Sunday, 19 May 2024
กระทรวงพลังงาน

‘พีระพันธุ์’ ปลื้ม!! แหล่งเอราวัณผลิตก๊าซ 800 ล้านลบ.ฟ./วัน แล้ว เชื่อ!! ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า - สร้างค่าไฟเป็นธรรมให้ ปชช.

‘กระทรวงพลังงาน’ เผยข่าวดี แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณในอ่าวไทย สามารถเพิ่มอัตราการผลิตเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หลังจากที่ผู้รับสัญญาเร่งดำเนินงาน จนสามารถดำเนินการเพิ่มอัตราการผลิตได้เร็วกว่าแผนที่กำหนด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้ความสำคัญและกำชับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อความเป็นอยู่ของประชาชน

(20 มี.ค. 67) นายพีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า “การเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของแปลง G1/61 ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในวันที่ 20 มีนาคม 2567 นี้ เป็นการดำเนินการได้เร็วกว่าแผนที่กำหนด ถือว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของทั้งภาครัฐ คือ กระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และผู้ได้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต คือ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยผมและทีมงานได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติโครงการ G/61 (แหล่งเอราวัณ) เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อติดตามให้มีการบริหารจัดการและเพิ่มการผลิตปิโตรเลียมอย่างเต็มกำลังให้ได้ปริมาณตามที่กำหนด รวมทั้งมอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำกับดูแลการดำเนินงานของผู้รับสัญญาอย่างใกล้ชิด เพราะก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ

ดังนั้น การเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย จะมีส่วนช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและรักษาระดับค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้”

ด้านนายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะที่กำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่มาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 ซึ่งนับเป็นงานที่มีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตในกิจการปิโตรเลียม โดยได้มีการเตรียมโครงสร้างหน่วยงานและบุคลากรของกรมเพื่อรองรับภารกิจการดำเนินงานภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ตลอดจนการติดตาม กำกับดูแล พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ ของบริษัท ปตท.สผ. อีดี ให้เป็นไปอย่างราบรื่น เพื่อให้การผลิตปิโตรเลียมจากแปลงดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมาย ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

“ทั้งนี้ แหล่งก๊าซธรรรมชาติเอราวัณ นับเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติในทะเลอ่าวไทยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า

“ซึ่งภายหลังจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะยังคงทำงานร่วมกับผู้รับสัญญาอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งดังกล่าวให้มีความต่อเนื่อง และสามารถสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศให้แข็งแกร่งต่อไป”

'ปตท.สผ.' เผย!! เพิ่มการผลิตก๊าซฯ ได้ถึง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันแล้ว  ตามแนวทาง 'พีระพันธุ์' เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านค่าไฟฟ้าให้แก่ ปชช.

(20 มี.ค.67) นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า หลังจากที่ ปตท.สผ. ได้ชนะการประมูลและเป็นผู้ได้รับสิทธิในสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจ G1/61 ในทะเลอ่าวไทย ในปี 2561 จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน โดยได้ลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต ในปี 2562 บริษัทฯ ได้เร่งดำเนินงานทุกด้านอย่างเต็มความสามารถ เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ ให้ได้ตามแผนงาน โดยได้ปรับปรุงสิ่งติดตั้งและอุปกรณ์ให้มีเสถียรภาพและมีความปลอดภัยสูงขึ้น รวมถึงติดตั้งแท่นหลุมผลิต (wellhead platform) 12 แท่น เจาะหลุมผลิต (production well) เพิ่มกว่า 300 หลุม และวางท่อก๊าซธรรมชาติ เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตให้สูงขึ้นตามลำดับ จนถึงระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในวันนี้ (20 มี.ค. 67) เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานของประชาชน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“การเพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการ G1/61 ถือเป็นภารกิจสำคัญของ ปตท.สผ. ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทตระหนักเป็นอย่างยิ่งถึงความสำคัญของก๊าซฯ ในอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักที่รองรับความต้องการใช้พลังงานทั้งภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม จึงได้เร่งดำเนินการทุกขั้นตอนเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซฯ ให้ได้เร็วที่สุด และในวันนี้ โครงการ G1/61 สามารถผลิตได้ถึงระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้ มาจากความมุ่งมั่นของพนักงานทุกคน รวมทั้ง การสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะช่วยลดผลกระทบด้านพลังงานให้กับประชาชน และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ” นายมนตรี กล่าว

