Monday, 20 May 2024
กระทรวงคมนาคม

‘คมนาคม’ ถกแนวทางช่วยเหลือ ‘แท็กซี่-รถโดยสารประจำทาง’ บูรณาการทุกภาคส่วน แก้ปัญหา ‘ค่าโดยสาร-ก๊าซ’ ให้เหมาะสม

(19 ธ.ค. 66) ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมหารือและรับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้ประกอบการ สมาคม สหกรณ์ ผู้ประกอบอาชีพแท็กซี่ และรถโดยสารประจำทางเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมี นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วย นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม และโฆษกกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ผู้แทนกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือ 

จากกรณีที่กลุ่มผู้ประกอบการ สมาคม สหกรณ์ ผู้ประกอบอาชีพแท็กซี่ และกลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร ได้ยื่นหนังสือเพื่อทวงถามความคืบหน้าแนวทางการให้ความช่วยเหลือในประเด็นต่าง ๆ สรุปดังนี้

1) กรณีผู้ประกอบการและผู้ประกอบอาชีพแท็กซี่ ขอปรับอัตราค่าโดยสารนั้น กระทรวงคมนาคมมีแนวทางการให้ความช่วยเหลือ แบ่งเป็นระยะสั้น จะประสานข้อมูลให้ TDRI พิจารณาวิเคราะห์อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมเพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ขับรถแท็กซี่ และในระยะยาว กรมการขนส่งทางบกจะดำเนินการจ้างศึกษาโครงสร้างค่าโดยสารใหม่และรูปแบบมาตรค่าโดยสารที่เหมาะสมต่อไป

2) กรณีค่าขอให้ช่วยเหลือด้านราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) และแก๊สแอลพีจีที่ใช้กับรถแท็กซี่นั้น กระทรวงพลังงานจะพิจารณาความช่วยเหลือเรื่องต้นทุนค่าพลังงานของผู้ประกอบอาชีพขับรถสาธารณะ และแจ้งผลให้กระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบกทราบ เพื่อร่วมพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาในภาพรวมร่วมกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมในการกำกับดูแลของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ดำเนินการด้วยความสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามหลักธรรมาภิบาล และกฎหมาย รวมถึงให้ความสำคัญกับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน

‘สุริยะ’ โชว์ผลงาน ‘99 วัน 9 เรื่องเด่น’ สนองนโยบาย Quick Win โปรเจกต์เชื่อม ‘บก-น้ำ-ราง-อากาศ’ ดัน ศก.โต-ประชาชนอยู่ดีมีสุข

(20 ธ.ค. 66) ณ ห้องราชดำเนิน อาคารราชรถสโมสร กระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในการแถลงผลงาน 99 วัน 9 เรื่องเด่น โครงการสำคัญเร่งด่วน พร้อมขับเคลื่อนโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม ตามนโยบาย Quick win พร้อมด้วยนางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ว่า ในระยะเวลา 99 วันที่ผ่านมา นับตั้งแต่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินโครงการ และนโยบายต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ รวมถึงการให้บริการระบบคมนาคมขนส่งในทุกมิติเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับนโยบาย Quick win ของรัฐบาล

ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลา 99 วันที่ผ่านมา มี 9 โครงการเด่นที่กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการ และผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม ดังนี้ 

1. มาตรการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท หรือนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ใน 2 โครงการ คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ และโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน ซึ่งถือเป็นนโยบาย Quick Win นโยบายแรกของรัฐบาล ส่วนการประกาศใช้มาตรการดังกล่าวในโครงการรถไฟฟ้าในเส้นทางอื่น ๆ นั้น ขณะนี้ กระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างการหารือและพิจารณาร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่า จะสามารถเปิดให้ใช้บริการได้ในระยะต่อไป

2. การเปิดใช้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ 24 ชั่วโมง โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2566 เพื่อรองรับปริมาณเที่ยวบินในปัจจุบัน และกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว รวมถึงรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

3. เปิดอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 (SAT-1) พร้อมทั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติเชื่อมต่อระหว่างอาคาร SAT-1 กับอาคารผู้โดยสารหลัก ซึ่งได้เปิดให้บริการแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2566 โดยทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี เพื่อรองรับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวของประเทศตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

4. เร่งรัดการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) โดยเตรียมเปิดให้ประชาชนใช้บริการฟรี 2 เส้นทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 คือ มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) ช่วงปากช่อง - ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ระยะทาง 77 กม. และมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) ช่วงนครปฐม ฝั่งตะวันตก – กาญจนบุรี ระยะทาง 51 กม. และเปิดให้บริการใช้งานฟรีต่อเนื่องจนกว่าด่านเก็บค่าผ่านทางจะแล้วเสร็จ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง

ขณะเดียวกัน ยังได้เร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ เส้นทางนครปฐม - ชุมพร และได้เปิดให้บริการช่วงสถานีบ้านคูบัว จ.ราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จ.ชุมพร เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนถึงจุดหมายได้เร็วขึ้นถึง 1 ชั่วโมง 30 นาที เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเดินทางของประชาชน รวมทั้งการขนส่งสินค้า โดยไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถอีกต่อไป

5. การพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ โดยการยกมาตรฐานและปลอดภัยท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่นโดยการให้บริการด้วยระบบตั๋วร่วม พร้อมทั้งออกแบบรองรับผู้ใช้บริการทุกประเภท โดยมีแผนพัฒนาท่าเรือเป็นสถานีเรือ (ระบบปิด) ทั้งหมด 29 ท่า ซึ่งขณะนี้ปรับปรุงเสร็จแล้ว จำนวน 9 ท่า อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงและก่อสร้าง จำนวน 5 ท่า และในส่วนที่เหลืออีกจำนวน 15 ท่า จะมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องต่อไป

6. เดินหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (Landbridge) โดยกระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดดำเนินโครงการให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้เริ่มดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) โดยล่าสุดได้ร่วมประชาสัมพันธ์โครงการ Landbridge ในการประชุมเอเปค ครั้งที่ 30 ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงการประชุมสุดยอดอาเซียนญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน - ญี่ปุ่น ซึ่งการประชุมในครั้งนี้มีนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นสนใจเป็นจำนวนมาก

7. การปรับเปลี่ยนรถยนต์ใช้น้ำมัน (สันดาป) เป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อขับเคลื่อนการปรับปรุงรถสาธารณะทุกชนิดให้เป็น EV โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจพิจารณาเปลี่ยนรถยนต์สันดาปที่หมดอายุสัญญาเช่าให้เป็นรถยนต์ EV ซึ่งจะนำร่องกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่จะทยอยปรับเปลี่ยนรถที่ให้บริการในท่าอากาศยานทั้งหมด ให้เป็นรถยนต์ EV รวมถึงรถส่วนกลางที่จะหมดสัญญาเช่า จะเริ่มสัญญาเช่ารถใหม่ให้เป็นรถยนต์ EV ด้วย เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ หรือฝุ่นละออง PM 2.5 สอดรับนโยบายอากาศสะอาดเพื่อประชาชน

8. โครงการพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมจังหวัดภูเก็ต ได้แก่ การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต (ระยะที่ 2) คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2572, โครงการก่อสร้างขยายช่องจราจร ทล.4027 ช่วง บ.พารา - บ. เมืองใหม่, โครงการทางพิเศษ สายกระทู้ - ป่าตอง, การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 จ.พังงา โดยขณะนี้ ทอท. อยู่ระหว่างทบทวนข้อกำหนดรายละเอียดในการจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้ และความคุ้มค่าในการลงทุนโครงการในเบื้องต้น

นอกจากนี้ ยังมีโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 (ช่วงท่าอากาศยานฯ - ห้าแยกฉลอง) ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ (รฟม.) อยู่ระหว่างศึกษาทบทวนรายละเอียดความเหมาะสมของโครงการฯ เพื่อให้โครงการฯ เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนตามข้อสั่งการของกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2574 อย่างไรก็ตาม โครงการในจังหวัดภูเก็ตที่กล่าวมานั้น จะสามารถลดปัญหาการจราจร และเพื่อเสริมศักยภาพให้เมืองท่องเที่ยวระดับโลก

9. การปราบส่วยทางหลวง แก้ปัญหาการทุจริต โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งแก้ไขปัญหาอย่างเคร่งครัดรวมถึงแก้ไขข้อกฎหมายให้มีบทลงโทษมากขึ้น รวมถึงมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยในช่วงที่ผ่านมานั้น ทุกหน่วยงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็ว

“สำหรับทั้ง 9 ผลงาน และโครงการทั้งหมดที่กล่าวมานั้น จะสามารถขับเคลื่อนภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน และเป็นการพัฒนาระบบคมนาคมให้มีมาตรฐานตามระดับสากล รวมถึงเพื่อยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น และกระจายความเจริญไปสู่ทุกภูมิภาค” นายสุริยะ กล่าว

'สุริยะ' ขอโทษ ปชช.ปมขึ้นภาษีน้ำมัน 'กทม.-ปริมณฑล' จูงใจใช้รถไฟฟ้า ชี้!! แค่ยกตัวอย่างจากต้นแบบในต่างประเทศ ยังไม่มีแนวคิดจะทำแต่อย่างใด

‘สุริยะ’ ขอโทษพี่น้องประชาชน สื่อสารคลาดเคลื่อนปมจัดเก็บภาษีน้ำมันเบนซินเพิ่ม 50 สตางค์ต่อลิตรในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล นำเงินเข้ากองทุนหนุนนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ระบุไม่มีแนวคิด-นโยบายที่ส่งผลกระทบกับประชาชนโดยเด็ดขาด 

จากกรณีที่สื่อนำเสนอข่าวในประเด็นกระทรวงคมนาคมมีแนวคิดจะจัดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นในอัตรา 0.50 บาทต่อลิตร เฉพาะสถานีน้ำมันในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น และนำเงินจากภาษีดังกล่าวเข้ากองทุนฯ เพื่อนำสนับสนุนนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีดังกล่าวต้องขอโทษพี่น้องประชาชนที่อาจจะสื่อสารและทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งในการกล่าวถึงเรื่องนี้เป็นเพียงการหยิบยกตัวอย่างจากต้นแบบในต่างประเทศเท่านั้น รวมถึงยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นถึงกรณีศึกษา และการเปรียบเทียบถึงข้อดีและข้อเสีย โดยไม่ได้มีแนวคิดจะนำมาดำเนินการแต่อย่างใด เนื่องจากกระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญกับการลดค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน

ส่วนมาตรการค่ารถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท นั้น กระทรวงคมนาคมยืนยันว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายใน 2 ปี โดยจะไม่มีการเก็บภาษีน้ำมันเพิ่มขึ้นตามที่มีกระแสข่าวอย่างแน่นอน

‘สุริยะ’ สั่งการ!! รถตรวจทางวิ่งสำรวจ 'สายสีชมพู' ตอนตี 4 ก่อนเปิดทุกวัน พร้อมเผยสาเหตุเบื้องต้น 'รางจ่ายกระแสไฟฟ้า' ที่อาจทำให้หลุดร่วง

