนุ่ม ๆ บางวันคุณพ่อกลับบ้านมาเท้าเปล่า คุณย่าก็ถามถึงรองเท้าเพราะนึกว่าคุณพ่อไปลืมไว้ คุณพ่อตอบว่า ไม่ได้ลืมที่ไหน แต่ตอนขับรถกลับบ้าน เห็นคนแก่เดินข้างถนน ไม่มีรองเท้าใส่ ก็เลยถอดให้เค้าไป...คุณพ่อคอยปลูกฝังผมกับลูก ๆ ทุกคนมาตลอดว่า เรามีความรู้ เรามีโอกาสที่ดีกว่าคนอื่น เราต้องเอาความรู้ เอาโอกาสของเราไปช่วยเหลือคนอื่น ถ้าหากว่าเราเอาแต่ตัวเราคนเดียว สุดท้ายเราอยู่คนเดียวไม่ได้ เราต้องแบ่งปันช่วยเหลือคนอื่นด้วย คุณพ่อจะสอนเราแบบนี้และเป็นแนวทางที่คุณพ่อรับมาจากคำสอนของคุณปู่อีกที...คุณพ่อเป็นคนที่ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศจริง ๆ ผมไม่เคยเห็นวันไหนที่คุณพ่อไม่ทำงาน ผมเคยถามว่า พ่อไม่นอนเหรอ? คุณพ่อบอกว่า พ่อยังทำงานไม่เสร็จ ผมถามว่า พ่อทำอะไร? คุณพ่อตอบว่า ทำงานให้บ้านเมือง”

นอกจากการปฏิบัติหน้าที่และสร้างผลงานอันเป็นคุณูปการต่อแผ่นดินไทยไว้มากมายแล้ว พลโทณรงค์ฯ ยังได้ถ่ายทอดสปิริตของการทำงานเพื่อบ้านเมืองและการช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาสไว้ให้ทายาทรุ่นหลังอย่าง ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ได้ทำหน้าที่สานต่อสืบไปด้วย

เจ้ากระทรวงพลังงานคนใหม่นี้จึงน่าจับตาอย่างยิ่ง! 

‘พีระพันธุ์’ สั่งตรึงก๊าซหุงต้ม 423 บ./ถัง 15 กก.อีก 3 เดือน ไฟเขียว!! คงสัดส่วนผสมดีเซลบี 7 ช่วยลดภาระรายจ่าย ปชช.

(15 ก.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 ก.ย. 66 ให้คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) หรือ ก๊าซหุงต้มที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เพื่อให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กก. ต่อไปอีก 3 เดือน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2566

โดยมาตรการดังกล่าว จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) บริหารราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ที่ประชุม กบง.ยังมีมติเห็นชอบให้คงสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วให้เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ต่อไปอีก 3 เดือน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2566

โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ออกประกาศ ธพ. เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่…) พ.ศ. 2566 ให้สอดคล้องกับการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล และมอบหมายให้กระทรวงพลังงานประสานฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) นำเสนอการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล

ทั้งนี้ กบง.อาจมีการทบทวนสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล ในน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วให้มีความเหมาะสม หากสถานการณ์น้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศปรับลดลง และสต็อกน้ำมันปาล์มดิบมีแนวโน้มสูงขึ้นภายหลัง

‘พีระพันธุ์’ เตรียมลดราคาน้ำมันเบนซิน ระบุ!! ให้ทันสิ้นปีเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 

(18 ก.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีจะมีการหารือเรื่องมาตรการการปรับลดราคาน้ำมันเบนซินหรือไม่ ว่า จะมีการหารือเรื่องราคาน้ำมันเบนซิน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งจะพยายามลดให้ทัน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน แต่จะเน้นไปที่กลุ่มเปราะบางก่อน โดยจะเร่งคุยกับกรมธุรกิจพลังงาน ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (19ก.ย.) จะไปหารือกับกรมศุลกากร