สำหรับแผนงานต่อไป ปตท.สผ. มีแผนที่จะติดตั้งแท่นหลุมผลิตเพิ่มเติมอีกปีละประมาณ 8 แท่นและเจาะหลุมผลิตเพิ่มอีกประมาณ 300 หลุมต่อปี โดยในปี 2567 บริษัทจะใช้เงินลงทุนในโครงการ G1/61 เป็นจำนวนกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อให้โครงการ G1/61 เป็นหนึ่งในโครงการของ ปตท.สผ. ที่เป็นหลักในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศในระยะยาวต่อไป

ทั้งนี้ แผนการเร่งโครงการ G1/61 ดังกล่าว ได้รับการกระตุ้นโดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่กำชับให้ภาคเอกชนต้องผลิตได้อยู่ในระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในวันที่ 1 เมษายนนี้ เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านค่าไฟฟ้า และเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ

หักปากกาเซียน!! 'ตุ๋ย-ปุ้ย' ควงอันดับกระทรวงงบฯ น้อยสุด สวนทางผลงาน 6 เดือนเข้าตา ช่วยย้ำ!! งบต่ำแต่โต ถ้าตั้งใจ

พลันเมื่อตัวเลขงบประมาณ 2567 ของประเทศไทยออกมาแล้วปรากฏว่า สองกระทรวงภายใต้การกำกับดูแลของพรรครวมไทยสร้างชาติ (ตั้งแต่ 1 กันยายน พ.ศ. 2566) ซึ่งได้แก่ กระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม ก็กลายเป็นสองกระทรวงที่ได้รับงบประมาณ 2567 น้อยที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ 

'กระทรวงพลังงาน' ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ 'รองตุ๋ย' พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตผู้พิพากษา อดีต สส. 7 สมัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ มีพันธกิจสำคัญ คือ...

1) จัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการและกำหนดโครงสร้างราคาพลังงานให้มีความเหมาะสม 

2) พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานพลังงานให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ 

3) กำกับกิจการพลังงานให้มีมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัย 

4) ส่งเสริมการผลิต การใช้พลังงานสะอาดและการอนุรักษ์พลังงานเพื่อสอดรับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน 

และ 5) ส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงาน และเตรียมความพร้อมรองรับโอกาสธุรกิจพลังงานในอนาคต ด้วยการบริหารงานอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาล

ทว่า งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรหนนี้ น้อยที่สุดเพียง 1,856 ล้านบาท แต่ต้องรับผิดชอบภารกิจที่สำคัญอันยิ่งใหญ่ เพราะเป็นองค์กรหลักในการกำกับดูแลธุรกิจพลังงานของประเทศซึ่งเป็นต้นทุนและปัจจัยที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมากที่สุด ด้วยมูลค่าของธุรกิจพลังงานในประเทศมีมูลค่าปีละราวสองล้านล้านบาท มีหน่วยงานระดับกรมในสังกัด 6 หน่วยงาน และรัฐวิสาหกิจที่สำคัญ 2 หน่วยงาน และอีก 1 หน่วยงานที่กำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 

ถึงกระนั้น หากไล่ทวนผลงานของกระทรวงพลังงานภายใต้ 'รองตุ๋ย' จะพบว่า การออกมาตรการแบบเข้มข้นในช่วง 6 เดือนแรก ได้สร้างความมั่นคงด้านพลังงานแก่ประเทศและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทยแบบทันทีทันใด ดังนี้...

