Sunday, 19 May 2024
กระทรวงพลังงาน

‘รมว.พีระพันธุ์’ ชี้!! ไทยต้องมีระบบสำรองน้ำมัน ลดปัญหาราคา 'ขึ้น-ลง' รายวัน ลั่น!! ถึงเวลาเดินหน้ารื้อโครงสร้างน้ำมันทั้งระบบ มั่นใจเป็นรูปธรรมภายในปีนี้

เมื่อวานนี้ (27 ก.พ.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ถึงการรื้อโครงสร้างพลังงานครั้งใหญ่ของประเทศไทย ในรายการ Smart Energy โดยระบุว่า...

ขณะนี้ได้ศึกษาถึงการปรับโครงสร้างพลังงานเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจากผลการศึกษาทั้งหมดพบว่า สามารถทำได้แน่นอน ทั้งนี้ หลังจากผ่านการศึกษาแล้ว จะเข้าสู่ระบบราชการ โดยได้ตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูแล และได้ทำการประชุมไปแล้ว 4 ครั้ง คาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้ ระบบรูปแบบราชการเสร็จแน่นอน

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจะดำเนินการใน 2 เรื่องใหญ่ นั่นคือ ค่าไฟฟ้า และน้ำมัน โดยค่าไฟฟ้า จะเข้าไปดูตั้งแต่ค่าก๊าซ เพราะเป็นต้นทุนหลักในการผลิตไฟฟ้า สำหรับสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ ส่วนหนึ่งก็คือการโยกค่าก๊าซ ที่เอาไปใช้ทําปิโตรเคมีในราคาถูก มาใส่ใน Pool Gas เพื่อให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าลดลง ขณะเดียวกัน ยังมีแนวคิดที่จะทำระบบสำรองก๊าซ พร้อมกับระบบสำรองน้ำมัน เพื่อจะได้มีก๊าซสำรอง ซึ่งจะทำให้มีอํานาจในการควบคุมราคาได้ ซึ่งเรื่องนี้จะค่อนข้างซับซ้อนกว่าระบบสำรองน้ำมัน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว จึงจะเดินหน้าในส่วนของระบบสำรองน้ำมันก่อน

ส่วนในเรื่องน้ำมันนั้น จะจัดทำระบบที่เรียกว่า การสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (SPR) เนื่องจากตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีระบบสำรองน้ำมัน ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นการสำรองเพื่อการค้าของบริษัทเอกชนเท่านั้น 

“หากต้องการให้ประเทศมีความมั่นคงทางด้านพลังงาน จำเป็นจะต้องรื้อทั้งระบบโครงสร้างราคาน้ำมัน ไม่ใช่ปรับแค่โครงสร้างเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นราคาตลาดโลก ดังนั้น จึงต้องรื้อระบบทั้งหมด เพราะประเทศไทยไม่มีสํารองน้ำมันเพื่อความมั่นคงของประเทศและมาตรฐานสํารองเพื่อความมั่นคงของประเทศขั้นต่ำ ที่เป็นมาตรฐานสากล คือ 90 วัน แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณการสำรองอยู่แค่ 20 วันเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะต้องรื้อระบบการสำรองน้ำมันของประเทศใหม่ทั้งหมด”

นายพีระพันธุ์ ย้ำว่า การรื้อทั้งระบบ จะช่วยควบคุมราคาน้ำมันได้ทุกประเภท โดยจะพยายามทำในส่วนของหลักการให้เสร็จภายใน 2 - 3 เดือนนี้ จากนั้นจะเร่งดำเนินการให้เสร็จเป็นรูปธรรมทั้งหมดภายในปีนี้ ทั้งนี้ เมื่อทำสำเร็จแล้ว ผลดีจะเกิดกับประชาชนและประเทศชาติ ไม่ต้องกังวลถึงภาวะที่ราคาน้ำมันเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาเช่นทุกวันนี้ ซึ่งการกำหนดราคาจะเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับผู้ประกอบการ โดยจะรื้อระบบกลับไปใช้เป็นราคาคงที่ เหมือนกับเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ไม่ใช่ระบบลอยตัวอย่างเช่นปัจจุบัน หากราคาน้ำมันโลกปรับตัวขึ้น ทางรัฐบาลกับผู้ประกอบการจะจัดการกันเอง 