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า จากการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีปัญหาในเรื่องของน้ำมันและไฟฟ้าต่างกัน ซึ่งไฟฟ้ามีคณะกรรมการต่างๆ คอยกำกับดูแลอยู่ แต่น้ำมันกลับไม่มีการกำกับดูแล อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐ ก็ไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจดูเรื่องต้นทุน

แม้ในภาพใหญ่ก็พบว่าเกิดจากต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่ทราบว่าต้นทุนที่ขึ้นมีอะไรบ้าง และขึ้นจริงหรือไม่ โดยตรงนี้จะต้องหาแนวทางแก้ไขตามอำนาจของหน่วยงานรัฐในการกำกับดูแลต่อไป 

“น้ำมันเป็นสินค้าพิเศษ ประเภทอุปโภคบริโภคธรรมดา เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของคน และเกี่ยวกับต้นทุนสินค้าต่างๆ รวมถึงเป็นเรื่องของความมั่นคง เพราะฉะนั้นน้ำมันเป็นสินค้าพิเศษ ต้องกำหับดูแลที่รอบคอบรัดกุม และต้องได้ข้อมูลที่ถูกตัองมากกว่านี้” นายพีรพันธุ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า การลดราคาน้ำมันเบนซินจะต้องเกิดขึ้นภายในปีนี้ โดยจะพยายามทำให้โครงสร้างมีความถูกต้องมากขึ้น

‘พีระพันธุ์’ ถก ‘กรมศุลฯ’ ถอดสูตรต้นทุนนำเข้าน้ำมัน เร่งหาช่องทางลดราคา หวังช่วยเกษตรกร-ภาคขนส่ง

(19 ก.ย. 66) ที่กรมศุลกากร นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเดินทางเข้าหารือกับ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เกี่ยวกับข้อมูลการนำเข้าน้ำมันของไทย ว่า ที่มาเข้าพบกรมศุลกากรเพราะต้องการข้อมูลการนำเข้าน้ำมันที่แท้จริงทั้งหมด ตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งกรมศุลฯ จะมีรายละเอียดข้อมูลการนำเข้าน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป เพื่อทำความเข้าใจรายละเอียดโครงสร้างราคาพลังงานไปจัดทำมาตรการดูแลราคาพลังงานให้เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม แม้ครั้งนี้ยังไม่ได้รายละเอียดทั้งหมด แต่ได้ข้อมูลระดับหนึ่ง เพราะกระทรวงพลังงานแม้เป็นผู้กำหนดนโยบายแต่กลับไม่มีข้อมูล จึงจำเป็นต้องมาดูต้นทุนผู้ประกอบการว่าต้นทุนจริงอยู่ส่วนใด ถือเป็นการทำงานระหว่างหน่วยงานราชการแบบสอดประสานกัน

นายพีรพันธุ์ กล่าวว่า “หากได้ข้อมูลทั้งหมดแล้วจะจัดทำมาตรการลดราคาน้ำมันพิเศษให้เฉพาะกลุ่ม อาทิ เกษตรกร ภาคขนส่ง เช่นเดียวกับกลุ่มประมงที่มีน้ำมันเขียวที่ราคาน้ำมันถูกกว่าน้ำมันทั่วไป โดยจะเร่งสรุปมาตรการให้เร็วที่สุด รวมทั้งจะนำไปปรับโครงสร้างราคาพลังงานระยะยาว เพื่อให้ราคาพลังงานเหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชน ยืนยันว่าจะไม่เป็นภาระของประชาชนในอนาคตตามข้อกังวลของนักวิชาการ”

อีกทั้งยังกล่าวว่า สำหรับนโยบายการเปิดนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรี ยืนยันไม่ได้ทำในเชิงการค้า แต่เป็นการเปิดโอกาสให้บางกลุ่มนำเข้านำน้ำมันสำเร็จรูปได้เอง อาทิ ภาคขนส่ง หากรวมตัวกันหาแหล่งซื้อน้ำมันสำเร็จรูปที่มีราคาถูกกว่าจะช่วยลดต้นทุนขนส่งถูกลง