1) พลังงานไฟฟ้า ได้ผลักดันการลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนและสามารถตรึงราคาค่าไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องไม่ให้สูงขึ้นตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ มีการเร่งรัดในการแก้ไขปัญหาราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลและเขื่อนสิรินธรที่ยืดเยื้อมาหลายทศวรรษ 

2) น้ำมัน ทำการช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้น้ำมันโดยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกลไกทางภาษีด้วยความร่วมมือจากกระทรวงการคลัง เร่งรัดในการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพลิงยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและสร้างเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิง มีการออกประกาศให้ผู้ค้าน้ำมันแจ้งข้อมูลต้นทุนน้ำมันเพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควร 

3) ก๊าซ มีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool gas) เพื่อให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติในภาพรวมลดลงและเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซ ติดตามเร่งรัดการขุดเจาะและผลิตก๊าซจากอ่าวไทยเพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า มีการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบผู้ใช้ NGV โดยเฉพาะกลุ่มรถแท็กซี่ กลุ่มรถโดยสาร และรถบรรทุกด้วยความร่วมมือจาก ปตท.

ข้ามมาทางฟาก 'กระทรวงอุตสาหกรรม' ซึ่งได้รับงบประมาณ 2567 น้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ราว 4.5 พันล้านบาทนั้น อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีหญิงแกร่ง 'ปุ้ย' พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สส.นครศรีธรรมราช เขต 10 ผู้เป็นรัฐมนตรีว่าการสตรีคนที่ 2 ของกระทรวงแห่งนี้ 

จะว่าไปบทบาทหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมไทยที่ผ่านมาส่วนใหญ่ อาจจะเทไปในเชิงรับเสียมากกว่าเชิงรุก ทั้งๆ ที่เป็นองค์กรภาครัฐหลักในกำกับดูและจัดการอุตสาหกรรมของประเทศทั้งระบบ มีหน่วยราชการระดับกรมในสังกัด 8 หน่วย 2 รัฐวิสาหกิจ 12 สถาบันเครือข่าย และ 1 หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีฯ ซึ่งหน่วยงานทั้งหมดกว่า 20 หน่วยงานนี้ถือเป็นอวัยวะสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมที่เป็นแกนหลักของความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย  

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาผลงานของ 'รมว.ปุ้ย' ในช่วง 6 เดือนที่ผ่าน ก็ทำให้ชื่อของกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้ 'รมว.ปุ้ย' ไม่น้อยหน้ากระทรวงพลังงาน เช่นกัน อาทิ...

1) ให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดำเนินการกับสินค้านำเข้าราคาถูกและด้อยคุณภาพเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค 

2) ติดตามเร่งรัดผู้ประกอบการในประเทศให้เพิ่มการผลิตแร่ 'โปแตช' วัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ย เพื่อแก้ไขปัญหาปุ๋ยแพงของพี่น้องเกษตรกร 

3) ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องทั้งนักลงทุนรายใหม่และผู้ประกอบการรายเดิมซึ่งต้องปรับตัวจากการผลิตรถสันดาป 

4) ยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลด้วยมาตรการต่าง ๆ เพื่อยกระดับให้เกิดนวัตกรรมและความหลากหลาย เพิ่มคุณภาพ มาตรฐาน และปริมาณการผลิต 

5) สนับสนุน Green Productivity ทั้งการจัดหาไฟฟ้าสีเขียวด้วยกระบวนการรับรองอย่างมีมาตรฐานและมีปริมาณเพียงพอเพื่อรองรับความต้องการพลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรม, แก้ปัญหาเรื้อรังในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นของอุตสาหกรรมน้ำตาล, ส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ให้ตรงกับความต้องการของผู้คนในยุคปัจจุบันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยไปสู่ยุคใหม่

สนับสนุน SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นให้ได้รับวงเงินสินเชื่อธุรกิจเพียงพอในการต่อยอดธุรกิจ เป็นกลไกหมุนเวียนรายได้และกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนทั่วประเทศ, ส่งเสริมการสร้างต้นแบบ Smart Farmer สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่ายด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงาน, เริ่มบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 สำหรับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ช่วยลดมลพิษจากฝุ่น PM2.5 และกำหนดยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