แน่นอนว่า ระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ จะเป็นหัวใจหลักสำคัญ ในการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ไม่ต้องกังวลกับราคาน้ำมันขึ้น-ลงรายวันอีกต่อไป

‘รมว.พีระพันธุ์’ รุดดูงานแท่นขุดเจาะก๊าซแหล่งเอราวัณ อ่าวไทย หวังขุดเจาะก๊าซให้ได้ตามเป้า ช่วยคงราคาค่าไฟให้ถูกลง

เมื่อวานนี้ (28 ก.พ. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะได้ร่วมกันเดินทางไปยังแท่นขุดเจาะก๊าซแหล่งเอราวัณ กลางอ่าวไทย โดยเดินทางไปที่แท่นหลักที่เป็นศูนย์รวมก๊าซที่ขุดได้จากทุกแท่นในแหล่งเอราวัณเพื่อส่งมายังโรงแยกก๊าซที่ระยอง ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งถึง 400 กว่ากิโลเมตร

นายพีระพันธุ์ เปิดเผยว่า “ผมพยายามลดภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยหลังสุดสามารถยันราคาค่าไฟฟ้าให้ประชาชนทั่วไปไว้ได้ที่ 4.18 บาท ต่อหน่วย สำหรับงวดเดือนมกราคมถึงเมษายน 2567 เพิ่มขึ้นจากเดิมเพียงเล็กน้อย ทั้ง ๆ ที่มีการคาดการณ์ว่าอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับงวดดังกล่าวจะอยู่ที่ 4.68 บาท เพราะในช่วงเวลาที่ว่านี้มีปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าหลายตัว โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการขุดเจาะก๊าซจากอ่าวไทยที่แหล่งเอราวัณขาดหายไปวันละ 800 ล้าน ลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟ.) ทำให้ต้องสั่งก๊าซจากต่างประเทศที่มีราคาสูงมาชดเชยและมีผลต่อราคาค่าไฟฟ้าโดยตรง”

นายพีระพันธุ์ ระบุต่อว่า “แม้จะยังมีเวลาเหลืออีกสองเดือนกว่าจะครบกำหนดการปรับค่าไฟฟ้าตามวงรอบ 4 เดือน ในเดือนเมษายน 2567 แต่ผมไม่นิ่งนอนใจ เพราะหากยังคงขาดก๊าซจากอ่าวไทยวันละ 800 ล้าน ลบ.ฟ. อยู่ ก็จะมีผลต่ออัตราค่าไฟฟ้างวดเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2567 นี้แน่นอน ทั้งนี้ ทั้งผม ทั้งปลัดกระทรวงพลังงาน (นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ) ทั้งประธานที่ปรึกษา (นายณอคุณ สิทธิพงษ์) และคณะกรรมการ กกพ. ได้เตรียมการแก้ไขปัญหากันทุกวัน แต่สำคัญที่สุดคือต้องขุดก๊าซจากอ่าวไทยในปริมาณที่ขาดหายไปวันละ 800 ล้าน ลบ.ฟ. ขึ้นมาให้ได้ตามเดิม ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ปตท.สผ.”

“ในช่วงที่ผ่านมาเราได้ประสานงานและขอคำยืนยันจาก ปตท. และ ปตท. สผ. ตลอดมาว่าจะสามารถนำก๊าซจากอ่าวไทยที่แหล่งเอราวัณขึ้นมาในปริมาณที่ขาดหายไป 800 ล้าน ลบ.ฟ. ต่อวัน ได้หรือไม่ ซึ่ง ปตท. และ ปตท.สผ. ยืนยันตลอดมาว่าสามารถทำได้แน่นอน แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจแทนพี่น้องประชาชน ผมจึงต้องไปให้เห็นกับตาและได้ยินกับหูจากผู้ปฏิบัติงานจริงที่แท่นขุดเจาะว่าจะสามารถทำได้แน่นอน” นายพีระพันธุ์ กล่าว