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการลดค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปี (กันยายน-ธันวาคม2566) ให้เหลืออัตรา 3.99 บาทต่อหน่วย ขณะนี้ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปพิจารณาด้วยการยืดหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกไปอีกจากเดิมจะชำระคืนหนี้ 5 งวด ซึ่ง กกพ.มีแนวทางการทำตามความเหมาะสม ส่วนจะยืดหนี้ได้เท่าไหรขึ้นอยู่กับแนวทางของ กกพ. แต่เมื่อคำนวณรวมกับค่าไฟฟ้าฐานแล้วจะต้องอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ได้รายงานข้อมูลโครงสร้างต้นทุนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ ดีเซล และเบนซิน โดยปัจจุบันกรมศุลฯ ไม่มีการเก็บอากรนำเข้าน้ำมันดิบแล้ว ส่วนน้ำมันสำเร็จรูปก็เก็บเพียงน้อยมากเพียง 0.001 บาทต่อลิตรเท่านั้น ทำให้แต่ละปีกรมศุลฯ จัดเก็บรายได้จากอากรน้ำมันสำเร็จรูปได้กว่า 20 ล้านบาทเท่านั้น ปัจจุบันไทยนำเข้าน้ำมันจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นหลัก ณ สิ้นเดือนสิงหาคม ปี 2566 มีการนำเข้าน้ำมันดิบ 5 หมื่นล้านลิตร มูลค่า 78,000 ล้านบาท นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป 7 ล้านลิตร มูลค่า 5,593 ล้านบาท และน้ำมันดีเซล 500 ล้านลิตร มูลค่า 1,700 ล้านบาท

สำหรับส่วนแนวทางการเปิดเสรีนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป ปัจจุบันกฎหมายเปิดให้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปได้อยู่แล้ว โดยขั้นตอนจะต้องยื่นจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ จึงมองว่าหากรัฐบาลจะทำนโยบายดังกล่าวก็สามารถดำเนินการได้เลย

‘เด็ก รทสช.’ ชี้!! ‘ราคาพลังงานลด-จบค่าโง่โฮปเวลล์’ ยก ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ผู้อยู่เบื้องหลังคนสำคัญ

(20 ก.ย. 66) นายอิทธิพัทธ์ เศรษฐยุกานนท์ หรือ ‘บอย’ อดีตผู้สมัคร สส.กทม พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้โพสต์คลิปวิดีโอผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Itthipat Settayukanon’ เกี่ยวกับการปรับลดราคาน้ำมันดีเซลล่าสุด ซึ่งเป็นผลงานของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน โดยระบุว่า…

“วันนี้ได้มีการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 2.50 บาทต่อลิตร เรื่องนี้ถือเป็นผลงานของท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน”

“ซึ่งตั้งแต่ที่ท่านพีระพันธุ์ ได้มาเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ท่านนั้นได้ทำคุณประโยชน์มากมายต่อประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดค่าไฟ จาก 4.10 บาทต่อหน่วย ลดลงเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย อีกทั้งวันนี้ ยังมีการปรับลดราคาน้ำมันดีเซลลงไปอีก 2.50 บาทต่อลิตร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนคนไทย”

“และอีกหนึ่งผลงานชิ้นสำคัญ คือ คดีมหากาฬ ‘โครงการโฮปเวลล์’ ที่ท่านพีระพันธุ์ได้ทำไว้ ซึ่งช่วยให้คนไทยชนะคดีอภิมหาโครงการด้านคมนาคม ทำให้ไม่ต้องเสียเงินกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด แม้แต่บาทเดียว นับเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของท่านพีระพันธุ์ ที่ช่วยรักษาผลประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศไว้ได้”

“ผมขอฝากทุกท่านร่วมติดตามผลงานของท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติกันเยอะๆ นะครับ รับรองว่าท่านพีระพันธุ์จะมีนโยบายดีๆ ออกมาให้กับพี่น้องประชาชนทุกท่านอีกแน่นอนครับ” นายอิทธิพัทธ์  กล่าวทิ้งท้าย