เมื่อเทียบงบประมาณที่ทั้ง 2 กระทรวงได้รับเป็น % กับภาระงานที่ต้องรับผิดชอบแล้ว จะเห็นได้ว่าทั้งสองกระทรวงได้รับงบประมาณน้อยมาก ๆ ทั้ง ๆ ที่ต้องกำกับดูแล รับผิดชอบทำเรื่องราวต่าง ๆ เยอะแยะมากมาย 

โดยกระทรวงพลังงานได้รับงบประมาณเพียง 0.1415% ของมูลค่าธุรกิจพลังงานในประเทศโดยรวม และกระทรวงอุตสาหกรรมยิ่งได้รับงบประมาณน้อยกว่าเพียง 0.045% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของประเทศเท่านั้น 

จากผลลัพธ์ที่พูดได้ว่า 'สอบผ่าน' ของทั้งสองกระทรวงนี้ สะท้อนให้เห็นว่า คนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ตลอดจนคณะทำงาน และข้าราชการของทั้ง 2 กระทรวง ออกแววสานต่อสายเลือดลุงตู่ที่อยู่และทำเพื่อประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติและประชาชนได้ชัดเจนพอดู 

ยิ่งได้เห็นตัวเลขงบประมาณอันน้อยนิดที่ได้รับ แต่ก็ไม่ได้มีการปรับท่าทีใด แถมยังพร้อมลุยงานตามเป้าหมายต่อทันที ก็ยิ่งดูเป็นนิมิตหมายอันดีของชาติ ที่มีคนกล้าเปลี่ยนแนวคิดและความเชื่อที่มีมาอย่างยาวนานในระบบราชการและการเมืองที่ว่า...

“งานจะสำเร็จได้ต้องมีงบประมาณมากพอเท่านั้น” มาเป็น “หากมี ‘ความตั้งใจ’ แล้ว แม้ ‘งบประมาณจะน้อย’ แต่งานก็สามารถสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีได้”

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ในรายการ คนชนข่าว ทางช่องTNN เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 67

ต้นทุนราคาน้ำมันถ้าเราไม่รู้ต้นทุน เราจะรู้ได้ไงว่าราคามันควรจะเป็นเท่าไหร่

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ให้สัมภาษณ์ในรายการ คนชนข่าว ทางช่องTNN เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 67

กกพ. เคาะ ‘ค่าไฟ’ งวดใหม่ 4.18 บาท  เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน

(27 มี.ค. 67) นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. มีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2567 คงเดิมที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย 

ทั้งนี้ เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.1805 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน

สำนักงาน กกพ. ได้เปิดรับฟังความเห็นผลการคำนวณค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2567 ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 8 - 22 มีนาคม 2567 

โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นจำนวนทั้งสิ้น 147 ความเห็น แบ่งเป็นการแสดงความเห็นต่อค่าเอฟทีตามกรณีศึกษาที่ กกพ. เสนอรวมทั้งสิ้น 61 ความเห็น แสดงความเห็นโดยเสนอค่าเอฟทีอื่น ๆ นอกเหนือจากกรณีศึกษารวม 50 ความเห็น และความเห็นในลักษณะข้อซักถามหรือคำถามอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับค่าเอฟทีจำนวน 36 ความเห็น

นายคมกฤช กล่าวอีกว่า การใช้ไฟฟ้าในระบบของ กฟผ. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงจำเป็นต้องนำเข้า LNG เพื่อเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นในการผลิตไฟฟ้า ดังนั้น ในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง สำนักงาน กกพ. จึงขอให้ผู้ใช้ไฟฟ้าร่วมกันตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ให้มีสภาพการใช้งานที่ดี เพื่อประหยัดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีสภาพอากาศร้อน

รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าได้ง่าย ๆ 5 ป. ได้แก่ ปลด หรือถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าลดการใช้ไฟฟ้าเมื่อใช้งานเสร็จ ปิด หรือดับไฟเมื่อเลิกใช้งาน ปรับ อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26 องศา เปลี่ยน มาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิภายในบ้าน 

ซึ่งทั้ง 5 ป. จะช่วยลดการนำเข้า LNG ลดการเกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดรอบใหม่ (New Peak Demand) ในระบบไฟฟ้าและยังช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้า

‘พีระพันธุ์’ ยัน!! ไม่มีทุจริตเชิงนโยบาย ลั่น!! ถ้าเจอหลักฐาน แจ้ง ป.ป.ช. ได้เลย ยินดีให้ความร่วมมือ

(3 เม.ย.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ได้ชี้แจงฝ่ายค้านในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ สรุปได้ว่า การทำงานของกระทรวงมุ่งสร้าง ‘พลังงานเป็นธรรม’ โดยปัจจุบันค่าไฟรอบใหม่คงไว้ได้ไม่เกิน 4.18 บาทต่อหน่วย ส่วนน้ำมันเป็นโจทย์ยาก แต่จากนี้เมื่อมีการให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนการนำเข้าและส่งออก ซึ่งไม่มีใครเคยทำมาก่อน และจะเริ่มแล้วในวันที่ 15 เม.ย.67 ก็จะส่งผลต่อการสร้างราคาที่เป็นธรรมต่อน้ำมันในอนาคตแน่นอน 

เกี่ยวกับกรณีที่ฝ่ายค้านขุดปมทุจริตเกี่ยวกับการประมูลสัมปทานผลิตไฟฟ้าให้ภาคเอกชน จนส่งผลให้รัฐต้องซื้อไฟจากเอกชนรายใหญ่ในราคาแพง สร้างภาระต่อเนื่องให้คนไทย แถมยังมีการกีดกัน กฟผ.ออกจากการประมูล ซึ่งกลายเป็นข้อครหาว่า เป็น ‘การประเคน’ มากกว่า ‘การประมูล’ นั้น นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ตนกำลังหาทางแก้ไขเรื่องนี้อยู่ เพราะรับไม่ได้กับผู้ที่ได้ประมูล โดยไม่ได้มาจากการกำหนดหลักเกณฑ์ แต่ใช้เพียงดุลพินิจเลือก 

“ทาง ก.พลังงาน ต้องการคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน และแน่นอนว่าเป็นอีกเรื่องที่ผมได้เข้ามาจัดการกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ฉะนั้นขอยืนยันว่า รัฐบาลและ ก.พลังงานในยุคของผม ไม่มีการทุจริตเชิงนโยบาย มีแต่หาทางลดภาระประชาชนให้มากที่สุด หากฝ่ายค้านมีหลักฐานยื่น ป.ป.ช. ได้เลย ผมยินดีให้ความร่วมมือด้วยอีกแรง” นายพีระพันธุ์ กล่าว

‘ก.พลังงาน’ ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บ./ลิตร ถึง 19 เม.ย. ย้ำ!! หากมีการปรับขึ้นราคา จะควบคุมไม่ให้ขึ้นพรวดในครั้งเดียว

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าขณะนี้กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างหารือเพื่อพิจารณาแนวทางดูแลราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเต็มที่ แต่หากไม่มีเงินเข้ามาสนับสนุน ก็จำเป็นต้องปล่อยให้ดีเซลปรับขึ้นไปเกิน 30 บาทต่อลิตร แต่จะเป็นการทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันได โดยค่อย ๆ ลดการอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศให้สอดคล้องกับราคาตลาดโลกมากขึ้น ที่สำคัญต้องกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด

“แต่การทยอยปรับราคาดีเซลขึ้นจะยังไม่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่คนเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงวันหยุดยาวนี้แน่นอน เพราะเห็นใจประชาชนที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงในการเดินทาง”