(24 ธ.ค.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู บริเวณถนนติวานนท์ วันนี้ว่า ตามที่วันนี้เมื่อเวลา 04.45 น. บริเวณสถานีสามัคคี (PK04) เกิดเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้า (Conductor rail) หลุดร่วงลงชั้นพื้นถนน และเกี่ยวสายไฟฟ้าบริเวณหน้าตลาดชลประทาน ได้รับความเสียหาย โดยส่งผลกระทบต่อการให้บริการเดินรถนั้น

ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกับกรมการขนส่งทางราง (ขร.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการฯ โดยเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร และพี่น้องประชาชน ตนจึงได้สั่งการให้ปิดการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูในวันนี้ ตั้งแต่เวลา 12.00 น. เพื่อตรวจสอบสาเหตุอย่างละเอียด

สำหรับในวันพรุ่งนี้ (25 ธ.ค.66) จะเปิดให้บริการจำนวน 23 สถานี คือ ตั้งแต่สถานีแจ้งวัฒนะ (PK08) - สถานีมีนบุรี (PK30) ขณะที่ตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ไปจนถึงสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด (PK07) รวม 7 สถานีนั้น ขร.จะต้องดำเนินการตรวจสอบ และประเมินเบื้องต้น 7 วัน จากนั้นจะตรวจสอบให้มั่นใจในด้านความปลอดภัย ก่อนที่พิจารณาเปิดให้บริการอีกครั้งต่อไป ทั้งนี้ ได้กำชับว่าหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก จะมีบทลงโทษครอบคลุมตามสัญญา ด้วยเงื่อนไขในการเดินรถต่อไป

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จากการรายงานเบื้องต้น ระบุว่า รถตรวจรางพบวัสดุแปลกปลอม ซึ่ง วัสดุแปลกปลอมดังกล่าว อาจจะเกิดจากรถเครนที่เข้าไปเคลียร์พื้นที่ เพื่อคืนผิวจราจร แล้วไปขัดบริเวณตัวล้อด้านข้าง ทำให้ลากรางจ่ายกระแสไฟฟ้าหลุดออกทั้งแนว ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ ไม่มีผู้บาดเจ็บ แต่มีรถยนต์บริเวณดังกล่าวเสียหาย 3 คัน และสายไฟฟ้าล้ม โดย NBM จะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีรถตรวจทางวิ่งตรวจสอบในช่วงเวลา 04.00 น. ก่อนให้เปิดบริการทุกวัน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีความปลอดภัยในการให้บริการและการเดินทางอย่างแน่นอน

‘สุริยะ’ แกะกล่องของขวัญคมนาคมรับปีมังกร จ่อเสนอ ครม.พรุ่งนี้ แบบครบจบทุกการเดินทาง

(25 ธ.ค.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานเตรียมของขวัญปีใหม่ 2567 เพื่อมอบให้กับพี่น้องประชาชนในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ที่จะถึงนี้ โดยในส่วนของกระทรวงคมนาคมนั้น หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจได้จัดเตรียมของขวัญปีใหม่ ซึ่งได้ดำเนินการภายใต้แนวคิด ‘Gifts : คมนาคมส่งความสุข 2567’ ให้พี่น้องประชาชนเดินทางกลับบ้านและท่องเที่ยวอย่างมีความสุข สะดวก ปลอดภัย ทั้งนี้ กระทรวงฯ เตรียมนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายละเอียดในวันที่ 26 ธันวาคมนี้

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวคิด ‘Gifts : คมนาคมส่งความสุข 2567’ ซึ่งประกอบด้วย…

G = Gift to People คมนาคมส่งมอบความสุข 
I = Infrastructure for Nation คมนาคมสร้างเส้นทางไทย 
F = Facilitation คมนาคมสะดวก บริการประทับใจ 
T = Tourist Promotion คมนาคมส่งเสริมการท่องเที่ยว
S = Safety Journey คมนาคมใส่ใจปลอดภัยทุกการเดินทาง

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า G = Gift to People ส่งมอบความสุขด้วยการเปิดให้ใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ทางด่วน และรถไฟฟ้าฟรี ประกอบด้วย มอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 (กรุงเทพฯ-บ้านฉาง) และมอเตอร์เวย์ หมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษกหรือถนนวงแหวนรอบนอก) และรวมถึงเปิดให้บริการฟรีบนทางพิเศษ (ทางด่วน) บูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2566 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 3 มกราคม 2567 เวลา 24.00 น. อีกทั้งทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) และอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2566 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 1 มกราคม 2567 เวลา 24.00 น.

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีส่วนลดค่าผ่านทางดอนเมืองโทลล์เวย์ 5% ให้กับผู้ที่ซื้อคูปองผ่านทาง ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2567 และส่วนลดค่าโดยสาร บขส. 20% ทุกเส้นทางให้กับผู้ที่จองตั๋วรถ บขส. ผ่านช่องทางออนไลน์ของ บขส. ที่เดินทางระหว่างวันที่ 18-22 ธันวาคม 2566 และวันที่ 4-8 มกราคม 2567

นายสุริยะ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาจัดกิจกรรมตรวจรถฟรี ขับขี่ปลอดภัย เพื่อให้บริการตรวจสภาพความพร้อมของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ฟรี กว่า 20 รายการ ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้บริการอาหารเช้ากับผู้โดยสารรถไฟในวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 มกราคม 2567 ที่สถานีดอนเมือง และแจกถุงรถไฟรักษ์โลกให้กับผู้ที่เดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สามเสน ดอนเมือง รังสิต มักกะสัน วงเวียนใหญ่ และธนบุรี รวมจำนวน 12,000 ใบ