‘พีระพันธุ์’ ส่งหนังสือเชิญ สส.ก้าวไกล  หารือปัญหาพลังงานที่ทำเนียบบ่ายวันนี้

(26 ก.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันศุกร์ (22 ก.ย. 66) ที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่นร 0403 (กร6)/8878 เพื่อเชิญ นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เข้าหารือที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 26 กันยายน เวลา 13.30 น. เนื่องจากเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 นายศุภโชติได้ยื่นกระทู้สดด้วยวาจาถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สภา เกี่ยวกับปัญหาพลังงาน แต่ในวันดังกล่าวนายพีระพันธุ์ไม่ได้เข้าร่วมประชุมสภาเนื่องจากติดภารกิจที่จังหวัดชุมพร

นายพีระพันธุ์จึงทำหนังสือเชิญให้นายศุภโชติเข้ามาร่วมหารือที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 26 กันยายนก่อนเพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการสอบถามและการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับประชาชนร่วมกัน

นอกจากนี้ ในวันที่ 28 กันยายนนี้ นายพีระพันธุ์จะต้องร่วมเดินทางไปกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการอีกด้วย จึงทำให้นายพีระพันธุ์ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมสภาในวันดังกล่าวได้อีกด้วย

‘พีระพันธุ์’ ถกแก้ กม. คุมราคาน้ำมันเบนซิน ลั่น!! ค่าการตลาดไม่ควรเกิน 2 บาทต่อลิตร

เมื่อวานนี้ (3 ต.ค. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ผลการหารือร่วมกับหน่วยงานในสังกัด เกี่ยวกับการควบคุมค่าการตลาดน้ำมันที่กำหนดไว้ที่ 2 บาทนั้น โดยได้เชิญผู้แทนสำนักงานกฤษฎีกา ปลัดกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานกระทรวงพลังงานในการหารือกรณีการดูแลราคาน้ำมันเบนซิน เพราะส่วนที่มีปัญหาและทำให้ราคาสูงขึ้น มาจากค่าการตลาด 

ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานของกระทรวงพลังงานได้คิดคำนวณจากข้อมูลพื้นฐาน พบว่าควรอยู่ที่ 2 บาทต่อลิตร แต่ความจริงตอนนี้ผู้ประกอบการกำหนดค่าไว้ในระดับที่สูงมาก โดยกระทรวงพลังงานได้เคยหารือกับกระทรวงพาณิชย์ว่า เมื่อน้ำมันอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม ก็ขอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยดำเนินการในส่วนของค่าการตลาดนี้ เพื่อให้อยู่ในกรอบที่กระทรวงพลังงานกำหนด 

แต่กระทรวงพาณิชย์แย้งว่ากระทรวงพลังงานมีกฎหมายเฉพาะอยู่แล้ว และมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดว่า กระทรวงพลังงานมีกฎหมายเฉพาะอยู่แล้ว จึงไม่ได้ดำเนินการให้ โดยกฎหมายเฉพาะนี้ได้เข้าไปพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นกฎหมายเฉพาะที่อ้างอิง ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2562 ที่เกิดวิกฤตน้ำมัน คำพิพากษาศาลจึงออกมาในตอนนั้นกระทรวงพาณิชย์จึงคิดว่ายังเป็นกฎหมายเฉพาะอยู่ ทำให้ต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ

โดยหากกระทรวงพลังงานมองว่ากฎหมายแท้ ๆ ของกระทรวงไม่มีอำนาจ แต่กระทรวงพาณิชย์มองว่ามีและยืนยันว่ามี ทำให้ต้องหาทางดำเนินการต่อไป อาทิ การแก้ไขกฎหมาย ในการกำหนดค่าตลาดว่าให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้กำหนด ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพลังงานเห็นว่าค่าการตลาดที่เหมาะสมอยู่ที่ 2 บาทต่อลิตรในทุกผลิตภัณฑ์