นายพีระพันธุ์ ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ก๊าซจากอ่าวไทยขาดหายไป 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตว่า “คำตอบคือ เดิมผู้ที่ได้รับสัมปทานผลิตส่วนนี้คือบริษัทต่างชาติบริษัทหนึ่ง แต่แพ้ประมูลต่ออายุสัมปทานให้ ปตท.สผ. ซึ่งการประมูลนี้ต้องทำล่วงหน้าเป็นปีก่อนหมดสัมปทานเดิม บริษัทดังกล่าวเลยหยุดขุดเจาะก๊าซเพิ่มเติมไปเฉย ๆ ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยในส่วนนี้จึงค่อย ๆ หายไป ขณะที่ ปตท.สผ. ก็ยังเข้าดำเนินการในช่วงนั้นไม่ได้เพราะสัมปทานเดิมยังไม่หมดอายุ สุดท้ายเมื่อเข้าดำเนินการได้เมื่อประมาณธันวาคม 2564 ปตท.สผ. จึงเร่งเตรียมการและดำเนินการต่อมาจนกำลังจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายตามที่เล่ามาครับ”

'โฆษก รมว.พลังงาน' แจง!! 'หม่อมอุ๋ย' ปมนโยบายพลังงานทำลายประเทศ ยัน!! 'อุ้มดีเซล-ลดค่าไฟ' เป็นมาตรการที่ช่วย ปชช.ได้จริงในระยะสั้น

(2 มี.ค. 67) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ โฆษกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ้กส่วนตัว แสดงความเห็นตอบโต้หนังสือเปิดผนึกของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ที่ออกมาแสดงความเป็นห่วงต่อการดำเนินนโยบายพลังงานของรัฐบาล โดยข้อความระบุว่า

เข้าใจว่าท่านรัฐมนตรีไม่ได้ชื่นชอบแนวทาง "จ่ายก่อนคืนทีหลัง" เท่าไหร่นัก แต่เป็นมาตรการเดียวที่ลดความเดือดร้อนประชาชนได้ในระยะสั้น ภายใต้โครงสร้างพลังงานเดิมที่มีอยู่ 

ระยะยาวกระทรวงมีการผลักดัน โซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชน ปลดข้อจำกัดให้ประชาชนมีไฟฟ้าที่พึ่งพาตัวเองได้ ,กฎหมายน้ำมันสำหรับเกษตรกร และผู้มีรายได้ต่ำกำลังร่างกฎหมายกันอยู่ ,รื้อระบบกองทุนน้ำมันที่ทำให้ภาระหนี้ตกอยู่กับรัฐ  

สิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนฉากทัศน์โครงสร้างพลังงานไทย ถาวรแน่นอน

ประเด็น3-4 เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อม ที่ว่ากระทรวงเอาจริงขนาดไหนเกี่ยวกับการลดควันPM2.5

ตอบในฐานะหนึ่งในกรรมาธิการพ.ร.บ. อากาศสะอาด ก็ต้องเรียนว่าทางกระทรวงพลังงานจริงจังมาก ได้ประกาศใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร5 ที่ลดการปล่อยPM2.5ตั้งแต่ต้นม.ค.67 เป็นที่เรียบร้อย 

ส่วนเรื่องราคาที่พรีเมียมขึ้น น่าจะอยู่ในช่วงที่กระทรวงกำลังหารือเจรจากับผู้กลั่นน้ำมัน นอกจากนั้นร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ส่งเสริมเรื่องยานยนต์EV3.5 ลดการใช้รถพลังงานสันดาบ และส่งเสริม Utility Green Tariff ไฟฟ้าสีเขียวให้ใช้แพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมไทยเป็นที่เรียบร้อย 

อย่าตัดสินว่าลดราคาน้ำมัน แล้วจะไม่จริงจังปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะคนละส่วน

ประเด็นข้อ5 เรื่องสูตรราคาPool Gas 

พูดว่าพูลแก๊ส(ราคาก๊าซเฉลี่ย+นำเข้า) คนส่วนใหญ่ไม่คุ้นชินนัก ต้องบอกประชาชนผู้ใช้พลังงานทุกท่านว่า สูตรที่รัฐมนตรีพีระพันธุ์ ได้ปรับผ่านมติเห็นชอบจากกกพ. เมื่อปลาย ธ.ค. 66 ได้สร้างประโยชน์กับประชาชนผู้ใช้ไฟทั้งประเทศมหาศาล เพราะการนำเอาโควต้าก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยราคาถูก ที่เคยให้กับบริษัทปิโตรเคมีเอกชน ไปให้การใช้กับก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนก่อน เอกชนจะต้องไปซื้อราคาPool Gasแพงขึ้น แต่ราคาต้นทุนผลิตไฟฟ้าคนไทยถูกลงถาวร 18สตางค์/หน่วย