ทั้งนี้ ‘สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ จะยังช่วยอุดหนุนราคาดีเซลไปก่อนในอัตรา 4.57 บาทต่อลิตร ตามมติคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ให้กองทุนอุดหนุนดีเซลเพิ่มเติมอีก 40 สตางค์ต่อลิตร จากก่อนหน้านี้อุดหนุนอยู่ 4.17 บาทต่อลิตร แม้มาตรการตรึงราคาดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ตามนโยบายของรัฐบาล จะสิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา แต่กองทุนน้ำมันฯ ยังคงอุดหนุนราคาดีเซลด้วยตัวกองทุนน้ำมันฯ เองมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลที่จะสิ้นสุดวันที่ 19 เม.ย.2567 ช่วยอยู่อีก 1 บาทต่อลิตร จากที่ต้องเก็บเต็มอัตรา 5.99 บาทต่อลิตร แต่นับตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.2567 จะเป็นอย่างไร ต้องมาลุ้นกันอีกที ซึ่งหากไม่มีมาตรการใด ๆ เข้ามาอุดหนุนเลย ราคาดีเซลที่แท้จริงจะอยู่ที่ 35-36 บาทต่อลิตร แต่ยืนยันว่ากองทุนน้ำมันฯ จะดูแลไม่ให้ปรับขึ้นพรวดพราดครั้งเดียวแน่นอน

ปัจจุบัน ณ วันที่ 4 เม.ย.2567 จะเห็นว่าราคาพรีเมี่ยมดีเซล B7 ที่ใช้เติมในรถยนต์ราคาแพง ได้เริ่มปรับขึ้นแล้ว 40 สตางค์ต่อลิตร อยู่ที่ 41.94 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซล B7 B10 และ B20 ยังคงอยู่ที่ 29.94 บาทต่อลิตร

โดยกองทุนได้เข้าอุดหนุนในอัตรา 4.57 บาทต่อลิตร ไม่ให้ราคาดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ฐานะกองทุน ณ วันที่ 31 มี.ค. 2567 มีสถานะติดลบ 99,821 ล้านบาท เป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 52,729 ล้านบาท และบัญชีก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบ 47,092 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและกลุ่มแก๊สโซฮอล์ในประเทศในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.-4 เม.ย. 2567 ปรับขึ้นต่อเนื่อง 5 ครั้ง เป็นเงิน 2.10 บาทต่อลิตร ตามทิศทางตลาดโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันเบนซินและกลุ่มแก๊สโซฮอล์ ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันเบนซินปรับขึ้นอยู่ที่ 47.84 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 38.48 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 39.95 บาทต่อลิตร E20 อยู่ที่ 37.84 บาท/ลิตร E85 อยู่ที่ 37.59 บาทต่อลิตร พรีเมี่ยม แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 47.64 บาทต่อลิตร

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2567 ณ วันที่ 5 ม.ค.4 เม.ย. 2567 ราคาน้ำมันเบนซินปรับขึ้นแล้ว 15 ครั้ง เป็นเงิน 6.10 บาท ขณะที่มีการปรับลดลง 4 ครั้ง เป็นเงิน 1.40 บาท ดังนั้น ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินปรับขึ้นสุทธิ 4.70 บาท

'พีระพันธุ์' ชี้!! 'ไม่มีดีลลับ-นายกฯ สำรอง-ปรับครม.' ส่วน 'ลุงตู่' ไม่ยุ่งการเมือง มุ่งทำงานเพื่อชาติ

(11 เม.ย. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกระแสข่าวเตรียมเป็นนายกรัฐมนตรีสำรองว่า ไม่มี พูดกันไปเอง คิดกันไปเอง ไม่มีดีลอะไร ไม่มีทั้งนั้น

เมื่อถามว่า รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแล้วใช่หรือไม่? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ ลุงตู่ของพวกเราท่านทำภารกิจหลัก ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของประเทศถวายในหลวงในเรื่องงานต่าง ๆ อยู่แล้ว ท่านไม่ได้ยุ่งในเรื่องการเมือง"