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า สำหรับ I = Infrastructure for Nation คมนาคมสร้างเส้นทางไทย โดยกรมทางหลวง (ทล.) ได้เปิดให้ใช้บริการมอเตอร์เวย์ฟรี เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนในการเดินทางกลับภูมิลำเนาและลดปัญหาจราจรติดขัด ประกอบด้วย มอเตอร์เวย์ หมายเลข 6 บางปะอิน-นครราชสีมา ช่วงอำเภอปากช่อง-ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ระยะทาง 77 กิโลเมตร (กม.) ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2566 เวลา 00.01 น. เป็นต้นไป จนกว่าระบบเก็บค่าผ่านทางจะเสร็จสมบูรณ์ เพื่อแบ่งเบาการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ)

นายสุริยะ กล่าวว่า ทั้งนี้ มอเตอร์เวย์ หมายเลข 6 จะเปิดให้เข้า-ออก 4 จุด ได้แก่ บนถนนมิตรภาพ บริเวณ อ.ปากช่อง และ อ.สีคิ้ว บนถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา บริเวณ อ.ขามทะเลสอ และบริเวณทางเชื่อมต่อกับทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมาด้านตะวันตก และมอเตอร์เวย์ หมายเลข 81 บางใหญ่-กาญจนบุรี บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางนครปฐมฝั่งตะวันตก ถึงด่านกาญจนบุรี (จุดสิ้นสุดโครงการ) ระยะทาง 51 กม. ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2566 เวลา 16.30 น. – 3 มกราคม 2567 เวลา 24.00 น. โดยสามารถเข้า - ออกได้ 2 จุด คือ ด่านนครปฐม ฝั่งตะวันตก และด่านสิ้นสุดโครงการที่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี

นายสุริยะ กล่าวว่า ในส่วนของ F = Facilitation คมนาคมสะดวก บริการประทับใจ ได้จัดให้มีบริการด้านต่าง ๆ ของระบบคมนาคมขนส่ง โดยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ขยายเวลาการเดินรถเมล์ในเขตกรุงเทพฯ ในเส้นทางที่ผ่านสถานที่จัดงานสวดมนต์ข้ามปีและงานเคาน์ดาวน์ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสระเกศฯ สนามหลวง วัดเบญจมบพิตร เซ็นทรัลเวิลด์ ไอคอนสยาม เมกาบางนา เอเชียทีค ซีคอนสแควร์ เป็นต้น รวมทั้งเปิดเส้นทางใหม่ 5 เส้นทาง เพื่อรองรับประชาชนที่พักอาศัยในเขตชานเมือง

นายสุริยะ กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้ขยายเวลาให้บริการรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน สีม่วง สีเหลือง และสีแดง ถึงเวลา 02.00 น. ของวันที่ 1 มกราคม 2567 รวมถึงเปิดให้บริการบัตร EMV Contactless ที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วงกับสายสีแดง โดยชำระค่าโดยสารร่วม 2 สาย สูงสุดไม่เกิน 20 บาท รวมทั้งเปิดให้บริการรถไฟทางคู่สายใต้ ตั้งแต่สถานีบ้านคูบัว จ.ราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จ.ชุมพร และจอดรถฟรีที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และภูเก็ตด้วย

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า T = Tourist Promotion คมนาคมส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยกระทรวงฯ ได้ร่วมสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจและมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้พี่น้องประชาชน และนักท่องเที่ยว ให้เดินทางด้วยความสุขและความประทับใจ ด้วยการปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ ประดับตกแต่งไฟสวยงามบริเวณสะพานภูมิพล 1 และ 2 และสะพานมหาเจษฎา บดินทรานุสรณ์ ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2566 - 2 มกราคม 2567 ระหว่างเวลา 19.00 – 22.00 น. รวมทั้งจัดกิจกรรมล่องเรือไหว้พระ 9 วัด ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในวันที่ 27 ธันวาคม 2566 เพื่อเสริมสิริมงคลชีวิตให้กับประชาชน

นายสุริยะ กล่าวว่า สำหรับ S = Safety Journey คมนาคมใส่ใจ ปลอดภัยทุกการเดินทาง ได้เน้นย้ำให้กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คำนึงถึงความปลอดภัยในการเดินทางของพี่น้องประชาชนขั้นสูงสุด ปรับปรุงซ่อมแซมถนนและสะพานให้มีความปลอดภัย สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก ไร้หลุมบ่อ ติดตั้งเครื่องหมายจราจร ป้ายเตือนต่าง ๆ ให้ชัดเจน ตรวจสอบความปลอดภัยในการปิดเบี่ยงการจราจรบริเวณพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้า

นายสุริยะ กล่าวว่า นอกจากนี้ ติดตั้งอุปกรณ์ไฟส่องสว่างอย่างทั่วถึง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นของผู้ขับขี่ หยุดงานก่อสร้างชั่วคราว และคืนพื้นผิวทางและช่องทางจราจรให้พี่น้องประชาชนสามารถเดินทางได้ด้วยความสะดวกปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลระบบคมนาคมขนส่ง ได้ตระหนักถึงความสะดวก ปลอดภัยของพี่น้องประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 และขอส่งความห่วงใย ความปรารถนาดีให้ทุกท่านเดินทางปลอดภัยโดยสวัสดิภาพในทุกการเดินทาง และทุกเส้นทาง

'สุริยะ' ปักธง ม.ค.67 ชง 7 โครงการเข้า ครม.มูลค่ากว่า 1.25 แสนล้านบาท พร้อมเปิดประมูล ‘อาคารตะวันออกสุวรรณภูมิ-ทางด่วน-มอเตอร์เวย์-รถไฟสีแดง’