หากคิดถึงคนทั้งชาติ กับทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย เรื่องนี้ยกประโยชน์ให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง ดีกว่าเอื้อเอกชนรายใหญ่ไม่กี่ราย จึงไม่ควรต้องปรับเปลี่ยนสูตรกลับไป

"เข้าใจว่าทั้ง 3 ท่านต่างมีเจตนาดีต่อการบริหารงานประเทศ เข้าใจว่าทางรัฐมนตรีและกระทรวงพลังงาน ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ สร้างผลงานให้โครงสร้างพลังงานเป็นธรรม-ยั่งยืน-มั่นคง ให้เป็นที่ประจักษ์ ครับ

รายงานข่าวระบุว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและรายละเอียดเพื่อเตรียมชี้แจงข้อเท็จจริง และทำความเข้าใจกรณีต่างๆ ของหนังสือเปิดผนึกอย่างเป็นทางการในที่ 4 มี.ค.2567

‘นายกฯ’ ชี้!! รอ ‘พีระพันธุ์’ ชงต่ออายุมาตรการพลังงานอยู่ หลังราคา ‘น้ำมันดีเซล-ค่าไฟฟ้า’ ใกล้สิ้นสุดมาตรการ

เมื่อวานนี้ (3 มี.ค.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับประชาชน โดยมติครม. ตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค.นี้ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้ากลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านพักอาศัยไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ที่จะสิ้นสุดมาตรการในเดือนเม.ย.นี้ ว่ารัฐบาลมีแนวโน้มจะต่ออายุมาตรการดังกล่าวหรือไม่ ว่า รอ รมว.พลังงาน เป็นผู้เสนอ

'พีระพันธุ์' เร่งสรุปรูปแบบการสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์  สร้างความมั่นคงด้าน 'พลังงาน-ราคาน้ำมัน' เพื่อคนไทยอย่างเป็นธรรม

'พีระพันธุ์ รมว.พลังงาน' เร่งสรุปรูปแบบการสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ เน้นสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันให้ยั่งยืน

เมื่อวานนี้ (12 มี.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ ครั้งที่ 7/2567 ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล 
.
โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละด้าน รวมทั้งผู้บริหารกระทรวงพลังงานร่วมกันดำเนินการออกแบบแนวทางการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ในครั้งนี้

ตลอดระยะเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการพิจารณาประเด็นสำคัญในการวางรูปแบบการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (SPR) เพื่อความมั่นคง และรักษาเสถียรภาพทางด้านราคา โดยคำนึงถึงภาครัฐ, ภาคเอกชน และผลกระทบภาคประชาชนเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นหัวใจของการเปลี่ยนแปลงระบบการสำรองน้ำมันและก๊าซในครั้งนี้

นอกจากนี้ ได้มีการศึกษาการอุดหนุนราคาน้ำมันของประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์, การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางการทหารและประชาชนในประเทศไทย, การปันส่วนน้ำมันในกรณีเกิดการขาดแคลน รวมทั้งหารือแนวทางการบริหารจัดการน้ำมันดิบที่ผลิตในประเทศ เพื่อให้นำมาใช้ประโยชน์ในประเทศให้มากที่สุด เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน แม้จะสามารถผลิตน้ำมันเองได้ แต่ก็เป็นส่วนน้อย

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ปัจจัยสำคัญมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยให้สูงขึ้น 

ดังนั้น การจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซในครั้งนี้ ประชาชนจะมั่นใจได้ว่าจะเป็นการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซที่เป็นธรรมกับประชาชนอย่างแน่นอน และก่อให้เกิดผลดีต่อการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศในอนาคตอย่างยั่งยืน

‘พีระพันธุ์’ ออกประกาศ ‘ผู้ค้าน้ำมัน’ ต้องเปิดเผยข้อมูลต้นทุน  ป้องกันค้ากำไรเกินควร มุ่งสร้างความเป็นธรรม-มั่นคงด้านพลังงาน

