‘รมว.พีระพันธุ์’ รุดดูงานแท่นขุดเจาะก๊าซแหล่งเอราวัณ อ่าวไทย หวังขุดเจาะก๊าซให้ได้ตามเป้า ช่วยคงราคาค่าไฟให้ถูกลง

เมื่อวานนี้ (28 ก.พ. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะได้ร่วมกันเดินทางไปยังแท่นขุดเจาะก๊าซแหล่งเอราวัณ กลางอ่าวไทย โดยเดินทางไปที่แท่นหลักที่เป็นศูนย์รวมก๊าซที่ขุดได้จากทุกแท่นในแหล่งเอราวัณเพื่อส่งมายังโรงแยกก๊าซที่ระยอง ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งถึง 400 กว่ากิโลเมตร

นายพีระพันธุ์ เปิดเผยว่า “ผมพยายามลดภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยหลังสุดสามารถยันราคาค่าไฟฟ้าให้ประชาชนทั่วไปไว้ได้ที่ 4.18 บาท ต่อหน่วย สำหรับงวดเดือนมกราคมถึงเมษายน 2567 เพิ่มขึ้นจากเดิมเพียงเล็กน้อย ทั้ง ๆ ที่มีการคาดการณ์ว่าอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับงวดดังกล่าวจะอยู่ที่ 4.68 บาท เพราะในช่วงเวลาที่ว่านี้มีปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าหลายตัว โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการขุดเจาะก๊าซจากอ่าวไทยที่แหล่งเอราวัณขาดหายไปวันละ 800 ล้าน ลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟ.) ทำให้ต้องสั่งก๊าซจากต่างประเทศที่มีราคาสูงมาชดเชยและมีผลต่อราคาค่าไฟฟ้าโดยตรง”

นายพีระพันธุ์ ระบุต่อว่า “แม้จะยังมีเวลาเหลืออีกสองเดือนกว่าจะครบกำหนดการปรับค่าไฟฟ้าตามวงรอบ 4 เดือน ในเดือนเมษายน 2567 แต่ผมไม่นิ่งนอนใจ เพราะหากยังคงขาดก๊าซจากอ่าวไทยวันละ 800 ล้าน ลบ.ฟ. อยู่ ก็จะมีผลต่ออัตราค่าไฟฟ้างวดเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2567 นี้แน่นอน ทั้งนี้ ทั้งผม ทั้งปลัดกระทรวงพลังงาน (นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ) ทั้งประธานที่ปรึกษา (นายณอคุณ สิทธิพงษ์) และคณะกรรมการ กกพ. ได้เตรียมการแก้ไขปัญหากันทุกวัน แต่สำคัญที่สุดคือต้องขุดก๊าซจากอ่าวไทยในปริมาณที่ขาดหายไปวันละ 800 ล้าน ลบ.ฟ. ขึ้นมาให้ได้ตามเดิม ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ปตท.สผ.”

“ในช่วงที่ผ่านมาเราได้ประสานงานและขอคำยืนยันจาก ปตท. และ ปตท. สผ. ตลอดมาว่าจะสามารถนำก๊าซจากอ่าวไทยที่แหล่งเอราวัณขึ้นมาในปริมาณที่ขาดหายไป 800 ล้าน ลบ.ฟ. ต่อวัน ได้หรือไม่ ซึ่ง ปตท. และ ปตท.สผ. ยืนยันตลอดมาว่าสามารถทำได้แน่นอน แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจแทนพี่น้องประชาชน ผมจึงต้องไปให้เห็นกับตาและได้ยินกับหูจากผู้ปฏิบัติงานจริงที่แท่นขุดเจาะว่าจะสามารถทำได้แน่นอน” นายพีระพันธุ์ กล่าว

นายพีระพันธุ์ ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ก๊าซจากอ่าวไทยขาดหายไป 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตว่า “คำตอบคือ เดิมผู้ที่ได้รับสัมปทานผลิตส่วนนี้คือบริษัทต่างชาติบริษัทหนึ่ง แต่แพ้ประมูลต่ออายุสัมปทานให้ ปตท.สผ. ซึ่งการประมูลนี้ต้องทำล่วงหน้าเป็นปีก่อนหมดสัมปทานเดิม บริษัทดังกล่าวเลยหยุดขุดเจาะก๊าซเพิ่มเติมไปเฉย ๆ ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยในส่วนนี้จึงค่อย ๆ หายไป ขณะที่ ปตท.สผ. ก็ยังเข้าดำเนินการในช่วงนั้นไม่ได้เพราะสัมปทานเดิมยังไม่หมดอายุ สุดท้ายเมื่อเข้าดำเนินการได้เมื่อประมาณธันวาคม 2564 ปตท.สผ. จึงเร่งเตรียมการและดำเนินการต่อมาจนกำลังจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายตามที่เล่ามาครับ”