(3 ม.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม มีนโยบายเร่งรัดการพัฒนาโครงการทางด้านการขนส่งทางบก ทางราง ทางน้ำและทางอากาศ ซึ่งมีแผนงาน จำนวน 72 โครงการ ซึ่ง กระทรวงฯได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามฯ เพื่อขับเคลื่อน ติดตามเร่งรัดตรวจสอบการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนงานและไทม์ไลน์ โดยภายในเดือน เดือนม.ค. 2567 มีโครงการที่มีความพร้อม ในการนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อขออนุมัติ จำนวน 7 โครงการ หลังจากครม.เห็นชอบจะเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินการประกวดราคาก่อสร้างต่อไป ซึ่งมีทั้งโครงการที่ใช้งบประมาณ และโครงการที่ร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) 

โดย 7 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการพัฒนาส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2. โครงการทางพิเศษกะทู้ - ป่าตอง จ.ภูเก็ต 3.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต 4. สายสีแดงต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 5.สายสีแดงต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 6. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง และ 7.โครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) สายรังสิต-บางปะอิน 

สำหรับโครงการพัฒนาส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปัจจุบัน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้มีการทบทวนการศึกษาออกแบบ เพื่อให้สอดรับกับบริบทการบินที่เปลี่ยนแปลงไป ใช้สำหรับรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 66,000 ตร.ม. และมูลค่าลงทุนปรับจาก 6.6 พันล้านบาท เป็น 8 พันล้านบาท รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มเป็น 15 ล้านคน/ปี ตามแผนจะเปิดประมูลผู้รับเหมาก่อสร้างในต้นปี 2567 ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2570

โครงการทางพิเศษกะทู้ - ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทางประมาณ 3.98 กม.วงเงินลงทุน 16,190 ล้านบาท (ค่างานโยธา 10,400 ล้านบาท / ค่างานเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 5,790 ล้านบาท) มีการปรับรูปแบบการลงทุนจาก PPP- Net Cost (ภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ภาคเอกชนรับผิดชอบงานส่วนที่เหลือทั้งหมด ได้แก่ การออกแบบรายละเอียดและการก่อสร้าง และการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) เป็น กทพ.รับผิดชอบงานก่อสร้างโยธาของโครงการเอง ส่วนงานบำรุงรักษา (O&M) จะศึกษารวมในโครงการระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ซึ่งจะใช้รูปแบบ PPP ร่วมลงทุนงานโยธาโครงการระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทาง 30 กม. และบริหาร O&M ทั้ง 2 ระยะ ซึ่ง คณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.เห็นชอบเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2566 กทพ.อยู่ระหว่างสรุปเสนอกระทรวงคมนาคม

รถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,468.69 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.70 กม. วงเงิน 4,694.36 ล้านบาท ก่อนหน้านี้เสนอครม.ไปแล้วแต่กระทรวงคมนาคมถอนเรื่องคืนเพื่อศึกษาทบทวนขยายระยะทางเพิ่มเติม ไปยังเมืองรอบนอกเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางมากขึ้น เช่น ช่วงรังสิต-มธ.รังสิต ขยายไปถึงอยุธยา ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ขยายไปถึง นครปฐม ซึ่งคาดว่าจะการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะสรุปเสนอกระทรวงคมนาคมภายในเดือน ม.ค. นี้

ส่วนโครงการพัฒนามอเตอร์เวย์สายใหม่จำนวน 2 โครงการ คือ มอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) สายรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. และ มอเตอร์เวย์ M 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทองระยะทาง 35.85 กม. ผ่านกระบวนการบอร์ด PPP และเสนอ ไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้ว อยู่ระหว่างสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อนำบรรจุวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

โดยมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) สายรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม.วงเงินลงทุน 31,280 ล้านบาท จะดำเนินการในรูปแบบ PPP Gross Cost โดยเอกชนลงทุนในส่วนก่อสร้างงานโยธาและงาน O&M โดยรัฐเป็นผู้ได้รับรายได้ค่าผ่านทาง และจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการให้แก่เอกชน และรัฐใช้คืนค่าก่อสร้างภายหลัง ใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ จะเริ่มจ่ายค่างานโยธาเมื่องานก่อสร้างเสร็จแล้ว การออกแบบรายละเอียด (Detail& Design) เสร็จแล้ว รายงาน EIA ได้รับอนุมัติแล้ว โดยคาดว่าจะดำเนินการคัดเลือกเอกชน ในปี 2567 ก่อสร้างในปี 2568-2570 และเปิดบริการในปี 2571

มอเตอร์เวย์ M9 ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. วงเงินลงทุน 56,035 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร บริเวณเกาะกลางของถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก คาดดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนและก่อสร้างปี 2567-2570 แล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2571

‘สุริยะ’ สั่ง ‘บขส.’ เร่งเครื่องรีโนเวท ‘หมอชิต 2’  เล็งปรับปรุงสถานีให้ดีขึ้น หวังปิดจ็อบภายในสิ้นปีนี้

(15 ม.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ตนได้มีนโยบายในการเร่งพัฒนาปรับปรุงสถานีขนส่งผู้โดยสาร หมอชิต 2 ถนนกำแพงเพชร นั้น ทางบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จะมีการดำเนินการใน 2 ประเด็น ควบคู่กันไป คือ 1. ปรับปรุงสถานีหมอชิต 2 ที่ถนนกำแพงเพชรในปัจจุบันให้มีสภาพที่ดีขึ้น เช่น การปรับปรุงสภาพพื้นที่ต่างๆ มีการติดเครื่องปรับอากาศเพิ่มเติม ปรับปรุงพื้นที่พักคอยของผู้โดยสาร ปรับปรุงห้องน้ำ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และการดูแลความปลอดภัยผู้โดยสาร ไม่ให้มีพื้นที่ลับตา เป็นต้น โดยให้ บขส.เร่งจ้างที่ปรึกษาในการออกแบบ และเร่งดำเนินการปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567

2. ดำเนินการย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 ไปอยู่ใกล้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยให้ บขส.จ้างที่ปรึกษาศึกษารายละเอียด ออกแบบและกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสม มูลค่าการลงทุน รูปแบบการลงทุน ให้ศึกษาแล้วเสร็จภายในปีนี้ โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นหน่วยงานกลางในการพิจารณาร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ เนื่องจาก บขส.ใช้พื้นที่ ย่านพหลโยธินจาก รฟท. 