“ที่ผ่านมาเคยขอความร่วมมือผู้ประกอบการในการกำหนดค่าตลาดที่ไม่เกิน 2 บาท แต่ผู้ประกอบการบางรายยังคิดค่าตลาดในบางสินค้าเกิน 4 บาทด้วย ทำให้เวลานี้คงมาดูในเรื่องการแก้ไขกฎหมายหากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษอย่างไร เพราะที่ผ่านมาเป็นการขอความร่วมมือผ่านการกำหนดราคาจากกระทรวงพลังงาน แต่หากผู้ประกอบการไม่ทำตามจะทำอย่างไร เพราะไม่มีกฎหมายกำกับควบคุมให้ดำเนินการตามในส่วนนี้” นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการหารือร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อวางแนวทางในการปรับแก้กฎหมายแล้ว โดยจะพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อดูแลราคาน้ำมันในประเทศ เพราะช่วงที่ผ่านมาได้พยายามหารือกับผู้ประกอบการไปแล้วว่าต้นทุนควรเป็นเท่าไหร่ แต่ไม่ได้รับการชี้แจงในรายละเอียด เพราะอ้างเป็นความลับทางการค้าซึ่งในส่วนนี้ยืนยันด้วยว่า ข้อมูลต่าง ๆ สามารถเปิดเผยได้ และไม่ควรอ้างการค้าเสรีเพื่อเป็นอุปสรรคต่อการกำกับดูแลค่าการตลาดที่เหมาะสมในทุกผลิตภัณฑ์น้ำมันในประเทศไทย

'พีระพันธุ์' เชิญ 'ก้าวไกล' สนทนาแก้ปัญหาด้านพลังงานหลากมุม ปลุกบรรยากาศการเมือง 'สร้างสรรค์-รับฟัง' เพื่อประโยชน์คนไทย

ร่วมเดือนกว่าๆ หลังได้รัฐบาลใหม่ ประเด็นการเมืองไทย ยังมีเรื่องระอุให้ติดตามไม่เว้นวัน ทั้งนโยบายหลายก๊อกที่ยังรอคำตอบเคาะ เพื่อฝ่าคำค้าน นักวิชาการ และกระแสดรามาการเมืองที่ซัดเท...

ทว่า ควันหลงการเมืองไทยใต้หมอกแห่งความจัดแย้ง ก็ยังมีการเมืองในเชิงสร้างสรรค์ ให้เห็นอยู่บ้าง .
โดยในช่วงปลายเดือนก่อน (22 ก.ย.66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ทำหนังสือด่วน เพื่อเชิญ นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เข้าหารือที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 26 ก.ย.ช่วงบ่าย เหตุจากวันที่ 21 ก.ย. นายศุภโชติได้ยื่นกระทู้สดด้วยวาจาถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สภา เกี่ยวกับปัญหาพลังงาน แล้ววันนั้นนายพีระพันธุ์ไม่ได้เข้าร่วมประชุมสภา เนื่องจากติดภารกิจที่จังหวัดชุมพร

บรรยากาศแบบนี้ มิค่อยได้เกิดขี้นบ่อยครั้งในจังหวะอุณหภูมิการเมืองระอุ โดยเฉพาะกับคนการเมืองที่อยู่ต่างขั้วต่างพรรคกันที่จะได้มานั่งประจันหน้ากันเพื่อคุยและถกแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน

การประชุมในวันนั้น นายพีระพันธุ์ ได้ให้เกียรติ สส.ก้าวไกล ด้วยการเชิญผู้เกี่ยวข้องกับการลดราคาพลังงานของกระทรวงพลังงานมาหารือ ประกอบด้วย นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน, นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน, น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน และ นางพัทธ์ธีรา สายประทุมทิพย์ รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน

ขณะเดียวกัน ก็ได้เชิญ นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และนายเดชรัตน์ สุขกำเนิด ผอ.ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล มาร่วมหารือในครั้งนี้ด้วย