(14 มี.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยว่า ตั้งแต่รับตำแหน่งเป็นต้นมาได้เร่งทำงานทุกด้านเพื่อสร้างระบบพลังงานของประเทศขึ้นมาใหม่ตามแนวทางรื้อ ลด ปลด สร้าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เหมาะสม ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และประเทศมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน

ล่าสุด เมื่อวานนี้ (13 มี.ค.67) ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2567 ซึ่งให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป โดยประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 รายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน พร้อมทั้งแจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ยและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส และกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล จะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายใน 7 วัน โดยข้อมูลที่ได้รับมาจะถือเป็นข้อมูลลับของทางราชการและมีการเก็บรักษาเป็นความลับอย่างที่สุด

สำหรับต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งถือเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายด้านการพลังงานที่เหมาะสมนั้น ประกอบด้วย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหมายความรวมถึง น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล และต้นทุนอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าตอบแทนนายหน้า ค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนและโอนเงิน ค่าภาษี อากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นใด ซึ่งผู้ประกอบการได้บันทึกบัญชีและมีหน้าที่ต้องชำระ โดยคำนวณเฉลี่ยเป็นหน่วยต่อลิตรในแต่ละรายไตรมาสของปีบัญชี 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศ เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับกำหนดนโยบายด้านพลังงานให้เหมาะสมเพื่อให้น้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศมีราคาจำหน่ายที่ยุติธรรมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประชาชนได้รับการคุ้มครองไม่ให้มีการค้ากำไรเกินสมควรในการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และผู้ประกอบธุรกิจทุกประเภทและทุกระดับมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลเพิ่มมากขึ้น

“คงจำได้ว่าเมื่อรับตำแหน่งใหม่ๆ ผมพยายามที่จะหาว่าต้นทุนพลังงานแต่ละชนิดคืออะไร ราคาที่ขายให้ประชาชนมีความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ แต่ไม่ได้รับคำตอบ โดยอ้างว่าเป็นความลับทางการค้าและกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ ผมและทีมงานจึงศึกษาและพบว่าจริงๆ แล้วมีช่องทางในการขอทราบข้อมูลแต่ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน จึงได้ดำเนินการยกร่างออกประกาศเพื่อกำหนดแนวทางและวิธีการให้ภาครัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลต้นทุนได้”

“นโยบาย รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง เป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งผมและข้าราชการกระทรวงพลังงาน ที่ปรึกษาและทีมกฎหมายจากกฤษฎีกาได้ทำงานอย่างหนัก ประชุมและค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาวิธีที่จะทำให้ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมา มีการลดราคาพลังงานทั้ง น้ำมัน ไฟฟ้า ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม แต่ก็เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่นโยบายการรื้อระบบพลังงาน จะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชนอย่างถาวร เมื่อภาครัฐมีข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้านและมีกฎหมายที่ให้อำนาจ ก็สามารถพิจารณาและตรวจสอบต้นทุนเพื่อภาคเอกชนมีกำไรในระดับสมเหตุสมผล ไม่สร้างภาระให้ประชาชนจนเกินกว่าเหตุและสามารถแข่งขันได้ ประเทศก็จะมีความมั่นคงด้านพลังงาน ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งวันนี้ก็ได้เริ่มต้นจากการให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งข้อมูลการนำเข้าและส่งออกน้ำมัน และในอนาคตก็จะเริ่มปรับระบบพลังงานประเภทอื่นๆ ทั้ง ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ต่อไป ผมเชื่อว่า นโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาราคาพลังงานได้อย่างถาวร และผมจะดำเนินการให้สำเร็จให้เร็วที่สุด” นายพีระพันธุ์ กล่าว

มีผลแล้ว!! ‘พีระพันธุ์’ เร่งเครื่องนโยบาย ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ ออกประกาศให้ผู้ค้าน้ำมันแจ้งข้อมูลต้นทุนน้ำมัน