นายสุริยะกล่าวว่า สำหรับมูลค่าการลงทุน รูปแบบการลงทุนทั้งหมดจะเป็นเท่าไรนั้นต้องรอผลการศึกษาออกมาก่อน ส่วนตัวเลข 7,000 ล้านบาทนั้นไม่ใช่มูลค่าลงทุน แต่เป็นการประเมินทรัพย์สินที่ บขส. มีในปัจจุบัน คือที่สถานีขนส่งเอกมัย ซึ่งพบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีมูลค่าสูง ดังนั้น หากอนาคตหลังย้ายสถานีขนส่งเอกมัยไปที่สถานีใหม่ใกล้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์แล้ว บขส.สามารถนำพื้นที่สถานีขนส่งเอกมัยมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ 

“ต่อไปสถานีขนส่ง บขส.ที่กระจายอยู่หลายแห่งจะมารวมกันที่พื้นที่ใหม่ใกล้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้งสายเหนือ สายอีสาน สายใต้ และสายตะวันออก (เอกมัย) เป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งที่สามารถเชื่อมต่อทางรางได้สะดวก การพัฒนาจะเป็นแนวตึกสูง มีพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่จะสร้างรายได้เพิ่ม ส่วนเรื่องการลงทุนพัฒนาสถานีขนส่งหมอชิตแห่งใหม่ ผมมองว่า บขส.ไม่มีปัญหา เพราะมีทรัพย์สินแค่ที่สถานีขนส่งเอกมัย ตีมูลค่าได้ 7,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งทั้งการปรับปรุงพื้นที่และความสะดวกสถานีหมอชิต 2 และการพัฒนาสถานีขนส่งแห่งใหม่จะเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้” นายสุริยะกล่าว 

>> @รวมศูนย์ขนส่ง ผุดอาคารเพิ่ม รับรถสายใต้-ตะวันออก เชื่อมรางสะดวก 

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า หลักการพัฒนาสถานีขนส่งหมอชิต 2 นั้น เบื้องต้นในระยะสั้นจะเป็นการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่สถานีในปัจจุบัน ขณะที่ในระยะยาวจะมีการศึกษาออกแบบเพื่อขยายพื้นที่สถานีเพิ่มเติม โดยอาจจะก่อสร้างอาคารใหม่ประมาณ 2 อาคารเพื่อรองรับเส้นทาง บขส.ทั้งสายใต้และสายตะวันออก (เอกมัย) ที่จะมารวมกัน โดยจะขยายออกมาด้านที่เชื่อมต่อกับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งปัจจุบันหมอชิต 2-สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ฯ มีระยะทางห่างกันประมาณ ​800 เมตรเท่านั้น

“ต้องรอการศึกษาออกแบบเสร็จก่อนจะมีความชัดเจนมากขึ้น โดยจะเป็นการร่วมลงทุนเอกชน (PPP) หลักการคือ จะยังใช้สถานีหมอชิต 2 เดิมโดยปรับปรุงสภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ดีขึ้น และมีการก่อสร้างอาคารใหม่เพิ่มเติมเพื่อรองรับรถสายใต้ สายเอกมัยที่จะมาอยู่รวมกัน โดยขยายพื้นที่มาใกล้ทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และมีทางเดินเชื่อมต่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการใช้บริการ โดยจะขอเช่าใช้พื้นที่จาก รฟท. ซึ่งขณะนี้แผนพัฒนาพื้นที่ย่านพหลโยธินยังสามารถปรับปรุงได้เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพในปัจจุบัน”

>> @บขส.รอตั้งบอร์ดชุดใหม่ พร้อมเสนอแผนเดินหน้าตามนโยบาย

ด้าน นางสาวระพิพรรณ วรรณพินทุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบริหารการเดินรถ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า บขส.พร้อมดำเนินการตามนโยบายของ รมว.คมนาคม ในการพัฒนาปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของสถานีหมอชิต 2 โดยตามขั้นตอนจะต้องนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) บขส.พิจารณาก่อน ซึ่งปัจจุบันบอร์ดบขส.ยังไม่ครบจึงยังประชุมไม่ได้ โดยอยู่ระหว่างเตรียมประชุมผู้ถือหุ้นบริษัท เพื่อแต่งตั้งบอร์ด บขส.ให้ครบตามระเบียบ 

‘มอเตอร์เวย์ M82’ ช่วง ‘บางขุนเทียน-เอกชัย’ คืบหน้า 74.97% คาด!! พร้อมเปิดให้วิ่งฉิว 10.5 กม. ช่วงกลางปี 2567

(24 ม.ค. 67) กรมทางหลวง อัปเดตความคืบหน้า โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว ‘มอเตอร์เวย์บางขุนเทียนบ้านแพ้ว’ หรือ มอเตอร์เวย์ M82 มีรูปแบบเป็นการก่อสร้างเป็นทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ตามมาตรฐานทางหลวงพิเศษมีการควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ โดยดำเนินการก่อสร้างแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ

‘มอเตอร์เวย์บางขุนเทียนบ้านแพ้ว’ หรือ มอเตอร์เวย์ M82 ช่วงที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน - เอกชัย

‘มอเตอร์เวย์บางขุนเทียนบ้านแพ้ว’ หรือ มอเตอร์เวย์ M82 โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม. 9+731 ในเขตพื้นที่สมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร กม. 20+295 ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ระยะทาง 10.564 กิโลเมตร เป็นทางยกระดับ 6 ช่องจราจร มีจุดขึ้น - ลง จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ด่านฯ พันท้ายนรสิงห์ และด่านฯ มหาชัย 1 โดยเก็บค่าผ่านทางแบบคิดตามระยะทาง (ระบบปิด) ปัจจุบัน กรมทางหลวง กำลังดำเนินการก่อสร้างโดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน

‘มอเตอร์เวย์บางขุนเทียนบ้านแพ้ว’ หรือ มอเตอร์เวย์ M82 ช่วงที่ 2 ช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว

‘มอเตอร์เวย์บางขุนเทียนบ้านแพ้ว’ หรือ มอเตอร์เวย์ M82 มีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม. 20+295 ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร และสิ้นสุดบริเวณ กม. 36+645 ในเขตพื้นที่ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร รวมระยะทางประมาณ 16.350 กิโลเมตร โดยออกแบบเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร มีจุดขึ้นลงจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ด่านฯ มหาชัย 2 ด่านฯ สมุทรสาคร 1 ด่านฯ สมุทรสาคร 1 และด่านฯ บ้านแพ้ว โดยเก็บค่าผ่านทางแบบคิดตามระยะทาง (ระบบปิด) กรมทางหลวงมีแผนการก่อสร้างโดยใช้แหล่งเงินจากเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการแล้ว เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 วงเงิน 19,700 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างหาตัวผู้รับจ้าง

ความคืบหน้าในการก่อสร้าง ‘มอเตอร์เวย์บางขุนเทียนบ้านแพ้ว’ หรือ มอเตอร์เวย์ M82 มีดังนี้ 

-การออกแบบรายละเอียด (Detail Design) แล้วเสร็จ
-รายผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว
-งานโยธาช่วงบางขุนเทียน - เอกชัย อยู่ระหว่างก่อสร้าง มีความก้าวหน้า 74.97% คาดว่าจะแล้วเสร็จ กลางปี 2567 
-งานโยธาช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว อยู่ระหว่างก่อสร้าง มีความก้าวหน้า 5.26% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 
-งานระบบพร้อมบริหารจัดการและงานบำรุงรักษาทาง O&M ทั้งโครงการ โดยล่าสุดมีการเปิดจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M)

สำหรับโครงการ ‘มอเตอร์เวย์บางขุนเทียนบ้านแพ้ว’ หรือ มอเตอร์เวย์ M82 เปิดให้เอกชนมีส่วนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ด้วยรูปแบบ PPP Gross Cost รวมระยะเวลาทั้งสิ้นไม่เกิน 32 ปี ดังนี้

ระยะที่ 1 เอกชนเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง และติดตั้งงานระบบและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องด้วยระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือระบบ M-Flow ทั้งโครงการ 

ระยะที่ 2 เอกชนจะเป็นผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการทั้งหมด ครอบคลุมงานโยธาที่รัฐเป็นผู้ลงทุน และงานระบบที่เอกชนเป็นผู้ลงทุน ตลอดจนเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างและนำส่งข้อมูลรายการผ่านทาง (Transaction Generation) ให้แก่ภาครัฐ รวมทั้งดำเนินงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามขอบเขตงานและเงื่อนไขที่กำหนด โดยกรมทางหลวงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรายได้ค่าธรรมเนียมผ่านทางและทรัพย์สินที่เอกชนได้ลงทุน ส่วนเอกชนจะได้รับค่าตอบแทนที่รัฐจะจ่ายกลับคืนให้เอกชน (AP) แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1) ค่าลงทุนก่อสร้างงานระบบ และ 2) ค่าจ้างการดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ (O&M)

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ‘มอเตอร์เวย์บางขุนเทียนบ้านแพ้ว’ เป็นหนึ่งโครงการภายใต้ แผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560 - 2579 ซึ่งจัดว่ามีลำดับความสำคัญสูง มีแนวสายทางเชื่อมต่อกับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก บริเวณด่านบางขุนเทียนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 

ดังนั้น การก่อสร้างโครงการจะเป็นการเติมเต็มโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง รองรับการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลงสู่พื้นที่ภาคใต้ของประเทศ สามารถแบ่งเบาปริมาณจราจรบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) อีกทั้ง จะเป็นโครงข่ายเส้นทางสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงด้านการคมนาคมขนส่งทางถนนในการเดินทางและขนส่งสินค้าลงสู่พื้นที่ภาคใต้ของประเทศ

'สุริยะ' สั่ง 'ทอท.' เร่งแก้ระบบ ตม.สุวรรณภูมิ หลังระบบตรวจคนเข้าเมืองติดขัด แนะ!! ดึงระบบ Manual ช่วย พร้อมดูแล 'อาหาร-เครื่องดื่ม' แก่ผู้โดยสาร

(24 ม.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีระบบตรวจคนเข้าเมือง (Biometrics) ท่าอากาศยานสุวรรณูมิเกิดขัดข้อง วันนี้ (24 ม.ค. 67) ว่า ได้สั่งการไปยังบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 เรื่องเร่งด่วนต่อกรณีดังกล่าว ประกอบด้วย 