ในห้องประชุม นายศุภโชคและคณะ ได้สอบถามถึงความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายของกระทรวงพลังงาน ทั้งกรณีที่รัฐบาลลดราคาไฟฟ้าลงเหลือหน่วยละ 3.99 บาท รวมถึงแสดงความเป็นห่วงเรื่องภาระระยะยาวหลังการยืดหนี้ของ กฟผ.ออกไปจนกลายเป็นภาระของประชาชน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และส่วนหนึ่งที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยขอให้รัฐบาลพิจารณาให้กลุ่มปิโตรเคมีที่ได้ประโยชน์จากราคาก๊าซในอ่าวไทย แต่ประชาชนกลับต้องรับภาระต้นทุนก๊าซจากต่างประเทศในการผลิตไฟฟ้า เปลี่ยนมาเฉลี่ยต้นทุนจากแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แห่ง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และประเด็นเรื่องแผน PDP ที่ขอให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้นักวิชาการภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย

หลังได้รับฟังข้อเสนอจากฝั่งก้าวไกล นายพีระพันธุ์ กล่าวกับนายศุภโชคและคณะในวันนั้นว่า หลังจากตนเข้ารับตำแหน่ง รมว.พลังงาน ก็ได้มอบนโยบายจากมุมมองที่ว่า พลังงานไม่ใช่เรื่องธุรกิจ แต่ให้มองเป็นเรื่องของความมั่นคงเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชน และเป็นความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ดังนั้นจึงต้องหาความสมดุลและความเหมาะสมของทั้งสองฝ่าย

ฉะนั้น ประเด็นที่เป็นห่วงเรื่องปัญหาค่าไฟในระยะยาว รัฐบาลก็จะไม่ได้หยุดแค่การลดราคาไฟฟ้าราคานี้เท่านั้น แต่เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนในระยะสั้น จึงต้องรีบทำก่อน โดยส่วนที่สามารถลดราคามาได้เป็นเพราะขอยืดหนี้จาก กฟผ.ออกไปและส่วนของต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ลดลง จึงทำให้สามารถลดราคาค่าไฟให้ประชาชนลงได้อีก

รมว.พลังงาน ยังกล่าวอีกว่า กรณีของราคาก๊าซธรรมชาติที่ประเทศไทยนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งมี 2 ส่วนคือนำเข้าจากต่างประเทศและส่วนได้มาจากอ่าวไทยเป็นนโยบายที่ตนได้นำเสนอมาก่อนหน้านี้ และทางคณะของพรรคก้าวไกลก็เห็นด้วย โดยเสนอว่าให้นำมาเฉลี่ยต้นทุนเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ราคาค่าไฟที่เป็นธรรม แทนที่จะนำไปขายให้กลุ่มปิโตรเคมีในราคาถูกซึ่งจะได้ดำเนินการต่อไป

เมื่อกล่าวถึง แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP ที่ทางคณะพรรคก้าวไกลเสนอให้นักวิชาการภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงประเด็นการศึกษากำลังไฟฟ้าสำรองที่จะเกิดในอนาคต ตนจะรับโจทย์ดังกล่าวไปศึกษาจัดทำเป็นนโยบายต่อไป

รมว.พลังงาน ย้ำอีกด้วยว่า ยังมีกฎหมายเดิมด้านพลังงานอีกหลายเรื่องต้องได้รับการแก้ไข เพราะกฎหมายหมายฉบับดำเนินการมาในอดีต แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป จึงเห็นว่าต้องรื้อตรวจสอบแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่ออำนวยต่อการจัดหาพลังงานให้กับประเทศ และให้ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อไป

ภายหลังจากการประชุมกับ รมว.พลังงาน ด้าน นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก็ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมว่า ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี พร้อมทั้งยอมรับว่า นายพีระพันธุ์รับฟังปัญหาของประชาชน ที่ฝากผ่านตนมาทั้งเรื่องราคาค่าไฟระยะยาว, มาตรการรองรับ, การปรับโครงสร้างราคาใหม่, การจัดทำแผน PDP ที่โปร่งใส