เมื่อถามย้ำว่า กระแสข่าวที่ออกมาอาจเพราะเห็นว่านายพีระพันธุ์มีความใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ จึงทำให้มีข่าวจะมาเป็นนายกฯ สำรอง? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ไม่มีหรอก มาจากสื่อที่มั่วกันเอง"

เมื่อถามถึงกระแสข่าวปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังสงกรานต์ ในส่วนของ รทสช. จะมีการปรับเปลี่ยนอะไรหรือไม่? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ยังไม่มีการพูดคุยกันเรื่องนี้เลย เพราะฉะนั้นอย่างที่ตนเคยพูดตลอด อะไรที่ยังไม่มีการพูดกันอย่างเป็นทางการถือว่ายังไม่มี"

เมื่อถามอีกว่า ถ้ามีการปรับในส่วนของ รทสช. จะมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีหรือไม่? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ยังไม่มี ยังไม่มีการคุยอะไรกันเลย เพราะยังไม่มีการพูดคุยกันในรัฐบาล ดังนั้น ในพรรคจึงยังไม่มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้"

‘พีระพันธุ์’ สั่งติดตามการสู้รบในเมียนมาอย่างใกล้ชิด ยัน!! แหล่งก๊าซฯ 3 แห่งยังส่งก๊าซฯ มาไทยได้ตามปกติ

เมื่อวานนี้ (11 เม.ย. 67) แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานเฝ้าติดตามสถานการณ์การสู้รบในประเทศเมียนมาว่าจะส่งผลกระทบต่อการจ่ายก๊าซธรรมชาติในแหล่งยาดานา, เยตากุน และซอติก้า แปลง M9 มายังประเทศไทยหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้การสู้รบในประเทศเมียนมามีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

เบื้องต้นขณะนี้ก๊าซฯ จากทั้ง 3 แหล่งดังกล่าว ยังส่งเข้าไทยได้ตามปกติ ซึ่งที่ผ่านมาทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) ได้มีการซ้อมแผนรองรับวิกฤติก๊าซธรรมชาติทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ว่าจะเกิดปัญหากับก๊าซฯ ในจุดใด กรม ชธ. ก็จะสามารถบริหารจัดการก๊าซฯ เพื่อความมั่นคงทางพลังงานในประเทศให้ได้

อย่างไรก็ตามคาดว่าการสู้รบในเมียนมาจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งก๊าซฯ มายังไทย เนื่องจากการสู้รบเป็นคนละส่วนกับพลังงานที่จำเป็นต่อชีวิตประชาชนทั่วไป แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดและกระทบต่อการส่งก๊าซฯ มายังไทยจริง ก็อยู่ในวิสัยที่ไทยยังสามารถบริหารจัดการได้ เพราะแหล่งก๊าซฯ เอราวัณ ในอ่าวไทยเริ่มกลับมาผลิตได้มากขึ้นแล้ว

ทั้งนี้กระทรวงพลังงานได้สั่งการให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาเติมให้เต็มถัง เพื่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าและพลังงานในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนนี้ด้วย

สำหรับข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เมื่อปี 2566 พบว่าไทยมีปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติรวมทั้งสิ้น 4,664 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งมาจากแหล่งในประเทศ 57% หรือ 2,653 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และนำเข้ามาจากต่างประเทศอีก 43% หรือ 2,010 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยเป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 31%  และก๊าซฯ จากเมียนมา 12%

สำหรับก๊าซฯ จากแหล่งในเมียนมาที่ส่งมายังไทย ได้แก่ ก๊าซฯ แหล่งยาดานา, แหล่งเยตากุน และแหล่งซอติก้า แปลง M9 ซึ่งทั้ง 3 แหล่งตั้งอยู่ในอ่าวเมาะตะมะ ของสหภาพเมียนมา โดยปัจจุบันแหล่งยาดานาส่งก๊าซฯ มาไทยประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน, ก๊าซฯ แหล่งเยตากุน ประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และก๊าซฯ จากแหล่งซอติก้า แปลง M9 ประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมทั้งสิ้นประมาณกว่า 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