1.ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขระบบตรวจคนเข้าเมืองเกิดขัดข้องโดยด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางของผู้โดยสาร 

2.มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการตรวจคนเข้าเมืองด้วยระบบ Manual 

และ 3.มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมอาหาร และเครื่องดื่ม คอยให้บริการผู้โดยสารอย่างเต็มที่

ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวถึงกรณีที่ระบบตรวจคนเข้าเมือง (Biometrics) เกิดขัดข้อง และอยู่ระหว่างการแก้ไข ขณะนี้ตนได้ลงพื้นที่พบว่าเป็นผลกระทบในส่วนของช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ หรือ Automatic Channel ไม่สามารถตรวจได้ ทำให้เกิดคิวสะสมบริเวณจุดตรวจคนเข้าเมือง

อย่างไรก็ตาม ทอท.ได้สั่งการให้บุคลากรของ ทอท.อำนวยความสะดวกผู้โดยสาร อีกทั้งได้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบข้อมูลตรวจคนเข้าเมืองด้วยระบบ Manual และใช้ระบบ APPS ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คัดกรองบุคคลที่อาจมีหมายจับ และ Overstay เพื่อเร่งระบายผู้โดยสารโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบต่อการขึ้นเครื่อง

“ตอนนี้พบว่ามีความแออัดอยู่หน้าด่านบ้าง มีคิวสะสม แต่ก็พบว่าขั้นตอนตรวจคนเข้าเมืองใช้เวลาไม่นาน เพราะ ทอท.ได้เพิ่มบุคลากรเข้ามาอำนวยความสะดวก และทางตำรวจตรวจคนเข้าเมืองได้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่มาให้บริการด่านตรวจคนเข้าเมืองทุกช่องบริการ ซึ่งสามารถลดความแออัดไปได้มาก และพบว่าขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อเที่ยวบินใด” นายกีรติ กล่าว

‘ขร.’ เผย ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ ทำยอดนิวไฮ 3.5 หมื่นคนต่อเที่ยว สูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการ สะท้อน!! แรงตอบรับ 20 บาทตลอดสาย

‘กรมการขนส่งทางราง’ เผย วันศุกร์สิ้นเดือนแรกของปี 67 หลังมีนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย สำหรับสายสีแดงและสายสีม่วง ทำให้มีประชาชนใช้บริการสายสีแดงเพิ่มขึ้นสูงสุด (นิวไฮ) ต่อเนื่องตั้งแต่มีการเปิดให้บริการเดินรถมา เดินหน้า!! เตรียมความพร้อมรถไฟฟ้ารับงานเกษตรแฟร์ 2-10 ก.พ. 67

(27 ม.ค. 67) ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นวันศุกร์สิ้นเดือนแรกของปี 2567 หลังจากมีนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตั้งแต่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการสายสีแดง 35,463 คน/เที่ยว (รวมผู้ใช้รถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 111 คน/เที่ยว) สูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการมา โดยมีผู้ใช้บริการระบบรางรวมทั้งสิ้น 1,742,807 คน/เที่ยว ประกอบด้วย

1.) รถไฟระหว่างเมืองของ รฟท. ให้บริการเดินรถไฟ 212 ขบวน มีผู้ใช้บริการรวม 83,132 คน/เที่ยว แบ่งเป็นขบวนรถเชิงพาณิชย์ 29,308 คน/เที่ยว และขบวนรถเชิงสังคม 53,824 คน/เที่ยว

2.) รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1,659,675 คน/เที่ยว ประกอบด้วย

- รถไฟฟ้า Airport Rail Link ให้บริการ 224 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 9 เที่ยววิ่ง) จำนวน 77,223 คน/เที่ยว
- รถไฟฟ้าสายสีแดง ให้บริการ 294 เที่ยววิ่ง จำนวน 35,463 คน/เที่ยว (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลใช้บริการสายสีแดงฟรี 111 คน/เที่ยว) สูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง (นิวไฮ) (รวมทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 145 คน/เที่ยว) (นิวไฮสายสีแดงครั้งก่อนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 จำนวน 34,719 คน/เที่ยว)
- รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ให้บริการ 321 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 3 เที่ยววิ่ง) จำนวน 79,996 คน/เที่ยว
- รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ให้บริการ 488 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 36 เที่ยววิ่ง) จำนวน 512,685 คน/เที่ยว
- รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) ให้บริการ 1,240 เที่ยววิ่ง จำนวน 847,525 คน/เที่ยว
- รถไฟฟ้า BTS สายสีทอง ให้บริการ 170 เที่ยววิ่ง จำนวน 7,102 คน/เที่ยว
- รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลืองให้บริการ 276 เที่ยววิ่ง จำนวน 40,479 คน/เที่ยว
- รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูให้บริการ 384 เที่ยววิ่ง จำนวน 59,202 คน/เที่ยว

ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้มีการจัดระบบฟีดเดอร์ (Feeder) เพื่ออำนวยความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางป้อนผู้โดยสารให้กับระบบราง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดง ภายหลังจากได้มีการปรับค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายแล้ว พบว่า มีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการในปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จึงมีแนวทางเพิ่มศักยภาพจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญต่างๆ ที่ควรนำมาใช้อำนวยความสะดวก อาทิ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต, มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และ ศิริราช ตลอดจนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต่อไป

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางรางได้ประสาน บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนที่จะมาร่วมงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 2-10 กุมภาพันธ์ 2567 โดยใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีบางเขน และรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท ที่สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการจำนวนมากดังเช่นปีที่ผ่านมา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top