"รมว.พลังงาน รับที่จะนำข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ไปพิจารณา ทั้งเรื่องค่าไฟ ราคาน้ำมัน หรือปัญหาด้านพลังงานอื่นๆ ที่จะต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ และอธิบายให้เข้าใจ ถือว่าเป็นการประชุมที่บรรยากาศเป็นไปด้วยดี" นายศุภโชติ กล่าว

ก็หวังว่า จากเหตุการณ์นี้ จะทำให้มิติการเมืองไทยยุคใหม่ เดินหน้าด้วยการร่วมกันทำงานอย่างสร้างสรรค์ในทุกๆ ฝ่าย และในทุกๆ กระทรวง ดั่งกรณีของกระทรวงพลังงานที่พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะด้วยความจริงใจ เพราะเป้าหมายสุดท้าย คือ ประโยชน์ของประชาชน ที่เชื่อว่าทุกภาคส่วนย่อมอยากให้เกิดผลลัพธ์อันดีต่อประเทศ...

‘พิมพ์ภัทรา’ ขานรับนโยบายรัฐบาล ยกระดับภาคอุตฯ เสริมแกร่งศักยภาพและมาตรฐาน ‘อุตฯ EV - AI’

เร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำมาตรฐานในปีงบประมาณ 2567 ที่ตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยตามนโยบายรัฐบาล และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะมาตรฐานในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ เน้นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ได้แก่ EV อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ AI ฮาลาล และ Soft power ซึ่งคาดว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถนำเม็ดเงินมาสู่ภาคอุตสาหกรรมของไทยได้เป็นอย่างดี โดยตั้งเป้าหมายไว้ 600 มาตรฐาน 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ. เตรียมขออนุมัติแผนการกำหนดมาตรฐานในปีงบประมาณ 2567 รวม 600 มาตรฐาน ในการประชุมบอร์ด สมอ. ในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 ที่สามารถจัดทำมาตรฐานได้ 478 มาตรฐาน ทั้งนี้ ให้เร่งผลักดันมาตรฐานที่เป็นเรื่องเร่งด่วนตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมก่อน เช่น มาตรฐานสถานีชาร์จรถไฟฟ้า สาธารณะ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มาตรฐานอาหารฮาลาล AI เครื่องมือแพทย์ BCG และหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นต้น

“ภายหลังที่บอร์ดให้ความเห็นชอบมาตรฐานที่ สมอ. เสนอแล้ว จะเร่งรัดให้ สมอ. ดำเนินการจัดทำมาตรฐานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมเพื่อก้าวสู่ความเป็นอุตสาหกรรม 4.0 และคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน” นายวันชัยฯ กล่าว

‘กระทรวงพลังงาน-ปตท.’ จัดงานนิทรรศการ ‘ธ ทรงเป็นแรงบันดาลใจ’ มอบรางวัลศิลปกรรม ปตท. ครั้งที่ 38 เนื่องในวัน ‘วันนวมินทรมหาราช’

(12 ต.ค. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ ‘ธ ทรงเป็นแรงบันดาลใจ’ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติวันนวมินทรมหาราชและงานมอบรางวัลศิลปกรรม ปตท. ครั้งที่ 38 พร้อมด้วย นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และคณะผู้บริหาร ปตท. ณ PTT Art Gallery @ หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพฯ

นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค กล่าวว่า ปี 2566 นี้ นับเป็นปีแรกที่มีการประกาศให้ทุกวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปีเป็น ‘วันนวมินทรมหาราช’ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเฉพาะเรื่องราวของ ‘พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย’ ซึ่งกระทรวงพลังงาน ได้น้อมนำแนวพระราชดำริสู่การพัฒนาพลังงานมาจนถึงปัจจุบัน จึงเชื่อมั่นว่า ผู้ที่ได้เข้าชมผลงานในนิทรรศการ ‘ธ ทรงเป็นแรงบันดาลใจ’ จะได้ร่วมน้อมรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 และได้รับแรงบันดาลใจผ่านผลงานศิลปะทุกชิ้น ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกผลงานชิ้นเอกของศิลปินแห่งชาติมาร่วมจัดแสดง ผลงานจากเยาวชนจากโครงการรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนผ่านงานศิลปะ หัวข้อ ‘Energy For All’ กระทรวงพลังงาน และผลงานจากโครงการศิลปกรรม ปตท. ที่ผ่านมา 