15 เมษายน 2567 วันสำคัญที่ควรจารึกไว้ในประวัติศาสตร์พลังงานไทย ครั้งแรกที่ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุน 'นำเข้า-ส่งออก' ต่อจากนี้ทุกเดือน

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย!! กับนโยบายกำกับควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ราคาจำหน่ายเป็นไปตามต้นทุนจริงและให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนคนไทย ภายหลัง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ออกประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 

โดยประกาศกระทรวงพลังงานฉบับนี้ได้กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 ต้องรายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายในวันที่ 15 ของเดือน ถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน โดยราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าวเมื่อ 13 มีนาคม 2567 และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

หมายความว่า ต่อจากนี้ ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องแจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ยและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส และในกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันมีการปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลจะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายใน 7 วัน โดยข้อมูลที่ได้รับมาจะถือเป็นข้อมูลลับของทางราชการและจะมีการเก็บรักษาเป็นความลับอย่างที่สุด

สำหรับต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งถือเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายด้านการพลังงานที่เหมาะสมนั้น ประกอบด้วย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหมายความรวมถึงน้ำมันดิบ, ก๊าซธรรมชาติ, ก๊าซปิโตรเลียมเหลว, น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล และต้นทุนอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ค่าขนส่ง, ค่าประกันภัย, ค่าตอบแทนนายหน้า, ค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนและโอนเงิน, ค่าภาษี, อากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นใด ซึ่งผู้ประกอบการได้บันทึกบัญชีและมีหน้าที่ต้องชำระ โดยคำนวณเฉลี่ยเป็นหน่วยต่อลิตรในแต่ละรายไตรมาสของปีบัญชี

ทั้งนี้ ด้วยเพราะน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนหลักของภาคธุรกิจในการประกอบกิจการ หากน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายภายในประเทศนั้น มีการค้ากำไรเกินสมควร มีปริมาณการจัดจำหน่ายที่ไม่เพียงพอ หรือไม่ได้คุณภาพแล้ว ย่อมจะส่งผลกระทบในทางลบและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งต่อประชาชน และระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม 

ดังนั้นประกาศกระทรวงพลังงานฉบับนี้ จึงมีความจำเป็นต่อการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานมีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับกำหนดนโยบายด้านพลังงานให้เกิดความถูกต้องเหมาะสม อันจะทำให้ราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศนั้นมีความยุติธรรม ด้วยมีการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเป็นการคุ้มครองไม่ให้มีการค้ากำไรเกินสมควรในการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อมิให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันที่ไม่ถูกต้องและเป็นธรรม เป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจทุกประเภทและทุกระดับให้มีขีดความสามารถอย่างเท่าเทียมสำหรับการแข่งขันทางการค้าในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ดังนั้น ในวันนี้ 15 เมษายน 2567 จึงเป็นวันแรกและครั้งแรกของประเทศไทยที่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องแจ้งข้อมูลต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทุกเดือน โดยประกาศฉบับนี้จะช่วยดำเนินการจัดการให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของราคาจำหน่ายของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องอิงกับราคาตลาดโลก 

เพราะทุกครั้งเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกขึ้นราคา ผู้ค้าน้ำมันทุกราย ก็จะประกาศขึ้นราคาตามราคาตลาดโลกทันที ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันในประเทศควรเป็นไปตามราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ณ เวลานั้นๆ 

งานนี้ ก็คงต้องขอบคุณตรงๆ ไปยัง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ได้ออกประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าว ซึ่งนี่แหละที่จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนคนไทยและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมได้รับประโยชน์เต็มๆ จากประกาศฉบับนี้ ผ่าน...ราคาพลังงานที่เป็นธรรม!!

15 เมษา ถึงเวลา 'ปลดแอก' คนไทยจากราคาพลังงานแบบเดิมๆ เสียที...


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top