เมื่อวานนี้ (14 มี.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่รับตำแหน่งได้เร่งทำงานทุกด้านเพื่อสร้างระบบพลังงานของประเทศขึ้นมาใหม่ตามแนวทางรื้อ ลด ปลด สร้าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เหมาะสม ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และประเทศมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 ซึ่งให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป โดยประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 รายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน

นอกจากนั้น ต้องแจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ยและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส และกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล จะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายใน 7 วัน โดยข้อมูลที่ได้รับมาจะถือเป็นข้อมูลลับของทางราชการและมีการเก็บรักษาเป็นความลับอย่างที่สุด

สำหรับ ต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งถือเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายด้านการพลังงานที่เหมาะสมนั้น ประกอบด้วย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหมายความรวมถึง น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล และต้นทุนอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าตอบแทนนายหน้า ค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนและโอนเงิน ค่าภาษี อากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นใด ซึ่งผู้ประกอบการได้บันทึกบัญชีและมีหน้าที่ต้องชำระ โดยคำนวณเฉลี่ยเป็นหน่วยต่อลิตรในแต่ละรายไตรมาสของปีบัญชี

รมว.พลังงาน กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศ เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับกำหนดนโยบายด้านพลังงานให้เหมาะสมเพื่อให้น้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศมีราคาจำหน่ายที่ยุติธรรมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประชาชนได้รับการคุ้มครองไม่ให้มีการค้ากำไรเกินสมควรในการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และผู้ประกอบธุรกิจทุกประเภทและทุกระดับมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลเพิ่มมากขึ้น

“คงจำได้ว่าเมื่อรับตำแหน่งใหม่ ๆ ผมพยายามที่จะหาว่าต้นทุนพลังงานแต่ละชนิดคืออะไร ราคาที่ขายให้ประชาชนมีความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ แต่ไม่ได้รับคำตอบ โดยอ้างว่าเป็นความลับทางการค้าและกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ ผมและทีมงานจึงศึกษาและพบว่าจริงๆแล้วมีช่องทางในการขอทราบข้อมูลแต่ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน จึงได้ดำเนินการยกร่างออกประกาศเพื่อกำหนดแนวทางและวิธีการให้ภาครัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลต้นทุนได้” นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า นโยบาย รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง เป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งผมและข้าราชการกระทรวงพลังงาน ที่ปรึกษาและทีมกฎหมายจากกฤษฎีกาได้ทำงานอย่างหนัก ประชุมและค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาวิธีที่จะทำให้ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมา มีการลดราคาพลังงานทั้ง น้ำมัน ไฟฟ้า ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม แต่ก็เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ 

แต่นโยบายการรื้อระบบพลังงาน จะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชนอย่างถาวร เมื่อภาครัฐมีข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้านและมีกฎหมายที่ให้อำนาจ ก็สามารถพิจารณาและตรวจสอบต้นทุนเพื่อภาคเอกชนมีกำไรในระดับสมเหตุสมผล ไม่สร้างภาระให้ประชาชนจนเกินกว่าเหตุและสามารถแข่งขันได้ ประเทศก็จะมีความมั่นคงด้านพลังงาน ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม

“วันนี้ก็ได้เริ่มต้นจากการให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งข้อมูลการนำเข้าและส่งออกน้ำมัน และในอนาคตก็จะเริ่มปรับระบบพลังงานประเภทอื่นๆ ทั้ง ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ต่อไป ผมเชื่อว่า นโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาราคาพลังงานได้อย่างถาวร และผมจะดำเนินการให้สำเร็จให้เร็วที่สุด” นายพีระพันธุ์ กล่าว

สรุปสาระสำคัญ ประกาศกระทรวงพลังงาน ‘การแจ้งข้อมูลการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง’

น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของประชาชน และเป็นต้นทุนหลักของภาคธุรกิจในการประกอบกิจการ หากน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายภายในประเทศมีการค้ากำไรเกินสมควร มีปริมาณการจัดจำหน่ายไม่เพียงพอ หรือไม่ได้คุณภาพแล้ว จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งต่อประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ 

