'สุริยะ' ปักธง ม.ค.67 ชง 7 โครงการเข้า ครม.มูลค่ากว่า 1.25 แสนล้านบาท พร้อมเปิดประมูล ‘อาคารตะวันออกสุวรรณภูมิ-ทางด่วน-มอเตอร์เวย์-รถไฟสีแดง’

(3 ม.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม มีนโยบายเร่งรัดการพัฒนาโครงการทางด้านการขนส่งทางบก ทางราง ทางน้ำและทางอากาศ ซึ่งมีแผนงาน จำนวน 72 โครงการ ซึ่ง กระทรวงฯได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามฯ เพื่อขับเคลื่อน ติดตามเร่งรัดตรวจสอบการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนงานและไทม์ไลน์ โดยภายในเดือน เดือนม.ค. 2567 มีโครงการที่มีความพร้อม ในการนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อขออนุมัติ จำนวน 7 โครงการ หลังจากครม.เห็นชอบจะเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินการประกวดราคาก่อสร้างต่อไป ซึ่งมีทั้งโครงการที่ใช้งบประมาณ และโครงการที่ร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) 

โดย 7 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการพัฒนาส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2. โครงการทางพิเศษกะทู้ - ป่าตอง จ.ภูเก็ต 3.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต 4. สายสีแดงต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 5.สายสีแดงต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 6. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง และ 7.โครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) สายรังสิต-บางปะอิน 

สำหรับโครงการพัฒนาส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปัจจุบัน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้มีการทบทวนการศึกษาออกแบบ เพื่อให้สอดรับกับบริบทการบินที่เปลี่ยนแปลงไป ใช้สำหรับรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 66,000 ตร.ม. และมูลค่าลงทุนปรับจาก 6.6 พันล้านบาท เป็น 8 พันล้านบาท รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มเป็น 15 ล้านคน/ปี ตามแผนจะเปิดประมูลผู้รับเหมาก่อสร้างในต้นปี 2567 ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2570

โครงการทางพิเศษกะทู้ - ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทางประมาณ 3.98 กม.วงเงินลงทุน 16,190 ล้านบาท (ค่างานโยธา 10,400 ล้านบาท / ค่างานเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 5,790 ล้านบาท) มีการปรับรูปแบบการลงทุนจาก PPP- Net Cost (ภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ภาคเอกชนรับผิดชอบงานส่วนที่เหลือทั้งหมด ได้แก่ การออกแบบรายละเอียดและการก่อสร้าง และการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) เป็น กทพ.รับผิดชอบงานก่อสร้างโยธาของโครงการเอง ส่วนงานบำรุงรักษา (O&M) จะศึกษารวมในโครงการระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ซึ่งจะใช้รูปแบบ PPP ร่วมลงทุนงานโยธาโครงการระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทาง 30 กม. และบริหาร O&M ทั้ง 2 ระยะ ซึ่ง คณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.เห็นชอบเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2566 กทพ.อยู่ระหว่างสรุปเสนอกระทรวงคมนาคม

รถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,468.69 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.70 กม. วงเงิน 4,694.36 ล้านบาท ก่อนหน้านี้เสนอครม.ไปแล้วแต่กระทรวงคมนาคมถอนเรื่องคืนเพื่อศึกษาทบทวนขยายระยะทางเพิ่มเติม ไปยังเมืองรอบนอกเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางมากขึ้น เช่น ช่วงรังสิต-มธ.รังสิต ขยายไปถึงอยุธยา ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ขยายไปถึง นครปฐม ซึ่งคาดว่าจะการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะสรุปเสนอกระทรวงคมนาคมภายในเดือน ม.ค. นี้

ส่วนโครงการพัฒนามอเตอร์เวย์สายใหม่จำนวน 2 โครงการ คือ มอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) สายรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. และ มอเตอร์เวย์ M 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทองระยะทาง 35.85 กม. ผ่านกระบวนการบอร์ด PPP และเสนอ ไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้ว อยู่ระหว่างสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อนำบรรจุวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

โดยมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) สายรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม.วงเงินลงทุน 31,280 ล้านบาท จะดำเนินการในรูปแบบ PPP Gross Cost โดยเอกชนลงทุนในส่วนก่อสร้างงานโยธาและงาน O&M โดยรัฐเป็นผู้ได้รับรายได้ค่าผ่านทาง และจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการให้แก่เอกชน และรัฐใช้คืนค่าก่อสร้างภายหลัง ใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ จะเริ่มจ่ายค่างานโยธาเมื่องานก่อสร้างเสร็จแล้ว การออกแบบรายละเอียด (Detail& Design) เสร็จแล้ว รายงาน EIA ได้รับอนุมัติแล้ว โดยคาดว่าจะดำเนินการคัดเลือกเอกชน ในปี 2567 ก่อสร้างในปี 2568-2570 และเปิดบริการในปี 2571

มอเตอร์เวย์ M9 ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. วงเงินลงทุน 56,035 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร บริเวณเกาะกลางของถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก คาดดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนและก่อสร้างปี 2567-2570 แล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2571