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ เปิดเผยว่า ในปี 2529 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า ‘อัครศิลปิน’ ซึ่งเป็นปีแรกที่ ปตท. จัดประกวดศิลปกรรม จึงได้กำหนดหัวข้อ ‘ในหลวงของเรา’ และได้กำหนดหัวข้อที่เกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 อย่างต่อเนื่อง อาทิ 84 พรรษา มหาราชาภูมิพล ของขวัญแด่พระราชา พลังงานกับชีวิตไทย เป็นต้น  

นอกจากนำผลงานรางวัลมาจัดแสดงนิทรรศการ ‘ธ ทรงเป็นแรงบันดาลใจ’ แล้ว วันนี้ยังเป็นการมอบรางวัลให้กับศิลปินผู้ชนะการประกวดศิลปกรรม ปตท. ประจำปี 2566 ตั้งแต่ระดับเยาวชนจนถึงรุ่นประชาชนทั่วไป มีผลงานที่ได้รับรางวัลรวม 24 ผลงาน จากผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 831 ผลงาน ซึ่งในปีนี้จัดประกวดภายใต้หัวข้อ ‘จุดประกายความหวัง จุดพลังชีวิต’ เป็นการต่อยอดจากโอกาสพิเศษที่ ปตท. ก้าวเข้าสู่ปีที่ 45 โดยขอเชิญชวนประชาชนร่วมเข้าชมนิทรรศการระหว่างวันที่ 11 - 31 ตุลาคม 2566 โดยจะมีการจัดกิจกรรมพิเศษทุกสัปดาห์ อาทิ workshop วาดภาพสีน้ำรัชกาลที่ 9 การเพ้นท์ถุงผ้าใส่ยาเพื่อนำไปมอบให้กับผู้ป่วยเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และยังมีการแสดงดนตรีบทเพลงพระราชนิพนธ์ อีกทั้งทุกท่านสามารถร่วมบอกเล่าแรงบันดาลใจเรื่องราวรัชกาลที่ 9 บนโซเชียลมีเดียเพื่อรับโปสการ์ดศิลปะ Limited Edition จากศิลปินไทยชื่อดัง

ทั้งนี้ การประกวดศิลปกรรม ปตท. เป็นโครงการที่ ปตท. ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2529 กว่า 38 ปีของโครงการศิลปกรรม ปตท. มีศิลปินร่วมส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 27,000 คน ผลงานเข้าประกวดกว่า 35,000 ชิ้น และมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดไปแล้วกว่า 900 รางวัล ซึ่งนอกจากการจุดประกายสังคมผ่านงานศิลปะแล้ว สถานที่ ‘หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา’ ยังเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ ปตท. ได้เข้าพัฒนาให้เป็นสถานที่ดำเนินงานเพื่อสังคมมาตั้งแต่ปี 2561 โดยจัดให้เป็น PTT Art Gallery พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะสำหรับทุกคน ทั้งงานจากโครงการศิลปกรรม ปตท. ผลงานศิลปินที่มีชื่อเสียง ผลงานจากศิลปินรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษา และจัดกิจกรรมเวิร์กชอปด้านศิลปะ รวมถึงยังเปิดดำเนินการ Café Amazon for chance ร้านกาแฟที่เปิดโอกาสให้ผู้บกพร่องทางการได้ยินมีส่วนร่วมในการบริการ เป็นการจุดประกายและจุดความหวังของสังคมได้อีกทางหนึ่ง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top