รัฐจึงจำเป็นต้องกำหนดนโยบายด้านการพลังงานให้เหมาะสมเพื่อเป็นหลักประกันให้น้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศมีราคาจำหน่ายที่ยุติธรรม มีปริมาณเพียงพอ และได้คุณภาพ แต่การที่รัฐจะสามารถกำหนดและดำเนินนโยบายด้านการพลังงานได้อย่างเหมาะสมนั้น จำเป็นที่รัฐจะต้องได้มาซึ่งข้อมูลราคาและข้อมูลอื่นที่เกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง 

กระทรวงพลังงานจึงจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการดำเนินการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้น เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการกำหนดนโยบายด้านการพลังงานของประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของประเทศด้านเศรษฐกิจและความผาสุกของประชาชน

วันนี้ THE STATES TIMES ได้สรุปสาระสำคัญ ประกาศกระทรวงพลังงาน ‘การแจ้งข้อมูลการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง’ เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 67 หวังสะท้อนต้นทุนแท้จริง และ ราคาที่ยุติธรรม จะมีข้อกำหนดอะไรบ้าง มาดูกัน…

‘รมว.พีระพันธุ์’ ชื่นชมการแสดง ‘ปราการเวลา The Theatre’ สร้างความตระหนักรู้ ‘ความเสียสละ-รักชาติ’ ของบรรพบุรุษไทย

(18 มี.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค - Pirapan Salirathavibhaga’ ระบุว่า…

“เมื่อวาน (16 มี.ค. 67) ผมมีโอกาสไปชมการแสดง ‘ปราการเวลา The Theatre’ ที่จัดโดย อบจ. สมุทรปราการ ที่มีคุณนันทิดา แก้วบัวสาย เป็นนายกฯ ร่วมกับกองทัพเรือ นำแสดงโดยคุณนพพล โกมารชุน ศิลปินแห่งชาติ กับคุณแพนเค้ก เขมนิจ ร่วมกับนักแสดงทุกรุ่นวัยจำนวนมาก

“ผมรู้สึกดีใจและยินดีเป็นอย่างมากที่มีโอกาสไปชมการแสดงครั้งนี้เพราะทำให้เราได้ย้อนนึกไปถึงอดีตที่ทำให้เรามีปัจจุบันในวันนี้ว่าชาติไทยของเราต้องฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคและวิกฤติการณ์มาเพียงใดถึงมาเป็นไทยที่เป็นปึกแผ่น ประชาชนอยู่ดีกินดีในทุกวันนี้

“การแสดงนี้ ไม่เพียงน่าตื่นตาตื่นใจ สวยงามตระการตา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทำให้เราได้เห็นถึงความรักชาติ ความเสียสละ และความสามัคคี ของบรรพบุรุษทั้งพลเรือนและทหาร ได้ตระหนักรู้ซาบซึ้งในพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคที่ทั่วทั้งภูมิภาคกำลังเผชิญหน้ากับการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกที่มีแสนยานุภาพทางอาวุธและวิทยาการเหนือกว่า ทำให้เราสูญเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตามที่ฝรั่งเศสเรียกร้องรวมถึงเงินค่าปรับสูงจนต้องนำเงินถุงแดง (เงินพระคลังข้างที่) ออกมาใช้

“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แม้จะทรงโทมนัสยิ่งแต่ทรงไม่ท้อถอย ทรงทุ่มเททุกอย่างเพื่อรักษาเอกราชของสยามเอาไว้ นำไปสู่การปฏิรูปประเทศในทุกด้าน จนสยามสามารถดำรงความเป็นไทยมาได้ลงจนถึงทุกวันนี้โดยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของพวกฝรั่งชาติตะวันตกนักล่าอาณานิคม
เหล่านี้ทำให้เราต้องคิดให้มากขึ้นว่าปัจจุบันและอนาคตเราคนไทยจะต้องรักชาติ รักสถาบัน ต้องสามัคคี และเอาประโยชน์ชาตินำหน้าเพื่อคงความเป็นชาติไทยของเราให้คงอยู่ตลอดไป 

“ผมอยากให้มีกิจกรรมหรือการแสดงแบบนี้ให้คนรุ่นหลังเด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ถึงอดีตและความเป็นมาของชาติให้มากขึ้น และขอชมเชยผู้จัดงานและนักแสดงทุกคน ขอให้กำลังใจและขอบคุณที่ร่วมกันทำกิจกรรมรักชาติแบบนี้ครับ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top